มวยไท้เก้กคือมวยพลังไฟฟ้าและ
เป็นการฝึกอานาปานสติขั้นต้น
"ธรรมะที่ผมว่าอยู่นี้ ไม่ใช่ของใครทั้งหมด เป็นสากล เป็นของทุกคน ไม่ใช่เป็นของศาสนาพุทธ ไม่ใช่เป็นของศาสนาพราหมณ์ ไม่ใช่ศาสนาคริสต์ ไม่ใช่ของคนไทย ไม่ใช่ของคนจีน ไม่ใช่ของคนฝรั่ง ไม่ใช่ของชาติไหนทั้งนั้น แต่เป็นของผู้รู้"
หลวงพ่อเทียน
ในช่วงปลายปี 1993 มูลนิธิหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ (พันธ์ อินทผิว) ได้กรุณาส่งหนังสือ 3 เล่ม ที่แต่งโดยหลวงพ่อเทียน มาให้ผมอ่านคือ หนังสือ "แด่เธอ...ผู้รู้สึกตัว" , "คู่มือการทำความรู้สึกตัว" และ "อย่าหวังกันนักเลย" เมื่อผมได้อ่านหนังสือ 3 เล่มนี้รวดเดียวจบในทันทีที่ผมได้รับ ผมถึงกับต้องรำพึงกับตัวเองออกมาเบาๆว่า
"วิธีการเจริญสติในอิริยาบถนั่ง 15 ท่าของหลวงพ่อเทียนนั้น มีอันใดต่างกับมวยไท้เก้กในแง่หลักวิชา ? โอ ตัวเราโชคดีเหลือเกินที่ได้หัดวิชานี้มาทั้งๆที่ตอนนั้น ก็ยังไม่รู้ถึงความล้ำลึกของมันที่เกี่ยวพันกับสติปัฏฐาน 4 อย่างลึกซึ้งถึงขนาดนี้ !!"
หลวงพ่อเทียนได้กล่าวไว้ว่า
"วันนี้ข้าพเจ้าจะพูดถึงเรื่องการดับทุกข์ ตามทัศนะของพุทธศาสนาโดยที่ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงวิธีปฏิบัติที่ง่ายๆ (15 ท่า) และลัดตรงตามประสบการณ์ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าสามารถให้คำมั่นแก่เธอทั้งหลายได้ว่า วิธีนี้จะสามารถปลดปล่อยเธอให้พ้นจากกองทุกข์ได้อย่างแท้จริง..."
"...ถ้าเธอปฏิบัติตามวิธีที่ข้าพเจ้าจะอธิบายให้ฟังอย่างต่อเนื่องและมีสติติดต่อกันเป็นลูกโซ่แล้ว อย่างนานที่สุด ภายใน 3 ปี ความทุกข์ของเธอก็จะลดน้อยลงถึง 60 เปอร์เซนต์ และในบางกรณีอาจจะหมดสิ้นโดยสมบูรณ์"
"....เมื่อเราพูดกันถึงวิธีสู่ความดับทุกข์ วิธีปฏิบัติคือ วิธีการเจริญสติในทุกๆอริยาบท กล่าวคือ การยืน การเดิน การนั่ง และการนอน การปฏิบัตินี้เรียกกันบ่อยๆว่า สติปัฏฐาน แต่ไม่ว่าเราจะเรียกมันอย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญอยู่ที่ความรู้สึกสำนึกที่ตัวเราเอง....เธอควรจะเจริญความรู้สึกตัวนี้ให้มากด้วยการมีความรู้สึกตัวในการเคลื่อนไหวทางร่างกายของเธอทั้งหมด เช่นการพลิกมือ การยกแขนขึ้น และลง การก้าวเท้าไปข้างหน้า และการก้าวเท้ากลับ การหมุนศรีษะ การพยักหน้า การกะพริบตา การอ้าปาก การหายใจเข้า การหายใจออก การกลืนน้ำลายและอื่นๆ"
