โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 29)
29. จอมคนเทียนแห่งธรรม (ต่อ)
เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้ว ความขัดแย้งทางกระบวนทัศน์ในเรื่องความเห็น วิธีการ และเป้าหมายเพื่อการหลุดพ้นทางจิตวิญญาณ ได้เกิดขึ้นอย่างมากมายในประเทศอินเดีย ซึ่งขณะนั้นถือว่ากำลังอยู่ในยุคทองของการแสวงหาทางจิตวิญญาณ ก็เห็นจะไม่ผิดนัก เพราะในสมัยนั้นมีถึง 60 กว่า กรอบความคิดที่เห็นไม่ตรงกันในเรื่องความจริงของจิตวิญญาณ
แต่แล้วในคืนเดือนเพ็ญคืนหนึ่ง มหาบุรุษ ผู้หนึ่งที่ได้ทดลองปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยเอาตัวของเขาเองเป็นเครื่องทดลองอย่างเอาชีวิตเข้าแลกในหลากหลายวิธีที่แพร่หลายในสมัยนั้น จนในที่สุด มหาบุรุษ ผู้นั้นก็ได้ตัดสินใจที่จะเลือกปฏิบัติตามแนวทางของตนเอง จนกระทั่งเกิด ประสบการณ์เร้นลับ ขึ้นภายในตัวเขาในคืนเดือนเพ็ญคืนนั้น
ประสบการณ์เร้นลับ ที่ มหาบุรุษ ผู้นั้นประสบเป็น ประสบการณ์ในการรู้แจ้งอย่างสมบูรณ์ จนทำให้ มหาบุรุษ ผู้นั้นสามารถ ข้ามพ้น ออกมาจากกรอบ และการปฏิบัติต่างๆ ในอดีตจนเกิด ประสบการณ์ทางวิญญาณอย่างใหม่ ที่ มหาบุรุษ ท่านนั้นได้ค้นพบเป็นคนแรก และเป็นครั้งแรกในยุคสมัยของเขา
ประสบการณ์ทางวิญญาณอย่างใหม่ นี้ ได้ทำให้ มหาบุรุษ ผู้นั้นสิ้นสงสัยอย่างสิ้นเชิง และนำตัวเขาไปสู่ บุคลิกภาพใหม่ ที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอยู่ในทุกขณะจิต เป็นผู้ที่สามารถก้าวล่วงออกจากวังวนของวัฏฏะแห่งการเกิดแก่เจ็บตายได้อย่างสิ้นเชิง และเป็นผู้ที่บรรลุถึงพลังวิเศษอันเป็นพลังอนันต์ และพลังอมตะที่แฝงเร้นอยู่ในตนซึ่งเป็นพลังแห่งการหยั่งรู้ เข้าถึง และก้าวข้ามสรรพสิ่ง สรรพความรู้ทั้งปวงในจักรวาฬ
นับตั้งแต่มี ประสบการณ์เร้นลับ ในคืนเดือนเพ็ญคืนนั้น ชื่อของ มหาบุรุษ ผู้นั้นก็ไม่มีอีกต่อไป แต่เขาเรียกตนเองและคนทั่วไปก็รู้จัก มหาบุรุษ ผู้นั้นในนามของ พุทธะ หรือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ชีวิตที่เหลือหลังจากนั้นของ มหาบุรุษ ผู้นั้นคือ การทำหน้าที่หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานให้แก่ดวงจิตอื่นๆ เพื่อให้เมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะนี้งอกงามในจิตใจของผู้คนผู้ได้รับการหว่านเมล็ดพันธุ์นี้สืบทอดต่อๆ กันมาอย่างแพร่หลายในที่ต่างๆ และอย่างไม่ขาดสายมาจนถึงทุกวันนี้
