49. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 49 นิพพานกับการสิ้นสังขาร 3/4/2550

49. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 49 นิพพานกับการสิ้นสังขาร  3/4/2550

พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 49)


49. นิพพานกับการสิ้นสังขาร

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่มีตัวตนที่แท้จริง เป็นเพียงสิ่งที่ประกอบขึ้นมาเป็นสังขารของเราชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้นเอง ความตาย ความจริงเป็นเพียง สิ่งสมมติ ขึ้นเท่านั้น ต้นไม้บางครั้งเมื่อลำต้นล้มลงแล้ว กิ่งหรือรากก็ผุดต้นใหม่ขึ้นมาอย่างนี้จะเรียกว่า ต้นไม้นั้น "ตาย" ได้อย่างไร ต้นไม้บางต้นถึงดูภายนอกเหมือนว่าจะตาย ลำต้นเหี่ยวแห้งแล้ว แต่กิ่งบางกิ่งที่เห็นว่ายังสดดี พอตัดกิ่งมาปักมาชำก็งอกขึ้นมาใหม่ได้ อย่างนี้จะเรียกว่าต้นไม้นั้น "ตาย" ได้หรือ?

ความตายนั้น ไม่มีความหมายสำหรับต้นไม้ ตราบใดที่ไม่รู้จะกำหนดจุดไหนว่าคือ ความตายของต้นไม้

อะไรคือ "ความตาย" ของคนคนหนึ่ง ต่อให้คนผู้นั้นสิ้นสังขารไปแล้ว แต่ถ้าคำสอนของเขาและวิถีของเขายังมีผู้สืบทอดอยู่ และยังดำรงอยู่จะเรียกว่า คนผู้นั้น "ตาย" ได้หรือ?

ในอีกแง่หนึ่ง ความตาย กับ การตาย ก็แตกต่างกัน เพราะ การตายเกิดขึ้นตลอดเวลา ตั้งแต่คนเราเกิดแล้ว คนเราพอคลอดจากครรภ์มารดา เราก็เริ่มตายแล้ว การตายเกิดขึ้นตลอดเวลาในชีวิตของเรา ขณะที่เรากำลังทำกิจกรรมต่างๆ อยู่นี้ เซลล์ผิวหนังก็ตาย เซลล์ในหลอดอาหารในกระเพาะ ในลำไส้ของเราก็ตายแล้วลอกหลุดออกมา การตายลักษณะนี้เพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคนเราโตขึ้นๆ เพราะ มันคือ ธรรมชาติที่จะต้องตาย เพื่อให้มีสิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ วนเวียนกันไปอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด จึงเห็นได้ว่า เราไม่สามารถจี้ไปที่จุดใดจุดหนึ่ง แล้วระบุว่าเป็นความตายได้ เราทำได้เพียงแค่สมมติเอาว่าเช่นนี้เรียกว่า ตาย ก็แล้วกันเท่านั้น

ความตายจึงไม่มีในเชิงปรมัตถ์ คงมีแต่การตาย
กับการเกิดวนเวียนกันไป ความกลัวตายจึงเป็นอวิชชาอย่าง สูงสุดอย่างหนึ่งของมนุษย์
* * *
ปัจฉิมอาพาธ ของ อินทปัญโญ ได้เริ่มขึ้นเมื่อเช้าของวันที่ 25 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2536 (ค.ศ. 1993) ก่อนหน้านั้น ท่านเคยอาพาธหนักเป็นโรคหัวใจวายถึงขั้นน้ำท่วมปอด เส้นเลือดในปอดแตก บ้วนน้ำลายออกมาเป็นเลือดเต็มไปหมด พระสิงห์ทองที่เป็นพระอุปัฏฐากเรียนท่านให้ไปรักษาที่โรงพยาบาล แต่ท่านกลับบอกว่า

"ไม่เป็นไรหรอกทอง เราอยากจะดู อยากจะรู้ เสมหะที่มีเลือดปนอยู่ของเรา เธอจงเอาไปถมไว้อย่าให้ใครเห็นนะ เอาไปฝังให้หมด เดี๋ยวคนจะตกใจ"

อินทปัญโญไม่เคยบ่นเรื่องความเจ็บป่วย ท่านไม่หอบสังขารหนีความตาย อันที่จริงตัวท่านปลงสังขาร และปล่อยวางสังขารของท่านมาตั้งแต่ปี 2534 (ค.ศ. 1991) แล้ว

