ความรวดร้าวของมหาบุรุษกับการเมืองฝ่ายเบื้องบน (5)
"เราคือ เส้นทาง นั้น
เราคือ ความจริง ของสิ่งนั้น
และเราคือ ชีวิต ไม่มีผู้ใดมาถึง
พระบิดาได้ นอกจากจะมาทางเราเท่านั้น"
ยอห์น 14:6
เมล กิ๊บสัน ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ The Passion of the Christ ได้ให้สัมภาษณ์นิตยสาร Readers Digest (เมษายน, 2004) ถึงเหตุผลที่เขาได้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมาว่า หลังจากที่ตัวเขาประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งในด้านชื่อเสียงและเงินทอง ตั้งแต่เมื่อ 12 ปีก่อน ตัวเขาก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองในเชิงปรัชญาชีวิต ว่า อะไรคือความหมายของชีวิต ชีวิตมีอะไรที่มากไปกว่านี้อีกมั้ย และทำไมเราถึงมาอยู่บนโลกใบนี้? ซึ่งจากคำถามนี้เองที่นำไปสู่การแสวงหาของเขาและการ "ตื่น" ขึ้นมาอีกครั้งใน ศรัทธาที่ตัวเขาเคยถูกบิดาพร่ำสอนอบรมมาตั้งแต่วัยเด็ก ตลอด 12 ปีมานี้ เขาได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับพระเยซูนับร้อยเล่ม และได้สนทนากับผู้รู้เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลนับเป็นพันๆ คน ก่อนที่ตัวเขาจะสุกงอม พอที่จะสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมา
สิ่งที่ เมล กิ๊บสัน ได้ค้นพบจากการแสวงหาตลอดช่วง 12 ปีนี้ของเขาก็คือ ความสุขที่แท้จริงต้องมาจากภายในเท่านั้น ในช่วงที่ตัวเขาอยู่ในช่วง "ยุคทอง" ของอาชีพพระเอกหนังแอ็กชั่นของฮอลลีวูด ที่ผู้คนมองเขาด้วยสายตาที่ชื่นชมและน่าอิจฉา แต่เขากลับบอกว่า คนภายนอกไม่รู้หรอกว่า ตัวเขาเองนั้นต้องผ่านพ้นห้วงเวลาที่เจ็บปวดดิ้นรนทุรนทุรายมามากขนาดไหน
เขายอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่า ในอดีต เขาเคยล้มละลายทางจิตวิญญาณมาแล้ว และเมื่อมันเกิดขึ้น มันเหมือน มะเร็งทางจิตวิญญาณ ที่กัดกร่อนตัวเขา ทำร้ายตัวเขาจากข้างใน จนตัวเขาต้องลุกขึ้นทำอะไรสักอย่างก่อนที่จะสายเกินไป กระบวนการเปลี่ยนแปลงตัวเอง และกอบกู้จิตวิญญาณของตัวเองขึ้นมาใหม่อีกครั้งของเขา มิได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน มันค่อยๆ ดำเนินไปอย่างช้าๆ แต่มั่นคง จนถึงจุดหนึ่งตัวเขารู้สึกได้ว่า ตัวเขาเองมีศรัทธาที่มากพร้อมแล้วสำหรับการสร้างหนังเรื่องนี้
