19. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 19 ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม 5/9/49

19. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 19 ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม 5/9/49

พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 19)

 

19. ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม

"ท่านทั้งหลายไม่เข้าถึงพุทธธรรม ก็เพราะว่า พระพุทธเจ้าตามทัศนะของท่าน ขวางหน้าท่านอยู่"

พุทธทาสภิกขุ

อินทปัญโญได้ บันลือสีหนาท อีกครั้ง เมื่อเขาแสดงปาฐกถาเรื่อง "ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม" ณ พุทธสมาคม กรุงเทพฯ ในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948) ซึ่งมีเนื้อหาที่ "แรง" ที่สุดกว่าครั้งใดๆ เพราะครั้งนี้เขาได้นำเสนอถึง สิ่งซึ่งกีดขวาง หรือเป็นกำแพงมหึมาอยู่ข้างหน้าซึ่งทำให้คนเราเข้าถึงไม่ได้ ทั้งๆ ที่ผู้นั้นก็มีความภักดีต่อพุทธธรรมอย่างเต็มที่อยู่เสมอ อินทปัญโญสามารถนำเสนอเรื่องนี้ได้อย่างเข้าถึง และอย่างมีพลังมาก เพราะตัวเขาเองก็เพิ่ง ก้าวข้าม ภูเขามหึมาที่เคยขวางตัวเขามาได้เมื่อปีที่แล้วนี่เอง เขาจึงอยากถ่ายทอดสิ่งที่เป็น ประสบการณ์ทางวิญญาณ และ บทเรียนทางวิญญาณ ในการแสวงธรรมของตัวเขาให้แก่คนอื่นโดยเฉพาะคนรุ่นหลัง เพื่อที่พวกเขาจะสามารถก้าวข้ามสิ่งซึ่งกีดขวางไม่ให้เข้าถึงพุทธธรรมได้เหมือนอย่างเขา

อินทปัญโญบอกว่า ถ้าหากมีการตั้งปัญหาถามขึ้นมาว่า อะไรเป็นเครื่องปิดบังพระนิพพานอันเป็นตัวพุทธธรรมที่ผู้แสวงธรรมประสงค์จะเข้าถึง? เขาจะตอบอย่างฟันธงอย่างไม่ลังเลใจเลยว่า "พระพุทธเจ้า" นั่นเองที่กลับกลายมาเป็นภูเขามหึมาบังพระนิพพาน โดยเฉพาะ พระพุทธเจ้าตามทัศนะของแต่ละคน นี่แหละที่ขวางหน้าคนผู้นั้นไม่ให้เข้าถึงพุทธธรรม

เพราะคนเราเข้าใจเข้าถึง ความจริง ได้แค่ไหน ก็มีความเข้าใจเข้าถึง "พระพุทธเจ้าของเขา" ได้แค่นั้น ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ถูกขนานนามว่า พระพุทธเจ้า รวมทั้งการนิยามว่าอะไรเป็นพระพุทธเจ้า จึงมีอยู่ในลักษณะและขนาดมาตรฐานต่างๆ กัน แล้วแต่ ความยึดถือ ของแต่ละคนเป็นชั้นๆ ไป

คนที่เข้าถึงพระพุทธเจ้า แต่ในทางวัตถุโดยไม่สูงถึงทางจิตย่อมเข้าใจได้แต่เพียงว่า พระพุทธเจ้าคือเลือดเนื้อกลุ่มหนึ่งที่เดินท่องเที่ยวสั่งสอนประชาชนในประเทศอินเดีย เมื่อสองพันกว่าปีก่อน ทั้งๆ ที่พระพุทธองค์ทรงเคยปฏิเสธว่า เลือดเนื้อกลุ่มนั้น ยังไม่ใช่ตถาคต คนที่ไม่เห็นธรรมะของตถาคต คือคนที่ไม่เห็นตถาคต แม้ผู้นั้นจะคอยจับจีวรของพระองค์ดึงเอาไว้ ไปทางไหนไปด้วยกันทั้งกลางวันกลางคืน แต่ถ้าไม่เห็นธรรมะแล้ว ไม่ชื่อว่าเห็นตถาคตเลย

แม้คนที่มุ่งเข้าถึงพระพุทธเจ้าในทางจิต หากหลงไปยึดว่า พระพุทธเจ้าเป็น อัตตาที่บริสุทธิ์ ไม่เกิดไม่ตาย มีอยู่ในทุกแห่ง พร้อมที่จะปรากฏทุกเมื่อในสมาธิ อินทปัญโญก็ยังบอกว่า วิถีแห่งพุทธธรรมของผู้นั้นจะถึงทางตันและสิ้นสุดลงเพียงนั้น เพราะเป็นการหลงไปยึดถือเอาตามความรู้ ตามการศึกษาและศรัทธาของตนเองอันคับแคบอยู่

