บนเส้นทางแห่ง "มังกรบูรณา" (ปลายปี 2544)

บนเส้นทางแห่ง "มังกรบูรณา" (ปลายปี 2544)


บนเส้นทางแห่ง "มังกรบูรณา"


1 ก้าวแรก

แม้จนบัดนี้ ตัวผมก็ยังเชื่ออย่างไม่คลางแคลงใจเลยว่า "มนุษย์เป็นผลผลิตของยุคสมัย" จริงอยู่มีมนุษย์บางคนที่ได้สร้างและสามารถสร้าง "ยุคสมัย" ของเขาขึ้นมาได้ก็จริง แต่คนประเภทนี้หายากและมีจำนวนน้อยนิดเมื่อเทียบกับผู้คนส่วนใหญ่ และแม้แต่คนที่หายากและมีจำนวนน้อยนิดเหล่านี้ ในช่วงแรกเริ่มแห่งการเติบใหญ่ของพวกเขา ก็น่าที่จะเป็นผลผลิตของยุคสมัยเช่นกัน

อย่างที่ได้เคยเขียนไว้ใน "มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า" (2533) อย่างละเอียดแล้วว่า ผมได้ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1974 (พ.ศ. 2517) เมื่ออายุยังไม่ครบ 18 ปีดี และเป็นคนที่อายุน้อยที่สุดในรุ่นกลุ่มนักเรียนต่างชาติทั่วโลกที่ได้รับทุนนี้ในปีนั้น ขณะนั้นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เพิ่งจบลงไม่กี่เดือน ผมออกมา "ผจญภัยและแสวงหาทางปัญญา" ด้วยหัวใจที่เปี่ยมล้นไปด้วยความคาดหวัง ความใฝ่ฝัน อุดมการณ์ และอุดมคติ อันเป็น "กลิ่นอาย" ของคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวใน ยุคสมัยของพวกผม

หลังจากที่ค้นพบตัวเองในช่วงปลายปี ค.ศ. 1975 ขณะที่ตัวเองเป็นนักศึกษาปีหนึ่ง แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกียวโต แล้วว่า ตัวเองต้องการเป็นนักคิดแบบลัทธิมาร์กซ์ผมจึงตัดสินใจทำเรื่องขอย้ายคณะไปเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ ซึ่งได้ชื่อว่าโด่งดังทางด้านเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์ ที่สุดในญี่ปุ่นขณะนั้น นี่เป็นก้าวแรกของการเริ่มศึกษา "วิชา นอกรีต" ของผมและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตัวผมอย่างสิ้นเชิงหลังจากนั้น

ผมยังจำได้ดีว่าในวันที่มีการสอบสัมภาษณ์ตัวผมโดยคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโตเพื่อทดสอบความพร้อมของผมในการเข้าเรียนที่คณะนี้นั้น ท่านศาสตราจารย์มาเองาว่า คณบดี ได้หยิบหนังสือ "รัฐและการปฏิวัติ" ของเลนินฉบับแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นแล้วกางหน้าประมาณกลาง ๆ เล่มให้ผมอ่านข้อความในนั้นด้วยเสียงอันดังตลอดทั้งหน้า

ความที่ผมได้ศึกษาด้วยตัวเองมากว่าครึ่งปีแล้วโดยการอ่านหนังสือภาษาญี่ปุ่นที่เกี่ยวกับเรื่อง "วัตถุนิยมประวัติศาสตร์" "ว่าด้วยความขัดแย้ง" ฯลฯ มาแล้วทำให้ผมมีความเข้าใจและรู้ศัพท์เฉพาะของลัทธิมาร์กซ์ที่เป็นภาษาญี่ปุ่น พอที่จะผ่านการสอบสัมภาษณ์ครั้งนั้นได้

