21. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 21 ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ 19/9/49

21. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 21 ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ 19/9/49

พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 21)
 

21. ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ

"ขึ้นสู่ภูผายอดสุด ก็หยุดความผยองหยิ่ง"

เขมานันทะ

...เดือนมกราคม พ.ศ. 2493 (ค.ศ.1950)

ณ สวนชา อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ยามเช้า
สำหรับอินทปัญโญแล้ว เชียงใหม่ เป็นเมืองที่มีเสน่ห์ยิ่ง โดยเฉพาะภูเขาที่นี่มีเสน่ห์เร้นลับบางอย่างที่ปลุกเร้าวิญญาณภายในตัวของเขาอย่างบอกไม่ถูก หลังจากที่เขาเคยมาเชียงใหม่ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2491 เพราะเขาได้รับคำเชิญจาก เจ้าชื่น สิโรรส ให้มาที่นี่เพื่อมาให้คำแนะนำเกี่ยวกับ การสร้างวัดแบบสวนโมกข์ในภาคเหนือ โดยเจ้าชื่นเป็นตัวตั้งตัวตีที่จะจัดทำ วัดอุโมงค์ให้เป็นอารามตามแบบสวนโมกข์ เรียกว่า สวนพุทธธรรม

พอได้มาที่เชียงใหม่แล้ว อินทปัญโญถึงรู้ว่า ตัวเขานอกจากจะชอบทะเลเป็นชีวิตจิตใจแล้ว ตัวเขายังชอบภูเขาเป็นอย่างยิ่งด้วย ด้วยเหตุนี้เองในปีถัดมา อินทปัญโญ จึงชักชวน พระหนุ่มปัญญานันทะให้ขึ้นไปปักหลักที่นั่น โดยตัวเขาเอง ก็ได้เดินทางขึ้นเชียงใหม่อีกหลายครั้ง หลังจากนั้น นอกจากเขาจะพำนักที่วัดอุโมงค์แล้ว ในครั้งนี้เขาได้รับเชิญจากนายประสิทธิ พุ่มชูศรีให้มาพำนักที่สวนชาของเขาและปฏิบัติธรรมที่นั่น

นกป่าส่งเสียงร้องทักทายรุ่งอรุณออกมาจากแมกไม้ ใยหมอกบางๆอ้อยอิ่งม้วนตัวลอยอยู่เหนือยอดไม้ขึ้นไป ขณะที่อินปัญโญกำลัง เดินจงกรม อยู่ ความเย็นยะเยือกจากภูเขาและละอองน้ำค้างที่พรมไปทั่วมิได้เป็นอุปสรรคต่อ การเดินจงกรม ของอินทปัญโญ แต่อย่างใด กลิ่นหญ้าผนวกไอดินอ่อนๆชุ่มด้วยหยาดน้ำค้างโชยไปทั่วบริเวณ กลุ่มไอน้ำสีขาวลอยทาบอยู่บังภูเขาประปราย ภูเขา ต้นไม้ทุกต้นดูมีชีวิตชีวา เริงรื่นไปกับ การเดินจงกรม ของเขา

การเดินจงกรม คือ การเดินไปมาโดยมีสติกำกับ อันเป็นอิริยาบถซึ่งพระพุทธองค์ทรงให้ความสำคัญเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจาก การนั่ง เจริญสมาธิดังที่พระองค์ เคยตรัสว่า

"ดูกร ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้

ยามกลางวัน ภิกษุย่อม ชำระจิตใจให้สะอาดจากธรรมเครื่องกั้นจิตด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง

ตอนต้นปฐมยามแห่งราตรี ภิกษุย่อม ชำระจิตให้สะอาดจากธรรมเครื่องกั้นจิตด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง

ในมัชฌิมยามแห่งราตรีภิกษุสำเร็จสีหไสยา โดยข้างเบื้องขวาซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ กระทำความหมายในอันจะลุกขึ้นไว้ในใจ

ในปัจฉิมยามแห่งราตรี ภิกษุลุกขึ้นแล้ว ทำจิตให้สะอาดจากธรรมเครื่องกั้นจิตด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง"

จะเห็นได้ว่า การปฏิบัติธรรมตามแบบพระพุทธองค์ คือการทำวันและคืนให้ล่วงไปโดยการเจริญสติอยู่ในขอบเขตของอิริยาบถ เดิน นั่ง ยืนและนอน นี่เอง เพราะอิริยาบถ 4 นี้ เป็นสมบัติติดตัวคนเราตลอด 24 ชั่วโมงไปทุกหนแห่ง

การเดินจงกรม คือ การเดินที่รู้ชัดว่าตัวเองเดิน โดยเอาสติที่รู้ชัดจากการตามลมหายใจมาต่อยอดในอิริยาบถเดิน โดย "รู้ชัดว่าเดิน" นั่นเองจุดมุ่งหมายของการเดินจงกรมนั้นก็ไม่ต่างจากงานสมถะและวิปัสสนาในการนั่ง เจริญสมาธิ คือ ต้องการจิตที่ตื่นตัว แหลมคมและพร้อมที่จะพิจารณาธรรม เพื่อการพ้นทุกข์โดยต่อเนื่อง

