จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (19)
19. ว่าด้วยความแตกแยกในระบอบทักษิณ
"เข้าใจคนอื่นคือฉลาด เข้าใจตนเองคือรู้แจ้ง
มีชัยต่อคนอื่นคือมีกำลัง มีชัยต่อตัวเองคือเข้มแข็ง"
(เต๋าเต็กเก็ง)
นับวันสังคมไทยภายใต้ทักษิณาธิปไตยกำลังจะกลายเป็น สังคมที่โหยหา "ความหมาย" ของชีวิตมากยิ่งขึ้นทุกที เพราะในด้านหนึ่งนั้น "เรื่องเล่า" ที่ผู้นำแห่งระบอบทักษิณได้เสกสรรปั้นแต่งขึ้นมาล่อลวง ประชาชนเกือบทั้งประเทศให้หลงลมหลงเชื่อตลอดห้าปีที่ผ่านมานี้ บัดนี้ผู้คนที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ได้ตระหนักชัดแล้วว่า มันเป็นแค่การโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น
แต่ในอีกด้านหนึ่ง สังคมเรากลับยังไม่สามารถค้นพบ "เรื่องเล่าเรื่องใหม่ ที่ยิ่งใหญ่ดุจ มหากาพย์" ที่จะกลายมาเป็น "ทรัพย์สมบัติร่วม" ของผู้คนภายในชาติในทางจิตใจได้ แม้ว่าจะมีความพยายามในการใช้เรื่อง "พระราชอำนาจ" กับเรื่อง "ศาสนา" มาเป็นแก่นแกนในการฟื้นฟู "เรื่องเล่าเรื่องเดิม" ก่อนการปรากฏตัวของทักษิณาธิปไตยก็ตาม
แต่ถ้าพิจารณากันอย่างไม่เข้าข้างตัวเอง เราก็คงต้องยอมรับกันไม่มากก็น้อยว่า ด้วยอิทธิพลของโลกทัศน์และชีวทัศน์แบบแมคเวิลด์ (และบริโภคนิยม) ที่เริ่มครอบงำโครงสร้างทางจิตใจของคนไทยในเมืองใหญ่ตลอดระยะเวลายี่สิบปีมานี้ มันได้ทำให้ "ความผูกพัน" ระหว่างผู้คนภายในชาติเจือจางลงกว่าเดิม
เพราะกลไกเชิงสถาบันต่างๆ ที่เคยทำหน้าที่ในการเชื่อมร้อยจิตใจของผู้คนเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน วัด และชุมชน ต่างก็ถูกอิทธิพลของแมคเวิลด์ และโลกาภิวัตน์เข้าครอบงำด้วยลัทธิบริโภคนิยม จนบทบาทของสถาบันต่างๆ เหล่านี้ถูกลดทอน "ความหมาย" ลงไปกว่าเดิมมาก
โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจได้สร้าง วัฒนธรรมการบริโภคไร้พรมแดน ขึ้นมา ทำให้เมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก รวมทั้งกรุงเทพฯ โดยเฉพาะ ชนชั้นกลาง ที่อาศัยอยู่กลายเป็น ประชาชนแห่งบรรษัทอาณาจักรบริโภคนิยม ไปโดยปริยาย พวกเขาเหล่านี้แหละที่เป็นผู้ซ่องเสพวัฒนธรรมการบริโภคไร้พรมแดนอย่างไม่ลืมหูลืมตา ไม่ว่ามันจะต้องแลกด้วยการสูญเสียอะไรต่างๆ ไปอย่างมากมายก็ตาม
บัดนี้คนไทยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ เริ่มประสบกับ วิกฤตแห่งการสูญเสียอัตลักษณ์ และสูญเสียความรู้สึกผูกพันกับสังกัดต่างๆ ในแทบทุกระดับทุกมิติของชีวิต พวกเขาก็เลยพลอยสูญเสีย "ความหมาย" ในการมีชีวิตอยู่ในระดับที่ลึกสุดถึงจิตวิญญาณไปด้วย