เหตุการณ์แบบนี้สำหรับนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นน่าจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวเท่านั้น ลัทธิมาร์กซ์เป็น "วิชานอกรีต" สำหรับสังคมไทยมาโดยตลอดก็จริง แต่สำหรับสังคมญี่ปุ่นที่ผ่านความเจ็บปวดจากระบบเผด็จการทหารและการพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สองมาแล้วนั้น แทบไม่มีผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น "ปัญญาชนญี่ปุ่น" คนไหนในยุคสมัยนั้นที่ไม่เคยศึกษาหรืออ่านงานของคาร์ล มาร์กซ์ มาบ้าง ในยุคนั้น "ลัทธิมาร์กซ์" เป็นป้ายบ่งบอกความเป็น "ปัญญาชนหัวก้าวหน้า" ของคนเกือบทั่วทั้งโลก ผมเคยเจอข้อความแดกดันที่เขียนโดยนิรนามไว้ในมหาวิทยาลัยเกียวโตซึ่งมีบรรยากาศใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในยุคหนึ่งว่า

"ลัทธิมาร์กซ์เป็นฝิ่นของปัญญาชน "……..ซึ่งน่าจะมีความจริงอยู่บ้าง


2 มนต์ขลังของลัทธิมาร์กซ์

ไม่ว่าใครก็ตามที่ศึกษาสังคมศาสตร์อย่างจริงจัง และได้มาเผชิญกับระบบชุดความคิดและภูมิปัญญาของลัทธิมาร์กซ์ คนผู้นั้นย่อมจะอดทึ่งไม่ได้ในความโอฬารของมันซึ่งมีทั้งปรัชญา ประวัติศาสตร์ ทฤษฏีเศรษฐกิจ ทฤษฏีการเมือง ทฤษฏีสังคม(ชนชั้น) ทฤษฏีองค์การจัดตั้งและทฤษฏีปฏิวัติ !!!

ลัทธิมาร์กซ์มีความโอฬารในองค์ความรู้และพลังตรรกะที่แกร่งยิ่งต่อการโน้มน้าวให้คนหนุ่มสาวที่หลงไหลในการเป็นนักคิดต้องยอมสยบในฐานะที่เป็นยักษ์ใหญ่แห่งโลกความคิดที่ยากจะก้าวข้ามได้

มรรควิธีของมาร์กซ์ในวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ประสานวิภาษวิธี (Dialectic) อันเป็นมรรควิธีในการรับรู้ทางปรัชญากับมรรควิธีของวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ที่เป็นการนำเอาวิภาษวิธีมาประยุกต์ใช้ในปริมณฑลของสังคมและประวัติศาสตร์เพื่อ "รับรู้ปัจจุบัน" และ "รับรู้ส่วนทั้งหมด" (Totality) แม้จนบัดนี้ก็ยังเป็นมรรควิธีที่ทรงพลังอยู่แม้จะไม่สมบูรณ์และถูกต้องไปหมดก็ตาม

การศึกษาลัทธิมาร์กซ์ ทำให้ตัวผมถูกเทรนให้โน้มเอียงไปในทาง "บูรณาการศาสตร์" (Integral Studies) ตั้งแต่แรกเริ่มแห่งการเดินอยู่บนเส้นทางนักคิดแล้ว


3 โอกาส

ผมศึกษา "ประวัติศาตร์เศรษฐกิจแนวลัทธิมาร์กซ์" จาก ศาสตราจารย์ นากามูระ ศึกษา "เศรษฐกิจญี่ปุ่นแนวเศรษฐศาสตร์การเมือง" จากศาสตราจารย์ อิเกงามิ และศาสตราจารย์ คิฮาระ แต่คนที่ผมเดินตามรอยและย่ำซ้ำทางอารมณ์และความคิดมากที่สุดในฐานะที่เป็นผู้ศึกษาลัทธิมาร์กซ์คือศาสตราจารย์ ยุอาซะ ทาเกโอะ งานเขียนของผมในเชิงลัทธิมาร์กซ์ไม่ว่าจะเป็น "บททดลองเสนอสังคมนิยมในแง่ของวัตถุนิยมประวัติศาสตร์" "ความอับจนของลัทธิเหมา" "พลวัตรโปแลนด์" "ลัทธิบอลเชวิกของเลนิน" "ลัทธิมาร์กซ์ที่ไร้มาร์กซ์" "ทฤษฏีปฏิบัติการมวลชนของโรซ่า ลุกเซมเบอร์ก" "บทสังเคราะห์ทฤษฏีองค์การของเลนิน" และ "ทฤษฏีการปฏิวัติถาวรของทรอตสกี้" จะมากจะน้อยล้วนมีตัวตนของท่านอาจารย์ยุอาซะ ดำรงอยู่

