35. พันธมิตรฯ รำลึก ว่าด้วยพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ)
พรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) ของพวกเราชาวพันธมิตรฯ เป็นดอกผลของพลวัตแห่งประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของมวลมหาประชาชนที่ลุกขึ้นมา “กู้ชาติ” ปกป้องแผ่นดินเกิดจากระบบทุนนิยมสามานย์หรือระบอบทักษิณ ด้วยเหตุนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ กับความมีอยู่จริงของโอกาสในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย จึงเป็นสิ่งที่พวกเราชาวพันธมิตรฯ ต้องนำมาพิจารณาก่อนเป็นอันดับแรกในการกำหนดยุทธศาสตร์ของพรรคของพวกเรา
ก่อนอื่น พวกเราได้วิเคราะห์กันว่า ความขัดแย้งหลักเชิงอุดมการณ์ ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของการเมืองไทยในอนาคตอันใกล้นี้ จะมิใช่ความขัดแย้งระหว่างพลังอำมาตยาธิปไตยกับพลังฝ่ายทุนนิยมสามานย์เหมือนอย่างวาทกรรมที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาโดยพวกปัญญาชนออแกนิกฝ่ายเสื้อแดง แต่อย่างใดไม่
พวกเรากลับมองว่า แท้ที่จริงแล้ว การต่อสู้เพื่อช่วงชิงและสถาปนาความเป็นใหญ่ทางอุดมการณ์ (hegemony) ในสังคมหลังจากนี้เป็นต้นไปนั้น จะเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง กลุ่มปัญญาชนออแกนิกฝ่ายเสื้อแดง ที่สัมพันธ์และรับใช้ พรรคชนชั้นของกลุ่มทุนใหญ่สามานย์ ที่มีฐานมวลชนรากหญ้าในชนบทสนับสนุนคะแนนเสียงเป็นจำนวนมาก โดยผ่านเครือข่ายอุปถัมภ์กับ กลุ่มปัญญาชนออแกนิกฝ่ายเสื้อเหลือง ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เพิ่งก่อตั้งพรรคการเมืองของพวกตนขึ้นมา และก็มีฐานมวลมหาประชาชนจากทุกชนชั้นให้การสนับสนุน โดยเฉพาะฐานของชนชั้นกลางจำนวนมหาศาลรองรับเช่นกันต่างหาก
เพราะนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป รูปแบบหลักในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของการเมืองไทย จะมีลักษณะเป็นการต่อสู้เพื่อสถาปนา “ความเป็นใหญ่เชิงอุดมการณ์” (hegemony) ในสังคมของกลุ่มปัญญาชนออแกนิกเป็นสำคัญ โดยมิใช่เป็นแค่การต่อสู้เพื่อชัยชนะในการเลือกตั้งของ พรรคอุปถัมภ์ เหมือนอย่างแต่ก่อนอีกต่อไปแล้ว เพราะเมื่อพิจารณาจากมุมมองข้างต้น
เราจะพบว่า พรรคการเมืองสีฟ้าที่ขาดฐานมวลชนรองรับอย่าง พรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้แต่พรรคสีน้ำเงินอย่าง พรรคภูมิใจไทย ทั้งสองพรรคนี้ต่างก็อิงอยู่กับฝ่ายอำมาตย์ (กองทัพ) และระบบราชการเป็นหลัก จึงน่าจะตกอยู่ในฐานะที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบในการต่อสู้เพื่อสถาปนาความเป็นใหญ่เชิงอุดมการณ์ในสังคมกับ พรรคเพื่อไทย ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคนในตระกูลชินวัตร ซึ่งเป็น พรรคชนชั้น ของกลุ่มทุนใหญ่สามานย์ที่มีฐานจัดตั้งมวลชนระดับรากหญ้ารองรับ อันเป็นผลสำเร็จจากนโยบายประชานิยมในอดีตสมัยที่ยังเป็นพรรคไทยรักไทย รวมทั้งเป็นผลจากการจัดตั้งของกลุ่มปัญญาชนออแกนิกเสื้อแดง ซึ่งส่วนใหญ่เคยเป็นซ้ายเก่าหรืออดีตคอมมิวนิสต์มาก่อน จึงมีประสบการณ์โชกโชนในการจัดตั้งมวลชน
