จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (11)
11. การบริโภคเชิงสัญญะกับสินค้าการเมืองที่ชื่อ "ทักษิณ"
"ในโลกไม่มี ผู้สูงส่ง คนใดที่ใช้ชีวิตโดยปราศจากความสมถะสำรวม"
"ความสูงส่งของชีวิต อาจถูกเหยียบย่ำได้ หากจะไม่มีวันถูกทำลาย"
(จาก "ผ่านพบไม่ผูกพัน" ของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, สำนักพิมพ์สามัญชน พ.ศ. 2548)
ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในโลกของ แมคเวิลด์ ก็คือ จะกระตุ้นให้ผู้คนบริโภคอย่างมากและรวดเร็วได้อย่างไร? ถ้าเราตีประเด็นนี้แตก เราก็จะสามารถเข้าใจได้เองว่า ในช่วงห้าปีมานี้ ทักษิโณมิกส์ซึ่งเป็นแมคเวิลด์ภาคไทย (ที่กลายพันธุ์เพราะไปสังวาสกับ อำนาจนิยม) ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างไร และได้ส่งผลกระทบในทุกๆ ด้านต่อสังคมนี้อย่างไรบ้าง
เราต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจกันก่อนว่า คนไทยภายใต้การครอบงำของแมคเวิลด์และวิถีทักษิณได้แสวงหาความพึงพอใจจากความสุขที่ได้จากการบริโภคอย่างไรบ้าง?
แนวคิดที่ควรนำมาใช้วิเคราะห์ประเด็นนี้ คือ
(ก) สินค้า (ข) สัญญะ (sign) และ (ค) การบริโภค
(ก) สินค้า คือ วัตถุที่มองเห็นได้ชัดที่สุดจับต้องได้มากที่สุดของ วัฒนธรรม สินค้าที่มีบทบาทและผลกระทบต่อจิตสำนึกของผู้คนมากที่สุดคือ สินค้าทางวัฒนธรรม ที่เป็นผลงานของสื่อการโฆษณาและการตลาด นับวันสินค้าทางวัฒนธรรมจะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในระบบเศรษฐกิจยิ่งกว่า สินค้าแบบทั่วไป ที่มี มูลค่าใช้สอย แต่ขาด มูลค่าทางสัญลักษณ์ เหมือนอย่างสินค้าทางวัฒนธรรม
กล่าวในความหมายนี้ ตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็นำเสนอตัวเองเป็น สินค้าการเมือง ที่เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมชนิดหนึ่งตั้งแต่เมื่อเจ็ดปีก่อน ที่ตัวเขาขออาสามาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อ "กู้ชาติ" แต่เนื่องจาก สินค้าทางวัฒนธรรมเป็นเรื่องของการให้ "ความหมาย" หรือ กำหนด "ความหมาย" ให้แก่ตัวสินค้าทางกายภาพธรรมดาตัวหนึ่ง จึงจำเป็นต้องมีการสร้าง "เรื่องเล่า" ให้ผู้คนทั้งประเทศซึ่งเป็นผู้บริโภคสินค้าทางวัฒนธรรมชิ้นนี้ "หลงเชื่อ" คล้อยตามว่า "เขา" คืออัศวินม้าขาวผู้มากู้ชาติ และ "เขา" คือความหวังของประเทศนี้ เพื่อการนี้ เครื่องมือทางการตลาด การโฆษณาทุกประเภทจึงถูกระดมและถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพในการให้ "ความหมาย" หรือการสร้างภาพลักษณ์ทำนองนี้ให้แก่ สินค้าการเมือง ชิ้นนี้มาโดยตลอด
