45. ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 45) 19/2/2551

45. ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 45) 19/2/2551

ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 45)


45. จิตศักดิ์สิทธิ์แห่งจตุคามรามเทพ (ต่อ)

การสลัดโซ่ตรวนทางปัญญาที่พันธนาการความรู้สึกนึกคิดของคนเรานั้น เป็นสิ่งที่ควรได้รับการกระตุ้นเตือนและปลูกฝังให้แก่อนุชนรุ่นหลัง โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับ ประวัติความเป็นมาของชนชาติตนเอง และสิ่งที่เราควรตระหนักก็คือเกี่ยวกับเรื่องแบบนี้ ไม่มีเผ่าพันธุ์ใดจะมาเข้าใจอดีตของที่ใดๆ ได้ดีกว่าผู้ที่สืบสายแห่งชีวิตมาบนแผ่นดินนั้นเอง

คงเป็นเรื่องยากมากที่จะมีนักวิชาการที่ผ่านการอบรมบ่มเพาะมาในกระแสหลักจะกล้าแหกคอยแหกกรอบการวิจัยที่ต่างไปจากที่นักประวัติศาสตร์ชาตินักล่าอาณานิคมได้เคยทำเอาไว้ แต่การกล้าแหกคอกออกไปอย่างที่นักวิชาการอิสระอย่าง เสนีย์อนุชิต ถาวรเศรษฐ ได้เคยทำไว้ในการศึกษาเรื่อง อาณาจักรศรีโพธิ์ (อาณาจักรศรีวิชัย) กลับทำให้คนไทยเราได้รับรู้ในสิ่งที่ไม่เคยได้รับรู้มาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องราวเมื่อ 1,300 ปีก่อนหน้านี้...

ในหนังสือ “บันทึกการปฏิบัติธรรมในหมู่เกาะทะเลใต้” (พ.ศ. 1228) หลวงจีน อี้จิง ได้กล่าวไว้ว่า อาณาจักรศรีโพธิ์ ประกอบด้วยแคว้นต่างๆจำนวน 10 แคว้นตั้งอยู่บริเวณหมู่เกาะทะเลใต้ของจีน โดยที่แคว้นมลายูเป็นดินแดนของอาณาจักรไปเรียบร้อยแล้ว

หลวงจีนอี้จิงยังได้บันทึกไว้อีกว่า ใน พ.ศ. 1207 หลวงจีนฮวยนิงเคยเดินทางไปที่เมืองโฮลิง (ตามพรลิงค์) เพื่อขอให้พระภิกษุญาณภัทรช่วยแปลและตีความพระคัมภีร์ภาษาสันสกฤตของพุทธศาสนานิกายหินยานออกเป็นภาษาจีน ณ เมืองโฮลิงนี้ ส่วนหลวงจีนอี้จิงเองก็ได้รับคำแนะนำจากหลวงจีนฮวยนิงให้เดินทางไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ประเทศอินเดีย

ต่อมาคณะราชทูตของ อาณาจักรศรีโพธิ์ ได้ขอนิมนต์หลวงจีนอี้จิงให้เดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ดังนั้นในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 1214 หลวงจีนอี้จิง จึงได้เดินทางลงเรือสำเภาของชาวเปอร์เซียที่เมืองกวางตุ้ง เพื่อเดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลันนาลันทา โดยในวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 1214 หลวงจีนอี้จิงได้เดินทางไปถึงเมืองโพธิ์นารายณ์ ได้พบกับหลวงพ่อญาณภัทร ต่อมาจึงได้เดินทางมาจำพรรษที่เมืองตามพรลิงค์ เพื่อศึกษาภาษาบาลีและสันสกฤตก่อนเดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยนาลันทา

