พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 8)
8. บันลือสีหนาท
"ผู้ที่อุทิศชีวิตเพื่อพระศาสนาเช่นเรา ถ้ามีการศึกษาที่ถูกต้อง และเหมาะสมกับเวลาแห่งอายุ ก็อาจเป็นผู้มีการงานที่มีค่ามากได้ในภายภาคหน้า"
จดหมายจากพุทธทาสภิกขุถึงเณรกรุณา พ.ศ. 2480
วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2483 (ค.ศ. 1940)
ณ พุทธสมาคม กรุงเทพฯ
บัดนี้ เวลาแห่งการบันลือสีหนาท ของพระหนุ่มอินทปัญโญ ได้มาถึงแล้ว เพราะตัวเขาได้รับเชิญจากพุทธสมาคมที่กรุงเทพฯ ให้มาแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง "วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม" หัวข้อปาฐกถานี้เป็นหัวข้อที่ตัวอินทปัญโญเองก็ต้องการบรรยายและทางพุทธสมาคมก็ต้องการจะฟังเพราะ "การเข้าถึงพุทธธรรม" เป็นเรื่องเดียวที่อินทปัญโญมุ่งมั่นที่จะเข้าถึงนับตั้งแต่ตัวเขากลายมาเป็น "พระป่า" ที่สวนโมกขพลาราม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 ซึ่งเวลาก็ผ่านมาร่วมเก้าปีแล้ว ผู้คนที่ติดตามการเคลื่อนไหวของอินทปัญโญผ่านหนังสือพิมพ์ "พุทธสาสนา" มาโดยตลอด ซึ่งรวมทั้งเหล่าสมาชิกของพุทธสมาคมด้วย จึงอยากจะรู้ว่าในช่วงเวลาเก้าปีมานี้ อินทปัญโญได้ค้นพบอะไรเกี่ยวกับพุทธธรรมบ้าง พวกเขาจึงอยากฟังจากปากของอินทปัญโญโดยตรง
บัดนี้ อินทปัญโญอยู่ในวัยฉกรรจ์มีอายุ 34 ปี และมีอินทรีย์ที่แก่กล้า ทั้งทางด้านปริยัติ และด้านปฏิบัติสมาธิภาวนาพอที่สามารถเปล่งบันลือสีหนาทปลุกให้คนที่พอมีปัญญาสามารถ "ตื่น" ขึ้นมาในทางธรรมได้แล้ว
หาก "ตามรอยพระอรหันต์" ที่อินทปัญโญเริ่มเขียนในวัยยี่สิบหก เป็นงานเขียนที่ฉายแวว อัจฉริยะทางธรรม ของตัวเขา ปาฐกถาเรื่อง "วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม" ในครั้งนี้ ก็ไม่ต่างไปจาก "รายงานความคืบหน้า" ในการแสวงหาพุทธธรรมของเขา ก่อนที่จะมาสิ้นสุดที่ "อานาปานสติ" (ฉบับสมบูรณ์) ในปี พ.ศ. 2502 หรืออีกยี่สิบปีให้หลัง
ใน "วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม" นี้ อินทปัญโญได้บอกว่า พุทธธรรม มีความหมายได้ 3 อย่าง ทั้งในเชิงพระปริยัติธรรม ในเชิงพระปฏิบัติธรรม และในเชิงพระปฏิเวธธรรม
พุทธธรรมในเชิง พระปริยัติธรรม หมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ส่วนพุทธธรรมในเชิง พระปฏิบัติธรรม หมายถึง การปฏิบัติประเภทหนึ่ง ที่ทำให้คนธรรมดาผู้ปฏิบัตินั้นสามารถกลายเป็น พุทธะ หรือ อริยบุคคลได้
และพุทธธรรมในเชิง พระปฏิเวธธรรม นั้น หมายถึง "สิ่ง" หนึ่งที่เป็น "สิ่งนั้น" ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ
