48. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 48) 3/3/2552

48. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 48) 3/3/2552

โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 48)

48. ความเป็นมาของทุนนิยมสามานย์ในประเทศไทย กับภารกิจทางประวัติศาสตร์ของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ต่อ)

ผู้เขียนได้กล่าวไปแล้วว่า ขั้นตอนหลักๆ ของระดับจิตมนุษย์ และโลกทัศน์หลักเท่าที่ได้ปรากฏในสังคมไทย จากอดีตจนถึงปัจจุบันนั้นได้แก่ โลกทัศน์แบบมายาคติ โลกทัศน์แบบปรัมปราคติ โลกทัศน์แบบเหตุผลนิยม และโลกทัศน์แบบพหุนิยม โดยที่แต่ละขั้นตอนหลักๆ ของระดับจิต และโลกทัศน์ที่เกิดขึ้นในแต่ละระดับจิตนั้น มันจะมีปฏิสังสรรค์กับแต่ละขั้นตอนหลักๆ ของพัฒนาการทางเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีด้วยเสมอ ซึ่งจะก่อให้เกิด ประเภทของสังคม ตามขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่สอดคล้องกับโลกทัศน์หลัก (predominant worldview) และระดับจิตเฉลี่ยของผู้คนในแต่ละสังคมนั้น ยกตัวอย่างเช่น สังคมเพาะปลูก ก็จะมีโลกทัศน์หลักเป็นแบบมายาคติ สังคมเกษตรก็จะมีโลกทัศน์หลักเป็นแบบปรัมปราคติ สังคมอุตสาหกรรมก็จะมีโลกทัศน์หลักเป็นแบบเหตุผลนิยม สังคมข่าวสารก็จะมีโลกทัศน์หลักเป็นแบบพหุนิยมเหล่านี้ เป็นต้น

ลักษณะเฉพาะของพัฒนาการแบบทุนนิยมสามานย์ในประเทศไทยที่เข้าสู่กระบวนการทำให้ทันสมัย โดยทอดทิ้งภาคชนบทขนาดใหญ่ให้ล้าหลังอย่างยืดเยื้อ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โลกทัศน์แบบมายาคติ และโลกทัศน์แบบปรัมปราคติยังคงดำรงอยู่ในจิตสำนึกของชาวชนบทเป็นจำนวนมาก อีกสาเหตุหนึ่งก็สืบเนื่องมาจากตัวนโยบายของรัฐไทย และระบอบอำมาตยาธิปไตยเองที่ทำให้ชาวนาไทยต้องจมปลักอยู่กับวิถีการผลิตที่ล้าหลัง “การพัฒนา” ที่ผลักดันโดยรัฐไทยที่ผ่านมา ก็มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบทได้น้อย ส่วนใหญ่เป็นแค่การผลักดันให้ชาวนาชาวไร่ไทยเข้าสู่เศรษฐกิจทุนนิยมด้วยวิถีการผลิตและเทคโนโลยีที่ยังล้าสมัย และด้วยโลกทัศน์แบบดั้งเดิมอยู่เท่านั้น

ทั้งกลไกของรัฐไทยก็ดี กลไกตลาดแรงงานของเศรษฐกิจทุนนิยมไทยก็ดี ล้วนแล้วแต่ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน คือ ทำให้ชนบทถูกทอดทิ้งให้จมปลักอยู่กับความล้าหลังอย่างยากที่จะลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้ เพราะแม้แต่แรงงานของคนหนุ่มคนสาวในภาคชนบทจำนวนมาก ก็ยังทิ้งชนบทมุ่งหน้าสู่เมืองในรูปของแรงงานราคาถูก หรือผู้ขายบริการทางเพศ

