พหุปัญญาของมูซาชิใน "คัมภีร์ห้าห่วง" (1) 19/4/2548

พหุปัญญาของมูซาชิใน "คัมภีร์ห้าห่วง" (1) 19/4/2548


พหุปัญญาของมูซาชิใน "คัมภีร์ห้าห่วง" (1)


มิยาโมโต้ มูซาชิ (ค.ศ. 1582-1645) นักดาบ-นักกลยุทธ์ผู้ไร้เทียมทาน ศิลปินระดับแนวหน้า นักคิดนักปรัชญาเชิงกลยุทธ์ผู้โดดเด่น ปรมาจารย์สำนักดาบคู่ที่มีผู้สืบทอดร่ำเรียนวิทยายุทธ์ของเขาสืบต่อมาจนทุกวันนี้ ผู้เขียน "คัมภีร์ห้าห่วง" อันลือชื่อในช่วงบั้นปลายของชีวิต ซึ่งกลายเป็นตำรากลยุทธ์ที่ "ต้องอ่าน" ควบคู่ไปกับ "ตำราพิชัยสงครามของซุนหวู่" และผู้แสวงธรรมที่ไม่เคยหยุดยั้งในการฝึกปรือตนเอง ทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ


ไม่ว่าจะมองจากมาตรฐานในยุคสมัยใด และไม่ว่าจะมองจากมุมมองสายตาแบบใดก็ตาม คงยากที่จะปฏิเสธได้ว่า มูซาชิผู้นี้เป็นผู้ที่มี "พหุปัญญา" เป็นเลิศ และได้พัฒนาตนเองอย่างรอบด้าน อย่างบูรณาการไปถึงระดับที่สามัญชนน้อยคนจะสามารถไต่เต้าไปถึง โดยผ่าน วิถีกลยุทธ์ (ปิงผ่า ในภาษาจีน หรือ เฮียวโฮ ในภาษาญี่ปุ่น) เชิงบูรณาการ ของตัวเขา


ในโลกนี้ไม่มีใครมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบในทุกด้าน ความอาภัพหนึ่งเดียวในชีวิตของมูซาชิ ทั้งๆ ที่ตัวเขามีอัจฉริยภาพในทางกลยุทธ์อย่างสมบูรณ์แบบก็คือ เขาเกิดมาช้าไปยี่สิบปี! พอเขาเริ่มเข้าสู่ช่วงรุ่นหนุ่ม สงครามแย่งชิงแผ่นดินก็ยุติลงแล้ว โดยกองทัพฝ่ายตะวันออกเป็นฝ่ายชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ขณะที่กองทัพฝ่ายตะวันตกพ่ายแพ้ยับเยิน


เนื่องจากภูมิลำเนาและสายสัมพันธ์ของมูซาชิอยู่ในฝ่ายตะวันตก และมูซาชิในวัยรุ่นหนุ่มก็เข้าร่วมกองทัพฝ่ายตะวันตกทำสงครามในฐานะที่เป็น "ทหารเลว" ระดับล่างสุดคนหนึ่งเท่านั้น ตัวเขาจึงไม่ได้มีโอกาสแสดงศักยภาพในการรบ และการดำเนินกลยุทธ์ในสงครามครั้งนั้นแต่อย่างใดเลย


ความอาภัพในชีวิตของมูซาชิเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นที่ตัวเขาคิดแสวง "อภิมรรค" โดยผ่านวิถีแห่งกลยุทธ์แล้ว เพราะยุคสมัยมิได้ต้องการ "กุนซือ" อย่างซุนหวู่หรือขงเบ้งที่ตัวเขาใฝ่ฝันจะเป็น เนื่องจากสงครามแย่งชิงแผ่นดินได้ข้อยุติแล้ว!


ทางเลือก เพียงหนึ่งเดียวที่หนุ่มน้อยมูซาชิสามารถเลือกเดินได้ในตอนนั้นคือ เป็น "โรนิน" หรือ นักรบอิสระไร้สังกัด ที่ออกพเนจรร่อนเร่ไปทั่วประเทศญี่ปุ่น เพื่อหาสังกัดเจ้านาย พร้อมกับลับฝีมือการต่อสู้ของตนไปพร้อมๆ กัน


