จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (23)
23. ผู้นำสีเทากับตลกร้ายที่เป็นโศกนาฏกรรมของสังคมไทย
สิ่งที่เป็น ปฏิบท (paradox) อย่างหนึ่งในยุคของสังคมข่าวสารก็คือ การที่คนเราได้รับข้อมูลมากขึ้น กลับไม่ได้ทำให้ฉลาดขึ้นเสมอไป เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่กลับกลายเป็นคนที่ขาดความมั่นคงมากขึ้น เพราะมีข้อมูลมากเกินไปจนขาดความเชื่อมั่นในการตัดสินใจ ประกอบกับการที่คนไทยส่วนใหญ่มีพื้นฐานวิธีคิดเป็นแบบ อรรถประโยชน์นิยม จึงทำให้เกิด โลกทัศน์ ที่อาจารย์ ธีรยุทธ บุญมี ได้ตั้งชื่ออย่างแหลมคมว่า "ความคิดสีเทา" ขึ้นมา โดยที่ ความคิดสีเทา นี้ กำลังกัดกร่อนและบ่อนทำลายรากฐานการพัฒนาประชาธิปไตย และสังคมของประเทศนี้อย่างรุนแรงภายใต้การนำของ "ผู้นำสีเทา" อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
"ความคิดสีเทา" คือระบบความเชื่ออย่างหยาบๆ และตื้นเขินทางตรรกะที่ไม่มองโลกอย่างแยกขาวแยกดำ อย่างแยกผิดแยกถูก แต่มองอย่างเชื่อเป็นจริงเป็นจังว่า โลกนี้มีแต่สีเทาเท่านั้น เพราะฉะนั้น "อะไรก็ได้ที่พอได้ผลหรือดูดีกว่าที่ผ่านมาก็ใช้ได้ แม้จะโกงบ้างเล่นพวกพ้องบ้าง ใช้อำนาจผิดๆ บ้างก็ไม่เป็นไร รัฐบาลโกงบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ว่าใครพอขึ้นมามีอำนาจก็โกงด้วยกันทั้งนั้น"
ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งกับมุมมองของอาจารย์ธีรยุทธที่ชี้ให้เห็นว่า การเหวี่ยงไปสู่ "สีเทา" ทั้งความคิด ระบบอำนาจ และผลประโยชน์ภายใต้ระบอบทักษิณคือ กรงขังมหึมาที่กำลังกักขังคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในเวลานี้
เพราะ คนไทยจำนวนมากหันไปนิยม "ความคิดสีเทา" ที่มองว่าในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่มีความดี-ความเลว ไม่มีความชอบธรรม-ไม่ชอบธรรม ไม่มีหลักเกณฑ์ ทั้งหมดเป็นแค่จินตนาการของมนุษย์ที่สามารถยกเลิกโยนทิ้งได้ตลอดเวลา คนไทยเหล่านี้จึงกลายเป็นพวก แก่นสารนิยม ที่เชื่อมั่นในแก่นแท้ความเป็นสีเทา ในสายตาของคนเหล่านี้ ความจริงจึงมีสีเดียวเท่านั้นคือ สีเทา โดยมิได้มองเห็นหรือแม้กระทั่งยอมรับ การดำรงอยู่ของสีสันหลากหลายอื่นๆ
การที่ทักษิณสามารถก้าวขึ้นมากุมอำนาจเบ็ดเสร็จในสังคมนี้ได้ก็เพราะ คนส่วนใหญ่ในสังคมนี้หลงผิดไปหลงเชื่อกับ "ความคิดสีเทา" แบบนี้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ทักษิณก็เป็น "ตัวการสำคัญ" ในการผลักดันให้สังคมการเมืองไทยกลายเป็น "สีเทา" อย่างเต็มตัว อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
เนื้อหาของ "ความคิดสีเทา" ที่ทักษิณยัดเยียดให้แก่สังคมการเมืองไทยก็คือ การมองทุกอย่างเป็นแค่เครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นศีลธรรม กฎหมาย สถาบันสังคม ประชาธิปไตย ล้วนมีคุณค่าในฐานะแค่ เป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้เพื่อการเพิ่มอำนาจ และผลประโยชน์ของพวกพ้องตนเท่านั้น