ขณะที่อิทธิพลของข่าวสารจากฟรีทีวีในยุคสังคมข่าวสารกลับไปกระตุ้นลัทธิบริโภคนิยมในหมู่คนชนบทไทย ให้มีความใฝ่ฝันแบบคนชั้นกลาง ซึมซับโลกทัศน์แบบคนชั้นกลางมาเฉพาะวิถีการบริโภค และความเป็นวัตถุนิยม ผนวกกับโลกทัศน์แบบมายาคติ และปรัมปราคติที่มีอยู่เดิมกลายเป็น โลกทัศน์ของ “คนชั้นกลางระดับล่าง” ที่เป็นโลกทัศน์แบบเหตุผลนิยมกลายพันธุ์ที่ยอมรับค้ำจุนนโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยมผสมธนาธิปไตยของรัฐบาลทักษิณอย่างเต็มใจ และหันไปสนับสนุนระบบอุปถัมภ์แบบใหม่ภายใต้ระบอบทักษิณแทนระบอบอุปถัมภ์แบบเดิมของระบอบอำมาตยาธิปไตย ไม่ต้องเป็นที่สงสัยเลยว่า โลกทัศน์ของ “คนชั้นกลางระดับล่าง” ในภาคชนบทแบบนี้ ย่อมขัดแย้งกับโลกทัศน์ของชนชั้นกลางไทยในเขตเมืองอย่างแน่นอน

ความแตกแยกทางความคิดครั้งใหญ่ ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ จึงมีรากเหง้าที่หยั่งลึก ซึ่งสืบเนื่องมาจากการประเมินระบอบทักษิณที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มคนชั้นกลางระดับล่างในภาคชนบทกับชนชั้นกลางในเขตเมือง โดยที่สาเหตุหลักๆ น่าจะมาจากขั้นตอนการเติบโตของจิต หรือระดับจิตที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดระหว่างคน 2 กลุ่มนี้ ซึ่งทำให้มีโลกทัศน์ที่ต่างกันและก็สร้าง “สังคม” ที่ต่างกันออกไปอย่างเปรียบเทียบเห็นได้ชัด และนี่คือ ความจริงพื้นฐานที่สำคัญมากในการทำความเข้าใจวิกฤต และความแตกแยกที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะ ระดับจิตที่โตขึ้น พัฒนาขึ้นย่อมจะมีความสามารถในการรับรู้ที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้คนผู้นั้นสามารถมองโลกแตกต่างไปจากเดิมด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป

จะว่าไปแล้ว คุณูปการอันยิ่งใหญ่ของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งนอกจากจะลุกขึ้นมาโค่นล้มระบอบทักษิณตั้งแต่ต้นปี 2549 จนถึงปัจจุบันแล้ว ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ มันได้ก่อให้เกิด กระบวนการเรียนรู้ และการยกระดับจิตแบบรวมหมู่ครั้งใหญ่อย่างก้าวกระโดด ขึ้นในสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยในด้านหนึ่งเป็นการฟื้นฟู พลังทางศีลธรรม ซึ่งเป็น ด้านบวกของโลกทัศน์แบบปรัมปราคติ ให้กลับคืนมาสู่สังคมไทยอีกครั้ง

ส่วนในอีกด้านหนึ่งก็ เป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งความเข้มแข็งให้แก่ระดับจิตที่มีโลกทัศน์แบบเหตุผลนิยม โดยผ่านการผลักดัน “การเมืองใหม่” ซึ่งมีลักษณะของความเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างแท้จริง

กระบวนการเรียนรู้ และยกระดับจิตแบบรวมหมู่อย่างก้าวกระโดด โดยผ่าน ไฮเปอร์โพลิติกส์ (hyperpolitics) หรือ การเข้าร่วมทางการเมืองอย่างเข้มข้น ของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนี้ มันเท่ากับว่า ขบวนการพันธมิตรฯ ได้เข้าไป “เปลี่ยนแปลง” ทิศทางของการพัฒนาแบบทุนนิยมสามานย์ของสังคมไทยที่ย่ำเดินอยู่บนเส้นทางนี้มานับเป็นสิบๆ ปี ให้กลับไปสู่กระบวนการทันสมัยนิยม หรือ กระบวนการทำให้ทันสมัย (modernization) ที่ “สมเหตุสมผล” ยิ่งกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้สังคมไทยโดยรวมสามารถก้าวเข้าสู่ กระบวนการหลังทันสมัยนิยม หรือ โพสต์โมเดิร์น ได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น และจะเป็นการวางรากฐานที่เข้มแข็งของ โลกทัศน์แบบพหุนิยม ซึ่งเป็นโลกทัศน์หลักของผู้คนในโลกศิวิไลซ์ให้แก่ชนชั้นกลางไทยหลังจากนี้ อันเป็นการ “ปฏิวัติการเรียนรู้” ของชนชั้นกลางไทย และเป็นการสร้าง สังคมความรู้ ที่แท้จริงขึ้นมาในสังคมไทยได้ในที่สุด