"....พุทธะ หมายถึงผู้รู้ ในการเจริญสติในทุกๆ อริยาบท การเคลื่อนไหวของเรา เราเจริญ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมตลอดทั้งร่างกาย เมื่อความคิดเกิดขึ้น เรารู้และเราเข้าใจ แต่ในกรณีของบุคคลธรรมดาเขาเหล่านั้นเข้าไปอยู่ในความคิด และเป็นส่วนหนึ่งของความคิด ดังนั้นเขาจึงไม่เห็นความคิด .... เราไม่สามารถจะเห็นความคิด ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งของความคิด เราจะต้องออกจากความคิดเพื่อ "เห็น" ความคิดได้อย่างชัดเจน เมื่อเรา "เห็น" ความคิด ความคิดก็จะ "หยุด" เปรียบเหมือนกับการนำแมวมาไว้ในบ้านของเรา ให้คอยกำจัดหนู ซึ่งกำลังรบกวนเราอยู่ แมวและหนูนั้นเป็นศัตรูกันโดยธรรมชาติ ในตอนแรกแมวอาจจะตัวเล็กและอ่อนแอมาก ในขณะที่หนูตัวโตและมีพละกำลัง ...เราไม่อาจตำหนิแมว (ถ้าหากมันยังจับหนูไม่ได้)แต่เราจะต้องให้อาหารแก่แมวนั้น ไม่ช้าแมวก็จะพละกำลังมากขึ้นและเข็มแข็งจนสามารถจับหนูได้"
กระบวนเสาะแสวงหาธรรมของหลวงพ่อเทียนนั้นน่าสนใจมากเลยทีเดียวท่านได้กล่าวไว้เกี่ยวกับประสบการณ์ในการศึกษาและการปฏิบัติธรรมของท่านว่า
"...แต่ก่อนนี้ ข้าพเจ้าได้ศึกษากรรมฐานหลายอย่างหลายชนิดด้วยกันเช่น การฝึกหายใจเข้า-ออก นั่งขัดสมาธิ หลับตา บริกรรมพุท-โธ, สัมมา-อรหัง และข้าพเจ้าได้ปฏิบัติวิธียุบหนอ-พองหนอ วิธีนับลมหายใจ แล้วข้าพเจ้าได้มาปฏิบัติ "อานาปานสติ" รู้ลมหายใจเข้าสั้นและออกสั้น รู้ลมหายใจเข้ายาวและออกยาว วิธีการปฏิบัติทั้งหมดเหล่านี้ที่ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติมา แต่ข้าพเจ้ามิได้มี "ปัญญาญาณ" ใดๆเกิดขึ้นเลย วิธีการทั้งหมดเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ความสงบ แต่ก็เป็นความสงบคนละชนิดกับที่ข้าพเจ้าเสาะแสวงหา....เพราะการนั่งนิ่งๆ นั้นเป็นความสงบที่ไม่สงบ ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงยังคงเสาะแสวงหาต่อไปเพื่อค้นหาความจริง...."
ตามประวัติโดยสังเขปของหลวงพ่อเทียนที่เขียนโดยมูลนิธิหลวงพ่อเทียนได้บันทึกเอาไว้ว่า "ท่าน (อาจารย์เทียน) ยังเห็นว่าแม้จะทำความดี ทำบุญ และปฏิบัติกรรมฐาน มาหลายวิธีตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ท่านก็ยังไม่สามารถเอาชนะความโกรธได้ ท่านจึงอยากค้นคว้าหาทางออกจากสิ่งเหล่านี้ ในปี พ.ศ. 2500 เมื่ออายุได้ 45 ปี ท่านได้ออกจากบ้าน โดยตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่กลับจนกว่าจะพบธรรมะที่แท้จริง ท่านได้ไปปฏิบัติธรรมที่วัดรังสีมุกดาราม จังหวัดหนองคาย โดยทำกรรมฐานวิธีง่ายๆ คือทำการเคลื่อนไหว แต่ท่านไม่ได้บริกรรมภาวนาอย่างที่คนอื่นทำกัน ท่านเพียงให้รู้สึกตัวในขณะที่เคลื่อนไหวเท่านั้น ในชั่วเวลาเพียง 2-3 วัน ท่านก็สามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ได้เด็ดขาด โดยปราศจากพิธีรีตองหรือครูบาอาจารย์ในเวลาเช้ามืดของวันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 8 ปี พ.