ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 2)
2. ผู้ที่จะมาโค่นทักษิณ
"สิ่งที่น่ารังเกียจอย่างยิ่งนั้นไม่ใช่ทักษิณ แต่คือคนอย่างทักษิณหรือคือวัฒนธรรม วิธีคิดและโลกทัศน์อย่างทักษิณ"
นิธิ เอียวศรีวงศ์
คนไทยเคยโค่นรัฐบาลมาหลายครั้งหลายหนแล้ว พวกเขาเคยโค่นรัฐบาลทรราชใน พ.ศ. 2516 และพวกเขาเคยโค่นรัฐบาลสุจินดาที่มาจากคณะ รสช. ใน พ.ศ. 2535 อันที่จริงในตอนนั้น พวกเขาไม่เพียงแต่โค่นรัฐบาลลงเท่านั้น แต่ยังได้โค่นบางส่วนของระบบการเมืองที่เลวร้ายลงไปด้วย
นับตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา เขา น่าจะเป็นนักวิชาการคนแรกๆ ของเมืองไทยที่ประกาศตัวเป็น "พันธมิตร" กับสนธิ ลิ้มทองกุล และคณะ โดยเข้าไปร่วมในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรตั้งแต่ครั้งแรก ทั้งๆ ที่ในช่วงจังหวะที่ตัวเขาตัดสินใจขึ้นไปบรรเลงพิณกู่เจิ้ง ประกาศตัวเป็นพันธมิตรกับสนธินั้น นักวิชาการคนอื่นๆ ยังกังขาตั้งคำถามทั่วไปหมดเลยว่า สนธิจะเอาจริงหรือเปล่า หรือมีวาระซ่อนเร้นทางผลประโยชน์แอบแฝงหรือเปล่า
หากรู้จักสนธิด้วยข้อมูลในอดีต ในฐานะที่เป็นนักธุรกิจใหญ่ และเคยล้มละลายหลังช่วงฟองสบู่แตกมาก่อน โดยมีข้อมูลเพียงแค่นั้น และยึดติดกับภาพลักษณ์ของสนธิก่อนหน้านั้น ก็ย่อมตั้งข้อสงสัยเช่นนั้นเป็นธรรมดา แต่เขาติดตามความเป็นไปของสนธิ หลังจากนั้นมาพอสมควร เขารู้ว่าหลังจากฟองสบู่แตก สนธิไปบวชอยู่พักหนึ่ง ทบทวนบทเรียนความผิดพลาดล้มเหลวในอดีตของตน เจ็บอย่างเสือ เลียแผลอย่างเสือ โดยไม่ปริปากร้องคร่ำครวญ สนธิหันมาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง กลายเป็นศิษย์ของพระอริยบุคคลหลายรูป หนึ่งในนั้นคือ หลวงปู่พุทธะอิสระ ซึ่งก็เป็น คุรุ ของเขาเช่นกัน
ครั้งหนึ่ง หลวงปู่ได้ประสาทพรให้แก่สนธิซึ่งก้มลงกราบที่แทบเท้าของหลวงปู่ทั้งน้ำตาว่า
"ข้าขอให้พรเจ้า นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เจ้าจะไม่มีวันพ่ายแพ้ เจ้าจะมีแต่ชัยชนะ"
เขาตระหนักดี และเชื่อมั่นในความศักดิ์สิทธิ์แห่งวาจา แห่งธรรม และแห่งจิตของคุรุของเขา เขาจึงมีความเชื่อถือ และเชื่อมั่นในตัวของสนธิว่า ได้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงลึกอย่างลึกซึ้งในระดับจิตวิญญาณขึ้นกับตัวสนธิในช่วงนั้น และกลายเป็น การนิยาม "ตัวตนใหม่" ของสื่อผู้จัดการที่ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอย่างทรงพลังดุจนกฟีนิกซ์อีกครั้ง หลังจากเคยผ่านช่วงวิกฤตตกต่ำถึงขีดสุดมาแล้วในช่วงฟองสบู่แตก
