18. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ)
ความวุ่นวายของโลกส่วนใหญ่ เกิดจากการแย่งชิงอำนาจกัน ทั้งๆ ที่อำนาจเป็นสิ่งไร้สาระอย่างหนึ่งที่ผู้ที่มีปัญญาถ่องแท้จะไม่ฝักใฝ่ และไม่เคยมองเห็นความน่าหลงใหลของมัน ผู้มีอำนาจสูงสุดต่อให้มีพร้อมทุกสิ่งก็มักจะมีบางสิ่งที่ขาดหายหรือสูญหายไปจากชีวิต และไม่ช้า ผู้นั้นก็จะตกอยู่ในหล่มแห่งการแสวงหาอำนาจของคนใกล้ตัว อวิชชาหรือความไม่รู้ของมนุษย์ทำให้ผู้มีอำนาจไม่เคยเรียนรู้บทเรียนของการใช้อำนาจไปในทางที่ผิด พวกเขาจึงทำผิดพลาดอยู่เช่นนี้ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า คนแล้วคนเล่า ผู้มีอำนาจและมีอวิชชาในการใช้อำนาจไปในทางที่ผิด จึงไม่ต่างไปจากคนที่มีปีศาจซ่อนอยู่ภายใน รอวันให้ปีศาจตนนั้นออกมาอาละวาดทำลายชาติบ้านเมือง...
อำนาจเบ็ดเสร็จที่อยู่ในกำมือของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 เป็นต้นมา ทำให้จอมพลสฤษดิ์ใช้ชีวิตอย่างเสพสุขที่สุดเท่าที่ตัวเขาจะตักตวงได้ ตัวอย่างรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดก็คือ จอมพลสฤษดิ์ได้สร้างฮาเร็มส่วนตัวขึ้นมา โดยรวบรวมสาวงามจากทั่วประเทศจำนวนร้อยกว่าคนมาบำเรอความสุขของตน โดยเกือบทั้งหมดจะได้รับเงินประจำ มีบ้าน มีรถยนต์ให้ใช้ โดยใช้เงินราชการที่มาจากภาษีประชาชนทั้งสิ้น แต่ อำนาจอันหอมหวานนี้ ก็ไม่เคยเป็นสมบัติของใครคนหนึ่งนานเกินไป ไม่ว่าใครคนนั้นจะยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ตาม จอมพลสฤษดิ์จึงเสวยสุขในตำแหน่งผู้นำประเทศได้เพียง 5 ปีเท่านั้น ก็ถึงแก่กรรมในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 โดยที่สมัยของจอมพลสฤษดิ์ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เป็นเผด็จการที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่
หลังจากนั้น ระบอบเผด็จการทหารของจอมพลสฤษดิ์ ก็ได้รับการสืบทอดด้วยระบอบถนอม-ประภาส เพราะพล.อ.ถนอม กิตติขจร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ทันที ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2506 โดยควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก เหมือนกับจอมพลสฤษดิ์ด้วย โดยมีพล.อ.ประภาส จารุเสถียร เป็นผู้มีอำนาจอันดับสองรองจากเขา ระบอบถนอม-ประภาสนี้ แม้จะคล้ายกับระบอบสฤษดิ์ตรงที่รักษาอำนาจเผด็จการทหารกับชี้นำการบริหารโดยระบบราชการ และมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโดยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่ก็มีลักษณะผ่อนปรนมากขึ้น
ถึงกระนั้นก็ตาม ในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2508 ก็ได้เกิด “วันเสียงปืนแตก” หรือเกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐบาลกับกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรก อันเป็นจุดเริ่มต้นของ “สงครามประชาชน” หรือสงครามกลางเมืองภายในประเทศที่ยืดเยื้อต่อมาอีกกว่า 20 ปี ทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายของทหารและประชาชนเป็นจำนวนมาก
ยิ่งเวลาผ่านไปนานวันเข้า รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ยิ่งถูกสังคมกดดันเรื่องร่างรัฐธรรมนูญล่าช้า คือกว่าจะประกาศใช้ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2511 ได้ ก็ใช้เวลาร่างนานถึง 9 ปี 4 เดือน จากนั้นพอรัฐบาลได้ผ่อนคลายให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นหัวหน้า “พรรคทหาร” หรือพรรคสหประชาไทยที่ได้เสียงข้างมากเป็นอันดับที่หนึ่ง (แต่พรรคฝ่ายค้านหรือพรรคประชาธิปัตย์ชนะในพระนคร และธนบุรีทั้งหมด) ทำให้เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง
กระนั้นก็ตาม จอมพลถนอมก็บริหารประเทศภายใต้ระบอบประชาธิปไตยได้เพียง 3 ปีกว่าเท่านั้น เขาก็ทำการก่อการรัฐประหารตนเอง โดยประกาศยึดอำนาจในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 มีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ พล.อ.ประภาส จารุเสถียร เป็นรองหัวหน้าคณะปฏิวัติ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เป็นเลขาธิการคณะปฏิวัติ พ.ท.ณรงค์ กิตติขจร เป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะปฏิวัติฝ่ายความมั่นคง
เหตุผลการรัฐประหารตนเองของคณะปฏิวัติกลุ่มนี้ก็เหลวไหลมาก คือ อ้างว่า พวก ส.ส.ใช้เสรีภาพเกินขอบเขต จึงประกาศเลิกรัฐสภาและเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาร่างนานถึง 9 ปี 4 เดือน โดยมีอายุใช้งานเพียง 3 ปี 5 เดือนเท่านั้น ไม่แต่เท่านั้น คณะปฏิวัติยังประกาศให้พรรคการเมืองต่างๆ สิ้นสภาพลงทันที และให้อำนาจทั้งหมดกลับมาอยู่ในมือของคณะปฏิวัติ นี่เท่ากับเป็นการฟื้นเผด็จการทหารเต็มรูปแบบขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
แม้ว่าจอมพลถนอมจะให้สัญญาว่า จะรีบประกาศใช้ธรรมนูญชั่วคราว และให้มีการร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่โดยเร็วก็ตาม แต่แล้วในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2514 คณะปฏิวัติก็ได้ประกาศเลื่อนการใช้ธรรมนูญชั่วคราว และปกครองด้วยอำนาจปฏิวัติต่อไปอีก กว่าที่คณะปฏิวัติจะยอมให้มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ก็ล่วงเวลาเนิ่นช้าไปถึงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2515 สรุปแล้ว คณะปฏิวัติได้ทำการบริหารประเทศด้วยอำนาจเผด็จการนานถึง 13 เดือน มีการใช้ประกาศคณะปฏิวัติหลายร้อยฉบับ ซึ่งเป็นการออกกฎหมายโดยฝ่ายบริหารที่ไม่ผ่านสภามากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่
จะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่การรัฐประหารตนเองในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2514 เป็นต้นมา ความชอบธรรมในการปกครองประเทศของระบอบถนอม-ประภาสก็หมดสิ้นลงในสายตาของประชาชนที่มีการศึกษา และรักความเป็นธรรมจำนวนมากซึ่งไม่อาจยอมรับการรื้อฟื้นเผด็จการทหารเต็มรูป การใช้อำนาจของคณะปฏิวัติ การเลื่อนใช้ธรรมนูญชั่วคราว และการถ่วงเวลาการร่างรัฐธรรมนูญถาวรได้อีกต่อไป เหตุการณ์เชิงสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการหมดความชอบธรรมในการปกครองประเทศอย่างสิ้นเชิงของระบอบถนอม-ประภาสในจิตใจของประชาชนผู้รักความเป็นธรรมจำนวนมากก็คือ ความพยายามในการเพิ่มอำนาจของ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ผู้เป็นทั้งบุตรชายของจอมพลถนอม และเป็นบุตรเขยของ พล.อ.ประภาส จารุเสถียร ซึ่งนำมาซึ่งความแตกแยกภายในกองทัพ เพราะเริ่มมีนายทหารระดับคุมกำลังที่ไม่พอใจ การอวดเบ่งอำนาจของ พ.อ.ณรงค์มากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มเอาใจออกห่างจากการสนับสนุนกลุ่มของจอมพลถนอม-พล.อ.ประภาส
อนึ่ง การขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 15 ปีเต็ม นับตั้งแต่สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มาจนถึงสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ได้ทำให้ชนชั้นกลางไทย และขบวนการนักศึกษาไทยเติบโตขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และจะกลายมาเป็นขุมพลังทางการเมืองที่ทรงพลังที่สุดในการต่อต้านระบอบเผด็จการทหารอย่างระบอบถนอม-ประภาสในที่สุด