นี่คงเป็น ครั้งแรก ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยของประเทศนี้กระมัง ที่มีการเอาโลกทางวัฒนธรรมและการเมืองกับเอาสินค้าบริโภคมารวมอยู่เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างนี้? เพราะ ก่อนหน้านี้ เรายังไม่เคยเห็นมาก่อนว่า อำนาจนิยมกับบริโภคนิยมจะสามารถสมสู่สังวาสกันได้อย่างกลมกลืนเหมือนอย่างทักษิณาธิปไตยนี้
(ข) สัญญะ (sign) ภายใต้โลกของแมคเวิลด์ก่อนที่ตัวสินค้าทางวัฒนธรรมใดๆ จะถูกบริโภค ตัวสินค้านั้นจะต้องถูกเปลี่ยนไปเป็น "สัญญะ" เสียก่อน การเปลี่ยนตัวสินค้านั้นซึ่งเป็นแค่วัตถุทางกายภาพชิ้นหนึ่ง หรือในกรณีสินค้าการเมืองอย่าง "ทักษิณ" ก็คือการเปลี่ยนปุถุชนคนหนึ่งให้กลายเป็น "สัญญะ" อย่าง "วีรบุรุษผู้มากู้ชาติ" นั้น ถือว่าประสบความสำเร็จทางการตลาดเป็นอย่างมาก
โดยผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศก็เลือกที่จะเป็น ผู้บริโภคทางการเมือง มากกว่าที่จะเป็น พลเมืองที่มีจิตสำนึก พวกเขาจึงบริโภค "สัญญะ" ที่ทักษิณและทีมงานของเขาป้อนให้อย่างแทบไม่กังขา ซึ่งมันใช้ได้ผลเฉพาะกับบริบทโครงสร้างความคิดของสังคมไทยเท่านั้น
การที่ทักษิณและพลพรรคไทยรักไทยของเขาประสบความสำเร็จเกินคาดในการแปรสินค้าการเมืองซึ่งก็คือตัวเขาไปเป็น "สัญญะ" ที่เป็น "ความหวังใหม่" ของสังคมไทยอย่างได้ผลตั้งแต่เมื่อห้าปีก่อน ได้ก่อให้เกิดตามมาหลายประการคือ
หนึ่ง สัญญะ (ในกรณีนี้คือ "เรื่องเล่า" ที่มีตัวเขาเป็นวีรบุรุษกู้ชาติ) จะทำให้คนไทยเกือบทั่วประเทศสามารถบริโภคได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะ คนไทยเหล่านี้กำลังบริโภคการเมืองที่ตอบสนอง "ความต้องการทางสัญญะ" ซึ่งเป็นความต้องการที่ไร้ขอบเขตอย่างหนึ่ง แม้ในความจริงจะเป็นแค่ความหวังความฝันลมๆ แล้งๆ ก็ตาม
สอง จากมุมมองข้างต้น เราจึงสามารถเข้าใจพฤติกรรมทางการเมืองที่ทักษิณพยายามแสดงอยู่เกือบตลอดเวลาได้ว่า เป็น การปรุงแต่งสัญญะ และกระตุ้นความต้องการทางสัญญะของผู้คนไปเรื่อยๆ โดยสัญญาว่าจะให้ในสิ่งที่ทำได้จริงบ้าง ทำไม่ได้บ้าง
สาม เนื่องจากสัญญะของสินค้ามันเป็นตัวกำหนดขอบเขตทางวัฒนธรรมของการบริโภคสินค้าอีกที เมื่อทักษิณได้กระตุ้น ความโลภระดับชาติของคนทั้งประเทศ อย่างต่อเนื่องหลายปีมากถึงขนาดนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจ หากปัญหาคอร์รัปชัน และปัญหาการตกต่ำทางศีลธรรมของประเทศนี้จะรุนแรงมากขึ้นจนน่าใจหาย เพราะนี่เป็นอิทธิพลโดยตรงของสัญญะที่ระบอบทักษิณยัดเยียดให้แก่คนไทยทั้งประเทศมาโดยตลอดนั่นเอง
