รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง , รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พวกเขาเหล่านั้น บางคนแม้อยู่ใกล้ก็เหมือนอยู่ไกล
บางคนแม้รู้จักหน้า แต่กลายเป็นไม่รู้จักใจ เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้หนอ?
เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เริ่มเป็นที่รู้จักในสังคมเป็นครั้งแรกด้วยข่าวเมื่อปี พ.ศ. 2549 ด้วยการ “พยายาม” เสียภาษีหุ้นที่ตนเองซื้อต่อมาจากบิดาในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดเพื่อใช้เปรียบเทียบกับกรณีตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ที่มีการซื้อขายหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดเช่นกันแต่ไม่เสียภาษีเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการหลบเลี่ยงภาษีและมาตรฐานการทำงานของกรมสรรพากร
เรืองไกร ได้ฉายา “แจ็คผู้ฆ่ายักษ์” ในเวลาต่อมาหลังจากที่ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 จากการยื่นร้องเรียนคุณสมบัติของนายสมัคร สุนทรเวช ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีไปจัดรายการชิมไปบ่นไปว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน จนทำให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติกระเด็นตกจากตำแหน่งเมื่อ 9 ก.ย. 2551
ผลจากการตรวจสอบของนายเรืองไกรในอีกหลายๆ กรณี ทำให้นายเรืองไกรได้รับการยกย่องจากสังคมในด้านการเป็นผู้นำด้านจริยธรรมที่มีความซื่อสัตย์ เป็น “แจ็คผู้ฆ่ายักษ์” จนได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาผู้นำทางสังคม ธุรกิจและการเมือง เมื่อ 14 ธันวาคม 2551 จากมหาวิทยาลัยรังสิตร่วมกับคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือ คตส. และนายวีระ สมความคิดด้วย
อย่างไรก็ตามเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2553 ก่อนที่จะมีคำพิพากษาในคดียึดทรัพย์ทักษิณ ชินวัตรและพวก 4 วัน ผู้นำด้านจริยธรรมที่มีความซื่อสัตย์ ก็ได้ไปร่วมสัมมนากับกลุ่มที่สนับสนุนทักษิณ ชินวัตร โดยมีทักษิณ ชินวัตรจำเลยในคดีดังกล่าวเข้าร่วมด้วยการใช้วิดีทัศน์มาจากต่างประเทศ
การยึดทรัพย์ทักษิณ ชินวัตรในทัศนะของเรืองไกรที่ปรากฏตามข้อเขียนของเขามี 2 ส่วนหลักคือ
1.ทักษิณ ชินวัตร นอกจากจะถูกปฏิวัติยึดอำนาจแล้วที่สำคัญก็คือยังถูกตามล้างตามล่าด้วยเหตุผลของความเกรงกลัวว่า ด้วยความนิยมในตัวทักษิณจะทำให้สามารถกลับมามีอำนาจได้อีกหากมีการเลือกตั้งใหม่เพราะ “ถ้าทักษิณกลับมาก็คงกระทบกระเทือนความมั่นคงหรือเสถียรภาพของรัฐบาลปัจจุบันเป็นอย่างมาก” การยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนจึงไม่เป็นสิ่งที่ต้องการของผู้มีอำนาจ
