โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 51)
51. ความเป็นมาของทุนนิยมสามานย์ในประเทศไทย กับภารกิจทางประวัติศาสตร์ของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ต่อ)
ปัจจุบันโลกเราอยู่ในภาวะวิกฤตที่รุนแรง และสังคมไทยของเราก็ตกอยู่ในภาวะวิกฤตที่รุนแรง และภาวะเสื่อมทรุดในด้านต่างๆ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนจนน่าใจหาย ดูเหมือนว่าในขณะนี้ ขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะเป็นขุมพลังทางการเมืองขุมพลังเดียวเท่านั้น ที่มีศักยภาพและมีความมุ่งมั่นทางการเมืองที่จะมุ่งแก้วิกฤตของสังคมไทยด้วย “การเมืองใหม่” ให้จงได้ แต่การจะมุ่งแก้วิกฤตใดๆ นั้น ล้วนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ พลังความคิด พลังจินตนาการ และพลังปฏิบัติการที่เป็นระบบ-หลากมิติอย่างบูรณาการ รวมทั้ง ความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า และต่อเนื่องยาวนานถึงจะเป็นผลสำเร็จได้
คุณประโยชน์ของ โลกทัศน์แบบบูรณาการ นั้นอยู่ที่ ความสามารถในการนำเสนอกรอบวิธีคิด และระเบียบวิธีการศึกษาเรียนรู้ที่สามารถทำให้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างเป็นองค์รวม แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถวิเคราะห์สิ่งต่างๆ อย่างแยกส่วนได้ โดยไม่ขัดแย้งกันหรือไม่ไปลดทอนมิติของปัญหา หรือของวิกฤตที่กำลังมุ่งแก้ไขอยู่ โดยไม่ปฏิเสธองค์ความรู้ใดๆ เลย ทั้งองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติ ทางสังคมศาสตร์ ทางวัฒนธรรม และทางจิตวิญญาณในฐานะที่ต่างก็เป็นภูมิปัญญาของมนุษยชาติที่สั่งสมกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีอคติหรือฉันทาคติต่อองค์ความรู้สาขาใดสาขาหนึ่งเป็นพิเศษ
ในสายตาของ โลกทัศน์แบบบูรณาการ โลกนี้ประกอบด้วยสิ่ง/กระบวนการ/เหตุการณ์เท่านั้น และสิ่งที่ต้องเรียนรู้ก็คือ เหตุการณ์/ประสบการณ์/องค์ความรู้ต่างๆ เท่านั้น แต่อะไรเล่าคือหน่วยย่อยสุดในการวิเคราะห์สรรพสิ่งของโลกทัศน์แบบบูรณาการ?
คำตอบก็คือ โฮลอน (holon) หรือ หน่วยองค์รวม คือหน่วยย่อยสุดที่ โลกทัศน์แบบบูรณาการ ใช้เป็นพื้นฐานในการสร้างกรอบทฤษฎี/ปรัชญา/ญาณวิทยา ในการรับรู้ทำความเข้าใจความเป็นจริงที่หลายมิติ และซับซ้อนอย่างเห็นเป็นภาพรวมได้ อย่างที่ได้เคยกล่าวไปแล้วว่า ประวัติศาสตร์ของจักรวาฬ (Kosmos) ที่เริ่มต้นจากบิ๊กแบง เป็นประวัติศาสตร์แห่งวิวัฒนาการจากวัตถุธาตุไปสู่ชีวิต และไปสู่จิตใจหรือจิตสำนึกของมนุษย์ โดยที่โลกทางวัตถุธาตุนั้นเรียกว่า “กายภูมิ” (the phisiosphere) โลกทางชีวิตเรียกว่า “ชีวภูมิ” (the biosphere) และโลกทางจิตใจยังแบ่งออกเป็นโลกทางจิตวิทยาที่เรียกว่า “เจตภูมิ” เป็น (the noosphere) กับโลกทางจิตวิญญาณที่เรียกว่า (ธรรมภูมิ” (the theosphere)
