10. พันธมิตรฯ รำลึก หลักการนักรบของพันธมิตรฯ (ต่อ)
วิถีแห่งความไร้พ่ายของนักรบแห่งธรรม นั้น เป็นสิ่งที่ทำได้จริงและเป็นไปได้จริงดังที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้พิสูจน์ให้เห็นจริงแล้ว จากการทำสงครามกับระบอบทักษิณถึงสองครั้งสองครา และก็ได้รับชัยชนะทั้งสองครั้ง ทั้งในปี 2549 และในปี 2551 หลักการที่ค้ำจุนวิถีแห่งความไร้พ่ายของนักรบแห่งธรรม นั้น คือ หลักแห่งอนัตตา หรือหลักการแห่งการไร้อัตตาตัวตนอย่างถึงที่สุดในทุกๆ การกระทำเพื่อส่วนรวมของนักรบแห่งธรรม
เพราะในสงคราม ศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของนักรบแห่งธรรมนั้น มิใช่ศัตรูภายนอก แต่คือศัตรูภายใน หรือความยึดมั่นถือมั่นในตนหรืออัตตาของเขาเอง ด้วยเหตุนี้ ความกรุณาย่อมเป็นพันธมิตรฯ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของนักรบแห่งธรรม ความกรุณาในการอุทิศตนเพื่อผู้อื่น ในการรับเอาความทุกข์ของผู้อื่นมาเป็นของตนอย่างไม่คิดเห็นแก่ตนเอง
ทุกๆ เวลา และทุกๆ สถานที่ที่มีโอกาสอำนวย นักรบแห่งธรรมจะนั่งเงียบๆ ร่างตั้งตรงสงบนิ่ง สงบจิตใจรำงับปล่อยให้ความคิดและอารมณ์ที่ผุดขึ้นมา และไปตามทางของมันโดยไม่เข้าไปแทรกแซงใดๆ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนถูกปลดเปลื้องปล่อยออกไปให้เป็นอิสระภายใน ดุจปมเงื่อนที่คลายตัวเองออกมาในความว่างอันไพศาลดุจท้องฟ้า ไม่ว่าจะกระทำสิ่งใด นักรบแห่งธรรมจักไม่ยอมกีดกันความเจ็บปวดรวดร้าวออกไป แต่นักรบแห่งธรรมจะยอมรับความเจ็บปวดเหล่านั้นด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง
เนื่องเพราะ ความปวดร้าวคือ พรจำแลงที่เป็นโอกาสอันมีค่าให้นักรบแห่งธรรมสามารถค้นพบสิ่งที่ดำรงอยู่เบื้องหลังความทุกข์ทั้งปวง อาศัยประสบการณ์ด้านร้ายที่นักรบแห่งธรรมเคยพานพบ กระทำการแปรเปลี่ยนมันให้กลายเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรู้แจ้ง นักรบแห่งธรรมจะหายใจเอาสิ่งเลวร้าย และพลาดผิดเข้าไป จากนั้นจะหายใจออกมาเป็นน้ำมิตรไมตรี นักรบแห่งธรรมจะหายใจเข้าเป็นความรับผิดชอบต่อส่วนรวม และหายใจออกเป็นการให้อภัย
นักรบแห่งธรรมคือ ผู้ที่ตระหนักดีว่า ผู้ใดก็ตามที่ยังไม่ได้ค้นพบขุมทรัพย์แห่งอริยสมบัติในตน ผู้นั้นล้วนแต่เป็นผู้ยากไร้ทั้งสิ้น ไม่ว่าผู้นั้นจะร่ำรวยมีทรัพย์สินเงินทองนอกกายจนล้นฟ้าก็ตาม อริยสมบัติที่ว่านี้คือ จิตเดิมแท้ นั่นเอง
