การบูรณาการการเมืองสองหน้า (ตอนที่ 4) 21/12/2547

การบูรณาการการเมืองสองหน้า (ตอนที่ 4) 21/12/2547



การบูรณาการการเมืองสองหน้า (ตอนที่ 4)


ถึงที่สุดแล้ว หากเราจะบูรณาการการเมืองสองหน้าให้ได้จริง เราจำเป็นจะต้องเข้าใจ การเมืองในความหมายใหม่ ที่หมายถึง การร่วมกันดูแลแก้ปัญหาของส่วนรวมด้วยพวกเรากันเอง ด้วยตัวเราเองจะดีกว่า เพราะนี่คือ การเมืองเพื่อประชาชนโดยแท้จริง มิใช่การเมืองเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์เฉพาะตนเฉพาะกลุ่มเหมือนที่ผ่านมา


การเมืองในความหมายใหม่นี้ แยกไม่ได้จากบทบาทของประชาชนในฐานะที่เป็น "พลเมือง" ที่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของรัฐ เจ้าของประเทศที่มีจิตสำนึกและมีความตื่นตัวในการติดตามปัญหาต่างๆ ของบ้านเมือง พร้อมทั้งใคร่ครวญไตร่ตรองอยู่เสมอว่า ผลประโยชน์และจุดยืนเพื่อส่วนรวมนั้นอยู่ที่ใด ทำอย่างไรจึงจะให้ผลประโยชน์จุดยืนและความเห็นของฝ่ายต่างๆ เข้าด้วยกันให้ได้มากที่สุด และได้รับการยอมรับมากที่สุด


การเมืองในความหมายใหม่นี้ จึงต้องเป็นการเมืองที่มุ่งใช้เหตุใช้ผล มุ่งใช้สติปัญญาเป็นหลัก ที่สำคัญจะต้องเป็นการเมืองที่ให้คุณธรรมนำหน้า และเป็นคุณธรรมเพื่อส่วนรวมในขอบเขตที่กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้


การเมืองเชิงบูรณาการ จึงให้ความสำคัญกับการปลูกฝังคุณค่า หรือค่านิยมภายในเรื่อง ความเป็นพลเมือง ให้มีอยู่ในหมู่ผู้คนเสียก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อทำให้พวกเขาได้ตระหนักว่า การเมืองจะต้องมีความหมายมากกว่าการแสวงหาผลประโยชน์ และอำนาจวาสนาของนักการเมือง พรรคการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ทั้งหลาย โดยที่ การเมืองควรจะต้องเป็นพื้นที่ให้คนเราได้สำแดงศักยภาพที่แท้จริงของตนเองให้เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั้งหลายว่า คนเราสามารถใช้ชีวิตเพื่อรับใช้ผู้อื่นอย่างมิเห็นแก่ตัวได้ (selfless service) และการเมืองจะต้องมีความหมายใน เชิงปฏิบัติธรรม (spiritual practice) ที่เป็นการฝึกฝนผู้คนให้กลุ่มหรือฝ่ายต่างๆ มุ่งใช้การเมืองเพื่อเข้าใจตนเอง รู้จักตนเอง เข้าใจส่วนรวม รู้จักส่วนรวม เข้าใจความสัมพันธ์ที่ถูกต้องระหว่างผลประโยชน์และจุดยืนของตนเองกับผลประโยชน์และจุดยืนของส่วนรวมอย่างแบ่งแยกจำแนกได้แจ่มชัด


พูดง่ายๆ ก็คือ การเมืองในยุคหลังทักษิณ ไม่ควรจะเป็นการเมืองที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนเหมือนอย่างที่กำลังเกิดอยู่ภายใต้ระบอบทักษิณนี้ ซึ่งผู้ที่จะหยุดยั้งไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกได้ก็มีแต่ ประชาชนผู้มีจิตสำนึกแห่งพลเมือง นี้เท่านั้น


บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ พลเมืองไทย ที่มีจิตใจเพื่อส่วนรวมจะต้องร่วมมือร่วมใจกันเร่งสร้าง ประชาสังคม และขยายบทบาทของประชาสังคมออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้


พลเมืองไทยยุคใหม่ จะต้องมีจิตใจที่พึ่งตนเอง มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมโดยทำงานผ่านประชาสังคมให้มากขึ้น เรียกร้องต่อรัฐให้น้อยลง ตำหนิรัฐให้น้อยลง แต่ต้องกดดันให้รัฐลดอำนาจชักจูงรัฐให้ลดบทบาท ลดหน้าที่ลง ขณะเดียวกันก็เชิญชวนรัฐให้มาร่วมกันสร้างประชาสังคม ส่งเสริมการสร้างพลเมืองให้เกิดขึ้นมากๆ ให้ประชาสังคมที่มีพลเมืองที่มีความคิดมีสติปัญญาแบบเป็นเจ้าของชุมชนเข้ามาทำการแทนรัฐให้มากขึ้นกว่าเดิม


หัวใจของการบริหารบ้านเมืองที่ดี จะต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาของส่วนรวม มิใช่ปล่อยให้รัฐหรือรัฐบาลแก้ปัญหาแต่ฝ่ายเดียว เช่นที่เคยเป็นมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน ภายใต้ระบอบทักษิณก็ยังเป็นเช่นนั้นไม่เปลี่ยนแปลง


การที่รัฐไทยเข้ามามีบทบาท อำนาจหน้าที่ในสังคมไทยมากมายนั้น เริ่มเห็นได้ชัดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา เพราะก่อนหน้ายุครัชกาลที่ 5 นั้น รัฐไทยมีอำนาจหน้าที่เพียงป้องกันประเทศจากอริราชศัตรู และรักษากฎหมายกับดูแลความสงบเรียบร้อยภายในประเทศเท่านั้นเป็นพอ ส่วนหน้าที่อื่นๆ ที่รัฐไทยทำในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การสาธารณสุข การเกษตร การพาณิชย์ การคมนาคม เป็นต้น ในอดีตสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดทำโดยชุมชนและชาวบ้านเองทั้งสิ้น โดยรัฐแทบจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องเลย


แต่การปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย ซึ่งเริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ได้ทำให้ภาครัฐได้ขยายบทบาทเข้ามาทำกิจการหลายๆ อย่างแทนที่ชุมชน และชาวบ้านรวมไปถึงการสร้างระบบเศรษฐกิจแบบตลาด และการฟูมฟักชนชั้นสมัยใหม่ต่างๆ ขึ้นมาอีกด้วย


การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เริ่มจากปี พ.ศ. 2475 นั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงการเปลี่ยน ผู้นำ รัฐรวมศูนย์ผูกขาดอธิปไตยให้เป็น ผู้นำ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเท่านั้น แต่หน้าที่ของประชาชนก็มีเพียงเสียภาษี เคารพกฎหมายและลงคะแนนเสียงเท่านั้น เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วประชาชนก็ถอยออกห่าง ปล่อยให้รัฐไทยทำอะไรที่เป็นมิติส่วนรวมแต่ผู้เดียวต่อไปโดยที่ชุมชนชาวบ้าน และภาคประชาสังคมแทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลย


แม้ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานี้ ที่เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวเป็นอย่างมาก และรัฐไทยก็ส่งเสริมภาคเอกชนให้เข้ามามีบทบาทในระบบตลาดมากขึ้น แต่ขอบเขตและอำนาจหน้าที่ของรัฐไทยในการพัฒนากลับไม่ลดลง มิหนำซ้ำยังแทรกซึมลงลึกไปจนถึงระดับตำบลและหมู่บ้านแล้ว แต่การณ์กลับเป็นว่า ยิ่งรัฐไทยแทรกซึมลงลึกเข้าไปแค่ไหนในภาคชนบทกลับยิ่งทำให้ประชาสังคมอ่อนแอ เฉื่อยชายิ่งขึ้น และชาวชนบทก็ยังไม่ทำตนเป็นพลเมือง หากยังพากันเรียกร้องเงินทอง ความช่วยเหลือ และความอุปถัมภ์จากรัฐและนักการเมืองเป็นประจำอยู่เสมอมิได้ขาด