(ค) การบริโภค ภายใต้โลกของแมคเวิลด์ ชีวิตของคนทำงานโดยเฉพาะชนชั้นล่างและชนชั้นกลาง จะมีลักษณะถูกจับแยกส่วนเป็นเสี่ยงๆ ซึ่งเป็นภาวะ "แปลกแยก" (alienation) จากความเป็นมนุษย์อย่างหนึ่ง สิ่งที่เข้ามาบูรณาการเชื่อมต่อชีวิตประจำวันที่แตกแยกเป็นเสี่ยงนี้คือ จิตสำนึกแห่งการบริโภค
กล่าวคือ ผู้คนหันมาหาความพึงพอใจในชีวิตจากการที่ได้บริโภค หันมาแสวงหาความสุขจากความรื่นรมย์ที่ได้เสพวัตถุ สินค้า บริการประเภทต่างๆ การบริโภคไม่เพียงแต่เข้ามามีฐานะที่เป็นตัวนำความสุขมาให้แก่คนไทยจำนวนมากเท่านั้น ตัวการบริโภคเองยังเข้ามาแทนที่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันด้วย
การบริโภคนี้นอกจากจะกลายเป็นรูปแบบหลักของชีวิตประจำวันของคนไทยจำนวนมากไปแล้ว มันยังทำการ ผลิตซ้ำ "จิตใจ" แบบผู้บริโภค ขึ้นในหมู่คนไทยจำนวนมากวันแล้ววันเล่า
จนกระทั่ง การบริโภคได้เข้ามามีอิทธิพลแฝงเร้นในการบงการชีวิตของคนไทยจำนวนมาก โดยไม่สำเหนียกโดยไม่รู้ตัว
นี่คือ กุญแจไขปริศนา ที่ว่าเท่าที่ผ่านมาระบอบทักษิณสามารถเข้ามายึดครอง "พื้นที่ทางจิตใจ" ของคนไทยนับล้านๆ คนได้อย่างไร? ซึ่งบัดนี้คงเห็นได้แจ่มชัดแล้วว่า โดยผ่านการให้สัญญะการปรุงแต่งสัญญะ และการกระตุ้นความต้องการทางสัญญะของผู้คนอย่างต่อเนื่อง โดยผ่านการบริโภคสินค้าการเมืองที่ชื่อ "ทักษิณ" ในเชิงสัญญะอย่างเสพติดจนถอนตัวไม่ขึ้นนั่นเอง
แต่ต่อให้ระบอบทักษิณมีกรรมวิธีที่มีประสิทธิผลในการบงการชีวิตจิตใจของคนไทยมากแค่ไหนก็ตาม ในท้ายที่สุดแล้ว กรรมวิธีทั้งหลายเหล่านี้ย่อมประสบกับความล้มเหลวอย่างแน่นอน!
เพราะความต้องการที่แท้จริงของมนุษย์ทุกคนนั้น มีนอกเหนือและมากกว่า "การบริโภค" อีกทั้งยังไม่อาจลดทอนความต้องการทั้งหลายทั้งปวงของมนุษย์ให้เหลือแค่ความต้องการบริโภคได้
เพราะเหนือสิ่งใดอื่น และเป็นสัจธรรมชั่วกาลนาน ก็คือต่อให้คนเรามีสินค้าให้บริโภคอย่างอุดมสมบูรณ์แค่ไหน คนเราก็ยังคงมีความทุกข์ทางจิตใจ ความไม่เติมเต็มทางจิตวิญญาณอยู่ดี เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ความต้องการทางจิตใจและจิตวิญญาณนี้ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ตราบนั้นมนุษย์ย่อมต้อง "ตื่น" จากมายาแห่งบริโภคนิยมอยู่ดีไม่ช้าก็เร็ว
หากคนไทยส่วนใหญ่ ตื่น จาก มายาของสัญญะ ที่สินค้าการเมืองชื่อ "ทักษิณ" กำลังมอมเมาอยู่นี้ ได้มากและเร็วขึ้นเท่าไหร่ โอกาสที่สังคมนี้จะพัฒนาอย่างมั่นคง และยั่งยืนก็คงมีมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้อย่างแน่นอน