31. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ)
หลังจากที่เราได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของ ปัญญาชนออแกนิก (organic intellectuals) ที่มีคุณูปการในการผลักดัน โครงการทั้ง 4 โครงการซึ่งได้แก่ โครงการปฏิวัติสังคมนิยม โครงการปฏิรูปเสรีนิยม โครงการปฏิรูปประชาธิปไตย และโครงการเปลี่ยนแปลงเชิงลึก เพื่อวิวัฒน์และพัฒนาสังคมการเมืองไทยให้เจริญรุดหน้าตามความเชื่อของพวกเขาแล้ว คราวนี้เราลองมาตั้งคำถามดังต่อไปนี้ว่า
“ทำไมพวก ปัญญาชนออแกนิก ถึงต้องออกมาวิพากษ์ และต่อต้านระบอบทักษิณอย่างเอาเป็นเอาตาย นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา?”
เพื่อจะตอบต่อคำถามข้างต้นนี้ ขอให้พวกเราลองย้อนกลับไปทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมการเมืองไทย ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 กันก่อนจะดีกว่า เราจะพบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมการเมืองไทยภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬคือ กระแสปฏิรูป ด้านหนึ่งเพราะ กระแสปฏิวัติสังคมนิยม กลายเป็นซ้ายตกขอบหรือซ้ายอกหัก หรือสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์ไปก่อนหน้านั้นแล้วอันเนื่องมาจาก การล่มสลายของขบวนการปฏิวัติไทย ตามมาด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และประเทศบริวาร
ขณะที่ กระแสเปลี่ยนแปลงเชิงลึก ก็เป็นเรื่องของปัจเจกมากกว่าเป็นเรื่องของขบวนการ และจิตสำนึกรวมหมู่ แม้จะดำรงอยู่มาโดยตลอด เป็นกระแสน้ำลึกที่ไม่หวั่นไหวไปตามกระแสขึ้นลงของพื้นผิวน้ำก็ตาม ด้วยเหตุนี้ กระแสการปฏิรูปซึ่งมีอยู่ 2 กระแส คือ กระแสปฏิรูปเสรีนิยม กับ กระแสปฏิรูปประชาธิปไตย จึงมีบทบาทสำคัญในสังคมการเมืองไทยช่วงนั้นเป็นต้นมา
กระแสปฏิรูปเสรีนิยม เป็นกระแสของกลุ่มคนที่เป็นนักวิชาการ นักธุรกิจซึ่งต้องการเห็นเศรษฐกิจที่เสรีมากขึ้น ต้องการเห็นการเมืองที่มีความโปร่งใสมากขึ้น หรือมีธรรมาภิบาลมากขึ้น ขณะที่ กระแสปฏิรูปประชาธิปไตย เป็นกระแสของฝ่ายภาคประชาชน กลุ่มเอ็นจีโอ และปัญญาชนหัวก้าวหน้าที่ต้องการเห็นการเมืองที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น
จะว่าไปแล้ว สองกระแสปฏิรูปนี้ ก็ไม่เหมือนกันทีเดียวนัก เพราะยังมีความขัดแย้งกันอยู่ในบางเรื่อง ฝ่ายปฏิรูปประชาธิปไตยอาจไม่เห็นด้วยกับเศรษฐกิจเสรีของฝ่ายปฏิรูปเสรีนิยมอย่างเต็มที่นัก เพราะเห็นว่าค่อนข้างละเลยปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจในสังคม ขณะที่ฝ่ายปฏิรูปเสรีนิยมก็อาจรู้สึกว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองของฝ่ายปฏิรูปประชาธิปไตยหรือภาคประชาชนนั้น อาจจะเป็นข้อเรียกร้องที่มากเกินไป แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ทั้งสองกระแสปฏิรูปนี้ก็ดำรงควบคู่กันมาโดยตลอด
แต่การก่อตัวและเกิดขึ้นของระบอบทักษิณ ล้วนเป็นปฏิปักษ์ต่อสองกระแสปฏิรูปนี้ เพราะ ฝ่ายปฏิรูปเสรีนิยม มองว่า ระบอบทักษิณกำลังทำลายหลักการเสรีนิยมทางเศรษฐกิจที่ยืนยันว่า ควรมีการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ และไม่ต้องการให้เกิดการผูกขาด ขณะที่ ฝ่ายปฏิรูปประชาธิปไตย ก็มองว่า ระบอบทักษิณเป็นเผด็จการทางรัฐสภาที่สวนทางประชาธิปไตยทางการเมืองในความหมายที่ไม่พยายามกระจายอำนาจทางการเมือง และกีดกันการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