เพราะก่อนการก่อตัวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในช่วงต้นปี 2549 พรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เคยชนะพรรคประชาธิปัตย์อย่างเบ็ดเสร็จและราบคาบทั้งในการเลือกตั้ง และในการยึดครองจิตใจประชาชนเพื่อปูทางไปสู่การสถาปนาความเป็นใหญ่เชิงอุดมการณ์ในสังคมมาก่อนแล้ว นอกจากนี้ในช่วงนั้น พลังฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ก็ถูกพลังฝ่ายทุนนิยมสามานย์กลืนกินและปรนเปรอด้วยเงินทอง และการให้สินบนจนอ่อนแรงลงไปมากแล้ว
แต่การปรากฏตัวและการต่อสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทั้งในปี 2549 และปี 2551 ได้เปลี่ยนภูมิศาสตร์ทางการเมือง และดุลกำลังทางการเมืองระหว่างพลังฝ่ายอำมาตยาธิปไตย กับพลังฝ่ายทุนนิยมสามานย์ หลังจากนั้นไปอย่างสิ้นเชิง เพราะพลังฝ่ายอำมาตยาธิปไตยได้ฉวยโอกาสจากการต่อสู้กับระบอบทักษิณอย่างเอาเป็นเอาตายของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ในปี 2549 ทำการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เพื่อยึดอำนาจคืนจากนายกฯ ทักษิณแล้วก็ใช้ ความเคยชินทางการเมืองแบบเก่า โดยคิดว่าจะสามารถสยบ พ.ต.ท.ทักษิณ ลงได้เหมือนอย่างกรณีของอดีตนายกฯ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ในการรัฐประหารปี 2534 แต่ปรากฏว่าพวกเขาคิดผิดอย่างสิ้นเชิง!
เพราะฐานการเมืองของฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้น ทรงพลังกว่าฐานการเมืองของฝ่าย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งเป็นเพียง พรรคอุปถัมภ์ และก็ขาดฐานมวลชนจัดตั้งรองรับเป็นอย่างมาก เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีทั้งเงินจำนวนมหาศาล มีกลุ่มปัญญาชนออแกนิกเสื้อแดงที่ทำหน้าที่ประดิษฐ์วาทกรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้ มีฐานมวลชนระดับรากหญ้าสนับสนุนจำนวนมาก อีกทั้งยังมีเครือข่ายหัวคะแนน-ส.ส. รวมทั้งเครือข่ายกลไกรัฐแอบสนับสนุนอย่างลับๆ อีกด้วย
จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจแต่อย่างใดที่ พรรคพลังประชาชน ซึ่งเพิ่งก่อตั้งแทนพรรคไทยรักไทย ที่ถูกยุบไปด้วยอำนาจของตุลาการภิวัฒน์ของฝ่ายทักษิณ ชินวัตร จะเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งทั่วไปตอนปลายปี 2550 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง ความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของพลังฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ในการรับมือกับการคืนชีพของระบอบทักษิณ
ด้วยเหตุนี้ จึงเกิด “สงครามครั้งสุดท้าย” ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในปี 2551 ที่ต่อสู้อย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 193 วันเต็ม จนทำให้พลังฝ่ายอำมาตยาธิปไตยมีโอกาสหรือ “ฉวยโอกาส” อีกครั้งในการเดินเกม “สลับขั้วอำนาจ” ด้วยการดึง “กลุ่มผู้ทรยศ” (หรือกลุ่มเนวิน) จากฝ่ายทักษิณ ชินวัตร มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์และเชิดอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ซึ่งอาจมองได้ว่า อภิสิทธิ์เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในขณะนี้ของพลังฝ่ายอำมาตยาธิปไตย