จิตเดิมแท้ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ไม่มีวันดับและไม่สามารถทำลายได้ คนเราทุกคนสามารถเข้าถึงจิตเดิมแท้นี้ได้เสมอ เพราะมันดำรงอยู่ในตัวเรา และเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของคนเรา นักรบแห่งธรรมเข้าถึงจิตเดิมแท้นี้ได้โดยมีสติตั้งมั่นอยู่ในจิตปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอ
จิตเดิมแท้เข้าใจไม่ได้ด้วยความคิด แต่โดยการเฝ้าจับตาดู “ผู้คิด” ในตัวเราอย่างเป็นผู้สังเกตการณ์ อย่างไม่มีอคติ อย่างไม่ตัดสิน ไม่พิพากษา จนกระทั่งสามารถรับรู้ได้ว่า ตัวเรามิได้เป็นสิ่งเดียวกับ “ความคิด” ในหัวเรา เพราะเราเห็นมัน เพราะเราเฝ้าจับตาดูมันจนกระทั่งเรารับรู้ได้กระทั่งว่า ตัวเรากำลังสังเกตการณ์ “ความคิด” ของเราอยู่
หากทำเช่นนี้ได้อย่างลึกซึ้ง ในที่สุด “ความคิด” จะไม่มีอำนาจเหนือตัวเราอีกต่อไป “ความคิด” จะอ่อนแรงลง เพราะตัวเราเลิกให้พลังแก่ความคิดโดยผ่านการเข้าไปปรุงแต่งยึดติด เมื่อทำได้เช่นนั้น นักรบแห่งธรรมก็จะสามารถเข้าถึง จิตว่าง อันเป็นภาวะที่เป็นอิสระจากความคิดได้ ยิ่งนักรบแห่งธรรมสามารถสัมผัสกับ จิตว่าง นี้ได้นานเท่าไร โดยผ่านการเจริญสติ และการเจริญสมาธิภาวนา นักรบแห่งธรรมก็จะยิ่งรู้สึกสงบศานติภายในมากยิ่งขึ้นเพียงนั้น
การฝึกทำจิตให้ว่าง จึงเป็นหนทางนำนักรบแห่งธรรมเข้าสู่จิตเดิมแท้ หรือจิตที่ไร้อัตตาตัวตน จิตเช่นนี้เข้าถึงได้ด้วยการฝึกสติของนักรบแห่งธรรมให้รู้สึกตัวกับปัจจุบันขณะบ่อยๆ ครั้ง ในขณะดำเนินชีวิตประจำวันในทุกๆ กิจกรรม และในทุกๆ อิริยาบถ ความสำเร็จของการฝึกเจริญสติสามารถวัดได้จากระดับความสงบนิ่งภายในของตัวนักรบแห่งธรรม ซึ่งผู้นั้นจะทราบได้เอง
หลักการในการเข้าถึง “จิตว่าง” ของนักรบแห่งธรรมนั้น มีอยู่ว่า จงอย่าจริงจังกับทุกสิ่งที่ใจคิด เพราะตัวเรามิใช่ใจของเรา ใจของเราก็เป็นอนัตตาเช่นกัน นักรบแห่งธรรมต้องสามารถมองทุกสิ่งที่ใจคิดอย่างเอ็นดู และอย่างมีอารมณ์ขันได้ หากทำได้เช่นนี้ นักรบแห่งธรรมก็จะไม่ตกเป็นทาสของความคิด และสามารถเป็นนายของความคิดได้
การที่ผู้คนส่วนใหญ่ตกเป็นทาสของความคิด ก็เพราะผู้คนส่วนใหญ่ดันไปหลงสร้างความรู้สึกที่เป็นตัวตนไปตามเนื้อหา และความเคลื่อนไหวที่ไม่เคยหยุดนิ่งของความคิดของผู้นั้นนั่นเอง คนที่ถูกอัตตาครอบงำ อัตตาจะหล่อเลี้ยง “ตัวตน” ของผู้นั้นด้วยอดีตและอนาคตเสมอ ขณะที่เปิดที่ว่างให้แก่จิตปัจจุบันน้อยมาก อัตตามักรับรู้ปัจจุบันอย่างผิดๆ และมองปัจจุบันด้วยสายตาของอดีต หรือไม่ก็ด้วยสายตาของอนาคตสลับกันไป จนหลงลืมไปว่า จิตแห่งปัจจุบนันนี้ต่างหาก คือ หนทางแห่งการเข้าถึงอิสรภาพโดยแท้จริง ในทัศนะของนักรบแห่งธรรม
