(2) ล้ำเส้น เลยธง หลงทาง เมื่อ TDRI กลายเป็น “มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน” (2/12/52 )

(2) ล้ำเส้น เลยธง หลงทาง เมื่อ TDRI กลายเป็น “มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน” (2/12/52 )

ล้ำเส้น เลยธง หลงทาง เมื่อ TDRI กลายเป็น “มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน”


รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง , รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

งานสัมมนาวิชาการประจำปี 2552 ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยที่รู้จักในชื่อของ TDRI ดูจะทำให้ TDRI กลายเป็น “มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน” ไปโดยปริยาย

ผลการสำรวจทัศนะประชาชนของ สมชัย จิตสุชน และ วิโรจน์ ณ ระนอง ซึ่งเป็นผู้บริหารและนักวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยที่รู้จักในชื่อของ TDRI ที่ได้นำเสนอในการสัมมนาที่ได้จัดไปเมื่อเร็วๆ นี้และสื่ออย่างมติชนก็ได้นำไปเป็นหัวข่าวเมื่อ 27 พ.ย. 52 ว่า “คนเอือมสื่อตัวแทน เหลือง-แดง โพลล์ทีดีอาร์ไอ เผยประชาชนอยากให้ฟังเสียงเงียบแทน...” ดูท่าจะเป็นข้อสรุปที่ล้ำเส้น เลยธง และหลงทางไปเสียแล้ว

ทำไมจึง ล้ำเส้น เพราะ TDRI ไม่รู้ตัวดอกหรือว่ามีความเชี่ยวชาญในด้านใด แต่นี่ไม่สำคัญเท่า ทำไมจึง เลยธง เพราะ TDRI สรุปเกินจริงกว่าที่ข้อเท็จจริงที่มีอยู่ และ ทำไมจึง หลงทาง เพราะนัยทางการเมืองจากข้อสรุปเกินจริงที่ได้ จะทำให้ TDRI กลายเป็นแนวร่วมมุมกลับให้ทักษิณ ไปโดยไม่รู้ตัว

นับเป็นความถดถอยทางสติปัญญาของ TDRI อย่างน่าใจหาย เมื่อเปรียบเทียบกับงานที่ผ่านมาหลายๆ ชิ้นในอดีตของคนร่วมสถาบันฯ เช่น สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมในการวิพากษ์เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของระบอบทักษิณแม้ในขณะที่ทักษิณยังมีอำนาจอยู่

ในขณะที่ เนื้อหาการสำรวจของสมชัยและวิโรจน์ดังกล่าวเป็นการสำรวจทัศนะของประชาชนทั่วประเทศจำนวน 4,077 ตัวอย่าง โดยมีวัตถุประสงค์ประการหนึ่งเพื่อที่จะพยายามหาแนวทางลดความขัดแย้งทางการเมืองที่มีในปัจจุบันในรูปธรรมระหว่างแนวความคิดของพวกเสื้อเหลือง-แดง

สาเหตุหลักของความขัดแย้งทางการเมืองที่การสำรวจนี้ได้มามีทั้งหมด 17 สาเหตุ โดยใน 3 ลำดับแรกที่กลุ่มตัวอย่างนี้ที่แสดงทัศนะออกมาก็คือ (1) นักการเมืองและผู้มีอำนาจแบ่งผลประโยชน์กันไม่ลงตัว ร้อยละ 32.5 (2)ประชาชนแบ่งขั้วไม่ยอมกัน ร้อยละ 23 และ (3) รัฐบาลหรือนักการเมืองโกงมากเกินไป ร้อยละ 11 ส่วนที่เหลืออีก 14 สาเหตุมีน้ำหนักระหว่างร้อยละ 0 ถึง 3 ยกเว้นที่ไม่รู้ ไม่แน่ใจ หรือไม่ตอบ ร้อยละ 10.4

และมีข้อน่าสังเกตก็คือ สาเหตุจากสื่อทำหน้าที่ไม่ดีพอหรือไม่เป็นกลาง ที่ประชาชนแสดงทัศนะออกมาในกลุ่มตัวอย่างมีน้ำหนักเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น

ในทำนองเดียวกันยังได้มีการสำรวจเพิ่มเติมจากผู้เข้าร่วมการสัมมนาอีก 247 ตัวอย่างเพื่อนำมาเป็นตัวแทนกลุ่ม “ข้างบน” พบว่า สาเหตุหลักของความขัดแย้งของกลุ่มหลังนี้ 3 ลำดับแรกมาจาก (1) นักการเมืองและผู้มีอำนาจแบ่งผลประโยชน์กันไม่ลงตัว ร้อยละ 45 (2) คอร์รัปชันของนักการเมือง ร้อยละ 11 และ (3) ประชาชนเข้าใจการเมืองไม่เท่ากัน ร้อยละ 9

