จิตสำนึกแห่งทางเลือกในยุคทักษิณครองเมือง (6)
6. ทุนนิยมจำแลงกับทักษิโณมิกส์
อันที่จริงคำว่า "ระบบทุนนิยม" (capitalism) ที่เราใช้กันอยู่นั้น แม้จะเป็นคำคำเดียวกันก็จริง แต่ "ระบบทุนนิยม" ที่ปรากฏอยู่ในยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นก็ยังมีความต่างในหลายแง่หลายมุมให้เห็นกัน มิหนำซ้ำปัญหาทางเศรษฐกิจที่แต่ละประเทศกำลังเผชิญอยู่นั้น ก็มิใช่เหมือนกันเลยทีเดียว แม้จะเป็น "ทุนนิยม" เหมือนกันก็ตาม
เหตุที่ผู้เขียนต้องยกมุมมอง และข้อสังเกตข้างต้นนี้ขึ้นมากล่าวในที่นี้ ก็เพื่อที่จะกระตุ้นเตือนพวกเราให้หันมาฉุกคิดว่า "ทุนนิยม" ที่นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร อ้างว่าเป็น ทางออกทางเดียว ของสังคมนี้ มิหนำซ้ำยังอ้างอีกว่า "ทุนนิยมสูตรทักษิณ" ของเขาเป็น สูตรเดียวเท่านั้น ที่จะนำพาประเทศชาติให้รอดได้จากวิกฤตต่างๆ ที่กำลังรุมเร้าประเทศนี้อยู่
ซึ่งถ้าหาก "หลงเชื่อ" ตามที่เขา "ยกเมฆ" ขึ้นมาอ้างดังข้างต้น ข้อสรุปทางตรรกะจึงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจาก "ขอให้เชื่อผม ขอให้ไว้วางใจให้ผมทำเต็มที่ตามแนวทางของผมเท่านั้น"
"ทุนนิยมสูตรทักษิณ" ที่ผู้นำประเทศนี้ผลักดันอย่างเอาการเอางานอยู่นั้น มี ลักษณะพิเศษ ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การพัฒนาทุนนิยมของประเทศนี้ นั่นคือ มีการอ้างความเป็นทุนนิยมเพื่ออำนาจนิยม เพื่อรวบอำนาจรัฐมาเป็นของตน และพรรคพวกด้วยการใช้เงินของประเทศนี้มาต่อเงินแบบยืม "ทุนอนาคต" มาใช้ในวันนี้ เพียงเพื่อที่จะค้ำบัลลังก์แห่งอำนาจของตนเอาไว้ให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะยาวนานได้ โดยไม่ใส่ใจเลยว่าอนุชนคนรุ่นหลังจะต้องแบกภาระหนี้ของ "ทุนนิยมสูตรทักษิณ" ที่ผู้นำประเทศนี้ได้ใช้จ่ายเงินเพื่อเอาใจประชาชนแบบประชานิยมอย่างสุรุ่ยสุร่าย อย่างอีลุ่ยฉุยแฉก อย่างไม่รู้จักประมาณตน อย่างขาดความยั้งคิดโดยมีประสิทธิผลการผลิตที่ต่ำเพียงใด
"ทุนนิยมสูตรทักษิณ" อย่างที่เป็นอยู่นี้จะนำไปสู่จุดจบเช่นใด หรือจะนำไปสู่อะไร?