หลวงจีนอี้จิง ได้ทำการบันทึกตำแหน่งที่ตั้งแว่นแคว้นต่างๆ ด้วยนาฬิกาแดดกลายเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งแว่นแคว้นต่างๆ ที่สำคัญไว้ด้วย หลวงจีนอี้จิง จำพรรษาที่เมืองตามพรลิงค์ ประมาณ 1 พรรษา จนกระทั่งเดือนธันวาคม พ.ศ. 1215 หลวงจีนอี้จิง จึงได้อาศัยเรือสำเภาของมหาราชาแห่ง อาณาจักรศรีโพธิ์ เดินทางไปยังอินเดีย เพื่อศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทาถึง 12 ปีเต็ม จนถึง พ.ศ. 1228 จึงได้เดินทางกลับจากอินเดียมาจำพรรษาอยู่ที่เมืองตามพรลิงค์ของ อาณาจักรศรีโพธิ์ และได้เขียน “บันทึกการปฏิบัติธรรมในหมู่เกาะทะเลใต้” ขึ้นที่นั่น

ส่วน กำเนิดของอาณาจักรศรีโพธิ์ ใน พ.ศ. 1202 มีความเป็นมาดังต่อไปนี้

เจ้าชายหะนิมิตร ผู้เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของ ท้าวอู่ทอง (พระยาพาน) กับ หม่อมหญิงวงศ์จันทร์ ทรงประสูติใน พ.ศ. 1163 เมื่อ เจ้าชายหะนิมิตร มีพระชนมายุ 21 พรรษา พระองค์พร้อมด้วยพระอนุชา เจ้าชายศรีไชยนาท ซึ่งมีพระชนมายุ 20 พรรษา ได้เดินทางไปบวชเรียนเป็นพระภิกษุ ณ วัดประดู่ เมืองโพธิ์นารายณ์ และในปีต่อมาได้เดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ประเทศอินเดีย จนกระทั่งจบการศึกษาจึงกลับมาเป็น มหาอุปราชา ของ อาณาจักรอู่ทอง ส่วนเจ้าชายศรีไชยนาท ดำรงตำแหน่ง นายกฯ ของอาณาจักรอู่ทอง ในสมัยนั้น

ครั้นพอถึงปี 1195 เกิด สงครามแย่งม้า ขึ้นโดย กองทัพพม่า และกองทัพมอญ ได้ร่วมกันทำสงครามใหญ่โดยยกกองทัพเข้าโจมตีเมืองต่างๆ ของ อาณาจักรอู่ทอง จนต้องย้ายศูนย์กลางอำนาจรัฐไปอยู่ที่เมืองศรีโพธิ์ และ ตั้งศูนย์กลางอำนาจรัฐใหม่ขึ้นที่บริเวณภูเขาน้ำร้อน เกาะดอนขวาง ท้องที่อำเภอไชยา ในปัจจุบัน โดยเรียกว่าเป็น อาณาจักรเสียม-อู่ทอง

ในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 1202 มหาราชพ่อหะนิมิตร ทรงมีพระชนมายุได้ 39 พรรษา และมหาอุปราชาพ่อศรีไชยนาท ทรงมีพระชนมายุได้ 38 พรรษา หลังจากทรงชนะศึก สงครามแย่งช้าง ได้ ราชาสองพี่น้องจึงได้ประกาศทำพิธีบรมราชาภิเษกเป็นกษัตริย์บนยอดภูเขาสุวรรณบรรพต หรือภูเขาน้ำร้อนเป็น ปฐมกษัตริย์ ผู้ปกครองกรุงศรีโพธิ์ และตั้งชื่ออาณาจักรของตนเองใหม่ว่า อาณาจักรศรีโพธิ์ (อาณาจักรศรีวิชัย) แทนที่ อาณาจักรอู่ทอง มีพระนามว่ามหาราชาพ่อหะนิมิตร และ มหาอุปราชาพ่อศรีไชยนาท ตามลำดับ

รัชสมัยของ มหาราชาพ่อหะนิมิตร ผู้เป็น ปฐมกษัตริย์ ของ อาณาจักรศรีโพธิ์ นี้ดำรงอยู่ตั้งแต่ปี 1202 ถึงปี 1230 เป็นเวลาทั้งหมด 28 ปี หลักฐานต่างๆ ล้วนแสดงให้เห็นว่า อาณาจักรศรีโพธิ์ นี้ได้พัฒนาตนเองอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็น อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ ในรัชสมัยของพระองค์ โดยมีแว่นแคว้นต่างๆ ทั้งที่อยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่ และแว่นแคว้นที่เป็นหมู่เกาะใหญ่ถึง 3 หมู่เกาะคือ หมู่เกาะกาละ (สุมาตรา) หมู่เกาะราม (เกาะชวา) และหมู่เกาะศรีโพธิ์ (เกาะบอร์เนียว)

