44. พันธมิตรฯ รำลึก ว่าด้วยพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ) 9/2/53

44. พันธมิตรฯ รำลึก ว่าด้วยพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ) 9/2/53

44. พันธมิตรฯ รำลึก ว่าด้วยพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ)


พี่น้องชาวพันธมิตรฯ ที่รัก การมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่อง ระดับโครงสร้างวิวัฒนาการทางจิตของมนุษย์ จะต้องเป็นเสาหลักทางทฤษฎีอีกเสาหนึ่งของ โมเดลการพัฒนาแบบบูรณาการ ของพรรคเรา โดยที่คำอธิบายของภูมิปัญญาบูรณาการเกี่ยวกับ ระดับโครงสร้างวิวัฒนาการทางจิตของมนุษย์ ที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นผลพวงของการค้นคว้าอย่างกว้างขวางและยาวนานของนักจิตวิทยาสำนักต่างๆ เป็นจำนวนมากที่ถูกนำมาสังเคราะห์จนกลายเป็น 10 ขั้นตอนแห่งระดับวิวัฒนาการของจิต โดยที่โมเดลของจิตวิทยาเชิงบูรณาการแบบนี้ จะไม่เพียงแค่ศึกษาพัฒนาการเชิงจิตวิทยาของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตายเท่านั้น

หากยังศึกษาครอบคลุมพัฒนาการเชิงจิตวิทยาของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนบรรลุธรรมด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า โมเดลการพัฒนาคนและพัฒนาสังคมแบบบูรณาการนี้ ที่อิงอยู่กับระดับโครงสร้างวิวัฒนาการของจิตมนุษย์ และสามารถเชื่อมโยงเข้ากับการอธิบายวิวัฒนาการของจักรวาลหลากมิติได้อย่างกลมกลืน เป็น โมเดลการพัฒนาที่สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่องค์ความรู้ของมนุษยชาติเคยมีเลยทีเดียว พรรคของเราจะต้องนำเอาโมเดลนี้มาประยุกต์ใช้ในการชี้นำ และการบริหารประเทศ จึงจะสามารถบรรลุอุดมการณ์อันสูงส่งของพวกเราได้

10 ขั้นตอนแห่งระดับวิวัฒนาการทางจิตของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนบรรลุธรรม ตามโมเดลของจิตวิทยาเชิงบูรณาการ มีดังต่อไปนี้ อนึ่ง การอธิบาย 10 ขั้นตอนแห่งระดับวิวัฒนาการทางจิตของมนุษย์ จะอธิบายจากขั้นตอนที่พัฒนาน้อยที่สุดไปจนถึงขั้นตอนที่พัฒนาสูงสุด โดยมี ตัวตน (self) หรือ ตัวรู้ เป็นผู้นำทางในการพัฒนาทางจิตไปตามลำดับ

ขั้นที่ 1 sensoriphysical หรือ sensorimotor

เป็นการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสในระดับกายภาพ อันเป็นระดับจิตของทารกแรกเกิด ที่เอาจิตของตัวเองรวมเป็นหนึ่งเดียวกับโลกวัตถุภายนอก เพราะตัวทารกเองยังไม่สามารถจำแนก “ภายนอก” กับ “ภายใน” ได้ สำหรับทารกแล้ว ร่างกายทั้งหมดของทารกก็คือปาก และ “โลก” ของทารกก็คือ อาหารเท่านั้น

ขั้นที่ 2 phantasmic-emotional

เป็นระดับจิตที่ถูกกระตุ้นด้วยอารมณ์ ความรู้สึกหรือแรงผลักดันทางฮอร์โมนโดยยังไม่สามารถคำนึงถึงเหตุผล หลักศีลธรรม จิตระดับนี้เริ่มเข้าใจจินตภาพ (image) ได้บ้างแล้ว เป็นจิตในระดับทารกหลังคลอดได้ 15-24 เดือน

