พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 27)
27. โลกอาจรอดได้ แม้เพราะกตัญญู
"คนทุกคนในโลก มีชีวิตอยู่ได้ และมีความสะดวกสบายอยู่ได้ เพราะอาศัยความรู้สติปัญญา ความสามารถของผู้อื่น อันมีจำนวนมากจนนับไม่ไหว"
พุทธทาสภิกขุ
...ต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2497 (ค.ศ. 1954)...สวนโมกข์
เช้าตรู่วันนั้น อินทปัญโญออกไปเดินจงกรมที่สนามหญ้าหลังกุฏิของเขา เขาเดินวนเวียนอยู่ในสนามหญ้านั่น เพื่อขบคิดข้อธรรมบางประเด็นซึ่งตัวเขาใช้เวลาคิดต่อเนื่องมานานวันแล้ว ผู้คนชอบพูดเสมอว่า ตัวเขามีความฉลาดปราดเปรื่องเหนือคนอื่นหรือมากกว่าใคร แต่ถ้ามองจากตัวอินทปัญโญเองแล้ว เขามิได้เคยคิดว่าตัวเองฉลาดกว่าคนอื่นหรือมากกว่าใครเลย เพียงแต่ตัวเขามีเวลาฝึกคิดมากกว่าคนอื่นเท่านั้น และตัวเขาใช้เวลาและพลังงานส่วนใหญ่ในชีวิตของเขาทุ่มเทให้กับการคิดมากกว่าคนอื่นเท่านั้น
บริเวณริมสนามหญ้าที่อินทปัญโญกำลังเดินจงกรมอยู่ มีต้นมะพร้าวขึ้นอยู่หลายต้น ชาวบ้านคนหนึ่งพาลิงตัวหนึ่งมาเก็บมะพร้าว โดยขออนุญาตจากอินทปัญโญ เขาตอบอนุญาตและยืนดู ลิงตัวนั้นขึ้นมะพร้าวด้วยความสนใจ เพราะโดยปกติเขาก็เป็นคนรักสัตว์อยู่แล้ว
ชาวบ้านคนนั้นถือเชือกล่ามคอลิงไว้ แล้วค่อยผ่อนเชือกตาม เมื่อลิงขึ้นมะพร้าว ลิงก็ไต่สูงขึ้นไปจนถึงคอมะพร้าวที่มีลูกมะพร้าว ลิงตัวนี้ถูกฝึกมาเป็นอย่างดีแล้ว ชาวบ้านคนนั้นจึงแค่นอนเอกเขนกไกลโคนต้นออกมา แล้วคอยส่งเสียงสั่งการ เจ้าลิงแสนรู้ตัวนั้นก็จะปลิดมะพร้าวโดยเลือกลูกแก่ๆ ที่เปลือกแห้ง แล้วบิดหมุนทั้งมือทั้งตีนจนมะพร้าวลูกนั้นร่วงหล่นลงมา
ทำอย่างนี้ไปทีละต้น สุดท้ายเจ้าลิงตัวนั้นก็ปลิดมะพร้าวอ่อนลงมาด้วย ซึ่งชาวบ้านคนนั้นจะผ่าเฉาะดื่มน้ำมะพร้าว แล้วส่งให้เจ้าลิงกินด้วยแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน
บางต้นเมื่อเจ้าลิงเริ่มขี้เกียจ หรือหลงลืมปลิดมะพร้าวแก่ไม่หมดแล้วไต่ลงมา ชาวบ้านคนนั้นก็จะไล่ให้มันขึ้นไปใหม่ โดยกระตุกเชือกแรงๆ พอลิงขึ้นไปแล้ว ก็งัดเอาหนังสติ๊กออกมาง้างสะบัดหนังยางเปล่าๆ โดยไม่มีลูกกระสุน แค่นี้ก็ทำให้เจ้าลิงลนลานรีบทำงานต่อไปได้แล้ว จึงเห็นได้ว่า หนังสติ๊กเป็นอาวุธที่ชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของลิงใช้กำราบลิงเวลามันอยู่บนยอดมะพร้าว
อินทปัญโญชมดูแล้วก็ได้แง่คิดทางธรรมว่า เจ้าลิงตัวนั้นก็เหมือนกับจิตคนนี่เอง มันจะคอยวอกแวกอยู่เสมอ คิดโน่นคิดนี่อยู่ตลอดเวลาไม่เคยอยู่นิ่ง ยิ่งจิตที่ไม่เคยฝึกให้สงบก็คงเหมือนกับลิงที่โลดคะนองไปตามฤทธิ์ตามแรงของมัน
จิตที่หมั่นฝึกมาดีแล้ว ก็เหมือนลิงขึ้นมะพร้าว คือนำจิตที่บังคับได้มาใช้ในการทำงานให้เกิดประโยชน์ สายเชือกที่ล่ามลิงก็คือ สติ ที่คอยกำกับคอยรั้งให้คอยรำลึกได้อยู่เสมอ ส่วนเจ้าของลิงก็คือ ตัวปัญญา ที่จะเป็นผู้คอยกำหนดเป้าหมายและทิศทางในการทำงานของจิต โดยหนังสติ๊กคือ สัมปชัญญะ ที่ใช้ควบคู่อยู่กับสายเชือกล่ามคือ สติ