เพื่อตอบต่อคำถามนี้ บางที มุมมองพัฒนาการทุนนิยมในประเทศไทยจากทฤษฎี "ทุนนิยมจำแลง" (Ersatz Capitalism) อาจจะพอให้คำตอบได้บ้าง
ถ้ากล่าวตามทฤษฎี "ทุนนิยมจำแลง" ลักษณะพิเศษของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมจำแลงในประเทศไทย ในช่วงก่อนที่จะเกิดทักษิโณมิกส์หรือ "ทุนนิยมสูตรทักษิณ" มีดังต่อไปนี้
(1) ความโน้มเอียงในการประกอบอุตสาหกรรมสาขาบริการของทุนภายในประเทศ
กล่าวคือ ทุนที่เป็น ทุนหลัก ของเศรษฐกิจไทย ในส่วนที่เป็น ทุนภายในประเทศ (Private domestic capital) มีพลวัตมากที่สุดในสาขาบริการอย่างการเงินการธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์ ส่วนในสาขาหัตถอุตสาหกรรมก็ทรงพลังแค่อุตสาหกรรมเบาเท่านั้น
(2) ฐานะที่ครอบงำของผู้แสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมไทย
ในทางเศรษฐศาสตร์ ผู้แสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (rent seeker) หมายถึง พวกนายทุนที่มุ่งจะสร้างเส้นสายกับรัฐบาล หรือกับพวกข้าราชการชั้นสูงของรัฐบาล เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของพวกตน เนื่องจากต้นตอผลประโยชน์ของพวกเขามาจากสิทธิประโยชน์ที่รัฐบาลมอบให้ หรือมาจากการคุ้มครองของรัฐบาล เพราะฉะนั้น ผลประโยชน์ที่พวกเขาได้รับจึงมีลักษณะเป็น "ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ" (economic rent) มากกว่าที่จะเป็น "กำไร" (profit) ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้มาจากการแข่งขันกันอย่างยุติธรรม ขณะที่ คำว่า "ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ" ในที่นี้หมายถึง ส่วนต่างระหว่างมูลค่าตลาดของสิทธิประโยชน์ (favor) ที่ได้รับจากรัฐบาลกับจำนวนเงินที่พวกนายทุนต้องจ่ายให้แก่นักการเมืองหรือข้าราชการชั้นสูงที่ให้ความร่วมมือ
ถ้าหากพวกเขาไม่ต้องจ่ายเงินเลย มูลค่าตลาดทั้งหมดของสิทธิประโยชน์ก็จะเป็นค่าเช่าทางเศรษฐกิจของพวกเขา ในระบบทุนนิยมจำแลง จำนวนของพวกแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจเช่นนี้จะมีจำนวนมากเป็นพิเศษ และมากกว่าใน "ทุนนิยมสูตรอื่น" จะว่าไปแล้ว "ทุนนิยมเล่นพวก" (Crony capitalism) ก็กลายเป็นอีกชื่อหนึ่งของทุนนิยมจำแลงด้วย ก็เพราะลักษณะพิเศษข้อนี้เอง อนึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า นายทุนที่เป็น "ผู้แสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ" ไม่เคยและไม่สามารถที่จะเป็นหัวหอกของการพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริงได้เลย ผลเสียที่บุคคลเหล่านี้ก่อให้เกิดขึ้นก็ไม่ต่างไปจากผลเสียของการผูกขาดทางเศรษฐกิจในวิชาเศรษฐศาสตร์ที่สอนๆ กัน
(3) ลักษณะที่เป็นนักเก็งกำไรของผู้นำธุรกิจในเศรษฐกิจไทย ผู้เก็งกำไรหมายถึง ผู้ที่กล้าดำเนินธุรกิจที่สุ่มเสี่ยงมากเพื่อหวังผลตอบแทนจำนวนมหาศาล ยิ่งถ้าหากลักษณะการเก็งกำไรนี้ไปผนวกกันเข้ากับแนวโน้มของการทำธุรกิจแบบมุ่งหวังแต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า และต้องการความร่ำรวยมหาศาลในระยะเวลาสั้นๆ ก็จะกลายเป็น "เศรษฐกิจฟองสบู่" ขึ้นมา และนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจได้
