34. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 34 จิตยิ้มแย้มของพุทธะ 19/12/2549

34. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 34 จิตยิ้มแย้มของพุทธะ 19/12/2549

พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 34)


34. จิตยิ้มแย้มของพุทธะ

ณ เมืองฤาษีเกศ...

อินทปัญโญ มาถึงเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ชื่อ ฤาษีเกศ ตรงเชิงเขาหิมาลัยในเขตรัฐอุตตรประเทศทางตอนเหนือของอินเดีย ในช่วงเช้าวันหนึ่งของกลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2498 (ค.ศ. 1955)

หลังจากที่เขาออกจากเมืองกุสินาราแล้ว อินทปัญโญก็ได้เดินทางไปเยือนลุมพินี ซึ่งเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า จากนั้นเขาได้เดินทางไปเมืองสาวัตถี แวะพำนักอยู่ที่นั่นพักหนึ่ง ก่อนมุ่งหน้าขึ้นเหนือไปยังเมืองฤาษีเกศแห่งนี้ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของผู้ฝึกฝนจิตตามแนวโยคะทุกรูปแบบของอินเดีย เดิมทีอินทปัญโญก็มีความสนใจในวิชาโยคะของพวกโยคีมาตั้งนานแล้ว คราครั้งนี้ เขาจึงต้องการมาเห็นด้วยสายตาของตนเองว่า พวกโยคีเหล่านี้ฝึกฝนกันอย่างไร และมีดีอะไรบ้าง ลึกๆ แล้วอินทปัญโญก็บอกตนเองไม่ถูกเหมือนกันว่า ทำไมตัวเขาถึงตัดสินใจกะทันหันที่จะมาที่เมืองฤาษีเกศนี้ แทนที่จะลงใต้ไปที่ อชันตา ตามกำหนดการเดิม เขารู้แต่เพียงว่า มีเสียงร้องเรียกจากภายในให้เขามาที่นี่

เนื่องจากเมืองฤาษีเกศเป็นศูนย์กลางในการบาทยาตราแสวงบุญไปสถานที่สำคัญทางศาสนาในแถบเทือกเขาหิมาลัยที่อยู่เหนือขึ้นไป จึงทำให้เมืองฤาษีเกศแห่งนี้เป็นเมืองฤาษีเต็มไปด้วยฤาษีนักบวชสาธุ มุนี และโยคีผู้ฝึกโยคะมากมาย บางส่วนแต่งกายนุ่งห่มจีวรสะอาดตา โกนหนวดเคราศีรษะเกลี้ยงเกลาประจำอยู่ตามวิหารอาราม บางส่วนสวมชุดเก่าซอมซ่อ บางส่วนถึงกับเปลือยกายคลุกขี้เถ้าตามตัว ปล่อยผมเผ้าหนวดเครารุงรัง บางส่วนปลีกเร้นหาสันโดษอยู่ตามโขดหินหรือหาดทรายริมฝั่งแม่น้ำคงคา บางส่วนไปบำเพ็ญทางจิตตามป่าบนเขาเหมือนสมัยพุทธกาล

บางส่วนใช้ชีวิตเร่ร่อนธุดงค์ไปเรื่อยๆ ตามเส้นทางแสวงบุญ ยังชีพด้วยการขอทาน แม้ว่ารูปลักษณ์ของฤาษี นักบวช สาธุ มุนี และโยคีเหล่านี้จะต่างกันก็จริง แต่ทั้งหมดล้วนมีสิ่งหนึ่งที่มีร่วมกันคือ พวกเขาทั้งหมดล้วนอุทิศชีวิต และวันเวลาทั้งหมดของพวกเขาให้กับ "สิ่งสูงสุด" ตามความเชื่อของพวกเขา ด้วยแนวทางปฏิบัติที่พวกเขายึดถือ