แต่ถ้ามองในระยะยาวที่เป็นการต่อสู้เพื่อสถาปนาความเป็นใหญ่เชิงอุดมการณ์แล้ว ดูเหมือนว่า พลังฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ยากที่จะเอาชนะพลังฝ่ายทุนนิยมสามานย์ของระบอบทักษิณ (ที่แม้จะไร้ทักษิณในอนาคตข้างหน้า) ได้ เพราะฝ่ายนี้มี พรรคชนชั้น ของกลุ่มทุนใหญ่ที่มีฐานมวลชนระดับรากหญ้าสนับสนุนอยู่เป็นจำนวนมาก ภายใต้การขับเคลื่อนอย่างเอาการเอางานของกลุ่มปัญญาชนออแกนิกเสื้อแดง จึงเป็นฝ่ายที่น่าจะได้เปรียบกว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
นอกจากนี้ ความพยายามในการลอบสังหาร สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำคนสำคัญของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2549 แต่ไม่สำเร็จอย่างเหลือเชื่อ ทั้งๆ ที่แกนนำผู้นี้ถูกถล่มด้วยอาวุธสงคราม ถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่สุดของกลุ่มขั้วอำนาจใหม่ (บางส่วน) ของฝ่ายพลังอำมาตยาธิปไตย ที่คิดจะฉวยโอกาสอีกครั้ง หลังจากที่ “กำราบ” กลุ่มเสื้อแดงในช่วงสงกรานต์เดือดได้แล้ว ก็เลยถือโอกาส “ขจัด” แกนนำคนสำคัญของกลุ่มเสื้อเหลืองเพื่อทอนกำลังของกลุ่มเสื้อเหลืองไปพร้อมๆ กันด้วย
เหตุที่บอกว่า “ผิดพลาด” เพราะ
ประการที่หนึ่ง กลุ่มเสื้อแดงเป็น ขบวนการมวลชนจัดตั้ง ที่ไม่มีทางปราบปรามได้โดยง่ายด้วยกลไกรัฐ ยกเว้นแต่จะต้องชนะด้วยความคิด และชนะทางการเมืองเท่านั้น
ประการที่สอง กลุ่มเสื้อเหลือง ก็เป็น ขบวนการประชาชน เช่นกัน ความชั่วร้ายของอำมาตยาธิปไตยซึ่ง เลวคนละแบบ กับความชั่วร้ายเพราะ “โกงชาติ” ของทุนนิยมสามานย์อย่างระบอบทักษิณ ทำให้กลุ่มเสื้อเหลืองไม่มีทางเลือกอื่น และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้าง พรรคการเมืองของตัวเอง ขึ้นมาเพื่อเป็นอาวุธที่พรงพลังอีกอันหนึ่งของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในการต่อสู้เพื่อสถาปนาความเป็นใหญ่เชิงอุดมการณ์ (hegemony) แบบใหม่ ที่จะต้อง “ข้ามพ้น” (transcend) ความชั่วร้ายทั้งของอำมาตยาธิปไตย และความเลวร้ายของทุนนิยมสามานย์ด้วยการสร้าง “การเมืองใหม่” ขึ้นมาแทนให้จงได้
พรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะสร้าง “ความเปลี่ยนแปลง” (change) ให้แก่การเมืองไทยได้หรือไม่? การจะตอบคำถามนี้ได้ พวกเราจะต้องย้อนกลับไปทบทวนปัญหาในอดีตของพรรคการเมืองต่างๆ ในประเทศไทยเสียก่อน ซึ่งพวกเราจะพบว่า เท่าที่ผ่านมา ประเทศไทยมี พรรคการเมืองที่แท้จริง ตามนิยามทางรัฐศาสตร์น้อยมาก สิ่งที่เรียกว่า “พรรคการเมือง” ส่วนใหญ่ก็เป็นเสมือน “คอก” ที่พวกนายทุนหรือเจ้าของคอกคอยต้อน ส.ส.เข้ามาสังกัดไว้เท่านั้น
ถ้าหากนิยามของพรรคการเมืองหมายถึง การรวมตัวของกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกันที่เข้ามาร่วมงาน เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายที่จะได้มาซึ่งอำนาจรัฐในการปกครองประเทศ เราก็เห็นจะต้องบอกว่า พรรคการเมืองประเภทนี้มีอยู่ในประเทศไทยน้อยมาก เท่าที่เห็นและสัมผัสได้ใกล้เคียงที่สุด ก็อาจจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคพลังธรรมในอดีตเท่านั้น