ประสบการณ์ทางวิญญาณอย่างใหม่ หรือประสบการณ์แห่งความเป็นพุทธะนี้ มหาบุรุษผู้นั้นท่านกล้ายืนยันว่ามันแตกต่างไปจากประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่มหาโยคีทั้งหลายในยุคนั้นและยุคก่อนหน้านั้นได้เคยประสบมาทั้งหมด มันไม่ใช่ของเก่าเสียทีเดียว แต่ก็ไม่ใช่ของใหม่โดยสิ้นเชิงเช่นกัน แต่มันเป็นประสบการณ์ทางวิญญาณที่ข้ามพ้นความเป็นคู่ใดๆทั้งปวง โดยมันได้ก้าวข้ามของเก่าแต่ก็หลอมรวมของเก่าเข้าไปด้วย มันจึงเป็นประสบการณ์แห่งการก้าวข้ามที่เป็นวิวัฒนาการทางจิตวิญญาณที่สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ทางจิตวิญญาณของมนุษยชาติ
เพราะเมื่อคนเราหมดคำถามใดๆเกี่ยวกับชีวิตโดยสิ้นเชิง เมื่อนั้นความเป็นจริงสูงสุดย่อมปรากฏขึ้นเบื้องหน้าเขาผู้นั้น และชีวิตหลังจากนั้นของเขาผู้นั้นจะดำรงอยู่เพื่อให้ความหมายแก่ความรักด้วยมิติสูงสุด และคุณค่าสูงสุดเท่าที่คนๆหนึ่งจะให้คุณค่าความหมายแก่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ด้วยหัวใจและวิญญาณของตัวเขาอย่างทั้งหมดทั้งสิ้น
วิธี และ วิถี เพื่อการวิวัฒนาการทางจิตครั้งสำคัญสำหรับมนุษยชาติของมหาบุรุษผู้นั้นได้รับการหว่านเพาะสืบทอดต่อๆกันมาจาก กายสู่กาย จิตสู่จิต วิญญาณสู่วิญญาณ จนถึงปัจจุบัน มันอาจจะมีถึง 84,000 วิธีดังที่กล่าวขาน แต่ว่ากันว่ามันมีอยู่วิธีหนึ่งใน 84,000วิธีที่เป็นวิธีที่พุ่งตรงเข้าสู่การ รู้ ตื่น และเบิกบาน ทางวิญญาณโดยตรง และเป็นวิธีที่สืบทอดกันมาแบบไม่เปิดเผย ผ่านศิษย์ของท่านผู้มีนามว่า มหากัสสปะ ผู้ได้รับการยกย่องจากมหาบุรุษผู้นั้นว่ามีธรรมเสมอท่าน
“เขา” ไม่เคยสงสัยเลยว่า คุรุ ของเขามิใช่เป็นผู้หนึ่งผู้สืบทอด วิธี และ วิถี ที่ว่านี้ ถึงแม้ตัวเขาจะไม่รู้ว่า จริงๆ แล้ว วิธี ที่สืบทอดกันมาแบบไม่เปิดเผยจาก ท่านมหากัสสปะ นี้ มีชื่อเรียกขานอย่างไรในสมัยโบราณ แต่ เขา ได้ยินจาก คุรุ ของเขาที่เรียก วิธี นี้สั้นๆ ว่า ลม 7 ฐาน
"เวลาฝึกเดินลม 7 ฐาน ให้นึกไปถึงโครงกระดูกของตนเอง หายใจเข้าแล้วไล่ไปทีละข้อ ทีละข้อ ตั้งแต่หัวจรดเท้า เวลาหายใจออกก็ให้ไล่กลับขึ้นมา หรือทำสลับกัน จากนั้นให้นึกถึงของไม่ดีต่างๆว่าได้ถูกขับออกมาพร้อมๆกับลมหายใจออกด้วย เวลาหายใจออกทางจมูกหรือทางปากก็ได้ แต่ต้องหายใจแบบโกลัมปะ คือ ค่อยๆผ่อนลมออกมา วิธีนี้เรียกว่า ปราณชำระกระดูก ผู้ฝึกจะต้องเดินลมเช่นนี้จนกระทั่งเห็นโครงกระดูกขาว แล้วฝึกต่อไปจนกระทั่งเห็นโครงกระดูกใส เมื่อฝึกแบบนี้ไปนานๆผู้ฝึกจะรู้สึกเย็นซ่านๆที่ 7 จุด ซึ่งก็คือตำแหน่งฐานทั้ง 7 ในร่างกายนั่นเอง"
ในที่สุด "เขา" ก็เข้าใจและหยั่งรู้ได้แล้วว่า คุรุคือลม 7 ฐาน และ ลม 7 ฐานก็คือคุรุ!