จิตที่ตั้งมั่นอยู่ภายในของอินทปัญโญ หลังจากออกจากสมาธิแล้วมาเดินจงกรมต่อในยามเช้า ทำให้เขารู้ชัดทุกขณะที่ฝ่าเท้าของเขากระทบพื้นราวกับว่าเขาเอาฝ่ามือมาเดินเอง ความรู้ชัดว่ากำลังเดินโดยมีเท้ากระทบเป็นศูนย์กลางของตัวรู้นี้ ทำให้ สติของอินทปัญโญมั่นคงไม่ซัดส่าย

เพราะสติไม่คลาดจากขอบเขตของเท้าที่กระทบ จิตจึงไม่อยู่ในอาการฟุ้งซ่าน อินทปัญโญ คงความมีสมาธิจิตทั้งที่ลืมตาเคลื่อนไหวอย่างแทบไม่ต่างจากการหลับตานั่งนิ่งเพราะเป็นการเจริญสติเหมือนกัน ทั้งในขณะนิ่งและขณะเคลื่อนไหว

สติของอินทปัญโญรู้ชัดกระทั่งเห็นว่า อิริยาบถเดินจงกรมทั้งหมดที่เขากำลังเดินอยู่เป็น รูปขันธ์ โดยไม่มีความรู้สึกในตัวตน เขาตามรู้รูปขันธ์ที่อยู่ในอิริยาบถเดินนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเห็นความไม่เที่ยงของมันเห็นความแปรปรวนของมัน ที่พอสุดทางเดินก็ปรากฏลักษณะรูปขันธ์ที่อยู่ในอิริยาบถยืนแทน เขาจึงพิจารณาตามจริงว่า สิ่งนี้เกิดแล้วย่อมถึงคราวดับลงเป็นธรรมดา ไม่น่ายึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเรา

มันเป็นการเดินจงกรมที่ยาวนานมากอีกครั้งหนึ่งของอินทปัญโญ ยิ่งเดินเขาก็ยิ่งเกิดสติอย่างใหญ่ เห็นอาการทางกาย และอาการทางจิตที่เกิดดับในแต่ละครั้งอย่างละเอียด ยิ่งเดินร่างกายของอินทปัญโญก็ยิ่งผ่อนคลาย กลายเป็นความสุขในทุกย่างเหยียบ ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอบังเกิดขึ้นอย่างแสนธรรมดาในทุกก้าวเดินของอินทปัญโญ จนทำให้แต่ละขณะกลายเป็นสุขเวทนาไปหมดอันเกิดจากอิริยาบถนั้น แต่แล้ว แม้แต่สุขเวทนานั้นก็ยังแปรปรวนกลายเป็นความสงบงัน เมื่ออินทปัญโญหยุดยืนที่ริมสระน้ำใหญ่ ซึ่งกำลังสะท้อนภาพของขุนเขาและต้นไม้ลงบนผิวสระน้ำอย่างใสกระจ่าง

อินทปัญโญรำพึงกับตัวเองว่า ภาวะที่เป็นโลกุตตระหรือพ้นโลกเหนือโลกเป็นของเข้าใจได้ยากอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ยังหมกมุ่นอยู่กับโลกียะ ยกเว้นเสียแต่ว่าพวกเขาจะมี ใจที่เลื่อนสูง ขึ้นมาตามลำดับ จริงอยู่ แม้โดยธรรมชาติของมนุษย์จะต้องการความสุข แต่ความสุขที่สูงยิ่งๆ ขึ้นไปจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีความสูงส่งของจิต ตามที่ปัญญาของพวกเขาได้เจริญงอกงามขึ้นแล้วเท่านั้น ไม่อาจเป็นอย่างอื่นไปได้

จากประสบการณ์แห่งการยกระดับจิตของตัวเขาเอง อินทปัญโญเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้งแล้วว่า ที่แท้แล้ว การกลายเป็นอริยบุคคล นั้น ก็คือ การไหลไปเองตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ได้วิวัฒน์ไปในทางที่สูงส่งขึ้นด้วยความระมัดระวังอันดี วิวัฒน์ไปด้วยอาการอันดี คือนึกคิดไปในทางรอบคอบอยู่เสมอ และต้องการสิ่งที่สูงยิ่งๆ ขึ้นไปเสมอ จนกว่าจะไปถึงปลายสุดทางแห่งวิวัฒนาการทางจิตของมนุษย์ได้

การเห็นโลก เห็นที่ดับสนิทของโลก เห็นทุกข์ เห็นที่ดับสนิทของทุกข์ คือ การเห็นสิ่งทั้งปวง

หากกล่าวให้ถึงที่สุด คุณค่าของศีล สมาธิ ปัญญา ก็เป็นเพียงเรือแพที่ใช้อาศัยข้ามทะเลทุกข์เท่านั้น เมื่อขึ้นบกได้แล้วก็ต้องวางลง ความยึดถือในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ต้องมีการเลื่อนไปตามลำดับของวิวัฒนาการทางจิต จนถึงขั้นหมดความยึดถือในที่สุด

