แบบอย่างของวิญญูชนคนโบราณ
"ถ้าหัวใจของมนุษย์ไม่สื่อสารกัน สรรพสิ่งย่อมไม่สมานฉันท์"(วาทะของคนโบราณ)
ปัญหาความเสื่อมทรามตกต่ำทางศีลธรรม และจิตใจของผู้คนในสังคมไทยทุกวันนี้ที่นับวันยิ่งรุนแรงยิ่งขึ้นทุกทีนั้น ด้านหนึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เพราะ "ผู้คน" "ผู้ใหญ่" และ "ผู้นำ" ในปัจจุบันไม่อาจเป็น แบบอย่างได้ นั่นเอง คนในสังคมโดยเฉพาะเยาวชนคนหนุ่มสาวจึงเติบโตขึ้นอย่างสับสน อย่างขาดบรรทัดฐานทางคุณค่าคุณธรรมบางอย่างในการเรียนรู้ ในการเข้าใจชีวิตซึ่งสำคัญมากเหลือเกิน
เอาง่ายๆ อย่างแค่คำถามเบื้องต้นที่ว่า อะไรคือการศึกษา การเรียนรู้ ทำไมเราต้องไปโรงเรียน ต้องเรียนวิชาต่างๆ มากมาย และทำไมต้องสอบแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ก็เป็นคำถามที่ครู นักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนนับล้านคนในประเทศนี้ต้องเคยตั้งคำถามหรือเคยตอบกับตัวเองกันมาบ้างแล้ว แต่แน่ใจหรือว่า คำตอบที่พวกเขาตอบกับตัวเองหรือฟังจากปากของคนอื่นนั้น ถูกต้อง สมบูรณ์เพียงพอแล้ว แน่ใจแล้วหรือว่าคนเราจำเป็นต้องเรียนหนังสือเพื่อให้สอบได้ มีงานทำ จะได้แต่งงานมีครอบครัวที่มั่นคงเท่านั้น
ผู้เขียนเห็นว่า สังคมเราควรมองการศึกษา การเรียนรู้ด้วยแง่มุมที่เชื่อมโยงกับชีวิตทั้งหมดอย่างเป็นองค์รวม และบูรณาการ แล้วจะเห็นได้เองว่า การงาน อาชีพ รายได้ การมีครอบครัว เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตที่การศึกษาช่วยให้ได้มาเท่านั้น แต่ ตัวชีวิตเองเป็นอะไรที่มากกว่านั้น และมีความหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้น ซึ่งการศึกษา การเรียนรู้อย่างบูรณาการจะสามารถช่วยให้เราเข้าใจชีวิตในขอบเขตที่กว้างไกลกว่าเดิมได้
เพื่อการนี้ การศึกษาเรียนรู้ แบบอย่างแห่งภาวะผู้นำของวิญญูชนคนโบราณ นั้นทรงคุณค่าเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่หาแบบอย่างที่ดีได้ยากเย็นเหลือเกินนี้
วิญญูชนคนโบราณ นั้นเชื่อมั่นว่า ในโลกนี้ชีวิตนี้ไม่มีสิ่งใดสูงค่ากว่าการรู้แจ้งในธรรม และ ไม่มีสิ่งใดงดงามกว่าคุณธรรม ในอดีตกาลคนธรรมดาที่ยากไร้แต่เปี่ยมไปด้วยคุณธรรม ยามตายไปยังได้รับการยกย่องสรรเสริญตลอดมาด้วยคุณธรรมของเขา ขณะที่ผู้มีอำนาจจำนวนไม่น้อยถึงตายไปแล้วก็ยังถูกสาปแช่งตลอดมา เพราะปราศจากคุณธรรม เพราะฉะนั้น วิญญูชนคนโบราณจึงทุกข์ร้อนเมื่อพร่องคุณธรรม แต่มิเคยทุกข์ร้อนเมื่อปราศจากอำนาจ และยศศักดิ์