คุรุ ท่านสอน ลม 7 ฐาน อยู่ทุกขณะ แต่สาระของการถ่ายทอด ลม 7 ฐาน ของ คุรุ ไม่ได้อยู่ที่ เนื้อหา ของวิชาดังข้างต้น แต่กลับอยู่ที่ ประสบการณ์ทางวิญญาณ ของตัวผู้ฝึกเองที่จะได้รับในขณะฝึกวิชานี้ต่างหาก
กล่าวโดยถึงที่สุด การที่ตัวเขาเองได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจของเขาฝึกวิชาลม 7 ฐานนี้มาโดยตลอด ก็เพื่อที่จะเรียนรู้ซึ้งถึงจิตใจส่วนที่ลึกล้ำที่สุดของคุรุของเขาผู้เป็นมหาโพธิสัตว์ และเพื่อที่จะเข้าถึงจิตใจส่วนที่ลึกที่สุดของตัวเขาเอง
มันเป็นเรื่องน่าแปลกเหลือเกินที่คนเรามีปฏิกริยาต่อคำสอนทางจิตวิญญาณเดียวกันโดยคุรุคนเดียวกันไม่เหมือนกันเลย คนหนึ่งอาจไม่แม้แต่จะเข้าใจแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังคำสอนนั้น อีกคนหนึ่งอาจสามารถเข้าใจแต่ไม่สามารถเข้าถึงความหมายแฝงเร้นอันลึกซึ้งในคำสอนนั้นได้ แต่ก็มีบางคนที่สามารถเข้าถึงลึกซึ้งยิ่งกว่าเพียงคำพูดและคำสอนเปิดเผยของคุรุ จนกระทั่งตัวเขาสามารถมีประสบการณ์เร้นลับทางจิตตวิญญาณกับคำสอนเร้นลับของคุรุได้ ความต่างอันนี้คงเป็นความต่างที่เกิดจากความต่างในระดับจิต ระดับปัญญาและระดับภูมิธรรมของแต่ละคนท่ไม่เท่ากันนั่นเอง
"เนื้อหา" ของคำสอน ไม่ว่าจะเป็นถ้อยคำที่พูด หรือจารึกอยู่ในตำราและคัมภีร์ ถึงอย่างไรก็ไม่อาจพ้นไปจากกรอบของสิ่งที่เป็นคู่ และไม่อาจพ้นไปจากข้อจำกัดทางความคิดได้ ไม่ว่ามันอาจจะ "ถูกต้อง" เพียงใดก็ตาม ขณะที่ประสบการณ์ทางวิญญาณมันเป็นเรื่องราวเฉพาะตน เป็นลีลาเฉพาะตัวเอง แต่ละบุคคลที่ไม่เหมือนกันแต่ก็ไม่ต่างกันมากนักในบางด้าน ด้วยเหตุนี้คุรุจึงบอกว่า มันเป็นศิลปะ และไม่มีใครสอนศิลปะให้แก่ใครได้ทั้งหมดนอกจากทำให้ดู แสดงให้ดูเป็นตัวอย่าง เพราะฉะนั้น ขณะที่คุรุสอนลม 7 ฐานจึงดูเหมือนไม่ได้สอนลม 7 ฐาน และที่คุรุไม่สอนลม 7 ฐานนั่นแหละคือการสอนลม 7 ฐานของท่าน
บทโศลกจำนวนมากที่ คุรุ ได้เคยแสดงไว้แก่ลูกศิษย์ จึงเป็นทั้งศิลปะและเป็นลีลาของการถ่ายทอด ประสบการณ์ลม 7 ฐาน ของ คุรุ มาสู่ลูกศิษย์ หากใครก็ตามที่สามารถเข้าใจความหมายที่ลึกซึ้งที่สุดในทุกถ้อยคำที่ คุรุ ท่านถ่ายทอดออกมา ผู้นั้นก็ย่อมเข้าใจได้เองว่า คุรุ ท่านมีเมตตาและเอื้ออาทรต่อลูกศิษย์ทั้งหลายของท่านเพียงใด
บทโศลกของ คุรุ ที่คัดสรรมาลงในที่นี้ ล้วนเป็นบทโศลกที่ถ่ายทอด ประสบการณ์ลม 7 ฐาน ของท่านที่ล้ำค่ายิ่งสำหรับผู้แสวงธรรมทั้งหลาย