เช่นเดียวกับกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ ในกลุ่มตัวอย่างของผู้เข้าร่วมสัมมนาก็ ไม่ปรากฏสาเหตุของความขัดแย้งที่มาจากสื่อทำหน้าที่ไม่ดีพอหรือไม่เป็นกลางที่มีนัยสำคัญแต่ประการใด

ดังนั้น หากจะสรุปสาเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองของกลุ่มตัวอย่างที่ได้แสดงทัศนะออกมาก็ไม่สามารถบอกได้ว่ามาจากสื่อทำหน้าที่ไม่ดีพอหรือไม่เป็นกลาง นี่เรียกเลยธงแล้วใช่หรือไม่? และมุมมองของทั้ง 2 กลุ่มตัวอย่างก็มีความแตกต่างไม่เหมือนกัน ผู้วิจัยทั้งสองจะทึกทักไปได้อย่างไรว่าเหมือนกัน?

เมื่อนักข่าวถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของกลุ่มและสื่อต่างๆ นายวิโรจน์ ณ ระนองกล่าวว่า ส่วนใหญ่ได้ผลไม่ชัดเจนไปในทางใดทางหนึ่ง มีเพียงกรณีเดียวที่อาจถือได้ว่าเป็นเสียงข้างมาก คือ กลุ่มตัวอย่าง 46% เห็นว่าควรลดบทบาท “สื่อที่เป็นตัวแทนของขั้วการเมือง (เหลืองหรือแดง)” ลง ในขณะที่อีก 16% ต้องการให้สื่อกลุ่มนี้ปรับเปลี่ยนบทบาท อย่างไรก็ตาม 47% เห็นว่าควรเพิ่มบทบาทของ “ประชาชนทั่วไป” ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าควรหยุดให้ความสำคัญกับสื่อเลือกข้างและหันมาสนใจ “เสียงเงียบ” จากประชาชนส่วนใหญ่แทน

ทำให้ทั้งสมชัยและวิโรจน์มีข้อสรุปประการหนึ่งว่า “ในแง่หนึ่ง ผลการสำรวจนี้ก็แสดงให้เห็นว่า “สื่อแบ่งขั้ว” ไม่ได้ประสบความสำเร็จ และถูก “รู้ทัน” โดยประชาชนมากกว่าครึ่งประเทศที่ต้องการลดหรือปรับเปลี่ยนบทบาทของสื่อเหล่านี้” แม้จะมีข้อสังเกตจากผู้วิจัยทั้งสองตามมาว่า “บทบาทของประชาชนทั่วไป” เป็นอะไรที่คลุมเครือ หรือหากพูดตามประสาชาวบ้านก็คือไม่รู้ว่าเป็นอะไรก็ตาม

อย่าลืมว่า ในงานวิจัยชิ้นนี้ทัศนะของประชาชนต่อปัญหาของประเทศที่ควรได้รับการแก้ไขในกลุ่มตัวอย่างของผู้วิจัยทั้งสองนั้นกระจายตัวไปในปัญหาต่างๆ มากมาย แต่หากจะนำมาจัดลำดับ ที่มากที่สุดก็คือปัญหาเศรษฐกิจ ร้อยละ 23 ในขณะที่ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอยู่ในลำดับที่ 4 ร้อยละ 13 และอาจเปลี่ยนแปลงไปได้หากมีการสำรวจใหม่ ดังนั้นความขัดแย้งทางการเมืองจึงมิใช่ประเด็นปัญหาหลัก และสาเหตุของความขัดแย้งก็ไม่ได้มาจากสื่อ

“เสียงข้างมาก” ของ สมชัยและวิโรจน์ จึงเป็นประเด็นปัญหาเล็กที่นำมาตีฟองใช่หรือไม่?

สื่ออย่างมติชนก็เคยกระทำเช่นนี้หรืออาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำในกรณีของเอกสารวิจัยส่วนบุคคลของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร โดยนายวิทอง ตัณฑกุลนินาทที่ศึกษาอิทธิพลของสื่อ ASTV ที่มีต่อทัศนคติและพฤติกรรมภายหลังการรับชมว่าเปลี่ยนไปหรือไม่ ซึ่งข้อสรุปของนายวิทองก็ชัดเจนว่า ไม่มีผลต่อพฤติกรรมและทัศนคติ (หน้า 94) และไม่ได้เป็นไปตามทฤษฎีเข็มฉีดยาแต่อย่างใด สาเหตุหลักก็คือเพราะผู้ที่รับชม ASTV มีวิจารณญาณนั่นเอง

อันที่จริงผู้เขียนเคยชื่นชมในรายงานหลายๆ ชิ้นของเพื่อนร่วมสถาบันฯ ของสมชัยและวิโรจน์ เช่น สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ที่ได้ศึกษาและมีข้อสรุปในลักษณะของข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ (empirical evidence) ที่ปราศจากอคติและไม่เลยธงจนอาจทำให้ผู้อ่านที่ขาดความ “รู้เท่าทัน” หลงทางได้โดยง่าย แต่ขอบอกว่างานวิจัยชิ้นนี้ของTDRI ล้ำเส้น เลยธง และหลงทางจริงๆ