ศ. 2500 โดยในขณะนั้น ท่านยังเป็นฆราวาสอยู่ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2503 ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเห็นว่าถ้าบวชเป็นพระภิกษุแล้ว จะทำให้การเผยแพร่ธรรมสะดวกขึ้น.... หลวงพ่อเทียนได้ละสังขารอย่างสงบ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2531 รวมอายุได้ 77 ปี และได้ใช้เวลาอบรมสั่งสอนธรรมะแก่คนทั้งหลายเป็นเวลา 31 ปี"
"การรู้สึกตัวในขณะที่เคลื่อนไหวร่างกาย" โดยไม่ต้องบริกรรมภาวนาก็คือการฝึกฝนหลักของมวยไท้เก้กเช่นกัน !! มวยไท้เก้กมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่ามวยพลังไฟฟ้า เพราะว่ามวยชนิดนี้ นำเอาธาตุแห่งพลังชีวิต(ปราณหรือชี่) ที่มีอยู่เต็มจักรวาลในลักษณะของกระแสไฟฟ้า และคลื่นแม่เหล็ก เข้ามาสะสมเก็บเอาไว้ในมันสมอง (บริเวณ"ฮโพทาลามัส) เป็นแหล่งพลังงานของตนเองเพื่อใช้ในการบรรลุจุดหมายสูงสุด ในการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ "ฟ้า"
จุดเด่นพิเศษของการฝึกฝนมวยไท้เก้กนี้ก็คือ จะต้องมีการเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้า ประกอบกับการหายใจที่เป็นไปอย่างธรรมดาและอย่างมีสติ โดยไม่ออกแรงมากเกินไป แต่อาศัยความอ่อนนุ่มกลมกลืนเป็นสำคัญ อันเป็นความอ่อนนุ่ม กลมกลืน ที่แฝงไว้ด้วยกำลังภายในอย่างเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ การฝึกฝนมวยไท้เก็กในเรื่องท่วงท่า มุ่งเน้นที่การขวนขวายหาความแม่นยำ ไม่ใช้กำลังแรงอย่างหักโหม ในเรื่องจิตใจทีมุ่งเน้นที่ความปลอดโปร่ง เป็นปกติ ราบเรียบ มีสมาธิแน่วแน่นิ่งเป็นเอกภาพ ปราศจากความนึกคิด ปราศจากความวิตกกังวล และความสงสัย แต่ละครั้งที่ฝึกจะต้องให้สบายตลอดร่าง อย่าฝึกจนรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื้อยล้าจนถึงที่สุดให้คำนึงถึงความเหมาะสมของแต่ละคนเอง มวยไท้เก้กแสวงหาความสงบนิ่งท่ามกลางความเคลื่อนไหว เมื่อดูจากท่าทางภายนอก และแสวงหาความเคลื่อนไหวจากความสงบนิ่ง ในขณะที่ฝึกกำลังภายในด้วยการฝึกสมาธิ ต้นกำเนิดของวิชามวยไท้เก้ก มีคนกล่าวว่า มาจากนักพรตเต๋า ผู้ฝึกวิชาเซียน (วิชาโยคะของจีน) เนื่องจากการนั่งสมาธินานเกรงว่าโลหิตกับปราณ (ชี่) จะคั่งค้างติดขัดดังนั้น นอกจากการนั่งสมาธิแล้ว จึงต้องอาศัยการเคลื่อนไหว ออกกายบริหารมาบำรุงเสริมสร้างพลังภายในร่างกาย