จะว่าไปแล้ว การเกิดขึ้นของ ระบอบทักษิณ นั้น มีที่มาจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ได้ทำลายทุนนิยมแบบนายธนาคารลง และทำให้บรรดานักเลือกตั้งอ่อนกำลังทุนลงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มทุนใหญ่ที่แวดล้อมพรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งยังมีกำลังทุนเข้มแข็งกว่า และได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจน้อยกว่า ขณะเดียวกัน วาระแฝงของ การปฏิรูปแบบอำนาจนิยม ซึ่งแฝงเร้นอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีเป็นอย่างมาก เพื่อเปิดประสิทธิภาพ ก็เป็นตัวเร่งให้เกิด ระบอบทักษิณ ขึ้นมา เพราะได้ “เปิดช่อง” ให้แก่กลุ่มทุนใหญ่สามานย์ ซึ่งเป็นทุนหุ้นกับทุนสัมปทานก้าวเข้ามากุมอำนาจรัฐ โดยที่ตัวรัฐเองก็อยู่ในภาวะที่ถูกทุนใหญ่เข้ามารื้อโครงสร้างใหม่ให้ พร้อมที่จะเป็นรัฐตำรวจหรือเป็นแบบอำนาจนิยม
ดังจะเห็นได้จากบรรดาเหล่าสถาบันที่ถูกออกแบบ และสร้างขึ้นตามหลักการเสรีนิยมอย่างเช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้มีการถ่วงดุลและตรวจสอบอำนาจ สถาบัน องค์กรอิสระเหล่านี้ล้วนถูก ระบอบทักษิณ ทำหมันหรือทำให้หมดสภาพ เพราะคนที่กุมอำนาจการเงินสูงสุดอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เข้ามากุมอำนาจการเมืองสูงสุดด้วย จึงทำให้กระแสปฏิรูปเสรีนิยมกับกระแสปฏิรูปประชาธิปไตยถูกเบียดทับและถูกแทนที่ด้วย กระแสปฏิรูปจอมปลอมแบบอำนาจนิยม ของระบอบทักษิณ
เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจแต่ประการใดที่เหล่า ปัญญาชนออแกนิก ทั้งจากฝ่ายปฏิรูปเสรีนิยม และจากฝ่ายปฏิรูปประชาธิปไตยจะออกมาวิพากษ์ระบอบทักษิณอย่างรุนแรงเหมือนกัน
ขณะที่ ฝ่ายปฏิรูปเสรีนิยม วิพากษ์ระบอบทักษิณจากกรอบคิดแบบทันสมัยนิยม (โมเดิร์น) ปัญญาชนออแกนิกของฝ่ายปฏิรูปเสรีนิยม จึงรวมศูนย์การวิพากษ์ไปที่เรื่อง ผลประโยชน์ทับซ้อน การคอร์รัปชันเชิงนโยบาย การผูกขาดของกลุ่มทุนใหญ่ และการเล่นพวกพ้องเส้นสาย เป็นต้น
ส่วน ฝ่ายปฏิรูปประชาธิปไตย มักวิพากษ์ระบอบทักษิณจากกรอบคิดแบบหลังทันสมัยนิยม (โพสต์โมเดิร์น) ปัญญาชนออแกนิกของฝ่ายปฏิรูปประชาธิปไตย จึงรวมศูนย์การวิพากษ์ไปที่เรื่องสิทธิมนุษยชน จริยธรรมของผู้นำประเทศ เสรีภาพของสื่อ คัดค้านการสนับสนุนสงครามอิรักของรัฐบาลไทย ลัทธิบริโภคนิยม การไม่สนใจเศรษฐกิจพอเพียง การละเลยไม่ใส่ใจในภูมิปัญญาตะวันออก การเตือนสติประชาชนไม่ให้หลงไปกับการสร้างภาพลักษณ์เชิงการตลาดของผู้นำประเทศเหล่านี้ เป็นต้น
* * *
มันเป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่ วิกฤตของระบอบทักษิณ ได้เริ่มต้นขึ้นจากหนังสือ “พระราชอำนาจ” ของ ประมวล รุจนเสรี ซึ่งเป็นปัญญาชนออแกนิกแนวจารีตนิยม ในช่วงต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2548 ในหนังสือเล่มนี้ประมวลได้อธิบายให้เห็นว่า การใช้พระราชอำนาจของพระเจ้าอยู่หัว เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย และพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ทรงมีอำนาจมากกว่าที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นอำนาจตามราชประเพณีนัยของหนังสือ “พระราชอำนาจ” เล่มของประมวล คือ การมุ่งโจมตีว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้นได้ละเมิดพระราชอำนาจ
แต่ที่สำคัญก็คือ ประมวลได้อ้างด้วยว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงพอพระทัยหนังสือเล่มนี้ ดังที่ได้มีพระราชกระแสกับปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ให้มาแจ้งแก่ประมวลว่า “เราอ่านแล้ว เราชอบมาก เขียนได้ดี เขียนได้ถูกต้อง”
แต่จะว่าไปแล้ว หนังสือ “พระราชอำนาจ” ของประมวล รุจนเสรี เป็นแค่บทโหมโรงของวิกฤตระบอบทักษิณเท่านั้น เพราะในช่วงเดียวกันนั้น
