37. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)
“บริบท” ของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งมีอยู่ 12 ประการในสายตาของจาเร็ด ไดมอนด์ ผู้เขียนหนังสือ “ล่มสลาย” เราได้กล่าวไปแล้ว 4 ประการ ซึ่งปัญหาบางปัญหาในปัญหา 4 ประการที่ได้กล่าวไปแล้วนี้ ล้วนเคยเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้สังคมในอดีต และปัจจุบันทั้งหมดที่กล่าวไว้ในข้อเขียนชุดนี้ต้องล่มสลายมาแล้ว หรือกำลังล่มสลาย หรืออาจจะล่มสลายทั้งสิ้น
ส่วนปัญหา 3 ประการต่อไปนี้ เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับเพดาน หรือขอบเขตสูงสุดของสมรรถนะด้านพลังงาน น้ำจืด และการสังเคราะห์แสงทั่วโลก ซึ่งในแต่ละกรณี เพดานสูงสุดนั้นไม่คงที่ตายตัว หากแต่มีลักษณะยืดหยุ่นขึ้นๆ ลงๆ กล่าวคือ ชาวโลกสามารถจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นเหล่านี้เพิ่มขึ้นได้ก็จริง แต่มันจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อันเป็น ภาระและต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของแต่ละสังคมในโลก หลังจากนี้เป็นต้นไป
(5) แหล่งพลังงานหลักๆ ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมอุตสาหกรรมนั้นมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้แก่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินเป็นหลัก แม้ขณะนี้ยังมีการถกเถียงกันอยู่มากว่า แหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะมีหลงเหลือให้ค้นพบอีกมากสักเท่าใด แต่ทัศนะที่แพร่หลายทั่วไปในปัจจุบันก็คือ แหล่งพลังงานสำรองน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติที่ใช้ประโยชน์ได้ที่พบแล้วและที่คาดว่าน่าจะมีนั้น คงจะมีให้ใช้กันได้อีกเพียง 2-3 ทศวรรษหน้าเท่านั้น
อนึ่ง เราไม่ควรตีความหมายผิดไปว่า น้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั้งหมดในโลกจะถูกนำไปใช้ประโยชน์จนหมดสิ้นในเวลานั้น เพราะอันที่จริงแล้ว ยังมีแหล่งพลังงานที่อยู่ลึกลงไปใต้ดินอยู่อีก ที่สกปรกกว่าเสียค่าใช้จ่ายในการขุดเจาะหรือผ่านกระบวนการอื่นๆ มากกว่า หรือต้องลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่า
(6) น้ำจืดในแม่น้ำและทะเลสาบในโลกถูกใช้ไปแล้วเป็นส่วนใหญ่เพื่อการชลประทาน ใช้ในครัวเรือน หรือในภาคอุตสาหกรรม หรือไม่ก็ใช้ในแหล่งของมันเองเพื่อการคมนาคมขนส่งทางเรือ การประมง และสันทนาการ
แม่น้ำและทะเลสาบที่ยังไม่ถูกนำมาใช้ส่วนใหญ่อยู่ไกลจากพื้นที่ศูนย์กลางประชากรหลักๆ หรือห่างไกลจากผู้ใช้มาก ด้วยเหตุนี้ น้ำจืดในชั้นหินอุ้มน้ำใต้ดินทั่วโลกกำลังค่อยๆ หมดไปในอัตราที่เร็วยิ่งกว่าการเติมเต็มน้ำตามธรรมชาติ จนกระทั่งจะสูญสิ้นไปในที่สุด แน่นอนว่าชาวโลกสามารถผลิตน้ำจืดได้ด้วยวิธีกลั่นน้ำทะเลให้กลายเป็นน้ำจืด แต่ก็สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและพลังงานสูงมาก การสูบน้ำจืดที่กลั่นได้เข้าสู่แผ่นดินตอนในก็สิ้นเปลืองเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ แม้ว่ากระบวนการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับท้องที่บางแห่ง แต่ก็แพงเกินกว่าจะใช้แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก ซึ่งปัจจุบันมีประชากรราว 1 พันล้านคน กำลังตกอยู่ในสภาวการณ์ขาดแคลนช่องทางเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัย
(7) สมรรถนะในการสังเคราะห์แสงของพื้นที่ส่วนที่เป็นผืนแผ่นดินทั่วโลก จะถึงเพดานสูงสุดภายในกลางศตวรรษที่ 21 หรือปี ค.ศ. 2050 แม้ดูเผินๆ จะเหมือนกับว่า แสงแดดเป็นอุปทานพลังงานที่นำมาใช้ได้อย่างมหาศาลชนิดไม่มีวันหมด ดังนั้น จึงอาจอ้างเป็นเหตุผลตามมาได้ว่าสมรรถนะในการเพาะปลูกพืชเกษตร หรือพืชพรรณธรรมชาติของโลกก็ไม่มีวันหมดสิ้นเช่นกัน แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เป็นที่รับรู้กันว่ามันไม่ได้เป็นอย่างนั้น และก็ไม่ได้เป็นเพียงเพราะว่าพืชจะเติบโตได้ไม่ดีในบริเวณขั้วโลกที่หนาวจัด และในเขตทะเลทราย ถ้าเราไม่ช่วยสร้างความอบอุ่นหรือให้น้ำแก่พืชพรรณเหล่านั้นอย่างพอเพียง