ญี่ปุ่นภายหลังสงครามใหญ่ที่ทุ่งเซกิงาฮาร่ายุติ ที่เจ้าเมืองไดเมียวฝ่ายทัพตะวันตกถูกทำลายอย่างย่อยยับ ทำให้มีพวกโรนินเกิดขึ้นมากมายหลายหมื่นคน หากพวกโรนินเหล่านี้จะหาสังกัดใหม่หรือเจ้านายใหม่ได้ พวกเขาก็ต้อง แสดงตัว รวมทั้ง อวดตัวเอง ว่าเป็นคนมีฝีมือให้เป็นที่ร่ำลือไปทั่วให้จงได้ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงต้องตระเวนลับฝีมือ และโชว์ฝีมือไปตามมณฑลต่างๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่น แน่นอนว่าหนุ่มน้อยมูซาชิก็เป็นหนึ่งในพวกโรนินเหล่านั้นที่ออก "ล่าฝันซามูไร" ไปกับเขาด้วย เพราะยุคสมัยมันเป็นอย่างนั้นไปแล้ว


การจะเป็น ยอดนักรบ ที่เป็นที่กล่าวขานในใต้หล้าสมัยนั้นได้ ก่อนอื่นคนผู้นั้นจะต้องเริ่มจาก การท่องยุทธภพ ก่อน หากผู้นั้นมีฝีมือดาบที่ร้ายกาจจริง พวกเจ้าเมืองไดเมียวทั้งหลายที่อยากได้คนมีฝีมือมาเสริมบารมีของตน เมื่อได้ข่าวย่อมให้ความสนใจแน่ หากถูกใจก็ย่อมยินดีชุบเลี้ยง


แต่พวกโรนินที่ฝึกวิชาฝีมือส่วนใหญ่ มิใช่ว่าจะประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ กลายเป็น ยอดนักดาบ กันได้ทุกคนเสมอไป จะว่าไปแล้ว มีผู้คนเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น ที่ได้รับการยอมรับจากสังคมว่าเป็น ยอดฝีมือ


พวกโรนินส่วนใหญ่ที่เหลือ หากรู้ตัวดีว่า ขาดความสามารถและอัจฉริยภาพก็จะถอดใจเลิกคิดเป็นนักรบ หันกลับไปใช้ชีวิตเป็นชาวนาตามเดิม แต่หากยังดันทุรังต่อไปอีก จุดจบของพวกเขาส่วนใหญ่คือ ถ้าไม่เสียชีวิตในการประลอง ก็ต้องพิการไม่อาจจับดาบได้อีกตลอดชีวิต แต่ก็ยังมีส่วนน้อยที่ทิ้งดาบและหันไปออกบวชแทน


พวกนักรบจำนวนหนึ่งที่รอดชีวิตจากการท่องยุทธภพได้ ก็จะแข่งขันกันเพื่อชิงความเป็น เจ้ายุทธภพ หรือเป็นยอดฝีมือที่ถูกจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ซึ่งพวกเจ้าเมืองไดเมียวทั้งหลายจะเชื้อเชิญยอดฝีมือเหล่านี้ให้มาเป็น ครูดาบ ประจำมณฑลของตน มีสำนักดาบเป็นของตนเอง และมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย แต่ยอดฝีมือที่ธำรงตนเป็นนักรบอิสระ ไม่สังกัดเจ้านายคนไหนแล้วร่อนเร่ไปทั่วอย่างมูซาชิก็ยังพอมีอยู่


มูซาชิเริ่มประลองดาบที่มีชีวิตเป็นเดิมพันตั้งแต่อายุสิบสาม เขาผ่านการประลองเสี่ยงตายนี้กว่า 60 ครั้ง จนถึงอายุยี่สิบเก้าปี โดยไม่เคยแพ้แม้แต่ครั้งเดียว มิหนำซ้ำยังผ่านการประลองทั้งหมดนี้ได้โดยไม่พิการหรือบาดเจ็บด้วย ทั้งๆ ที่คู่ต่อสู้แต่ละคนของเขาล้วนแต่เป็นคู่มือที่ถ้าหากมูซาชิพลาดแม้แต่เพียงก้าวเดียว เขาต่างหากที่จะเป็นฝ่ายตายก่อนทั้งสิ้น


หากคำนวณช่วงเวลาที่มูซาชิออกท่องยุทธภพตั้งแต่อายุยี่สิบจนถึงยี่สิบเก้า เฉลี่ยแล้วเขาผ่านการประลองสองเดือนต่อหนึ่งครั้ง จนกล่าวได้ว่า ตลอดช่วงสิบปีนั้น มูซาชิอยู่ในภาวะ "สงคราม" หรือ "พร้อมรบ" ตลอดเวลา ต่างตรงที่มันเป็น "สงคราม" ของปัจเจกชนที่แสวงหาอภิมรรคบนวิถีกลยุทธ์หรือวิถีดาบ โดยผ่านการต่อสู้กับนักรบคนอื่นบนเส้นทางสายเดียวกันเท่านั้น