การศึกษาโลกและจักรวาฬ จึงไม่ควรจำกัดอยู่แค่ กายภูมิ อย่างวิชาฟิสิกส์หรือแค่ ชีวภูมิ อย่างวิชาชีววิทยาหรือนิเวศวิทยา หรือแค่ เจตภูมิ อย่างวิชาจิตวิทยา หรือแค่ ธรรมภูมิ อย่างหลักธรรมทางศาสนา แต่ควรศึกษาทุกๆ ภูมิของจักรวาฬอย่างครอบคลุมการวิวัฒนาการทุกมิติ โดยใช้ หน่วยวิเคราะห์ ที่สามารถวิเคราะห์แต่ละภูมิได้อย่างไม่ติดขัด และสามารถอธิบายหลักแห่งวิวัฒนาการของจักรวาฬอย่างสามารถที่จะนำเสนอ “วิสัยทัศน์เชิงบูรณาการ” (integral vision) ให้แก่สังคมและมนุษยชาติได้
หน่วยวิเคราะห์ที่ว่านั้นก็คือ โฮลอน (holon) หรือ หน่วยองค์รวม นั่นเอง โฮลอน ได้ถูก โลกทัศน์แบบบูรณาการ นำมาใช้เป็น หลักการข้อแรก ในการศึกษาวิวัฒนาการของจักรวาฬที่กล่าวว่า
“ความจริงประกอบด้วย โฮลอน หรือ หน่วยองค์รวมต่างๆ” หรือ
“ความจริงประกอบขึ้นมาจากองค์รวม/ส่วนย่อย (whole/parts)” ในความหมายที่ว่า สิ่งต่างๆ (entity) เป็นองค์รวม (whole) ในตัวของมันเอง แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นบางส่วนหรือส่วนย่อยของสิ่งอื่นที่เป็นองค์รวมที่ใหญ่กว่าด้วย โฮลอน คือองค์รวมที่เป็นส่วนย่อยขององค์รวมอื่น ยกตัวอย่างเช่น อะตอมทั้งหมดเป็นส่วนย่อยของโมเลกุลทั้งหมด ซึ่งโมเลกุลทั้งหมดก็เป็นส่วนย่อยของเซลล์ทั้งหมด ซึ่งก็เป็นส่วนย่อยของอวัยวะทั้งหมด เพราะฉะนั้น สิ่งต่างๆ จึงไม่ใช่เป็นแค่องค์รวม หรือไม่ใช่เป็นแค่ส่วนย่อย แต่ต้องมองว่า สิ่งต่างๆ เป็นทั้งองค์รวม และส่วนย่อยในเวลาเดียวกันคือเป็นโฮลอน นี่คือการเข้าใจสิ่งต่างๆ ในเชิงวิภาษวิธี (dialectic)
กล่าวโดยนัยนี้ โฮลอน จึงมิใช่สิ่งที่ดำรงอยู่ในเชิงภาววิสัยเหมือนกับ อนุภาค ซึ่งเป็นองค์ประกอบของจักรวาฬในมิติของกายภูมิ แต่ โฮลอน เป็นสิ่งที่มนุษย์เราใช้ในการมอง ทำความเข้าใจ และอธิบายสรรพสิ่งในเชิงตรรกะเพื่อที่จะสามารถบูรณาการความรู้ต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และจิตวิญญาณเข้าด้วยกันได้ ด้วยเหตุนี้ โฮลอน จึงเป็นเสมือนจุดอ้างอิงที่คนเราใช้ในการตีความสิ่งต่างๆ ในบริบทต่างๆ ที่สำคัญมาก เพราะจากจุดอ้างอิงของ โฮลอน เมื่อเราใช้ในการพิจารณาสรรพสิ่ง เราจะเห็นว่า สรรพสิ่งประกอบขึ้นมาจากโฮลอน สิ่งประดิษฐ์ (artifacts) ซึ่งเป็นผลผลิตของโฮลอน และกองต่างๆ ของวัตถุ (heap) เช่น กองดิน กองทราย ฯลฯ
