2 ความรวดร้าวของมหาบุรุษกับการเมืองฝ่ายเบื้องบน (2)

2 ความรวดร้าวของมหาบุรุษกับการเมืองฝ่ายเบื้องบน (2)

 


ความรวดร้าวของมหาบุรุษกับการเมืองฝ่ายเบื้องบน (2)


"ตรึงกางเขนทำไม เขาได้ทำผิดประการใด?"
ปิลาต



เพียงชั่วเวลาเพียงสองปี หลังจากที่ เยซูเข้าร่วมกับกลุ่มยอห์นผู้ให้รับบัพติศมา สถานภาพของเยซูก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากช่างไม้หนุ่มแห่งนาซาเร็ธแคว้นกาลิลีที่แทบไม่มีใครรู้จัก กลายมาเป็นผู้ที่แบกรับ "ความคาดหวัง" และ "ความระแวง" จากผู้คนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังจากที่ยอห์นถูกทางการจับกุมไปแล้ว


ผู้ที่มี "ความคาดหวัง" เป็นอย่างสูงต่อเยซูคือ พวกลูกศิษย์ของยอห์น รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่เห็นใจในชะตากรรมของยอห์น และเห็นด้วยกับแนวทางปฏิรูปศาสนา ซึ่งอาจรวมทั้งการขับไล่มหาอำนาจที่ยึดครองดินแดนของพวกตนออกไปด้วย จึงไม่แปลกที่บางคนอาจจะฝันไกลไปถึงว่า เยซูคนนี้แหละที่จะมาเป็น "ผู้นำ" แห่งขบวนการปลดแอกที่พวกเขารอคอยมานานแล้ว


ส่วนผู้ที่มี "ความหวาดระแวง" ในตัวเยซูก็คือ พวกฟาริสี และพวกสะดูสีที่กุมอำนาจบริหารศาสนาในกรุงเยรูซาเลม ซึ่งเริ่มเพ่งเล็งเยซูในฐานะที่เป็น "บุคคลอันตราย" ที่จะมาปลุกระดมปลุกปั่นยุยงประชาชนให้ลุกฮือขึ้นมา "ปฏิรูปศาสนา"


แน่นอนว่า ตัวเยซูเองก็ย่อมตระหนักถึงสายตา 2 แบบของ "ความคาดหวัง" และ "ความระแวง" นี้เป็นอย่างมากเลยทีเดียว ทำไมเขาจะไม่ตระหนักรู้ถึง สายตาปฏิปักษ์ของพวกนิกายกระแสหลัก และทำไมเขาจะไม่รับรู้เต็มหัวอกถึง สายตาคาดหวังแต่เข้าใจผิด ที่พวกลูกศิษย์และประชาชนแห่งแคว้นกาลิลีมีต่อตัวเขา


แต่ไม่ว่าพวกไหน ไม่ว่าใคร ก็ไม่มีใครสักคนที่เข้าใจถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของเยซู ในขณะนี้เจตนารมณ์ที่แท้จริงของเยซูมีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือ การมุ่งพิสูจน์แสดงให้เห็นถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้าว่ามีอยู่จริง นอกจากสิ่งนี้แล้วในชีวิตเขามิได้มีความทะเยอทะยานใดดำรงอยู่อีกเลย


แต่ความรักของพระเจ้า มิใช่จินตภาพของพระเจ้าในโลกของพันธสัญญาเก่า ซึ่งเป็นจินตภาพของพระบิดาผู้เกรี้ยวโกรธ มุ่งพิพากษาลงทัณฑ์ ซึ่งไม่ว่าพวกนิกายกระแสหลัก หรือแม้แต่กลุ่มยอห์นเองก็ยังมีจินตภาพแบบนี้ ขณะที่เยซูมีจินตภาพที่ต่างออกไป เพราะในจินตภาพของเยซูเป็นจินตภาพของพระเจ้า ผู้เปี่ยมไปด้วยความรักความอ่อนโยน