เหตุที่ วิญญูชนคนโบราณ สามารถธำรงสภาวะจิตเช่นนี้ได้ก็เพราะ พวกเขาใฝ่รู้ในการศึกษาบ่มเพาะคุณธรรมโดยไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของความกลัว พวกเขาจึงมีปัญญาความสามารถที่จะคิดด้วยความรู้สึกอิสระปราศจากความกลัวใดๆ ทำให้ พวกเขาสามารถเข้าถึงความเรียบง่าย ความเต็มอิ่ม ความล้ำลึก และความน่ารักของชีวิตได้ง่ายกว่าคนสมัยนี้ พวกเขารู้ดีและมองทะลุซึ้งถึงความจริงที่ว่า ความทะเยอทะยานในการแสวงหาอำนาจให้แก่ตนเองอย่างไม่รู้จักพอของผู้มีอำนาจ คือต้นตอที่สร้างความเขลา ความสับสนขึ้นในสังคมนี้ เพราะมันทำให้ผู้คนต่างกลายเป็นศัตรูคู่แข่งของกันและกัน และทำให้ต่างฝ่ายต่างก็ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดสะดวกสบายของตนเป็นสำคัญ สังคมจึงต้องแตกแยกด้วยความเชื่อที่ขัดแย้งกัน มีการแบ่งเขาแบ่งเรา อย่างโง่เขลา อย่างต่ำช้า และอย่างโหดร้าย
นี่คือ โลกที่ผู้มีอำนาจทั้งหลายที่เป็น "ผู้ชนะ" สอนให้พวกเราต้องทนอยู่กับมัน และหวังให้ผู้คนส่วนใหญ่คล้อยตามอย่างว่าง่าย
วิญญูชนคนโบราณซึ่งเป็นผู้ใฝ่ศึกษา ใฝ่เรียนรู้ที่แท้จริงด้วยจิตใจที่เป็นอิสรเสรี ย่อมกระตุ้นเตือนผู้คนให้มีสติให้ได้คิดว่า คนเราควรมีชีวิตอยู่อย่างมีปัญญา และเข้าใจโลกอย่างถึงแก่นแท้ของสัจธรรมโดยไม่คล้อยตามมัน อย่างกล้าปฏิเสธสิ่งที่มีอยู่ (สังคมเก่า) และกล้าปฏิเสธความทะเยอทะยาน ความโลภอันเป็นรากฐานของสังคมสมัยนี้ โดยมีชีวิตอยู่เพื่อทำให้สิ่งที่ตัวเองรัก และรักในสิ่งที่ตัวเองทำด้วยชีวิตจิตใจทั้งหมดของตัวเองเท่านั้น
สำหรับ วิญญูชนคนโบราณ แล้ว ไม่ว่าจะเรียนศาสตร์หรือศิลปะแขนงใดก็ตาม พวกเขาจะตระหนักอยู่เสมอว่า การเรียนรู้ศาสตร์และศิลปะใดๆ ของพวกเขานั้น ไม่อาจสำเร็จได้ในหนึ่งวัน เมื่อกลางวันไม่เพียงพอ พวกเขาจะพากเพียรต่อในตอนกลางคืน พวกเขาจะมานะพยายามด้วยความบากบั่นหมั่นสั่งสมวิชาความรู้ในศาสตร์และศิลปะแขนงต่างๆ ด้วยใจรัก จนเวลาผ่านพ้นจากเดือนเป็นปี ทำให้ การเรียนรู้ และ การเติบโตทางจิต ของเขาพัฒนาเคียงคู่กันไปอย่างเป็นธรรมชาติ
กระบวนการเรียนรู้ของวิญญูชนคนโบราณนั้น เป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างสัตย์ซื่อ และอ่อนน้อมถ่อมตน ปราศจากความทะเยอทะยาน เพราะพวกเขาถือว่า การเรียนรู้โดยตัวมันเองนั้น เป็นมรรคอันสูงส่งอยู่ในตัวอยู่แล้ว พวกเขาเรียนรู้สรรพวิชาเพื่อเข้าถึงความรู้แจ้งที่สมบูรณ์ เพราะพวกเขาเคยประจักษ์จากแบบอย่างที่มีอยู่จริงของ "ครู" ของพวกเขามาบ้างแล้วว่า เมื่อเข้าถึงความรู้แจ้งแล้ว กาย จิต วิญญาณของคนผู้นั้นจะกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว ลมหายใจของผู้นั้นจะแผ่วเบาเสมอ สีหน้าของผู้นั้นจะแจ่มใส เปี่ยมด้วยความมีสง่าราศี เต็มไปด้วยพลังชีวิต กายของผู้นั้นจะตั้งมั่น แข็งแกร่ง มีความคิดที่มั่นคง กระจ่างแจ้ง สะท้อนให้เห็นถึงดวงจิตที่บริสุทธิ์ผ่องใสตามธรรมชาติ