หลังจากเสร็จจากการเดินจงกรมที่สนามหญ้าแล้ว อินทปัญโญกลับมานั่งที่ม้าหินหน้ากุฏิของเขา สุนัขที่เขาเลี้ยงไว้ ซึ่งตามปกติมันจะนอนอยู่ใต้ม้าหิน ลุกขึ้นและเดินไปต้อนรับเขา พร้อมกับเข้ามาเลียแข้งเลียขาประจบเขา ขณะที่ไก่แจ้ที่อินทปัญโญก็เลี้ยงไว้ ก็ขึ้นไปอยู่บนบ่าเขา ตอนที่เขานั่งบนม้าหินแล้ว มันขันเกรียวอยู่ข้างหูเขา แต่อินทปัญโญก็นั่งนิ่งเฉยไม่ว่าอะไร สายตาที่อินทปัญโญมองสัตว์เหล่านี้เปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณา
สักพักอินทปัญโญก็ลุกขึ้นเดินไปที่บ่อปลาที่อยู่ข้างกุฏิของเขา เขาเป็นคนที่ชอบเลี้ยงปลามาตั้งแต่สมัยเด็กแล้ว และสามารถนั่งดูปลาได้ทั้งวันด้วยจิตที่เป็นสมาธิ สัตว์เลี้ยงต่างๆ ที่เขาเลี้ยงไว้นั้น อินทปัญโญถือว่าเขาเลี้ยงไว้เป็นครู เพราะตัวเขาเป็นคนช่างสังเกต และสามารถเรียนรู้อะไรต่ออะไรได้มากมายจากการนั่งดูสัตว์ต่างๆ เหล่านี้
บ่ายวันนั้น อินทปัญโญเดินเลาะเลี้ยวเข้าไปในป่าถึงทางที่ธารน้ำไหลผ่าน น้ำใสสะอาดจนมองเห็นทรายพูนเป็นสันสีน้ำตาลแกมทองอยู่ใต้น้ำ เงาในน้ำสะท้อนภาพภิกษุวัยกลางคนรูปหนึ่งที่เริ่มมีผมสีดอกเลาประปรายอยู่เต็มศีรษะ สวมแว่นตากรอบดำ ห่มจีวรสีกรักคร่ำ จุดที่เด่นที่สุดคือ ดวงตาที่มีแววประกายเฉลียวฉลาดกว่าบุคคลทั่วไปของเขา นอกจากนั้น เขาก็ดูไม่ต่างจากพระทั่วๆ ไปแต่อย่างใด
หลังจากที่อินทปัญโญจับจิตอยู่กับสายน้ำจนเป็นอารมณ์สมาธิได้ครู่ใหญ่ เขาก็ผละจากลำธารที่มีสายน้ำใสหลั่งรินมาไม่ขาดสาย เดินลึกเข้าไปจากทางเดินไปยังกุฏิหลังหนึ่ง กุฏิเรือนน้อยหลังนี้โดดเดี่ยวอยู่บนลานดินแข็งเรียบ สีน้ำตาลเตียนรื่น บริเวณลาดดินข้างกระไดครึ้มเขียวด้วยตะไคร่แผ่กว้างออกไปตามแนวหินที่ตัวเขาเอามาวางเรียงล้อม ก้อนเล็กก้อนน้อยหลากสี เป็น "สวนหินแบบเซน" ที่อินทปัญโญรังสรรค์มันขึ้นมา
สวนหิน นี้คือ จักรวาลน้อยๆ แห่งความงามในโลกของอินทปัญโญ มันเป็นจักรวาลเล็กๆ ที่งดงามอย่างมีตำหนิ และเป็นความงามที่เปราะบาง แต่ก็เป็นความงามที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพในธรรมชาติ และเชิดชูในความเป็นธรรมชาติ
ภายในสวนหินนี้มีหินขาวก้อนใหญ่วางอยู่สีขาว สีเขียว และสีน้ำตาล จึงตัดกันให้ความรู้สึกที่ชัดเจนบางอย่าง พื้นดินลดลาดลงไปอีกชั้นเป็นพื้นเตียนเด่น มีตอไม้และหินตั้งไว้นั่งเล่น อินทปัญโญนั่งลงบนตอไม้ กาย ใจ และปราณของเขารวมเป็นหนึ่งเดียว และหลอมรวมแนบแน่นจนเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่แห่งนี้
ใต้ต้นไม้ต่างๆ รอบสถานที่แห่งนี้ซึ่งบัดนี้กลายเป็นจักรวาลน้อยๆ แห่งความงามตามธรรมชาติของอินทปัญโญ เขาได้ยินเสียงลมพัดผ่านอย่างชัดเจน กิ่งใบของต้นไม้แต่ละต้น พร้อมใจกันผันลู่พรูพร่างเหมือนกับกำลังทักทายอินทปัญโญ
ผีเสื้อป่าปีกกว้างบินฉวัดเฉวียนอยู่รายรอบอินทปัญโญราวกับกำลังระบำรำฟ้อนให้ ภิกษุผู้ยิ่งใหญ่ รูปนี้ชมดู ก่อนที่จะบินไปเกาะสงบอยู่ใต้ร่มไม้ ขณะที่มดดำบนพื้นจำนวนมากมายเข้าแถวยาวเหยียดราวกับกำลังเดินพาเหรดสวนสนามให้ความเคารพอย่างสูงแก่ มหาโพธิสัตว์รูปนี้ ที่กลับลงมาเกิดเพื่อเผยแผ่ พุทธธรรมที่แท้ ให้แก่แผ่นดินสยามในฐานะที่ตัวเขาเป็นพุทธทาส