ข้อสันนิษฐานของเราก็คือ องค์จตุคามรามเทพ ในอดีตชาติ น่าจะเป็น มหาราชาพ่อหะนิมิตร (และมหาอุปราชาพ่อศรีไชยนาท) ผู้ปกครอง อาณาจักรศรีวิชัย ในช่วงที่รุ่งโรจน์ที่สุด ในประวัติศาสตร์ของอาณาจักรแห่งนี้

ไม่แต่เท่านั้น...อีกห้าร้อยกว่าปีต่อมา หลังจากที่ อาณาจักรศรีวิชัย พ่ายแพ้สงครามที่ถูกโจมตีโดยกองทัพของพระเจ้าราเชนทร์โจฬะ แห่งอาณาจักรทมิฬ-โจฬะ ในภาคใต้ของประเทศอินเดียแล้ว อาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งเป็น สหพันธรัฐ ก็เริ่มเสื่อมถอยลงไปตามลำดับ พระเจ้าราเชนทร์โจฬะได้ยกกองทัพเข้าโจมตีเมืองท่าหลายแห่งของ อาณาจักรศรีวิชัย จนเสียหาย และเป็นเหตุให้ชุมชนเมืองเหล่านี้แตกพลัดกระจัดกระจาย ทำให้ อาณาจักรศรีวิชัย เสื่อมอำนาจลงอย่างไม่อาจยับยั้งได้ตามกฎแห่งอนิจจัง

ใน พ.ศ. 1710พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช กับพระอนุชา พญาจันทรภาณุ ซึ่งเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองอื่นได้พาผู้คนที่รอดตายจากการล้มตายด้วยโรคห่าระบาด ลงเรือสำเภาหนีโรคภัยมาขึ้นที่หาดทรายแก้ว และได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่นั่นโดยขนานนามเมืองใหม่นี้ว่า นครศรีธรรมราชมหานคร เมื่อ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช สร้างเมืองเสร็จแล้วก็ทรงโปรดให้ก่อสร้างสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าขึ้นคือ พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช

พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ทรงปกครองเมืองนครศรีธรรมราชด้วยธรรมทรงเป็น ธรรมราชา และเปี่ยมไปด้วยพระบารมีทำให้เมืองนครศรีธรรมราชแห่งนี้มีเมืองบริวารถึง 12 เมืองอยู่โดยรอบ ทำให้เมืองนครศรีธรรมราชมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เมืองสิบสองนักษัตร

แต่อีกไม่กี่สิบปีหลังจากนั้น อาณาจักรศรีวิชัยก็ล่มสลายลงใน พ.ศ. 1758 โดยตกอยู่ภายใต้อำนาจของกษัตริย์ราชวงศ์อู่ทองแห่งอาณาจักรศรีสัชนาลัย ซึ่งได้แผ่ขยายอำนาจลงมาสถาปนากรุงอโยธยาศรีรามเทพนครขึ้นเป็นราชธานีทางฝ่ายใต้

การพ่ายแพ้แก่อาณาจักรทมิฬ-โจฬะ ไม่มีหลักฐานว่าเมืองนครศรีธรรมราชถูกสาปอย่างไร แต่การตกเป็นเมืองขึ้นเขมรในราว พ.ศ. 1730 ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ครองราชย์ใน พ.ศ. 1724-1758) พวกเขมรได้ยึดครองเมืองนครศรีธรรมราชสร้างพระสยมศิวลึงค์ไว้เหนือแผ่นดินเมืองนครศรีธรรมราช อันเป็นสัญลักษณ์แห่งคำสาปที่มีอาถรรพ์

สืบมาจนกระทั่งถึงสมัยกษัตริย์กรุงอโยธยาฯ ได้มีการแต่งตั้งขุนนางลงมาบูรณะฟื้นฟูเมืองนครศรีธรรมราช และพระมหาธาตุเจดีย์ หรือพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ขึ้นใหม่จนสำเร็จสิ้นใน พ.ศ. 1830 โดย ได้มีการฝังเสาหลักเมือง และวางดวงชะตาเมืองในลักษณะเป็นอาถรรพ์คำสาปไว้ไม่ให้เมืองนครศรีธรรมราชสามารถรวมตันกันแข็งข้อก่อกบฏต่อกรุงอโยธยาฯ ได้