ขึ้นสู่ภูผายอดสุด ก็หยุดความผยองหยิ่ง

หลังจากที่พัฒนาจิตของตนเองจนถึงที่สุดแล้ว อินทปัญโญจึงพบว่า นิพพานคือ ว่างอย่างยิ่ง ว่างจนไม่เอาอะไร ไม่เป็นอะไร ไม่เป็นผู้ทำอะไร ไม่เป็นผู้สร้างอะไร ไม่มีความเป็น "ผู้" อะไรหมดทั้งสิ้น มันเป็นความว่างอย่างยิ่ง ทั้งๆ ที่ตัวเขายังมีร่างกายนี้อยู่ เขาจึงยังต้องใช้นามรูปนี้ทำไปตามที่สติปัญญาของเขาเห็นควรว่าควรทำอย่างไร ถึงแม้เขาจะทำอะไร จะเป็นอะไร จะช่วยใคร แต่อินทปัญโญก็มิได้มีความคิดว่า ตัวเขาไปช่วยใคร ตัวเขาไปทำอะไร เขาไม่มีความอยากและไม่อยากใดๆ เขาแค่ดำรงสติอย่างถูกวิธีจนจิตเฉยได้ ว่างได้อยู่เดี๋ยวนั้น แล้วก็ประคองภาวะนั้นไปเรื่อยๆ อย่างเป็นธรรมชาติ

การปฏิบัติที่ทำไปเพื่อให้ว่างเสียจากผู้ทำ ว่างเสียจากผู้ถูกทำ จึงเป็นการปฏิบัติที่สมบูรณ์ การอยู่อย่างว่าง อยู่ด้วยสติในความว่าง ทำความว่าง คือ สุญญตาวิหาร อันเป็นภาวะที่อินทปัญโญดำรงอยู่เป็นนิตย์ การอยู่อย่างสุญญตาวิหาร คือ การรู้ต่อความว่างอยู่ตลอดเวลา ไม่ขาดตอน จิตของอินทปัญโญเป็นอันเดียวกับความว่าง เป็นจิตที่เข้าถึงความว่างแล้ว ก็อยู่ด้วยความว่าง

นามรูปของเขาที่เป็นความว่าง เขาจึงอยู่ด้วยความว่าง และอยู่เป็นความว่าง สติของเขามีอยู่ แต่ตัวตนเขาไม่มี อุปทานเกี่ยวกับตัวตนของเขาก็ไม่มี หลังจากที่ตัวเขารู้แจ้งแล้ว อินทปัญโญก็ดำรงอยู่ในสุญญตาวิหารเรื่อยมาจนกิเลส สังโยชน์ อนุสัยส่วนลึกในตัวเขามันผ่ายผอมลงทุกทีๆ อย่างที่ตัวเขาเองก็รู้ชัด และประจักษ์แก่ใจของตนเอง

แม้จนบัดนี้ อินทปัญโญก็ยังถูกผู้ต่อต้านเขาโจมตีอย่างต่อเนื่อง อันสืบเนื่องมาจากปาฐกถาเรื่อง "ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม"ของเขา ที่ต่อมามีผู้เอาไปพิมพ์เผยแพร่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนนับครั้งไม่ถ้วน และกระจายออกสู่วงกว้าง จนเกิดปฏิกิริยาอย่างรุนแรงยิ่งกว่าเก่าจากพวกผู้อ่านที่ไม่พอใจเป็นอย่างมาก ในข้อความบางตอนในปาฐกถานั้นของอินทปัญโญ ข้อความที่เขียนออกมาโจมตีอินทปัญโญนั้น มีไม่น้อยที่เขียนด้วยสำนวนที่หยาบคาย แต่การโจมตีที่ไม่มี "ผู้รับ" ไม่มี "ผู้โต้กลับ" จึงไม่ต่างไปจากการโจมตี "ความว่าง" ที่ไร้คุณค่าความหมายใดๆ

พระไตรปิฎก กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

"คนพาลผู้กล่าวคำหยาบคาย ย่อมถือว่านั่นคือ ความชนะของตน ส่วน ผู้รู้ ย่อมถือว่า การอดกลั้นได้ นั่นแหละ เป็น ความชนะของตน ผู้ใดโกรธตอบต่อคนที่โกรธมา คนนั้นเลวกว่าคนที่โกรธทีแรก
ผู้ใดไม่โกรธตอบคนที่โกรธมา ผู้นั้นชื่อว่า ชนะสงครามที่ชนะได้แสนยาก"

เพราะเขาขึ้นสู่ภูผายอดสุดได้แล้ว เขาจึงไม่มีความถือดีใดๆ หลงเหลืออยู่ เขาย่อมสามารถอดกลั้นต่อคำเสียดสี เยาะเย้ย ถากถาง ด่าว่าได้ด้วยจิตที่ว่างอย่างยิ่ง ความว่างแห่งจิต คือ ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอโดยแท้จริง




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้