15. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ
อะไรคือความหมายของประชาธิปไตยของพันธมิตร? ในความเข้าใจของผม บทบาทของแนวคิดเกี่ยวกับ “ประชาธิปไตย” และปรัชญาการเมืองนั้น มีความสำคัญมากต่อขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพราะมันได้ให้ความหมายแก่ผู้คน และชุมชนการเมืองต่างๆ ที่ครอบคลุมทั้งขบวนการทางการเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน รวมไปถึงการสร้างมาตรฐาน และการตั้งเป้าหมายให้แก่ระบอบการเมืองด้วย
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พวกเราชาวพันธมิตรฯ จะต้องบูรณาการแนวคิดเกี่ยวกับ “ประชาธิปไตย” และปรัชญาการเมืองนี้เข้ากับวิถีแห่งความเป็นเลิศมนุษย์ โดยประสานเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม และความเป็นธรรมเข้ากับปริมณฑลทางการเมือง และระบอบการเมืองการปกครองให้จงได้
ปรัชญาการเมือง และปรัชญาประชาธิปไตยของพวกเราชาวพันธมิตรฯ จะต้องอยู่ในสถานะของการเป็น เข็มทิศชีวิต ในการสร้างระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในชุมชนการเมือง และขบวนการทางการเมืองของพวกเรา รวมทั้งช่วยทำให้พวกเรารู้จักตัวเอง สามารถดูแลจิตวิญญาณของตัวเองมิให้มัวหมอง รวมทั้งยังสามารถชี้แนะและนำทางให้แก่พวกเราได้ว่า พวกเราสมควรจะมีชีวิตอยู่ร่วมกันและ “ทำงานใหญ่” ร่วมกันอย่างไรถึงจะมีคุณค่า และทรงความหมายอย่างที่สุด
เพราะในท่ามกลางวิกฤตหลากมิติที่กำลังกัดกร่อนสังคมไทยอยู่ ตั้งแต่เรื่องของระบบวิธีคิด โลกทัศน์ จิตวิญญาณ คุณธรรม เสรีภาพ ความเป็นธรรม ฯลฯ จนทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมนี้ขาดความกล้าหาญเพียงพอที่จะออกมาตัดสินฟันธงในประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินเชิงคุณค่า จะมีก็แต่ขุมพลังของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยของพวกเราเท่านั้น ที่เป็นพลังมวลชนบริสุทธิ์ที่มีทั้งความพร้อม ความเสียสละ และความกล้าหาญในการลุกขึ้นมายืนยันสิ่งที่ตัวเองคิด มีความเชื่อและศรัทธาออกสู่สาธารณะโดยปราศจากความครั่นคร้ามใดๆ แม้ว่าพงหนามของประชาธิปไตยไทยที่พวกเราชาวพันธมิตรฯ จะต้องฟันฝ่าก้าวข้ามไปนั้นจะมีมากแค่ไหนก็ตาม
พี่น้องเอย คนเรานั้นหากเป็นผู้ที่มีสติปัญญา ความนึกคิด และมีการไตร่ตรองที่ถูกต้องแล้ว การดำเนินชีวิตของผู้นั้นย่อมจะมุ่งให้ความสำคัญกับเรื่องของจิตวิญญาณมาเป็นอันดับแรก เรื่องของสุขภาพกายเป็นอันดับรองลงมา และสุดท้ายจึงเป็นเรื่องของทรัพย์สินเงินทอง หรือไม่ก็เรื่องชื่อเสียงตำแหน่ง เพราะสำหรับบุคคลผู้นั้นแล้ว ชีวิตที่ดีเลิศสูงส่ง และมีความสุข คือ ชีวิตในทางปัญญาญาณหรือชีวิตในทางวิปัสสนาญาณ นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ บุคคลที่มีความเที่ยงธรรม และมีคุณธรรมจึงย่อมมีชีวิตที่เป็นสุขมากกว่าบุคคลที่ขาดความเที่ยงธรรม และคุณธรรมในจิตใจ ความรื่นรมย์ขั้นสูงสุดของเลิศมนุษย์ ย่อมเกิดจากการมีปัญญาแจ่มแจ้ง มีความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของสรรพสิ่งทั้งปวง