บุคลิก ของมูซาชิในช่วงนั้น พอจินตนาการได้ดังนี้

บุรุษผู้หนึ่ง กำลังเดินอยู่บนท้องถนนอย่างสงบและไม่สะทกสะท้านต่อแดดจ้า เขาเดินตัวตรง สายตาจ้องมองไปข้างหน้า เขาก้าวเท้าด้วยความเร็วสม่ำเสมอ

ความมั่นคง ที่เห็นได้ชัดจาก ภายนอก ของเขามาจาก ภายใน ของตัวเขา

ไม่ว่าใครที่พบเห็นเขา ล้วนดูออกว่า บุรุษคนนี้ได้ฝึกฝนตนเองจนร่างกายของเขาแข็งแกร่งเหนือคนทั่วไป

ร่างกายที่สูงห้าเชียะเก้าหุน ไหล่ที่ผายกว้าง หน้าอกที่กำยำ ผิวสีทองแดงเพราะเกรียมแดด

ไม่ว่าใครก็ดูออกว่า บุรุษคนนี้เป็น "นักรบ!"

ผู้คนที่เดินสวนทางกับบุรุษผู้นี้จะรู้สึกขนลุก เย็นยะเยือกขึ้นมาเองอย่างห้ามไม่ได้ เพราะบุรุษผู้นี้มีรังสีไร้สภาพที่เปล่งออกมากดดันคนรอบข้างอยู่ตลอดเวลา

ใบหน้าของนักรบผู้นี้ปราศจากความรู้สึก ไม่มีแม้แต่ส่วนเสี้ยวเดียวที่ทำให้รู้สึกว่า คนผู้นี้ขาดความระมัดระวังตัวเอง


การฝึกฝนฝึกปรือตนเองอย่างหนักและต่อเนื่องยาวนานนับปี ล้วนเผยตัวเองออกมาจากทุกสัดส่วนในร่างกายที่แข็งแกร่งประดุจหินผาของบุรุษผู้นี้ ที่แม้ฝีเท้าของเขาจะเดินเบาๆ อย่างคล่องแคล่ว แต่ก็ให้ความรู้สึกที่มั่นคงพร้อมกับระดับความเร็วที่คงที่


แต่จุดเด่นที่สุดของนักรบผู้นี้ ยังคงเป็น ดวงตา ของเขา ดวงตาที่ไม่ว่าใครก็ตามที่ได้เห็น จะไม่อาจลืมเลือนได้เลย ดวงตาที่เปล่งประกายร้อนแรงดุจเปลวไฟ และแรงกล้าเกินกว่าที่จะมองจ้องเพ่งตรงๆ ได้ ต่อให้ผู้มองเป็นผู้ฝึกวิทยายุทธ์มานานปี ก็ยังยากที่จะทนทานต่อการเพ่งจ้องกับสายตาคู่นี้ นับประสาอะไรกับคนทั่วไปเล่าจะกล้าประสานตากับดวงตาของเขาที่ประดุจดาบเปลือยอันคมกล้าเล่มหนึ่งได้...


ในยุคสมัยของมูซาชินั้น การมีชีวิตรอดเป็นกระบวนการเดียวกับการหล่อหลอมฝึกฝนตนเองให้ฉลาดและเข้มแข็ง ต่อให้การกลายเป็น ยอดคน หรือ ยอดฝีมือ ที่โดดเด่นใน วงการของมูซาชิ เป็นผลมาจากพรสวรรค์ในตัวของเขามีส่วนเกื้อหนุนอยู่ไม่น้อยก็จริง แต่มีสิ่งหนึ่งที่เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ก็คือ มูซาชิได้ใช้ความพากเพียรวิริยะพยายามอุตสาหะอย่างยิ่งยวดและอย่างไม่หยุดหย่อน ทั้งในการคิดปรับปรุงฝึกฝนฝึกปรือขัดเกลาพรสวรรค์ที่มีอยู่ภายในตัวเขาให้เปล่งประกายเจิดจ้าขึ้นมาโดยพึ่งพาการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นหลัก