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า มันเป็น ความจริงแห่งวิภาษวิธีของความก้าวหน้า (dialectic of progress) ที่ทำให้ คุณประโยชน์ของความทันสมัยที่ยั่งยืน จักเห็นผลอย่างเป็นจริงเป็นจังได้ก็ในขั้นตอนของหลังทันสมัยนิยม หรือโพสต์โมเดิร์นแล้วเท่านั้น เหมือนกับที่ คุณประโยชน์ของประชาธิปไตยทางอ้อมนั้น ยากที่จะเห็นได้ในขั้นตอนของทันสมัยนิยมที่เป็นธนาธิปไตย และสามานย์อย่างระบอบทักษิณ แต่มันจะแลเห็นได้ชัด เมื่อสังคมไทยได้เข้าสู่ขั้นตอน หลังทันสมัยนิยมที่กลุ่มชนต่างๆ ในทุกภาคส่วนของสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองที่เป็น “การเมืองใหม่” อย่างเปิดกว้างแล้ว

เพราะฉะนั้น แนวทางการรักษา “ระบบ” และ “ระบอบประชาธิปไตย” เอาไว้ จึงไม่ใช่แค่การต่อต้านการรัฐประหารทุกรูปแบบเท่านั้น และยิ่งไม่ใช่การปฏิเสธบทบาทที่เป็นคุณูปการทางประวัติศาสตร์ของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพียงเพราะรูปการหลักแห่งจิตสำนึกที่แสดงออกของขบวนการพันธมิตรฯ เป็น “ราชาชาตินิยม” อันเป็นโลกทัศน์แบบปรัมปราคติที่ถูกปัญญาชนส่วนหนึ่งมองว่าล้าหลัง

แต่ การจะรักษา “ระบบ” และ “ระบอบประชาธิปไตย” เอาไว้ได้ รวมทั้งสามารถพัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืนได้นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสนับสนุน และผลักดันขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยให้รุดหน้า ทั้งในเรื่องการเรียนรู้ และการยกระดับจิตกับยกระดับโลกทัศน์ของผู้คนในขบวนการให้เข้าสู่โลกทัศน์แบบพหุนิยมโดยเร็วที่สุดให้จงได้ นี่คือความจริงแห่งวิภาษวิธีของความก้าวหน้าของประชาธิปไตยไทย ในขั้นตอนปัจจุบัน และ เป็นจุดยืนจากระดับจิตที่มีโลกทัศน์แบบบูรณานิยมขึ้นไป เพราะฉะนั้น จึงสามารถอธิบายได้ว่า ทำไมปัญญาชนที่มีระดับจิตแบบบูรณานิยมขึ้นไป จึงเข้ามาสนับสนุนขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

เพราะผู้นั้นมองวิวัฒนาการของสังคมอย่างเป็นองค์รวม และเข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อนของแต่ละระดับจิต หรือแต่ละโลกทัศน์อย่างปราศจากอคติ ขณะที่บางส่วนของปัญญาชนที่มีระดับจิตแบบพหุนิยม กลับมีท่าทีที่เย็นชาต่อขบวนการพันธมิตรฯ เพราะผู้นั้นไม่อาจ “ก้าวข้าม” อคติต่อบางโลกทัศน์ได้

