45. พันธมิตรฯ รำลึก ว่าด้วยพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ) 16/2/53

45. พันธมิตรฯ รำลึก ว่าด้วยพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ) 16/2/53

45.พันธมิตรฯ รำลึก ว่าด้วยพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ)


วิวัฒนาการของจิตมี 10 ขั้นตอนที่ผ่านมา เราได้กล่าวไปแล้วเกี่ยวกับพัฒนาการทางจิตจากขั้นที่ 1 ถึงขั้นที่ 6 อันเป็น จิตแบบโลกียะ สิ่งที่ภูมิปัญญาบูรณาการ โดยเฉพาะ จิตวิทยาเชิงบูรณาการ (integral phychology)ได้ค้นพบก็คือ พัฒนาการของจิต หลังจากที่คนผู้นั้นได้เริ่มภาวนา ได้เริ่มปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องจริงจัง มันก็ยังเป็น ขั้นตอน (stage model) อยู่ดี ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 4 ขั้นตอนของ การพัฒนาเชิงข้ามพ้นตัวตน (stages of transpersonal development) ซึ่งได้แก่

ขั้นที่ 7 psychic ขั้นที่ 8 subtle ขั้นที่ 9 causal และ ขั้นที่ 10 nondual ซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย ในที่นี้ เราจะยังไม่ขอลงลึกในรายละเอียดของขั้นที่ 7-10 ซึ่งเป็นระดับจิตของ จิตแบบโลกุตตระ

แต่คนที่ศึกษาศาสนาพุทธมาบ้างน่าจะเข้าใจได้ไม่ยากเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะทางพุทธก็มีการแบ่ง ขั้นตอนของการเป็นอริยบุคคลออกเป็น 4 ขั้นตอนเช่นกัน คือ โสดาบัน สกาทาคามี อนาคามี และอรหันต์ เพียงแต่จิตวิทยาเชิงบูรณาการจะใช้คำเรียกกลางๆ ที่ประยุกต์ใช้อธิบายได้กับทุกๆ แนวทางของการฝึกฝนทางจิตวิญญาณเป็นสำคัญเท่านั้น

ระดับจิตตั้งแต่ขั้นที่ 7 ขึ้นไปนี้ เป็นขอบเขตของ อภิจิต (the superconscious) ที่ข้ามพ้นตัวกู-ของกูไปแล้ว โดยมันดำรงอยู่ในเชิงโครงสร้างของจิตในตัวคนเราทุกคน ในฐานะที่เป็น ศักยภาพ (potential) ของจิตที่สามารถพัฒนาจนเป็นจิตที่อริยะ จิตที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือจิตที่เหนือโลกได้ ถ้าฝึกฝนจิตอย่างจริงจังด้วยการเจริญสติภาวนา และการเจริญสมาธิภาวนาดุจการฝึกฝนศิลปะทั่วไป

สำหรับปุถุชนทั่วๆ ไป จะสามารถพัฒนาจิตจากขั้นที่ 1 ถึงขั้นที่ 6 ได้ โดยผ่านการเลี้ยงดูอบรมของครอบครัว การเล่าเรียนจากสถาบันการศึกษา การทำงานในสถานที่ทำงาน และจากการอ่านหนังสือ ส่วนขั้นที่ 7-10 นี้มันเป็นแค่ศักยภาพของปุถุชนเท่านั้น แต่สามารถทำให้ปรากฏเป็นจริงออกมา หรือทำให้มันเผยตัวพัฒนาออกมาได้ด้วย การปฏิบัติธรรม (spiritual practices) อย่างจริงจัง และต่อเนื่องมายาวนาน ส่วนการจะฝึกฝนจิตหรือปฏิบัติธรรมในแนวทางใดนั้น ภูมิปัญญาบูรณาการบอกว่า มันเป็นแค่ความต่างของ โครงสร้างเชิงผิว (surface structure) ซึ่งถูกกำหนดโดยบริบททางวัฒนธรรมเท่านั้น

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ คนผู้นั้นจะต้องมีความตระหนักรู้ที่แจ่มชัดให้ได้ว่า แนวทางที่ตัวเองเลือกฝึกฝนจิต หรือเลือกเจริญภาวนา เลือกปฏิบัติธรรมนั้น มันจะนำพาตัวเองไต่ระดับของโครงสร้างเชิงลึก (deep structure ที่เป็น basic defining pattern) ซึ่งได้แก่ psychic, subtle, causal และ nondual ไปได้ไกลที่สุดแค่ไหนต่างหาก