ในสายตาของนักรบแห่งธรรม ความเข้มข้นของความทุกข์ของคนเรานั้น ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของผู้นั้นที่ต่อต้านการเข้าถึงจิตปัจจุบัน ในทางกลับกันคนที่อยู่กับจิตปัจจุบันได้มากได้นานเท่าไร คนผู้นั้นก็จะยิ่งพ้นจากทุกข์ได้มากขึ้นเพียงนั้น แต่เนื่องจาก จิตปัจจุบันเป็นจิตที่ดำรงอยู่ในมิติที่ “ไร้เวลา” การจะเข้าถึงจิตปัจจุบันได้ คนเราจึงต้อง “ข้ามใจ” และ “ข้ามเวลา” ไปพร้อมๆ กัน เพราะใจกับเวลาเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ ทุกข์เกิดมาจากการตกเป็นทาสใจ และทาสเวลาเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่จิตปัจจุบันเป็นสิ่งที่คุกคามต่อใจและเวลา เพราะในภาวะแห่งจิตปัจจุบัน ใจจะไร้ซึ่งอำนาจและเวลาก็ปราศจากความหมาย
* * *
พี่น้องเอย...เมื่อผมพูดถึงเวลาและการเป็นทาสเวลาทำให้เกิดทุกข์แล้ว ผมก็อยากนำเสนอ ทัศนะการใช้เวลาของนักรบแห่งธรรม ให้พี่น้องพันธมิตรฯ ที่รักของผมทุกคนได้นำไปใคร่ครวญไตร่ตรองดูบ้าง
ไม่ว่าจะเป็นเวลาใด เช้าตรู่ กลางวัน สนธยา หรือดึกดื่น และไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ไหน บ้าน ที่ทำงาน ป่าคอนกรีต กลางท้องถนน กลางป่าเขาลำเนาไพรหรือกลางทะเล จิตใจของนักรบแห่งธรรมควรเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นอยู่กับการฝึกฝนตนเองอย่างสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ของสังคม และของวัฒนธรรม
นักรบแห่งธรรม คือ ผู้ที่ใฝ่การเรียนรู้อย่างไม่มีวันจบสิ้น เพื่อนำองค์ความรู้เหล่านั้นมารับใช้สังคมและมวลมนุษยชาติ ด้วยเหตุนี้เอง เวลาหนึ่งวันของนักรบแห่งธรรม ตัวเขาจึงต้องใช้มันราวกับเป็นสี่ห้าวันของคนอื่น ในการศึกษาศิลปวิทยาการแขนงต่างๆ อย่างกระหายความรู้ อย่างมิรู้เบื่อหน่าย หนึ่งชีวิตของนักรบแห่งธรรม ตัวเขาจึงควรใช้มันราวกับเป็นสามชีวิตของคนอื่น คือ เป็นชีวิตแห่งความจริง เป็นชีวิตแห่งความดี และเป็นชีวิตแห่งความงามในคนคนเดียวกัน
การที่นักรบแห่งธรรมจะใช้ชีวิตที่สูงส่งตามอุดมคติข้างต้นนี้ได้ ตัวเขาจะต้องใช้เวลาให้เป็นเสียก่อน การใช้เวลาให้เป็นของนักรบแห่งธรรม คือ การตระหนักถึงความแตกต่างระหว่าง “การใช้เวลา” กับ “การเสียเวลา”