สุภาษิตของนักรบญี่ปุ่นบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า "คนที่เคยเห็นและเคยผ่านนรกบนดินมาแล้ว เป็นคนที่เข้มแข็งที่สุด และจะเป็นคู่มือที่น่าสะพรึงกลัวที่สุด" ในสายตาของเขา สนธิคือบุคคลประเภทนี้ โดยเฉพาะในห้วงยามนั้น เขาคือบุคคลที่มีความเป็นไปได้เพียงคนเดียวที่จะโค่นทักษิณได้ ถ้าเขาตัดสินใจที่จะลุกขึ้นมารบแบบ "ตายเป็นตาย"
หลายคนในยุคนี้อาจยังไม่ทราบว่า ในสมัยเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 สื่อทุกชนิดทั้งสื่อทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ล้วนไม่กล้ารายงานข่าวการชุมนุมขับไล่ พลเอกสุจินดา คราประยูร ที่นำโดย พลตรีจำลอง ศรีเมือง แห่งพรรคพลังธรรม เพราะกลัวอำนาจรัฐบาลที่มีทหารหนุนหลัง จะมีก็แต่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการที่มีสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นเจ้าของฉบับเดียวเท่านั้นที่กล้ารายงานข่าว รวมทั้งลงรูปผู้มาชุมนุม ทั้งๆ ที่หนังสือพิมพ์กระแสหลักของประเทศไม่กล้า ทำให้ผู้คนชนชั้นกลางในเมืองได้รับทราบว่า จำนวนผู้มาชุมนุมขับไล่พลเอกสุจินดานั้น ไม่ได้มีนิดเดียวดังที่สื่อทีวี วิทยุรายงาน
ความกล้าของสนธิ และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการในครั้งนั้น มีส่วนทำให้จำนวนคนที่ไปร่วมชุมนุมขับไล่พลเอกสุจินดา คราประยูร มากขึ้น สามารถกดดันจนสุดท้าย พลเอกสุจินดาต้องลาออกไป หลังเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่ทหารสังหารหมู่ประชาชนที่มาชุมนุมอย่างสันติ
ในช่วงแรกๆ ที่สนธิลุกขึ้นมาไล่ทักษิณนั้น ตัวทักษิณเองชอบพูดว่าเพราะสนธิ เสียผลประโยชน์ สื่อบางฉบับ นักวิชาการหลายคนก็มองแบบนี้ แต่ลองคิดดูให้ดีๆ สิ ลองเอาตัวเองเป็นสนธิ ซึ่งก็เป็นคนทำธุรกิจสื่อคนหนึ่ง ลองถามตัวเองอย่างจริงใจสิว่า ถ้าเราเสียประโยชน์เพราะทักษิณจริงๆ แล้ว เรากล้าไหมที่จะลุกขึ้นมาต่อกรกับคนที่มีอำนาจมากที่สุดของประเทศอย่างที่สนธิได้กระทำลงไป?
