16. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 16 ผู้จะไป 15/8/49

16. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 16 ผู้จะไป 15/8/49

พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 16)

16. ผู้จะไป

"ผู้ไป หมายถึง สัตว์ทั้งหลายที่ก้าวหน้าไปสู่ที่สุดของวัฏสงสาร คือผู้ที่มีวิวัฒนาการไปสู่ จุดยอด ของความเจริญ เป็นผู้ที่มีความเข้าใจในสิ่งทั้งปวงอย่างลึกซึ้ง ถึงขนาดที่ไม่มัวเมา ไม่จมอยู่ในความเพลิดเพลินในสิ่งนั้นๆ และต้องการที่จะให้จิตของตนถึงขั้นที่ปราศจากทุกข์โดยประการทั้งปวง"

พุทธทาสภิกขุ

อินทปัญโญ สำรวจจิตในปัจจุบันของเขาหลังจากที่ "ซาโตริ" แล้ว ในแง่ความรู้สึกเกี่ยวกับชีวิต เขาเห็นความจริงว่า กายใจเป็นทุกข์ เห็นความจริงว่าที่ทุกข์เพราะมีเหตุคือความทะยานอยาก เห็นความจริงว่า ความระงับจากตัณหาความทะยานอยากคือความสงบจากทุกข์ และเห็นตามจริงว่า วิธีระงับความอยากคือ มรรคมีองค์ 8 ของพระพุทธองค์ อินทปัญโญตรวจสอบคุณสมบัติของจิตเขา รวมทั้งใช้การเจริญสติดูภาวะเฉพาะหน้าที่ปรากฏ เขาพบว่า จิตแต่ละขณะของเขา ว่างเปล่า จากความยึดมั่นถือมั่น ปลอดโปร่ง จากความทะยานอยากใดๆ และ สะอาด ปราศจากอกุศลกรรมครอบงำ แม้ทางความคิดอย่างต่อเนื่อง

หลังจากนั้น อินทปัญโญผ่านวันผ่านคืนโดยไม่ปล่อยให้ตกล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์ เขาเกิดความสดใสยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนอีก และรู้สึกสบายอย่างบอกไม่ถูก แม้เขาจะเห็นกายใจเป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าตัวเขากำลังมีทุกขเวทนา หรือว่ามีความอึดอัดคับข้องใจในการมีชีวิต และดำรงชีวิต ตรงกันข้าม บัดนี้เขากลับปลอดโปร่งเป็นสุขใจอย่างยากจะหาใครเปรียบได้ เขารู้สึกเบาตัวเบาใจอย่างเหลือที่จะกล่าว แต่แม้อินทปัญโญกำลังเสวยสุขอันประณีตทางใจ เขาก็ตระหนักรู้ว่า สุขนั้นก็เป็นเพียงเวทนาชนิดหนึ่ง เวทนาเป็นสิ่งไม่เที่ยง ไม่อาจรักษาสภาพของเวทนาให้คงทนได้ จึงไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นเพราะก็เป็นทุกข์เหมือนกัน

พออินทปัญโญบรรลุถึงจุดแห่งวิวัฒนาการทางจิตขั้นนี้แล้ว หันไปเห็นผู้คนส่วนใหญ่ที่ยังไม่คิด "จะไป" เสียที เขาก็ตระหนักได้ว่า ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงสะสมเหตุปัจจัยแห่งการเวียนว่ายตายเกิดกันอยู่ ผู้คนเหล่านี้ยามเกิดก็เกิดอย่างไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ยามตายก็ตายอย่างไม่รู้อีโหน่อีเหน่ แม้จะโชคดีได้เกิดมาในประเทศที่มีภูมิปัญญาของพุทธศาสนาแน่นแฟ้น แต่กลับใช้ชีวิตลองผิดลองถูกอย่างน่าสมเพช

แต่อินทปัญโญจะไปบอกใครได้เล่าให้พวกเขาเดินมาตามทางนี้เหมือนอย่างที่ตัวเขาได้เดินมาแล้ว จะมีใครสักกี่คนเล่า ที่จะยอมหันมาฝึกฝนตนเองหันมาปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิภาวนา ใส่ใจกับลมหายใจทุกอิริยาบถแทนการสะสมความมั่งคั่ง แสวงหาอำนาจ สร้างชื่อเสียง และเสพกามคุณอันเป็นยอดปรารถนาของปุถุชน