การใช้เวลา หมายถึง การใช้เวลาตามที่ผู้นั้นได้กำหนดตั้งใจเอาไว้ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาตนเองในมิติใดมิติหนึ่งของชีวิตอย่างมีเจตจำนงที่ชัดเจนและแน่วแน่ ส่วน การเสียเวลา หมายถึง การผลาญเวลาอย่างขาดสติ อย่างไม่ยั้งคิด อย่างไม่ระมัดระวัง
อันที่จริง คนเราทุกคนต่างก็มีเวลาวันละ 24 ชั่วโมงเท่ากันทุกๆ คน แต่ “การใช้เวลา” กับ “การเสียเวลา” ในแต่ละวันของคนเรานั้นไม่เหมือนกันเลย มันขึ้นอยู่กับว่า แต่ละคนจะเลือกหรือตัดสินใจใช้เวลาหรือเสียเวลาไปอย่างไร โดยที่เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว มันจะผ่านไปเลยอย่างที่ไม่มีวันเรียกกลับคืนมาได้อีก เพราะฉะนั้น ในสายตาของนักรบแห่งธรรม เวลาจึงเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดที่ตัวเขามีอยู่ ใครก็ตามที่ขโมยเวลาของเขาไป จึงเท่ากับขโมยชีวิตของเขาไปด้วย
นักรบแห่งธรรม จึงต้องประเมินสถานการณ์อยู่เสมอว่า จะยอมเสียเวลาอันมีค่า และมีอยู่น้อยนิดของตัวเขาไปกับกิจกรรมใดบ้างที่ถูกนำเสนอเข้ามาในชีวิตของเขา โดยหลักการแล้ว หากนักรบแห่งธรรมได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วน และอย่างเป็นองค์รวมแล้วว่า กิจกรรมหรือโครงการเหล่านั้นมิได้ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของตัวเขาอย่างบูรณาการตามจินตภาพอันสูงส่งที่ตัวเขาวาดเอาไว้ นักรบแห่งธรรมจะต้องกล้าปฏิเสธกิจกรรมหรือโครงการเหล่านั้นโดยไม่ลังเล
หากนักรบแห่งธรรมอยู่ในสถานการณ์จำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือโครงการนั้นได้จริงๆ นักรบแห่งธรรมจะทุ่มเททำมันอย่างเต็มที่ที่สุด และอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เพื่อที่จะได้ถอนตัวจากกิจกรรมนั้น หรือโครงการนั้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม แล้วเดินตามเส้นทางของเขาต่อไป
ในความสัมพันธ์ทางสังคมก็เช่นกัน นักรบแห่งธรรมจะไม่ยอมให้ใครมาขโมยเวลาของเขาไปเป็นอันขาด ด้วยเหตุนี้ เขาจึงจำกัดการคบหาเพื่อนโดยจะคบหาเฉพาะคนที่พบด้วยแล้วสามารถใช้เวลาอย่างมีความสุข อย่างเปี่ยมความหมาย และอย่างหฤหรรษ์ร่วมกันได้เท่านั้น ไม่แต่เท่านั้น นักรบแห่งธรรมยังจะต้องแสวงหา ห้วงเวลาอิสระ ที่ตัวเขาจะไม่กระทำสิ่งใดเลย นอกจากกระทำตามอำเภอใจของตัวเขาเท่านั้น และนักรบแห่งธรรมยังจะต้องเพิ่มพูน ห้วงเวลาอิสระ เช่นนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จนกระทั่งมันกลายมาเป็น “ช่วงเวลาหลัก” ในชีวิตของเขา นี่จึงจะสามารถเรียกได้ว่า ตัวเขากลายเป็น “นายของเวลา” ได้อย่างแท้จริง มิใช่เป็นแค่ “ทาสของเวลา” เหมือนเช่นคนส่วนใหญ่