การที่พรรคการเมืองที่แท้จริงมีน้อยมากในประเทศไทย มิหนำซ้ำพรรคการเมืองเหล่านี้ยังขาดฐานมวลชนรองรับ จึงเป็นสาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยในประเทศนี้ กลับหัวกลับหาง กับระบอบประชาธิปไตยในประเทศอื่นๆ เพราะขาดการเข้าร่วมทางการเมืองอย่างกระตือรือร้นของมวลมหาประชาชนในการร่วมสร้างพรรคการเมืองที่เป็นพรรคของมวลมหาประชาชน (mass party) จริงๆ แต่กลับปล่อยให้นายทุนจำนวนน้อยนิดที่เป็นเจ้าของพรรคเท่านั้น ที่มีอำนาจและบทบาทในการกุมบังเหียนพรรคการเมือง โดยมุ่งแค่ใช้เงินทุ่มไปกวาดต้อน ส.ส.เข้า “คอก” เพื่อเป็นหนทางเข้าสู่อำนาจรัฐ โดยผ่านเปลือกนอกของระบบประชาธิปไตยที่เป็นการเลือกตั้งเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้วก็คือ ระบบธนาธิปไตย (money politics) อย่างหนึ่งเท่านั้นเอง
วิกฤตของบ้านเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในหลายๆ มิตินั้น ประเด็นหนึ่งที่สำคัญยิ่งก็คือ เพราะมวลมหาประชาชนส่วนใหญ่ ไม่มีพรรคการเมืองของตนเองที่เป็นตัวแทนที่แท้จริงของตนเข้าไปปกป้องรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมอย่างแท้จริง มิหนำซ้ำการที่พันธมิตรฯ และประชาชนจะฝากความหวังไว้กับพรรคประชาธิปัตย์ก็กลายเป็นปัญหาอีก เพราะสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงตัวออกมานั้น มีหลายสิ่งหลายเรื่อง ไม่ตรงกับสิ่งที่ประชาชนต้องการเห็น ทั้งนี้ก็เพราะว่า
พรรคประชาธิปัตย์ไม่กล้า ที่จะ “เปลี่ยนแปลง” บ้านเมืองนี้ ไม่กล้าแม้แต่จะชูธงปฏิรูปการเมืองที่เป็นมากกว่าการฝืนแก้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้ลงมติรับรองมาแล้ว
สิ่งที่พันธมิตรฯ เห็นและประชาชนส่วนใหญ่ก็เห็นคือ ข้อเท็จจริงที่ว่า “การเมืองเก่า” ไม่สามารถทำให้นายกฯ รุ่นใหม่อย่างอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลายมาเป็นความหวังในการเปลี่ยนแปลงของมวลมหาประชาชนได้ สถานการณ์ที่ซับซ้อนเช่นนี้เองที่ ทำให้ขณะนี้ ณ ห้วงยามนี้ พันธมิตรฯ คือ มวลชนที่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงกับพรรคการเมืองที่แท้จริงมากที่สุด และไม่เคยมีพรรคการเมืองใดที่มีโอกาสเช่นนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะพวกเราคือประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่เข้ามารวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ โดยมีอุดมการณ์เดียวกัน
ด้วยเหตุนี้ พรรคการเมืองใหม่ของพวกเราชาวพันธมิตรฯ ย่อมสามารถเป็นความหวังในการเปลี่ยนแปลงให้แก่คนทั้งประเทศได้ โดยการทำหน้าที่เป็น “ทางเลือกใหม่ทางการเมือง” ให้แก่ประชาชนที่หมดหวังกับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ไม่มีทั้งอุดมการณ์ และขาดความมุ่งมั่นทางการเมืองที่จะทำสิ่งดีๆ ที่เป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงให้แก่บ้านเมืองนี้