2. ผลสืบเนื่องที่ติดตามมาจากความหวาดกลัวในข้อแรกจึงเป็นเหตุให้ต้องมีการยึดทรัพย์ทักษิณและครอบครัวเพื่อหยุดทักษิณ โดยเฉพาะทรัพย์ที่ได้มาจากการขายหุ้น(ชินคอร์ป) ให้กับเทมาเส็ก ใช้อำนาจของ ป.ป.ช.โดยตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาในลักษณะร่ำรวยผิดปกติ
ตรรกะในเรื่องที่ทักษิณร่ำรวยผิดปกติของเรืองไกรดูไปช่าง “ผิดปกติ” เป็นยิ่งนักสำหรับผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำด้านจริยธรรมที่มีความซื่อสัตย์ และอาศัยความรู้ความสามารถด้านบัญชีและการตรวจสอบหาเลี้ยงชีพมาก่อน เพราะการที่อ้างว่าทักษิณและพวกมิได้มี “จำนวน” หุ้นเพิ่มขึ้นแต่อย่างใดในระหว่างการดำรงตำแหน่ง แต่การที่มูลค่าหุ้นมีเพิ่มมากขึ้นก็เพราะ “ราคา” ของหุ้นที่มีอยู่ต่างหากที่เพิ่มขึ้นจนทำให้ขายหุ้นได้มูลค่าถึง 7.6 หมื่นล้านบาท ดังนั้นทักษิณจึงไม่ร่ำรวยผิดปกติแต่อย่างใดในทัศนะของเรืองไกรเพราะเป็นเรื่องของ “ราคา” ต่างหากที่งอกเงยเพิ่มขึ้นมา การยึดทรัพย์ในครั้งนี้จึงถูกตั้งคำถามโดยเรืองไกรว่า “มีหลักเกณฑ์ในการคิดมูลค่าความเสียหายเป็นไปโดยชอบหรือไม่”
หากย้อนอดีตไปได้ เรืองไกรจะกล่าวตรรกะเช่นนี้อีกหรือไม่ไม่ทราบได้ แต่อย่าลืมว่าข้อกล่าวหาในคดีนี้ตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า ทรัพย์สินคือหุ้นชินคอร์ปของทักษิณและพจมานที่ซุกซ่อนไว้กับลูก 2 คน น้องสาวยิ่งลักษณ์ และพี่ชายอดีตภรรยาบรรณพจน์เพื่อถือแทนนั้นได้ถูกเอาไปรวมกันขายให้กับเทมาเส็กของสิงคโปร์ แม้ “จำนวน” จะไม่เปลี่ยนแปลงแต่เป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาหรือร่ำรวยโดยไม่สมควรก็เนื่องจากหัวหน้ารัฐบาลคือทักษิณ ชินวัตรเอื้อประโยชน์ให้โดยมิชอบทำให้ “ราคา” เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น
ชินคอร์ปเป็นบริษัทแม่ที่ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ 2 บริษัทคือ เอไอเอส ที่รับสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่จากทีโอที (องค์การโทรศัพท์ เดิม) และ ชินแซทเทลไลท์ (ไทยคมในปัจจุบัน) ที่รับสัมปทานดาวเทียมกับกระทรวงคมนาคม (กระทรวงไอซีทีในสมัยปัจจุบัน) ดังนั้นการเอื้อประโยชน์โดยใช้ตำแหน่งหน้าที่นายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544-49 ให้กับบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐทั้ง 2 บริษัท จึงมีผลทำให้ทักษิณและพวกที่ถือหุ้นใหญ่ในชินคอร์ปอย่างลับๆ เป็นผู้ได้ประโยชน์ไปในที่สุด