อินทปัญโญยอมรับด้วยจิตอันเป็นอุเบกขาว่า ธรรมะเป็นเรื่องเฉพาะตนของตัวตนของแต่ละคนจริงๆ ที่จะเลือกด้วยตนเอง ตัดสินใจด้วยตนเอง และรับผลด้วยตนเองตามลำพัง ไม่มีใครทำแทนใครได้ แต่สามารถชี้ทางให้ได้ จิตของอินทปัญโญมีความสุขุมยิ่งขึ้นกว่าเดิม เขาหันไปทบทวนตัวเองเมื่อสิบห้าปีก่อนที่มี "ความไม่อยากเป็นปุถุชน" จึงมาเป็น พระป่า และก่อตั้งสวนโมกข์ เขามองทะลุว่า แม้แต่ความไม่อยากเป็นปุถุชน ก็ยังเป็นความอยากชนิดหนึ่งอยู่ดี และความอยากพ้นภาวะปุถุชนยังก่อให้เกิดความอึดอัด มีการเร่งรัดเวลา มีอาการไม่สมใจ ทั้งๆ ที่ความอยากเหล่านี้มันผุดมาจากความไม่มีอะไร และดับไปในความไม่มีอะไร ความจริงแล้วความอยากเป็นแค่ของชั่วคราวเท่านั้น ความว่างจากตัวตนต่างหากที่เป็นของจริง

บัดนี้ อินทปัญโญเหลือแต่ความกระตือรือร้นที่จะเป็นผู้รู้ ผู้ดู ผู้พิจารณากายใจตนโดยความไม่เที่ยง โดยความไม่ใช่ตัวตนเท่านั้น ความอยากใดๆ ของเขาไม่มีอีกแล้ว อินทปัญโญหายใจได้ลึกเป็นปกติมากขึ้น เขายังคงใช้ลมหายใจเป็นราวเกาะให้กับสติของเขา ตามหลักอานาปานสติ เขาหายใจเข้าออกด้วยจิตอันสงบเงียบใสเบาจนกระทั่งเกิดความเคยชินที่ได้เห็นอนิจจังของลมหายใจอยู่เสมอ

ลมหายใจที่ละเอียดย่อม ปรุงแต่งกาย ของผู้หายใจ ให้แข็งแรง ฉันใด สติที่ตั้งมั่นรู้ลมหายใจได้ต่อเนื่องโดยไม่สะดุดของผู้หายใจ ก็ย่อม ปรุงแต่งจิต ของผู้หายใจ ให้สงบระงับ อิ่มเต็มอยู่กับภาวะอันเป็นปัจจุบันขณะได้ฉันนั้น อินทปัญโญใช้ลมหายใจของเขาเป็นราวเกาะสติ จนกระทั่งเขาสามารถรู้ทุกภาวะทางจิตที่เกิดขึ้นตามจริง โดยไม่แทรกแซงใดๆ

ผลจากการที่อินทปัญโญฝึกฝนตามรู้ลมหายใจไปเรื่อยๆ ด้วยความใจเย็นในการเพียรระลึกรู้อยู่เสมอๆ โดยไม่เล็งโลภอยากได้อะไร และไม่ทุกข์ใจไปกับความเป็นไปต่างๆ ในที่สุด สติของเขาก็สมบูรณ์พร้อม มีจิตปกตินิ่งรู้อยู่กับลมหายใจและอิริยาบถ เห็นความว่างในภายในปรากฏเสมอๆ มีเพียงผัสสะอันละเอียดอ่อน เช่น ความคิดผุดขึ้นกระทบใจเป็นครั้งคราว ดุจเห็นสายหมอกบางเบาคลอเคลียผิวน้ำอันเรียบนิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วสลายลับไป เหลือแต่ความเงียบสงัดดุจแผ่นน้ำเรียบใส แม้บางครั้งตัวเขาจะเกิดอาการไหววูบอย่างแรงของจิตขึ้นมาบ้าง แต่มันก็เลือนสลายลงอย่างรวดเร็วบนฐานสติที่มั่งคงของเขา แล้วแปรเป็นความสงบเย็น โดยที่สติก็เบนมาเห็นภาวะนิ่งเย็นของจิตตัวเองแทนสภาพเหล่านี้ถูกรู้ได้เอง ร้อนก็ถูกรู้ว่าร้อน เย็นก็ถูกรู้ว่าเย็น เห็นภาวะปรากฏเด่นแล้วหายลับ ไม่มีอะไรมากหรือน้อยกว่านั้น