ยกตัวอย่างเช่น การฝึกฝนบางแนวทางจิตอาจพัฒนาไปได้ไกลสุดแค่ psychic เช่น แนวทางแบบ shaman (หมอผี) บางแนวทางจิตอาจพัฒนาไปได้ไกลสุดแค่ subtle เช่น แนวทางแบบสร้างนิมิต หรือแนวทางที่บูชาเทพเจ้าอย่างเป็นบุคลาธิษฐานเหล่านี้ เป็นต้น

เหมือนอย่างที่คนเราพอเกิดมา และเจริญเติบโตพอจะพูดได้ และคิดเชิงนามธรรมได้ คนเราก็ต้องผ่านการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอนจากจินตภาพ (images) ไปสู่สัญลักษณ์ (symbols) และไปสู่มโนทัศน์ (concepts) อันเป็นโครงสร้างเชิงลึกของภาษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และ ไม่อาจพัฒนาย้อนศร จากมโนทัศน์ไปสู่สัญลักษณ์ ไปสู่จินตภาพได้ โดยที่ เนื้อหา ของจินตภาพ สัญลักษณ์ และมโนทัศน์ อันเป็นโครงสร้างเชิงผิวของภาษา ย่อมสามารถแตกต่างกันได้อย่างหลากหลาย แต่ที่ไม่มีวันเปลี่ยนคือ ทิศทางของการพัฒนาในเชิงโครงสร้างเชิงลึกนี้

ฉันใดก็ฉันนั้น วิวัฒนาการทางจิตของมนุษย์ ในทางโครงสร้างแห่งจิต ไม่ว่ามนุษย์คนนั้นจะเป็นคนชาติใด ผิวสีอะไร เพศอะไร มีวรรณะอะไร มีอุดมการณ์ความเชื่อเช่นใดก็ตาม ต่างก็ล้วนแล้วแต่ต้องพัฒนาไปตามทิศทางของโครงสร้างเชิงลึกของจิต ทั้ง 10 ขั้นตอน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งสิ้น โดยไม่มีข้อยกเว้น เพราะความแตกต่างภายนอกที่แลเห็นนั้น เป็นเพียงความแตกต่างของเนื้อหาอันเป็นโครงสร้างเชิงผิวที่ถูกกำหนดด้วยปัจจัยต่างๆ เท่านั้น แต่ไม่อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึกนี้ไปได้

เป็นที่น่าสังเกตว่า การพัฒนาของจิตในระดับโลกียะอย่างขั้นที่ 1 ถึงขั้นที่ 6 ก็ดี หรือการพัฒนาของจิตในระดับโลกุตตระอย่างขั้นที่ 7 ถึงขั้นที่ 10 ก็ดี ล้วนดำเนินไปตามหลักวิวัฒนาการของสรรพสิ่งทั้งสิ้น กล่าวคือ ระดับจิตที่ผุดขึ้นมาใหม่ (new emergence) จะมี “ความลึก” ยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยจะ “ก้าวข้ามแต่หลอมรวม” ระดับจิตขั้นก่อนๆ เสมอ

ระดับจิตที่ผุดขึ้นมาใหม่ หรือเผยตัวออกมาใหม่นี้ จะทำให้คนผู้นั้น แม้จะมีร่างกายร่างเดิม แต่สภาวะจิตของผู้นั้นจะไม่เหมือนเดิม ในความหมายที่ว่า คนผู้นั้นจะนิยามตัวตนของตนเองใหม่ ในทิศทางที่สูงส่งยิ่งขึ้นกว่าเดิม (higher sense of self) สายตาที่คนผู้นั้นมองโลก มองสังคม มองผู้อื่น มองธรรมชาติ มองจักรวาล ก็จะเปลี่ยนไป แม้แต่แรงจูงใจ แรงผลักดันในชีวิตของผู้นั้นก็จะเปลี่ยนไป สิ่งที่ผู้นั้นให้ความใส่ใจในการเรียนรู้ก็จะเปลี่ยนไป จุดยืนเชิงจริยธรรมของผู้นั้นก็จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่สูงส่งยิ่งขึ้นตาม ขั้นตอนของโครงสร้างเชิงลึกแห่งพัฒนาการของจิต