(4) ลักษณะการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ไร้เทคโนโลยี ไร้ประสิทธิภาพในการจัดการ ความด้อยคุณภาพในการเข้ามาแทรกแซงทางเศรษฐกิจของรัฐ และการพึ่งพาทุนต่างชาติมากเกินไป สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงขีดจำกัดของการพัฒนาระบบทุนนิยมแบบ "ทุนนิยมจำแลง"
เมื่อเราหันไปพิจารณาพัฒนาการของทุนนิยมไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา เราคงยากที่จะปฏิเสธได้ว่า พัฒนาการของทุนนิยมไทยมีลักษณะเป็น "ทุนนิยมจำแลง" มาโดยตลอด ถ้าดูจากลักษณะพิเศษ 4 ประการข้างต้น โดยที่การขึ้นมาเถลิงอำนาจของนายกฯ ทักษิณ
ใน พ.ศ. 2544 รวมทั้งการใช้ทักษิโณมิกส์หรือ "ทุนนิยมสูตรทักษิณ" ของเขาผลักดันการพัฒนาทุนนิยมในประเทศนี้อย่างสุดขั้ว อย่างสุดโต่ง อย่างที่ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนไหนในประเทศนี้เคยทำขนาดนี้มาก่อน
เราคงแลเห็นได้อย่างชัดเจนแล้วกระมังว่า "ทุนนิยมสูตรทักษิณ" ที่นายกฯ ทักษิณอ้างนักอ้างหนาว่า เป็นทางออกทางเดียว และมีเพียงสูตรเดียวของประเทศนี้ ที่แท้ตัวตนของมันก็คือ "ทุนนิยมจำแลง" ซึ่งมีทั้งความเป็น "ทุนนิยมเล่นพวก" และ "ทุนนิยมฟองสบู่" ผนวกกับ "อำนาจนิยม" ที่เป็นซากเดนของระบอบเผด็จการอยู่ในตัวอย่างครบถ้วน
สิ่งที่นายกฯ ทักษิณกำลัง "พัฒนา" อยู่คือ การพัฒนาทุนนิยมจำแลงให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และกลายพันธุ์เชิงอำนาจนิยมมากขึ้น ดังจะเห็นได้จาก ด้านที่อัปลักษณ์ของทุนนิยมจำแลง โดยเฉพาะการรวบอำนาจรัฐ เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้แก่กลุ่มทุนของตนเอง และพวกพ้องอย่างไม่สะทกสะท้านต่อคำวิจารณ์เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
ยิ่งไปกว่านี้ พัฒนาการของทุนนิยมจำแลงในประเทศไทย ก่อนหน้านั้น ยังไม่เคยใช้ นโยบายประชานิยม มาก่อน เพราะฉะนั้นชุมชนในชนบทจึงยังเข้มแข็งโดยสัมพัทธ์ และสามารถรองรับคนตกงานจำนวนมากในช่วงหลังฟองสบู่แตก พ.ศ. 2540 ได้ แต่ด้วยการใช้นโยบายประชานิยมภายใต้ทุนนิยมสูตรทักษิณ ชุมชนในชนบทไทยได้อ่อนแอลงกว่าแต่ก่อนมาก เพราะถูกมอมเมาด้วยสิ่งล่อใจจากลัทธิบริโภคนิยม และนโยบายประชานิยม จนขาดความสามารถในการพึ่งตนเอง เมื่อเทียบกว่าแต่ก่อน
อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงของการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดภายใต้แนวทาง "ทุนนิยมสูตรทักษิณ" หวนกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งในอนาคตอันใกล้?
จุดจบปลายทางของทุนนิยมจำแลงไทย ภายใต้การนำของนายกฯ ทักษิณจะเป็นเช่นใด?
เรายังมีความเชื่อมั่นในตัวผู้นำคนนี้ได้อีกหรือไม่?
คำตอบต่อคำถามเหล่านี้ คาดว่าอีกไม่นานเกินรอก็คงจะได้คำตอบที่ชัดเจนออกมา
แต่สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในตอนนี้ก็คือ เราควรที่จะเลิกมี "มายาภาพ" ต่อแนวทางแบบ "ทุนนิยมจำแลง" อย่างนี้ได้แล้ว และต้องกล้าคิดที่จะแสวงหา "ทุนนิยมสูตรอื่น" ที่เหมาะสมกว่าที่ชอบธรรมกว่า ที่เป็นธรรมกว่า ที่โปร่งใสกว่า ที่น่าศรัทธากว่า ที่มีส่วนร่วมมากกว่า "ทุนนิยมสูตรทักษิณ" นี้ได้แล้ว ก่อนที่จะสายเกินแก้