ในทางกลับกัน ผู้ที่ฝึกฝนมวยไท้เก้กรุดหน้ามาจนถึงระดับหนึ่งแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝึกการนั่งสมาธิด้วย การนั่งสมาธิคือการสำรวมตนอย่างสุภาพอย่างหนึ่ง ผู้ที่สามารถนั่งสมาธิได้ จิตใจย่อมสงบนิ่ง พลังย่อมกลมกลืนความนึกคิดถูกต้อง ร่างกายตั้งตรง อารมณ์ผ่องใส ยามเคลื่อนไหว ยื่นมือออกไปไม่ว่ากำลังรุนแรงเพียงใด จะไม่สับสนวุ่นวาย
วิธีการนั่งสมาธิแบบเต๋านั้น ควรได้รับการถ่ายทอดที่ถูกต้องจากผู้รู้ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ถ้าหากยึดหลักฝึกฝนปฏิบัติตามหลักของมวยไท้เก้กขนานแท้แล้ว ก็คงไม่เป็นอะไร กล่าวคือ ร่างกายจะต้องนั่งตัวตั้งตรง โดยนั่งขัดสมาธิชั้นเดียว หรือสองชั้นก็ได้ไม่ขัดข้อง แต่ศรีษะกับร่างกายจะต้องตั้งตรง บ่าทั้งสองลดลงให้เสมออกห้ามยกไหล่ จงผ่อนคลายตลอดร่าง ลิ้นดันเพดานปากไว้ ซี่ฟันต้องประกบกัน หรี่เปลือกตาลง มือทั้งสองเอาหลังมือซ้ายวางทับไว้บนอุ้งมือขวา วางแนบติดกับข้างหน้าท้องน้อยโดยค่อยๆ วางไว้บนโคนเท้า หลังจานั้นตั้งจิตใจให้สงบนิ่ง ผ่อนคลายบริเวณสะดือ และท้อง ตัดความกังวลเกี่ยวกับตนและสิ่งอื่น ตัดอารมณ์ความนึกคิดทุกสิ่งทุกอย่างออกไปให้พ้น ปิดบังการมองแต่สดับฟัง คือ หูไม่ประมาทและหูไม่สดับฟังภายนอก เมื่อนั้นปราณ (ชี่) จะไหลกลับไปยังไต ตาก็ยังต้องไม่ประมาท คือไม่มองภายนอก เมื่อนั้นเสิน(จิตประสาท) จะกลับคืนไปยังตับ ปากก็ต้องไม่ประมาท คือสงบนิ่ง ไม่ยอมพูด จิตจะกลับคืนไปยังหัวใจ จมูกไม่ประมาท คือไม่ดมกลิ่นภายนอก อารมณ์จะกลับคืนไปยังปอด สติไม่ประมาท คือความนึกคิดไม่ฟุ้งซ่าน ความสำนึกจะกลับคืนไปยังม้าม
เวลานั่งสมาธิควรเป็นเวลาที่ตื่นนอนเช้ากับเวลาที่จะเข้านอนกลางคืนเวลาที่เริ่มต้นฝึกฝน แรกๆ มือและเท้าย่อมรู้สึกไม่สบาย อารมณ์ก็ฟุ้งซ่าน แต่ถ้าปฏิบัตินานเข้าย่อมหายไปเอง ระยะเวลาในการนั่งสมาธิจะยาวหรือสั้นไม่จำกัด จะเป็นเวลา 15 นาที หรือครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมงก็ได้
ในที่สุด นายพันธ์ อินทผิว (ชื่อของหลวงพ่อเทียนในขณะที่ยังเป็นฆราวาส) ก็ได้ค้นพบ "ความสงบที่แท้จริง" ที่เขาเสาะหามานานเกือบตลอดชีวิตในวัย 45 ปี เขาได้แลเห็นมันโดยชัดเจน และเข้าใจมันอย่างแจ่มแจ้งว่า "ความสงบที่แท้จริง" ที่เขาแสวงหานั้น ที่แท้ก็คือ การหยุดแสวงหา โดยเฉพาะการแสวงหาบุคคลอื่น ที่แท้ก็คือ ความสงบที่เป็นอิสระจากโลภะ อิสระจากโทสะ และอิสระจากโมหะนั่นเอง ความสงบชนิดนี้มีอยู่ในคนทุกคน โดยไม่ยกเว้น และทุกๆคนสามารถเข้าถึงความสงบนี้ได้ ไม่ว่าชาติใด ภาษาใด หรือศาสนาใด คนเราไม่จำเป็นต้องศึกษาพระสูตร พระวินัย หรือพระอภิธรรมในพระไตรปิฎกก็ได้ (หลวงพ่อเทียนไม่เคยเรียนหนังสือ) แต่ถ้าคนนั้นมีความรู้สึกตัวมาถึงจุดรู้จักจิตใจตนเองอย่างแท้จริง รู้ว่าจิตใจนั้นสะอาด สว่าง และสงบ ในทุกเวลา เมื่อนั้นเขาก็จะรู้พระไตรปิฎกทั้งหมด