ขอบฟ้าสีทองยามเช้ายังคงอาบส่องอยู่หลังเนินเขา แม่น้ำคงคาสายใหญ่ไหลเอื่อยๆ ผ่านเมืองฤาษีเกศราวกับไม่มีวันสิ้นสุด ฤาษีจำนวนหนึ่งที่หนวดเครารุงรัง ผมเผ้ายาวคลุมบ่า พากันนั่งกระจัดกระจายอยู่ตามริมฝั่งน้ำกำลังเจริญสมาธิภาวนาตามแบบของพวกเขาอย่างสงบ แม้ผู้คนแวดล้อมโดยรอบเริ่มจะพลุกพล่าน เพราะกำลังประกอบกิจในชีวิตประจำวันของพวกตนกันบ้างแล้ว แต่พวกฤาษีเหล่านี้ก็นั่งนิ่งอยู่ในสมาธิราวกับเป็นก้อนหินก้อนหนึ่ง พวกเขาทำตัวเสมือนกำลังอยู่ในโลกใบนี้ เพียงลำพังในอาณาเขตของโลกแห่งจิตวิญญาณ ส่วนตัวของพวกเขาที่ยากจะมีผู้ใดล่วงล้ำย่างกรายเข้าไปถึง

อินทปัญโญเดินทอดน่องช้าๆ ผ่านฤาษีเหล่านั้น ด้วยจิตคารวะยกย่องเพราะ แม้จะต่างแนวทางกันในการฝึกตน แต่ทั้งหมดก็ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ฝึกจิตเป็นวิถีชีวิตเหมือนกัน อยู่ในกระแสแห่งอิทัปปัจจยตาเหมือนกัน และถูกบังคับด้วยอำนาจแห่งกฎของอิทัปปัจจยตาให้ออกมาแสวงธรรม และปฏิบัติธรรมเหมือนกันหมดทั้งสิ้น

อินทปัญโญหยุดอยู่ที่วิหารโบราณแห่งหนึ่งที่ร้างผู้คน มีแค่โยคีชราผมขาวโพลนผู้หนึ่งซึ่งกำลังนั่งสมาธิหันหน้าเข้าหากำแพงที่มีร่องรอยผุพังอยู่ในฌานสมาบัติที่สูงยิ่ง จนไม่ได้ยินอะไร ไม่ได้เห็นอะไร กำหนดจิตอยู่ที่อารมณ์คือ ลมหายใจอย่างเดียวเท่านั้น ด้วยวิธี "ปราณายาม" ของวิชาโยคะ อินทปัญโญยืนอยู่เบื้องหลังโยคีชราผมขาวโพลนผู้นี้ เขากำหนดจิตเข้าสู่ฌานในท่ายืนตามไปด้วย เขารู้ด้วยใจว่า วิชาโยคะที่โยคีชราผมขาวโพลนผู้นี้กำลังฝึกอยู่คือ กุณฑาลินีโยคะ ที่ฝึกปราณ (พลังชีวิต) จากการกำหนดลมหายใจ จนสามารถบังคับปราณให้ไหลผ่านท่อปราณตามกระดูกสันหลังขึ้นไปบนกะโหลกศีรษะแล้วทะลุออกจากกลางกะโหลกศีรษะได้ โดยผ่านการฝึกแบบนี้ จิตสำนึกของโยคีผู้นั้นจะค่อยๆ ถูกชำระให้บริสุทธิ์ และถูกยกระดับให้ "ตื่นขึ้น" "สูงขึ้น" จนกระทั่งสามารถหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับ จิตเหนือสำนึก ที่เป็น จิตสูงสุด ตามความเชื่อของระบบวิชานั้นๆ ได้

เวลาผ่านไปพักใหญ่ กว่าที่โยคีชราผมขาวโพลนผู้นั้นจะออกจากสมาธิ และหันหน้ามาสบตากับอินทปัญโญ ซึ่งก็ออกจากสมาธิในเวลาที่เกือบจะพร้อมๆ กัน ใบหน้าของอินทปัญโญประดับด้วยรอยยิ้มน้อยๆ จิตของอินทปัญโญยิ้มแย้ม โยคีชราผมขาวโพลนผู้นั้นก็ยิ้มน้อยๆ ออกมาเช่นกัน ทั้งคู่ไม่ได้แลกเปลี่ยน "ภาษาคน" กันเลยก็จริง แต่ "ภาษาใจ" และ "ภาษาธรรม" ของคนทั้งคู่ สื่อสารถึงกันอย่างกึกก้องในความเงียบ