สำหรับความหมายของคำว่า Passion นอกจากความหมายตามภาษาละตินที่หมายถึง ความรวดร้าวทุกข์ทรมานแล้ว เมล กิ๊บสัน ยังต้องการสื่อความหมายของคำคำนี้ ให้หมายถึง รักมาก รักอย่างเหลือล้น รักอย่างฝังใจ (obsessive love) ของพระเยซู เพราะเขาเชื่อว่า นี่เป็นเหตุผลเดียวของ การอวตารลงมาของพระเยซู (Christ 's incarnation) ที่จิตของพระเจ้าปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมในตัวของบุรุษผู้หนึ่ง (God becoming man) ที่ต้องยอมสละชีพเพื่อล้างบาปให้กับความผิดทั้งปวงของมนุษยชาติ ด้วยการพิสูจน์ให้ผู้คนทั้งปวงได้เป็นที่ประจักษ์ว่า คนผู้หนึ่งสามารถที่จะ "รัก" ผู้อื่นทั้งมิตรและศัตรูได้มากถึงเพียงนี้ รักอย่างไม่มีข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้นทั้งปวง รักอย่างมีสติพร้อมบริบูรณ์ เปี่ยมด้วยปัญญาญาณสมบูรณ์
วิถีเช่นนี้ ในสายตาของเมล กิ๊บสัน คือ สุดยอด และเป็นที่สุดของวีรชนนิยม (heroism) แล้ว เขาเชื่อว่า การที่ผู้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เห็นความเจ็บปวดทรมานที่พระเยซูได้รับและเผชิญกับความเลวร้ายทั้งปวงที่กระหน่ำเข้ามาในวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างสงบนิ่ง มั่นคง และให้อภัย มันจะช่วยเยียวยาบาดแผลในหัวใจที่มีกันถ้วนหน้าในหมู่ผู้คน ให้กำลังใจผู้คนให้มีความหวัง ความกล้าหาญ และความศรัทธาที่จะมีชีวิตอยู่อย่างงดงามและเปี่ยมไปด้วยความรักต่อไปได้
ในความเป็นจริง ผู้เขียนได้พบชาวคริสต์ศาสนิกชนบางคนที่ยอมรับกับผู้เขียนว่า หลังจากที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว ตัวเธอถึงเพิ่งมีประสบการณ์โดยตรง ในคำสอนของพระเยซู ทั้งๆ ที่ตัวเธอเองก็ได้ศึกษาจากหนังสือและคัมภีร์ไบเบิลมาตลอดทั้งชีวิต เมล กิ๊บสัน บอกว่า สิ่งที่เขาต้องการถ่ายทอดในหนังเรื่องนี้ก็คือ จงเชื่อมั่นในศรัทธา ความหวัง ความรัก และการให้อภัย แม้จะอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่น่าเป็นใจเอาเสียเลย อย่างเช่น ในขณะนี้ที่เกิดสงครามอยู่ตามที่ต่างๆ ทั่วโลก แต่สงครามจะยุติได้ก็ต่อเมื่อ ผู้คนสามารถรัก "ศัตรูของตน" ได้อย่างแท้จริง ดังคำสอนของพระเยซูแล้วเท่านั้น
*****************************
"จงรักศัตรูของท่าน และจงอธิษฐานเพื่อผู้ที่ข่มเหงท่าน" คำสอนอันลึกซึ้งนี้ของพระเยซูมาจาก ระดับจิตของท่านที่อยู่ในระดับสูงสุดที่เรียกว่า ระดับอทวิภาวะ (nondual) ซึ่งตามภูมิปัญญาแบบบูรณาการ อธิบายว่าเป็นจิตในโลกทัศน์แบบรหัสนัยคติ (mystic)
โดยทั่วไป จิตที่จำแนกตามโลกทัศน์จะแบ่งได้เป็นจิตในโลกทัศน์แบบมายาคติ (magic) ซึ่งเป็นระดับจิตที่ต่ำสุด เมื่อจิตพัฒนาขึ้นมา จิตจะมีโลกทัศน์เป็นแบบปรัมปราคติ (myth) หากจิตมีการพัฒนาต่อไปอีก จิตจะมีโลกทัศน์แบบเหตุผลนิยม (rational) คนส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยสามารถพัฒนาจิตมาได้ถึงระดับนี้เท่านั้น