เมื่อเขารู้จักจิตใจ รู้ถึงภาวะที่ความทุกข์เกิด และภาวะที่ความทุกข์ดับ รู้ความคิดทุกครั้งที่มันคิด รู้มันทั้งหมด รู้ด้วยการเฝ้าดูโดยปกติธรรมดา โดยไม่จำเป็นต้องพยายามหรือฝืน การรู้เช่นนี้ของเขาจึงเป็นสิ่งเดียวกับปัญญา เป็นสิ่งเดียวกับสติ และเป็นสิ่งเดียวกับสมาธิ
เมื่อเขามาถึงจุดนี้ ก็เหมือนเขาได้พบกับมหาสมบัติที่ถูกซ่อน และเปิดเผยมันออกมา เขาจึงรู้ศาสนาทุกศาสนาได้โดยไม่ต้องพึ่งตำรา ซึ่งเป็นเพียงคำพูดของบุคคลอื่น แต่ใช้การศึกษาที่ตัวของเขาเอง ด้วยการ "เห็น" จิตใจของเขาเอง ด้วยการมี "ประสบการณ์โดยตรง" ในความสงบที่แท้จริง
เขาพบว่า การเอาชนะตนเองคือการการเอาชนะความคิด และ "พระ" มิได้หมายถึงการโกนศรีษะ แต่หมายถึง คุณภาพของจิตใจที่ควรแก่การเคารพอันเป็นลักษณะของจิตที่เป็นอยู่แต่ดั้งเดิม ดุจดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของชีวิต คนเราไม่ต้องทำอะไรเลยเพื่อให้มีคุณภาพของจิตเช่นนี้ เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่จะ "เห็น" มันได้ก็เมื่อ "เห็น" ความคิดเท่านั้น
เขาจึงรู้แจ้งในศาสนาว่า ศาสนาไม่ได้หมายถึงวัด แต่วัดเป็นเพียงศาสนาสมมุติ เพราะที่แท้แล้ว คนทุกคนคือศาสนา เมื่อคนทุกคนใช้สติ สมาธิ ปัญญาของตนไปพิจารณา "คำสอน" และรู้ขึ้นมาโดยแท้จริง เมื่อนั้นคือความเจริญรุ่งเรืองของศาสนาอย่างแท้จริงจะบังเกิด พระที่แท้จริงจะบังเกิดและสำหรับเขาแล้ว โลกทั้งโลกคือสันติสุข แม้ว่าโลกของคนอื่นจะโกลาหลและเร่าร้อนก็ตาม
เมื่อเขาเห็นจริง รู้จริง และเป็นจริงแล้ว เขาจึงเริ่มสอนผู้อื่นให้หัดเจริญสติด้วยวิธีการดังต่อไปนี้คือ
"จงนั่งขัดสมาธิ
เอามือวางไว้ที่ขาทั้งสองข้าง...คว่ำไว้ (ท่าที่ 1)
พลิกมือขวาตะแคงขึ้น...ทำช้าๆ....ให้รู้สึก (ท่าที่ 2)
ยกมือขวาขึ้นครึ่งตัว....ให้รู้สึก....มันหยุดก็ให้รู้สึก (ท่าที่ 3)
เอามือขวามาที่สะดือ....ให้รู้สึก (ท่าที่ 4)
พลิกมือซ้ายตะแครงขึ้น....ให้รู้สึก (ท่าที่ 5)
ยกมือซ้ายขึ้นครึ่งตัว....ให้มีความรู้สึก (ท่าที่ 6)
เอามือซ้ายที่สะดือ....ให้รู้สึก (ท่าที่ 7)
เลื่อนมือขวาขึ้นหน้าอก....ให้รู้สึก (ท่าที่ 8)
เอามือขวาออกตรงข้าง....ให้รู้สึก (ท่าที่ 9)
ลดมือขวาลงที่ขาขวาตะแคงไว้....ให้รู้สึก (ท่าที่ 10)
คว่ำมือขวาลงที่ขาขวา....ให้รู้สึก (ท่าที่ 11)
เลื่อนมือซ้ายขึ้นที่หน้าอก....ให้มีความรู้สึก (ท่าที่ 12)
เอามือซ้ายออกมาตรงข้าง....ให้มีความรู้สึก (ท่าที่ 13)