ความจริงแห่งวิภาษวิธีของความก้าวหน้าของประชาธิปไตยไทยในขั้นตอนปัจจุบันนี้ สามารถเข้าใจได้ด้วย การเมืองแห่งเกลียวพลวัต (politics of spiral dynamics) ซึ่งมีที่มาจาก ทฤษฎี “เกลียวพลวัต” อันเป็น โมเดลวิวัฒนาการระดับจิตของมนุษย์ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเทียบเคียงได้กับโครงการชีววิทยาที่ยิ่งใหญ่อย่าง Human Genome Project โดยอาจเรียกได้ว่าเป็น Human Consciousness Project

โมเดล “เกลียวพลวัต” นี้ ผู้บุกเบิกคนแรกคือ แคร์ เกรฟส์ (Clare Graves) ที่ได้ทำการทดสอบ วิจัยรูปแบบการพัฒนาของจิตมนุษย์กับคนจำนวนห้าหมื่นคนทั่วโลก แล้วไม่พบข้อขัดแย้งที่สำคัญแม้แต่กรณีเดียว ต่อมาลูกศิษย์ของเขาคือ ดอน เบ็ค (Don Beck) และคริสโตเฟอร์ โควาน (Christopher Cowan) ได้นำโมเดลนี้มาปรับปรุง ทดสอบ และใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาแบ่งแยกสีผิวในประเทศแอฟริกาใต้จนเป็นผลสำเร็จ

โมเดลเกลียวพลวัต นี้ ได้ทำการแบ่งระดับจิตของมนุษย์ ด้วย มีม (Memes) โดยอธิบายว่า ถ้า ยีน (genes) เป็นตัวกำหนดพัฒนาการทางกายภาพของคนเรา มีม ก็เป็นตัวกำหนดพัฒนาการทางจิตใจของเราด้วย โดยที่ มีม หมายถึง ระบบคุณค่าหลัก ที่คนเราสร้างขึ้นมาเพื่อให้ความหมายแก่ตัวเอง และแก่โลกของผู้นั้น

โมเดลเกลียวพลวัต ได้ทำการวิจัยเชิงประจักษ์ และค้นพบว่า มีความเป็นไปได้ที่คนเราจะให้ความหมายแก่ตัวเอง และโลกของตัวเองได้ 9 อย่าง ซึ่งก็คือ ระดับจิต 9 ระดับของมนุษย์ซึ่งจำแนกตามประเภทของ มีม โดยใช้สีเป็นตัวจำแนก โดยระดับจิตทั้ง 9 นี้ ยังจำแนกออกเป็นสอง “ชั้น” (tier) ใหญ่ๆ คือ 6 ระดับจิตแรกเป็น ชั้นที่หนึ่ง (first-tier thinking) อันเป็น ระดับจิตแบบยังคิดเรื่องของตัวเองเป็นหลักอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อความอยู่รอดในเชิงปัจจัย ความอยู่รอดของสถาบันหลักที่ตนเองยึดถือ ความอยู่รอดทางธุรกิจของตนเองหรือความอยู่รอดทางความคิด และวาทกรรมของตนเองก็ตาม เพราะฉะนั้นจิตของคนใน 6 ระดับแรกนี้ จึงมักขัดแย้ง และปะทะทางความคิดหรือโลกทัศน์กันอยู่เสมอ เพราะต่างฝ่ายต่างก็ยังยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวกู-ของกู ในรูปแบบต่างๆ อยู่

โมเดลเกลียวพลวัต จึงบอกว่า การจำแนกคนตามสีของมีม มิใช่ตามสีผิว มันได้ช่วยปลดปล่อยอคติของผู้คนในแอฟริกาใต้จากเรื่องสีผิวได้ เพราะว่าแม้สีผิวของผู้คนไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ก็จริง แต่จิตใจของผู้คนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยมันจะเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับขั้นของมีมสีต่างๆ

ส่วน ชั้นที่สอง (second-tier thinking) ซึ่งมี 3 ระดับ คือ ระดับที่ 7-8-9 ของโมเดลเกลียวพลวัต เป็น ระดับจิตที่เริ่มข้ามพ้นตัวตน (transpersonal) ได้แล้ว จนสามารถพัฒนาภายในจิตใจได้อย่างบูรณาการ อย่างเป็นองค์รวม และรอบด้าน

