จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (8)
8. ใครว่าวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ปี 2540 จบสิ้นไปแล้ว?
ทักษิโณมิกส์ หรือ แนวทางเศรษฐกิจแบบทักษิณ ได้ปรากฏตัวขึ้นมาใน พ.ศ. 2544 ภายหลังการล่มสลายของเศรษฐกิจฟองสบู่ในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งบัดนี้เวลาก็ผ่านไปร่วมห้าปีแล้ว ซึ่งนานพอที่จะทำให้ปัญญาชนนักวิชาการสามารถได้ข้อสรุปในระดับหนึ่งแล้วว่า ทักษิโณมิกส์ได้ทำให้การปฏิรูปเศรษฐกิจหลังฟองสบู่แตก รุดหน้ายิ่งขึ้น หรือถอยหลังเข้าคลอง? และทักษิโณมิกส์ได้แก้ไขปัญหาระดับฐานรากของโครงสร้างเศรษฐกิจแบบ "ทุนนิยมจำแลง" ที่เป็นที่มาของ "เศรษฐกิจฟองสบู่" หรือไม่ หรือกลับทำให้มันยุ่งยากยิ่งขึ้นกว่าเดิม? เป็นที่น่าเสียดายที่ข้อสรุปของผู้เขียนในตอนนี้ได้ออกมาในเชิงลบมากกว่าบวก
ใครว่าวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ปี 2540 ได้จบลงอย่างสิ้นเชิงแล้ว?
จริงอยู่ถ้าพิจารณาในมุมมองแคบๆ ที่มองว่า วิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ปี 2540 มีสาเหตุหลักมาจากการดำเนินงานที่ผิดพลาดของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เปิดให้มีวิเทศธนกิจให้ธุรกิจและธนาคารสามารถกู้เงินจากต่างประเทศเป็นดอลลาร์ได้อย่างเสรี โดยที่ในด้านหนึ่งยังคงมีการจำกัดจำนวนธนาคารพาณิชย์ กีดกันธนาคารต่างชาติปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์ไทยรวมกันเป็นกลุ่มผลประโยชน์ ไม่มีการแข่งขันภายในระบบการเงิน
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ตั้งหน้าตั้งตาคุ้มครองธนาคารพาณิชย์ไทยให้ปลอดพ้นจากการแข่งขัน กลับขาดประสิทธิภาพ และความโปร่งใสในการกำกับดูแลและตรวจสอบ มิหนำซ้ำในขณะนั้นยังไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล ปกปิดข่าวร้ายในธนาคารพาณิชย์ แถมยังคอยอัดฉีดเงินกู้และความช่วยเหลือต่างๆ อย่างไม่อั้นเพื่อประกันว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยไม่มีวันล้ม
ผลที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภายใต้โครงสร้างแบบทุนนิยมจำแลง ก็คือ มีการอัดฉีดเงินทุนระยะสั้นจำนวนมหาศาลจากต่างประเทศเข้ามาในระบบเศรษฐกิจไทย จนกลายเป็น "เศรษฐกิจฟองสบู่" เมื่อผนวกเข้ากับ การทุจริต คอร์รัปชัน การปล่อยกู้ผิดประเภทและไม่มีหลักประกันที่มีเชื้ออยู่อย่างแพร่หลายแล้ว จึงลุกลามเป็นวิกฤตการเงิน และเป็นวิกฤตที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เมื่อปี 2540
พรรคไทยรักไทย ที่ขึ้นมาเถลิงอำนาจในปี 2544 จะว่าไปแล้วก็คือ ตัวแทนของกลุ่มทุนไทยขนาดใหญ่ที่ได้รอดพ้นวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 และเห็นความจำเป็นที่ต้องเข้ามายึดอำนาจรัฐผ่านระบบการเลือกตั้งเพื่อใช้อำนาจรัฐปกป้องธุรกิจของพวกตนจากความผันผวนของเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์ที่ยากจะคาดการณ์ได้
กลุ่มทุนไทยขนาดใหญ่เหล่านี้ เริ่มรู้สึกไม่มั่นใจในอนาคตหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 พวกเขาจึงต้องการได้ "อำนาจรัฐ" เพื่อมาใช้สนับสนุนส่งเสริม รวมทั้งให้อภิสิทธิ์แก่กลุ่มตนและพวกพ้อง โดยเฉพาะในการกำหนดกฎกติกาและนโยบายที่เอื้อประโยชน์แก่พวกตนและพวกพ้อง
ถ้าพิจารณาองค์ประกอบของกลุ่มทุนไทยขนาดใหญ่ที่สนับสนุนพรรคไทยรักไทย และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่ของกลุ่มทุนเหล่านี้ ดำเนินธุรกิจที่ต้องอาศัยใบอนุญาต หรือสัมปทานจากภาครัฐ หรืออย่างน้อยการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับภาครัฐ เพื่อเอื้ออำนวยในเรื่องกฎ กติกาเป็นสิ่งจำเป็นในการประกอบธุรกิจของพวกเขา เพราะฉะนั้น ในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 การที่พวกนายทุนเหล่านี้ผันตัวเองมาเป็น "นักการเมือง" โดยตรง เพื่อยึดกุมอำนาจรัฐ จึงมีความสมเหตุสมผลทางธุรกิจในการที่จะลดความเสี่ยงทางธุรกิจของตน โดยการเข้ามาเป็นผู้กำหนดนโยบายโดยตรงด้วยตนเอง "การเมือง" สำหรับพวกนายทุนเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องของ "วิธีคิดแบบนักธุรกิจ" ล้วนๆ หาได้มีอุดมคติอุดมการณ์อย่างที่พยายามสร้างภาพแต่อย่างใดไม่