หรืออาจพูดได้ว่า สรรพสิ่งประกอบขึ้นมาจาก โฮลอนที่มี “ตัวรู้” (sentient holon) กับโฮลอนที่ไม่มี “ตัวรู้” (insentient holon) ซึ่งได้แก่ สิ่งประดิษฐ์กับกองต่างๆ ของวัตถุ จึงเห็นได้ว่า โฮลอนที่มี “ตัวรู้” เป็นใจกลางของกระบวนการวิวัฒนาการของสรรพสิ่ง เพราะ สิ่งประดิษฐ์ที่โฮลอนที่มี “ตัวรู้” ได้สร้างขึ้นมานั้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้า ภาษา วัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ กฎหมาย ระบบการเมือง เทคโนโลยี ฯลฯ มันก็คือโลกทั้งหมดที่เรารู้จัก หรือคืออารยธรรมทั้งหมดของมนุษยชาตินั่นเอง
เพราะฉะนั้น โลกทัศน์แบบบูรณาการ จึงมองว่า ถ้าหากสามารถเข้าใจหลักวิวัฒนาการของ โฮลอนที่มี “ตัวรู้” ได้ เราก็จะสามารถมีวิชันหรือ วิสัยทัศน์เชิงบูรณาการ ที่สามารถเข้าใจทิศทางการวิวัฒนาการของสรรพสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งนั่นย่อมช่วยให้คนเราสามารถแก้ไขปัญหา และวิกฤตต่างๆ อย่างมีวิสัยทัศน์และอย่างบูรณาการโดยแท้จริงได้
หลักการข้อที่สอง ในการศึกษาวิวัฒนาการของจักรวาฬนั้นกล่าวว่า
“โฮลอน (หน่วยองค์รวม) ทั้งปวงล้วนมีคุณลักษณะที่แน่นอนบางอย่าง” หลักการนี้สืบเนื่องมาจากหลักการข้อแรกที่กล่าวว่า “ความจริงของจักรวาฬประกอบขึ้นมาจาก โฮลอน ต่างๆ” เนื่องจากว่า แต่ละ โฮลอน ล้วนเป็นองค์รวม/ส่วนย่อยอยู่ในตัวเอง เพราะฉะนั้น โฮลอน แต่ละตัวจึงต้องมีแนวโน้มสองอย่างอยู่ในตัวเพื่อรักษาความเป็นตัวของมันเอาไว้ นั่นคือ แนวโน้มรักษาความเป็นองค์รวม (wholeness) กับ แนวโน้มรักษาความเป็นส่วนย่อย (partness) ของตัวมันเอาไว้
แนวโน้มในการรักษาความเป็นองค์รวมของตัว โฮลอน จึงหมายถึง การรักษา เอกลักษณ์ ของตัวมัน และ ความเป็นตัวของตัวเอง (autonomy) ของตัว โฮลอน เพราะถ้า โฮลอน ล้มเหลวในการรักษาแนวโน้มนี้ ตัวมันเองก็ดำรงอยู่ไม่ได้ สิ่งนี้เป็นความจริงของ โฮลอน ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นอะตอม เซลล์ อวัยวะ หรือไอเดียก็ตาม
แต่ โฮลอน นอกจากจะเป็นองค์รวมในตัวของมันเองแล้ว มันยังเป็นส่วนย่อยของระบบอื่น หรือองค์รวมอื่นด้วยในเวลาเดียวกัน เพราะฉะนั้น โฮลอน แต่ละตัว นอกจากจะต้องรักษาความเป็นตัวของตัวเองเอาไว้แล้ว ขณะเดียวกันก็ต้องสามารถ ปรับตัว หรือ ทำตัวให้เหมาะสม กับสิ่งแวดล้อม หรือระบบอื่นที่เป็น โฮลอน ที่ใหญ่กว่า โฮลอน ที่เป็นส่วนย่อยของมันด้วย