ผมตกตะลึกกับโศกนาฏกรรมของขบวนการปฏิวัติสังคมนิยม และ "ตาสว่าง" ในข้อจำกัดของลัทธิมาร์กซ์ที่ไร้มาร์กซ์ก็จากงานค้นคว้าทีทุ่มเทสุดชีวิตของ "คนใน" ขบวนการที่เป็นนักคิดและปัญญาชนอย่างครูทั้งหลายของผมที่เอ่ยนามมานี้นั่นเอง

ตัวผมเองศึกษาและเขียนงานข้างต้นออกมาท่ามกลางและภายหลังการล่มสลายของขบวนการปฏิวัติในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 สิ่งที่ตัวเองได้รับรู้มาเกี่ยวกับ "ด้านมืด" ของลัทธิมาร์กซ์และขบวนการสังคมนิยมนั้น ในด้านหนึ่งมันทำให้ตัวผมรู้สึกหดหู่และโดดเดี่ยวในโลกความคิดเป็นอย่างยิ่ง


ในช่วงนั้นถ้าหากไม่เกิดการปรากฏตัวของ "กลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองจุฬาฯ" ซึ่งมีท่านอาจารย์วารินทร์ วงหาญเชาว์ ท่านอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ท่านอาจารย์สุธี ประศาสน์เศรษฐ ท่านอาจารย์กนกศักดิ์ แก้วเทพ ท่านอาจารย์ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ ท่านอาจารย์แล ดิลกวิทยรัตน์ ท่านอาจารย์ณรงค์ เพชรประเสริฐ ท่านอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร ท่านอาจารย์ธีรนาถ กาญจนอักษร ท่านอาจารย์สังศิต พิริยะรังสรรค์ ท่านอาจารย์สุภา ศิริมานนท์ และเพื่อนร่วมแนวคิดต่างสถาบันอย่างท่านอาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหวัณ ตัวผมก็คงไม่ได้รับโอกาสให้มี "พื้นที่" อยู่ในสังคมไทยนี้ในฐานะ นักคิดมือใหม่ และคงไม่มีโอกาสได้พัฒนาความคิดของตัวเองหลังจากนั้นมาอย่างต่อเนื่องจนถึงวันนี้ บุญคุณของท่านอาจารย์แต่ละท่านที่ผมเอ่ยนามมาข้างต้นยังคงอยู่ในความทรงจำของตัวผมไม่รู้ลืมแม้จนทุกวันนี้ เพราะถ้าหากไม่เกิด "กลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองจุฬาฯ" ซึ่งก็เป็นผลผลิตของยุคสมัยเช่นกัน เข้ามารองรับและเคลื่อนไหลอย่างกระตือรือล้นในช่วงทศวรรษที่ 1980 สิ่งที่ตัวผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับลัทธิมาร์กซ์และสังคมนิยมตลอดเวลา 10 ปีเต็มในญี่ปุ่นคงเป็นแค่ "วิชานอกรีต" และไม่สามารถเป็นพื้นฐานให้ผมได้พัฒนาตัวเองเข้าสู่การบูรณาการกับ "ภูมิปัญญาตะวันออก" จนกระทั่งกลายเป็นแนวทางและสำนักความคิดสำนักหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อคนกลุ่มหนึ่งในสังคมนี้ในยุคนี้ได้


4 การแยกทางกับลัทธิมาร์กซ์

การหย่าร้างแยกทางอย่างฉันท์มิตรกับลัทธิมาร์กซ์ของผมเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปลายปี พ.ศ. 2529 (ค.ศ. 1986) เมื่อผมเขียน "ความคิดที่กำลังข้ามพ้นความคิดสังคมนิยม" ออกมานำเสนอในการประชุมสมัชชาวิชาการครั้งที่ 4 ตอนนั้นผมรู้ในใจชัดเจนแล้วว่า แนวทางแบบสังคมนิยมที่กำลังดำเนินอยู่ทั่วโลกนี้ไปไม่รอดแน่และจำต้องแสวงหาแนวทางใหม่ที่ดีกว่าและก็เป็นจริงตามคาดอีกสี่ปีต่อมาหลังจากที่ผมเสนอข้อเขียนชิ้นนี้สหภาพโซเวียตล่มสลายและจีนแดงค่อย ๆ สลายความเป็น "สังคมนิยม" ของตนออกไป