คุณภาพของจิตที่สูงส่ง ไม่ว่าของบุคคลใดก็ตาม ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ลอยมาหาเองอย่างบังเอิญ แต่ได้มาจาก วินัยต่อตนเอง วินัยแห่งการฝึกฝนกายฝึกฝนจิต ฝึกฝนสติปัญญาของตนให้แหลมคมอยู่เสมอ จนกระทั่ง จิตตนยอมศิโรราบให้กับความเพียรของตน ความเพียรเป็นสิ่งที่หลอกลวงกันไม่ได้ สร้างภาพกันไม่ได้ ความเพียรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะ ทำกันในปัจจุบันขณะล้วนๆ โดยไม่ต้องอาศัยความเชื่อใดๆ และไม่จำเป็นต้องคาดหวังอะไรกับจิตให้มันเป็นอะไรที่นอกเหนือไปจากธรรมชาติดั้งเดิมที่มันเป็นอยู่แล้ว

ตั้งแต่บัดนั้น ทุกครั้งที่อินทปัญโญนั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนาด้วยความตื่นรู้และด้วยความปลอดโปร่งสบาย เขาสามารถรู้ว่า มีลมออก มีลมเข้าอย่างเป็นสุขทั่ว อีกทั้งสามารถแลเห็นลักษณะของจิตกับลักษณะของกาย โดยความเป็นต่างหากจากกัน ตระหนักรู้ชัดว่าอิริยาบถไม่ใช่ตัวตน จิตที่รวมตัวเป็นอย่างดีแล้วย่อมเป็นแค่ภาวะ ผู้ดู ความไม่ใช่ตัวตนของอิริยาบถนั่งของตน บังเกิดความฉ่ำชื่นในรสวิเวกอันซาบซ่านไปทั่วร่าง ตระหนักรู้ในความว่างอันไร้รูป ไร้นาม ไร้นิมิตที่เข้าถึงได้จากทุกทิศ และถูกรู้ได้จากทุกแห่งในจักรวาฬ ความเป็นเช่นนั้นของมหาสุญญตา ย่อมปรากฏแก่ผู้เจริญสติปัฏฐาน 4 ของพระพุทธองค์จนสมควรจะได้เห็น รสแห่งความว่างเป็นรสอันเหนือรส และเป็นรสอันวิเศษหวานชื่นกว่ารสใดๆ แม้แต่รสแห่งความหวานชื่นในฌาน ซึ่งก็ยังไม่เที่ยง ไม่อาจเป็นไปได้ดังใจ อินทปัญโญเห็นความว่างโดยความเป็นจริงแท้หนึ่งเดียว ปรากฏการณ์อื่น นอกจากนั้น ล้วนเป็นเพียงมายาลวงใจ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ไม่มีอะไรน่าอัศจรรย์ใจอีก ต่อไปกว่าสิ่งที่ปรากฏเปิดเผยอยู่แล้วต่อตัวเขา ที่ผ่านมาเขาโง่เขลาไปเอง และไม่เฉลียวใจเอง สำหรับตัวเขาแล้ว มันไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างกันมากนักกับการที่ตัวเขาได้เห็นนิพพานหรือมหาสุญญตา เพราะว่านี่เป็นสิ่งที่ตัวเขาสมควรจะได้รับมันเพราะตัวเขาได้ทำเหตุปัจจัยไว้พอดีกับผลอยู่แล้วตลอดทั้งชีวิตที่ผ่านมาของเขา

สิ่งที่เปลี่ยนชะตาของเด็กหนุ่มบ้านนอกคนหนึ่งให้กลายเป็น อริยบุคคล ได้ ไม่ใช่โชคช่วย แต่เพราะ ตัวเขากล้าเริ่มต้นที่จะคิด พูด และทำตามอย่างบุคคลชั้นเลิศ เช่น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นมหาบุรุษ ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง ผู้ชี้ทางสว่างอย่างไม่มีใครเสมอเหมือนได้นั่นเอง คนเราเมื่อเลื่อมใสผู้ใด ก็ย่อมยอมรับ และซึมซับแนวคิดในการดำเนินชีวิตของผู้นั้นมามากเสมอ อินทปัญโญกลายมาเป็นอริยบุคคลผู้สืบทอด ผู้เป็นภาพแทน และผู้ชักจูงให้ผู้คนหันมาเจริญรอยตามพระพุทธองค์ด้วยจิตใจที่ภักดีเท่าชีวิต