ความสามารถในการรักษาความเป็นตัวของตัวเอง (ที่เป็นองค์รวม) กับ ความสามารถในการทำตัวให้เหมาะสม (ในฐานะที่เป็นส่วนย่อย) นี้ เราเรียกว่าเป็น ความสามารถตามแนวนอน (horizontal capacities) ของ โฮลอน แต่ตัว โฮลอน นอกจากจะมีความสามารถตามแนวนอน (ในระดับเดียวกัน) แล้ว มันยังมี ความสามารถตามแนวตั้ง (vertical capacities) (ในต่างระดับ) อีกด้วย ซึ่งความสามารถตามแนวตั้งนี้ก็มี 2 อย่างเช่นกันคือ ความสามารถในการข้ามพ้นตัวเอง (self-transcendence) กับ ความสามารถในการสลายตัวเอง (self-dissolution)
เพราะฉะนั้น เราจึงต้องเข้าใจว่า กระบวนการวิวัฒนาการจึงไม่ใช่เป็นกระบวนการคัดสรรตามธรรมชาติ (natural selection) เหมือนอย่างที่ลัทธิดาร์วินเชื่อกัน แต่ วิวัฒนาการเป็นกระบวนการในการข้ามพ้นตัวเองของเหล่าโฮลอนต่างหาก ด้วยการเพิ่มองค์ประกอบใหม่ๆ เข้าไปในกระบวนการนั้น
หากเอามุมมองนี้ไปอธิบาย วิวัฒนาการของวัฒนธรรมทางการเมืองที่ขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กำลังผลักดันอยู่โดยผ่านการโค่นล้มระบอบทักษิณ ก็จะเป็นว่า “การเมืองใหม่” จะต้องเป็นกระบวนการในการข้ามพ้นตัวเองของการเมืองเก่า โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงในจิตสำนึก เจตนารมณ์ทางการเมือง ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางการเมือง และการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันทางการเมืองในที่สุด
ส่วน แรงผลักดันที่ก่อให้เกิดการข้ามพ้นตัวเอง (self-transcending) นั้น ก็มาจากตัวจักรวาฬ (Kosmos) เองที่ค่อยๆ เผยตัวออกมาอย่างเต็มรูปยิ่งขึ้นเรื่อยๆ มิได้มาจากการต่อสู้ทางชนชั้นเหมือนอย่างที่พวกฝ่ายซ้ายเข้าใจผิดกันแต่ประการใด เพราะแรงผลักดันในการข้ามพ้นตัวเองของจักรวาฬนี้แหละ ที่ทำให้ “ชีวิต” ผุดโผล่บังเกิดขึ้นมาจาก “วัตถุธาตุ” และก็ทำให้ “ใจ” (mind) ผุดโผล่บังเกิดขึ้นมาจาก “ชีวิต” และยังทำให้ “จิตวิญญาณ” ผุดโผล่ขึ้นมาจาก “ใจ” ด้วย โดยการผุดโผล่บังเกิดขึ้นมาในแต่ละขั้นล้วนแล้วแต่เป็น “การข้ามพ้นตัวเอง” ของ โฮลอน ในระดับนั้นทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น หลักการข้อที่สาม ในการศึกษาวิวัฒนาการของจักรวาฬ จึงกล่าวว่า “โฮลอน เป็นสิ่งที่ผุดโผล่ออกมา” และ โฮลอน ใหม่ๆ ที่ผุดโผล่ขึ้นมาจะนำความแปลกใหม่ ความสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และรูปแบบใหม่ๆ ตามมาด้วย พวกเราทุกคนจึงล้วนดำรงชีวิตอยู่ในเอกภพที่การสร้างสรรค์ล้วนผุดบังเกิดขึ้นมาอย่างไม่มีจบสิ้น ธรรมจิต (Spirit) ก็คือ สุญญตา คือการสร้างสรรค์ และคือตัวจักรวาฬเอง โดยที่จากธรรมจิตหรือจากความว่างก่อให้เกิด “รูป” (form) และรูปใหม่ๆ ที่ผุดโผล่ออกมาก็คือ โฮลอน ที่ผุดบังเกิด จะเห็นได้ว่า การสร้างสรรค์มิใช่เป็นเรื่องบังเอิญ แต่มันผุดบังเกิดขึ้นมาจากความว่าง (Emptiness) หรือจักรวาฬอย่างมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนอันหนึ่งที่สามารถรับรู้ได้จากการเผยตัว ผุดบังเกิด โฮลอน ใหม่ๆ ออกมาอย่างเป็นระบบ อย่างมีโครงสร้างในท่ามกลางกระบวนการแห่งวิวัฒนาการของตัวจักรวาฬเอง
นี่คือ หลักการข้อที่สี่ ในการศึกษาวิวัฒนาการของจักรวาฬที่กล่าวว่า “โฮลอน ผุดโผล่ออกมาอย่างมีโครงสร้างเป็นลำดับชั้น (holarchy)” holarchy เป็นคำผสมระหว่างคำว่า hierachy กับคำว่า holon ซึ่งเป็นโครงสร้างเป็นลำดับขั้นตามธรรมชาติ (natural hierachy) ที่ดำรงอยู่อย่างเป็น โฮลอน อยู่แล้วอย่างเช่น อนุภาค-อะตอม-โมเลกุล-เซลล์ หรืออักษร-คำ-ประโยค-บท ฯลฯ ในเมื่อ โฮลอน เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในจักรวาฬ และโครงสร้างเป็นลำดับชั้นแบบโฮลอน (holarchy) ก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่พ้น
เพราะฉะนั้น เราจึงอาจกล่าวได้ว่า รูปแบบการพัฒนา และวิวัฒนาการทั้งปวงจะต้องขับเคลื่อนไปโดยการทำให้เป็นโครงสร้างอย่างเป็นลำดับชั้นแบบโฮลอน (holarchization) ซึ่งเป็นกระบวนการที่เพิ่มความเป็นองค์รวม ด้วยการผุดโผล่ โฮลอนใหม่ ซึ่งหลอมรวม โฮลอนเก่า เข้าไปด้วย
นี่เป็น หลักการข้อที่ห้า ในการศึกษาวิวัฒนาการของจักรวาฬ ที่กล่าวว่า “โฮลอน ที่ผุดโผล่ขึ้นมาแต่ละอัน จะ ก้าวข้าม แต่ก็ หลอมรวม โฮลอน ก่อนหน้านั้นเอาไว้ด้วย”
ยกตัวอย่างเช่น เซลล์ย่อม ก้าวข้าม โมเลกุลของมัน แต่ก็ รวม โมเลกุลอยู่ในตัวภายใต้โครงสร้างเป็นลำดับชั้นแบบ โฮลอน นี่เป็นความเข้าใจที่สำคัญมากในการศึกษา วิวัฒนาการของสรรพสิ่ง ที่แลเห็นว่า โฮลอน ทั้งหลายเป็นองค์รวม/ส่วนย่อย โดยที่ในฐานะที่เป็น องค์รวม มัน ก้าวข้าม แต่ในฐานะที่เป็น ส่วนย่อย มันถูก หลอมรวม เพราะฉะนั้นวิวัฒนาการของจักรวาฬ จึงมิใช่สิ่งอื่นใดนอกจากการก้าวข้ามและหลอมรวม...การก้าวข้ามและหลอมรวมเท่านั้น
ในกระบวนการก้าวข้ามและหลอมรวมของวิวัฒนาการของจักรวาฬนี้ มันเกี่ยวข้องกับ ความลึก และ ระยะกว้าง (span) ของวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นจากการที่วิวัฒนาการของจักรวาฬได้คลี่คลายออกมาในเชิงโครงสร้างแบบโฮลอนที่มีต่ำมีสูงของภูมิต่างๆ เช่น เจตภูมิ สูงชั้นกว่า ชีวภูมิ และ ชีวภูมิ สูงชั้นกว่า กายภูมิ หาก ชีวภูมิ หรือระบบนิเวศถูกทำลาย จิตมนุษย์ที่อยู่ใน เจตภูมิ ก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้
