6. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 6 ธรรมทาน 6/6/49

6. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 6 ธรรมทาน 6/6/49


พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 6)



6. ธรรมทาน

"ความสุขของผมอยู่ที่การศึกษาของตัวเอง และการปลุกเขย่าเพื่อนสัตว์ให้ตื่นตัว"
จดหมายจากพุทธทาสภิกขุถึงสามเณรกรุณา

พระหนุ่มอินทปัญโญได้ร่วมมือกับนายยี่เกย (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "ธรรมทาส") ผู้เป็นน้องชายก่อตั้ง "คณะธรรมทาน" ขึ้นที่ไชยา เพื่อเผยแพร่ธรรมะในปี พ.ศ. 2476 จะว่าไปแล้ว คณะธรรมทานกับสวนโมกข์ซึ่งเป็นวัดป่าแบบสำนักกรรมฐานเป็นสิ่งที่เสริมกัน โดยที่คณะธรรมทานจะเป็นตัวทำหน้าที่โฆษณาแนวทางของสวนโมกข์ของอินทปัญโญ และเป็นตัวติดต่อกับสังคมภายนอก จึงจำเป็นจะต้องมีหนังสือพิมพ์เล็กๆ ฉบับหนึ่งเป็นของตัวเองออกมา

อินทปัญโญกับนายธรรมทาส จึงร่วมมือกันทำหนังสือพิมพ์ "พุทธสาสนา" รายสามเดือนออกมา ในสมัยนั้นเมืองไทยยังไม่มีหนังสือพิมพ์ทางพุทธศาสนาโดยเฉพาะออกมา แม้ว่าก่อนหน้านั้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จะเคยออกหนังสือพิมพ์ "ธรรมจักษุ" มาก่อน แต่พอสิ้นท่านก็หยุดไป

หนังสือพิมพ์ "พุทธสาสนา" นี้ นายธรรมทาสเป็นบรรณาธิการตามกฎหมาย แต่ตัวอินทปัญโญเป็นคนออกแบบโครงหนังสือว่าจะต้องมี 3 ภาคคือ (1) ภาคทั่วไป นายธรรมทาสเป็นคนดูแล ส่วนใหญ่เป็นการรายงานความเคลื่อนไหวของวงการพุทธศาสนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ (2) ภาคพระไตรปิฎกแปลกับ (3) ภาคปฏิบัติธรรม อินทปัญโญเป็นคนรับทำเองทั้งหมด โดยใช้นามปากกาว่า "พุทธทาส" ส่วนนามปากกาอื่น เขาก็ใช้ในข้อเขียนเชิงวิจารณ์ เช่น "ธรรมโยธ" "อินฺทปญฺโญ" รวมทั้งใช้นามปากกา "สิริวยาส" ในการเขียนโคลงกลอนด้วย

งานเขียนหลักในช่วงยุคต้นๆ ของอินทปัญโญ ไม่ว่าหนังสือ "ตามรอยพระอรหันต์" หรืองานแปล "พุทธประวัติจากพระโอษฐ์" ของเขา ล้วนทยอยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์ "พุทธสาสนา" นี้มาก่อนทั้งสิ้น จนกล่าวได้ว่า หนังสือพิมพ์ "พุทธสาสนา" นี้มีบทบาทสำคัญมากในการเผยแพร่งานเขียน และความคิดของอินทปัญโญในนามของ "พุทธทาสภิกขุ" ออกไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในหมู่ปัญญาชนในกรุงเทพฯ ที่มีความคิดก้าวหน้า และทันสมัยกว่าส่วนอื่นของประเทศ