จริงอยู่ที่การพูดถึง "ความรักของพระเจ้า" และ "พระเจ้าแห่งความรัก" เป็นเรื่องที่พูดง่ายๆ แค่ลมปาก แต่สำหรับผู้คนที่มีชีวิตอยู่ท่ามกลาง "ความโหดร้ายในชีวิตจริง" แล้วดูเหมือนว่า พวกเขาจะสัมผัส "ความเย็นชา" ของพระเจ้าได้ง่ายกว่า "ความรัก" ของพระเจ้า เพราะฉะนั้นการทำให้พวกเขาเชื่อในพระเจ้าที่ดุร้าย จึงง่ายกว่าการทำให้พวกเขาเชื่อมั่นในความรักของพระเจ้ามากมายนัก


เยซูเองก็คงตระหนักได้ถึงข้อขัดแย้งอันนี้ และรู้ดีว่า การพิสูจน์แสดงให้เห็นถึงการดำรงอยู่จริงของ พระเจ้าแห่งความรัก กับการป่าวประกาศให้ผู้คนทั้งหลายได้รับทราบถึง ความรักของพระเจ้าได้กลายมาเป็น พันธกิจที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเขาไปเสียแล้ว


ชีวิตของเยซูหลังจากนั้น จึงไม่ใช่เรื่องราวใดอื่น นอกจากเป็นเรื่องราวของ ความรวดร้าวของชายผู้มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ที่พยายามพิสูจน์ให้ผู้คนได้เห็นในสิ่งที่ยากจะเชื่อได้ว่ามีอยู่จริง นั่นก็คือ ความรักของพระผู้เป็นเจ้า


"ครั้นยอห์นถูกอายัดแล้ว พระเยซูได้เสด็จมายังแคว้นกาลิลี ทรงเทศนาประกาศข่าวประเสริฐของพระเจ้า" (มาระโกะ 1:14)


เยซูเริ่มดำเนินบทบาทของ "คุรุ" หรือผู้นำทางจิตวิญญาณ ด้วยการเทศนาประกาศข่าวประเสริฐของพระเจ้า ซึ่งหมายถึง การสิ้นสุดของโลกแห่งพันธสัญญาเก่า และการเริ่มต้นของโลกแห่งพันธสัญญาใหม่ ซึ่งมีจินตภาพของพระเจ้าที่ "เปลี่ยนไป"


สัมพันธภาพของเยซูในฐานะคุรุที่มีต่อผู้คนที่ทนทุกข์และถูกทอดทิ้งในคัมภีร์ไบเบิลได้ถูกนำเสนอใน 2 รูปแบบ แบบแรกคือ เรื่องเล่าเชิงปาฏิหาริย์ ที่พระเยซูรักษาความเจ็บป่วยของผู้คนจนหายขาดอย่างเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจ แบบที่สองคือ เรื่องเล่าเชิงเอื้ออาทรปลอบประโลม ที่แสดงถึงความเมตตาที่พระเยซูมีต่อผู้คนผู้ต่ำต้อย ยากไร้ ทุกข์ทรมานทั้งหลาย และดูเหมือนว่า เรื่องเล่าแบบที่สองจะสะท้อนให้เห็นถึงหัวใจของพระเยซู หรือความจริงของพระเยซูมากกว่า เรื่องเล่าแบบที่หนึ่งเสียอีก ดังตัวอย่างต่อไปนี้


"มีคนหนึ่งในพวกฟาริสีเชิญพระเยซูไปเสวยพระกระยาหารกับเขา พระองค์ก็เสด็จเข้าไปในเรือนของคนฟาริสีคนนั้น และดูเถิด มีผู้หญิงคนหนึ่งของเมืองนั้น เคยเป็นหญิงชั่ว (โสเภณี) เมื่อรู้ว่าพระองค์ทรงเสวยอยู่ในบ้านของคนฟาริสีนั้น นางจึงถือผอบน้ำมันหอม มายืนอยู่ข้างหลังพระองค์ ร้องไห้น้ำตาไหลเปียกพระบาท เอาผมเช็ดจูบพระบาทของพระองค์ และเอาน้ำมันชโลม..." (ลูกา 7:36-38)