ก่อนปี 2500 นั้น ประเทศไทยยังมีมหาวิทยาลัยอยู่เพียงไม่กี่แห่ง และรับนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาจำนวนจำกัด แต่พร้อมๆ กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการผลักดันแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็รับนักศึกษาเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเปิดคณะใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เพราะเป้าหมายของมหาวิทยาลัยของรัฐได้เปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยมุ่งผลิตบัณฑิตเพื่อออกมาเป็นข้าราชการกลายมาเป็นมุ่งการผลิตบุคลากรเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในภาคเอกชนแทน
นอกจากนี้ ยังมีการเปิดมหาวิทยาลัยในระดับภูมิภาคทั่วประเทศ มีการขยายวิทยาลัยอาชีวะ และวิทยาลัยครูต่างๆ ทั่วประเทศ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การเปิดมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในปี 2514 เพื่อเป็นตลาดวิชาที่สามารถรับสมัครนักศึกษาได้นับแสนคน ปริมาณจำนวนนักศึกษาในแต่ละปีที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลนับตั้งแต่ปี 2514 เป็นต้นมานี้ จึงได้กลายมาเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการเติบโตของขบวนการนักศึกษาไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่ลำพังแค่ปริมาณจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นมาก ยังเป็นแค่ เงื่อนไขที่จำเป็น สำหรับการเติบโตของขบวนการนักศึกษาเท่านั้น ยังไม่ใช่เงื่อนไขที่เพียงพอ สำหรับการยกระดับคุณภาพหรือจิตสำนึกทางการเมืองของขบวนการนักศึกษาโชคดีที่นับตั้งแต่ปี 2510 เป็นต้นมา ขบวนการเคลื่อนไหวทางความคิดของปัญญาชนไทยได้กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากซบเซาไปนาน และได้มีส่วนสำคัญในการบ่มเพาะขบวนการนักศึกษาเป็นอย่างมาก
เป็นที่น่าสังเกตว่า พัฒนาการของปัญญาไทยกลุ่มนี้ มีลักษณะต่างไปจากกลุ่มปัญญาชนใน “กบฏสันติภาพ” ในทศวรรษที่ 2490 ที่เป็นขบวนการปัญญาชนสังคมนิยม เพราะพัฒนาการของกลุ่มปัญญาชนไทยในทศวรรษที่ 2510 นี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ได้รับแนวคิดแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยกลับมาแล้วกลายมาเป็นนักคิดและนักวิพากษ์ระบอบเผด็จการทหารอย่างจริงจัง
สื่อสำคัญของกลุ่มปัญญาชนไทยกลุ่มนี้ที่ใช้ในการเผยแพร่แนวคิดต่อต้านเผด็จการทหารและวิพากษ์สังคม คือ วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ซึ่งเป็นวารสารรายสามเดือนที่มีปัญญาชนสยามอย่างสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เข้ามาเป็นบรรณาธิการ ตั้งแต่ปี 2509 ครั้นในปี 2513 ได้เปลี่ยนบรรณาธิการมาเป็นสุชาติ สวัสดิ์ศรี ก็ยังมีแนวทางเช่นเดิม ทำให้วารสารฉบับนี้กลายมาเป็นสื่อที่มีอิทธิพลทางความคิดสูงยิ่งต่อปัญญาชนและนักศึกษาในยุคนั้น
ในขณะเดียวกัน ก็เริ่มเกิดกลุ่มนักศึกษาหัวก้าวหน้าที่เบื่อหน่ายกับกิจกรรมนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่มีลักษณะหลีกหนีความเป็นจริง ไร้สาระ ไม่สร้างสรรค์และต้องการที่จะออกมาทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือมาเรียนรู้ความเป็นจริงของบ้านเมืองมากกว่า อย่างเช่น การเกิด กลุ่มปริทัศน์เสวนา ในปี 2509 ที่เป็นกลุ่มนักศึกษากลุ่มแรกๆ ที่รวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นในปัญหาทางการเมืองและสังคม