ระดับจิตทั้ง 9 หรือแถบสีทางจิต หรือมีมทั้ง 9 ในโมเดลเกลียวพลวัตมีรายละเอียดดังนี้

(1) มีมสีเบจ (beige) เป็นจิตระดับสัญชาตญาณดั้งเดิม ที่มุ่งต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตให้รอด จิตจะคำนึงแต่เรื่องการหาอาหาร น้ำ เครื่องนุ่งห่ม และความปลอดภัยเป็นหลัก เรื่องอื่นๆ จะไม่อยู่ในความสนใจเลย ตัวอย่างของจิตระดับ มีมสีเบจ จึงเป็นระดับจิตของฝูงชนที่อดอยาก ของผู้คนที่อยู่ระหว่างความตื่นตระหนกกับการสู้รบในสงครามของเด็กเกิดใหม่ ของคนชรา ของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะสุดท้าย พลังทางสังคมของคนระดับจิตชั้นนี้คือ 0% ทั่วโลกมีประชากรในระดับจิตนี้ราวๆ 0.1%

(2) มีมสีม่วง เป็นระดับจิตของคนที่เชื่อในไสยศาสตร์อย่างงมงาย เป็นระดับจิตที่โน้มเอียงในการมองทุกอย่างเป็นขาวกับดำอย่างสิ้นเชิง จิตของคนระดับนี้ยังเชื่อในเรื่องคำสาปแช่ง โชคลาง และวิญญาณของบรรพบุรุษ มีความผูกพันแบบชนเผ่า ตัวอย่างของจิตระดับ มีมสีม่วง นี้ เห็นได้ในกลุ่มที่เชื่อในพิธีกรรมทางไสยศาสตร์อย่างถอนตัวไม่ขึ้น พลังทางสังคมของคนระดับจิตขั้นนี้คือ 1% ทั่วโลกมีประชากรในระดับจิตนี้ราวๆ 1%

(3) มีมสีแดง เป็นระดับจิตของคนที่เชื่อในอำนาจของเทพเจ้า มุ่งหวังการปกป้องคุ้มครองจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เต็มไปด้วยแรงผลักดัน หลงใหลในความเป็นฮีโร่ ชอบแก้ไขปัญหาด้วยการใช้กำลังความรุนแรง เป็นโลกทัศน์ของคนที่เห็นว่า ชีวิตคือการต่อสู้เพื่อเอาชนะ ชิงไหวชิงพริบ มุ่งหาความสุขทางผัสสะทางกายอย่างสุดฤทธิ์ ไม่คิดหน้าคิดหลัง ไม่สนใจเรื่องของอนาคต ตัวอย่างของจิตระดับ มีมสีแดง เห็นได้ในพวกวัยรุ่นที่ชอบยกพวกตีกัน พวกนักพนัน พวกที่หลงใหลในฮีโร่ นักกีฬา พวกที่คลั่งดารานักร้อง พวกนิยมพระเอกอย่างเจมส์ บอนด์ หรือขุนแผน พลังทางสังคมของคนระดับจิตขั้นนี้คือ 5% ทั่วโลกมีประชากรในระดับจิตนี้ราวๆ 20%

(4) มีมสีน้ำเงิน เป็นระดับจิตของคนที่เชื่อในเรื่องระเบียบวินัย กฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติตามระเบียบ ธรรมเนียม กฎหมายที่สังคมวางไว้ให้โดยไม่ตั้งคำถามมีความรู้สึกรักชาติ ยึดถือความถูกต้องตามคัมภีร์ตำราเป็นหลักในการดำรงชีวิตอย่างเหนียวแน่น และไม่สามารถยอมรับวิถีการดำรงชีวิตที่แตกต่างไปจากนั้นได้ เป็นระดับจิตของคนที่สามารถอุทิศชีวิตให้แก่อุดมการณ์ความเชื่อของตนได้ ตัวอย่างของจิตระดับ มีมสีน้ำเงิน เห็นได้ในกลุ่มรักชาติ กลุ่มลูกเสือ พวกอำนาจนิยม พวกเชื่อในลัทธิศาสนาแบบสุดโต่ง และพวกที่เชื่อในเรื่องการจัดระเบียบสังคมอย่างเข้มงวด พลังทางสังคมของคนระดับจิตขั้นนี้คือ 30% ทั่วโลกมีประชากรในระดับจิตนี้ราวๆ 40%