การตัดสินใจว่าจะใช้เวลาอย่างไร จึงต้องเป็นการตัดสินใจอย่างเป็นการเลือกเสรีของตัวนักรบแห่งธรรมเอง โดยที่นักรบแห่งธรรมจะไม่ยินยอมให้ค่านิยมทางสังคมหรือจารีตประเพณีทางสังคมมาบงการการใช้เวลาของเขาเป็นอันขาด การมีสติอย่างยิ่งในการใช้เวลาของนักรบแห่งธรรม จะทำให้นักรบแห่งธรรมสามารถถอนตัวจากความสัมพันธ์ที่ไร้สาระของเรื่องราว และของผู้คนที่มาผลาญเวลาของนักรบแห่งธรรมได้อย่างเป็นธรรมชาติและเป็นปกติ
นักรบแห่งธรรมย่อมสามารถมองทะลุซึ้งในความสูญเปล่าของการใช้ชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ที่มักเสียเวลามากเกินไปกับผู้คน และเรื่องราวต่างๆ ที่เข้ามาผลาญเวลาของพวกเขา จึงทำให้พวกเขาเหลือเวลาที่น้อยเต็มทนสำหรับการพัฒนาตนเองซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่งนัก
ในสายตาของนักรบแห่งธรรม จึงไม่มีคำว่า “ไม่มีเวลา” ดำรงอยู่ เพราะคำว่า “ไม่มีเวลา” ที่คนส่วนใหญ่ชอบอ้างกันอยู่เสมอนั้น ความจริงก็แค่หมายถึงการเสียเวลาส่วนใหญ่ไปกับการผลาญชีวิตอย่างไร้จุดหมาย โดยที่มีโอกาสได้ใช้เวลาอย่างมีจิตสำนึก น้อยกว่าที่ควรจะเป็นเท่านั้น สิ่งที่คนส่วนใหญ่ได้เคยทำมานั้น จึงไม่ใช่ “การใช้เวลา” แต่เป็นแค่ “การเสียเวลา” เท่านั้น
พี่น้องเอย พี่น้องรู้มั้ยว่า การที่พี่น้องพันธมิตรฯ ทุกคน ได้มา “ใช้เวลาร่วมกัน” ถึง 193 วันในปี 2551 เพื่อกู้ชาติกู้แผ่นดินนั้น มันได้ชักนำพี่น้องให้เข้าสู่ โลกอันศักดิ์สิทธิ์ และวิถีอันศักดิ์สิทธิ์ของนักรบแห่งธรรม ทั้งนี้ก็เพราะว่า ภารกิจศักดิ์สิทธิ์ ในการกู้ชาติกู้แผ่นดินของพี่น้องพันธมิตรฯ นั้น จะไม่มีวันสมบูรณ์เลย หากขาดการรองรับและค้ำจุนด้วยโลกอันศักดิ์สิทธิ์ และวิถีอันศักดิ์สิทธิ์ของนักรบแห่งธรรม
ในขณะเดียวกัน เพราะมีการดำรงอยู่ของโลกอันศักดิ์สิทธิ์ และวิถีอันศักดิ์สิทธิ์ของนักรบแห่งธรรม จึงทำให้ภารกิจศักดิ์สิทธิ์ของนักรบแห่งธรรม เป็นสิ่งที่ยากจะลอกเลียนแบบได้ ถึงจะพยายามเลียนแบบให้เหมือนแค่ไหน แต่ก็แค่ทำการเลียนแบบได้เพียงเปลือกนอกหรือรูปแบบเท่านั้น มิอาจมีแก่นแท้และเนื้อหาที่เหมือนกันได้เลย...
พี่น้องเอย คุณค่าที่แท้จริงของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น จักดำรงอยู่ได้แม้ผ่านกาลเวลา ต่อให้ได้รับคำหยามหยันจากคนบางคน สื่อบางส่วน ปัญญาชน นักวิชาการบางกลุ่ม แต่วิญญูชนทั้งหลายล้วนยินดีค้อมหัวคำนับพวกท่านจากใจจริง