ในตอนหนึ่งของข้อเขียนชิ้นนี้ ผมได้เขียนไว้ว่า

…….อันกรอบความคิดของลัทธิหนึ่ง ๆ หรือระบบความรู้หนึ่ง ๆ นั้น ยากยิ่งที่จะไม่ถูกจำกัดโดยประสบการณ์ที่มีอยู่เดิมได้ แน่นอนว่าถ้าหากความคิดหนึ่ง ๆ ยังติดยึดอยู่กับประสบการณ์เดิม ข้อเท็จจริงเดิม และความเป็นจริงเดิมโดยไม่ยอมรับประสบการณ์ใหม่ ข้อเท็จจริงใหม่ และความเป็นจริงใหม่อย่างสิ้นเชิงแล้ว ความคิดนั้นก็ยากยิ่งที่จะรักษาพลวัตของมัน และยากยิ่งที่จะรักษาพลังชีวิต (Vitality) ของมันให้มีอยู่ต่อไปได้ เพราะความคิดทางสังคมก็เป็นดั่งเช่นการว่ายน้ำทวนกระแส หากหยุดยั้งอยู่กับที่เท่ากับเป็นการถดถอยและการถดถอยของ "ความคิดทางสังคมนั้น" ก็เป็นก้าวแรกของการย่างก้าวไปสู่ "ความตาย" ของความคิดนั้นด้วย

แต่ทว่าผลกระทบที่ประสบการณ์ใหม่ ข้อเท็จจริงใหม่ และความเป็นจริงใหม่มีต่อความคิดทางสังคมหนึ่ง ๆ นั้นสามารถเป็นได้หลายระดับ บางครั้งเพียงแต่แก้ไข ปรับปรุง เนื้อหาบางส่วนของความคิดนั้นก็สามารถบรรเทาและผ่านพ้นวิกฤตการณ์ไปได้ แต่บางครั้งก็อาจจำเป็นต้อง "ผ่าตัด" เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของความคิดนั้นขนานใหญ่ภายใต้กรอบความคิดเดิมถึงจะรักษาพลังดึงดูดของความคิดนั้นเอาไว้ได้

แต่ก็มีบางครั้งซึ่งมักเป็นแค่นาน ๆ ครั้งที่ประสบการณ์ใหม่ ข้อเท็จจริงใหม่ และความเป็นจริงใหม่เหล่านี้ผลักดันให้นักคิดนักทฤษฏีต้องเผชิญกับปัญหาการทบทวนระบบความคิดนั้นในขั้นพื้นฐานซึ่งนำไปสู่การแสวงหากรอบความคิดหรือพาราไดม์ (Paradigm) อันใหม่

ผู้เขียนคิดว่า ปัญหาการอับตันของความคิดสังคมนิยมหรือลัทธิมาร์กซ์ที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้นั้น (ค.ศ. 1986) น่าจะจัดอยู่ในกรณีท้ายสุด……..

ผมแยกทางจากลัทธิมาร์กซ์มาอย่างฉันท์มิตรและอย่างไม่ได้ล้มละลายทางความคิด ที่บอกว่า "อย่างฉันท์มิตร" ในความหมายที่ว่าผมยังยอมรับและชำนาญในการใช้วิภาษวิธี (Dialectic) อันเป็นตรรกวิทยาแห่งการเข้าใจธรรมชาติ จักรวาลและความเปลี่ยนแปลงอยู่ แต่ผมเลิกที่จะยอมรับ "วัตถุนิยมประวัติศาสตร์" แล้วเท่านั้น (ต่อมาผมได้นำวิภาษวิธีนี้ไปใช้ในการศึกษาและฝึกฝนศาสตร์ตะวันออก ซึ่งทำให้ตัวผมสามารถรุดหน้าในศาสตร์ต่าง ๆ เหล่านี้ได้อย่างรวดเร็วมาก เพราะโดยแก่นแท้ของศาสตร์เหล่านี้เป็นวิภาษวิธีซึ่งชาวบ้านเข้าถึงได้ยาก)