แม้แต่ความรักในองค์พระพุทธเจ้าของบุคคลบางคนที่เป็นอริยบุคคลขั้นต่ำยังไม่ถึงพระอรหันต์ เช่น พระอานนท์ ในสมัยที่พระศาสดายังทรงพระชนม์อยู่ ทั้งๆที่พระอานนท์รู้จัก ลู่ทางแห่งพุทธธรรมอย่างถูกต้อง วิถีแห่งพุทธธรรมของท่านก็ยังไม่วายถูกสกัดได้ด้วยภูเขาหรือองค์พระพุทธเจ้าที่ท่านยึดถือไว้ด้วยความรักของท่านเอง

อินทปัญโญจึงบอกว่า ไม่มีภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรมอะไรอื่น นอกไปจาก ความยึดถือเกี่ยวกับตัวตน และ ไม่มีความยึดถือเกี่ยวกับตัวตนอะไรอื่น ยิ่งไปกว่า ความยึดถือในสิ่งที่ตนถือเอาเป็นที่พึ่งของตน เพราะฉะนั้น นอกไปจาก "พระพุทธเจ้า" ตามทัศนะของเขาแล้ว แม้ "พระธรรม" ของเขา ก็ยังอาจเป็นภูเขาขวางวิถีแห่งพุทธธรรมของผู้นั้นได้ เพราะอาศัยความยึดถือทำนองเดียวกัน ยิ่งไม่ต้องไปพูดถึง "พระสงฆ์ที่เป็นอาจารย์หรือคุรุ" ของเขา ซึ่งกลับเป็นภูเขาขวางวิถีแห่งพุทธธรรมของเขาได้ เพราะอาศัยความยึดถือเช่นเดียวกัน

บางคนได้ยึดถือเอาเครื่องมือหรือหนทางที่จะปฏิบัติเพื่อเข้าถึงพุทธธรรมมาเป็นตัวพุทธธรรมเสียเอง

บางคนก็ถือเอาเล่มหนังสือหรือพระคัมภีร์เป็นตัวพระธรรมเสียเลยก็มี

บางคนกลับต้องการให้พระนิพพานหรือพุทธธรรมเป็นบ้านเมือง เป็นโลกอันแสนสุข สำหรับตนจะไปจุติไปเกิดที่นั่น แล้วก็ตั้งบำเพ็ญสมาธิเพื่อความเป็นอย่างนั้น ด้วยอำนาจความยึดถือในด้านวัตถุอันแรงกล้า

บางคนยึดถือในศีลของตนจนดูหมิ่นผู้อื่น ก่อการแตกร้าวทะเลาะวิวาทกันด้วยเรื่องศีล เพราะความยึดมั่นถือมั่นในศีลด้วยความสำคัญผิด ยึดมั่นทุกตัวอักษรอย่างงมงาย

ศีล จึงอาจกลายเป็นภูเขาขึ้นมาขวางวิถีแห่งพุทธธรรมก็ได้ เมื่อมีผู้ยึดถือว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ ซึ่งมันก็เป็นแค่ความจริงของบุคคลผู้นั้น ซึ่งไม่สามารถจะเห็นเป็นอื่นไปได้ ผลก็คือ ความเนิ่นช้ากว่าจะปีนป่ายภูเขาลูกนี้ข้ามพ้นไปได้

สมาธิ
ก็อาจกลายเป็นภูเขาสกัดทางตัวเองในการเข้าถึงพุทธธรรมของผู้ปฏิบัติ หากเป็นที่ตั้งของความยึดถือโอ่อวด พอใจ หลงใหลในสมาธิของตนตามที่ตนปฏิบัติได้ เพราะความจริงของใคร ก็เป็นความจริงของคนนั้น เท่าที่เขารู้และพอใจยึดถือ จึงยากที่จะยอมเชื่อกันด้วยใจจริง เมื่อยังหลงผิดอยู่ด้วยความยึดถือเช่นนี้ ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรมก็ยังตั้งสูงตระหง่านขวางหน้าอยู่เพียงนั้น

แม้แต่ ปัญญา เอง หากเป็นปัญญาที่ไม่รู้จักตัวเอง ยังมีมูลฐานตั้งอยู่บนความจริงของความเชื่อ ความคาดคะเน ก็ย่อมเกิดเป็นภูเขาขวางวิถีทางแห่งพุทธธรรมขึ้นเหมือนกัน ปัญญาของผู้ใดสิ้นสุดหยุดลงตรงไหน ก็บัญญัติเอาเพียงแต่ตรงนั้นว่าเป็นความจริงด้วยบริสุทธิ์ใจของตนและยึดมั่น จนเกิดเป็นลัทธินิกาย ปรัชญาต่างๆ ต่อให้เฉียบแหลมแค่ไหน ก็ไม่วายที่จะเป็นภูเขากั้นขวางทางอยู่ระหว่างตัวเขากับนิพพานจนได้ ด้วยความยึดถืออีกเช่นกัน