ศาลจึงได้มีคำพิพากษาตามที่อัยการขอให้ยึดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมปทานของรัฐเป็นของแผ่นดิน เพราะชินคอร์ปนอกจากจะได้ผลประโยชน์ในรูปของเงินปันผลจากการไปถือหุ้นในบริษัททั้ง 2 แล้ว ยังเป็นการแสดงให้ปรากฏแก่บุคคลทั่วไปถึงความมั่นคงในกิจการ ทำให้มูลค่าหุ้นชินคอร์ปเพิ่มสูงขึ้น เงินปันผลค่าหุ้นและเงินค่าขายหุ้นชินคอร์ปให้กับเทมาเส็กจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร ศาลมิได้ยึด “จำนวน” หุ้นที่มีอยู่ทั้งหมดของทักษิณและพวก หากแต่ยึดเฉพาะส่วนต่าง ของมูลค่าหุ้นที่เกิดจาก “ราคา” หุ้นที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นมานับจากวันที่ทักษิณเข้ารับตำแหน่งนายกฯคือ 7 กุมภาพันธ์ 2544 ที่มีราคาหุ้นโดยเฉลี่ย 21.309 บาท ทำให้เงินที่ได้จากการขายหุ้นหลังหักราคาหุ้นที่มีอยู่เดิมจำนวน 39,474,365,325.70 บาทพร้อมกับเงินปันผลค่าหุ้นจำนวน 6,898,722,129 บาทรวมเป็นเงินประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาทมิใช่ 7.6 หมื่นล้านบาทให้ตกเป็นของแผ่นดิน
ดังนั้นจะมีผู้ถือหุ้นคนใดบ้างที่ไม่สงสัยผู้ตรวจสอบบัญชีที่มีทัศนะว่า ผู้จัดการบริษัทที่แอบไปถือหุ้นใหญ่ในกิจการที่เป็นคู่ค้าและอาศัยอำนาจของผู้จัดการเอื้อประโยชน์ให้เป็นพิเศษ เช่น ให้เครดิตยาวนานหรือมีส่วนลดสูงกว่าคู่ค้าอื่นๆ เป็นเรื่องที่ถูกต้องไม่ผิด ว่า “มีนอกมีใน” ไม่ทำหน้าที่โดย “สุจริต” ไม่ต้องรอหลักฐานใบเสร็จว่ามีเงินโอนหรือไม่
ผู้ตรวจสอบบัญชีหรือ ส.ว. ต่างก็ทำหน้าที่เป็นตัวแทน “เจ้าของ” ในการตรวจสอบ ทัศนคติให้ชวนสงสัยว่า “มีนอกมีใน” ต่างหากที่เป็นเหตุของความไม่ไว้วางใจมากกว่าจะมีเงินโอนเข้าบัญชีหรือไม่ ความเชื่อมั่นจึงสูญเสียไปแล้วอย่างไม่มีวันกลับคืน
มติชนหลังการถูก “ฮุบ” โดยแกรมมี่เมื่อเดือนกันยายน 2548 ที่ผ่านมาก็เปลี่ยนไปเช่นกัน
การเข้ามาครอบงำกิจการอย่างไม่เป็นมิตรหรือที่รู้จักโดยทั่วไปว่าเป็น hostile takeover ได้ทำให้ผู้คนในสังคมสงสัยว่ามีผู้ที่อยู่เบื้องหลังที่มิใช่ผู้บริหารของแกรมมี่ให้การสนับสนุน
ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่า “ผมไม่รู้จักคุณไพบูลย์เป็นการส่วนตัว แต่ผมมีความรู้สึกอย่างหนึ่งที่เป็นความเชื่อของผมมานาน ผมทำหนังสือพิมพ์มา 20 ปีตั้งแต่จบ . . . มีความตั้งใจที่จะทำหนังสือพิมพ์ตั้งแต่เรียนหนังสือ ทำจริง ไม่ได้คุยว่าคนที่ทำหนังสือพิมพ์ต้องมีจิตสำนึกและต้องมีจิตวิญญาณ ถ้าทำหนังสือพิมพ์จริงๆ นะ ต้องซื่อสัตย์ ซื่อตรงกับวิชาชีพ ไม่ใช่ใครที่ไม่มีหัวนอนปลายตีนจะมาทำก็ได้”
Can ไทเมือง เมื่อ 20 เมษายน 2552 ใน www.oknation.net/blog/canthai ได้ตั้งคำถามว่า มติชน กำลังจะปิดฟ้าด้วยฝ่ามือหรือไม่จากเหตุการณ์จลาจลเมื่อเมษายน 2552 เพราะหากดวงตาเป็นหน้าต่างของดวงใจ ภาพปกก็บ่งบอกว่า “สื่อ” นั้นกำลังคิดอะไรอยู่ ที่อาจกล่าวโดยสรุปว่า