อย่าลืมว่า หากไม่ไร้เดียงสาจนเกินไปนัก สมชัยและวิโรจน์ก็ควรจะทราบว่า “สื่อ” นั้น “แบ่งขั้ว” หรือ “เลือกข้าง” อยู่ฝ่ายความดี โดยชัดแจ้งอยู่แล้ว เพียงแต่ “สื่อ”จะทำตัวเป็น “อีแอบ” เลือกอยู่กับความไม่ดีโดยอาศัยความเป็นกลางเป็นเครื่องบังหน้าหรือไม่เท่านั้น “สื่อ” จึงต้องเลือกเอาความดีในการทำหน้าที่สื่ออย่างเที่ยงตรง ให้กับสังคมเพื่อให้สังคมได้รับรู้ข้อเท็จจริง จึงเป็นการ “เลือกข้าง” ที่จะอยู่กับความดี และไม่มีความดีที่อยู่ตรงกลางที่ “สื่อ” จะเบี่ยงเบนเลือกทำหน้าที่บ้างไม่ทำบ้างอย่างแน่นอน

ดังนั้นถ้าหากไม่มี “สื่อแบ่งขั้ว” อย่างที่พวกคุณทั้งสองเย้ยหยัน “บทบาทของประชาชนทั่วไป” ที่ผู้วิจัยทั้งสองวิจารณ์ว่าเป็น “เสียงเงียบ” ก็จะเงียบไปตลอด เพราะประชาชนทั่วไปจะรู้ถึงขบวนการล้มทุน ล้มปืน ล้มเจ้า ของบุคคลบางกลุ่มที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันได้อย่างไร นอกจากนี้การทุจริตเชิงนโยบายอย่างมโหฬารของนักการเมืองในระบอบทักษิณ ประชาชนผู้ที่เป็น “เสียงเงียบ” จะรู้ได้อย่างไร และหากไม่รู้แล้วจะมีหรือปรับบทบาทได้อย่างไร ที่สำคัญ สังคมของเราจะไม่มีทางรู้ได้เลยถึงความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร อย่าบอกนะว่าประชาชนสามารถพึ่ง “สื่อเป็นกลาง” ที่ไม่แบ่งขั้วได้ เพราะผลประโยชน์ทับซ้อนมิใช่หรือ “สื่อ” เหล่านั้นจึงไม่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา “สื่อ” กับ “สถาบันวิจัย” จึงไม่แตกต่างกันในแง่นี้

ผู้เขียนเห็นว่าประเทศไทย ยังมีเวลาขัดแย้งทางความคิด เช่น ระหว่างเสื้อเหลือง-แดงไปอีกนาน จึงไม่ควรใจร้อน หรือไปเร่งว่าเมื่อไรจะจบ เพราะประเทศไทยเคยมีแต่ประสบการณ์ของการแก้ปัญหาระยะสั้นแต่ไม่ยั่งยืนมาช้านาน ไม่เคยชินหรืออดทนต่อความเห็นต่าง ใช้แต่กำลัง ทำให้เกิดความวุ่นวาย นำไปสู่การรัฐประหาร ยกเลิกรัฐธรรมนูญ แล้วก็เริ่มต้นร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่เพื่อจะขัดแย้งกันใหม่ เป็นวงจรอุบาทว์วนเวียนตลอดมา

จะไม่เป็นการดีกว่าหรือที่จะปล่อยให้ความขัดแย้งทางความคิดปรากฏออกมาแล้วมาต่อสู้ทางความคิดกันโดยไม่ใช้ความรุนแรง หากมันเป็นประเด็นของส่วนรวมแน่นอนย่อมจะมีจุดร่วมเกิดขึ้นได้โดยง่าย เพราะประชาชนส่วนใหญ่ก็รักประเทศซึ่งเป็นส่วนรวมมิใช่หรือ หากคิดแต่ประโยชน์ส่วนตนความขัดแย้งก็ไม่จบเพราะหาจุดร่วมได้ยาก

ประเด็นสำคัญก็คืออย่าให้ใครเบี่ยงประเด็นนำเรื่องส่วนตัวมาเป็นเรื่องส่วนรวมดังเช่นเรื่องของทักษิณ ชินวัตรที่พยายามจะกดดันเพื่อขอให้สังคมยกโทษให้ หรือเรื่องผลประโยชน์ส่วนตนของนักการเมืองที่เป็นบ่อเกิดของปัญหาที่มีอยู่ในสังคมในปัจจุบัน

หากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยที่รู้จักในชื่อของ TDRI ที่คิดหวังจะเป็น “ผู้นำทางความคิด” ก็ไม่ควรที่จะนำเสนอผลงานวิจัยที่เลยธงและน่าผิดหวังในเชิงคุณภาพอย่างนี้ออกมา เพราะจะนำพาประเทศหลงทางได้

ป.ล. คลายความเครียดด้วยรูปสวยๆ ที่blog chawinl ใน http://mblog.manager.co.th





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้