ปัญญาคือแสงสว่างก็จริง แต่คนเราจะรับรู้ได้เท่าที่ปัญญาหรือแสงสว่างของเขาจะอำนวยให้ว่านั่นคือ ความจริง แต่หากผู้นั้นมีปัญญามากขึ้น เขาจะมองต่างไปจากเดิม สิ่งที่เรียกว่าความจริงของเขา ย่อมเปลี่ยนไปตามแสงสว่างหรือปัญญาที่เพิ่มขึ้นของเขา ความแตกต่างจึงขึ้นอยู่กับแสงสว่างหรือปัญญาที่ส่องไปยังวัตถุเรื่องราวนั้น จึงเห็นได้ว่า แสงสว่างนั้นเองที่เป็นผู้บังความจริง ทั้งในด้านจิตและด้านวัตถุ เพราะแสงสว่างชนิดหนึ่งๆ ย่อมให้ความจริงแก่เขาในการเห็นเป็นอย่างหนึ่ง นอกนั้นคือส่วนที่แสงสว่างนั้นบังเอาไว้

อินทปัญโญได้พูดออกมาจาก ประสบการณ์โดยตรง ของเขาเองที่เพิ่งผ่านมาไม่นานว่า ความจริงที่จริงไปกว่านั้น หรือนอกเหนือไปจากนั้น ซึ่งเขายังไม่เห็นในตอนนั้น คือส่วนที่ปัญญาเพียงขนาดนั้นของเขา แม้จะล้ำเลิศเพียงใดได้ "บัง" เอาไว้ ทั้งๆ ที่ในตอนนั้นตัวเขารู้สึกว่า ตัวเขาได้มองดูอย่างทั่วถึงอย่างหมดความสามารถของเขาแล้วอย่างคิดว่า ไม่มีอะไรเหลือซ่อนเร้นอีกแล้ว เพราะเขาเคยรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ เขาจึงยึดถือเอาสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นความจริงอันเด็ดขาด ด้วยความสำคัญผิด ซึ่งมันก็ยังเป็นภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรมของเขาอยู่

ทั้งๆที่มันไม่น่าจะเป็นไปได้ และตัวอินทปัญโญเองก็ถึงกับตะลึง เมื่อตระหนักได้ว่า มันเป็นการ "บัง" ของแสงสว่างเสียเอง เพราะแม้ตัวเขาจะได้พยายามตีความพระพุทธวจนะ หรือขบคิดข้อความที่ยากๆ เรื่องอนัตตาอย่างสุดความสามารถเท่าที่ปัญญาของเขามี ซึ่งอาจแตกต่างไปจากคนอื่นบ้างไม่มากก็น้อย ขณะที่ยังไม่ถึงที่สุด เขาก็ย่อมต้องยึดถือเอาส่วนที่ตัวเขาคิดได้จนแจ่มแจ้งด้วยตนเองว่า นี่เป็นความจริงอันเด็ดขาดของตัวเขา ซึ่งตัวเขาเองเพิ่งมาตระหนักได้ทีหลังว่า

"นี่ก็ยังเป็นความยึดมั่นในความคิด และความเห็นแจ้งของตัวเราเอง และความยึดมั่นอันนี้ คือภูเขาที่ขวางอยู่ในวิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรมของตัวเรา ซึ่งเราเพิ่งทลายมันลงไปได้ด้วย เซน"

จากประสบการณ์แห่ง ซาโตริ ของตัวเขา อินทปัญโญจึงมองได้อย่างทะลุปรุโปร่งว่า อัตตวา ทุปาทาน หรือ ความยึดมั่นว่ามีตัวตน นี่แหละที่เป็นมูลฐานของภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม ทำให้ ความว่างจากตัวตน ถูกปิดบังอย่างมิดชิด เพราะ ตัวเองที่บังตัวเองที่เป็นความว่าง เป็นสิ่งกีดขวางอันเร้นลับที่สุด

เพราะไม่มีการรู้จักตัวเองอย่างถูกต้อง จึงเกิดความต้องการพระพุทธเจ้า และสร้างพระพุทธเจ้าขึ้นมาด้วยตัณหาของตัวเอง ตามทัศนะของตัวเอง หุ้มห่อตนเอง จนเหลียวไปทางไหนก็พบแต่สิ่งนี้ จนกระทั่งเป็นสัญญาความทรงจำอันเหนียวแน่น เหลือที่จะปัดเป่าออกไปได้

เมื่อใดที่สามารถรู้จักตัวเองอย่างถูกต้อง คือรู้จักความว่างจากตัวตน เมื่อนั้นก็ไม่มีพระพุทธเจ้า ไม่มีผู้บังและไม่มีผู้ที่ถูกบัง ไม่มีการแสวงหาเพราะไม่มีผู้ที่มีความอยาก ไม่มีผู้แสวงที่พึ่งและไม่มีผู้ที่จะเป็นที่พึ่ง

เพราะ ผู้นั้นมีความว่างจากตัวตนแล้ว "พระพุทธเจ้า" ของเขา ก็เป็นความว่างจากตัวตนด้วยเช่นกัน ตราบใดที่คนเรายังคลำตัวเองไม่พบว่าเป็นอะไรกันแน่ ตราบนั้นก็ต้องมีการยึดถือ เที่ยววิ่งตะครุบนั่นนี่ไปตามความยึดถือเป็นธรรมดา จึงไม่อาจพบและเข้าถึงพุทธธรรมได้

อินทปัญโญได้ทำลายภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรมของเขาลงไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว!




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้