47. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 47 พระอุปัฏฐาก 20/3/2550

47. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 47 พระอุปัฏฐาก  20/3/2550

พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 47)


47. พระอุปัฏฐาก
"ผมเชื่อว่าการต่อสู้ของประชาชน การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองไปสู่สิ่งที่ดีกว่า มันไม่เสร็จง่ายๆ แล้วมันก็ไม่สมบูรณ์แบบอย่างที่เราอยากให้เป็นง่ายๆ บางทีในรุ่นของพวกเราอาจจะไม่สำเร็จเลย เพราะว่าตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นปู่ เขาก็ต่อสู้มาและได้ชัยชนะเป็นลำดับ บ้านเมืองก็ดีขึ้นในบางด้าน...แต่หนึ่งปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า คนเราเมื่อเกิดความรู้สึกร่วมกัน และหลอมรวมจิตใจเป็นหนึ่งเดียวออกมาต่อสู้ พวกเราก็ได้ทำสิ่งที่คิดว่ายากที่สุด ผ่านไปได้สำเร็จ"

คำนูณ สิทธิสมาน (ตุลาคม พ.ศ. 2549)
อดีตผู้นำนักศึกษาในยุค 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และหนึ่งในคณะแกนนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในการต่อสู้กับระบอบทักษิณในช่วงระหว่างเดือนกันยายน ปี 2548 ถึงเดือนกันยายน ปี 2549
................
ชัยชนะของประชาชนใน การปลดแอกทางการเมือง (political emancipation) เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ต่อการได้มาซึ่งสิทธิและเสรีภาพก็จริง แต่มันไม่ใช่ทั้งหมด สังคมไทยคงต้องเรียนรู้อีกนาน อีกหลายรุ่นนักกว่าจะเข้าถึงความจริงที่ว่า สิ่งที่ดีกว่า สมบูรณ์แบบกว่าจะได้มาจริง ก็ด้วย การปลดแอกทางจิตใจ (mental emancipation) ได้แล้วเท่านั้น

ในปี 2517 (ค.ศ. 1974) ขณะที่ควันหลงจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่นิสิต นักศึกษา ประชาชนมีชัยชนะเหนือเผด็จการทหารที่ครองอำนาจมานานปียังไม่จาง ขณะที่สังคมไทยยังคงตื่นตัว และตื่นเต้นไปกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพลังคนหนุ่มคนสาวที่เปี่ยมไปด้วยความใฝ่ฝัน และความคาดหวังต่ออนาคตที่ดีกว่า แต่นั่นไม่ใช่โลกของ สิงห์ทอง พระหนุ่มจากแดนอีสานที่ฝักใฝ่ในธรรมตั้งแต่เล็ก

สิงห์ทอง มีพื้นเพเป็นชาวจังหวัดขอนแก่น พื้นนิสัยของเขาเป็นคนเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ และไม่หลงใหลสีสันของชีวิตทางโลก เขาจึงตัดสินใจบวชในวัยยี่สิบปี ทว่าพอเขาบวชได้ไม่นานเท่าใด ก็เกิดคำถามกับวัตรปฏิวัติที่ภิกษุโดยทั่วไปที่เขาเห็นประพฤติกันอยู่ กล่าวคือ พอเขาบวชออกไปอยู่ที่วัด พวกพระในวัดก็พาพระใหม่อย่างเขาไปตระเวนสวดตามที่ต่างๆ เพื่อหาเงินหรือรับข้าวของที่ชาวบ้านถวาย ซึ่งเขาไม่ต้องการเลย เขาเกิดความเบื่อหน่ายในความเป็นภิกษุอย่างที่เป็น และอย่างที่เห็น จนเกิดความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจเป็นอย่างมาก เขาจึงไปปรึกษากับพระอุปัชฌาย์ของเขาว่า

"อาจารย์ ผมมาบวชนี่ ผมไม่ต้องการมาหาเงิน หาอะไรพวกนี้นะ และผมจะไม่เอาไปเด็ดขาดด้วย ถ้าผมต้องการสิ่งเหล่านี้ ผมก็ไม่ออกมาบวชหรอก"

พระอุปัชฌาย์ จึงแนะนำพระสิงห์ทองว่า มีวัดที่เข้ากับแนวทางที่เขาต้องการนี้อยู่ คือวัดสวนโมกขพลารามของท่านอาจารย์พุทธทาส ซึ่งท่านให้ความนับถือศรัทธา พอได้ฟังดังนั้น พระสิงห์ทองจึงตัดสินใจเดินทางจากขอนแก่นลงมาสวนโมกขพลาราม โดยมุ่งหวังที่จะอยู่ให้ไกลจากวัตถุนิยมทั้งปวง และจะได้ใช้ชีวิตทางธรรมอย่างแท้จริง

