38. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 38) 16/12/2551

38. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 38) 16/12/2551

โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 38)

38. จอมคนเทียนแห่งธรรม (ต่อ)

สภาพจิตที่ผ่านการฝึกดูจิตมาอย่างช่ำชอง จนผู้นั้นสามารถเข้าถึง สภาพจิตที่รู้เฉยๆ หรืออัพยากฤตจิต อันเป็นจิตแห่งพรหมได้นั้น คุรุ ของ “เขา” บอกว่าจะต้องได้รับการพัฒนาจิตต่อไปอีกด้วยวิปัสสนากรรมฐาน จนกระทั่งนำไปสู่การเกิด สุขุมจิต หรือ วิเสสจิต (จิตอันวิเศษ) ซึ่งเป็น จิตที่มีปัญญา และรู้เท่าทันทุกสภาวะจิต อันเป็นจิตที่สามารถเป็นที่พึ่งของตน และคนอื่นได้

สุขุมจิต มีลักษณะสภาพที่ปรากฏคือ ผ่อนคลาย สบาย รุ่งเรืองด้วยแสงแห่งปัญญา รู้ชัดตามสภาพรอบกายแต่ไม่ปรุงสิ่งใดๆ เป็นอารมณ์ นุ่มนวล อ่อนโยน อ่อนน้อม ถ่อมตน มีสัมมาคารวะ ไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง ไม่ยโส ไม่โอหัง ไม่อวดดี ควรแก่งาน

ผู้ที่ฝึกฝนจิตจนบรรลุถึงขั้น สุขุมจิต ได้ ผู้นั้นจะกลายเป็นผู้มีบารมีอินทรีย์แก่กล้า ทุกสิ่งทุกอย่างจะกลายเป็นครูของผู้นั้นได้ ด้วยเหตุนี้ สุขุมจิต นี้ จึงเป็นหัวใจของมรรค เป็นหัวใจของวิปัสสนาภูมิ เป็นหัวใจของวิปัสสนาญาณ เป็นหัวใจขององค์ฌาน และเป็นหัวใจของสรรพวิชาทั้งปวง คุรุ จึงบอกว่า จิตที่เป็น สุขุมจิต นี้ แค่เห็นสายน้ำไหล หรือเห็นลมพัด ใบไม้ร่วง สุขุมจิต ก็จะพิจารณาองค์ธรรมได้เอง คือ พิจารณาธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานได้ เพราะว่า สุขุมจิต นี้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้เอง

คุรุ ของ “เขา” ยังบอกอีกว่า ผู้ที่เข้าถึง สุขุมจิต แล้ว จะมองว่า ทุกอย่างเป็นเรื่องของการพัฒนาจิตเท่านั้น เพราะฉะนั้น จะต้องไม่มีแม้แต่ความพยายามในการฝึกจิตซึ่งยังเป็นตัณหา เป็นความอยากอยู่ แต่จะเป็น การตั้งใจแบบไม่ตั้งใจ โดยไม่ต้องอยาก ไม่ต้องดิ้นรน แต่ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการของการพัฒนาแห่งจิตอย่างเป็นไปเอง ด้วยเหตุนี้ ผู้ใดก็ตามที่เดินอยู่ใน มรรคจิต ใน มรรควิถี โดยไม่เกียจคร้าน ในที่สุด สุขุมจิต ย่อมบังเกิดขึ้นกับผู้นั้นเองในเวลาอันสมควรตราบเท่าที่ผู้นั้นยังคงเฝ้าดูจิต ตามดูอาการจิต ตามดูสภาพแท้ที่ปรากฏในจิตของตนไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอโดยให้มี ตัวรู้ มากกว่า ตัวคิด และ ตัวจำ

