ธรรมบูรณา ภารกิจศักดิ์สิทธิ์กับบทเรียนการกู้ชาติทางจิตวิญญาณของ ศรี อรพินโธ (ตอนที่ 22)
22. ยุทธการชนฟ้า
ทักษิณอยู่ในอาการตื่นตระหนก และวิตกกังวลยิ่งขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่เกิดปรากฏการณ์ “ตุลาการภิวัฒน์” เป็นต้นมา จิตใจของเขาเต็มไปด้วยความหวาดระแวงต่างๆ นานา เพราะฉะนั้นหลังจากที่ประกาศเว้นวรรคเล่นๆ ไปพักหนึ่ง เขาก็กลับคำพูดเหมือนเคย แล้วกลับมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีอีกครั้งอย่างหน้าตาเฉย โดยที่ตัวเขาก็รู้ตัวว่า “อำนาจ” ของเขามันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว
ผลพวงของการลุกขึ้นสู้กับทรราชของมหาชนเรือนแสนเรือนล้าน ภายใต้การนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน 2549 เริ่มเป็นที่ประจักษ์แล้ว หลายส่วนของกลไกรัฐเริ่มขยับตัวไปในทิศทางที่จะตรวจสอบ และคานอำนาจระบอบทักษิณ ทั้งอย่างโจ่งแจ้งและอย่างซ่อนเร้น การขยับตัวของสถาบันหลักๆ ในสังคมนี้จะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าหากไม่มี เจตนารมณ์อันยิ่งใหญ่ของมวลมหาชน ที่ได้สำแดงพลังออกมาก่อนหน้านั้น ภายใต้การนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ทักษิณอยู่ในความคับข้องใจ เขารู้สึกราวกับว่า “อาณาจักร” ของเขากำลังถูกปิดล้อมโดยฝ่ายตรงข้ามกับเขา จนตัวเขารู้สึกอึดอัดมากยิ่งขึ้นทุกที ในที่สุดตัวเขาก็อดรนทนไม่ไหว และได้ตัดสินใจ “ตอบโต้” กลับไปบ้าง
ในวันที่ 29 มิถุนายน 2549 เมื่อมีการประชุมหัวหน้าส่วนราชการเพื่อชี้แจงแนวทางการปฏิบัติงานในช่วงรัฐบาลรักษาการของเขา ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องที่เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เข้าร่วมประชุมกว่า 500 คน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีได้ “โยนระเบิดลูกใหญ่” ใส่ที่ประชุมด้วยการพูดโพล่งขึ้นมาว่า
“วันนี้องค์กรนอกรัฐธรรมนูญคือ บุคคลซึ่งดูเหมือนมีบารมีนอกรัฐธรรมนูญเข้ามาวุ่นวาย องค์กรที่มีในระบบรัฐธรรมนูญมากไป...”
นี่เป็นการพูดในที่สาธารณะ และถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ช่อง 11 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีนัยทางการเมืองอย่างยิ่ง ก่อนหน้านั้นเขากล่าวเกริ่นว่า
“วันนี้ที่เกิดเรื่องยุ่งๆ ขึ้น เพราะหลายคนไม่รู้หน้าที่ตัวเอง ไม่ทำหน้าที่ตัวเอง หลายคนไปยุ่งกับหน้าที่คนอื่น หลายคนไม่มีอำนาจหน้าที่แต่ชอบไปสั่งการในเรื่องของคนอื่น ก็เป็นสิ่งที่ทำให้วุ่นวายไปหมด...”
“ความวุ่นวายเกิดจากหลายอย่าง เมื่อใดองค์กรตามปกติถูกองค์กรที่นอกระบบครอบงำ องค์กรปกติก็จะวุ่นวาย หรือถ้าจะแปลชัดๆ คือวันนี้องค์กรนอกรัฐธรรมนูญคือ บุคคลซึ่งดูเหมือนมีบารมีนอกรัฐธรรมนูญเข้ามาวุ่นวาย องค์กรที่มีในระบบรัฐธรรมนูญมากไป...” พ.ต.ท.ทักษิณ ยังกล่าวต่ออีกว่า
“บางองค์กร หัวหน้าองค์กรถึงขนาดยอมทำให้ระบบองค์กรของตัวเองเสีย เพื่อที่จะทำตามนโยบายผู้ที่ร้องขอบางราย...”
คำพูดเหล่านี้ของ ทักษิณ สำหรับผู้ที่ติดตามเหตุการณ์บ้านเมืองมาอย่างใกล้ชิด จะตีความเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากเป็น คำประกาศท้าชนคนมีบารมี ของทักษิณนั่นเอง
หลังจากคำประกาศท้าชนของ พ.ต.ท.ทักษิณ แพร่ออกไปผ่านสื่อสารมวลชน คำถามจากใครต่อใครล้วนปลิวว่อนไปทั่วเมืองว่า ใครคือผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญที่เข้ามาวุ่นวาย องค์กรที่มีในระบบรัฐธรรมนูญ?