เมื่ออินทปัญโญเดินออกจากวิหารโบราณแห่งนั้นในตอนเที่ยง มีโยคีร่างสูงใหญ่โกนศีรษะล้านเลี่ยน มีวัยอาวุโสกว่าเขามายืนรอที่ประตูหน้าวิหารโบราณนั้นอยู่ก่อนแล้ว โยคีร่างสูงใหญ่ท่าทางน่าเลื่อมใสผู้นั้นคือ สวามีศิวะนันทะ บุคคลสำคัญของเมืองฤาษีเกศในขณะนั้น

สวามีศิวะนันทะเกิดในปี ค.ศ. 1887 ในวัยหนุ่มเขาเลือกเรียนแพทย์เพื่อออกมาช่วยผู้คนผู้ยากไร้ แต่หลังจากที่ทำหน้าที่แพทย์อย่างทุ่มเทไปได้พักใหญ่ เขาค้นพบว่า ผู้คนของเขาป่วยทางจิตวิญญาณเสียยิ่งกว่าการป่วยทางกาย ประกอบกับตัวเขาได้มีประสบการณ์ทางวิญญาณ เมื่ออายุได้ 37 ปี เขาจึงตัดสินใจทิ้งอาชีพหมอที่มีอนาคตรุ่งโรจน์รออยู่ข้างหน้า ผันตัวมาเป็น โยคี ที่เมืองฤาษีเกศในปี ค.ศ. 1924 หลังจากที่ตัวเขาได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจทั้งหมดของเขาอุทิศให้กับการฝึกโยคะอย่างจริงจังและต่อเนื่องเป็นเวลาถึงแปดปีเต็ม ในที่สุดเขาก็ฝึกวิชาโยคะตามแนวทาง เวทานตะ (Vedanta) ได้เป็นผลสำเร็จในปี ค.ศ. 1932 เขาตัดสินใจก่อตั้งสำนักปฏิบัติธรรมของเขาชื่อ "ศิวะนันทาศรม" (Sivanandashram) ขึ้นในปีเดียวกันนั้น และก่อตั้ง "สมาคมชีวิตศักดิ์สิทธิ์" (The Divine Life Society) อันมีชื่อเสียงไปทั่วโลกขึ้นในปี ค.ศ. 1936 เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับโยคะและปรัชญาเวทานตะออกมากว่า 300 เล่ม และมีลูกศิษย์อยู่ทั่วโลกในปี ค.ศ. 1953 เขาเป็นคนจัดการประชุมสภาศาสนาโลกขึ้นที่เมืองฤาษีเกศนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา

สวามีศิวะนันทะเดินทางออกจากอาศรมของเขาเพียงลำพัง มาที่วิหารโบราณแห่งนี้เพราะเขารู้ด้วยใจของเขาว่า วันนี้เขาจะได้พบกับ ญานโยคี ผู้หนึ่งจากแดนไกลซึ่งในอนาคตข้างหน้าจะเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงระบือไกล ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ญาณโยคี (โยคีผู้สำเร็จโยคะด้วย วิถีแห่งความรู้) ผู้นั้น ก็คืออินทปัญโญนั่นเอง
ทั้งๆ ที่ปรมาจารย์ของนิกายเวทานตะที่สวามีศิวะนันทะยึดถืออยู่คือ ศังกราจารย์ ซึ่งเป็นศิษย์ของ โควินทะ ซึ่งก็เป็นศิษย์ของ เคาฑปาทะ อีกทีหนึ่ง ทั้งเคาฑปาทะและศังกราจารย์ผู้นี้ ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าได้แอบนำคำสอนของพระพุทธศาสนามหายานมาใช้ และสถาปนาเป็นต้นตำรับของศาสนาฮินดูแบบ อไทวตะเวทานตะ แล้วเริ่มตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับพุทธศาสนา และเขียนผลงานโจมตีพระพุทธศาสนาอย่างมากมาย จนชาวพุทธส่วนหนึ่งเชื่อกันว่า นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระพุทธศาสนาถูกล้มล้างสาบสูญไปจากอินเดีย