พี่น้องชาวพันธมิตรฯ ที่รัก พวกเราและพรรคของเราจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างเชิงลึกแห่งพัฒนาการของจิต ดังข้างต้นให้จงดี ถ้าหากพวกเราต้องการประสบความสำเร็จที่ยั่งยืนในการบรรลุอุดมการณ์อันสูงส่งของพวกเรา เพราะโมเดลการพัฒนาที่มั่นคง และยั่งยืนอย่างแท้จริง ที่พรรคของเราจะนำไปใช้ในการชี้นำ และบริหารประเทศ จะต้องเป็น โมเดลการพัฒนาแบบบูรณาการที่มีพื้นฐานอยู่ที่การพัฒนาไปตามขั้นตอนของโครงสร้างเชิงลึกของจิตมนุษย์ ทั้งในแง่ปัจเจก และในแง่รวมหมู่นี้เท่านั้น!!

เท่าที่ผ่านมา แนวทางการพัฒนาทั้งหลายล้วนแล้วแต่ประสบความล้มเหลวทั้งสิ้น สาเหตุหนึ่งนอกจากไม่รู้จริง จึงมุ่งพัฒนาแบบ “ตาบอดคลำช้าง” แล้ว แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ มุ่งพัฒนาเชิงปริมาณเท่านั้น หรือมุ่งเปลี่ยนแปลงแค่โครงสร้างเชิงผิวเป็นหลักเท่านั้น โดยขาดความเข้าใจหรือไม่ได้ตระหนัก หรือไม่รู้วิธีการใน การพัฒนาเชิงคุณภาพแบบบูรณาการที่มุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึกเป็นสำคัญนั่นเอง

หากโครงสร้างเชิงวิวัฒนาการของจิตทั้ง 10 ขั้นนี้ เปรียบเหมือน บันไดตัวตน (self) หรือตัวรู้ของจิตก็คือ ผู้ปีนบันได โดยที่ ทิวทัศน์ (view) ที่เห็นจากแต่ละขั้นบันได ก็คือ โลกทัศน์ (และชีวทัศน์) ของตัวตนนั้น โดยที่ในแต่ละขั้นบันได ตัวตน ผู้ปีนบันไดจะเห็นทิวทัศน์แตกต่างกันไป หรือมองโลกต่างกันไปตามขั้นตอนวิวัฒนาการของจิต ซึ่งปัจเจกแต่ละคนที่มีระดับพัฒนาการของจิตไม่เท่ากัน จึงทำให้มีโลกทัศน์ไม่เหมือนกันตามไปด้วย

พี่น้องชาวพันธมิตรฯ ที่รัก ปัญหาความวุ่นวายต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เกิดขึ้นทั่วทุกสังคมจนแทบเป็นกลียุค อย่างเช่นยุคปัจจุบันนี้ หากสาวต้นตอไปจนถึงสาเหตุลึกๆ แล้วจะพบว่า ล้วนเกิดขึ้นเพราะ ผู้คน มีความเห็น ความเชื่อ อุดมการณ์ และโลกทัศน์หรือเรียกรวมๆ ก็คือ ทิวทัศน์ (view) ที่แตกต่างกันนั่นเอง ทั้งนี้ก็เพราะผู้คนหรือ ตัวตน ผู้ปีนบันไดมีระดับวิวัฒนาการของจิต หรือขั้นบันไดที่แตกต่างกัน

ขณะที่สังคมโลกโดยรวมก็เพิ่งมีวิวัฒนาการมาถึงขั้น higher vision-logic หรือขั้นบนสุดของระดับจิตขั้นที่ 6 หรือขั้นของ “สังคมความรู้” เมื่อย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 พร้อมๆ กับการปฏิวัติอินเทอร์เน็ต เท่านั้น แม้แต่องค์ความรู้ล่าสุดของมนุษยชาติอย่างภูมิปัญญาบูรณาการ (integral wisdom) ก็เพิ่งเริ่มปรากฏเป็นรูปเป็นร่างในช่วง 10 กว่าปีมานี้ในโลกวิชาการตะวันตกเท่านั้นเอง แต่ก็ได้สร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวงแก่วงการผู้สนใจเรื่องการพัฒนาอย่างบูรณาการในแง่ที่ว่า มันสามารถบ่งชี้ชัดในระดับ “ฟันธง” ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์จำนวนมหึมาว่า สังคมมนุษย์โดยรวมจะพัฒนาไปในทิศทางใด โดยใช้โครงสร้างเชิงลึกอย่างโครงสร้างเชิงวิวัฒนาการของจิต เป็นตัวบ่งบอกในการคาดการณ์อนาคต