สนธิ ลิ้มทองกุล เป็นคนแรกที่ไขปริศนา “ผู้มีบารมี” ด้วยท่าทีท้ารบเริ่มจากประกาศข้อความประชาสัมพันธ์เต็มหน้า 10 ของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ประจำวันที่ 30 มิถุนายน 2549 เชิญชวนประชาชนไปร่วมฟัง เมืองไทยรายสัปดาห์ คอนเสิร์ตการเมือง ครั้งที่ 5 ที่เวทีลีลาศสวนลุมพินี ซึ่งสนธิจะ “เดี่ยวไมโครโฟน” เรื่อง “ระบอบทักษิณอันตราย”
คืนนั้น สนธิ ได้ย้อนถาม ทักษิณ ตรงๆ ว่า
“ผมเชื่อว่า คนไทยทุกคนยอมรับว่ามีอยู่คนเดียวที่มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญเหนือรัฐธรรมนูญ ใช่ไม่ใช่ คุณทักษิณ คุณกำลังหมายถึงใคร หรือคุณพูดถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ใช่หรือเปล่า?”
“...เอาละ ถ้าสมมติว่าใช่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ท่านเป็นประธานองคมนตรี ท่านเป็นตัวแทนพระเจ้าอยู่หัว คุณพูดถึงใครกันแน่...ถ้าคุณลืมว่าคุณพูดอะไร ผมจะอ่านให้ฟัง คุณพูดว่า ‘บางคนยังเข้าใจว่าตัวเองมีความสำคัญมากกว่าคนจำนวนมาก...มีคนอยากเป็นนายกฯ มาตรา 7 ทั้งๆ ที่มีพระราชดำรัสบอกแล้วว่า มาตรา 7 นั้นไม่เป็นประชาธิปไตยเลย’...”
“คุณทักษิณ คุณกำลังจาบจ้วงใคร คุณมีสิทธิอะไรมาพูดเรื่องประชาธิปไตยกับพวกผม ชีวิตคุณเกิดแล้วตายอีกสิบชาติ คุณก็ยังไม่เข้าใจว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงเป็นอย่างไร...”
“...คุณทักษิณ คุณฟังคำพูดคุณประโยคสุดท้ายให้ดีๆ นะ เพราะ ประโยคสุดท้ายนี้จะตามหลอกหลอนคุณไปจนตลอดชีวิต คุณบอกว่า ‘บางองค์กร หัวหน้าองค์กรถึงขนาดยอมทำให้ระบบขององค์กรเสีย เพื่อที่จะทำตามนโยบายผู้ที่ร้องขอบางราย’...”
“คุณทักษิณ คุณหมายถึงใคร ถ้าคุณไม่ขี้ขลาดตาขาวพอ คุณพูดออกมาสิ คุณหมายถึงใคร คุณหมายถึง ศาลสถิตยุติธรรมหรือไม่ คุณหมายถึงประธานศาลฎีกาหรือเปล่า เพราะผมจำได้ว่า วันที่ศาลรับสนองพระราชดำรัสเข้ามาแก้วิกฤตของชาติ ลิ่วล้อของพวกคุณนี่ออกมาด่าศาลกันเป็นแถวเลยใช่ไม่ใช่ ...นี่คุณพูดถึงศาลสถิตยุติธรรมหรือเปล่า คุณแน่ใจ คุณบอกมาสิ คุณกำลังหมายถึงใคร”
“แต่ผมจำได้ว่า พระเจ้าอยู่หัวออกมาขอให้ศาลแก้วิกฤต คุณนึกว่าประชาชนไทย พี่น้องที่นั่งอยู่ที่นี่ และคนดู ASTV เขาด้อยปัญญาเหมือนคนบางคนที่คุณซื้อเอาไว้หรือไง"
“ถ้าคุณยังจำได้ วันที่ 25 เมษายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสกับประธานศาลทั้งหลายให้เข้ามาช่วยแก้วิกฤตแห่งชาติ นั่นคือ การที่ประธานศาลต่างๆ ออกมาร่วมมือกันแก้วิกฤตแห่งชาติ”
“ที่คุณบอกว่า ‘บางองค์กรหัวหน้าองค์กรถึงขนาดยอมทำให้ระบบขององค์กรตัวเองเสีย’ นี่คุณหมายถึง ศาลหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจ คุณรู้ตัวเองที่คุณบอกว่า ‘เพื่อที่จะทำตามนโยบายของผู้ที่ขอร้องบางราย’ คุณหมายถึงพ่อหลวงหรือเปล่า คุณพูดถึงคนที่มีบารมีเหนือรัฐธรรมนูญ ผมไม่รู้ว่าใคร แต่ผมจะยกมือไหว้เหนือหัวบอกว่า ‘พระบารมีมากล้นรำพัน’...”