เวลาและพลังงานส่วนใหญ่ในชีวิตของมูซาชิ เขาทุ่มเทให้กับการฝึกฝนตนเอง ไม่ว่าเรื่องดาบ เรื่องกลยุทธ์ (ความสามารถที่จะรบชนะ) การศึกษาสรรพวิทยาแทบทุกแขนงที่มีอยู่ในสมัยนั้น โดยเฉพาะการเมือง การปกครอง การวางผังเมือง หมากล้อม งานสถาปัตย์ งานจัดสวน ฯลฯ รวมทั้งงานศิลปะอย่างภาพวาด งานแกะสลัก และการเจริญสมาธิในแนวเซน จะว่าไปแล้ว ความสามารถเชิงพหุปัญญาของมูซาชิเป็นความสามารถของคนซึ่งบรรลุจุดสูงสุดในศิลปะแขนงหนึ่ง ซึ่งสำหรับเขาก็คือ ดาบหรือกลยุทธ์ แล้วเขานำไปใช้ประยุกต์กับศิลปะและวิทยาการแขนงอื่นๆ ซึ่งทำให้ตัวเขาสามารถเข้าถึงแก่นแท้ของศิลปะ หรือวิทยาการแขนงนั้นได้ภายในระยะเวลาที่สั้นกว่าคนทั่วไปมากนั่นเอง


ในยุคปัจจุบันที่ประเทศเราตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบเบ็ดเสร็จโดยรัฐบาลพรรคเดียว ที่ได้รับชัยชนะในการช่วงชิงแผ่นดินกับฝ่ายตรงข้ามอย่างเด็ดขาดในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2005 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ห่างจากยุคสมัยของมูซาชิถึงสี่ร้อยปี แต่ดูเหมือน ทางเลือกของ "ปัญญาชนไร้สังกัด" ในประเทศนี้ ที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย อย่างองอาจ อย่างหฤหรรษ์ อย่างสง่างามด้วย ความเป็นอิสระและเป็นไทแก่ตัวจะมีไม่มากนัก


ด้วยเหตุนี้เอง ผู้เขียนถึงได้จับปากกาขึ้นมาเขียนถึง วิถีมูซาชิ อีกครั้ง หลังจากเว้นไปนานถึงสิบปีเต็ม นับตั้งแต่ที่ผู้เขียนได้เคยถ่ายทอด "มูซาชิฉบับท่าพระจันทร์" (โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, พิมพ์ครั้งที่ 7) ออกมาเมื่อปี ค.ศ. 1995


เพราะยุคสมัยนี้ คนเราใช้ "ปากกา" "คำพูด" และ "ความคิด" ประหัตประหารกันแทนดาบอย่างรุนแรงกันเหลือเกิน ทำให้ผู้คนหลีกเลี่ยงชะตากรรมของการเป็น "นักรบ" ได้ยากเต็มที ไม่ว่าผู้นั้นจะต่อสู้กับอะไรหรือกับใครก็ตาม


ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่พวกเราจะมาศึกษาร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับมูซาชิ โดยเฉพาะจาก "คัมภีร์ห้าห่วง" ของเขาที่มูซาชิเขียนขึ้นมาในช่วงสองปีก่อนวาระสุดท้ายของชีวิตเขา ซึ่งเราอาจจะถือได้ว่า หนังสือเล่มนี้ของเขาคือตัวแทนแห่งวิถีกลยุทธ์เชิงบูรณาการของตัวเขาที่สะท้อนระดับการพัฒนาบุคลิกภาพขั้นสุดยอดของมูซาชิเอาไว้อย่างสมบูรณ์


มูซาชิเริ่มเขียน "คัมภีร์ห้าห่วง" ในปี ค.ศ. 1643 และเขียนเสร็จในปี ค.ศ. 1645 ก่อนเขาจะเสียชีวิตเพียงเจ็ดวันเท่านั้น ในระหว่างที่เขาเขียน "คัมภีร์ห้าห่วง" นี้ เขาหมกตัวอยู่ในถ้ำเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ชื่อ เรงันโด ซึ่งอยู่ด้านในสุดของ วัดอุนเง็นจิ เพื่อทุ่มเทให้กับงานเขียนชิ้นนี้ ซึ่งในระหว่างนั้น เขายังเจริญสมาธินั่งภาวนาแบบเซนมิได้ขาด


มูซาชิเริ่มเขียน "คัมภีร์ห้าห่วง" เมื่อเขาอายุหกสิบปี ซึ่งในสมัยนั้นต้องถือว่าเขาอยู่ในวัยชรามากแล้ว ชายชราคนหนึ่งผู้ทุ่มเทชีวิตที่เหลืออีกเพียงสองปีของเขาให้กับการเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง อันเป็นหนังสือที่เขาได้กลั่นกรองประสบการณ์ในชีวิตกว่าหกสิบปีเต็มของเขาทั้งหมด บรรจุใส่ลงในหนังสือเล่มนี้ หนังสือเล่มนั้นย่อมไม่ต่างไปจาก "พินัยกรรม" ที่เขาเขียนทิ้งไว้