อินทปัญโญให้ความสำคัญ และให้ความสนใจเป็นที่สุดกับพุทธธรรมในเชิงพระปฏิเวธธรรมอันเป็นผลขั้นสุดท้ายของการศึกษา และการปฏิบัติธรรม เพราะเขาได้เล็งเห็น รวมทั้งได้ผ่านการทดลองด้วยตัวเองมาอย่างโชกโชนแล้วว่า พุทธธรรมในเชิงพระปริยัติธรรมซึ่งหมายถึง พระไตรปิฎกนั้น คงมีคนไม่กี่คนหรือไม่มากนักที่จะสามารถศึกษาได้ทั่วถึง ส่วนพุทธธรรมในเชิงพระปฏิบัติธรรม ก็คงมีแต่เฉพาะยอดคนที่เป็นคนที่มีจิตใจเข้มแข็ง และมุ่งมั่นในการบำเพ็ญตบะกรรมฐานอย่างเอาเป็นเอาตายเท่านั้น ที่จะทำได้ซึ่งคงเป็นคนส่วนน้อยเท่านั้น
ในช่วงเก้าปีมานี้ อินทปัญโญได้ศึกษาพระไตรปิฎกฉบับบาลีจนแตกฉาน นอกจากนี้ เขายังสามารถฝึกสมาธิภาวนาจนการเข้าฌานเป็นเรื่องง่ายสำหรับตัวเขา แต่ ตัวเขาก็รู้ดีว่า กว่าตัวเขาจะศึกษาและฝึกจิตมาได้จนถึงขั้นนี้ ตัวเขาต้อง "จ่าย" ไปด้วย "ราคา" ที่แพงขนาดไหน คงเกินกว่าที่คนธรรมดาทั่วไปจะแบกรับได้
ด้วยจิตใจที่เมตตากรุณา นึกถึงความยากลำบากของเพื่อนร่วมโลก อินทปัญโญจึงให้ความสำคัญกับพุทธธรรมในเชิงพระปฏิเวธธรรม โดยการชี้ให้เห็นว่า คนเราสามารถลุถึง "สิ่ง" สิ่งนี้ อันได้แก่ ญาณและศานติของพุทธะที่เป็นผล (ปฏิเวธ) ของพุทธธรรมได้ โดยไม่ต้องผ่านทางพระไตรปิฎก หรือผ่านการบำเพ็ญตบะ การนั่งสมาธิอย่างเข้มงวด
"ญาณ" คือความรู้ชนิดที่ทำให้ผู้รู้นั้นหมดความทะเยอทะยานในโลก ซึ่งอาจเกิดได้แม้แก่ผู้ที่ได้ชิมโลกมาจนเบื่อ จึงเหนื่อยหน่ายที่จะเสพคบกับอารมณ์นานาชนิดอีกต่อไป โดยที่ผู้นั้นไม่ต้องผ่านพระไตรปิฎก และการฝึกจิตฝึกสมาธิอันเคร่งครัดก็ได้
"ศานติ" คือความสงบที่ปลอดจากทุกข์ทั้งมวล คือความบริสุทธิ์และสงบเย็นแห่งจิต
ความเข้าใจพุทธธรรมแบบที่เน้นในเชิงปฏิเวธ (ผลของการปฏิบัติธรรม) ของอินทปัญโญนี้ถือว่าเป็นทัศนะที่ต่างออกไปจากทัศนะกระแสหลักของสายเถรวาทไทยในขณะนั้น ที่ถ้าไม่โน้มเอียงไปทางปริยัติ ก็โน้มเอียงไปในทางปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง
เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ อินทปัญโญเชื่อว่า พุทธธรรมหรือ "สิ่ง (นั้น)" ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนั้น เป็นสิ่งที่สาธารณะแก่ทุกคน และมีอยู่ทั่วไปพร้อมที่จะสัมผัสกับคนทุกคนอยู่ทุกเมื่อ แต่เมื่อคนเรามองไม่เห็น การก็เป็นราวกับว่า เป็นของที่เร้นลับจนสุดวิสัย
สิ่งที่อินทปัญโญเข้าใจเกี่ยวกับพุทธธรรมในฐานะที่เป็น "สิ่งนั้น" นี้ ตัวเขามิได้รู้จากคัมภีร์ตำราหนังสือแต่อย่างใด แต่ เขารู้มาจากชีวิตจากธรรมชาติ และจากจิตใจของตัวเขาเองที่เข้าถึงญาณและศานติได้แล้ว ไม่ว่าเขาจะอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ เดินจงกรม สวดมนต์ ทำสมาธิภาวนา หรือแม้แต่ออกไปบิณฑบาต กล่าวคือแม้เขาจะอยู่ในอิริยาบถใด มันก็เป็นสิ่งที่กระจ่างแจ้งแก่ใจเขาอย่างชัดเจนยิ่งอยู่เสมอ