ผู้หญิงคนนี้คงเป็นหญิงสาวผู้ยากไร้ที่อาศัยอยู่ใกล้แถวนั้นเอง เพราะความยากจน นางจึงจำต้องขายตัวให้แก่ผู้ชายไม่เลือกหน้า พวกผู้ชายเหล่านี้ แม้หาความสุขจากร่างกายของนาง แต่ก็ดูแคลนนาง พูดจาย่ำยีทำร้ายจิตใจนาง นางถูกสังคมตราบาปว่าเป็นหญิงชั่ว เป็นที่รังเกียจในสายตาของคนทั่วไป


นางคงได้ยินกิตติศัพท์ของพระเยซูจากใครบางคน และคิดจะไปเฝ้าพระองค์สักครั้ง บางทีนางอาจได้ยินเรื่องของท่านจากปากของผู้ชายที่ซื้อตัวนางมาร่วมหลับนอนเมื่อคืนก่อนก็เป็นได้ นางคงไม่รู้หรอกว่า พระเยซูมีรูปร่างหน้าตาเป็นยังไง แต่ทันทีที่นางได้แลเห็นพระเยซูแต่ไกล นางก็รู้ได้ด้วยสัญชาตญาณทันทีว่า ผู้ชายคนนี้แหละคือ ท่านเยซูอย่างแน่นอน เพราะนางสัมผัสได้ถึง ความอ่อนโยนที่จริงแท้ของผู้ชายคนนี้


เนื่องจากบ้านที่พระเยซูกำลังรับประทานอาหารเป็นบ้านของพวกฟาริสีที่กฎเคร่งครัดห้ามสุงสิงกับโสเภณี เพราะฉะนั้น นางคงถูกพวกบ่าวในบ้านขัดขวางไม่ให้เข้าเฝ้าพระเยซู แต่นางก็คงสลัดการห้ามปรามของพวกบ่าวมาสยบอยู่แทบเท้าของพระเยซูแล้วร่ำไห้จนน้ำตาของนางเปียกชุ่มเท้าของพระเยซู นางตกใจรีบเอาผมของนางเช็ดเท้าของท่าน จูบเท้าของท่านแล้ว เอาน้ำมันหอมจากผอบชโลมเท้าท่าน...


ในระหว่างนั้น นางคงปิดปากเงียบงันไม่ได้พูดอะไรกับพระเยซูเลยแม้แต่คำเดียว นอกจากมองหน้าท่านด้วยดวงตาที่เปี่ยมล้นไปด้วยน้ำตาของนาง นางใช้น้ำตาของนางอุทธรณ์ความปวดร้าวตลอดชั่วชีวิตของนางจนถึงบัดนี้กับพระเยซู


เพียงแค่เห็นน้ำตาของนาง พระเยซูก็รับทราบเรื่องราวทั้งหมดของนาง ท่านคงปลอบประโลมนางให้หยุดหลั่งน้ำตา พร้อมกับบอกนางว่า ท่านรับรู้ถึงความปวดร้าวของนาง จากนั้น พระเยซูได้กล่าวคำพูดที่งดงามที่สุดประโยคหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลว่า ผู้ที่รักมาก ย่อมได้รับการยกโทษ


บางทีเหตุที่เรื่องเล่าเชิงเอื้ออาทรปลอบประโลม ในคัมภีร์ไบเบิลน่าประทับใจกว่าเรื่องเล่าเชิงปาฏิหาริย์ ก็เพราะว่าเรื่องเล่าเชิงปาฏิหาริย์ส่วนใหญ่มาจากตำนานพระเยซูที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาในท้องถิ่นต่างๆ ของแคว้นกาลิลี ภายหลังจากที่พระเยซูสิ้นพระชนม์ไปหลายปี หรือหลายสิบปีแล้ว ซึ่งอาจมีการแต่งเติมเพิ่มสีสันจนเกินจริงไปบ้าง ขณะที่เรื่องเล่าเชิงเอื้ออาทรปลอบประโลมนั้น น่าจะมาจากความทรงจำของพวกลูกศิษย์ที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ จึงสามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างมีพลัง