นับตั้งแต่ย่างเข้าเดือนเมษายน 2549 เป็นต้นมา สนธิ ลิ้มทองกุล ก็ตระหนักดีว่า การศึกระหว่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับระบอบทักษิณ ได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ขั้นตอนใหม่ บัดนี้ไม่มีเงื่อนไขสำหรับการชุมนุมใหญ่ และก็ไม่จำเป็นด้วย เพราะ พลวัตทางการเมือง ที่บังเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการลุกขึ้นสู้ของมวลชนเรือนแสนเรือนล้าน ภายใต้การนำของแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มันได้ไปขยับเขยื้อนสถาบันหลักๆ ในสังคมนี้ไปในทิศทางที่ตรวจสอบ และคานอำนาจระบอบทักษิณแล้ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ ปรากฏการณ์ “ตุลาการภิวัฒน์”
สิ่งที่ สนธิ กำลังทำอยู่ในขั้นตอนนี้คือ เขาหันกลับไป “จุดเทียนแห่งปัญญา จุดความกล้ากลางใจคน” ต่อด้วยการจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ในรูปแบบคอนเสิร์ตการเมือง เพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์ “พักรบชั่วคราว” เช่นในขณะนี้
ห้วงยามนี้ เป็นห้วงยามพักรบเพื่อสะสมกำลัง และถนอมกำลัง “กองทัพหลัก” ของภาคประชาชน เพื่อเตรียมพร้อมเอาไว้สำหรับการทำ “ศึกสุดท้าย” กับระบอบทักษิณ ซึ่ง สนธิ รู้ดีว่า จะต้องมาถึงแน่ในไม่ช้านี้
สิ่งที่ สนธิ พยายามให้การศึกษาประชาชนอยู่ในตอนนี้ คือการชี้ให้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า การดำรงอยู่ของระบอบทักษิณจะนำความฉิบหายวายวอดมาสู่คนไทย และประเทศไทยอย่างไรบ้าง
สนธิ พร่ำชี้แล้วชี้อีกว่า ระบอบทักษิณคือระบอบที่พยายามแทนที่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ชัดเจนที่สุด และสถานการณ์ก็ได้มาถึงขั้นที่ประกาศสงครามกันเต็มตัวแล้ว ดังจะเห็นได้จาก มีการประกาศในที่สาธารณะ “ท้าชน” ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญอย่างเปิดเผย แม้ในอีกด้านหนึ่งยังใช้เล่ห์เพทุบายทำทีว่ายังจงรักภักดีอยู่ก็ตาม แต่นั่นก็เป็นเพียงมายาภาพ เพื่อไม่ให้ประชาชนผู้จงรักภักดีลุกฮือขึ้นต่อต้านเท่านั้น
ฝ่าย ทักษิณ เอง หลังจากที่หลุดคำประกาศท้าชนผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญออกไปแล้ว ตัวเขาก็เก็บปากเก็บคำ ไม่ยอมพูดให้กระจ่างอีกเลยว่า ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญที่เขาเอ่ยขึ้นมานั้น เขาหมายถึงใคร? แม้สื่อต่างๆ จะจี้ถามเขาในเรื่องนี้เท่าใด ทักษิณ ก็ปฏิเสธที่จะตอบคำถามนี้ โดยเขากล่าวแต่เพียงว่า
“เอาละ นี่เป็นเวลา สมานฉันท์ ไม่ต้องพูดอะไรแล้ว” แต่ลึกๆ แล้วในใจของทักษิณนั้น ทั้งหวาดผวาและหวาดระแวง
หลังจากที่เขาหลุดคำประกาศท้าชนผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญออกไปแล้ว ผู้ที่อ่านใจเขาได้ทะลุปรุโปร่งจะรู้ดีว่า โวหารนี้ของทักษิณมิได้มาจาก “ความกล้า” ของตัวเขา แต่มันมาจาก “ความกลัว” ของตัวเขาต่างหาก...ความกลัวว่า ตัวเขาจะถูกทหารปฏิวัติ ทักษิณบังเกิดความกลัว ที่จะถูกโค่นล้มจนกลายเป็น ความกล้า ถึงขนาดกล้าประกาศท้าชนผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ
ทักษิณ เฝ้าพร่ำบอกกับตัวเองในใจว่า ใครกล้าปฏิวัติโค่นล้มเขา ตัวเขาจะต่อสู้ต่อต้านอย่างถึงที่สุด เพราะคนอย่างเขา ยอมตายเสียดีกว่าพ่ายแพ้