ขาคือผู้เผยแพร่ผลักดันคำสอนพุทธศาสนาสำหรับ "บุคคลผู้จะไป" คำว่า "ไป" ในที่นี้มีความหมายเฉพาะพิเศษ คือหมายถึง การไปเสียจากวัฏสงสาร หรือไปเสียจากความมีความเป็น อย่างนั้นอย่างนี้ทุกชนิด ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ทั้งชนิดหยาบ และชนิดละเอียดที่สุด

แต่ การไป ยังจำแนกได้เป็น การไปช้า กับ การไปเร็ว การไปช้า มีความหมายอยู่เป็น 2 ประเภทคือ (1) ไปช้า เพราะไม่มีสมรรถภาพที่จะไปให้เร็ว กับ (2) ไปช้าเพราะอยากจะไปให้ดีที่สุด หรือเพื่อช่วยพาคนอื่นไปด้วยให้มากๆ

หากผู้ใดตัดสินใจที่จะไปและคิดที่จะ ไปช้า ก็ขอให้เลือกการไปช้าเพื่อไปให้ดีที่สุด และเพื่อช่วยพาคนอื่นไปด้วยให้มากๆ เถิด

การไปเร็ว ก็มีความหมายเป็น 2 ประเภทเช่นเดียวกัน คือ

(1) ไปเร็วชนิดตัดช่องน้อยแต่พอตัว กับ (2) ไปเร็วอย่างรุ่งเรือง และอย่างเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วยไม่น้อย

หากผู้ใดตัดสินใจที่จะ ไปเร็ว ก็ขอให้เลือกการไปเร็วอย่างรุ่งเรือง และอย่างเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วยเถิด...นี่คือคำภาวนาจากก้นบึ้งแห่งหัวใจของอินทปัญโญ

ครั้นอินทปัญโญทอดสายตาไปทั่วทั้งสังคม เขาก็ได้แต่ถอนหายใจพร้อมกับรำพึงว่า ผู้คนส่วนใหญ่เป็น "ผู้จะยังอยู่" กันทั้งนั้น แม้เข้ามาพึ่งพาพุทธศาสนา ก็ยังพึ่งพาพุทธศาสนาสำหรับ "ผู้จะยังอยู่" เป็นสำคัญ เพื่อหวังความสุขความเจริญอย่างโลกๆ กันทั้งนั้น

กรรมส่วนใหญ่ของ "ผู้จะยังอยู่" จึงเป็นไปเพื่อความเพลิดเพลิน เพื่อรับใช้ราคะและความโลภความหลงกันทั้งชีวิต ไม่ใช่เพื่อการพัฒนาสู่ความเจริญหรือการยกระดับทางจิตวิญญาณกันเลย "ผู้จะยังอยู่" เหล่านี้จึงเกิดแล้วตายไปเฉยๆ แม้รู้ว่าประเทศนี้มีพุทธศาสนา ประเทศนี้มีพุทธธรรม แต่พวกเขากลับเข้าไม่ถึง และไม่เลื่อมใส เพราะพวกเขาถูก "พระปลอม" หลอกซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเสียความรู้สึกเสียความศรัทธา จนไม่มีใจเหลือพอสำหรับ "พระแท้" อีกต่อไปแล้ว

แต่ก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่ง แม้ยังเป็นจำนวนน้อยอยู่ ที่พร้อมจะเป็น "ผู้จะไป" เหมือนอย่างอินทปัญโญ ผู้แลเห็นแล้วว่า ทางพ้นทุกข์ปรากฏขึ้นแล้ว ทางรอดได้ถูกชี้ให้เห็นแล้วอีกครั้ง โดยทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นด้วย..."ผู้จะไป" เหล่านี้คือผู้ที่จะมาร่วมกัน จุดเทียนแห่งธรรม ให้สว่างจ้าเรืองโรจน์อีกครั้ง เพื่อขับไล่ความมืดมิด และอวิชชาให้หมดไปจากสังคมนี้




 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้