ขั้นที่ 3 rep-mind หรือ magic

เป็นขั้นตอนที่ใจ (mind) เริ่มปรากฏออกมาเป็นรูปร่างแล้ว เป็นระดับจิตที่เริ่มสามารถคิดในเชิงสัญลักษณ์อย่างง่ายๆ ได้ เริ่มมีตัวตนในเชิงมโนทัศน์ (concept) สามารถนิยามตัวเองอย่างง่ายๆ ได้ เป็นระดับจิตของเด็กอายุตั้งแต่ 2-4 ขวบ (สามารถคิดในเชิงสัญลักษณ์ได้) ไปจนถึง 7 ขวบ (สามารถคิดในเชิงมโนทัศน์ได้) แต่จิตใจระดับนี้ยังเป็นจิตที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง (egocentrism) และหลงตัวเอง (narcissism) อยู่ คือคิดว่าโลกจะเป็นดังใจนึกของตัวเองทุกประการอยู่ จึงยังเป็นจิตในระดับ มายาคติ (magic) ที่คิดและมองโลกแบบการ์ตูนอยู่

ขั้นที่ 4 rule-role mind หรือ conop หรือ mythic

เป็นจิตระดับกลางๆ ที่มีความเชื่อเรื่องอำนาจวิเศษ (magical power) ได้ย้ายจากตัวเองแบบเด็กๆ ในขั้นตอนก่อนไปสู่ความเชื่อเรื่องอำนาจวิเศษของเทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวงที่อยู่นอกตน จึงเรียกจิตในระดับนี้ว่า ปรัมปราคติ (mythic) ในอีกด้านหนึ่ง จิตในระดับนี้เป็นจิตที่เริ่มเข้าใจแล้วว่า ตัวเองไม่สามารถทำอะไรได้ทุกอย่างตามความอยาก ความปรารถนา และแรงผลักดันภายในของตัวเอง แต่คนเราจะต้องปฏิบัติตามกฎและหน้าที่ หากต้องการจะอยู่ในสังคมอย่างราบรื่น จิตระดับนี้โดยปกติจะเริ่มเกิดในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 7 ขวบขึ้นไป

สำหรับประเทศด้อยพัฒนา หรือประเทศกำลังพัฒนาที่คนส่วนใหญ่จบการศึกษาแต่ระดับชั้นประถม ระดับจิตของพวกเขาจะหยุดอยู่แค่ระดับนี้เท่านั้น ยกเว้นเสียแต่ว่า พวกเขาจะดิ้นรนไขว่คว้าหา ความรู้ ใส่ตัวเองอยู่ตลอดเวลา จึงจะสามารถยกระดับตัวเอง มีพัฒนาการทางจิตต่อไปได้

ขั้นที่ 5 formal-reflexive หรือ formop หรือ rational

เป็นจิตที่พัฒนาขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง โดยผ่านระบบการศึกษาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาไปจนถึงระดับปริญญาตรีที่เป็นกระบวนการฝึกจิตให้เริ่มคิดเป็น เริ่มรู้จักใช้เหตุผลเป็นในการวิเคราะห์ จนสามารถมีวิจารณญาณเป็นของตัวเองได้ กระทั่งเกิดเป็น โลกทัศน์เชิงวิทยาศาสตร์ ที่เชื่อว่าหากมีความปรารถนาในสิ่งใด ก็จงไปบรรลุสิ่งนั้นด้วย หลักฐาน เหตุผล ข้อมูล และความเข้าใจ มิใช่ด้วยการอ้อนวอนร้องขอต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยที่ยังคงงอมืองอเท้าอยู่ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จิตในระดับนี้จะถูกอบรมบ่มเพาะด้วยระบบการศึกษาและสังคมให้บังเกิดขึ้นกับเยาวชนในช่วงอายุ 10-15 ปี แต่สำหรับในประเทศไทย เนื่องจากระบบการศึกษาที่ด้อยประสิทธิภาพ และสภาพสังคมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ จึงต้องใช้เวลานานกว่าโลกตะวันตกในการพัฒนาจิตระดับนี้ให้แก่เยาวชนไทย สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ที่ทำงานใน ภาคสมัยใหม่ หรือชนชั้นกลาง ไม่ว่าภาคราชการหรือภาคเอกชน จะสามารถพัฒนาระดับจิตของพวกเขาได้แค่ระดับนี้เป็นส่วนใหญ่เท่านั้น