ความลึก ของวิวัฒนาการหมายถึง จำนวนระดับชั้นที่ดำรงอยู่ในโครงสร้างแบบโฮลอน ซึ่งหมายความว่า ยิ่งมีจำนวนระดับชั้นมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความลึกแห่งวิวัฒนาการมากขึ้นเท่านั้น ส่วน ระยะกว้าง ของวิวัฒนาการหมายถึง จำนวนของโฮลอนในระดับชั้นหนึ่งๆ ในโครงสร้างแบบโฮลอน เพราะฉะนั้น หลักการข้อที่หก ในการศึกษาวิวัฒนาการของจักรวาฬ จึงกล่าวว่า “วิวัฒนาการก่อให้เกิดความลึกที่เพิ่มมากขึ้น แต่ระยะกว้างกลับแคบลง” เรื่องนี้ก็ทำความเข้าใจได้ไม่ยาก
กล่าวคือ จำนวนเซลล์ซึ่งลึกกว่าโมเลกุล แต่มีจำนวนน้อยกว่าโมเลกุล ขณะที่จำนวนโมเลกุลซึ่งลึกกว่าอะตอมก็มีจำนวนน้อยกว่าอะตอม เพราะโฮลอนที่สูงกว่าย่อม “ก้าวข้ามและหลอมรวม” โฮลอนที่ต่ำกว่า จึงทำให้โฮลอนที่สูงกว่ามีจำนวนน้อยกว่าโฮลอนที่ต่ำกว่าเสมอโดยไม่มีข้อยกเว้น
คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่า การพัฒนานั้นยิ่งขยายใหญ่ขึ้น (ระยะกว้างมากขึ้น) ยิ่งดี แต่ความจริงแล้ว การพัฒนานั้นต้องยิ่งลึกขึ้นถึงจะดีต่างหาก จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่คนที่มีระดับจิตใจที่สูงส่ง (ลึกล้ำ) มากเท่าใด ก็จะมีจำนวนน้อยลง (ระยะกว้างแคบลง) เพียงนั้น
นี่คือสิ่งที่เรียกกันว่า พีระมิดแห่งวิวัฒนาการ โดยที่ ชีวิต มีความลึกกว่า วัตถุธาตุ แต่มีระยะกว้าง (จำนวน) แคบน้อยกว่า ส่วน จิตใจ ก็มีความลึกกว่า ชีวิต แต่มีระยะกว้างแคบน้อยกว่า และ ธรรมจิต (Spirit) หรือ ความเป็นจิตวิญญาณ ย่อมมีความลึกกว่า จิตใจ แต่มีระยะกว้างแคบน้อยกว่าเช่นกัน
ปุถุชนนั้น ก็มี จิตใจ เช่นเดียวกับ อริยบุคคล แต่ ความเป็นจิตวิญญาณ ของปุถุชน ยังมิได้ผุดขึ้นมาเหมือนกับอริยบุคคลเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ คนที่มีจิตใจสูงส่ง หรือมีระดับความลึกมากในวิวัฒนาการของจิต (เลิศมนุษย์) จึงมักกลายเป็นสิ่งแปลกแยก หรือเพี้ยนในสายตาของปุถุชนที่มีความลึกน้อยกว่า แต่มีจำนวนมากกว่า
จะเห็นได้ว่า ทิศทางความลึกในวิวัฒนาการทางจิตของคนเรานั้น สุดท้ายแล้วย่อมนำไปสู่ความเป็นเลิศมนุษย์ หรืออริยบุคคลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนกว่าจะถึงระดับสูงสุดแห่งวิวัฒนการของจักรวาฬ เพราะฉะนั้น ภารกิจทางประวัติศาสตร์ของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะต้องถูกกำหนดให้สอดคล้องกับทิศทางไปสู่ความลึกของวิวัฒนการของจักรวาฬ ถึงจะสามารถบรรลุ ภารกิจศักดิ์สิทธิ์ ของตนได้เป็นผลสำเร็จ รวมทั้งสามารถสถาปนา “การเมืองใหม่” ขึ้นมาในสังคมไทยได้