ยิ่งไปกว่านั้น เลิศมนุษย์ผู้นั้นย่อมค้นพบอีกว่า หากตัวเขาจะบรรลุถึงความสมบูรณ์แห่งชีวิตอย่างเต็มเปี่ยมได้ ตัวเขาจะต้องบูรณาการชีวิตทางปัญญาความรู้ของเขาเข้ากับชีวิตทางการเมืองเพื่อส่วนรวมของเขาให้จงได้ เพื่อเสนอหนทางแก้ไขปัญหาต่างๆ อันเป็นวิกฤตของบ้านเมือง รวมทั้งยังต้องทำหน้าที่ที่เป็นภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ในการ “ปลดปล่อย” ผู้คนให้หลุดพ้นจากอวิชชา และมายาคติทั้งหลายทั้งปวงด้วย สำหรับเลิศมนุษย์แล้ว ปฏิบัติการทางการเมืองจะต้องถูกชี้นำด้วยความคิดที่สูงส่งที่มีองค์ความรู้เชิงบูรณาการรองรับเสมอ จึงจะสามารถสร้างความเป็นระเบียบ และสันติสุขให้แก่บ้านเมืองได้
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การจะบรรลุความเป็นเลิศมนุษย์อย่างบูรณาการนั้น จะเป็นจริงได้ บุคคลผู้นั้นจะต้องเข้าร่วมกับชุมชนการเมือง หรือขบวนการทางการเมืองที่มีลักษณะเป็น “จิตวิญญาณรวมหมู่” และเป็นมณฑลแห่งพลังอันศักดิ์สิทธิ์ที่ขยายใหญ่ออกไป จนกระทั่งข้ามพ้นขีดจำกัดแห่งความเป็นปัจเจกเฉพาะตัวไปได้ เนื่องจากมนุษย์เรานั้นโดยลำพังแล้ว ยากที่จะรู้จักตัวเองได้อย่างถ่องแท้ คนเราจะรู้จักตัวเองได้ก็ต่อเมื่อผู้นั้นมีโอกาสพิจารณาตัวเอง โดยเปรียบเทียบกับพวกเดนมนุษย์ที่ต่ำต้อยกว่าสามัญชน หรือเทียบกับมนุษย์ที่สูงส่งเทียมเทพยดาหรือเป็นเลิศมนุษย์แล้วเท่านั้น
ชีวิตทางการเมืองจึงสมควรเป็น ชีวิตที่สอง ของคนเรา ซึ่งให้โอกาสคนเราสามารถยกระดับและก้าวพ้นจาก ชีวิตแรก อันหมายถึงชีวิตที่ต้องดำรงอยู่เพื่อเลี้ยงชีพเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องอย่างเดียวเท่านั้น โดยที่ “ประชาธิปไตย” คือ เป้าหมายเชิงอุดมคติของ ชีวิตที่สอง อันมีความหมายของคนเราในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีงามอย่างแท้จริง
แต่การจะมี ชีวิตที่สอง ที่สมบูรณ์ได้ คนผู้นั้นต้องเข้าถึง ชีวิตที่สาม หรือชีวิตในทางจิตวิญญาณ หรือชีวิตในทางวิปัสสนาญาณเสียก่อน เพื่อช่วยทำให้คนผู้นั้นสามารถดึงเอาศักยภาพความสามารถด้านต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวเองออกมาให้ประจักษ์แก่สาธารณชนได้
จากความเข้าใจข้างต้น เมื่อเราหันกลับไปทบทวนพัฒนาการของประชาธิปไตยไทยที่เต็มไปด้วยอุปสรรคอันเป็นพงหนามที่ต้องฝ่าฟันตั้งแต่เริ่มแรก เราได้พบความจริงที่สำคัญมากเรื่องหนึ่งว่า อุปสรรคอันเป็นพงหนามของประชาธิปไตยไทยนั้น อยู่ที่มันเป็นการเมืองที่ปราศจากฐานสนับสนุนจากประชาชนที่มีจิตสำนึกทางการเมืองตั้งแต่เริ่มแรกเลยทีเดียว
ประวัติความเป็นมาของประชาธิปไตยไทยนั้น สืบสาวไปได้ถึง พ.ศ. 2454 (ร.ศ. 130) เมื่อนายทหารกลุ่มหนึ่งจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกได้รวมตัวกันวางแผนยึดอำนาจรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่ทั้งหมดถูกจับกุมเสียก่อนลงมือตามแผน เนื่องจากมีคนทรยศในกลุ่มนำความไปบอกเจ้านายชั้นสูง
คณะรัฐประหาร ร.ศ. 130 นี้ เป็นกลุ่มทหารยศระดับพันตรีถึงร้อยตรีที่ได้รับการศึกษาแบบใหม่ มีความรู้ทางสังคม รู้ข่าวสารรู้เหตุการณ์ในต่างประเทศทำให้นำมาเปรียบเทียบกับสภาพการณ์ของไทย จนได้พัฒนาความคิดและจิตสำนึกทางการเมืองจนถึงระดับที่กล้าคิดก่อการรัฐประหาร แต่ก็พลาดจนได้จึงถูกจับกุมหมด แต่ต่อมาทั้งหมดก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษในภายหลัง เนื่องเพราะเบื้องบนเห็นว่า ทั้งหมดเป็นทหารหนุ่มที่รักและหวังดีต่อประเทศชาติ