วิญญูชนคนโบราณนั้น สั่งสอนกันต่อมาเป็นทอดๆ ว่า "ถ้อยคำที่เอื้อนเอ่ยได้ แต่ไม่อาจปฏิบัติได้นั้น ไม่กล่าวเสียเลยจะดีกว่า" แนวทางที่ระมัดระวังและอ่อนน้อมถ่อมตนเช่นนี้จึงมักถูกมองข้ามไปโดยคนส่วนใหญ่สมัยนี้ที่ถูกครอบงำโดยลัทธิการตลาด และการสร้างภาพลักษณ์ในเชิงพาณิชย์ วิถีแห่งการเรียนรู้แบบวิญญูชนคนโบราณจึงมีการเผยแพร่อยู่ในวงจำกัด
มรรคาของคนทั่วไป กับ มรรคาของวิญญูชนคนโบราณ นั้นแตกต่างกัน มรรคาของคนทั่วไป นั้น คล้ายแม่น้ำลำคลอง เทือกเขา ลำธาร หุบเขาแมกไม้ที่ แต่ละสิ่งหล่อเลี้ยงเฉพาะตนเองเท่านั้น หาได้รู้จักสิ่งภายนอกซึ่งสมบูรณ์อยู่ในทุกสรรพสิ่งไม่ ขณะที่ มรรคาของวิญญูชนคนโบราณ นั้น ดุจแผ่นฟ้าและพสุธาที่ หล่อเลี้ยงสรรพสิ่ง และไม่มีสิ่งใดที่ไม่ได้รับการเกื้อหนุนโดย "อภิมรรค" นี้ แต่จะว่าไปแล้ว มรรคาทั้งสองนี้ก็หาได้แปลกแยกเป็นเอกเทศกันโดยสิ้นเชิงก็หาไม่ มันต่างกันเพราะความลึกซึ้งหรือความตื้นเขินแห่งการตระหนักรู้ และต่างกันที่ ระดับจิต ที่ต่ำสูงกว่ากันเท่านั้น แต่ทั้งหมดล้วนกำลังวิวัฒนาการอยู่ในกระแสธารใหญ่แห่งชีวิตของ จักรวาฬ (Kosmos)
ยามใดที่วิญญูชนคนโบราณดู ความเป็นไปของบ้านเมือง พวกเขาจะดูว่า ขณะนี้ในบ้านเมืองมีสัญญาณแห่งความอัปมงคล 5 ประการ เกิดขึ้นหรือไม่ สัญญาณแห่งความอัปมงคลที่ว่านั้น ได้แก่
(1) ทำร้ายผู้อื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ ถือว่าเป็น อัปมงคลต่อร่างกาย
(2) ไม่ดูแลผู้อาวุโสผู้ชรา แต่เอาใจเด็กเยาวชนมากไปจนเคยตัวเสียนิสัย ถือว่าเป็น อัปมงคลต่อครอบครัว
(3) ผู้มีอำนาจหลีกห่างนักปราชญ์ ช่วงใช้แต่คนถ่อย ถือว่าเป็น อัปมงคลต่อชาติบ้านเมือง
(4) ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไม่ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี ส่วนผู้เยาว์ก็ไม่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ถือว่าเป็น อัปมงคลต่อวัฒนธรรมประเพณี
(5) ปัญญาชนนักปราชญ์แฝงตัวเร้นกาย ขณะที่คนโฉดเขลากุมอำนาจบริหารบ้านเมือง ถือว่าเป็น อัปมงคลต่อฟ้าดิน
การขจัดความเป็นอัปมงคลต่างๆ เหล่านี้ กับการกอบกู้แบบอย่างของวิญญูชนคนโบราณในทุกมิติของปัจเจก ครอบครัว วัฒนธรรม และประเทศชาติ จึงเป็นเรื่องเดียวกัน และควรจะเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับสังคมนี้เสียด้วยหากต้องการพัฒนาสังคมนี้ไปสู่ สังคมความรู้ และ สังคมแห่งการเรียนรู้ ที่แท้จริง