* * *

กรณีการเกิด สุขุมจิต ที่บังเกิดขึ้นกับ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ปัญญาชนสาธารณะคนสำคัญคนหนึ่งของประเทศนี้ ถือเป็น กรณีศึกษา ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะ กระบวนการแห่งการสลายตัวตนของเสกสรรค์ มันเริ่มต้นขึ้นพร้อมๆ กับการเกิดสุขุมจิตในตัวเสกสรรค์ อย่างที่เป็นที่ทราบกันดีในวงกว้างว่า เสกสรรค์เคยเป็นอดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 หลังจากนั้น เสกสรรค์เคยใช้เวลาเกิน 5 ปี รบกับอำนาจรัฐที่ตัวเขาเห็นว่าไม่เป็นธรรม จวบจนกระทั่งเสกสรรค์ตัดสินใจวางอาวุธ เนื่องจากตัวเขาสิ้นศรัทธาต่อหัวแถวและแนวทางของขบวนการปฏิวัติไทย

เมื่อจุดหมายร่วมเสื่อมสลาย เสกสรรค์ก็ยังแบกความทรงจำส่วนนี้เอาไว้ และตีความอดีตส่วนนี้ของตนตามวิถีแบบนักเลงโบราณที่ตัวเขาเคนเติบโตมา เพราะฉะนั้น เสกสรรค์จึง “เจ็บ” ในเรื่องที่หลายคนอาจรู้สึกเฉยๆ เสกสรรค์เจ็บด้วยความรู้สึกที่ว่า ความเป็นนักเลงของตัวเขานั้น ได้แหว่งวิ่นไปเพราะพ่ายแพ้ในสงครามกลางเมือง ด้วยเหตุนี้กระมัง เสกสรรค์จึงได้ใช้เวลาหลายปีในวัยกลางคนของเขาหมดไปกับการเดินป่า ออกทะเลเพื่อค้นหา “ความเป็นผู้ชาย” ที่หายไปในช่วงระหว่างนั้น

เสกสรรค์ในช่วงนั้น จึงทั้งตกปลา ปีนเขา และล่องแก่งเพียงเพื่อจะบอกทั้งโลกและตัวเองว่า “กูแน่” เท่านั้น เสกสรรค์จึงต้องใช้เวลานาน และต้องผ่านอะไรอีกหลายอย่างในชีวิตทีเดียว กว่าที่ตัวเขาเริ่มที่จะมองตัวเองออกว่า ลึกๆ แล้ว เขาเป็นคนที่มีปัญหากับตัวเอง ตัวเขาจึงต้องใช้เวลาอีก 20 กว่าปีหลังจากวางอาวุธ เพื่อตั้งคำถามเกี่ยวกับความหมายของชีวิตอย่างเอาเป็นเอาตาย

เสกสรรค์ขัดแย้งกับโลก ขัดแย้งกับคนอื่น และขัดแย้งกับตัวเองจนสิ้นแรง จนเขารู้สึกเหนื่อยล้าแทบไม่อาจอยู่เป็นผู้เป็นคน สิ่งนี้นำไปสู่ชีวิตส่วนตัวของเขาที่ล้มเหลว ในที่สุด เสกสรรค์กับภรรยาได้แยกทางกัน แม้ทั้งคู่จะไม่ได้โกรธเกลียดกัน และเพียงเปลี่ยนความสัมพันธ์จากคู่ครองมาเป็นเพื่อน แต่เหตุการณ์นี้มันได้สั่นคลอนความรู้สึกนึกคิดของเขาอย่างถึงราก

เสกสรรค์ทุกข์ใจและขมขื่นใจจนสุดจะทน เขาเฝ้าถามตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า มีหนทางไหนบ้างที่จะทำให้ตัวเขาไม่ต้องทุกข์ทรมานขนาดนี้ โดยที่ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องสยบยอมเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่ตัวเขาไม่เห็นด้วย ความเจ็บปวดทางจิตใจที่เสกสรรค์ทนไม่ไหว ทำให้ตัวเขาพลัดเข้ามาสู่ วิถีแห่งการดูจิตโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะเมื่อเสกสรรค์ได้ลงลึกเข้าไปสำรวจตัวเอง และวิจารณ์ตัวเองอย่างเอาเป็นเอาตาย เขาก็ได้ตระหนักว่า แท้ที่จริงแล้ว ตัวเขาได้ตกเป็น เหยื่อของอุปาทาน บางอย่างที่ตัวเขาได้จินตนาการปรุงแต่งขึ้นมาเองมาโดยตลอด