ต่อมาใน พ.ศ. 2475 หรือยี่สิบเอ็ดปีหลังจากการก่อรัฐประหาร ร.ศ. 130 ที่ล้มเหลว ในที่สุด คณะราษฎรก็ได้ก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นผลสำเร็จ การเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรนั้นกินเวลาเพียงสองสามชั่วโมงเท่านั้น ในช่วงรุ่งเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เหตุที่เลือกวันนั้น ก็เพราะเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปประทับที่วังไกลกังวล ทำให้เหลือข้าราชการเพียงไม่กี่คนอยู่ในกรุงเทพฯ
เป้าหมายสำคัญของแผนการนั้นอยู่ที่การเข้าไปควบคุมตัวสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร ในเวลาย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน คณะราษฎรได้ใช้กลลวงนำทหารเรือ และทหารบกมารวมตัวกันบริเวณรอบพระที่นั่งอนันตสมาคม ประมาณ 2,000 คน ตั้งแต่ตีห้า โดยอ้างว่าเป็นการสวนสนาม จากนั้นนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาก็ได้อ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เสมือนประกาศยึดอำนาจการปกครองก่อนจะนำกำลังแยกย้ายกันไปปฏิบัติการตามแผนที่วางไว้จนประสบความสำเร็จ
จะเห็นได้ว่า การก่อการของคณะราษฎรนี้ เป็น การยึดอำนาจที่ขาดฐานสนับสนุนจากประชาชน ถึงแม้ว่าคนกลุ่มนี้จะมีเจตนาดีที่มุ่งหมายจะทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมก็จริง แต่การมีแค่เจตนาดีเท่านั้นหาเพียงพอไม่ เพราะประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังจากนั้นได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ในขณะที่ ระบอบใหม่ อย่างระบอบประชาธิปไตย ยังไม่ได้รับการสถาปนาอย่างมั่นคง ส่วนอำนาจแบบประเพณีของระบอบเดิมก็ถูกสั่นคลอน จึงทำให้เกิดภาวะสุญญากาศแห่งอำนาจขึ้นมา ผลก็คือ ผู้ที่มีอำนาจทางกายภาพเหนือกว่าได้ฉกฉวยโอกาสนี้เข้าปกครองประเทศแทน ระบอบประชาธิปไตยไทยในยุคเริ่มต้นที่ขาดฐานสนับสนุนจากประชาชน จึงตกเป็นเหยื่อของพลังทหารผู้ถืออาวุธตั้งแต่ต้น
ภายในเวลาเพียงปีเศษ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้เกิดการรัฐประหารแย่งอำนาจกันถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการก่อรัฐประหารโดยกลุ่มพระยาพหลพลพยุหเสนา และหลวงพิบูลสงคราม ในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 ที่เข้ายึดอำนาจการปกครองของนายกรัฐมนตรี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา โดยอ้างว่าทำไปเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น จริงๆ แล้วก็เป็นแค่การสำแดงพลังทางทหารครั้งแรกอย่างเป็นทางการเท่านั้น
ส่วนครั้งที่สอง คือ “กบฏบวรเดช” ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคม 2476 นำโดย พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม นี่เป็นความพยายามที่จะก่อรัฐประหารหลังการรัฐประหารครั้งแรกเพียงสี่เดือนเท่านั้น แต่กลุ่มกบฏซึ่งเรียกตัวเองว่า “คณะกู้บ้านกู้เมือง” กลุ่มนี้ ซึ่งได้พยายามใช้กำลังเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล โดยใช้กองกำลังทหารจากหัวเมืองต่างๆ เข้าล้อมเมืองหลวง กลับถูกฝ่ายรัฐบาลปราบปรามอย่างราบคาบ