ในปี พ.ศ. 2476 (ค.ศ. 1933) ที่อินทปัญโญเริ่มก่อตั้งคณะธรรมทานและออกหนังสือพิมพ์ "พุทธสาสนา" นี้เองก็เป็นปีเดียวกับที่พระฝรั่งชาติอิตาลีชื่อ "โลกนาถ" ได้มาเมืองไทย พระโลกนาถเป็นคนเชื้อชาติอิตาลีที่ไปเกิดและเติบโตในอเมริกา ก่อนบวชเขาจบการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แต่กลับมีความสนใจทางด้านศาสนาพุทธอย่างแรงกล้ามากถึงขนาดมาบวชที่พม่า แล้วตั้งจิตปณิธานที่จะเผยแพร่ศาสนาพุทธให้เป็นที่รู้จักทางยุโรปและอเมริกา ท่านจึงมีโครงการที่จะนำพระภิกษุสามเณรชาติต่างๆ ในเอเชียที่นับถือศาสนาพุทธ เดินธุดงค์ไปฝึกอบรมเป็นธรรมทูตที่อินเดียก่อนหน้านี้ พระโลกนาถได้จัดทำโครงการนี้ที่พม่ามาก่อนจนสำเร็จแล้ว ท่านจึงมาเมืองไทยเพื่อผลักดันโครงการนี้ต่อเป็นประเทศที่สอง โดยท่านได้เรียกโครงการนี้ของท่านว่า "โครงการภิกษุสามเณรใจสิงห์" พระโลกนาถมาพักอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร หลังจากลงข่าวชักชวนภิกษุสามเณรทั่วเมืองไทยมาเข้าร่วมโครงการของท่านผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมทั้ง "พุทธสาสนา" ของคณะธรรมทาน ปรากฏว่าเป็นข่าวที่ฮือฮามากในสมัยนั้น เพราะมีพระและสามเณรกว่า 200 รูปที่สมัครเข้าร่วมในโครงการนี้ของพระโลกนาถ ผู้ที่มีชื่อเสียงมาจนถึงทุกวันนี้คือ ท่านปัญญานันทะกับท่านเขมาภิรัต และคุณกรุณา กุศลาสัย ซึ่งบวชเป็นเณรอยู่ในตอนนั้น

อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ก็เป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนโครงการนี้ของพระโลกนาถอย่างเอาการเอางาน เนื่องจากอาจารย์สัญญารู้จักกับพระอินทปัญโญมาก่อนตั้งแต่เมื่อครั้งยังอยู่ที่กรุงเทพฯ จึงติดต่ออินทปัญโญและพาเขาไปพบกับพระโลกนาถที่วัดบวรฯ พระโลกนาถได้ยินกิตติศัพท์ของอินทปัญโญจากอาจารย์สัญญามาก่อน จึงมีความชื่นชมและพยายามจะเกลี้ยกล่อมให้อินทปัญโญร่วมโครงการไปกับท่านให้จงได้

อินทปัญโญถึง "ทางเลือก" ที่สำคัญในชีวิตที่จะต้องตัดสินใจอีกครั้ง หลังจากที่เขาทิ้งกรุงเทพฯ มาเป็นพระป่าได้เพียงปีเศษๆ เท่านั้น นั่นคือทางเลือกระหว่างการออกหนังสือพิมพ์ "พุทธสาสนา" ที่เพิ่งเริ่มทำได้ไม่นาน กับการออกไปธุดงค์กับพระโลกนาถเพื่อเป็นธรรมทูต

ทางเลือกหนึ่งนั้น เป็นเส้นทางของนักคิด นักเขียน ถึงจะปฏิบัติสมาธิภาวนาด้วยก็เป็นการปฏิบัติในระดับแค่พอรักษาตัวไม่ให้ใครมาดูหมิ่นได้ ปฏิบัติเท่าที่จำเป็น แต่จะเน้นไปที่การศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่มากกว่า หากจะปฏิบัติสมาธิภาวนา ก็มักจะเป็นสมาธิภาวนาในระหว่างการอ่าน การคิด การเขียนนั้นเอง แนวทางนี้ สุดท้ายจะนำไปสู่ ปัญญาวิมุตติ ถ้าผู้นั้นสามารถเดินไปจนสุดเส้นทางนี้ โดยเน้นการภาวนาที่หนักไปทางปัญญา ใช้ความคิดนึกตามธรรมดาที่มีอยู่ไปพิจารณาข้อธรรมในชีวิตหรือสิ่งที่แวดล้อมอยู่โดยรอบ ด้วยความไม่ประมาทอย่างสม่ำเสมอและแยบคาย เป็นเส้นทางที่เรียบกว่า เหนื่อยน้อยกว่า ลำบากน้อยกว่า แต่โลดโผนน้อยกว่า และขาดสีสันในชีวิตน้อยกว่าในอีกทางเลือกหนึ่ง