ด้วยเหตุนี้ พรรคของเราจึงต้องใช้โมเดลการพัฒนาเชิงบูรณาการนี้มาเป็นฐานคิด หรือเป็นแม่บทของวิธีคิดที่สามารถใช้เป็นมาตรฐานในการตรวจสอบแนวทางต่างๆ ในการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองที่ถูกนำเสนอโดยกลุ่มพลังต่างๆ ในสังคมนี้ได้อย่างปราศจากอคติ หรือฉันทาคติ ซึ่งในขณะนี้ ทอดตาไปทั่วแผ่นดินนี้ เราก็ยังไม่เห็นว่าจะมีฐานคิดไหนหรือแม่บทแห่งวิธีคิดไหนที่ทรงพลัง รอบด้านครอบคลุมและบูรณาการมากเท่ากับ โมเดลบูรณาการ (integral model) นี้

โมเดลการพัฒนาแบบบูรณาการนี้ ยืนยันว่า วิวัฒนาการของจิตมนุษย์ทุกคน จะต้องพัฒนาผ่านทีละขั้น จากขั้นต่ำไปสู่ขั้นสูงเสมออย่างไม่สามารถกระโดดข้ามขั้นไปได้ ไม่ว่าจะอยู่ในเงื่อนไขทางสังคมใดๆ ก็ตาม

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ต่อให้เป็นสังคมพระศรีอาริย์ มนุษย์ในสังคมเชิงอุดมคติแห่งอนาคตกาลนี้ ก็ต้องผ่านขั้นตอนวิวัฒนาการทางจิตตามโมเดลข้างต้นเสมอ เพียงแต่น่าจะผ่านขั้นตอนต่างๆ ได้เร็วกว่าในสังคมปัจจุบันเท่านั้น และผู้คนในสังคมพระศรีอาริย์นี้ ส่วนใหญ่น่าจะมีพัฒนาการทางจิตสูงกว่าระดับที่ 7 หรือขั้นที่ 7 ขึ้นไปอย่างไม่ต้องใช้ความเพียรพยายามในการฝึกฝนทางจิตมากเท่าผู้คนในสังคมปัจจุบัน เพราะเงื่อนไขทางสังคม สถาบัน ระบอบเศรษฐกิจ-การเมือง องค์ความรู้ และบริบททางวัฒนธรรมต่างๆ เหล่านี้ มันจะเอื้ออำนวยให้ผู้คนในสังคมพระศรีอาริย์มีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนเองให้โครงสร้างเชิงวิวัฒนาการทางจิตของผู้คน มันเผยตัวออกมาได้เร็ว และไปได้ไกลกว่าสมัยปัจจุบันนั่นเอง

เพราะฉะนั้น เราย่อมคาดการณ์ได้อย่างมั่นใจ และเชื่อมั่นว่า สังคมในอุดมคติของมนุษยชาตินั้น รอพวกเราอยู่ข้างหน้าอย่างไม่ต้องสงสัยอีกต่อไปแล้ว ถ้าพิจารณาจากทิศทางการคลี่คลายของโครงสร้างเชิงลึกอย่างโครงสร้างเชิงวิวัฒนาการของจิตนี้ เพียงแต่มันคงยังไม่ใช่ในชั่วชีวิตของพวกเรา หรือของลูกหลานของพวกเราเท่านั้น แต่มันต้องคลี่คลายและวิวัฒนาการไปในทิศทางนี้อย่างแน่นอน แม้ว่าจะประสบกับอุปสรรคความยากลำบากมากมายแค่ไหนก็ตาม โดยที่ การสร้าง “การเมืองใหม่” คือ ก้าวแรกๆ ของพวกเราที่มุ่งไปสู่สังคมในอุดมคตินี้เท่านั้น




 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้