หากปัจเจกชนผู้ใดต้องการจะยกระดับจิตของตนให้สูงขึ้นไปกว่านี้ คนผู้นั้นจะต้องเป็นผู้รักการอ่านหนังสือที่หลากหลาย รักการคิดอย่างรอบด้าน และลึกซึ้งจนเป็นปัญญาชนผู้มีระบบการคิดที่ลุ่มลึกซับซ้อนจึงจะเป็นไปได้ จิตในระดับนี้จึงยังเป็น จิตของโลกทัศน์แบบทันสมัยนิยม (modernism) เท่านั้น

ขั้นที่ 6 vision-logic

เป็นจิตที่สามารถคิดอย่างเห็นภาพรวมทั้งหมดได้ (totality) เป็นจิตที่สามารถเห็น เอกภาพท่ามกลางความแตกต่างและความหลากหลาย เป็นจิตที่แลเห็นความหลากหลายของมุมมอง และสามารถเข้าใจมุมมองต่างๆ ที่แตกต่างกันได้อย่างไม่บิดเบือน และเคารพอย่างจริงใจในความต่างเหล่านั้น เป็นจิตที่สามารถใช้ตรรกะขั้นสูง อย่างวิภาษวิธี (dialectic) และอย่างไม่เป็นเส้นตรง (nonlinear) ได้อย่างเชี่ยวชาญจึงสามารถคิดอย่างเป็นระบบและอย่างมีพลวัต (dynamic) ได้ จึงเป็นจิตที่สามารถสังเคราะห์และบูรณาการ “ความจริงที่แยกส่วน” ให้ประสานกันได้อย่างสมดุล เป็นจิตของ โลกทัศน์แบบพหุนิยม (plulaism) หรือ โลกทัศน์แบบหลังทันสมัยนิยม (postmodernism) และ โลกทัศน์แบบบูรณานิยม (integralism)

จิตระดับนี้จึงเป็นระดับจิตของปัญญาชน และนักคิดชั้นนำหรือชั้นแนวหน้าของประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนสูงสุดของการพัฒนาจิตในระดับโลกียะแล้ว

จะเห็นได้ว่า 10 ขั้นตอนแห่งระดับวิวัฒนาการทางจิตของมนุษย์ตั้งแต่ขั้นที่ 1 จนถึงขั้นที่ 6 ดังข้างต้นนี้ มีประโยชน์มากในการช่วยให้พรรคของพวกเรา มีความเข้าใจพัฒนาการทางจิตของผู้คนในประเทศนี้ที่พรรคของพวกเราอาสาเข้ามาเป็น “ผู้นำยุคใหม่” ให้ว่า ผู้คนเหล่านี้ที่ยังเป็นปุถุชนตั้งแต่เกิดจนตาย พวกเขาจะต้องผ่านขั้นตอนการพัฒนาทางจิตอย่างเป็นลำดับอย่างไรบ้าง พรรคของพวกเราจะได้ชี้นำและผลักดัน นโยบายปฏิรูปเชิงบูรณาการ ออกมาได้อย่างถูกต้องและสอดคล้องเหมาะสมกับพัฒนาการทางจิตของผู้คนเหล่านี้

เพราะการมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับ โครงสร้างวิวัฒนาการของจิตมนุษย์ ย่อมเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพรรคของพวกเราในการวาง แนวทางการพัฒนาแบบบูรณาการ ให้สอดคล้องกับการยกระดับจิตสำนึกของผู้คนในแต่ละท้องถิ่น ในแต่ละภูมิภาค รวมทั้งยังสามารถนำเสนอ วิชัน หรือ วิสัยทัศน์เชิงบูรณาการ (integral vision) ได้ว่าจะนำพาผู้คนและบ้านเมืองนี้พัฒนาไปข้างหน้าในทิศทางใดและได้อย่างไร

แต่ถ้าหากปัจเจกผู้ใดอยากมีความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีกว่า คนเราจะบรรลุธรรมได้อย่างไร เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างวิวัฒนาการทางจิตของมนุษย์ ผู้นั้นจำเป็นต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นที่ 7 ถึงขั้นที่ 10 แห่งระดับวิวัฒนาการทางจิตของมนุษย์ ดังต่อไปนี้...