(1) “...ประสบการณ์ทางจิตที่ผ่านมา พ่อมิได้เรียนรู้เรื่องของจิตจากกฎเกณฑ์กติกาอะไร เพียงแต่พ่อพยายาม จัดระเบียบของกายให้เป็นระบบของใจ แล้ว คอยสังเกตถึงสภาวะความเป็นไป ในขณะเดียวกัน พ่อก็พยายามชำระความสกปรกโสโครกที่เกิดขึ้นกับตัวพ่อและใจพ่อ โดย การเฝ้าสังเกต และ คอยแยกแยะ ทดสอบพิสูจน์ทราบว่าสิ่งนั้นๆ มันเป็นอะไร เป็นความรู้สึกหรือความต้องการของสภาวะแท้จริงล้วนๆ หรือไม่ ถ้าไม่ใช่พ่อก็จะกำจัดออกทันที หรือไม่ยอมทำตามที่มันต้องการ”
(2) “วิธีชำระล้างอีกวิธีหนึ่งก็คือ พ่อพยายามคอยหยั่งความรู้สึกลงไปภายในกายลึกๆ อยู่ตลอดเวลา จนมันสนิทแนบแน่น โดยการพิจารณาสภาพร่างกายอย่างละเอียดถี่ถ้วน...นี่ ต้องให้เจ้าได้เรียนรู้ด้วยตนเอง”
(3) “ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ถ้าเจ้า ส่งความรู้สึกลึกๆ ลงไปสำรวจดูกายในกาย ให้เข้าที่เข้าทางนั่นแหละ คือ ผู้เจริญญาณ”
(4) “การจะทำจิตให้ละเอียด กายจะต้องละเอียดก่อน การจะทำกายให้ละเอียด ต้องทำประสาทสัมผัสให้ละเอียดก่อน”
(5) “ลูกรัก ถ้าเจ้าต้องการศึกษาพุทธธรรม สิ่งที่ลูกต้องเพียรกระทำก่อนเป็นเบื้องต้นคือ ลูกต้องแยกให้ออกอย่างถ่องแท้ว่า อะไรคือศัตรู อะไรคือมิตรที่ติดสนิทอยู่ในตัวเจ้า และคราใดที่ลูกสามารถแยกมิตรแยกศัตรูได้ ทุกขณะจิต พ่อว่าเจ้าไม่จำเป็นต้องพูดถึงพุทธธรรม เพราะเจ้าก็คือ พุทธะ องค์หนึ่งเหมือนกัน”
(6)“การค้นหาตัวเจ้าเอง เป็นกิจเบื้องต้นของศาสนธรรมนี้ เจ้าจะต้องประพฤติให้อยู่ในอริยกันตศีลให้จงได้ เจ้ารู้หรือไม่ว่าอริยกันตศีล คือ ศีลที่พระอริยเจ้าพอใจนั้น มันจะต้องมาจาก ใจที่ไร้ความปรุงแต่ง และคราใดที่ลูกทำได้ ครานั้นเจ้าก็จะได้ชื่อว่า เป็นผู้เข้าถึงธรรมชาติแห่งจักรวาฬ และพระนิพพาน”
(7) “ลูกรัก เจ้ารู้ไหมว่า วิธีรักษาอริยกันตศีลนั้น เขาทำกันอย่างไร โดยที่ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกยากลำบาก วิธีก็คือ เจ้าจะต้องเรียนรู้ศึกษาสรรพสิ่ง รวมทั้งตัวเจ้าเองให้ลึกซึ้งแจ่มใสว่า เกิดขึ้นเพราะเหตุใด ดำรงอยู่เพราะปัจจัยอะไร สุดท้ายมีสภาพเช่นไร เมื่อเจ้าเรียนรู้แจ่มแจ้งได้ดังนี้ มันก็จะทำให้เจ้ามิกล้ากระทำต่อสิ่งที่ล่วงเกิน ละเมิดต่อศีลทุกๆ ข้อ การเข้าใจต่อสรรพสิ่งนั่นแหละ มันจะทำให้เจ้ารักษาอริยกันตศีลไปโดยปริยาย”
(8) “ลูกรัก สมาธิที่ดี ไม่ควรมีเฉพาะตอนนั่งหลับตา มันควรอยู่กับทุกอิริยาบถอย่างสม่ำเสมอ จนกลายเป็นปกติธรรมดา”
(9) “ไม่ถูกอารมณ์ดึงดูด ไม่มีความคิดแตกแยก มี ตัวรู้ บรรลุความเป็นไท”
(10) “ถ้าเจ้าต้องการพ้นทุกข์ ศีลธรรมไม่ทำให้คนพ้นทุกข์ เพียงแต่ใจไม่ปรุงแต่งประตูของธรรมชาติ จักรวาฬ และนิพพานก็จะเปิดรับ”