ปัญหามีอยู่ว่า สิงห์ทองเป็นคนที่อ่านหนังสือไม่ออก เขียนก็ไม่ได้ เขาไม่เคยเดินทางไปที่ไหนไกลๆ เลย เพราะป้ายรถเขาก็อ่านไม่เป็น แต่ใจเขาร่ำร้องว่าจะไปสวนโมกข์ไปอยู่กับท่านอาจารย์พุทธทาสให้จงได้ ด้วยความเมตตา พระอุปัชฌาย์ของเขาจึงเป็นคนพาสิงห์ทองไปส่งที่สวนโมกข์ด้วยตนเอง ท่านพุทธทาสบอกกับสิงห์ทองว่า ให้มาอยู่เฉยๆ ก่อน เพราะไม่รับพระใหม่ ขณะนั้นเป็นช่วงยังไม่เข้าพรรษา ของปี 2517

ตอนที่สิงห์ทองเข้ามาอยู่ที่สวนโมกข์ใหม่ๆ เขาพำนักที่กุฏิในป่าใช้ชีวิตที่สงบ และเรียบง่ายดังที่เขาปรารถนา เขาอยู่อย่างเจียมตัว และถ่อมตน เรียนรู้ธรรมะจากธรรมชาติรอบตัว ไม่นานนัก ท่านพุทธทาสก็ให้คนมาตามเขาไปพบท่าน และบอกกับเขาว่า

"เธอมาทำงานอยู่กับเรามั้ย มาช่วยเหลืออะไรเรา เผื่อจะได้ความรู้ขึ้นบ้าง"
ในตอนนั้น สิงห์ทองนึกไม่ถึงเลยว่า ท่านอาจารย์พุทธทาสให้ความใส่ใจ และเมตตาตัวเขาถึงขนาดนี้ เพราะจนกระทั่งถึงวันนี้ เขาไม่เคยได้เข้ามาใกล้ชิดอะไรกับท่านอาจารย์เลย เขาก็อยู่ส่วนของเขาอย่างเจียมเนื้อเจียมตัว ประกอบกับความที่เขาเป็นคนอีสานที่พูดภาษากลางไม่ค่อยเป็น เวลาคุยกับท่านพุทธทาสก็คุยด้วยภาษากลางสำเนียงอีสาน ซึ่งคุยฟังกันไม่ถนัดปากถนัดหู ยิ่งเขารู้ดีว่า ท่านอาจารย์พุทธทาสมีคนใหญ่คนโตมากราบเสมอ จึงทำให้เขาลังเลที่จะรับเป็นพระอุปัฏฐากของท่านอาจารย์พุทธทาส นั่นไม่ใช่เพราะเขากลัวงานหรอก แต่เขากลัวเรื่องการอ่านหนังสือกับการใช้ภาษาที่ไปสื่อกับผู้คนเท่านั้นที่เป็นปัญหาของเขา แต่ในที่สุด สิงห์ทองก็รับพระอุปัฏฐากของท่านอาจารย์พุทธทาส ด้วยความเต็มใจ

ขณะนั้น ท่านอาจารย์พุทธทาสอยู่ในวัยใกล้เจ็ดสิบปีแล้ว ถือว่าเป็นคนชราคนหนึ่งแล้ว ท่านต้องการคนที่มารับใช้สารพัดอย่างเป็นการส่วนตัวของท่าน รับใช้ทุกอย่างทุกประเภทที่ทำได้ ไม่ว่าเรื่องกิน เรื่องอยู่ เรื่องเจ็บ เรื่องไข้ เรื่องรับแขก พาแขกเหรื่อไปที่พัก เรื่องเงินเรื่องทอง

หน้าที่ของพระอุปัฏฐากมีอยู่อย่างเดียวเท่านั้น คือทำทุกอย่างที่ท่านอาจารย์จะเรียกใช้ ซึ่งหมายความว่า เขาต้องรับผิดชอบทั้งหมดทุกอย่างที่เป็นของท่านอาจารย์ ต้องดูให้หมดแล้วแต่ท่านอาจารย์จะใช้อะไร

ในตอนที่พระสิงห์ทองตอบรับปากว่าจะเป็นพระอุปัฏฐากของท่านอาจารย์พุทธทาส เขาบอกกับท่านอาจารย์ว่า

"กระผมรู้ว่าตนเองไม่ใช่คนฉลาด แต่ กระผมตั้งใจจะทุ่มเทชีวิตทั้งหมดของกระผมให้ท่านอาจารย์อย่างเดียวเท่านั้น กระผมจะอุทิศตรงนี้เพื่อให้ท่านอาจารย์ทำงานเผยแพร่พุทธธรรมต่อไป"

สิงห์ทองรู้ดีว่า ตนเองมิได้มีปัญญาในทางธรรม เขามีแต่ความภักดีในพุทธธรรม และความภักดีอย่างบริสุทธิ์ใจต่อคุรุของเขาเท่านั้น ท่านอาจารย์พุทธทาสมักให้กำลังใจสิงห์ทองอยู่เสมอว่า คนเก่งอาจเป็นคนโกงหรือคนเลวก็ได้ แต่คนดี คนซื่อ คนบริสุทธิ์ใจถึงอย่างไรก็เป็นคนสะอาดเสมอ