ลดมือซ้ายลงที่ขาซ้ายตะแคงไว้.... (ท่าที่ 14)
คว่ำมือซ้ายลงที่ขาซ้าย....ให้รู้สึก (ท่าที่ 15)
จงทำไปเรื่อยๆ.....ให้รู้สึก"
การที่ผมอุตส่าห์ยกเรื่องราวของหลวงพ่อเทียนออกมาถ่ายทอดเสียยาวก็เพื่อให้พวกเราได้ตระหนักถึง ความสำคัญของการฝึกเจริญสติ โดยเฉพาะการฝึกให้รู้สึกตัวในขณะที่เคลื่อนไหวร่างกาย(กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน) ที่มีต่อการพัฒนาตนเองไปเป็นโฮโม-เอ็กเซลเลนส์ หรือถ้าพูดตามสำนวนของหลวงพ่อเทียนก็คือ "เมื่อเราสามารถทำจิตใจของเราให้สงบ และสะอาดตลอดเวลา นั่นคือเทวดา" ("แด่เธอ...ผู้รู้สึกตัว" ,หน้า 62)
ต่อไปผมจะขออธิบายถึงกลไกของวิชาเต๋า เพื่อการกลายเป็นโฮโม-เอ็กเซลเลนส์ โดยผ่านการฝึกมวยพลังไฟฟ้าอย่างมวยไท้เก้ก ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีความคล้ายคลึงกับกลไกของวิชาโยคะที่ผมได้กล่าวไปแล้วมากทีเดียว
ตั้งแต่โบราณกาลมาแล้ว เซียนผู้วิเศษของจีนได้กล่าวเอาไว้ว่า "ที่สองข้างของกระดูกสันหลังมนุษย์นั้น มีช่องแล่นผ่านไปถึงกลางกระหม่อม วิธีของการที่จะฝึกฝนวิชากำลังภายใน จึงเหมือนดั่งคนผู้หนึ่งที่ต้องการจะปีนขึ้นจากเหวลึกไปสู่เบื้องบนสวรรค์ เขาต้องการเริ่มฝึกตั้งแต่ปลายย้อยของกระดูกก้นกบ อันเป็นตำแหน่งที่การโคจรของจิตกับปราณ (ชี่) จะต้องมาประสานกันและเป็นที่รวมของธาตุหยินกับหยัง เขาจะต้องเพ่งนึกถึงลมหายใจที่จะแล่นมาจากปลายย้อยของกระดูกก้นกบ จนกระทั่งไปถึงกลางกระหม่อม ด้วยการสูดเอาปราณที่อยู่ในระหว่างผืนแผ่นดินกับแผ่นฟ้าให้แล่นผ่านหว่างศูนย์คิ้ว ไปกลางกระหม่อม และวกกลับมาสู่จุดตันเถียน (จุดศูนย์)"
พลังชีวิต พลังใจ พลังจักรวาล พลังที่แท้จริงของฟ้าดิน ...พลังเหล่านี้ล้วนมีลักษณะเป็นพลังไฟฟ้าทั้งสิ้น และเป็นแหล่งต้นตอของสรรพสิ่งในสากลจักรวาล ซึ่งคนจีนเรียกว่า "ไท้เก้ก" ส่วน
"สมอง" ของมนุษย์ คือเครื่องจักรวิเศษที่คอยเก็บสะสมพลังไฟฟ้าเช่นนี้เอาไว้
วิชาเต๋าของจีนเชื่อว่าในร่างกายของคนเรามีหม้อแบตเตอรี่เก็บกระแสไฟฟ้าอยู่ 2 แห่ง หม้อแบตเตอรี่ที่เก็บสะสมไฟฟ้าตัวผู้ (ขั้วบวก) อยู่บนศรีษะ ในขณะที่หม้อแบตเตอรี่ที่เก็บกระแสไฟฟ้าตัวเมีย (ขั้วลบ) อยู่ที่ใต้สะดือ กล่าวคืออันหนึ่งอยู่ข้างบน อีกอันหนึ่งอยู่ข้างล่าง เหมือนขั้วโลกเหนือกับขั้วโลกใต้โดยมีเส้นประสาท เป็นสายเชื่อมโยงติดต่อกัน และมี "จุดศูนย์" (บน กลาง ล่าง) 3 แห่ง ทำหน้าที่เป็นสถานีผสมผสานกันระหว่างกระแสไฟฟ้าบวกกับกระแสไฟฟ้าลบ