สิ่งที่เป็น ตลกร้าย ในการใช้ อำนาจสีเทา ของ "ผู้นำสีเทา" คนนี้ ลูกศิษย์ในชั้นเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองของผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นอย่างแหลมคมว่า เขาทำตนไม่ต่างไปจาก "โดราเอมอน" ซึ่งเป็นตัวการ์ตูนญี่ปุ่นที่เป็นแมวหุ่นยนต์จากอนาคตที่มาอยู่กับเด็กชายโนบิตะ เมื่อโนบิตะมีปัญหาอะไรก็จะเข้ามาร้องไห้ฟูมฟายกับโดราเอมอน ซึ่งโดราเอมอนก็จะนำ "ของวิเศษ" มาให้โนบิตะใช้แก้ปัญหา แต่โนบิตะเองก็ขาดความสุขุมรอบคอบในการใช้ของวิเศษ พอนำไปใช้ต่อไปเรื่อยๆ จึงเกิดผลเสียต่อตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า
"ผู้นำสีเทา" ของเราคนนี้คือ "โดราเอแม้ว" ที่ทำตนไม่ต่างไปจากโดราเอมอนเท่าไหร่นัก เพราะ เขาทำตัวเสมือนราวกับว่าสามารถทำอะไรก็ได้ ทุกสิ่งในประเทศไทยนี้ด้วย "ของวิเศษ" ซึ่งก็คือ "เงิน" และ "อำนาจที่ล้นเหลือ" ของเขา
เมื่อ "โดราเอแม้ว" ใช้ "เงิน" เป็นของวิเศษ ผู้คนทั้งประเทศนี้จึงกลายเป็น "โนบิตะ" โดยเฉพาะประชาชนรากหญ้า ของวิเศษชิ้นนี้สามารถทำให้คนชั่วคนเลวคนบาปลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคมนี้ ได้ราวกับเป็น "ไอดอล" หรือ "ซูเปอร์สตาร์" ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูชื่นชม
แต่เมื่อ "โดราเอแม้ว" ใช้ "อำนาจ" เป็นของวิเศษ ตัวเขากลับกลายเป็น "โนบิตะ" เสียเองคือใช้อำนาจไม่เป็น ใช้ในทางที่เสื่อมเสียอย่างเป็นภัยต่อตนเอง วงศ์ตระกูล และประเทศชาติ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ในการ์ตูนเรื่อง "โดราเอมอน" ตัวโดราเอมอนก็ไม่เคยมีบทเรียนเกี่ยวกับของวิเศษที่ให้โนบิตะนำไปใช้เลย ในโลกแห่งความเป็นจริงที่เป็น "ตลกร้าย" นี้ก็เช่นกัน "โดราเอแม้ว" ของเราก็ไม่เคยจดจำ หรือได้สำนึกเลยว่า "ของวิเศษ" ที่ตนนำมาใช้นั้น มันได้ก่อให้เกิดปัญหารุนแรงซับซ้อนยุ่งเหยิงมากมายขนาดไหนกับประเทศนี้ "ของวิเศษ" ที่ตัวเขาเที่ยวไล่แจกประชาชนรากหญ้ามาโดยตลอดในช่วง 5 ปีมานี้ก็หาได้มีส่วนช่วยยกระดับและพัฒนาประชาชนรากหญ้าแต่อย่างใด เหมือนกับที่ตัวโนบิตะก็ไม่ได้พัฒนาตัวเองขึ้นมาได้เลยจากการดำรงอยู่ของโดราเอมอน
ภายใต้การครอบงำของ "ความคิดสีเทา" โดย "ผู้นำสีเทา" ที่ทำตัวเป็น "โดราเอแม้ว" สังคมเรากลับตกอยู่ในกับดักทางความคิด และกับดักทางวาทกรรมโดยสื่อกระแสหลักที่ให้ความสำคัญกับความกลมกลืนปรองดองกันทางความคิด (แบบสีเทา" และมองความขัดแย้งทางความคิดที่เห็นต่าง (อย่างปรากฏการณ์ "สนธิ") ในแง่ลบ โดยพยายามชี้นำและครอบงำทางความคิดว่า ความขัดแย้งคือความวุ่นวาย ความไม่ดี และสร้างปัญหา
โดยหาได้ตระหนักเลยว่า ความขัดแย้ง มีนัยสำคัญอย่างยิ่งใน ช่วงเปลี่ยนผ่านเปลี่ยนแปลงทางสังคม อย่างใน ช่วงปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมไทยกำลังจะสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ มาตรฐานใหม่ทางศีลธรรม เพื่อปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วยิ่งของโลก
ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว ความขัดแย้ง เป็นวิธีการในการแสวงหา ทางเลือกใหม่ ของสังคมที่ไม่สามารถใช้ หลักการสีเทา ในการแก้ปัญหาได้อีกต่อไปแล้วต่างหาก
ปัญหาของสังคมไทยในขณะนี้ก็คือ เรายินยอมและปล่อยให้วาทกรรมแบบ "ความคิดสีเทา" ครอบงำสังคมมากจนเกินไป และสังคมเราก็ขาด "พื้นที่เปิด" หรือ "พื้นที่อิสระ" ที่กระตุ้นให้มีการถกเถียงความคิดที่หลากสีหลากมิติกันโดยสร้างสรรค์และเสรี จนไม่สามารถพัฒนาสติปัญญาที่เป็น สติปัญญาสาธารณะ ที่สามารถหลุดพ้นจากการครอบงำทางความคิดของ "ผู้นำสีเทา" ได้
สติปัญญาสาธารณะ ที่จะสามารถข้ามพ้น "ความคิดสีเทา" ได้จะต้องเป็นสติปัญญาที่สามารถ บูรณาการโลกแห่งประสบการณ์กับโลกแห่งจินตนาการได้อย่างลงตัว
โลกแห่งประสบการณ์ หรือ โลกแห่งความเป็นจริง เป็นโลกที่แปดเปื้อนสีเทาได้ง่าย เราไม่ควรปฏิเสธสิ่งนี้ แต่เราควรมองให้ทะลุให้จงได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างโลกแห่งจินตนาการ หรือโลกแห่งอุดมคติกับโลกของประสบการณ์เป็นความสัมพันธ์ที่มนุษย์เราต้องเผชิญหน้าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว
เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราควรทุ่มเทใช้สติปัญญาไปกระทำ คือ การสร้างสรรค์ปรับปรุงระบบสังคมในโลกของประสบการณ์อย่างให้ความเคารพในคุณค่าของชีวิต และความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นตามมิติของโลกแห่งจินตนาการ ทั้งนี้ก็เพราะว่า ในชีวิตประจำวันของคนเรา คนเราก็มักจะตกเป็น ทาส ของระบบในโลกของประสบการณ์มากเสียจนแทบมองไม่เห็นคุณค่า และศักดิ์ศรีของความเป็นคนของผู้อื่นอยู่แล้ว
นึกๆ ดูอีกที "ผู้นำสีเทา" คนนี้ของเราก็เป็นคนที่น่าได้รับความเห็นใจความเข้าอกเข้าใจมากกว่าความเกลียดชัง เพราะ เขาตกเป็น "ทาส" ของ "ความคิดสีเทา" ของตนเองและเป็น "ทาส" ของระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ในโลกของประสบการณ์แห่ง "ความมั่งคั่ง" และ "แก่งแย่งช่วงชิง" ที่บังเอิญเขาเป็นผู้ชนะด้วยปัจจัยแวดล้อมต่างๆ โดยความหลงผิดที่ตัวเขายังเข้าใจผิดคิดว่าเป็น "นาย" มัน
ขณะที่ ในโลกแห่งจินตนาการ และโลกแห่งอุดมคติ "ผู้นำสีเทา" คนนี้ของเรากลับล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า และยากไร้ซึ่งคุณธรรมต่างๆ เขาไม่สามารถ บูรณาการ "ธรรมะ" หรือคุณธรรมแห่งโลกของอุดมคติเข้ากับโลกของประสบการณ์ให้ประสานสอดคล้องกันได้อย่างกลมกลืนกลมเกลียว
เขาจึงกลายเป็น โมฆบุรุษ ในสายตาของ วิญญูชนผู้รักความเป็นธรรม ผู้เป็นอิสระจากการครอบงำด้วย "ความคิดสีเทา" ทั้งหลาย
ตลกร้าย แห่งเรื่อง "โดราเอแม้ว" ที่ "ผู้นำสีเทา" ของเราเป็น ตัวเอก จึงกลายเป็น โศกนาฏกรรมของประเทศนี้ ที่ยากจะกลับกลายแก้ไขได้อีกแล้ว ยกเว้น ตอนจบ ของเรื่องนี้เท่านั้น