คำอธิบายตรงนี้ของอินทปัญโญเกี่ยวกับพุทธธรรมในฐานะที่เป็น "สิ่ง" หนึ่งนี้จึงถือว่าใกล้เคียงกับสิ่งที่ เซน เรียกว่า "จิตหนึ่ง" หรือ วัชรยาน เรียกว่า "ธรรมกาย" อยู่มากโขแล้ว แต่ก็ยังมีความต่างอยู่หน่อยหนึ่งตรงที่ว่า ในตอนนั้น อินทปัญโญยังมีความเห็นแบบ ทวิภาวะ อยู่ว่า "สิ่ง" สิ่งหนึ่งหรือพุทธธรรมนี้สามารถพบได้ เมื่อผู้นั้นมองเข้าไปในด้านใน หรือมองด้วยเครื่องมือสำหรับมองในด้านใน
ในขณะที่ เซน กลับบอกว่า การแสวงหาพุทธะ ภายนอก จิต ไม่มีทางเจอ แต่การแสวงหาพุทธะ ภายในจิต ก็ไม่อาจเจอเช่นกัน! ดังที่ ฮวงโป เคยบอกว่า
"จิตไม่อาจจะใช้จิตให้แสวงหาจิต พุทธะไม่อาจใช้พุทธะ ให้แสวงหาพุทธะ และไม่อาจใช้ธรรมให้แสวงหาธรรม"
เพราะฉะนั้น แม้ตอนนั้นอินทปัญโญจะมีความเข้าใจพุทธธรรมในระดับที่ล้ำลึกจนน่าทึ่งแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่ถึงระดับที่ข้ามพ้นทวิคติ หรือทวิภาวะ จนอยู่ในระดับ อทวิภาวะ (nondual) ได้ แต่ก็ใกล้เคียงมากแล้ว เพราะใน "วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม" นี้เอง อินทปัญโญก็ได้ย้ำว่า การมองในด้านในเพื่อพบพุทธธรรมนั้น ต้องใช้ "ญาณ" ในการสัมผัส คือต้องใช้ "ตาใน" หรือ "ตาแห่งธรรมจิต" สัมผัส ไม่อาจใช้ "ตาเนื้อ" หรือใช้ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจตามธรรมดาในการสัมผัสได้
เขายังบอกอีกว่า หากจิตของผู้นั้นปราศจากโลกียธรรมอันเป็นเปลือกหุ้มที่รึงรัดได้เมื่อไหร่ ผู้นั้นก็จะพบพุทธธรรม หรือพุทธะที่มีพร้อมอยู่ทั่วไปได้ทันทีเลย
โลกียธรรมที่เป็นเปลือกหุ้มจิตอันเป็นพุทธะนั้น ในความเห็นของอินทปัญโญมีอยู่ 3 ชั้นด้วยกัน ชั้นนอกที่หยาบสุด คือรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสอันเป็นภาพลวงของโลก หรือตัวโลกเอง ในด้านที่ปรากฏแก่คนธรรมดา
ชั้นกลาง คือความยึดมั่นในความเชื่อ ความคิดเห็น หรือลัทธิที่คนเราทุกคนตามธรรมดา ย่อมติดอยู่ไม่อย่างหนึ่งก็อย่างใดเสมอ
และ ชั้นในสุดที่ละเอียดที่สุด คือความยึดติดตัวเองของตัวเองที่จำเป็นต้องปลดเปลื้องออกไปเช่นกัน หากต้องการเข้าถึงพุทธธรรม
คำอธิบายตรงส่วนนี้ของอินทปัญโญ คือส่วนที่ลึกล้ำที่สุดในปาฐกถา "วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม" ของเขาในวันนั้น เพราะตัวเขากล้าบันลือสีหนาทว่า
"ในการจะเข้าถึงพุทธธรรมนั้น แม้แต่ความเชื่อในครูของตน หรือแม้แต่การถือเอาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่งก็ต้องเปลื้องออก!"