หากจิตได้รับการพัฒนาต่อไปอีก จิตจะมีโลกทัศน์แบบพหุนิยม (plural) ซึ่งเป็นระดับจิตของปัญญาชน หรือปราชญ์บัณฑิต หากคนผู้นั้นเริ่มปฏิบัติธรรมและฝึกจิตด้วย จิตของผู้นั้นจะได้รับการพัฒนาให้สูงยิ่งขึ้นไปอีก จนมีโลกทัศน์แบบบูรณาคติ (integral) ซึ่งเป็นระดับที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ (transitional) ระหว่างโลกียะกับโลกุตระ และถ้าหากคนผู้นั้นมีภูมิธรรมที่สูงพอและฝึกฝนปฏิบัติธรรมต่อไปจน รู้แจ้ง และมีประสบการณ์โดยตรง จิตของผู้นั้นจะมีโลกทัศน์แบบรหัสนัยคติ (mystic) ซึ่งแบ่งย่อยได้อีกเป็น 4 ระดับ จากหยาบไปสู่ละเอียด คือ
(1) ระดับพลังจิต (Psychic) ซึ่งเป็นโลกทัศน์แบบรหัสนัยคติเชิงธรรมชาติ (nature mysticism)
(2) ระดับที่เป็นทิพย์ (subtle) ซึ่งเป็นโลกทัศน์แบบรหัสนัยคติเชิง = รูปพรหม (deity mysticism)
(3) ระดับที่เป็นทิพย์อย่างละเอียดยิ่ง จนถึงมูลเหตุ (causal) ซึ่งเป็นโลกทัศน์แบบรหัสนัยคติเชิงอรูปพรหมหรือนิรรูป (formless mysticism)
(4) ระดับอทวิภาวะ (nondual) ที่ข้ามพ้นความเป็นคู่ทั้งปวง ซึ่งเป็นโลกทัศน์แบบรหัสนัยคติเชิงอทวิภาวะ (nondual mysticism)
โศกนาฏกรรมของเยซู ด้านหนึ่งจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะโลกทัศน์แบบรหัสนัยคติหรืออทวิภาวะคติ เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ เป็นไปไม่ได้ หรือแม้แต่ "บิดเบือนศาสนา" ในสายตาของพวกมหาปุโรหิตที่มีโลกทัศน์แบบปรัมปราคติ ในสายตาของมวลชนที่มีโลกทัศน์แบบมายาคติ/ปรัมปราคติ และในสายตาของปิลาต ผู้นำโรมันแห่งสภาสูงสุดของปาเลสไตน์ที่มีโลกทัศน์แบบเหตุผลนิยม
บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลถูกเขียนจากปากคำของเหล่าศิษย์สาวกของพระเยซู ด้วยภาษาและโลกทัศน์แบบปรัมปราคติ ซึ่งผู้อ่านที่มีโลกทัศน์แบบพหุนิยม หรือบูรณานิยมขึ้นไปเท่านั้นถึงจะเข้าถึงในคำสอนอันลึกซึ้งของพระเยซู และเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาทางจิตของคนผู้นั้นได้
จึงมีแต่คนในระดับจิตนี้ขึ้นไปเท่านั้น ถึงจะเข้าใจในคำสอนแบบพระเยซูดังต่อไปนี้ที่กล่าวว่า
"ฉันไม่ได้รัก ความดีมากไปกว่าการที่ฉันรักความเลว แม้แต่ เผด็จการที่ชั่วร้ายอย่างฮิตเลอร์ก็ได้ขึ้นสวรรค์ เมื่อเธอเข้าใจคำสอนอันนี้ของฉัน ตัวเธอก็จะเข้าใจพระเจ้าได้" (จาก Conversation with God เล่ม 1 ของ Neale Donald Walsch, หน้า 61)