พระเยซู ที่ปรากฏในเรื่องเล่าเชิงเอื้ออาทรปลอบประโลมได้ให้ความรู้สึกแก่ผู้อ่านคัมภีร์ไบเบิลว่าเป็น บุรุษผู้มีจิตใจงดงามอ่อนโยน ทั้งต่อคนป่วย คนพิการ คนยากไร้ คนต่ำต้อยในสายตาของสังคมมากกว่าเป็นผู้นำผู้ยิ่งใหญ่ หมู่บ้านเล็กๆ ที่ยากแค้นเหล่านั้นคือ โลกทั้งหมดของพระเยซู ความทุกข์ยาก ความปวดร้าวทั้งปวงของผู้คนเหล่านั้น ท่านแบกรับเอาไว้ทั้งหมดอย่างไม่อิดเอื้อนแม้แต่น้อย


แต่ในขณะเดียวกัน พระเยซูก็ตระหนักรู้ถึงความจริงอีกอย่างหนึ่งว่า ความรักนั้นไร้พลังในเชิงวัตถุ ในเชิงเห็นผลทันตา ท่านรักผู้คนที่ไร้สุขเต็มไปด้วยความทุกข์ยากเหล่านั้น แต่ท่านก็รู้ดีว่าวันใดที่พวกเขาพวกเธอเหล่านั้นรับรู้ว่า ความรักมิได้ทำให้ท้องอิ่ม ความรักมิได้ทำให้หายป่วยจากโรคร้าย เมื่อนั้นแหละ พวกเขาพวกเธอเหล่านั้น จะหักหลังท่าน จะทอดทิ้งท่านไป


ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่า ผู้คนส่วนใหญ่ในโลกแห่งความเป็นจริงแสวงหาแต่สิ่งที่ให้ผลทันตาเท่านั้น คนป่วยอยากหายป่วย คนจนก็อยากหายจน แต่ความรักเป็นพฤติกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการให้ผลทันตาในทางวัตถุ ในทางโลกแต่ประการใด


นี่คือ ความทุกข์ของพระเยซูที่ไม่รู้จะทำอย่างไร ถึงจะทำให้ผู้คนทั่วไปเชื่อและศรัทธาในพลังอันบริสุทธิ์ของความรักเหมือนอย่างตัวท่านได้ บางครั้งท่านถึงกับถอนหายใจเฮือกใหญ่พร้อมกับรำพันออกมาว่า "ถ้าพวกท่านไม่เห็นหมายสำคัญ และการอัศจรรย์ (ปาฏิหาริย์) ท่านก็จะไม่เชื่อ" (ยอห์น 4:48)


ในช่วงแรกๆ ที่พระเยซูปรากฏตัวออกมาแสดงบทบาทในฐานะคุรุ ท่านได้แสดงปาฏิหาริย์ที่เป็นผลของความสามารถทางจิตที่ได้บำเพ็ญปฏิบัติมาให้แก่ผู้คนจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องการรักษาโรค พร้อมกับคำร่ำลือแบบปากต่อปาก จึงมีผู้คนแห่กันเข้ามาขอเป็น "ศิษย์" ของพระเยซูมากมายกลายเป็นช่วง "ขาขึ้น" ของพระเยซู แต่ครั้นเมื่อพระเยซูเริ่มตระหนักว่า ผู้คนจำนวนมากที่มาหาท่าน มิได้ต้องการฟังคำสอนจากท่านในเรื่องความจริงของความรัก แต่ต้องการให้ท่านแสดงปาฏิหาริย์เพื่อสนองความต้องการทางโลกของพวกเขาเท่านั้น ท่านก็ตกอยู่ใน "ความทุกข์" อันล้ำลึก มีครั้งหนึ่งที่ท่านพูดว่า จะไม่รักษาโรคอีก ผู้คนที่มาหาท่านได้ฟังเช่นนั้นก็โกรธยิ่งนักถึงกลับลุกขึ้นผลักท่านออกจากเมือง พาไปยังแง่ของเงื้อมเขาเพื่อที่จะผลักท่านให้ตกเขาเลยทีเดียว (จากลูกา 4:27-28)


