(25) เพื่อไทย ต้องยุบ พรรคเพื่อไทย (2/6/53)

(25) เพื่อไทย ต้องยุบ พรรคเพื่อไทย (2/6/53)

เพื่อไทย ต้องยุบ พรรคเพื่อไทย


รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง , รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


คนทั่วไปเชื่อว่า ไส้ติ่ง เป็นอวัยวะส่วนที่ไม่มีประโยชน์ เป็นส่วนเกินของร่างกาย แต่หากว่าเกิดอักเสบเป็นหนองก็ต้องรีบตัดทิ้ง

แล้วพรรคการเมืองละ หากปล่อยให้อยู่ไปแล้วไม่เกิดประโยชน์กับสังคม แถมยังก่อให้เกิดความเสียหาย จะตัดทิ้งได้เหมือนไส้ติ่ง หรือไม่?

พรรคเพื่อไทยมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารเพื่อรองรับ ส.ส.จากพรรคพลังประชาชนที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคไปเมื่อ 2 ธ.ค. 51 อันเนื่องมาจากนายยงยุทธ ติยะไพรัช ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งที่มีผลให้การเลือกตั้งเมื่อ 23 ธ.ค. 51 ที่ผ่านมาเป็นไปโดยไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม

ดังนั้นเมื่อมีการยุบพรรคพลังประชาชนผู้ที่อยู่ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคในขณะกระทำความผิดก็ต้องถูก “ทำโทษทางการเมือง” ด้วยการตัดสิทธิทางการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปีตามบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 68 และมาตรา 237 และมีผลทำให้รัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ต้องล้มลงไปด้วยเพราะนายสมชายมีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารและรักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชน แต่ที่สำคัญก็คือนายสมชายเป็น ส.ส.ระบบสัดส่วนในเขตเลือกตั้งที่นายยงยุทธถูกวินิจฉัยว่าโกงเลือกตั้ง และเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับการโกงเลือกตั้งดังกล่าวโดยตรง

พรรคเพื่อไทย ณ ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า เป็นพรรคที่มีบรรพบุรุษมาจากพรรคไทยรักไทยที่มีทักษิณ ชินวัตรเป็นหัวหน้าพรรคที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคไปเมื่อก่อนหน้านั้น ( 30 พ.ค. 50) แม้จะใช้พรรคพลังประชาชนมารองรับและได้ ส.ส.ในการเลือกตั้งเมื่อ 23 ธ.ค. 50 ถึง 233 คน แต่ก็ได้รับการพิสูจน์โดยศาลแล้วว่ามี ส.ส.ที่ชนะเลือกตั้งบางส่วนมีที่มาโดยไม่สุจริต อันเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองของประเทศที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่กฎหมายหลักคือรัฐธรรมนูญกำหนดห้ามเอาไว้

พรรคเพื่อไทยจึงอาจกล่าวได้อีกเช่นกันว่าเป็น “เครื่องมือ” ทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตรที่พยายามจะใช้เพื่อ “ฟอกความผิด” ที่ตนเองมีอยู่ด้วยการพยายามเข้าสู่อำนาจรัฐและใช้อำนาจบริหารเพื่อประโยชน์ของตนเองด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตนเองพ้นผิด ด้วยเหตุนี้ ความพิกลพิการของพรรคเพื่อไทยจึงกลายเป็น “เครื่องมือ” ทางการเมืองเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลมากกว่าที่จะเป็นพรรคการเมืองที่มุ่งหมายดำเนินการเพื่อประโยชน์ของคนส่วนรวม ตามเจตจำนงของกฎหมายพรรคการเมืองที่มุ่งหวัง

ก่อนหน้าการยุบพรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทยมิได้มีอุดมการณ์ดังเช่นในปัจจุบันและไม่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในนโยบายของพรรคจนได้ ส.ส.มาแม้แต่คนเดียว การมี ส.ส.สังกัดพรรคเพื่อไทยดังที่ปรากฏในปัจจุบันจึงเนื่องมาจากการย้ายถ่ายโอนจากพรรคพลังประชาชนเป็นส่วนใหญ่ โดยมีบางส่วนสบโอกาสแตกตัวออกไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทยจนเป็นที่มาของการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองมาเป็นรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ พรรคเพื่อไทยจึงไม่ได้อำนาจรัฐเหมือนพรรคไทยรักไทยหรือพรรคพลังประชาชนที่เป็นบรรพบุรุษและกลายเป็น “ฝ่ายตรงข้าม” รัฐบาลและประชาชนชาวไทยมากกว่าที่จะเป็นพรรคฝ่ายค้าน