โดยส่วนใหญ่แล้ว ปริมาณพลังงานแสงอาทิตย์ได้มาจากการสังเคราะห์แสงของพืชบนพื้นผิวโลก สาเหตุที่ทำให้พืชเติบโตบนพื้นผิวโลกจึงขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝน ไม่ว่าที่ระดับอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนระดับใดก็ตาม อัตราการเติบโตของพืชที่ได้จากแสงอาทิตย์ที่ส่องลงมาในพื้นที่หนึ่งเอเคอร์นั้น ยังถูกจำกัดหรือกำหนดจากรูปทรงทางเรขาคณิต และสภาพทางชีวเคมีของพืชชนิดนั้นๆ ด้วย
การคำนวณเกี่ยวกับเพดานสูงสุดของการสังเคราะห์แสงครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1986 โดยประเมินกันว่า มนุษย์ในขณะนั้นใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ (เช่นใช้ในการเพาะปลูกการเกษตร ปลูกสร้างสวนป่า และทำสนามกอล์ฟ) รวมแล้วประมาณครึ่งหนึ่งของสมรรถนะในกระบวนการสังเคราะห์แสงทั่วโลก เมื่อพิจารณาจากอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรในปัจจุบัน และผลกระทบที่เกิดจากมนุษย์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1986 เป็นต้นมา จึงประมาณการว่ามนุษย์จะใช้ประโยชน์จากสมรรถนะในการสังเคราะห์แสงของพื้นที่ส่วนที่เป็นผืนแผ่นดินทั่วโลกส่วนใหญ่ภายในกลางศตวรรษนี้ นั่นหมายถึงว่า พลังงานส่วนใหญ่ที่ได้จากแสงแดดจะถูกใช้ประโยชน์เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ด้านต่างๆ ของมนุษย์ไปเกือบหมด เหลือเพียงส่วนน้อยที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตของชุมชนพืชพรรณธรรมชาติอย่างเช่น ป่าธรรมชาติ
ปัญหา 3 ประการต่อไปนี้จะเกี่ยวกับสิ่งที่มีอันตรายที่มนุษย์เรากระทำขึ้น หรือทำให้แพร่กระจายออกไปได้แก่ สารพิษ พืชและสัตว์ต่างถิ่น และก๊าซในบรรยากาศ
(8) อุตสาหกรรมเคมี และอุตสาหกรรมอื่นๆ ปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษจำนวนมากออกสู่อากาศ ดิน ทะเลสาบ แม่น้ำ และมหาสมุทร
สารเคมีที่เป็นปัญหามากที่สุดคือ สารเคมีที่ไม่ใช่สารธรรมชาติ แต่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นมาใหม่ และปล่อยออกไปในปริมาณที่สูงมาก อย่างเช่น ยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืช และยาปราบวัชพืช ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อนก ปลา และสัตว์อื่นๆ เท่านั้น ตัวมนุษย์เองก็ได้รับผลกระทบด้วย มิหนำซ้ำ สารพิษเหล่านั้นมิได้มีแค่ยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืช และยาปราบวัชพืชเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสารปรอท และสารอื่นๆ เช่น สารโลหะ สารเคมีที่ใช้ดับเพลิง สารทำความเย็นในตู้เย็น ผงซักฟอก และส่วนประกอบต่างๆ ในพลาสติก เป็นต้น
มนุษย์เราได้รับสารพิษเหล่านี้ในรูปของอาหารและน้ำ หายใจจากอากาศเข้าสู่ร่างกาย และดูดซึมผ่านผิวหนัง ซึ่งแม้จะได้รับสารพิษเหล่านี้ในปริมาณเพียงเล็กน้อย แต่บ่อยครั้งที่มันก่อให้เกิดผลกระทบหลายด้าน เช่น ความพิการแต่กำเนิด ปัญญาอ่อน ทำลายระบบภูมิต้านทานโรค และระบบสืบพันธุ์ทั้งในระยะสั้น และอย่างถาวร
นอกจากนี้ สารพิษจำนวนมากยังมีการสลายตัวในสภาพแวดล้อมในอัตราที่ต่ำมาก หรือไม่สลายตัวเลย ทำให้มันคงอยู่ในสภาพแวดล้อมเป็นระยะเวลานานกว่าจะสามารถขจัดออกไปได้ ด้วยเหตุนี้ ค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดพื้นที่ต่างๆ ที่ปนเปื้อนมลพิษจึงสูงมาก