เพราะสิ่งเหล่านี้ เขาบอกว่า แทนที่จะเป็นเครื่องช่วยเหลือ กลับจะเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งจมติด ไม่มีวันที่จะเข้าถึงนิพพานได้เลย พอฟังถึงตรงนี้ ผู้คนที่นั่งฟังกันอย่างตั้งอกตั้งใจในห้องประชุมนั้น ถึงกับช็อกไปตามๆ กัน เพราะมันกระทบความรู้สึก ความเชื่อดั้งเดิมของพวกเขาอย่างรุนแรงอย่างที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน
อินทปัญโญ อธิบายต่อไปอีกว่า เพราะ นิพพานเป็นความไม่ยึดติดในสิ่งทั้งปวง พุทธธรรมจึงจะปรากฏเฉพาะแก่จิตที่เป็นอิสระ ไม่มีอะไรผูกมัดหรือย้อมติดเท่านั้น การยึดมั่นในองค์ศาสดาหรือครูบาอาจารย์ของตน แม้อาจเป็นประโยชน์ใน จิตระดับขั้นศีลธรรม ก็จริง แต่มันจะกลับเป็นอุปสรรคในขั้นหลุดพ้นทำให้จิตไม่อาจเป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวงได้
เพราะ สิ่งที่เป็นอิสระ จึงจะพบสิ่งที่เป็นอิสระด้วยกันได้ ถ้าคนเราไม่มีความคิดที่เป็นอิสระในขั้นความเชื่อแล้ว ความคิดอันเป็นอิสระขั้นสูงสุดจักเกิดขึ้นไม่ได้เลย เนื่องจาก "พุทธธรรม" ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนี้ เป็นสิ่งที่อยู่เหนือพื้นที่และกาลเวลา สามารถสัมผัสได้ด้วยญาณจักษุเท่านั้น และพุทธธรรมยังเป็นสิ่งที่มีอิสระในตัวมันเองด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะเข้าถึงสิ่งนี้ได้ จึงจำเป็นที่จะต้องเป็น ผู้มีใจอิสระ ก่อนเท่านั้น คือ เป็นอิสระโดยจิตใจ เป็นอิสระต่อความลุ่มหลงมัวเมาต่อเหยื่อล่อของโลก และเป็นอิสระต่อความเชื่อที่ยึดมั่นติดมั่นจำกัดวงปัญญาให้คับแคบ ถ้าคนเราปราศจากเสียซึ่งความเป็นอิสระดังกล่าวแล้ว ย่อมไม่อาจเข้าถึงพุทธธรรมได้เลย
อินทปัญโญกล่าวย้ำอีกว่า การยึดถือที่พึ่งอย่างไตรสรณะ เป็นจิตในระดับขั้นศีลธรรม หรือขั้นที่ยังต้องทำความดีความงามวนเวียนอยู่ในโลกเพื่อไปสู่โลกที่สูงขึ้นไป เช่น โลกสวรรค์ การยึดถือที่พึ่งจึงไม่อาจมีในขั้นที่เป็นความหลุดพ้น เพราะความหลุดพ้นของผู้ที่หลุดพ้นแล้วไม่ว่าก่อนหรือหลัง ไม่ว่าเก่าหรือใหม่ย่อมเสมอกัน และเป็นอันเดียวกันหมด จึงไม่มีใครเป็นที่พึ่งแก่ใครได้ ในขั้นนี้เป็นขั้นที่แต่ละคนเป็นอิสระโดยตัวเองอย่างเด็ดขาดแล้ว จึงไม่มีใครเป็นศิษย์เป็นอาจารย์กันอีกต่อไป จะมีก็แต่กัลยาณมิตรของกันและกันเท่านั้น
อินทปัญโญจึงบอกว่า การยึดถือพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งจึงมีความหมายเพียงในขั้นต้นๆ สำหรับ คนผู้ยังต่ำเกินไป ยังไม่สามารถเข้าใจในการยึดตัวเองเป็นที่พึ่ง และยังไม่มีปัญญาขนาดเลิกการถือที่พึ่ง โดยประการทั้งปวงในที่สุด สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้แก่สาวกทั้งปวงนั้น คือ "การหลุดพ้นออกไปเสียจากความผูกพันกับสิ่งใดๆ ทั้งหมด รวมทั้งพระองค์เองด้วย และรวมทั้งตัวของตัวเองด้วย"
ทั้งหมดนี้คือ ความเข้าใจขั้นเยี่ยมยอดที่สุดของพุทธแบบเถรวาท ที่อินทปัญโญได้ลุถึงแล้วในตอนนั้น
อินทปัญโญมาไกลมากแล้ว...มาไกลเหลือเกิน ในสายตาของผู้คนในยุคเดียวกับเขา จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรที่ปาฐกถาของเขาเรื่อง "วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม" ในวันนั้น จึงเป็นที่ฮือฮามาก และกลายเป็นปาฐกถาที่ "จะไม่ตาย" หรือยังคงเป็นอมตะตลอดมาจนทุกวันนี้ และคงตลอดไปตราบเท่าที่ผู้คนยังคงแสวงหาพุทธธรรมกันอยู่