แม้ทั้งอินทปัญโญและสวามีศิวะนันทะจะทราบเรื่องราวในอดีตอันเป็นข้อบาดหมางระหว่างศาสนาฮินดูแบบอไทวตะเวทานตะกับพระพุทธศาสนาก็ตาม แต่เรื่องเหล่านี้หาเป็นอุปสรรคต่อมิตรภาพของคนทั้งสองแต่อย่างใดไม่ เพราะอินทปัญโญรู้ดีว่า มันก็เป็นอิทัปปัจจยตา อีกเรื่องหนึ่งเท่านั้น แก่นแท้แห่งคำสอนของพุทธศาสนาเรื่องสุญญตาและปรมัตถสัจจะ มันก็แค่ถูกแปลงไปอยู่ในรูปคำสอนแบบอไทวตะเวทานตะของฮินดูเท่านั้น!

อินทปัญโญยิ้มน้อยๆ ให้แก่สวามีศิวะนันทะอย่างเข้าใจกระจ่าง จิตของอินทปัญโญยิ้มแย้ม สวามีศิวะนันทะก็ยิ้มน้อยๆ ให้แก่อินทปัญโญด้วยความยกย่องในจิตใจอันกว้างใหญ่ดุจมหาสมุทรของอินทปัญโญ เขาบอกกับอินทปัญโญด้วยว่า ถ้ามีเวลาอินทปัญโญควรเดินทางไปที่ แกงโกทรี อันเป็นที่ที่เขาเคยไปฝึกโยคะ และสำเร็จวิชาโยคะที่นั่นด้วย

* * *

ณ แกงโกทรี...

ฟ้าดินสร้างภูเขาสูงเสียดฟ้า คนเดินทาง แต่จุดหมายเล่าเป็นผู้ใดกำหนด ถ้ามิใช่กฎแห่งอิทัปปัจจยตา...อินทปัญโญรำพึงกับตัวเองในใจ ขณะที่ตัวเขาเดินลัดเลาะตามทางแคบๆ บนสันเขา ที่ด้านหนึ่งเป็นผาสูงชัน ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นหุบเหวลึก มีสายน้ำสีขุ่นอันเชี่ยวกรากขนาบอยู่เบื้องล่าง ไม้สนต้นสูงยืนต้นอยู่รายรอบ แผ่ความชื้นเย็นไปทั่วทุกบริเวณ ท้องฟ้าโปร่งใสมีเมฆขาวเป็นหย่อมๆ เทือกเขาสูงโผล่ยอดสีขาวออกมาจากกลุ่มหมอก

แกงโกทรีเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์เล็กๆ บนเขาหิมาลัย ขณะนั้นเป็นช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ที่อากาศเริ่มหนาวแล้ว แต่ก็ยังพอทนได้สำหรับอินทปัญโญอาณาจักรแห่งขุนเขา และสายน้ำอันสันโดษที่แกงโกทรีแห่งนี้ต้อนรับการมาเยือนของอินทปัญโญที่ดั้นด้นมาหาต้นกำเนิดแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ถึงที่นี่ด้วยความเต็มใจ

อินทปัญโญเดินทางไปถึงโขดหินใหญ่ริมสายน้ำที่สวามีศิวะนันทะเคยใช้นั่งปฏิบัติโยคะ ขณะนั้นความมืดของราตรีกาลเริ่มอาบคลุมผืนฟ้าทุกอย่างรอบๆ ตัวเข้าสู่ความสงัดราวกับกำลังตกอยู่ในมนต์สะกดของเทือกเขาหิมาลัย มีเพียงสายน้ำคงคาเท่านั้น ที่ยังคงโถมถั่งหินผาดังกึกก้องคำรามไปทั่วหุบเขา อินทปัญโญนั่งลงขัดสมาธิ และเข้าสู่การเจริญจิตตภาวนา เกล็ดหิมะสีขาวเริ่มปลิวว่อนลงมาจากท้องฟ้าอันมืดมิด เกล็ดหิมะตกลงบนร่างที่กำลังเดินลมในสมาธิสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกายป้องกันความหนาวเย็นของภูเขา เกล็ดหิมะละลายในทันทีที่กระทบกับร่างของอินทปัญโญ เขายิ้มน้อยๆ ให้กับตนเองและเทือกเขาหิมาลัยอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ขณะที่จิตของเขายิ้มแย้มอยู่เป็นนิรันดร์




 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้