ข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่งของเราก็คือ องค์จตุคามรามเทพ น่าจะกลับชาติมาเกิดอีกครั้ง เป็น พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช (และพญาจันทรภาณุ) ผู้ปกครอง อาณาจักรศรีวิชัย ในช่วงที่ตกต่ำที่สุด ก่อนที่จะล่มสลาย

เนื่องเพราะ พระองค์ได้เคยผ่านช่วงที่รุ่งโรจน์ที่สุด และช่วงที่ตกต่ำที่สุดแห่งอาณาจักรศรีวิชัยของพระองค์มาแล้ว พระองค์จึงทรงมีความผูกพันกับอาณาจักรแห่งนี้ของพระองค์อย่างลึกล้ำยิ่งกว่ากษัตริย์องค์ใด จนแม้กระทั่งพระองค์เสด็จสวรรคตไปแล้วก็ยังกลายมาเป็นวิญญาณอมตะ ที่เป็น “จิตศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งคอยดูแลบ้านเมืองนี้อยู่ แม้ว่าจะต้องรอเวลาอีกหลายร้อยปี หลังจากนั้นกว่าที่จะทรง “อวตาร” ลงมาเป็น จิตศักดิ์สิทธิ์แห่งจตุคามรามเทพ ตั้งแต่ พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา ก็ตาม

จากการได้สนทนากับองค์จตุคามรามเทพที่ลงมาประทับทรงในร่างทรง ทำให้ พล.ต.ท.สรรเพชญ ธรรมาธิกุล ได้รับรู้ว่า ในระหว่างที่เป็นมนุษย์ โดยเคยเป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรศรีวิชัย องค์จตุคามรามเทพ ได้มุ่งบำเพ็ญบารมี 6 ประการของพระโพธิสัตว์ ซึ่งได้แก่ ทานบารมี ศีลบารมี ขันติบารมี วิริยบารมี ฌานบารมี และปัญญาบารมีจนครบถ้วน ท่านจึงบรรลุความเป็น มนุษย์โพธิสัตว์ หรือ คฤหโพธิสัตว์ ในขณะที่ยังเป็นมนุษย์อยู่ และภายหลังจากที่พระองค์เสด็จสวรรคตไป สู่ปรโลก แล้ว ดวงวิญญาณของพระองค์ก็ยังคงพากเพียรสร้างบารมีขั้นสูงต่อไปใน เทวโลก นั้น จนทรงสำเร็จเป็น เทวโพธิสัตว์ ที่มีฤทธานุภาพยิ่งใหญ่ สามารถบังคับฟ้าดินสำแดงอิทธิฤทธิ์ให้เห็นได้ อีกทั้งยังทรง “ลงมา” ช่วยเหลือเกื้อกูลสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์และภัยพิบัติ ก่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขแก่บ้านเมือง

ถ้าหากเราเชื่อกันว่า องค์จตุคามรามเทพ คืออดีตกษัตริย์แห่งอาณาจักรศรีวิชัยที่พุทธศาสนามหายาน เคยครองความยิ่งใหญ่มาก่อน และมีคติความเชื่อเรื่อง การกลับชาติมาเกิดของพระโพธิสัตว์ โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่า พระมหากษัตริย์คือ อวตารของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และยังเป็นพระโพธิสัตว์ที่มีตัวตนจริงบนโลกมนุษย์

ดังนั้น การจะกลับชาติมาเกิดอีกกี่ครั้งก็ตาม จึงไม่ใช่เรื่องแปลก และยังทำให้สามารถอธิบายได้ว่า ไม่ว่าองค์จตุคามรามเทพจะเป็นกษัตริย์องค์ใดก็ตาม หรือเป็นกษัตริย์องค์ที่เราได้ตั้งข้อสันนิษฐานหรือไม่ก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้ว ท่านก็คือ อวตารภาคหนึ่งของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่คอยช่วยเหลือเหล่าสรรพสัตว์ให้พ้นจากห้วงแห่งทะเลทุกข์นั่นเอง






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้