ที่บอกว่า "ไม่ได้ล้มละลายทางความคิด" ในความหมายที่ว่าผมรู้สึกและตระหนักได้ว่าตัวผมในวัยสามสิบปีขณะนั้นที่ได้ผันตัวเองเข้าสู่วิถีบูรพามาพอสมควรแล้ว ได้เติบใหญ่ทางความคิดและประสบการณ์ชีวิตเกินกว่าที่ระบบความคิดแบบลัทธิมาร์กซ์ที่ตัวผมต้องมนต์ขลังในวัยหนุ่มน้อยจะร้อยรัดมัดตัวมัดใจผมได้อีกต่อไปแล้ว ผมกำลังก้าวเดินบนวิถีของตัวผมเองในช่วงนั้นผมมีประสบการณ์ทางวิญญาณกับคำพูดต่อไปนี้ของบายาซิดคุรุแห่งนิกายซูฟีของอิสลามที่เคยพูดถึงตัวเขาเองไว้ว่า

"ผมเคยเป็นนักปฏิวัติเมื่อผมยังหนุ่มและสิ่งที่ผมภาวนาทุกครั้งต่อพระผู้เป็นเจ้าในขณะนั้นก็คือว่า…….โอ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ขอพระองค์ทรงได้โปรดประทานพลัง(ฤทธิ์)แก่ข้าพเจ้าเพื่อการเปลี่ยนแปลงโลกนี้ด้วยเถิด"

"……แต่เมื่อผมย่างเข้าสู่วัยกลางคนและได้เริ่มตระหนักว่ากว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตผมได้ผ่านไป โดยปราศจากการเปลี่ยนแปลงแม้เพียงวิญญาณเดียวของตัวผมเอง ผมจึงได้เปลี่ยนคำสวดภาวนาต่อพระผู้เป็นเจ้าไปเป็นว่า……โอ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ขอพระองค์ทรงได้โปรดประทานพรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่ผู้คนทั้งปวงที่ได้เข้ามาสัมผัสกับข้าพเจ้าแม้เพียงแค่เป็นคนในครอบครัวหรือเพื่อน ๆ ข้าพเจ้าก็มีความพอใจแล้ว"

"……บัดนี้ ผมได้กลายเป็นคนชราไปเสียแล้วและเวลาของผมที่จะอยู่ในโลกนี้ก็เหลือน้อยลงทุกที ในตอนนี้ ผมมีคำภาวนาอยู่อย่างเดียวที่จะขอต่อพระผู้เป็นเจ้า นั่นคือ……โอ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าขอพระองค์ทรงได้โปรดประทานพรให้ตัวข้าพเจ้าสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้ด้วยเถิด……ถ้าหากตัวผมได้ภาวนาเช่นนี้มาตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตวัยหนุ่ม ชีวิตของผมคงไม่สูญเปล่าไปมากมายขนาดนี้"

แปลกแต่จริง ! หลังจากที่ตัวผมได้เลือกเดินบนวิถีบูรพาอันเป็นวิถีแห่งการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกมากว่ายี่สิบปีแล้ว ตัวผมกลับสามารถส่งผลสะเทือนต่อความคิดและชีวิตของผู้คนที่ได้อ่านงานเขียนเชิงภูมิปัญญาตะวันออกของผมให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในจิตใจได้มากกว่าในสมัยที่ผมเขียนงานแนวลัทธิมาร์กซ์ออกมาเสียอีก


5 ศึกษาทุนนิยมบรรษัท

ผมย้ายความสนใจจาก "ความคิดสังคมนิยม" ไปสู่การศึกษาเศรษฐกิจแบบ "ยึดตัวตนเนื้อหาเป็นหลัก" (Substantive) หนังสือเรื่อง "Capital Accumulation in Thailand : 1855 - 1985" ของอาจารย์ ซุเอฮิโร่ อากิร่า ที่ศึกษาพัฒนาการสะสมทุนในประเทศไทยในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1855 - 1985 ซึ่งเป็นงานประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่สืบทอดงานศึกษาของสำนักฉัตรทิพย์อย่างสร้างสรรค์เป็นงานที่ผมชื่นชอบมากและอยากจะสานต่อ ซึ่งต่อมาผมได้ผลิตงานเขียนแนว "ทุนนิยมบรรษัท" ออกมาหลายชิ้น อาทิเช่น "ทฤษฎีบรรษัทข้ามชาติ" "บริษัทญี่ปุ่นกับการเป็น NIC ของประเทศไทย" ฯลฯ โดยตัวผมมุ่งในการเน้นศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันของทุนญี่ปุ่นที่แห่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างมืดฟ้ามัวดินในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1987 - 1988 และคาดการณ์อนาคตของประเทศไทยจากมุมมองนี้