หลังจากนั้นได้มีการออกพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาคดีกบฏนี้ ซึ่งมีอำนาจราวกับศาลทหาร และยังออกพระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 โดยให้อำนาจแก่รัฐบาลอย่างล้นพ้นในการปราบปรามบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์ อันเป็นสถานการณ์ที่ก้าวเกินขอบเขตของคำว่า ประชาธิปไตยจนแทบจะเป็นเผด็จการไปแล้ว และยังส่งผลกระทบกระเทือนต่อสถาบันกษัตริย์อีกด้วย
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงยินยอมเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตามการปกครองระบอบประชาธิปไตย เมื่อครั้งเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ทั้งๆ ที่พระองค์ก็ยังมีกองทัพที่จงรักภักดีพอที่จะต่อสู้กับคณะราษฎรผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้
แต่รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 กลับใช้การปกครองที่ไม่ตรงกับหลักการประชาธิปไตยของพระองค์ และทรงเห็นว่า พระราชประสงค์ที่จะให้ประเทศไทยมีการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงไม่บรรลุผลสำเร็จ พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ในขณะที่พระองค์ประทับรักษาพระเนตรอยู่ในประเทศอังกฤษ เพื่อเปิดหนทางให้ผู้ที่เหมาะสมกว่าเข้ามาทำหน้าที่แทนพระองค์สืบไป อมตวาจาของพระองค์ที่ปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ เป็นดังต่อไปนี้
“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร”
อาจกล่าวได้ว่า หลังจากนั้นเป็นต้นมา การปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลยในประเทศนี้ จริงอยู่บทบาทของกองทัพในช่วงแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองยังอยู่ที่การป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ ผู้ปกครองก็อาศัยกองทัพเป็นเสาเอกค้ำจุนรัฐบาล โดยใช้รัฐธรรมนูญเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง ทั้งๆ ที่ตัวผู้ปกครองเองหามีจิตใจที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงไม่
ในยุคนั้นจึง เกิดปรากฏการณ์แปลกประหลาดที่รัฐบาล และผู้ปกครองจงใจกล่าวถึงรัฐธรรมนูญมากกว่าประชาธิปไตย และจงใจให้ประชาชนทั่วไปยอมรับว่า รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันสูงสุดทางการปกครอง เป็นสิ่งแสดงความทันสมัยเทียมเท่าอารยประเทศ วาทกรรมรัฐธรรมนูญ จึงกลายเป็นแนวคิดหลักของระบอบใหม่
ขณะที่ วาทกรรมประชาธิปไตย ถูกทำให้เป็นแนวคิดรอง และถูกทำให้เข้าใจผิดว่า เมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วก็แสดงว่า เป็นประชาธิปไตยแล้ว โดยหารู้ไม่ว่า สิ่งที่กำลังก่อตัวในยุคที่จอมพลป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงปี 2481-2487 และในช่วงปี 2491-2500 คือ ระบอบพิบูลสงคราม ซึ่งเป็นต้นแบบของ ระบอบทักษิณ ในเวลาต่อมานั่นเอง