โยคาจารย์ทางเต๋า ผู้ค้นพบ "พลังจักรวาล" เช่นนี้มาตั้งแต่โบราณกาลมีความเชื่อมั่นว่า คนเราสามารถอาศัยวิธีหายใจรับเอา พลังจักรวาล (ปราณ) นี้จากดินฟ้า จากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ มาสะสมเป็นสมรรถภาพภายในร่างกายของตนได้ และเพื่อรวมพลังจักรวาลเหล่านี้ไปใช้ในการ "บรรลุธรรม" หรือ "บรรลุเต๋า"
ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ วิชาเต๋าของจีนเชื่อว่า ก่อนอื่นจะต้องเพิ่มการประจุไฟฟ้าเข้าไปในเซลล์แต่ละเซลล์ของร่างกาย โดยเฉพาะในเซลล์สมองเสียก่อน นี่จึงเป็นที่มาของ " วิชาสะสมกำลังภายใน" เพื่อเพิ่มประจุไฟฟ้าในเซลล์ของร่างกาย ต่อมาภายหลังจากที่เพิ่มประจุไฟฟ้า (สะสมกำลังภายใน) ได้แล้วก็จะต้องรู้จักควบคุมพลังไฟฟ้าเหล่านั้น ให้ไปรวมพลังที่กลางกระหม่อมเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสมอง ไปเป็นสมองเซียน หรือมันสมองของวิญญาณที่สูงส่ง นี่จึงเป็นที่มาของ "วิชาโคจรลมปราณ"
จะเห็นได้ว่าหลักคิดของวิชาเต๋า มิได้แตกต่างไปจากหลักคิดของวิชาโยคะที่ผมได้กล่าวไปแล้วแต่อย่างใดเลย ความแตกต่างที่มีคือความแตกต่างในเรื่องตำแหน่งของจักรกับจุด และความแตกต่างในเรื่องเส้นทางโคจรของลมปราณเท่านั้น
สำหรับผู้ที่สนใจในหลักวิชาโฮโม-เอ็กเซลเลนซ์ ผมคิดว่าควรศึกษาทั้งสองศาสตร์นี้ควบกันไป จะเป็นประโยชน์กว่า แต่จะเลือกเน้นฝึกอย่างไหนมากกว่ากัน ก็ขึ้นกับความชอบของแต่ละคนเป็น สำคัญ สำหรับตัวผมแล้วการศึกษาโยคะใด้ช่วยผมมากในการศึกษาวิชาเต๋าขั้นสูง โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจักร กับระบบเส้นประสาท (รูปที่ 1) กับ เส้นโคจรของจิต และลมปราณที่เชื่อมจักรคิ้ว กับจักรมงกุฎเข้าด้วยกัน (รูปที่ 2)
ผมยังจำได้ว่าเมื่อผมได้รับการถ่ายทอดเคร็ดวิชาฝีมือของคัมภีร์สัตตสูตรตอนผมอายุ 26 ปี ซึ่งมีใจความดังนี้
"ฝึกใช้มือยันเท้าชี้ฟ้า ในขั้นแรกพลังอยู่จุดศูนย์ เคลื่อนไหวด้วยจิตนำลงตามจุดแห่งเจ็ดดาวเหนือบนศรีษะ เป็นหลัก"
ในตอนนั้นผมไม่สามารถเข้าใจความหมายของ "จุดแห่งเจ็ดดาวเหนือบนศรีษะ" ได้ จนกระทั่งผมได้ศึกษาวิชาโยคะแล้ว ผมจึงถึงบางอ้อตีความออกว่า "จุดแห่งเจ็ดดาวเหนือบนศรีษะ" นี้คือ เส้นโคจรของจิตและลมปราณที่เชื่อมจักรคิ้วกับจักรมงกุฎนั่นเอง ...ผมเพิ่งเข้าใจในความหมายของเคล็ดวิชาอันนี้ เมื่อผมอายุ 37 ปี หรือสิบเอ็ดปีหลังจากนั้น
ผู้ที่ฝึกฝนในหลักวิชาเต๋า พึงยึดมั่นในคำสอนของเล่าจื้อ ที่กล่าวไว้ในคัมภีร์เต๋าเตอจิง บทที่ 41 ว่า
บุคคลชั้นยอดเมื่อได้ฟัง "เต๋า" ก็จะหมั่นเพียรปฏิบัติตามอย่างมานะ
บุคคลชั้นกลาง เมื่อได้ฟัง "เต๋า" (สัจธรรม) จะเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง
บุคคลชั้นต่ำ เมื่อได้ฟัง "เต๋า" แล้วจะหัวเราะเยาะ !!