...กว่าที่มนุษย์ปุถุชนคนหนึ่งจะมีพัฒนาการทางจิตมาจนถึงขั้นที่ 6 หรือ vision-logic ซึ่งเป็นระดับจิตของปัญญาชนได้ ก็คงผ่านโลกมาไม่น้อย อีกทั้งคงเก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิต รวมทั้งใช้ชีวิตทางโลกอย่างจัดเจนมาแล้ว จนกระทั่งสามารถมองทะลุเห็นซึ้งถึงความเป็นอนิจจังของชีวิตได้

การเริ่มอ่านหนังสือธรรมะ หรือหนังสือเชิงปรัชญา เชิงจิตวิญญาณเป็นจำนวนมากเพื่อดับกระหาย จึงมักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนเป็นอันดับแรก สำหรับคนในระดับจิตขั้นที่ 6 นี้ทำให้ช่วยพอกพูนสติปัญญาในทางธรรมให้แก่คนผู้นั้น จนสามารถพัฒนาจิตของเขาเป็น higher vision-logic หรือจิตที่พัฒนาจนติดเพดานบนของขั้น vision-logic หรือระดับจิตขั้นที่ 6 ได้ แต่แม้กระนั้นก็ตาม คนผู้นั้นก็จะรู้สึก “ยังไม่เพียงพอ” อยู่ดี

เพราะลำพังแค่อ่านหนังสือธรรมะ หนังสือเชิงปรัชญา เชิงศาสนา และเชิงจิตวิญญาณอย่างเดียว ต่อให้คนผู้นั้นตะลุยอ่านนับร้อยนับพันเล่มก็ไม่อาจดับความกระหายทางจิตใจ หรือความโหยหาทางจิตวิญญาณของคนผู้นั้นได้หรอก อุปมาดังคนที่กำลังหิวโซ แลเห็นภาพเขียนรูปอาหารอันโอชะตั้งอยู่เบื้องหน้า ย่อมไม่อาจดับความหิว เพราะแค่แลดูภาพวาดได้ฉันใด ลำพังแค่การอ่านหนังสือโดยไม่มีการภาวนา โดยไม่มีการปฏิบัติธรรม เพื่อมี ประสบการณ์โดยตรง ใน “สิ่งนั้น” ที่หนังสือธรรมะได้แค่พรรณนา ย่อมไม่อาจทำให้จิตของผู้นั้นยกระดับเกินกว่าขั้นที่ 6 หรือ vision-logic ได้

ครั้นเมื่อผู้นั้นได้เริ่มภาวนา ได้เริ่มปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ไม่ว่าคนผู้นั้นจะปฏิบัติในแนวทางคัมภีร์วิสุทธิมรรคของพุทธเถรวาท หรือในแนวทางมหามุทราของพุทธทิเบต หรือในแนวเซนของพุทธมหายาน หรือในแนวโยคะสูตรของฮินดู หรือในแนวเซียนของเต๋า หรือในแนวซูฟีของอิสลาม หรือในแนวภาวนาเชิงรหัสนัยของคริสต์ หรือแม้แต่ในแนวนิวเอจของตะวันตกก็ตาม สิ่งที่ภูมิปัญญาบูรณาการโดยเฉพาะ จิตวิทยาเชิงบูรณาการได้ค้นพบเชิงโครงสร้างก็คือ พัฒนาการของจิตหลังจากที่ผู้นั้นได้เริ่มเจริญภาวนาปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องจริงจัง มันก็ยังเป็น ขั้นตอน (stage model) อยู่ดี



 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้