ปัจจุบันสังคมเรากำลังมีการเล่นเกมใหญ่ๆ อยู่ 3 เกมด้วยกันอย่างเข้มข้น
เกมที่หนึ่ง คือ เกมแห่งการแย่งชิงความมั่งคั่ง ไม่ต้องเป็นที่สงสัยเลยว่า ผู้ที่กำลังได้เปรียบในเกมนี้อยู่คือ กลุ่มทุนใหญ่ในพรรคไทยรักไทยที่พยายาม "กินรวบ" ขนมเค้กก้อนใหญ่เอาไว้คนเดียว "การเมือง" ถูกลดทอนความหมายจากการทำเพื่อส่วนรวมโดยไม่เห็นแก่ตนเองกลายเป็นแค่เกมทางธุรกิจที่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก มือใครยาวสาวได้สาวเอาอย่างไม่มีความละอายต่อบาป
เกมที่สอง คือ เกมแห่งการสัปปะยุทธ์กันทางโลกทัศน์ ขณะนี้เกมนี้เป็นเกมที่กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นที่มี การปะทะทางโลกทัศน์กันอย่างรุนแรงทุกสัปดาห์ระหว่างผู้นำรัฐบาลกับกลุ่มผู้ดำเนินรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร" ซึ่งมีเครือข่ายมัลติมีเดียในมือ นี่เป็นการต่อสู้ชิงมวลชนระดับยุทธศาสตร์ในเชิงโลกทัศน์กับผู้กุมอำนาจรัฐเบ็ดเสร็จที่ทรงพลังที่สุดในรอบหลายปีมานี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเกมที่หนึ่งแล้ว ใช่ว่าฝ่ายกุมอำนาจรัฐจะได้เปรียบก็หาไม่ เพราะดูไปแล้ว ดูท่าว่ากำลังจะตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำด้วยซ้ำ เพราะโลกทัศน์ของผู้กุมอำนาจรัฐมีจุดอ่อนมากมายเหลือเกิน
เกมที่สาม คือ เกมแห่งอัตลักษณ์
เกมนี้เป็นเกมแห่งการต่อสู้เพื่อ ความหมาย ในระดับที่ลึกกว่าโลกทัศน์เสียอีก มันเป็น เกมแห่งการถอดรื้ออัตลักษณ์เก่าและสรรค์สร้างอัตลักษณ์ใหม่ ซึ่งจะเรียกว่าเป็น เกมแห่งการต่อสู้เชิงจิตวิญญาณ ก็ว่าได้ เพราะมันไม่ใช่เป็นการต่อสู้ในเชิงผลประโยชน์ และไม่ใช่แค่การต่อสู้เชิงอุดมการณ์ เชิงโลกทัศน์หรือเชิงระบบคิด แต่มันเป็น การต่อสู้เพื่อทวงถามความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง กลับคืนมาให้แก่ผู้คนที่ได้สูญเสียวิญญาณของตนไปให้กับลัทธิบริโภคนิยม
การปะทะขัดแย้งกันภายในสังคมเราในปัจจุบัน ล้วนเกี่ยวเนื่องกับเกมใหญ่ 3 เกมนี้ทั้งสิ้น และมันกำลังทำให้สังคมนี้แตกแยกกันเป็นเสี่ยงๆ ใน 3 เรื่องใหญ่ด้วยกัน
พวกเราไม่เพียงแตกแยกกันในเรื่อง การจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไม่ลงตัวไม่เป็นธรรม
พวกเราไม่ได้ แตกแยกกันในเชิงโลกทัศน์ เท่านั้น
ปัจจุบัน พวกเรายังแตกแยกกันอย่างรุนแรงในเรื่องการตีความ ศาสนา ชาติพันธุ์ และความทรงจำทางประวัติศาสตร์ ด้วย
