36. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)
*สังคมไทยจะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จเพื่อหลีกเลี่ยงการล่มสลายในอนาคต อันเนื่องมาจากหายนภัยของโลกร้อนได้หรือไม่?
“บริบท” (context) ของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน ตามความเห็นของ จาเร็ด ไดมอนด์ ผู้เขียนหนังสือ “ล่มสลาย” มี 12 ประการดังต่อไปนี้
(1) มนุษย์เรากำลังทำลายสภาพถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หรือกำลังแปรสภาพมันในอัตราเร่งให้กลายเป็นถิ่นที่อยู่ซึ่งมนุษย์สร้างขึ้น เช่น เมืองหมู่บ้าน พื้นที่การเกษตร ทุ่งเลี้ยงสัตว์ ถนน รีสอร์ต และสนามกอล์ฟ
ทั้งนี้ การสูญเสียถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติที่น่าเป็นห่วงที่สุด และก่อให้เกิดการอภิปรายถกเถียงมากที่สุดได้แก่ ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ แนวปะการัง และบริเวณท้องมหาสมุทร เนื่องจากมากกว่าครึ่งหนึ่งของ พื้นที่ป่าไม้ดั้งเดิม ของโลกได้ถูกแปรสภาพไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ หากคำนวณจากอัตราการเปลี่ยนแปลงสภาพเช่นปัจจุบัน พื้นที่ป่าไม้ ที่ยังหลงเหลือราว 1 ใน 4 ในปัจจุบันนี้จะถูกแปรสภาพไปทั้งหมดภายในระยะเวลาไม่ถึง 50 ปีข้างหน้า
การสูญเสียป่าไม้ที่เหลืออยู่นี้ จักเป็นความสูญเสียเหลือคณานับ สำหรับมนุษยชาติที่เชื่อมโยงกับหายนภัยจากภาวะโลกร้อนอันเกิดจากน้ำมือมนุษย์อย่างที่ชาวโลกไม่เคยประสบมาก่อนในอนาคตข้างหน้านี้ก็เป็นได้ เพราะป่าไม้เป็นสิ่งที่เรียกว่า “การบริการของระบบนิเวศ” (ecosystem services) ที่สังคมและเศรษฐกิจมนุษย์ได้มาฟรีๆ จากธรรมชาติในการป้องกันพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ป้องกันไม่ให้ดินสึกกร่อนพังทลายเป็นถิ่นที่อยู่ของพืชและสัตว์บกส่วนใหญ่ในโลก รวมทั้งยังทำหน้าที่เป็นขั้นตอนสำคัญในวัฏจักรน้ำ ซึ่งเป็นต้นเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดฝน
ขณะที่การประมงในทะเลก็ต้องพึ่งพาอาศัย ป่าชายเลน ส่วน พื้นที่ชุ่มน้ำ ก็ถือเป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อนของสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลามากมายหลายชนิด แต่ป่าชายเลนและพื้นที่ชุ่มน้ำได้ถูกทำลาย แปรสภาพ หรือเสียหายไปมากแล้ว คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าป่าไม้ที่ถูกทำลายทั่วโลกเสียอีก ส่วน แนวปะการัง ราว 1 ใน 3 ของโลกเปรียบได้ดั่ง “ป่าฝนเขตร้อนของมหาสมุทร” เพราะเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตจำนวนมหาศาลได้ถูกทำลายไปแล้วอย่างรุนแรง ซึ่งหากอัตราการทำลายยังมีแนวโน้มเช่นนี้ต่อไป คาดว่าราวครึ่งหนึ่งของแนวปะการังที่เหลืออยู่ในปัจจุบันจะหมดไป ภายในปี ค.ศ. 2030 ความเสียหาย และการทำลายดังกล่าวมาจากหลายสาเหตุได้แก่ การใช้ระเบิดไดนาไมต์เพื่อจับปลากันมากขึ้น ปะการังถูกปกคลุมโดยสาหร่ายที่เติบโตขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากปลากินพืชที่เคยกินสาหร่ายเหล่านี้ถูกจับจนเหลือน้อยลง
และจากผลกระทบของปริมาณตะกอนดิน และสารพิษที่ไหลมาจากสายน้ำบนผืนแผ่นดินบริเวณใกล้เคียงที่ถูกถากถางหรือแปรสภาพไปเป็นพื้นที่เกษตร รวมทั้งปะการังได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ฟอกขาว อันเป็นผลจากอุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรสูงขึ้นจนต้องตายไป อีกทั้งยังมาจากการจับปลาโดยใช้อวนลากซึ่งไปทำลายพื้นที่ก้นมหาสมุทรตื้นๆ ตามแนวชายฝั่ง รวมทั้งสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในบริเวณนี้ไปเป็นจำนวนมาก
(2) “โศกนาฏกรรมของทรัพย์สินสาธารณะ” ที่เกิดจากการทำการประมงมากเกินไป
อาหารธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปลา และรองลงมาได้แก่ สัตว์น้ำจำพวกมีเปลือก เช่น กุ้ง ปู หอย ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของโปรตีนที่มนุษย์บริโภค โปรตีนเหล่านี้มนุษย์ได้มาฟรี (นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายในการจับและขนส่งปลา) ซึ่งช่วยลดความจำเป็นที่จะได้รับอาหารจากสัตว์ที่เราต้องเลี้ยงเองลงไปได้มาก ประชากรโลกราว 2 พันล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ยากไร้จึงต้องพึ่งพาโปรตีนจากมหาสมุทร ถ้ามีการจัดการปริมาณปลาตามธรรมชาติอย่างเหมาะสม เราก็น่าจะยังคงรักษาปริมาณปลาตามธรรมชาติให้คงอยู่ในระดับที่เหมาะสมไว้ได้ในระยะยาว และสามารถจับปลาได้ตลอดไป
แต่โชคร้ายที่ในช่วงหลายสิบปีมานี้ ได้เกิดปัญหา “โศกนาฏกรรมของทรัพย์สินสาธารณะ” ขึ้นทั่วโลก ทำให้ความพยายามจัดการ การประมงอย่างยั่งยืน กลับไร้ผล และการประมงจับปลาที่มีมูลค่าสูงส่วนใหญ่ได้ล่มสลายลงไปแล้วหรือกำลังตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว เพราะทั้งหมด ทำการประมงมากเกินไป นั่นเอง แม้ว่าในปัจจุบันจะได้มี การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ขึ้นมาแทนที่ โดยเฉพาะการเลี้ยงปลาและกุ้งที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในหลักการแล้ว น่าจะเป็นวิธีผลิตโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่มีราคาถูก จึงน่าจะมีอนาคตสดใส
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากแง่มุมอื่นๆ แล้ว การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยทั่วไปในปัจจุบันกำลังสร้างปัญหาที่เลวร้ายต่อการประมงตามธรรมชาติลงเรื่อยๆ แทนที่จะช่วยให้ดีขึ้น เนื่องจากปลาที่เพาะเลี้ยงขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่ต้องเลี้ยงด้วยอาหารที่ผลิตจากปลาธรรมชาติที่จับมาอีกที และโดยทั่วไปมักกินเนื้อปลาธรรมชาติมากกว่าปริมาณเนื้อปลาที่ตัวมันผลิตได้เองด้วยซ้ำ (อาจกินมากกว่าถึง 20 เท่า) นอกจากนี้ ปลาเลี้ยงยังมีระดับสารพิษสูงกว่าปลาที่จับจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติอีกด้วย ไม่แต่เท่านั้น น้ำทิ้งที่ไหลออกจากบ่อเลี้ยงปลามักก่อให้เกิดปัญหามลพิษ และสภาวะอาหารในน้ำมากเกินไป (eutrophication) อันเป็นที่มาของ น้ำเน่า อนึ่ง ค่าใช้จ่ายของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ต่ำกว่าการจับปลาตามธรรมชาติ ยังส่งผลให้ชาวประมงต้องเพิ่มปริมาณการจับปลาตามธรรมชาติให้มากขึ้น เนื่องจากปลาเลี้ยงมีราคาถูกกว่าปลาตามธรรมชาติ จะได้สามารถรักษาระดับรายได้เดิมเอาไว้
(3) จำนวนประชากร ชนิดพันธุ์ และความหลากหลายของสัตว์ในธรรมชาติได้สูญสิ้นไปแล้วเป็นสัดส่วนที่มากอย่างยิ่ง
ถ้าคำนวณจากอัตราการทำลายเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คาดกันว่า ส่วนที่เหลือก็จะหมดไปเป็นจำนวนมากภายในเวลา 50 ปีข้างหน้าเช่นกัน คนจำนวนมากอาจจะคิดง่ายๆ ว่า จะไปสนใจเรื่องการสูญเสียความหลากหลายของพืช และสัตว์เล็กๆ เหล่านี้ที่ใช้เป็นอาหารของมนุษย์ก็ไม่ได้ไปทำไมกัน ลำพังแค่ปัญหาของมนุษย์ และปัญหาการเลี้ยงปากเลี้ยงท้องก็ทำให้เครียดมากพออยู่แล้ว แต่ผู้คนเหล่านั้นคิดผิด คิดพลาดไปถนัดใจ เพราะพวกเขาได้มองข้ามความจริงที่สำคัญยิ่งว่า โลกธรรมชาติทั้งมวลประกอบไปด้วยสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติที่ให้บริการฟรีๆ ทั้งๆ ที่น่าจะมีมูลค่าสูงมาก
และในหลายกรณีก็เป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำที่เราจะจัดหาบริการเหล่านั้นมาได้ด้วยตนเอง การกำจัดสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ยั้วเยี้ยน่ารำคาญเหล่านี้ออกไป มักสร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่อมนุษย์ตามมา แบบเดียวกับที่เราถอดหมุดตัวเล็กๆ ที่ยึดเครื่องบินทั้งลำบางส่วนออกไป