คำสอนแบบอทวิภาวะของโลกทัศน์แบบรหัสนัยคติ เช่นข้างต้นนี้ มิใช่เป็นไปไม่ได้ แต่เพราะสังคมมนุษย์เรายังไม่ได้มีวิวัฒนาการมาถึงขั้นรหัสนัยคติ หรือรหัสนัยนิยมต่างหาก เพราะแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างตะวันตก สังคมของเขาโดยเฉลี่ยก็ยังมีโลกทัศน์แบบเหตุผลนิยม กับ พหุนิยม เป็นหลักเท่านั้น โลกทัศน์แบบบูรณานิยมเองก็เพิ่งก่อตัวเป็นฝ่ายข้างน้อยในวงการปัญญาชนตะวันตก ยิ่งไม่ต้องไปพูดถึงโลกทัศน์แบบรหัสนัยนิยม ซึ่งยังคงเป็นโลกทัศน์สำหรับคุรุบางคนที่มีประสบการณ์โดยตรงทางจิตวิญญาณ ในการ "รู้แจ้ง" มาแล้วเท่านั้น สำหรับสังคมไทยเราเอง ยิ่งไม่ต้องไปพูดถึง
เพราะสังคมเรายังเป็นสังคม "จับฉ่าย เชิงโลกทัศน์" ที่โลกทัศน์แบบมายาคติ, ปรัมปราคติ, เหตุผลนิยมปนเปกันอยู่ได้อย่างหน้าตาเฉย โดยมีโลกทัศน์แบบพหุนิยมสอดแทรกอยู่ประปรายเท่านั้น
ภายใต้สังคมแบบนี้ คงยากที่จะทำให้ผู้คนส่วนใหญ่เชื่อได้ว่า "การเมืองแบบเบื้องบน" นั้นมีอยู่จริง และทำได้จริง เพราะจนถึงบัดนี้ผู้คนรวมทั้งนักรัฐศาสตร์ก็ยังคงนิยามว่า การเมืองเป็นเรื่องของการต่อรองช่วงชิงผลประโยชน์ ซึ่งเป็นโลกทัศน์แบบเหตุผลนิยม แต่เราก็ไม่มี "เหตุผล" ที่จะเชื่อว่า นิยามการเมืองแบบนี้จะดำรงอยู่ตลอดไปชั่วฟ้าดินสลาย
วิวัฒนาการของการเมืองในอนาคต ต้องคลี่คลายไปในทิศทางของพหุนิยม และ บูรณานิยมอย่างไม่ต้องสงสัยไม่ช้าหรือเร็วแค่นั้นเอง และหากการเมืองพัฒนาไปจนถึงรหัสนัยนิยมเมื่อไหร่ การเมืองก็จะกลายเป็นการเมืองแบบเบื้องบนอย่างเต็มตัวเมื่อนั้น ซึ่งคงอีกหลายร้อยปีหรือหลายพันปี หลังจากนี้เลยทีเดียว ถ้าประเมินจากระดับวิวัฒนาการทางจิตของสังคมมนุษย์ในปัจจุบัน
แต่การยอมรับความจริงที่เป็นเช่นนี้เอง อย่างที่มันต้องเป็นไปอย่างนี้ มิได้หมายความว่า พวกเราจะเริ่มวางรากฐานทางความคิดและคำสอนเกี่ยวกับ "การเมืองแบบเบื้องบน" ตั้งแต่บัดนี้ไม่ได้ หากเราต้องการที่จะเห็นสันติภาพอันถาวรสถาปนาบนโลกใบนี้ หากเราต้องการให้การเบียดเบียนหมดสิ้นไปจากโลกใบนี้ ขอเพียงแต่เรามีความมุ่งมั่นศรัทธาในชีวิตความจริง และความรักอย่างที่ มหาบุรุษผู้หนึ่ง เมื่อสองพันปีก่อนได้ริเริ่มแสดงให้เราดูเป็นแบบอย่างและเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนทุกยุคทุกสมัยมาโดยตลอด...เพราะฉะนั้นในข้อเขียนต่อๆ ไปหลังจากนี้ ผู้เขียนจะพยายามปูพื้นฐานความคิดเชิงบูรณาการเกี่ยวกับการเมืองแบบเบื้องบน ในแบบเดียวกับที่ คาร์ล มาร์กซ์ ได้เคยทำได้กับทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ และวัตถุนิยมวิภาษวิธีของเขา โดยผู้เขียนจะเริ่มจากการอธิบายจักรวาลทัศน์ในมุมมองแบบบูรณาการที่มองว่า จักรวาลทางกายภาพเป็นส่วนหนึ่งของธรรมจิต (Spirit) ที่กำลังวิวัฒนาการอยู่ และทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลนี้เป็นการเผยตัวของธรรมจิต