เช้าวันนั้น (วันที่ 25 พฤษภาคม) พระสิงห์ทองนอนอยู่ใต้เตียงท่านคืนก่อนหน้านั้น มีเลือดเต็มเตียงแล้วไหลลงมา สิงห์ทองจัดการพยุงท่านให้ลุกขึ้นเปลี่ยนผ้าปูที่นอนใหม่ แล้วพยุงให้ท่านลงไปนอน ท่านก็นอนอย่างนั้น สลบไม่รู้เรื่องเลย

สิงห์ทองไม่รู้ว่าท่านตื่นขึ้นเมื่อไหร่ เพราะเขาเพลียมากเนื่องจากเฝ้าดูแลท่านจนตัวเองหลับผล็อยไปอยู่ใต้เตียงท่าน เขาได้ยินเสียงท่านปลุกเรียกเขาเบาๆ ว่า

"ทองตื่นได้แล้ว เราจะตายแล้ว"

ท่านพูดภาษาง่ายที่สุด พร้อมกับบอกเขาอีกว่า

"ไม่ไหวแล้ว ไปบอกคุณโพธิ์ (อาจารย์โพธิ์ผู้เป็นธรรมทายาทของอินทปัญโญ) หน่อยว่า เราไม่ไหวแล้ว เราจะตายแล้ว"

ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ 7 โมงเช้า เมื่ออาจารย์โพธิ์เข้ามา ท่านบอกกับอาจารย์โพธิ์ว่า

"โพธิ์ไม่ไหวแล้ว เราคงไม่ไหวแล้ว"

ท่านมีสติสมบูรณ์ดีมาก ท่านยังยิ้ม ยังคุยธรรมะกับอาจารย์โพธิ์ และพระสิงห์ทองอยู่เหมือนเป็นปกติ จนในที่สุด ท่านก็บอกออกมาว่า

"มัน มาถึงแล้วตอนนี้!"

ท่านเฝ้าดูการตายของตัวท่านอย่างมีสติรู้ตัว และจดจ่อท่านบอกอีกว่า

"ทอง เราพูดไม่ได้แล้ว ลิ้นเราแข็งแล้ว" พระสิงห์ทองพยายามเงี่ยหูฟังว่าท่านจะสั่งอะไรอีก เพราะเห็นท่านทำปากขมุบขมิบ แต่เขาจับความไม่ได้ ขณะที่อาจารย์โพธิ์อ่านจากริมฝีปากของท่านออกว่า ท่านท่องบริกรรมสาธยายมนต์อยู่ตลอดเวลาก่อนจะสิ้นสังขาร

คณะศิษย์และแพทย์นำท่านซึ่งไม่รู้สึกตัวแล้ว ส่งโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี เมื่อเวลาบ่ายสามโมง ได้มีการตรวจสมองด้วยคอมพิวเตอร์ พบอาการเลือดออกในสมอง จึงนำท่านเข้ารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม จนกระทั่งถึงวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 ภาวะของโรครุนแรงมากจนไม่อาจควบคุมได้ คณะแพทย์จึงตัดสินใจนำท่านกลับ และมาถึงสวนโมกขพลาราม เมื่อเวลา 10.50 น.

ในที่สุด ท่านถึงแก่มรณภาพโดยสงบในกุฏิของท่าน เมื่อเวลา 11.20 น. รวมสิริอายุได้ 87 ปี 1 เดือน 11 วัน
* * *
แม้จนบัดนี้ก็ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เชื่อกันมาผิดๆ ว่านิพพานนั้นคือ การตายของพระอรหันต์หรือของพระพุทธเจ้า และนิพพานนั้นจะถึงได้เมื่อตายแล้วเท่านั้น ซึ่งมันไม่ใช่เลย

นิพพานแปลโดยสภาวธรรม แปลว่า ดับและเย็น นิพพานจึงไม่ใช่คุณสมบัติของคนตาย และมิใช่คุณสมบัติของคนเป็น

แต่ นิพพาน เป็นคุณสมบัติของผู้ที่หลุดพ้นแล้วเป็นผู้บรรลุแล้ว เป็นผู้สลัดหลุดจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวงแล้ว

นิพพาน จึงเป็นคุณสมบัติของผู้ที่มีปัญญาญาณอันสุดประเสริฐ และแสนวิเศษที่สามารถหยั่งรู้แจ่มแจ้งในสรรพสัตว์ สรรพชีวิต สรรพสิ่งอันเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับเป็นไปอย่างเป็นเช่นนั้นเองนี้