มิหนำซ้ำ "ผู้นำ" ของเราแทนที่จะเป็นตัวตั้งตัวตีในการแก้ไขขจัดความแตกแยกใหญ่ 3 เรื่องนี้ แต่การณ์กลับดูเหมือนว่า "ผู้นำ" ของเราจะกลับกลายเป็น "ตัวการ" ในการสร้างความแตกแยกใหญ่ๆ 3 เรื่องนี้ขึ้นมาเสียเองด้วยซ้ำ
สิ่งนี้เห็นได้ชัดที่สุดในการแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากผู้นำของเรา รวมทั้งประชาชนจำนวนมากขาดความรู้ความเข้าใจใน อิทธิพลของความทรงจำทางประวัติศาสตร์ ที่สามารถก่อให้เกิดความแตกแยกได้ จึงยากที่จะแก้ไขปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้
เพราะ เมื่อขาดความรู้ความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ แต่กลับหลงตนเองคิดว่ารู้ทุกเรื่อง ทั้งๆ ที่ไม่รู้จริง จึงมองรูปแบบความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เกิดจากพวกกบฏ (จากเดิมที่มองว่าเป็นแค่โจรกระจอก) จึงผลักดันนโยบายรัฐไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น
ยิ่งมีสื่อหัวสีบางฉบับปลุกกระแสตาต่อตา ฟันต่อฟัน ยุส่งด้วย ก็เลยยิ่งผลักดันรัฐไปสู่ อำนาจนิยม ที่เข้มข้นยิ่งขึ้น และมีแนวโน้มที่จะกลับมายอมรับความรุนแรงเป็นยุทธศาสตร์หลักแทนการสมานฉันท์ ท่ามกลางการยอมรับของประชาชนที่ถูกปลุกด้วยกระแส "เลือดต้องล้างด้วยเลือด" โดยแทบไม่ได้ตระหนักกันเลยว่า การใช้ความรุนแรงเป็นหลักในการแก้ปัญหาจะทำให้การอยู่ร่วมกับคนที่แตกต่างกันในมิติต่างๆ ของสังคม เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายอีกต่อไป มันจะยิ่งเป็นการชักศึกเข้าบ้าน และทำให้ชีวิตของผู้คนตกอยู่ในความเสี่ยงกับการก่อการร้ายที่ไม่เลือกหน้าอินทร์หน้าพรหมอีกต่อไป
การจะบูรณาการความแตกแยกที่เกิดขึ้นมาแล้ว ให้กลับมาผูกพันสมานฉันท์กันใหม่ในสังคมของเราได้ ก่อนอื่นพวกเราแต่ละคนในฐานะ ปัจเจก จะต้องหันกลับมาตรวจสอบ "ความหมาย" ของสิ่งที่เรียกว่า เสรีภาพ สันติภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นธรรม และมนุษยธรรมกันเสียใหม่ ว่ามันยังมีคุณค่าต่อพวกเราแต่ละคนมากน้อยเพียงไหน เมื่อเทียบกับการหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง หรือหมกมุ่นอยู่กับการแสวงหาความมั่งคั่ง ซึ่งเป็นแค่มิติเดียวในหลากมิติแห่งชีวิตของมนุษย์
จากนั้น เรายังต้องหันกลับไปทบทวนระบบคุณค่าเชิงศีลธรรม เชิงศาสนา เชิงจิตวิญญาณของพวกเราแต่ละคน ทำการหลอมรวมคุณค่าเหล่านี้กับแนวคิดเรื่องเสรีภาพ สันติภาพ ประชาธิปไตย มนุษยธรรม และความเป็นธรรมในสังคม โดยผ่านการเข้ากระทำอย่างเอาการเอางาน ทางสถาบันและองค์กรต่างๆ มันถึงจะกอบกู้ "ความหมาย" ที่มีพลัง มีชีวิตชีวาขึ้นมาได้อีกครั้ง