ความมีตัวตนของเสกสรรค์มันผูกติดอยู่กับข้อมูลต่างๆ ในอดีตที่เป็นบาดแผลของชีวิต เสกสรรค์จึงใช้วิธีเฝ้าดูจิตของตัวเองอย่างจริงจัง โดยพยายามปลุกเร้าสติของตัวเองอยู่บ่อยๆ ไม่ให้หลงไปคิดว่าตัวเองเป็นใคร เขาใช้การเฝ้าดูจิตด้วยสติที่รู้ทันความคิดของตนเองไม่ให้หลงไปคิดเรื่องอดีตแม้แต่เรื่องอนาคต เสกสรรค์ก็ไม่คิดถึง เนื่องจากทุกอย่างที่เสกสรรค์เคยคิดว่าเป็นชีวิตของเขามันพังพินาศไปหมดแล้ว

เสกสรรค์กลายเป็นคนที่อยู่กับ “ปัจจุบันจิต” ด้วยตัวรู้มากกว่าตัวคิด และตัวจำ ไปโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะพอเขาเริ่มไม่ยึด ไม่คิดว่าตัวเองเป็นใครมาก่อน เสกสรรค์รู้สึกได้ทันทีเดี๋ยวนั้นเลยว่า ความทุกข์ร้อนมันหายลงไปมาก เสกสรรค์จึงไม่เดือดร้อนอีกต่อไปแล้วว่า สังคมหรือคนอื่นจะมองตัวเขาอย่างไร และตัวเขาก็ไม่มีความเห็นที่จะยืนกรานต่อสังคมว่า โลกและชีวิตควรเป็นอย่างไร เสกสรรค์จึงไม่มีข้อเรียกร้องต่อตัวเองและผู้อื่น เขาจึงไม่มีสิ่งที่ผิดหวังและไม่มีสิ่งที่เสียใจอีกต่อไป

พอเสกสรรค์ทำเช่นนี้ไปมากขึ้นบ่อยขึ้นอยู่พักใหญ่ ในที่สุดก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจขึ้นกับตัวเขาโดยไม่คาดฝัน กล่าวคือ ในเช้าวันหนึ่ง เมื่อเสกสรรค์ตื่นขึ้นมา เขารู้สึกราวกับว่า ตัวเขาได้ “เกิดใหม่” อีกครั้งหนึ่ง เสกสรรค์รู้สึกมีความสุขสงบขึ้นมาโดยไม่มีเหตุผล และไม่เกี่ยวกับเหตุผลใดๆ เขารู้แต่เพียงว่า ความสุขสงบนั้น มันผุดขึ้นมาจากข้างใน มันอยู่ในตัวเขา มันเป็นความปลื้มปีติ ความแช่มชื่นอะไรบางอย่างที่ไม่เกี่ยวกับโลกภายนอกเลย สิ่งนั้นก็คือ สาธุจิต คือ ปัณฑระจิต และคือสุขุมจิต ซึ่งได้บังเกิดขึ้นกับเสกสรรค์ แต่ในตอนนั้น เสกสรรค์ยังไม่รู้จักชื่อเหล่านี้เลย เขารู้แต่เพียงว่า “ปาฏิหาริย์แห่งชีวิต” ได้เกิดขึ้นกับตัวเขาแล้วเท่านั้น! (รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องราวของเสกสรรค์ โปรดอ่านงานของผู้เขียนเรื่อง “ยอดคนเสกสรรค์กับมังกร Soul Brothers” สำนักพิมพ์สามัญชน, พ.ศ. 2551)