ช่วงนั้นเป็นช่วงหนึ่งในชีวิตของผมที่ออกไปวิจัยภาคสนามตามโรงงานของบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่น - ไทย นับเป็นร้อย ๆ โรงงาน อีกทั้งได้ศึกษาระบบการจัดการแบบญี่ปุ่นและการสร้างทักษะแรงงานฝีมือของบริษัทญี่ปุ่นอย่างเอาการเอางานอีกด้วย จนในปี ค.ศ. 1992 ผมได้รับปริญญาเอกแบบรอมบุนฮาคาเซะจากการนำเสนอวิทยานิพนธ์เป็นภาษาญี่ปุ่นเรื่อง "บรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นกับพัฒนาการทุนนิยมในประเทศไทย" โดยที่กรอบความคิดที่ผมใช้เป็นดังนี้

"เป็นการยากยิ่งที่จะปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่า องค์ประธานทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในการผลักดันเศรษฐกิจทุนนิยมสมัยใหม่นั้นก็คือ บรรษัท (Corporation) ฉะนั้นในการวิเคราะห์เศรษฐกิจทุนนิยมของประเทศหนึ่ง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมนั้น เราจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะต้องศึกษาความเป็นมา ความเป็นไปของกลุ่มธุรกิจ หรือกลุ่มบรรษัทขนาดใหญ่ของประเทศนั้น รวมทั้งของบรรษัทข้ามชาติที่มีบทบาทอิทธิพลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ - การเมืองและภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศนั้น"

และในการวิเคราะห์ "ปัญหาทางเศรษฐศาสตร์" อันเนื่องจากการจะกลายเป็น NIC (ประเทศอุตสาหกรรมใหม่) ของประเทศไทยที่ได้โอกาสนี้จากการที่ทุนญี่ปุ่นแห่เข้ามาลงทุนโดยตรงในประเทศไทยอย่างมากมายมหาศาลในช่วงครึ่งหลังของทศวรรที่ 1980 ตัวผมได้จำแนกปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ออกเป็น 7 ระดับตามมรรควิธีทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซ์ซึ่งเป็น "วิถีลงล่าง" (Weg Der Absteigung) ที่เริ่มจากการวิเคราะห์ในระดับกว้างที่สุดไปจนถึงระดับที่เป็นหน่วยของการวิเคราะห์ที่เล็กที่สุดคือ "คน" ดังต่อไปนี้


(1) ปัญหาการเลือกประเภทของการพัฒนาเศรษฐกิจ
(กรอบการวิเคราะห์ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ)

(2) ปัญหาการแบ่งงานระหว่างประเทศ
(กรอบการวิเคราะห์ในระดับสากล)

(3) ปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นแบบทวิลักษณะ (Dual economy)
(กรอบการวิเคราะห์ในระดับประเทศเดียว)

(4) ปัญหายุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม
(กรอบการวิเคราะห์ในระดับภาคเศรษฐกิจ)

(5) ปัญหาองค์กรอุตสาหกรรม
(กรอบการวิเคราะห์ในระดับกลุ่มธุรกิจ)

(6) ปัญหาระบบการบริหารของบริษัท
(กรอบวิเคราะห์ในระดับบริษัทเดี่ยว)

(7) ปัญหา "คน" หรือ "ทรัพยากรมนุษย์"
(กรอบการวิเคราะห์ในระดับโมเลกุลที่เป็นองค์ประกอบของบริษัทเดี่ยว)