ส่วนอีกทางเลือกหนึ่งนั้น เป็นเส้นทางของผู้กล้า ของนักผจญภัยทางจิตวิญญาณที่สมัครใจแสวงหาความลำบากโดยเต็มใจ ซึ่งต้องการกำลังใจที่เข้มแข็ง และเฉียบขาด ด้วยความเพียรทั้งหมดอย่างเต็มที่อย่างเหนือมนุษย์ธรรมดา แนวทางนี้สุดท้ายจะนำไปสู่ เจโตวิมุตติ เมื่อบรรลุธรรมอันสูงสุดได้แล้ว ย่อมสามารถแสดงธรรมสั่งสอนคนด้วยวิธีอันวิจิตรได้ และยังสามารถเป็นพิเศษที่จะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ รวมทั้งยังสามารถที่จะทำสิ่งอื่นอันเป็นคุณสมบัติพิเศษที่พวกปัญญาวิมุตติไม่สามารถกระทำได้ แม้จะเข้าถึงพุทธธรรมได้อย่างเดียวกัน ได้รับผลเป็นความสุขสงบเยือกเย็นชนิดเดียวกันก็ตาม

ความต่างของแนวทางปัญญาวิมุตติกับเจโตวิมุตติ ว่าควรจะเลือกแนวทางใด จึงอยู่ที่อุปนิสัยใจคอ และระดับอินทรีย์ที่อ่อนแข็งของคนผู้นั้นเป็นสำคัญ โดยที่โอกาสประสบความสำเร็จในแนวทางเจโตวิมุตตินั้น มีน้อยกว่าของแนวทางปัญญาวิมุตติเป็นอย่างมาก สำหรับคนธรรมดาโดยทั่วไป

จุดเด่นของพระหนุ่มอินทปัญโญ ประการหนึ่งก็คือ เขาเป็นคนที่รู้จักตัวเองเป็นอย่างดี คือไม่ประเมินตัวเองต่ำเกินไป และก็ไม่ประเมินตัวเองสูงเกินไป นอกจากนี้ เขายังเป็นคนที่มีความรอบคอบเป็นนิสัย และมีความเฉียบแหลมในการประเมินสถานการณ์อย่างเยือกเย็นและรอบด้าน เพราะเหตุนี้กระมัง เขาจึงแทบไม่เคยตัดสินใจผิดพลาดเลยโดยเฉพาะในเรื่องใหญ่

เขาจึงตัดสินใจบอกปัดไม่ไปกับพระโลกนาถ ทั้งๆ ที่คนรอบข้างต่างก็ยุให้เขาไปกันทั้งนั้น แต่เขามีความคิดที่เป็นตัวของตัวเองมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว เขามีความเห็นว่า การไปธุดงค์กับพระโลกนาถนั้น มันเหนื่อยกว่า ลำบากกว่า และเป็นประโยชน์น้อยกว่า สิ่งที่เขากำลังทำอยู่นี้ และกำลังจะทำต่อไปชั่วชีวิตนี้ของเขา

งานเผยแพร่พุทธศาสนาไปสู่ตะวันตกเป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่อินทปัญโญรู้ดีว่า นี่ไม่ใช่ภารกิจทางประวัติศาสตร์ของตัวเขา ภารกิจที่แท้จริงของเขาอยู่ที่นี่ อยู่ที่เมืองไทยนี้ เพราะที่นี่เป็นเวทีของเขา และเป็นสนามรบของเขา ตัวเขาจึงต้องการเผยแพร่ธรรมะในเมืองไทยให้แข็งแรงและมั่นคงก่อนเป็นอันดับแรก และเป็นความจำเป็นอันเร่งด่วนด้วย เมื่อคำนึงถึงสถานการณ์อันเป็นวิกฤตของพุทธศาสนาในเมืองไทยที่พระโลกนาถซึ่งเป็นคนต่างชาติไม่เข้าใจ