ไม่เป็นที่ต้องสงสัยเลยว่า ระบอบทักษิณในปัจจุบันกำลังซ้ำเติมแนวโน้มที่ทำให้ประชาสังคมอ่อนแอ เฉื่อยชา งอมืองอเท้า รอคอยความช่วยเหลือเอื้ออาทรจากรัฐอย่างเดียวนี้รุนแรงยิ่งขึ้น


ในอีกด้านหนึ่ง การที่คนไทยส่วนใหญ่อยู่กันมาในสังคมที่มีรัฐแบบเอกนิยมเช่นนี้มานานกว่าหนึ่งศตวรรษ ก็มีส่วนทำให้คนไทยมองไม่ออก มองไม่เห็นวิธีการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองด้วยองค์กรที่มิใช่รัฐอย่างประชาสังคม เพราะแม้แต่ในบรรดานักวิชาการ ปัญญาชน และสื่อมวลชนเองก็ยังคงวนเวียนติดอยู่กับกรอบวิธีคิดแบบเก่าที่เอาแต่มองว่า จะทำอย่างไรถึงจะได้รัฐบาลที่ดีได้รัฐที่ดี ที่ซื่อสัตย์สุจริตมีประสิทธิภาพ มีวิสัยทัศน์ โดยมิได้เฉลียวใจเลยว่า


หากต้องการให้ส่วนรวมและบ้านเมืองก้าวหน้า ก็ต้องลดหรือเปลี่ยนอำนาจหน้าที่ของรัฐลง แล้วหันไปเชิดชูยกย่องส่งเสริมประชาสังคมขึ้นมาแทน ต้องให้ประชาสังคมมีอำนาจ มีบทบาท มีทรัพยากรในการแก้ไขปัญหาของส่วนรวมไม่น้อยไปกว่ารัฐ ทำให้การบริหารรัฐกิจในศตวรรษที่ 21 นี้ เป็นการบริหารที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของรัฐกับประชาสังคม โดยมีประชาสังคมชี้นำ และกำกับรัฐได้ด้วย


เรายังจะต้องตระหนักอีกว่า แก่นแท้ของการปฏิรูปเชิงบูรณาการที่จะต้องเกิดขึ้นในยุคหลังทักษิณนี้ จะต้องไม่ใช่แค่เอาภาคเอกชน และระบบตลาดเข้ามาแทนระบบราชการเท่านั้น แต่จะต้องหมายถึงการเอาประชาสังคมเข้ามาแทนระบบราชการด้วย เพราะ ภาคประชาสังคมนี้แหละคือ เครื่องมือที่ทรงพลังที่เราสามารถใช้เพื่อการปฏิรูปอย่างรอบด้าน และเพื่อการเผชิญหน้ากับอนาคตที่นับวันยิ่งมีความผันผวน และคาดการณ์ได้ยากมากขึ้นทุกที แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ ระบอบทักษิณ ได้เพิกเฉยดูแคลน มองข้ามบทบาทของประชาสังคมมาโดยตลอด จนทำให้ประเทศไทยเผชิญวิกฤตรอบด้านอยู่เช่นทุกวันนี้ อนาคตของประเทศไทยจึงไม่ได้อยู่ที่การปรับปรุงและปฏิรูปรัฐเอกนิยม และก็ไม่ได้อยู่เพียงแค่การสร้างเศรษฐกิจระบบตลาดให้เข้มแข็งเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่การสร้างประชาสังคม และการสร้างรัฐพหุนิยม ซึ่งสนับสนุนและร่วมมือกับประชาสังคมเป็นอย่างดีด้วย







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้