* * *

คุรุ ของ “เขา” ได้ถ่ายทอด วิถีแห่งการเกิดสุขุมจิต ให้แก่ลูกศิษย์ของท่านว่า วิถีแห่งการเกิด สุขุมจิต หรือการอบรม สุขุมจิต ให้เกิดนั้น จะต้องประกอบด้วย ทาน ศีล ภาวนา แผ่เมตตา อ่อนน้อมถ่อมตน ซื่อตรง ซื่อสัตย์ กตัญญู สำนึกหน้าที่และมีวินัย ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางการอบรม สุขุมจิต คือทำให้จิตนี้สุขุมขึ้น ลุ่มลึกขึ้น ละเอียดขึ้น อ่อนโยนยิ่งขึ้น ด้วยการคิดดี พูดดี และทำดีอยู่เสมอ อีกทั้งยังต้องเป็นคนรู้รักสามัคคี มีน้ำใจ รู้จักให้อภัย ไม่เห็นแก่ตัวอีกด้วยถึงจะสามารถอบรม สุขุมจิต ให้เกิดขึ้นได้

คุรุ จึงบอกว่า พระบริสุทธิธรรมสูงสุดนั้นก็คือ จิตที่บริสุทธิ์และเป็นสุขุมจิต ซึ่งฝึกให้เข้าถึงได้ด้วยการหมั่นหลับตาส่งความรู้สึกไปภายใน เพ่งความรับรู้ไปที่จิตของตน แล้วเฝ้าสังเกตองค์ประกอบต่างๆ ของจิตซึ่งประกอบด้วย อาการจิต 10 ลักษณะจิต 4 (คิด-รับ-จำ-รู้) และสถานะจิต 3 (ปัจจุบันจิต, อดีตจิต, อนาคตจิต) เมื่อเฝ้าดูจิตตามรู้องค์ประกอบต่างๆ ของจิตนี้ไปเรื่อยๆ ในที่สุด จิตของผู้นั้นก็จะเริ่มผ่อนคลาย เบา สบาย จนกระทั่งเข้าถึงความว่าง ซึ่งไม่มีเครื่องประกอบจิต มีแต่จิตแท้ๆ คือ รู้ มีแค่ ตัวรู้ อย่างเดียว ไม่คิด ไม่รับ ไม่จำ จึงมีแต่ปัจจุบันจิต ไม่มีอดีตจิต ไม่มีอนาคตจิต รู้อยู่แต่ในปัจจุบันขณะเท่านั้น มิหนำซ้ำปัจจุบันขณะนี้ก็เป็นปัจจุบันที่ไม่มีอะไรเป็นองค์ประกอบ เพราะขณะนั้น ตาของผู้นั้นก็ยังหลับอยู่ แม้หูของผู้นั้นจะได้ยินก็เพียงแค่รู้ว่าสักแต่ได้ยินเสียงที่เกิดกับหู ไม่ใช่ที่จิต

อนึ่ง เวลาเพ่งจิต ดูอาการเป็นไปของจิต ลักษณะของจิต และสถานะจิตนั้น คุรุ บอกว่า ต้องใช้ ตัวรู้ ไปมองที่จิต หรือใช้จิตดูจิต ในตอนแรกๆ จึงควรหลับตาฝึกและใช้แต่หูเท่านั้น เพื่อที่จะกำกับ ตัวรู้ ให้มันรู้เฉพาะบางเรื่อง แค่ที่กายกับใจเท่านั้น ครั้นเมื่อผู้นั้นลืมตาฝึก ผู้นั้นก็ต้องมีสติคอยเฝ้าระวังว่า อะไรมันกำลังเกิดขึ้นกับจิต แล้วอย่ารับอารมณ์เข้ามา อย่าน้อมไปคือ อย่าทำให้ “มโน” ซึ่งเป็นอาการอย่างหนึ่งของจิตเกิด พอ มโน ไม่เกิดหรือไม่น้อมไป ก็จะไม่เกิด “หทัย” ซึ่งเป็นอาการอีกอย่างหนึ่งของจิต หรือไม่ก็เก็บอารมณ์ไว้ ด้วยเหตุนี้ ตัวรู้จึงห้ามจิตได้