เป็นที่น่าสังเกตว่าตั้งแต่ในปี ค.ศ. 1988 แล้วที่ตัวผมได้ออกมาเตือนว่า "ถ้าหากประเทศไทยประสบความล้มเหลวในการกลายเป็น NIC ประเทสไทยจะกลายเป็นทุนนิยมจำแลง (Ersatz Capitalism) "คำว่าทุนนิยมจำแลงนี้เป็นคำที่ผมใช้เรียกก่อนที่จะใช้คำว่า "ทุนนิยมฟองสบู่" ในเวลาต่อมาสิ่งที่ผมกังวลที่สุดภายหลังจากที่ตัวผมหันมาทุ่มเทให้กับการศึกษาอนาคตของทุนนิยมไทย ในที่สุดก็เกิดขึ้นจริง ๆ เพียงแค่ 9 ปี หลังจากงานเขียนชิ้นนี้ของผมราวกับเป็นชะตากรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้ตัวผมจะได้ออกมานำเสนอเพื่อเตือนภัยอีกครั้งในงานเขียนเรื่อง "ทุนนิยมฟองสบู่" ในปี ค.ศ. 1993 แล้วก็ตาม


6 เขียน "เศรษฐศาสตร์กำลังภายใน"

จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในการศึกษาวิจัยของผมอีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่ผมศึกษาปัญหา "คน" ในทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ ซึ่งพฤติกรรมของ "คน" ในทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ที่ผมได้ศึกษานี้เป็นทั้ง "ผู้เล่นเกม" และเป็นทั้ง "นักฉวยโอกาส" โดยไม่สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจิตใจได้ ผมทั้งเกิดความผิดหวังและแลเห็นถึงขีดจำกัดของวิชาเศรษฐศาสตร์ในเรื่อง "คน" จนตัดสินใจทดลองงานเขียน "เศรษฐศาสตร์กำลังภายใน" ที่แหวกแนวออกมาอย่าง "มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า" ในปี ค.ศ. 1990 และเป็นการประกาศจุดยืนแบบ "มังกรบูรพา" ออกมาอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกของตัวผม ในคำลงท้ายของหนังสือเล่มนี้ ผมเขียนเอาไว้ตอนหนึ่งว่า

……..ท่านพุทธทาสภิกขุเคยกล่าวไว้ว่า "ถ้าเปลี่ยนจิตใจได้ ก็เปลี่ยนโลกได้ จิตที่เปลี่ยนย่อมเห็นโลกผิดไปจากที่เคยเห็น" "การมีโภคทรัพย์มากน้อยไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าการครอบครองโภคทรัพย์นี้จะต้องเชื่อมโยงกับการบำเพ็ญธรรมด้วย" และ "ไม่หนีโลกและก็ไม่หลงโลก หากแต่จะอยู่ในโลกอย่างมีจิตสำนึกเพื่อทำการเปลี่ยนแปลงโลกจากภายใน" อนึ่ง ท่านพุทธทาสภิกขุยังมีความเห็นเกี่ยวกับศาสตร์ว่าด้วย "เศรษฐกิจ" หรือวิชาเศรษฐศาสตร์ที่เป็นวิชาชีพของผมด้วยว่า เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับการทำสิ่งที่ไม่มีค่าหรือสิ่งที่มีค่าน้อยให้มีค่ามากที่สุด ถ้ากล่าวโดยนัยนี้ หนังสือเล่มนี้ของผู้เขียนก็น่าที่จะจัดเป็นหนังสือทางเศรษฐศาสตร์ประเภทหนึ่งได้เช่นกัน (เศรษฐศาสตร์กำลังภายใน ?)………

ในตอนนั้น ผมยังอาลัยกับความเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ผมใช้ชีวิตอยู่กับมันตั้งแต่วัยเรียนไม่ต่ำกว่า 15 ปีอยู่ โดยที่ตัวผมเองขณะนั้นก็ไม่คาดฝันว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเพียงแค่ก้าวเล็ก ๆ ก้าวแรกของผมในการเหยียบย่ำเข้าสู่องค์ความรู้ใหม่ พรมแดนแห่งภูมิปัญญาใหม่ทางด้านจิตวิญญาณ ความเชื่อ และศาสตร์เร้นลับอย่างที่น้อยนักที่จะมีปัญญาชนคนสมัยใหม่ได้เคยสัมผัส