ความจริงเมื่อมูซาชิเขียน "คัมภีร์ห้าห่วง" เสร็จแล้วเขามอบคัมภีร์นี้ให้กับศิษย์เอกของเขาสามคน พร้อมทั้งสั่งเสียว่า หลังจากที่พวกเขาได้อ่านคัมภีร์นี้เสร็จแล้วให้จุดไฟเผาทำลายเสีย เหตุที่พวกเรายังโชคดีได้อ่าน "คัมภีร์ห้าห่วง" เล่มนี้ได้ ก็เพราะศิษย์เอกคนที่สามของมูซาชิเกิดความเสียดายจึงขอยืมคัมภีร์จริงมาคัดลอกเก็บไว้ ก่อนที่จะนำคัมภีร์ต้นฉบับไปเผาตามคำสั่งเสียของอาจารย์นั่นเอง คัมภีร์ห้าห่วงจึงได้รับการถ่ายทอดมาจนถึงทุกวันนี้


เป็นที่เห็นได้ชัดว่า มูซาชิเขียนคัมภีร์เล่มนี้ออกมาเพื่อเป็นพินัยกรรม มิใช่เพื่อการค้า เพื่อการสร้างภาพ เพื่อการโฆษณาโปรโมตตัวเองแต่อย่างใด เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อ "ทัดทาน" และ "ถ่วงดุล ยุคสมัยของเขาที่ผู้คนในกระแสหลักลุ่มหลงบูชาอำนาจ และความมั่นคงในชีวิตเป็นสรณะ ราวกับไม่เห็นคุณค่าของการใช้ชีวิตในวิถีทางเลือกอื่นที่ต่างออกไป ด้วยเหตุนี้คัมภีร์ดาบของมูซาชิ จึงกลายเป็น หนังสือที่วิพากษ์วิจารณ์ยุคสมัยแห่งรัฐบาลเบ็ดเสร็จของกลุ่มโตกุงาว่า ไปโดยปริยาย ทั้งๆ ที่ในหนังสือเล่มนี้ มูซาชิไม่ได้เขียนถึงสังคมและยุคสมัยของเขาเอาไว้เลย นอกจากวิชาดาบ และหลักแห่งกลยุทธ์ของตัวเขาเท่านั้น


ใน คำนำ ของคัมภีร์ห้าห่วง มูซาชิได้เขียนถึงตัวเองไว้ว่า ตัวเขา "ตั้งแต่อายุสิบสามจนถึงอายุยี่สิบเก้า ได้ทำการประลองฝีมือกับผู้คนไม่ต่ำกว่าหกสิบครั้ง และก็ไม่เคยสูญเสียความได้เปรียบเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่ครั้นพอมีอายุล่วงวัยสามสิบไปแล้ว และหันกลับมาพิเคราะห์การต่อสู้ของตนเองในอดีตก็ได้ข้อสรุปว่า ที่ผ่านมาไม่ใช่เพราะวิทยายุทธ์ของตัวเองสูงกว่าของคู่ต่อสู้หรอกที่ทำให้ได้รับชัยชนะอาจเป็นเพราะตัวเองมีไหวพริบดี รู้จักช่วงชิงโอกาสจึงทำให้ได้ชัยมากกว่า ดังนั้น หลังจากนั้นแล้ว ตัวเองจึงมุ่งที่จะแสวงหาความลึกซึ้งในมรรคาแห่งวิทยายุทธ์ของตน มุ่งมั่นฝึกฝนทั้งเช้าและเย็น จนเมื่อมีอายุห้าสิบปีถึงได้รู้สึกว่า ตนเองบรรลุมรรคาแห่งดาบ และกลยุทธ์ได้เป็นผลสำเร็จ"


หลังจากนั้นแล้ว มูซาชิได้ขยายผลแห่งความสำเร็จในมรรคาแห่งดาบและกลยุทธ์ของเขาสู่ศิลปวิทยาแขนงอื่น เพื่อพัฒนาพหุปัญญาเชิงบูรณาการของเขา จนกลายเป็น วิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการแบบพหุปัญญา ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสายหนึ่ง ดังที่ปรากฏใน "คัมภีร์ห้าห่วง" และงานศิลปะชิ้นต่างๆ ของเขาเป็น ประจักษ์พยานแห่งความสำเร็จของตัวเขาที่โลกและสังคมในยุคของเขายังไม่ยอมรับ ต้องให้เวลาผ่านไปอีกถึงสามร้อยปีให้หลังการเสียชีวิตของเขา ชีวิตและผลงานของเขาจึงได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางสืบจนทุกวันนี้









Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้