การได้ชื่อว่าเป็นพรรคที่มีจำนวน ส.ส.สังกัดมากที่สุดในสภาก็มิได้ทำให้พรรคเพื่อไทยมีสภาพเป็นพรรคการเมืองแต่อย่างใด เพราะไม่สามารถหาผู้ที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาที่สามารถที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้แม้แต่คนเดียว ช่างขัดสนเสียยิ่งนัก นายยงยุทธ วิชัยดิษฐจึงเป็นหัวหน้าพรรคแต่เพียงในนามเท่านั้น ในขณะที่มีตำแหน่งประหลาดๆ เช่น ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทยโดยนายเฉลิม อยู่บำรุง กลับถูกเสนอชื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแทนหัวหน้าพรรค แม้จะอ้างว่าหัวหน้าพรรคในปัจจุบันมิได้เป็น ส.ส.จึงไม่สามารถเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ตามกฎหมาย แต่เมื่อนายยงยุทธ วิชัยดิษฐประกาศว่าจะลาออกก็ไม่สามารถลาออกตามเจตจำนงได้ ซ้ำร้ายกลับไม่มีการเลือกประธาน ส.ส.พรรคหรือ ส.ส.ที่มีความเหมาะสมให้มาทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพรรคแต่อย่างใด

เจตจำนงของประชาชนที่เลือก ส.ส.เหล่านี้เข้ามาในสภาจึงถูกบิดเบือนอย่างน่าละอายที่สุดเพราะประชาชนไม่ได้เลือกพรรคเพื่อไทยหรือนโยบายของพรรคเพื่อไทยตั้งแต่ต้น แล้ว ส.ส.พรรคพลังประชาชนที่กลายเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทยในปัจจุบันเป็นตัวแทนของใครกันแน่? เจ้าตัวรู้บ้างหรือไม่?

คณะผู้บริหารพรรคตามเจตจำนงของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. 2550 หมวด 2 ว่าด้วยการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองในมาตรา 17 ที่กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการพรรคการเมืองให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบาย ข้อบังคับ และมติที่ประชุมของพรรคการเมืองจึงไม่สามารถทำได้ เพราะคณะกรรมการบริหารพรรคกับ ส.ส.เป็นคนละส่วนกัน ไม่มีความเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด

คณะผู้บริหารพรรคของพรรคนี้จึงทำหน้าที่เป็นประหนึ่ง “ผู้รับผิด” ทางการเมืองตามที่กฎหมายเท่านั้นเนื่องจากไม่มีอำนาจสั่งการหรือควบคุมดูแลสมาชิกพรรคและ ส.ส.มิให้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ และกฎหมายของบ้านเมืองนี้แต่อย่างใด ความรับผิด-ชอบ จึงเป็นไปอย่างแยกส่วนอย่างเห็นได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมโดยที่ฝ่ายส.ส. “รับชอบ” ด้วยความมีอิสระปราศจากการรับผิดชอบต่อพรรคที่ตนเองสังกัดแต่กลับไปรับผิดชอบกับ “ผู้มีบารมีนอกพรรค” แทน

การไร้ซึ่งการควบคุมดูแลในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารของพรรคเพื่อไทยตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นที่มาของการเข้าไปมีส่วนร่วมของ ส.ส.และสมาชิกพรรคกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่อาศัยการชุมนุมในช่วงสงกรานต์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยของประชาชนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จนถึงปัจจุบันครั้งแล้วครั้งเล่า

ส่วนใหญ่เป็นการกระทำที่ไม่อยู่ในกรอบของกฎหมาย หรือข้อบังคับพรรค หรือเจตนารมณ์ของพรรคที่แจ้งกับสาธารณชนแต่อย่างใด ดังจะเห็นเป็นประจักษ์ได้จากการที่ส.ส.และสมาชิกของพรรคเพื่อไทยหลายต่อหลายคนไปขึ้นเวทีร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดงในที่ชุมนุมที่มีการชักชวนให้มีการเผาทำลายทรัพย์สินหรือเคลื่อนที่ไปยังที่ต่างๆโดยที่ ส.ส.หรือสมาชิกเหล่านั้นมิได้ทักท้วงหรือห้ามปรามแต่อย่างใด แถมยังมีการยกนิ้วโป้งแสดงว่า “นายแน่มาก” ให้กับแกนนำที่เป็นผู้ก่อการร้ายเช่นนายวีระอีกด้วย

ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์อีกประการหนึ่งก็คือ การกล่าวเท็จในการอภิปราย ของส.ส.พรรคเพื่อไทยหลายๆ คนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายจตุพร พรหมพันธุ์หลังการก่อความวุ่นวายในปี พ.ศ. 2552 และ 2553 ซึ่งเป็นการกล่าวเท็จในลักษณะจาก “ขาวเป็นดำ” อาศัยเอกสิทธิ์ ส.ส.ใช้เวทีสภาเพื่อแก้ตัวในสิ่งที่ตนเองได้กระทำไปโดยแท้ หวังผลกับการปลุกระดมมวลชนในอนาคตแต่มิได้หวังผลกับการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลแต่อย่างใด เป็นการซ้ำเติมความขัดแย้งเพราะไม่มีการชี้แจงนำเสนอหรือแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของสาธารณชนแต่อย่างใด

ทั้งในเรื่องการอยู่ในรถยนต์ที่กระทรวงมหาดไทยของนายอภิสิทธิ์ การตัดต่อคลิปเสียงของนายอภิสิทธิ์ที่ได้มีการพิสูจน์แล้วแต่ก็ยังนำความเท็จดังกล่าวไปเปิดเผยแพร่ในที่ชุมนุมเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือแม้แต่ในครั้งล่าสุดในการชุมนุมที่มีคนตายและมีการเผาทำลายทรัพย์สินที่ได้อภิปรายในสภาราวกับว่าเหตุที่เกิดมิได้มาจากการชุมนุมที่มีตนเองเป็นแกนนำแต่อย่างใด พรรคเพื่อไทยโดยกรรมการบริหารมิได้มีมาตรการควบคุมดูแลหรือห้ามปรามหรือทักท้วงมิให้มีการนำความเท็จที่อาศัยเอกสิทธิ์ ส.ส.มากล่าวในสภาอันเป็นพฤติกรรมที่น่าอับอายแต่อย่างใด

หากมีความจริงใจในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ทำไมจึงไม่ขอเปิดอภิปรายเมื่อมีคนตายเมื่อ 10 เม.ษ. 53 ทำไมจึงต้องรออีกกว่า 1 เดือนจนเมื่อการชุมนุมของคนเสื้อแดงไปต่อไม่ได้แล้วจึงขอเปิดอภิปรายราวกับว่าพรรคเพื่อไทยเป็นแนวร่วม “รับไม้ต่อ” จากกลุ่มคนเสื้อแดงที่สังคมทราบดีว่าประพฤติตนเป็นผู้ก่อการร้าย

อาจมีข้อโต้แย้งว่า เมื่อครั้งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมก็ได้มี ส.ส.หรือสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นแกนนำขึ้นปราศรัยบนเวทีเช่นกัน ทำไมจึงจะกล่าวหาแต่พรรคเพื่อไทยแต่ฝ่ายเดียว

ความแตกต่างจึงอยู่ที่เจตนาเป็นสำคัญ การขึ้นเวทีปราศรัยไม่ผิด แต่การปราศรัยเพื่อสนับสนุนการชุมนุมที่อยู่นอกกรอบที่กฎหมายกำหนดและมีผู้ก่อการร้ายรวมอยู่ด้วยนั้น “ผิด” พฤติกรรมของพันธมิตรฯ จึงเป็นที่ประจักษ์ว่ามิได้มีการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงหรือตระเตรียมการที่จะเผาทำลายทรัพย์สินไว้ล่วงหน้าดังเช่นกลุ่ม นปช.ได้กระทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 แต่อย่างใด ดังนั้นเมื่อต่างกรรมข้อกล่าวหาก็สมควรที่จะแตกต่างกันออกไป การจะกล่าวหายัดเยียดข้อหาก่อการร้ายจึงไม่ครบองค์ประกอบที่สำคัญก็คือการใช้กำลังบังคับขู่เข็ญให้กระทำตามข้อเรียกร้อง

อย่าลืมว่าข้อเรียกร้องหลักของพันธมิตรฯ ก็คือการแก้ไขความผิดโดยการแก้รัฐธรรมนูญให้กับทักษิณ ชินวัตร โดยรัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่เป็นตัวแทนของทักษิณ ซึ่งเมื่อศาลสั่งยุบพรรคพลังประชาชน พันธมิตรฯ ก็สลายการชุมนุมโดยทันที ไม่ต้องมีการเจรจาต่อรองข้อหาหรือการประกันตัว ไม่มี “การตกใจ” หยิบฉวยข้าวของหรือเผาทำลายทรัพย์สินแต่อย่างใด ข้อหาก่อการร้ายจึงเป็นการกล่าวหาที่ “เกินจริง” กับพันธมิตรฯ โดยแท้ เปรียบเทียบไม่ได้กับการเรียกร้องประชาธิปไตยของแกนนำ นปช.ที่เป็นประชาธิปไตย “กินได้” จริงๆ เพราะได้อะไรติดไม้ติดมือไปไม่น้อย

เมื่อไม่ทำหน้าที่พรรคการเมืองในทางที่ถูกต้อง เพื่อประเทศไทย จึงต้องยุบ พรรคเพื่อไทย





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้