(5) มีมสีส้ม เป็นระดับจิตที่เชื่อในความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ยึดติดกับความเชื่อเป็นกลุ่ม (herd mentality) อย่างพวกมีมสีน้ำเงินชอบค้นหาความจริงด้วยตัวเอง ชอบตั้งสมมติฐาน หาคำตอบด้วยระบบเหตุผลและการทดลอง คิดแบบภววิสัย มองโลกแบบวิทยาศาสตร์ที่พยายามหาทางควบคุม และใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ เป็นระดับจิตของคนที่มุ่งเน้นไปที่ความสำเร็จภายนอก เพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขทางวัตถุ เป็นผู้ที่มุ่งใช้การบริหารการจัดการตามหลักวิชาการ และวิทยาศาสตร์ในการกำหนดเศรษฐกิจ การเมือง และสภาวะของมนุษย์เป็นระดับจิตของคนที่มองว่า โลกนี้คือกระดานหมากรุกสำหรับการเล่นแข่งขัน ชีวิตคือ เกมการแข่งขันที่ผู้ชนะเป็นฝ่ายได้ และผู้แพ้เป็นฝ่ายเสีย เป็นจิตของคนที่หมกมุ่นแต่เรื่องกลยุทธ์ และชอบแสวงหาความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ ตัวอย่างของจิตระดับ มีมสีส้ม นี้เห็นได้ในภาคเอกชนที่เป็นพวกนักล่าความสำเร็จ ไม่ว่าจะในกลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มการเงิน กลุ่มบริการ เป็นต้น พลังทางสังคมของคนระดับจิตขั้นนี้คือ 50% ซึ่งมากที่สุดในขณะนี้ ขณะที่ทั่วโลกมีประชากรในระดับจิตนี้ราวๆ 30% และมีแนวโน้มมากขึ้นโดยค่อยๆ เข้ามาแทนที่กลุ่มมีมสีน้ำเงินซึ่งมีแนวโน้มลดลง

(6) มีมสีเขียว เป็นระดับจิตที่ใส่ใจในเรื่องความมีน้ำใจ ชุมชนห่วงใยสิ่งแวดล้อม ต้องการเห็นความผูกพันสมานฉันท์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ ต้องการให้มีการเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่าย คนในระดับจิตนี้จะเห็นว่า การเติบโตทางจิตหมายถึง การก้าวพ้นไปจากความโลภ และการแบ่งพรรคแบ่งพวกเป็นระดับจิตของคนที่ใช้หัวใจตัดสินมากกว่าใช้สมอง ต่อต้านโครงสร้างอำนาจที่มุ่งควบคุมและครอบงำ ใช้ความรู้สึกตัดสินการเลือกมีความสัมพันธ์เชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหาโดยใช้ประชามติและการเจรจา ยอมรับค่านิยมที่หลากหลายและแตกต่าง จึงเป็นพวกสัมพัทธ์นิยมแบบพหุนิยม (pluralistic relativism) ซึ่งไม่เชื่อว่า มีความถูกต้องเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ตัวอย่างของจิตระดับ มีมสีเขียว นี้ เห็นได้ในพวกโพสต์โมเดิร์น พวกนิยมนิเวศวิทยาแนวลึก กลุ่มกรีนพีซ กลุ่มพิทักษ์สิทธิสัตว์ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชน กลุ่มที่นิยมงานเขียนของฟูโกลท์และแดริดา (Foucault and Derrida) พลังทางสังคมของคนระดับจิตขั้นนี้คือ 15% ทั่วโลกมีประชากรในระดับจิตนี้ราวๆ 10% ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว

มีมสีทั้ง 6 สีหรือระดับจิตทั้ง 6 ระดับที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นจิตที่อยู่ใน ชั้นที่หนึ่ง (the first tier) โดยที่ มีมสีเขียว เป็นระดับจิตขั้นสุดท้ายของ ชั้นที่หนึ่ง ที่อยู่ในตำแหน่งที่สามารถ “ก้าวกระโดดครั้งใหญ่” ไปสู่ระดับจิตใน ชั้นที่สอง (the second tier) ได้ แต่ ความเป็นปฏิปักษ์ของมีมสีเขียวที่มีต่อมีมต่างๆ ในชั้นที่สอง โดยเฉพาะในเรื่องการยอมรับในเรื่องจิตวิญญาณ และเรื่องการบูรณาการองค์ความรู้ในทุกๆ มิติอย่างรอบด้าน ได้กลายมาเป็นอุปสรรคสำคัญที่กีดขวางการพัฒนาไปสู่ ชั้นที่สอง ของ มีมสีเขียว

ทั้งๆ ที่ ระดับจิตในชั้นที่สอง เป็นระดับจิตรวมหมู่เป็นครั้งแรกของมนุษยชาติที่สามารถทำความเข้าใจ พัฒนาการด้านในของทุกระดับจิตอย่างเป็นองค์รวมได้ (the entire spectrum of interior development) จึงสามารถเห็นถึงความสำคัญของแต่ละระดับจิต หรือแต่ละมีมว่าล้วนมีความหมายอย่างยิ่งยวดต่อสุขภาวะโดยรวมของกระบวนการแห่งเกลียวพลวัตทั้งหมด

ขณะที่ ไม่มีมีมชั้นที่หนึ่งสีไหนเลย แม้แต่มีมสีเขียวที่สามารถชื่นชมในคุณค่า และการดำรงอยู่ของมีมสีอื่นๆ ยกเว้นมีมสีของตัวเองได้อย่างแท้จริง แต่ละมีมสีในชั้นที่หนึ่งจะคิดว่า โลกทัศน์ของตัวเองเป็นโลกทัศน์ที่ถูกต้องที่สุดหรือดีที่สุดเสมอ และจะตอบโต้ต่อมีมสีอื่นในเชิงลบ ถ้าถูกท้าทาย ด้วยเหตุนี้ ความแตกแยกทางความคิดระหว่างมีมสีต่างๆ ในชั้นที่หนึ่งจึงเกิดขึ้นได้เสมอ

มีมสีน้ำเงินที่ชอบจัดระเบียบสังคมจะไม่ชอบความห่ามของมีมสีแดง และลัทธิปัจเจกชนนิยมของมีมสีส้ม ขณะที่มีมสีส้มจะมองความชอบจัดระเบียบของมีมสีน้ำเงินว่าเป็นเรื่องล้าหลัง และมองลัทธิเสมอภาคนิยม (egalitarianism) ของพวกมีมสีเขียวว่า เพ้อฝันไม่ติดดิน

ขณะที่มีมสีเขียวจะต่อต้านอำนาจนิยมทุกรูปแบบ ไม่ชอบการจัดลำดับทางคุณค่า จึงมีท่าทีที่ไม่เป็นมิตรต่อมีมสีน้ำเงิน และมีมสีส้ม รวมทั้งมีมที่อยู่พ้นไปจากมีมสีเขียว เพราะฉะนั้น กลุ่มพลังทางการเมืองกลุ่มต่างๆ ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยมีมชั้นที่หนึ่งสีต่างๆ จึงมักขัดแย้งกัน และไม่สามารถเปิดใจอีกฝ่ายให้เปลี่ยนแปลงจุดยืนของตนได้ “สงครามประชาชน” ถ้าจะเกิดก็เป็นเพราะเกิด สงครามความคิดระหว่างมีมในชั้นที่หนึ่ง นี่เอง







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้