สนธิ ลิ้มทองกุล ปัญญาชนออแกนิกที่ทรงพลังที่สุดในยุคปัจจุบัน เพราะนอกจากจะผลักดันโครงการปฏิรูปเสรีนิยม โครงการปฏิรูประชาธิปไตย และโครงการเปลี่ยนแปลงเชิงลึกไปพร้อมๆ กันแล้ว ยังมีสื่ออยู่ในมืออย่างครบวงจรอย่างพร้อมที่จะสู้รบกับระบอบทักษิณอย่าง “ตายเป็นตาย เจ๊งเป็นเจ๊ง” ได้อีกด้วย ก็เริ่มวิพากษ์ระบอบทักษิณอย่างตรงไปตรงมาผ่านรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ที่จัดคู่กับโฆษกหญิงชื่อ สโรชา พรอุดมศักดิ์ ซึ่งออกเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 มาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2548 ก่อนที่จะถูกสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 สั่งปิดรายการนี้ในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2548
สนธิ ลิ้มทองกุล ได้มองเห็นเภทภัยใหญ่หลวงที่คนส่วนใหญ่ในขณะนั้นยังมองไม่เห็น เขามองเห็นอำนาจการเมืองของระบอบทักษิณที่ฉ้อฉลได้แผ่ขยายอำนาจเข้าไปในอาณาจักรของพุทธศาสนาในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปลายปี 2546 และปรากฏเป็นรูปธรรมชัดเจนในประกาศสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่องแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และคณะผู้ช่วยลงนามโดย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2547 ที่เป็นการสร้างสภาวการณ์สมเด็จพระสังฆราช 2 พระองค์ และความขัดแย้งแตกแยกในหมู่พุทธศาสนิกชนขึ้นมาในสังคมไทย และเสมือนเป็นการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชขึ้นมาใหม่ซ้อนพระสังฆราชที่พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาโดยพระราชอำนาจเต็ม
จะเห็นได้ว่า การสร้างสภาวการณ์สมเด็จพระสังฆราช 2 พระองค์ขึ้นมาโดยอำนาจการเมืองในระบอบทักษิณนี้มีลักษณะเป็นทั้งการแทรกแซงพุทธศาสนา และละเมิดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในเวลาเดียวกัน
หลังจากที่ถูกสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 สั่งปิดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ สนธิ และสโรชา จึงปรับเปลี่ยนเป็น รายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ซึ่งจัดครั้งแรกในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2548 ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับความสนใจจากประชาชนเข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก ในห้วงยามนั้น มีผู้คนน้อยคนมากที่จะตระหนักได้ว่า วันนั้นที่เริ่มจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรเป็นครั้งแรก จะเป็นจุดเริ่มต้นของ “ปรากฏการณ์สนธิ” ซึ่งดำรงอยู่เกือบห้าเดือนเต็ม ก่อนที่จะเกิดการก่อตั้ง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 เพื่อโค่นล้มระบอบทักษิณ
“ปรากฏการณ์สนธิ” เป็นปรากฏการณ์ดุจหิมะถล่ม ที่เริ่มต้นจากการกลิ้งลงอย่างมีพลวัตของลูกหิมะก้อนเล็กๆ ก้อนหนึ่งที่มีขนาดใหญ่โตเป็นทวีคูณ ขณะที่กำลังกลิ้งลงมาจนกลายเป็นคลื่นหิมะลูกมหึมาที่ทำลาย และกลืนกินทุกอย่างที่ขวางหน้า
แต่ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นปรากฏการณ์ของ การเปลี่ยนแปลงเชิงลึก ของตัว สนธิ ลิ้มทองกุล เอง ที่ค่อยๆ เปลี่ยนจากบทบาทของสื่อผู้วิเคราะห์ และรายงานข่าวอย่างซื่อตรงและกล้าหาญ มาเป็น ผู้นำมวลชน ในการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อ “กู้ชาติ” อย่างเปิดเผย ซึ่งมีผลทำให้สื่อในเครือผู้จัดการทั้งหมดของสนธิ ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองกลายมาเป็น สื่อนักรบ ที่ประกาศตนว่า ไม่เป็นกลาง แต่จะขอเป็น ยามรักษาแผ่นดินที่ยืนหยัดพิทักษ์ธรรม ด้วย