7 มุ่งสืบค้นวัฒนธรรมทางจิตวิญญาณในประเทศไทย

แม้ว่าหลังจากนั้นตัวผมจะเขียนงานทางเศรษฐศาสตร์ออกมาอีกอาทิเช่น "เศรษฐกิจฟองสบู่ : บทเรียนและทางรอด" "เศรษฐกิจไทยตายแล้วฟื้น" (การอภิวัฒน์รีเอ็นจิเนียริ่ง) แต่งานเหล่านี้สำหรับตัวผมไม่ต่างการออกมาร้องเพลงอีกให้กับผู้ฟังตามเสียงร่ำร้อง "เอาอีก เอาอีก" ภายหลังจากที่ผู้ร้องจบคอนเสิร์ทของตัวเองลงแล้ว งานหลักที่แท้จริงของตัวผมในช่วงระหว่าง ปี ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน (ปลายปี ค.ศ. 2001) คือการหลอมรวมสรรพศาสตร์ในภูมิปัญญาตะวันออกให้เป็นระบบความคิดและระบบการฝึกฝนที่ชัดเจนและครอบคลุมต่างหาก

ภาระกิจในการหลอมรวมสรรพศาสตร์ในภูมิปัญญาตะวันออกที่ผมได้กระทำมานี้ สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น 3 ช่วง ด้วยกัน คือ

ช่วงที่หนึ่ง (ค.ศ. 1990 - 1994) เป็นช่วงที่เริ่มนำเสนอทางออกทางจิตวิญญาณต่อการสะสางปัญหาต่าง ๆ ในสังคมไทย โดยผ่านงานเขียนอย่าง "มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า" "ความรักกับจอมยุทธ์" "ปรัชญาอภิมนุษย์" "วิถีมังกร" "มองอย่างตะวันออก" "มูซาชิฉบับท่าพระจันทร์" "เค็นอิจิโร่(ดาบแห่งความรัก)" "คัมภีร์มังกรวัชระ" "วิถีบูรพา" "คัมภีร์มังกรตันตระ" "ฮาร์ท แอนด์ โซล" "ปัญญาอมตะ"

ช่วงที่สอง (ค.ศ. 1995 - 2000) เป็นช่วงสืบค้นทางจิตวิญญาณที่เกี่ยวโยงกับคำทำนายเรื่องหายนะภัยในช่วงสิ้นศตวรรษที่ 20 โดยผ่านงานเขียนชุดมังกรจักรวาล (7 เล่ม) และงานเขียนชุดมังกรบูรพา (ถึงเล่ม 3) ได้แก่ "สมาธิหมุน" "เทพอวตาร" "ครรลองโยคะ" "คุรุมังกร" "ริ้วรอยเทพยดา" "บูรพาไม่แพ้" "นักรบแห่งแสงสว่าง" "ความเชื่อเร้นลับในสังคมไทย" "หัวใจมังกร" และ "ระบำรบแห่งสันติ" ช่วงที่สองนี้จบลงด้วยการเจ็บตัวอย่างหนักของผมที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกรณีเปรตคำชะโนด ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2000 ที่ทำให้ตัวผมยุติการสืบค้นทางจิตวิญญาณอย่างสิ้นเชิงหลังจากนั้นแล้วหันกลับเข้าสู่ "โลกภายใน" "การบำเพ็ญ" และ "ธรรมวิจัย" อย่างเต็มตัวอันเป็นช่วงที่สาม

ช่วงที่สาม (กลางปี ค.ศ. 2000 - ปัจจุบัน) จึงเป็นช่วงที่ตัวผมกำลังทุ่มเทให้กับการพยายามหลอมรวมภูมิปัญญาตะวันออกเข้ากับภูมิปัญญาตะวันตก โดยได้รับแรงบันดาลใจจากงานเขียนแนวจิตวิทยาข้ามพ้นตัวตนและทฤษฏีสรรพสิ่ง (Theory of everything) ของยอดนักคิดแห่งโลกตะวันตกยุคปัจจุบัน "เค็น วิลเบอร์" (Ken Wilber เกิด ค.ศ. 1949) ตัวอย่างงานเขียนของผมที่ออกมาในช่วงนี้ได้แก่ "วัชรเซน" กับ "เทพพจนา" หาก

ช่วงที่หนึ่งของผมคือช่วงของ "มังกรไท้เก๊ก"
และช่วงที่สองของผมคือช่วงของ "มังกรจักรวาล"
ผมคงเรียกช่วงที่สามของผมนี้ว่า ช่วงของ "มังกรบูรณา"










 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้