จริงอยู่ หากดูเผินๆ การออกไปโลดโผน ผจญภัยในวัยหนุ่มมันดูน่าท้าทายกว่า เท่กว่าและเสียสละกว่าก็จริง แต่การที่ต้องมานั่งหลังขดหลังแข็งอ่านหนังสือเขียนหนังสือทั้งวันทั้งคืน มันก็ต้องใช้ความเสียสละ ใช้ความเพียรพยายามเช่นกัน แต่คนละแบบกันเท่านั้น สำหรับอินทปัญโญเขาพิจารณาแล้วว่า แบบหลังนี้ เขาสามารถทำได้ดีกว่า และจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่าแบบแรก

ผลปรากฏว่า อินทปัญโญตัดสินใจไม่ผิด เพราะคณะพระโลกนาถที่พาภิกษุและสามเณรกว่า 200 รูป เดินทางจากกรุงเทพฯ ประมาณกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2476 เดินด้วยเท้ามุ่งหน้าไปทางอยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์พักอยู่ที่นครสวรรค์ได้ 2 สัปดาห์ก็เดินทางต่อไปพิษณุโลก ผ่านตากเข้าป่าแม่สอด เข้าพม่าไปถึงย่างกุ้งก็เข้าพรรษาพอดี เดินทางต่อไปอินเดียไม่ได้ แต่ระหว่างที่จำพรรษาอยู่ที่เจดีย์ชเวดากองในพม่านี่เองที่พระเณรไทยแตกคอกันเอง จนส่วนใหญ่ไม่ยอมไปกับพระโลกนาถต่อ แล้วเดินทางกลับเมืองไทย ในที่สุดจึงเหลือพระเณรเพียง 10 กว่ารูปที่ไปกับพระโลกนาถจนถึงกัลกัตตาในอินเดียเท่านั้น พระเณรเหล่านี้พอไปนมัสการสังเวชนียสถานเสร็จแล้วก็กลับเมืองไทยกันหมดเหลือเพียงเณรกรุณา กุศลาสัย รูปเดียวเท่านั้นที่อยู่อินเดียเพื่อศึกษาต่อ ส่วนพระโลกนาถพอพาพระเณรไทยถึงอินเดียแล้วก็ไปลังกาต่อ เพื่อไปนำพระมาอีกคณะหนึ่ง ท่านจึงไม่มีเวลาดูแลพระเณรไทยที่ท่านพามาอยู่ในอินเดีย จนต้องเดินทางกลับ ยกเว้นเณรกรุณาที่เป็นเด็กกำพร้าและไม่มีที่ไปเท่านั้นที่ต้องจำใจกัดฟันอยู่เรียนต่อคนเดียวที่อินเดียต่อไป

เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับผู้ที่คิดจะเผยแพร่ธรรมะ ว่าควรคำนึงถึงความเหมาะสมของตนเอง และแนวทางในการบรรลุธรรมของตัวเองด้วย

อย่างไรก็ดี อินทปัญโญก็ได้กลายเป็น "พี่ชายทางธรรม" ของเณรกรุณา โดยติดต่อกันทางจดหมายเป็นเวลาหลายปี แม้จะไม่เคยพบหน้ากันเลยก็ตาม โดยมีหนังสือพิมพ์ "พุทธสาสนา" ของคณะธรรมทานเป็นตัวเชื่อม

ความล้มเหลวของโครงการของพระโลกนาถ และการตัดสินใจถูกต้องที่ไม่ไปกับพระโลกนาถของพระหนุ่มอินทปัญโญ ทำให้ตัวเขามีความเชื่อมั่นในเส้นทางของเขายิ่งขึ้นกว่าเดิมอย่างไม่หวั่นไหวอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาได้ตระหนักยิ่งขึ้นว่า การพัฒนาตัวเองทางจิตวิญญาณของเขาเพื่อบรรลุพุทธธรรมกับการเผยแพร่ธรรมะไปพร้อมๆ กันนั้น มันเป็นกระบวนการเดียวกันที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้