การฝึกใช้จิตดูจิตจึงเป็นการมองเข้าไปในความรู้สึกของตนว่ามีอะไรปรากฏหรือไม่ และเฝ้ามองไปในความเป็นจิตนั้น จนกระทั่งเห็นว่ามันไม่มีอะไร เป็นแต่เพียงแค่ว่างๆ โล่งๆ ผ่อนคลาย สว่าง สบาย สงบ ปรากฏขึ้นมา นั่นแหละคือ สุขุมจิต

คุรุ บอกว่า จงใช้ตัวรู้เพ่งดูความว่างและความโล่งภายในอยู่เช่นนั้น จนกระทั่งความสุขุมของจิตหรือสาธุจิตนี้กระจายขยายออกไปเต็มทรวงอกของผู้นั้น และเมื่อ สุขุมจิต ปรากฏขึ้นแล้ว ก็จะเหลือแต่ปัจจุบันกับตัวรู้เท่านั้น จากนั้นให้ผู้นั้นลองส่งความรู้สึกที่เป็นปัจจุบันกับตัวรู้เพ่งไปที่ฝ่ามือสองข้าง ซึ่งวางหงายพาดไว้บนหัวเข่า ด้วยอารมณ์ที่นิ่ง และตามรับรู้สิ่งที่ปรากฏที่ฝ่ามือ 2 ข้าง ก็จะรู้ว่ามันมีไอร้อนปรากฏหนาขึ้น หนาขึ้น แน่นขึ้น แน่นขึ้น จนจิตดิ่ง ไออุ่นกับจิตรวมกันเป็นหนึ่งเดียว โดยไออุ่นเป็นนิมิต มีจิตที่เพ่งอยู่เป็นบริกรรม ผู้นั้นต้องระวังที่จะไม่ปล่อยให้ตัวเองตกเป็นทาสของภวังคจิต ถ้ารู้สึกจะเคลิ้มเมื่อไหร่ให้กลับมาอยู่ที่ลมหายใจ พอหายจากภวังค์แล้วก็ให้กลับไปเพ่งที่ไออุ่นที่ปรากฏที่ฝ่ามือ ทำอยู่อย่างนี้ ทำสลับอยู่เช่นนี้ จนจิตแนบนิ่งขึ้นเป็น องค์ฌาน ในที่สุด

คุรุ บอกว่า นี่เป็นการตามรู้จากเรื่องละเอียดอย่างในเรื่ององค์ประกอบของจิต มาสู่เรื่องหยาบอย่างในเรื่องของการเพ่งที่ฝ่ามือ 2 ข้าง จนกระทั่งสามารถตามรู้ได้ทั้งละเอียดและหยาบ ตามรู้ได้ทั้งภายนอกและภายใน เพื่อที่ผู้นั้นจะได้สามารถเผชิญกับทุกสภาวะ ทุกสถานการณ์ได้อย่างไม่สะทกสะท้าน ได้อย่างไม่สับสน ไม่โยกคลอน และไม่ตกเป็นทาสของสิ่งใด

ผู้ใดก็ตาม ที่สามารถพัฒนาจิตของตนได้จนถึง สุขุมจิต ด้วยการเฝ้าดูจิต เฝ้ารับรู้ที่จิต อย่างรู้ชัดรู้ลึกเข้าไปถึงจิตในจิตอย่างเห็นชัดเพียงแค่ตัวรู้ ผู้นั้นก็ย่อมเข้าถึงความเยือกเย็น ผ่อนคลาย สบาย ไร้นิวรณธรรม ไร้มลทินทั้งปวง สงบและสว่าง คุรุ บอกว่า สุขุมจิต แบบนี้ย่อมเข้าถึง มโนวิญญาณธาตุได้ และ ปัณฑระ หรือความแช่มชื่นเบิกบานก็ย่อมแฝงสิงอยู่ในนั้น

ด้วยเหตุนี้ สุขุมจิต มโนวิญญาณธาตุและปัณฑระ จึงอยู่ในที่เดียวกัน จิตแบบนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จิตศักดิ์สิทธิ์





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้