ภาพจากหน้าปกหนังสือ 3 เล่ม สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ลงภาพและเรื่องตั้งแต่การบุกเข้าทำลายการประชุมอาเซียนที่พัทยา บุกเข้าทำร้ายเลขาธิการนายกฯ และมุ่งเอาชีวิตนายกรัฐมนตรีที่กระทรวงมหาดไทย มาจนการถึงสลายม็อบเสื้อแดงที่ก่อจลาจลในเช้ามืด วันสงกรานต์ต่อถึงวันที่ 14 เมษายน 2552 ก็เป็นเช่นเดียวกับ เนชั่นสุดสัปดาห์ ที่เก็บ 3 เหตุการณ์ได้ครบถ้วน แม้ก่อนปิดต้นฉบับ ยังไม่มีสรุปก็เถอะ
แต่การเตรียมทำต้นฉบับทำให้มองเห็นทิศทางการนำเสนอได้ว่า ยังคงเส้นคงวา มองเหตุการณ์ในฐานะ “ผู้สังเกตการณ์” ได้ในระดับดี ผิดหวังกับ มติชนสุดสัปดาห์ ไม่มีภาพความรุนแรง ทั้งจากพัทยา มหาดไทย หรือแม้แต่ในวันสงกรานต์เลือดแม้แต่ภาพเดียวทุกภาพที่นำเสนอ คือความยิ่งใหญ่ของบรรดาม็อบเสื้อแดง ไม่มีภาพความรุนแรงของเหตุการณ์ ......“แม้แต่ภาพเดียว” ทั้งฉบับมีภาพความยิ่งใหญ่ของ “เสื้อแดง” รวม 4 ภาพ รวมทั้งภาพปกไม่มีภาพลำดับเหตุการณ์ความรุนแรง ไม่มี...ไม่มี...เหมือนว่านี่คือการสำแดงพลังอย่างสันติ...เช่นนั้นหรือ...มติชนกระจก 3 บาน สะท้อนภาพเหตุการณ์ที่ต่างกัน...มันเกิดอะไรขึ้น
แม้นายขรรค์ชัย ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ได้มีคำสั่งปลดนายเสถียร จันทิมาธรออกจากตำแหน่งบรรณาธิการนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์และบรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์ข่าวสด รวมถึงปลดจากการเป็นผู้เขียนบทวิเคราะห์การเมืองในคอลัมน์ วิภาคแห่งวิพากษ์ ในหน้า 3 ของมติชนรายวัน โดยให้เหตุผลว่า งานเขียนของนายเสถียรได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อ่านว่ามีเนื้อหาไม่เป็นกลางและพยายามที่จะชี้นำรวมทั้งเอนเอียงไปในทางสนับสนุน ทักษิณ ชินวัตร ต่อมา นายเสถียรจึงยื่นจดหมายลาออกจาก บมจ.มติชน ในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2552 แต่ก็สายเสียแล้ว เพราะ “กระทำ” กับ “พูด” สวนทางกัน ในหลายๆ กรณี
ใน 1 ปีต่อมา ขณะที่รัฐกำลังจะใช้กำลังเข้าปราบปราม “กบฏ” เสื้อแดงที่อาละวาดมาเกือบ 2 เดือน บทนำในเครือมติชนที่นำมาตีพิมพ์ในหน้าแรกเรื่อง “หยุดฆ่าทันที” เมื่อ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 กลับเรียกร้องให้มีการเจรจาอย่างเสมอภาคและให้รัฐบาลยุติปฏิบัติการรุนแรง ทำไมจึงไม่เรียกร้องเมื่อ 10 เมษายน 2553 เมื่อทหารและประชาชนถูกฆ่า ทำไมจึงเรียกร้องเมื่ออีกฝ่ายอ่อนแรง
เรืองไกร มติชน และอีกหลายๆ คนที่ทำหน้าที่ “บุคคลสาธารณะ” จึงเปลี่ยนไปจากใจ “ประชาชนเข้มแข็ง” เพราะรู้เท่าทันแล้วว่าเขาเหล่านั้น “ไม่กระทำ” ตามหน้าที่ที่ตนเองมี อันเป็นที่มาของความเสื่อมในศรัทธาความไว้วางใจที่สาธารณชนมีให้
การฟ้องร้องสิ่งที่นายสุรวิชช์ วีรวรรณนำมาเขียนโดยมติชน หรือ การ “แถ” ไม่ยอมตอบคำถามง่ายๆ ของเรืองไกร ก็ดี ล้วนเป็นปลายเหตุ กระทำคล้ายดั่งเมื่อตนเองผายลมในลิฟต์แต่กลับจ้องหน้าคนอื่นแทน