นโยบายแบบประชานิยม คือ อาวุธทางการเมืองที่พรรคไทยรักไทยใช้เป็นบันไดที่สำคัญในการไต่เต้าขึ้นมายึดอำนาจรัฐอย่างได้ผล โดยผ่านการเลือกตั้ง นโยบายแบบประชานิยมเหล่านี้ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อดูดคะแนนเสียงโดยเฉพาะ จึงมีแนวโน้มที่จะไม่ได้คำนึงถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม และไม่ได้คำนึงถึงภาระทางการคลังเท่าที่ควร
นโยบายแบบประชานิยม จึงหลีกเลี่ยงได้ยากที่จะนำไปสู่การใช้ทรัพยากรของรัฐอย่างขาดประสิทธิภาพ และไปบดบังโครงการอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต่อสังคมเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่า เช่น การปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นหัวใจของการเพิ่มศักยภาพของประชาชนไทยที่เป็นจุดอ่อนมาโดยตลอด
ข้อเสียของนโยบายแบบประชานิยมที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในทางเศรษฐศาสตร์คือ การที่มันจะบิดเบือนไม่ให้โครงการที่สำคัญ และจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมเกิดขึ้น ขณะที่โครงการที่มีความสำคัญน้อยกว่าหรือดูแล้ว "ไร้สาระ" แต่ดูดคะแนนเสียงได้กลับได้รับการผลักดัน
เพื่อผลักดันนโยบายแบบประชานิยมนี้ รัฐบาลพรรคไทยรักไทยถึงกับนำเอา มาตรการกึ่งการคลัง มาใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนนโยบายแบบประชานิยมของตนอย่างไม่แคร์ว่าจะก่อให้เกิดปัญหาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคในอนาคตอันใกล้
มาตรการกึ่งการคลัง คือกิจกรรมการใช้เงินนอกงบประมาณ จะโดยรัฐบาลหรือหน่วยงานที่ไม่สังกัดรัฐบาลโดยตรงก็ได้ แต่หน่วยงานนั้นทำหน้าที่แทนรัฐบาลในการสนับสนุนกิจกรรม หรือส่งเสริมการดำเนินงานของภาคเศรษฐกิจที่รัฐบาลต้องการสนับสนุนเป็นพิเศษ มาตรการกึ่งการคลังนี้ แม้จะไม่ปรากฏในระบบงบประมาณรายจ่ายปกติของรัฐบาล แต่รัฐบาลไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้
หากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 มีสาเหตุหลักมาจากการอัดฉีดเงินทุนระยะสั้นจำนวนมหาศาลจากต่างประเทศเข้ามาในระบบเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยทุจริต คอร์รัปชัน
วิกฤตเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นอีกครั้งในอนาคตอันใกล้นี้ ก็น่าจะมาจากการอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย เพื่อใช้จ่ายในนโยบายแบบประชานิยม โดยผ่านมาตรการกึ่งการคลังเข้ามาในระบบเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยทุจริต คอร์รัปชัน นี่เอง
หากวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นอีกครั้ง ใครคือผู้รับผิดชอบทั้งหมด?
ในวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 สังคมไทยได้ยัดเยียดความผิดทั้งหมดให้แก่คนเพียงคนเดียว คือนายเริงชัย มะระกานนท์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้น ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่เป็นธรรมนัก
แต่วิกฤตเศรษฐกิจที่จะมีถึงนี้ ผู้รับผิดชอบทั้งหมดจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ทั้งนี้ก็เพราะว่าอำนาจในการตัดสินใจของรัฐบาลกระจุกตัวอยู่ที่นายกฯ ทักษิณคนเดียว โดยที่คณะรัฐมนตรีไม่ว่าจะเปลี่ยนมากี่ชุดก็ไม่มีผู้ใดกล้าทัดทานนโยบายที่ชี้นำโดยนายกรัฐมนตรีคนนี้
ยิ่งตัวนายกฯ ทักษิณเป็นบุคคลที่ชอบเสี่ยง กล้าได้กล้าเสียที่นิยมเอา "หนี้ใหม่" ที่ใหญ่กว่าไปล้าง "หนี้เก่า" ที่เล็กกว่าอยู่แล้ว ความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้ จึงมีความเป็นไปได้สูงมากว่าจะเกิดจากความผิดพลาดในการกำหนดนโยบายที่กระจุกตัว และรวมศูนย์อยู่กับบุคคลเพียงคนเดียวจริงๆ
"ผู้นำ" ของเราคนนี้ ร่ำรวยขึ้นมาได้เพราะ "ฟองสบู่" และแม้ว่าจะเกิดวิกฤตฟองสบู่ กลุ่มธุรกิจของเขาก็ไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่กลุ่มทุนธนาคารไทยจำนวนมากกลับถูกทำลายอย่างย่อยยับจากวิกฤตฟองสบู่ในครั้งนั้น ตรงกันข้าม เขากลับ "แปรวิกฤตเป็นโอกาส" ใช้วิกฤตฟองสบู่ในครั้งนั้น โหนกระแสขึ้นมายึดอำนาจรัฐได้อย่างเบ็ดเสร็จ ดังนั้น การจะคาดหวังให้ "ผู้นำ" คนนี้ของเราขจัดพิษภัยของ "ฟองสบู่" จึงออกจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก
วิกฤตฟองสบู่ปี 2540 และการคลี่คลายของเรื่องราวหลังจากนั้นในเชิงเศรษฐศาสตร์เมืองกับโอกาสที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้งในอนาคตอันใกล้ คือที่มาของ บทเสนอ ของผู้เขียนในที่นี้ว่า "ใครว่าวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ปี 2540 ได้จบลงอย่างสิ้นเชิงแล้ว?"