"สิงห์ทองเธอจำไว้นะ เราขอบอกกับเธอว่า การหลุดพ้นมิใช่สิ่งใดอื่น แต่คือการทำลายความไม่บริสุทธิ์ของใจนั่นเอง ใจของคนเราจะบริสุทธิ์ได้ก็ต่อเมื่อความอยาก ความต้องการ และความกลัวใดๆ ได้ดับลง ใจอันสะอาดบริสุทธิ์ที่ตัวเธอมีอยู่แล้ว มันจะนำเธอไปสู่ชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์ และความรู้แจ้งได้เอง ต่อให้ตัวเธอมิได้มีความสามารถพิเศษอื่นใดเลยก็ตาม"

หลังจากที่สิงห์ทองทำงานเป็นพระอุปัฏฐากได้ ไม่นานความก็แตกว่าเขาอ่านหนังสือไม่ออก ท่านอาจารย์พุทธทาสจึงจับเขามาฝึกเรื่องการอ่านหนังสือ จับให้เขาอ่านไปเรื่อยๆ อยู่เช่นนั้นถึงสองปีเต็ม จึงสั่งให้เขาไปเรียนหนังสือสอบนักธรรมตรี พอสอบได้แล้วก็สั่งให้เขาไปสอบนักธรรมโทต่อจนสอบได้ ซึ่งแสดงว่า เขาอ่านออกเขียนได้แล้ว จากนั้น ท่านอาจารย์พุทธทาสก็มอบหมายให้เขาเขียนบัญชีดูแลเรื่องบัญชี ทำการฝึกฝนตัวเขาอย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่สิงห์ทองได้เรียนรู้มากที่สุด เวลาอยู่กับท่านอาจารย์พุทธทาสคือ การได้เห็นในสิ่งที่ท่านทำให้ดู มากกว่าสิ่งที่ท่านเขียนในหนังสือ เขาดูจากชีวิตความเป็นอยู่ของท่าน สนใจเพียงแต่ว่า ท่านแสดงอาการปกติธรรมดาให้เขาดูอย่างเดียวตลอดเวลาได้อย่างไร ทุกอย่างที่ท่านทำ ท่านอยู่กับคน แต่ไม่รำคาญคน และไม่รำคาญสัตว์เลี้ยง ถ้าท่านเข้าอยู่ในห้องถึงหมาจะเห่า หมาจะหอน ท่านไม่สนใจ ไม่เคยออกมาไล่ หมาจะกัดกัน หมาจะเป็นสัดร้องรอบกุฏิ ท่านก็ไม่สนใจ เรื่องอะไรๆ ท่านจะไม่มาหงุดหงิดรำคาญใจ เพราะท่านวางได้

สมาธิของท่านดีมาก ตอนเขาไปเรียกท่านเพื่อรายงานเรื่องให้ท่านทราบ ท่านจะฟังแต่เสียงเขาอย่างเดียว ถ้ามีเสียงอื่นท่านจะไม่สน ท่านจะวางเฉยกับพวกนี้มาก ไม่เอาจิตขึ้นมาแบกไว้

พอเขาเห็นท่านทำงานแล้ว เขารู้สึกว่า ท่านเป็นตัวอย่างมากที่สุดเลย เพราะท่านอยู่แบบไร้ใจจริงๆ ไม่คิดฟุ้งซ่านอะไร เป็นพระจริงๆ ท่านจะนั่งทำงานด้านหนังสือที่โต๊ะสำหรับฉันข้าวทุกวัน เวลามีแขกมาหา ท่านก็ยังต้อนรับแขกตรงนั้นเหมือนเดิม ถ้าใครเดินผ่านไปเฉยๆ ท่านไม่ถาม แต่ถ้าใครเข้าไปกราบ ท่านจะถามว่ามาธุระอะไร ถ้าเขาตอบว่าอยากมาสนทนาธรรม ท่านก็หยุดงานหนังสือของท่านเสีย แล้วก็ต้อนรับแขก สนทนากันไปจนกว่าจะเลิก ท่านไม่ได้รีบร้อน

ท่านเป็นคนที่ทำทุกอย่างไปพร้อมกันได้หมดเลย ท่านคงฝึกจิตใจของท่านอย่างนั้นมานานถึงทำเช่นนี้ได้ นี่คือลักษณะการทำงานของท่านที่ถือว่า การทำงานก็เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะการทำงานที่รับใช้สรรพสัตว์อย่างไร้ตัวตนอย่างไม่เห็นแก่ตนเอง ท่านทำงานด้วยสมาธิแน่วแน่ขนาดที่ว่าทำงานไปทุกอย่างพร้อมกันหมดเลย ในช่วงยี่สิบปีสุดท้ายของท่านอาจารย์ ท่านสอนและทำให้ดูตลอดเวลาในเรื่องการทำงานคือการปฏิบัติธรรม






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้