คนกล้า แบบนี้มีไม่มากหรอก สิ่งที่สนธิทำลงไปถ้าตัวเขาไม่มีอุดมการณ์จริงๆ แล้วคงไม่กล้าเอาชีวิต และทรัพย์สมบัติของตนเข้ามาแลกมาเสี่ยงเช่นนี้หรอก
ในช่วงไม่กี่เดือนของการต่อสู้กับผู้มีอำนาจมากที่สุดในประเทศขณะนั้นของ สนธิ ลิ้มทองกุล ทำให้เขาแลเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่าง ผู้นำมวลชน อย่างสนธิกับ "ผู้นำประเทศ" อย่างทักษิณ อย่างแรกคือขนาดของหัวใจ ทั้งๆ ที่ทักษิณชอบแสดงวาจาโอหัง ปากกล้าไม่มีใครเกิน แต่พอสนธิท้าออกทีวีก็ชิ่งหนีไม่กล้าเผชิญหน้าด้วย หมดศักดิ์ศรีความเป็นลูกผู้ชาย และผู้นำประเทศอย่างน่าละอายแทน
ทักษิณเป็นคนซึ่งได้ยินแต่ไม่ฟัง ขณะที่สนธิเป็นคนที่ฟังคนอื่น มีความใจถึงกล้าได้กล้าเสีย มีความสามารถในการควบคุมตนเอง และสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ แม้บางครั้งสนธิจะพูดแรงในเชิงปลุกระดมต่อหน้ามวลชนที่มาชุมนุมขับไล่ทักษิณ แต่จากการสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด เขาพบว่า สนธิเป็นคนที่ควบคุมตัวเองได้ เวลามีคนมาท้าทาย เขาสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และอย่างใจเย็นด้วย
สิ่งที่ตัวเขาต่างจากปัญญาชน และนักวิชาการคนอื่นๆ ก็คือ ตัวเขามั่นใจตั้งแต่แรกแล้วว่า สนธิคือคนที่จะมาโค่นทักษิณลงได้ หลายคนชอบมาถามเขาว่าทำไมถึงมั่นใจเช่นนั้น ทั้งๆ ที่มันยังไม่มีปรากฏการณ์ที่บ่งบอกเด่นชัด
เขาบอกได้แต่เพียงว่า มันเป็น สัมผัสพิเศษของนักกลยุทธ์ ผู้ที่ฝึกฝนตนเองเป็นนักกลยุทธ์อย่างตัวเขาจะเชื่อถืออย่างอื่นไม่ได้ในการตัดสินใจเคลื่อนไหวปฏิบัติการใดๆ เขาจะต้องเชื่อถือในสัมผัสพิเศษของตัวเขาเองเท่านั้น สัมผัสพิเศษที่ว่านี้มาจาก จิตใจที่กระจ่างใส ที่ได้จากการฝึกจิตฝึกตนอยู่เป็นนิตย์ในชีวิตประจำวัน โดยการใช้ชีวิตประจำวันให้สงบนิ่ง มันจะมีตัวรู้ และความรู้ดีๆ ออกมาซึ่งมันมาจากแหล่งพลังอันเร้นลับอย่างหนึ่ง เขาได้ใช้สัมผัสพิเศษอันนี้มาประมวลกับองค์ความรู้ของตนเอง ในการตัดสินใจเคลื่อนไหวปฏิบัติการใดๆ ไม่ว่าในฐานะที่เป็นคอลัมนิสต์ หรือในฐานะที่อยู่ในเครือข่ายมวลชนหรือในเครือข่ายขุมพลังทางการเมืองที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดเพื่อต่อต้านระบอบทักษิณ โดยได้รับแรงบันดาลจากการลุกขึ้นสู้ของสนธิที่ต่อมารู้จักกันในชื่อของ "ปรากฏการณ์สนธิ"
เมื่อจำนวนผู้ชมรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ สนธิจึงย้ายสถานที่จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 6 วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม 2548 ที่อาคารลุมพินีสถาน (เวทีลีลาศ) สวนลุมพินี แทน โดยยังคงได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม จำนวนผู้เข้าชมเพิ่มจากหลักพันเข้าสู่หลักหมื่นด้วยอัตราทวีความเร่ง
รัฐบาลทักษิณได้งัดวิชามารมาปิดกั้นสื่ออีกรอบ โดยกรมประชาสัมพันธ์เขตต่างๆ ได้เรียกประชุมเคเบิลทีวีท้องถิ่นในพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมด ให้ถอดรายการการแพร่ภาพจาก ASTV ออกทั้งหมด พร้อมกันนั้น ขบวนการข่มขู่สนธิและหนังสือพิมพ์ผู้จัดการก็เริ่มขึ้น ด้วยการปาระเบิดเข้ามาในรั้วของสำนักงานผู้จัดการ ข่าวการข่มขู่จากอำนาจรัฐที่ออกไป ทำให้รายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 7 ในวันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2548 มีประชาชนจำนวนหลายหมื่นคน พร้อมใจกันใส่เสื้อสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ "เราจะสู้เพื่อในหลวง" เข้ามาร่วมฟังรายการอย่างเนืองแน่น และไม่หวาดหวั่นทั้งไม่ยอมสยบต่ออำนาจการคุกคามของระบอบทักษิณ
หลังจากเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 7 เผยแพร่ออกไป ได้มีปฏิกิริยาจากระบอบทักษิณอย่างรุนแรง มีการจัดตั้งขบวนการคุกคามสนธิทุกรูปแบบ โดยระดมตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 และภาค 4 ร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกับสนธิ โดยอ้างว่าเขาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมทั้งห้ามแพร่ภาพถ่ายทอดสดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร และห้ามเผยแพร่วีซีดีรายการนี้ด้วย
ทว่ายิ่งปิดกั้น ยิ่งสร้างกระแสความตื่นตัว เพื่อรับรู้ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่รัฐบาลปกปิด ด้วยเหตุนี้เอง รายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 8 วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2548 ประชาชนทั่วทุกสารทิศแห่แหนเข้ารับฟังรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรเนืองแน่นกว่าทุกครั้ง เป็นจำนวนกว่าห้าหมื่นคนล้นบริเวณการจัดงาน
สนธิยังเดินหน้าตอกย้ำพฤติกรรมหมิ่นเบื้องสูงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พร้อมกับนำประชาชนที่เข้าร่วมที่สวนลุมพินีร่วมกันกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายคืนพระราชอำนาจ และขอพระราชทานผู้นำการปฏิรูปการเมือง เพื่อจัดโครงสร้างทางการเมืองใหม่ให้หลุดพ้นจากการครอบงำของนายทุนพรรคการเมือง และเกิดประโยชน์สุขต่อปวงประชากร
* * *
...คืนวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2548 ณ สวนลุมพินี หลังจบรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 9
เขา ร่วมกับทีมงานของเครือผู้จัดการ เดินล้อมวง สนธิ ลิ้มทองกุล และสโรชา พรอุดมศักดิ์ ผู้ร่วมดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ท่ามกลางคลื่นมหาชนเสื้อเหลืองนับหมื่น มุ่งตรงไปลานอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพื่อทำการวางดอกไม้ถวายสักการะแด่พระองค์ท่าน
ระหว่างที่เดินไป ทั้งทำหน้าที่ บอดี้การ์ด และ ผู้สังเกตการณ์ ไปพร้อมๆ กันนั้น เขา พลันบังเกิดความรู้สึกที่แปลกประหลาด ทั้งคุ้นเคย ทั้งแปลกถิ่น ทุกประการที่เบื้องหน้าคล้ายไม่มีส่วนเกี่ยวตัวเขา แต่ก็พานเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งโดยเกี่ยวพันกับอนาคตของประเทศชาติว่าจะขับเคลื่อนไปในทิศทางใด
สภาพที่ตัวเขาทั้งมีส่วนร่วมและก็เป็นผู้สังเกตการณ์อยู่ด้านข้างไปพร้อมๆ กันนั้น มันทำให้เหตุการณ์ "ปรากฏการณ์สนธิ" ที่กำลังดำเนินอยู่ตรงหน้าเขานี้เป็นดุจเหตุการณ์ในฝัน เรื่องราวที่เกิดขึ้นคล้ายอยู่ระหว่างจริงกับไม่จริง
เขา สูดลมหายใจเข้าไปลึกๆ ดึงตัวเองกลับคืนสู่ห้วงแห่งความเป็นจริงในขณะนั้น แล้วก้าวเดินต่อไปร่วมกับสนธิ จนกว่าจะสิ้นสุดเส้นทางแห่งการสู้รบสายนี้