จะเห็นได้ว่า การเผยแพร่คำสอนของพระเยซูตกอยู่ท่ามกลางความเข้าใจผิดตั้งแต่แรกแล้ว พวกลูกศิษย์ใกล้ชิดพระเยซูส่วนใหญ่ต่างก็คาดหวังให้ท่านเป็น "ผู้นำการปฏิวัติ" ของขบวนการปลดแอก ส่วนพวกชาวบ้านที่แห่มาหาท่านก็มองท่านไม่ต่างอะไรกับ นักบุญผู้มีฤทธิ์ในการรักษาโรคที่พวกตนต้องการมาขอใช้ "บริการ" จากท่านเท่านั้น


เพราะฉะนั้น แม้พระเยซูจะอยู่ท่ามกลางลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมากมายในช่วงต้นๆ ซึ่งเป็นช่วง "ขาขึ้น" ของท่าน ตัวท่านกลับรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดายเหลือเกิน เพราะท่านรู้ดีว่า ท่านถูกเข้าใจผิดจากผู้คนจำนวนมากที่มี "ความคาดหวัง" ผิดๆ เกี่ยวกับตัวท่านไปต่างๆ นานา ขณะที่ตัวท่านเองครุ่นคิดอยู่เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น นั่นคือ การมุ่งพิสูจน์ให้โลกนี้ประจักษ์ในความรักของพระเจ้า


บางทีสิ่งที่พระเยซูต้องต่อสู้ด้วยอย่างหัวชนฝา น่าจะเป็นเหล่าชายหญิงจำนวนนับไม่ถ้วนที่มาห้อมล้อมท่านด้วยสายตาที่มุ่งมั่นคาดคั้นและยัดเยียด "ความคาดหวัง" ของพวกเขา พวกเธอให้กับท่านนั่นเอง ในห้วงยามนั้น ทั่วทั้งแผ่นดินนี้คงไม่มีใครโดดเดี่ยวเท่าตัวท่านอีกแล้ว ครั้นต่อมาภายหลัง เมื่อพระเยซูเริ่มแสดงท่าทีชัดเจนว่า ท่านจะไม่เป็นผู้นำการปฏิวัติของขบวนการปลดแอก และจะไม่แสดงปาฏิหาริย์อีก ผู้คนที่เคยมาห้อมล้อมท่านก็ทยอยจากท่านไปเป็นจำนวนมาก ช่วง "ขาลง" ของพระเยซูจึงมาเยือนกลุ่มคณะของพระเยซู ภายในเวลาที่รวดเร็วมากกว่าที่ควรจะเป็น


จะว่าไปแล้ว การที่พระเยซูถูกจับตรึงกางเขนหลังจากนั้นไม่นานนัก คงแยกไม่ออกจากสภาวะ "ขาลง" ที่ความนิยมของพวกชาวบ้านมวลชนที่เคยมีต่อพระเยซูได้ตกต่ำลงอย่างรวดเร็วจนน่าใจหาย เลยทำให้เกิด "ช่องว่าง" ให้ศัตรูทางศาสนาของพระเยซูสบโอกาสที่จะกำจัดท่านได้ โดยไม่ได้รับการปกป้องจากชาวประชาเหมือนอย่างแต่ก่อนนั่นเอง แต่ความเสื่อมความนิยมของชาวบ้านที่มีต่อพระเยซู เพราะท่านไม่ยอม "ตามใจ" พวกเขา กลับสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นของแท้ของพระเยซูในฐานะที่เป็นคุรุหรือผู้นำทางจิตวิญญาณ ซึ่งจะได้เป็นที่ประจักษ์ในเวลาต่อมา







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้