เราฝึกฝนหัดมวยไท้เก้กอย่างคร่ำเคร่งมานานปี มิได้มุ่งหวังสิ่งใดอื่นนอกจากการมี "ประสบการณ์โดยตรง" อย่างที่เล่าจื้อได้เขียนไว้ในคัมภีร์ "เต๋าเตอจิง" ซึ่งมีความสำคัญยิ่ง ดุจคัมภีร์
"โยคสูตร" ของอินเดีย ดังต่อไปนี้เท่านั้น
"เต๋านั้น "ไร้สี" คือเพ่งดู แต่มองไม่เห็น
เต๋านั้น "ไร้เสียง" คือแง่หูฟัง แต่ไม่ได้ยิน
เต๋านั้น "ไร้รูป" คือคว้าจับดู แต่สัมผัสอะไรไม่ได้
สามประการนี้ มิอาจ อรรถาธิบาย "เต๋า"ได้
จำต้องผสมผสานคำสามนี้ รวมเป็นหนึ่งเดียว และรับรู้ "เต๋า" ด้วยใจเท่านั้น
เต๋าทั้งไม่สว่างและไม่มืด
เต๋าเป็นสภาพที่ไม่ขาดสายไร้ขอบเขตจนไม่อาจบรรยายรูปพรรณสัณฐาน
มันกลับไปสู่สภาพของ "ความว่าง"
เป็นสภาพที่ "ไร้สภาพ" เป็นสิ่งที่ "ไร้สิ่ง"
เป็นสิ่งที่บรรยายไม่ได้ และเหนือจินตนาการ
อยู่เบื้องหน้ามัน กลับไม่เห็นใบหน้ามัน
อยู่เบื้องหลังมัน ก็ไม่เห็นบั้นท้ายมัน
จงยึดกุมสัจธรรมที่มีมาแต่โบราณอันนี้
ซึ่งแม้บัดนี้ก็ยังบงการสรรพสิ่งอยู่
การได้รู้ต้นกำเนิดของกาลเวลาและประวัติศาสตร์
เป็นแก่นสารของเต๋า " (บทที่ 14)
ใช่หรือไม่ว่า "เต๋า" นี้ก็คือ ธรรมะที่อยู่ในตัวเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นวรรณะ เพศใด ชาติใด ธรรมะนี้มีอยู่แล้ว ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม มนุษย์ก็คือธรรมะ ธรรมะก็คือมนุษย์ ธรรมะก็คือเต๋า เมื่อเรารู้ธรรมะ รู้เต๋า เราจะเข้าใจได้ว่า ทุกๆสิ่งในโลกนี้นั้นมิได้เป็นอย่างที่เราคิด ทุก๐สิ่ง คือสมมุติทั้งสิ้น
เราฝึกฝนปฏิบัติมวยไท้เก้กอย่างจริงจังมานาน ก็เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่ง "พลัง (ภายใน)" ที่จะใช้ในการเข้าถึงธรรมะ หรือเต๋านี้เท่านั้นเอง และพลัง(ภายใน) นี้ก็มิใช่พลังอะไรอื่น แต่คือ พละ 5 ในหลักโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ นั่นเอง ซึ่งได้แก่
(1) ศรัทธา (2) วิริยะ (3) สติ (4) สมาธิ (5) ปัญญา
พลังทั้ง 5 นี้ ที่แท้ก็เป็นสิ่งเดียวกัน คนเราทุกคนสามารถมีพลังเช่นนี้ได้ถ้าหากเขากลับไปหา "ตันตอแห่งชีวิต" ของเขา หรือ "เต๋า" การค้นพบเต๋ากับการค้นพบตัวเองจึงเป็นสิ่งเดียวกัน แต่คนเราจะค้นพบตัวเองที่แท้จริงได้ก็ต่อเมื่อเขาสามารถ "สลายตัวตน" ได้เท่านั้น ดังคำสอนของเล่าจื้อที่กล่าวไว้ว่า
"เต๋าที่สามารถนิยามได้ว่าเป็นเต๋านั้น ยังมิใช่เต๋าที่แท้จริง ชื่อที่สามารถกำหนดชัดไปได้ว่าเป็น ชื่อแห่งสัจธรรมนั้น ก็ยังมิใช่ชื่อที่แท้จริง
เต๋าที่ดำรงอยู่ก่อนการกำเนิดของฟ้าดินนั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจใช้สิ่งสมมุติอย่างภาษามาตั้งชื่อได้ แต่เมื่อฟ้าดิน ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดสรรพสิ่งได้ถือกำเนิดขึ้นมาแล้วชื่อหรือ "นาม" จึงเกิดขึ้นตามมาด้วย
เพราะฉะนั้นผู้ที่ "ไร้ความอยาก" จะมองเห็นถึงความพิสดารพันลึกของเต๋า ในขณะที่ผู้ที่มีแต่กิเลสจะมองเห็นแต่เปลือกนอกอันเป็นมายาสมมุติ"