นิพพาน เป็นสภาวะ และเป็นคุณสมบัติสูงสุดของผู้สลัดหลุดแล้ว ผู้เป็นหนึ่งเดียวกับ อยัมยตาธรรม แล้ว

นิพพาน จึงเป็น ภาวะของพุทธะ ผู้เข้าถึงอิสรภาพและเสรีภาพสูงสุดแล้ว ด้วยเหตุนี้ สภาวะของนิพพาน จึงไม่มีองค์ประกอบรูปลักษณ์ที่จะอธิบาย แต่ความหมายของมันคือ การดับและเย็นตลอดกาล ไม่ต้องกลับไปเกิดแก่เจ็บตายอีก

นิพพานคือ ชีวิตนิรันดร ในความหมายที่ว่ามีอยู่เป็นนิรันดร เป็นสภาพอันคอยรออยู่เป็นนิรันดร ใครทำถูก ทำถึงก็เข้าถึงได้ เรียกว่า เข้าถึงนิรันดร เข้าถึงความเป็นชีวิตที่ไม่มีความทุกข์อีกต่อไป

นิพพานจึงอยู่ที่นี่ และเดี๋ยวนี้เสมอมาอย่างไร้เวลาอย่างเหนือกาลเวลา นิพพานเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ เมื่อมนุษย์ทำชีวิตของตนให้ถูกต้อง ทั้งทางกาย ทางใจ และทางจิตวิญญาณอย่างเป็นองค์รวม และอย่างบูรณาการจนเข้าถึงชีวิตนิรันดร

คนเราจะรู้จักนิพพานได้ ต้องปฏิบัติจนรู้สึกในใจเอง

นิพพาน คือตายเสียก่อนตาย ซึ่งทำได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ด้วยการละอุปทานในตัวตน ด้วยการบำเพ็ญตบะสามารถควบคุม รู้ทัน ผัสสะ และเวทนาเพื่อไม่เกิดอุปาทาน

นิพพาน ไม่ใช่การไป ไม่ใช่การมา และไม่ใช่การหยุดอยู่ นิพพานเป็นสภาวะอันหนึ่งซึ่ปรากฏออกมา เมื่อมีการกระทำถูกต้อง มีการปฏิบัติถูกต้อง ฉะนั้นจึงไม่ต้องไป จึงไม่ต้องมา รวมทั้งไม่ต้องหยุดที่นั่น

เพราะไปคือ ไปหาสิ่งหนึ่ง มาก็มาหาสิ่งหนึ่ง หยุดก็เพราะติดอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มันใช้ไม่ได้ทั้งสิ้นกับคำว่า "นิพพาน" เพราะมันยังมีความยึดมั่นถือมั่น จึงได้ไป จึงได้มา หรือจึงได้หยุดที่นั่น ต่อเมื่อดับความยึดมั่นถือมั่นนั้นเสีย ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการหยุดหรือติดอยู่ที่ไหน จึงจะเรียกว่าเป็นการหลุดออกไป หรือถ้าจะเรียกโดยสมมติก็เรียกว่า "ทางนิพพาน"

ทางนิพพาน นั้นคือ มรรค อันเป็น หนทางของจิตใจ มรรคประกอบไปด้วยองค์ 8 นี้ เป็นตัวทางนิพพาน เมื่อปฏิบัติอยู่อย่างนั้น ปฏิบัติให้ถูกต้อง ให้ครบถ้วน พอเหมาะพอดี แล้วนิพพานก็จะปรากฏแก่จิตใจของผู้ปฏิบัติเอง ดังที่ได้เคยปรากฏแก่จิตใจของอินทปัญโญเองมาเป็นเวลาหลายสิบปี ก่อนที่ตัวเขาจะสิ้นสังขาร

ในระหว่างนั้น อินทปัญโญมีชีวิตอยู่อย่างทุกลมหายใจเข้าออก ของเขาได้ชิมรสของนิพพาน ได้รู้จักกิจของนิพพาน เพราะจิตใจของเขา มีแต่ความเย็นอกเย็นใจ แช่มชื่น เบาสบายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก แม้ในขณะทำงาน ก็ทำงานอย่างร่าเริง รื่นเริง เย็นอกเย็นใจ ทำงานอย่างสนุกสนาน หมือนทำของเล่น อยู่ทุกครั้งที่ลมหายใจเข้าออก อย่างนี้แหละคือการมีชีวิตอยู่อย่างได้ลิ้มชิมรส ของนิพพานที่เป็นอมตธรรม






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้