ส่วนกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาชนบทของนักศึกษาก็เริ่มเฟื่องฟูตั้งแต่ปี 2511 มีการออกค่ายนักศึกษาหลายสิบแห่งในแต่ละปี โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมออกค่ายนับพันคน ทำให้นักศึกษาเหล่านี้ได้สัมผัสกับปัญหาชนบทอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก จนกระทั่งมีการก่อตั้ง กลุ่มบูรณะชนบท ขึ้นมาในปี 2513 กลุ่มบูรณะชนบทนี้เป็นองค์กรประสานงานระหว่างกิจกรรมค่ายอาสาของนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ จึงเป็นกลุ่มเครือข่ายข้ามสถาบันการศึกษากลุ่มแรกๆ ที่ต่อมาได้พัฒนาไปเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการนักศึกษาในที่สุด
อีกส่วนหนึ่งของขบวนการนักศึกษานั้นเกิดจาก การรวมตัวของนักศึกษากลุ่มหนึ่งเพื่อร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้งในปี 2512 ให้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม โดยกลุ่มนี้ใช้ชื่อกลุ่มของตนว่า กลุ่มนิสิตนักศึกษาอาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้ง โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมถึง 17 สถาบัน จากกิจกรรมสังเกตการณ์เลือกตั้งของกลุ่มนักศึกษาที่เป็นเครือข่ายข้ามสถาบันนี้ ต่อมาได้พัฒนาไปสู่การจัดตั้งองค์กรกลางในการประสานงานระหว่างองค์การบริหารนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ อย่างเป็นทางการ เรียกว่า ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ในปี 2513 แต่ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยนี้ เริ่มที่จะมีบทบาทในการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างชัดเจนก็ต่อเมื่อธีรยุทธ บุญมี ตัวแทนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการในปี 2515
โดยเริ่มจาก การรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2515 เพื่อชักชวนให้ประชาชนตื่นตัวในชาตินิยม และตระหนักถึงภัยรุกรานทางเศรษฐกิจจากญี่ปุ่น ปรากฏว่า การเคลื่อนไหวของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยในครั้งนั้น ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากประชาชนทำให้ ขบวนการนักศึกษาเริ่มกลายมาเป็นแกนกลางของขบวนการมวลชน หรือขบวนการทางการเมืองภาคประชาชนในสมัยนั้นไปโดยปริยาย
นอกจากองค์กรที่เป็นทางการอย่างศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยแล้ว ยังเกิด กลุ่มอิสระ ต่างๆ ที่มีเป้าหมายทางการเมืองและสังคมขึ้นแพร่หลายไปแทบทุกมหาวิทยาลัยราวกับเป็นแฟชั่นของยุคนั้น กลุ่มอิสระที่สำคัญและโดดเด่นเป็นพิเศษก็คือ กลุ่มสภาหน้าโดม ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่นำโดยเสกสรรค์ ประเสริฐกุล และพรรคพวก แก่นแกนทางความคิดของขบวนการนักศึกษาในยุคนั้น นอกจากการวิพากษ์สังคมเก่าที่เป็นเผด็จการแล้ว ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ การก่อตัวของอุดมการณ์ หรือจิตสำนึกสาธารณะที่จะเสียสละเพื่อส่วนรวมในหมู่นักศึกษาหัวก้าวหน้าที่เรียกร้องให้คนหนุ่มคนสาวในสมัยนั้น หันมาสนใจปัญหาสภาพสังคมรอบตัว ไม่ใช่เอาแต่เรียนเพื่อมุ่งความสำเร็จ และประโยชน์ส่วนตนโดยไม่สนใจสังคม ยิ่งบ้านเมืองกำลังตกอยู่ใต้อำนาจของเผด็จการทหาร นักศึกษาก็ควรที่จะออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นพลังผลักดันสังคมไทยให้ก้าวรุดหน้าต่อไป...
ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า การเคลื่อนไหวทางความคิดของขบวนการนักศึกษาดังข้างต้น จะนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่ขบวนการนักศึกษาและประชาชนสามารถโค่นล้มระบอบเผด็จการทหารถนอม-ประภาสได้ในที่สุด