(9) พืชและสัตว์ต่างถิ่นบางชนิด ที่ถูกเคลื่อนย้ายจากถิ่นที่เดิมไปยังสถานที่อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมของมัน ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม อาจสร้างความเสียหายให้แก่พืชและสัตว์พื้นเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะโดยการไล่ล่าเป็นอาหาร ทำตัวเป็นปรสิต เป็นพาหะนำเชื้อโรคหรือแผ่ขยายอาณาเขตลุกลามกินเนื้อที่ของพืชและสัตว์พื้นเมืองก็ตาม ทำให้สิ่งมีชีวิตต่างถิ่นเหล่านี้สร้างผลกระทบได้อย่างใหญ่หลวง เพราะพืชและสัตว์พื้นเมืองไม่เคยมีประสบการณ์หรือวิวัฒนาการรับมือกับพวกมันมาก่อน จึงไม่อาจต้านทานได้
(10) กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ก่อให้เกิดก๊าซที่เข้าไปอยู่ในบรรยากาศ ซึ่งมีผลทำลายชั้นโอโซนที่ช่วยปกป้องบรรยากาศรอบโลก หรือเป็นก๊าซเรือนกระจกซึ่งดูดซับแสงอาทิตย์ และส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ผู้รอบรู้ส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า ระดับอุณหภูมิในบรรยากาศโลกในช่วงไม่กี่ปีมานี้ สูงขึ้นรวดเร็วผิดปกติจริง และกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์เป็นต้นเหตุหลักที่สำคัญ เรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ยังรู้ไม่แน่นอนนั้น อยู่ที่ว่า ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนั้น จะรุนแรงมากเพียงใดเท่านั้น เช่น อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกในอีกหนึ่งศตวรรษข้างหน้าจะเพิ่มขึ้น “แค่” 1.5 องศาเซลเซียส หรือจะสูงถึง 5 องศาเซลเซียสกันแน่ (หากโลกร้อนขึ้นทีละองศา แล้วจะเกิดอะไรขึ้น? เราได้กล่าวโดยละเอียดในข้อเขียนชุดนี้ก่อนหน้านี้ไปแล้ว)
ส่วนปัญหา 2 ประการสุดท้ายต่อไปนี้เกี่ยวข้องกับจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นดังนี้
(11) จำนวนประชากรโลกกำลังเพิ่มขึ้น จำนวนคนที่มากขึ้น ย่อมหมายถึงความต้องการอาหาร พื้นที่ น้ำ พลังงาน และทรัพยากรอื่นๆ ที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงอย่างยิ่ง เมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดทางด้านสิ่งแวดล้อมของโลกที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ปัญหาการเติบโตของจำนวนประชากร จึงนับเป็นปัญหาใหญ่ที่ชาวโลกต้องให้ความสนใจ และควรรณรงค์เพื่อชะลอหรือยุติการเพิ่มประชากรมนุษย์
(12) สิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างแท้จริงนั้น ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องจำนวนประชากรเพียงปัจจัยเดียว แต่เป็นเรื่องผลกระทบของประชากรที่มีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะประชากรโลกของเราได้ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ โดยการบริโภคทรัพยากร และทิ้งกากของเสียออกมา โดยที่ประชากรในประเทศพัฒนาแล้ว บริโภคเชื้อเพลิงฟอสซิลมากกว่า และทำให้เกิดของเสียมากกว่าประชากรในประเทศกำลังพัฒนา เฉลี่ยโดยทั่วไปถึง 32 เท่า
ไม่แต่เท่านั้น ปัญหาใหญ่ที่สุดในปัจจุบันคือ ปัญหามาตรฐานการดำรงชีพในประเทศกำลังพัฒนา (อย่างจีน) ที่สูงขึ้น ซึ่งถ้าหากประชาชนในประเทศจีนเพียงประเทศเดียว ที่ยกระดับการใช้ชีวิตตามมาตรฐานการดำรงชีวิตของประเทศพัฒนาแล้วได้ โดยที่คนอื่นๆ ในประเทศกำลังพัฒนาที่เหลือทั้งหมด ยังคงสถานะเดิมไว้ นั่นก็จะทำให้ผลกระทบของมนุษย์ที่มีต่อโลกและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทันที
จะเห็นได้ว่า ดาวโลกดวงนี้ไม่สามารถรองรับประชากรจำนวนมากของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่บรรลุถึง และธำรงไว้ซึ่งระดับมาตรฐานการดำรงชีวิตแบบประชากรในประเทศพัฒนาแล้วได้อย่างยั่งยืนตลอดไป และก็เป็นไปไม่ได้ด้วยที่เหล่าประเทศพัฒนาแล้ว จะมาขัดขวางเหล่าประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ไม่ให้ก้าวไปถึงจุดที่มีระดับมาตรฐานการดำรงชีวิตเหมือนกับประเทศของตน แต่ในอีกด้านหนึ่ง สมมติว่าโลกนี้ไม่มีประชากรในประเทศกำลังพัฒนาเลยสักคน ก็ยังเป็นไปไม่ได้อยู่ดีที่ประเทศพัฒนาแล้วจะสามารถรักษาแนวโน้ม “การพัฒนา” แบบนี้ให้คงอยู่ในระดับนี้ตลอดไป