ยิ่งเพ่ง อินทปัญโญก็ยิ่งรู้สึกราวกับว่า ตัวเขาสามารถสนทนากับสรรพชีวิตรอบข้างได้รู้เรื่อง เพราะจริงๆ แล้ว เขาก็กำลังคุยกับผีเสื้อ คุยกับมดดำ และคุยกับยอดไม้ที่กำลังหยอกล้ออยู่กับลมระเริงด้วยจิตที่เบิกบาน ปราโมทย์ และเปี่ยมไปด้วยเมตตากรุณา
"เจ้าสัตว์เล็กๆ เอ๋ย...เจ้าก็คงมีความรู้สึกรู้สม มีความทุกข์ร้อน และต้องหวาดระแวงภัยอยู่ตามประสาของเจ้าเช่นกันกับมนุษย์สินะ..."
"เจ้ามีน้ำตาไหม หรือว่ามีแต่เสียงร้องครวญครางเท่านั้น เสียงร้องและน้ำตาที่พวกมนุษย์ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน..."
"เจ้าจงรู้ไว้ด้วยเถิดว่า ที่นี่ปลอดภัย ที่นี่ไม่มีใครเบียดเบียนเจ้า เราสร้างสวนโมกข์ที่นี่ ไม่ใช่เพื่อพวกมนุษย์เท่านั้น เราสร้างที่นี่เพื่อพวกเจ้าด้วย จะได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติและมีไมตรีจิต"
แม้แต่ความร่วงโรยของใบไม้ที่ร่วงหล่นบนพื้นก็กลายเป็นความงามอย่างโศกซึ้งในสายตาของอินทปัญโญ นี่คือความเป็นจริงแห่งชีวิตที่เรียบง่าย ชีวิตที่รุ่มรวยทางจิตวิญญาณแม้จะอยู่อย่างสมถะโดยสมัครใจ เพียงแค่เอาชนะความหรูหราอลังการที่จอมปลอม และฉาบฉวยด้วยความเรียบง่ายอย่างติดดิน และไม่สมบูรณ์แบบ แต่มีจิตใจที่จดจ่อเป็นสมาธิกับสิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่เป็นอยู่และปรากฏอยู่จริง เพื่อเปิดโอกาสให้ตนเองสามารถเข้าถึงธรรมชาติอย่างบูรณาการในขั้นสูงสุดของการดำรงอยู่ จนกระทั่งตระหนักรู้ใน ธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ได้อย่างเป็นไปเองโดยธรรมชาติ
ผู้ที่จะเข้าถึงธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ได้ ผู้นั้นจะต้องสามารถชะลอความเร็วในการรีบเร่งใช้ชีวิตลงได้เสียก่อน สามารถมีความใจเย็น มีความอดทนและใส่ใจพอที่จะมองอย่างใกล้ชิด ฝึกฝนศิลปะต่างๆ อันสุขุมประณีตได้เท่านั้น ผู้นั้นจะต้องซาบซึ้งและแลเห็นคุณค่าในความไม่จีรังของชีวิต เขาจึงสามารถเหยียบย่างบนโลกใบนี้อย่างแผ่วเบาอย่างอ่อนโยน และรู้ถึงวิธีที่จะซาบซึ้งในคุณค่าไม่ว่ากับสิ่งใดก็ตามที่เข้ามาเผชิญหน้ากับตัวเขา แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยสักเพียงไรก็ตาม
เมื่อใดก็ตามที่คนเราสามารถหยุดความหมกมุ่นที่ตนเองมีต่อความสำเร็จทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นความมั่งคั่ง สถานะทางสังคม อำนาจและความฟุ้งเฟ้อได้ ผู้นั้นก็ย่อมสามารถหันมาเบิกบานกับชีวิตได้เลยในทันที ณ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ โดยไม่ถูกฉุดรั้งด้วยความยึดติดใดๆ
วันรุ่งขึ้น อินทปัญโญได้เขียนบทความออกมาชิ้นหนึ่งชื่อ "โลกอาจรอดได้ แม้เพราะกตัญญูกตเวที" ซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องจากปัญญาชนรุ่นหลังๆ ว่า เป็นบทความที่เด่นบทหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึงโลกทัศน์แบบพุทธที่มีลักษณะนิเวศวิทยาอยู่ในตัว