ตัวอย่างผลกระทบที่เคยเกิดขึ้นแล้วมีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น บทบาทของไส้เดือนในการสร้างดิน และรักษาคุณสมบัติของเนื้อดินไว้ การขาดแคลนไส้เดือนในปริมาณที่เหมาะสมจะส่งผลให้การแลกเปลี่ยนก๊าซระหว่างดินกับบรรยากาศผิดแผกไปจากสภาวะปกติ ซึ่งจะกลายเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระดับออกซิเจนภายในเรือนกระจกของโครงการ The Biosphere 2 ลดลง โดยที่โครงการนี้เป็นโครงการทดลองวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่สร้างเรือนกระจกขนาดใหญ่ และจำแลงแบบสภาพแวดล้อมของโลกไว้ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของระบบนิเวศภายในนั้น ซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองออราเคิล มลรัฐแอริโซนา สหรัฐฯ
อนึ่ง ระดับออกซิเจนภายในเรือนกระจกที่ลดลง ย่อมเป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในเรือนกระจกนั้น ตัวอย่างต่อมาคือ แบคทีเรียในดินช่วยตรึงธาตุไนโตรเจนซึ่งมีความสำคัญต่อพืชไว้ในดิน ซึ่งหากไม่เป็นเช่นนั้น เราก็ต้องจ่ายเงินซื้อปุ๋ยเป็นจำนวนมหาศาลมาใส่แทน หรือ ผึ้งและแมลงอื่นๆ ที่ช่วยผสมเกสรดอกไม้ให้เราฟรีๆ ซึ่งหากเราต้องผสมละอองเกสรให้ต้นไม้ทุกต้นด้วยมือ คงต้องจ่ายเงินมหาศาล หรือ นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมช่วยแพร่กระจายพันธุ์ผลไม้ตามธรรมชาติ หรือการสังหารปลาวาฬ ปลาฉลาม หมี สุนัขป่า และสัตว์ผู้ล่าสำคัญอื่นๆ ทั้งในทะเลและบนบก ส่งผลให้ห่วงโซ่อาหารทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไป หรือ พืชและสัตว์ป่าช่วยย่อยสลายซาก และกากของเสียตามธรรมชาติ และรีไซเคิลธาตุอาหารต่างๆ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วช่วยให้เรามีน้ำ และอากาศที่สะอาด เป็นต้น
(4) ดินในพื้นที่การเกษตรสำหรับปลูกพืชกำลังสูญเสียไปจากการสึกกร่อนด้วยอิทธิพลของน้ำ และลมในอัตราสูงกว่าอัตราการก่อเกิดดินประมาณ 10-40 เท่า และสูงกว่าอัตราการสึกกร่อนของดินในเขตพื้นที่ป่าไม้ตั้งแต่ 500-1,000 เท่า
การที่อัตราการสึกกร่อนของดินสูงกว่าอัตราการก่อเกิดดินมากย่อมหมายความว่า มีการขาดทุนดินสุทธิเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หน้าดินของมลรัฐไอโอวา ซึ่งเป็นรัฐที่มีผลิตภาพทางการเกษตรสูงสุดแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ ได้สึกกร่อนลงราวครึ่งหนึ่งในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา โดยเห็นได้ชัดจากบริเวณรอบโบสถ์แห่งหนึ่งที่สร้างขึ้นตรงใจกลางพื้นที่การเกษตร ในช่วงศตวรรษที่ 19 และยังคงใช้เป็นสถานที่ทางศาสนาสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่บริเวณโดยรอบทำการเพาะปลูกมาโดยตลอด ผลก็คือ สภาพดินในเขตพื้นที่เพาะปลูกสึกกร่อนเร็วกว่าดินบริเวณพื้นที่ตั้งโบสถ์อย่างมาก สถานที่ตั้งโบสถ์จึงเปรียบเสมือนเกาะขนาดเล็ก ซึ่งมีระดับสูงกว่าพื้นที่การเกษตรซึ่งเปรียบได้กับท้องทะเลที่อยู่ล้อมรอบราว 10 ฟุตทีเดียว ทั้งๆ ที่เมื่อ 150 ปีก่อน มันเคยอยู่ในระดับเดียวกัน
ความเสียหายของดินในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งเกิดจากการทำเกษตรของมนุษย์ ได้แก่ การแปรสภาพไปเป็นดินเค็ม ; การสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ในดินจากการเกษตร ส่งผลให้ธาตุอาหารในดินสูญเสียไปเร็วกว่าอัตราการฟื้นตัวของธาตุอาหารเหล่านั้น (จากการที่แร่ธาตุในหินที่อยู่ใต้ดินค่อยๆ สลายตัวทีละน้อย) ; สภาวะดินกลายเป็นกรด หรือในทางตรงข้ามคือ ดินกลายสภาพเป็นด่างซึ่งเกิดขึ้นในบางพื้นที่ ผลกระทบที่สร้างความเสียหายในรูปแบบต่างๆ ทั้งหมดเหล่านี้ ได้เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่การเกษตรบางส่วนของโลก โดยประมาณว่า พื้นที่ซึ่งเสียหายอย่างรุนแรง อาจมีสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 20-80 ของพื้นที่เกษตรทั่วโลก ทั้งๆ ที่ประชากรโลกกำลังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น