ปรากฏการณ์ตื่นทองคำของคนไทยในยุคปัจจุบัน
กูรู้” ทั้งหลายบอกว่าไม่ได้แล้ว ทุกท่านต้องมีทองคำเก็บเอาไว้เพราะราคาจะพุ่งไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เห็นไหมว่าจาก 12,000 เป็น 15,000 จนกลายมาเป็น 20,000 บาท
“กูไม่รู้” จึงอยากจะเตือนว่าการตื่นทองคำด้วยการเก็งกำไรของคนไทยในยุคปัจจุบันนั้นล่อแหลมขนาดไหน
ในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า คนไทยเข้าสู่ยุคตื่นทองคำหรือGold Rush มากกว่ายุคสมัยที่ผ่านมาทั้งหมด แต่มิใช่เป็นยุคตื่นทองคำเพราะไปเจอเหมืองทองคำแต่อย่างใด หากแต่เป็นยุคสมัย “ทองคำของคนโง่” หรือ Fool’s Gold ที่สามารถก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่ในทองคำได้โดยง่ายมากกว่า ล่อแหลมขนาดไหนลองมาดูกัน
ทองคำแม้จะถูกยอมรับนับถือว่าเป็นโลหะที่มีค่ามาตั้งแต่ยุคโบราณ ทั้งนี้น่าจะเนื่องมาจากคุณลักษณะทางกายภาพคือเป็นโลหะที่สามารถนำมาขึ้นรูปทรงต่างๆ ได้ง่ายเพราะมีความอ่อนตัว ไม่เป็นสนิม เป็นมันแวววาวเมื่อได้รับการขัดถู และเป็นแร่ธาตุที่หาได้ยากทำให้มีการค้นพบตามธรรมชาติในปริมาณที่จำกัด แต่มูลค่าที่แท้จริงหรือ intrinsic value ของมันกลับมีน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำ หรืออากาศ
อาจมีแม่ยกทองคำผู้ที่หลงใหลในทองคำออกมาโต้แย้งทันทีว่า ถ้าทองคำมีมูลค่าที่แท้จริงน้อยกว่าน้ำหรืออากาศ ทำไมราคาน้ำหรืออากาศจึงมีราคาต่ำใกล้เคียงของฟรีไม่สูงเท่ากับทองคำที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
ดูก่อนแม่ยกทองคำทั้งหลาย การกำหนดราคาสินค้าวัตถุใดใต้หล้านั้น ล้วนแล้วแต่กำหนดมาจากความหายากง่ายเป็นประการสำคัญ หาได้ขึ้นอยู่กับประโยชน์ใช้สอยอันเป็นที่มาของมูลค่าที่แท้จริงแต่เพียงอย่างเดียวไม่
ทองคำ 1 กิโลกรัม เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำหรืออากาศในปริมาณเดียวกันจึงหาได้ยากกว่า แต่มิได้หมายความว่าประโยชน์โดยรวมของทองคำ 1 กิโลกรัมนั้นจะมีมากกว่าน้ำหรืออากาศ เพราะน้ำและอากาศมีจำนวนที่มากกว่าทองคำ ดังนั้นจึงสามารถหามาได้ง่ายกว่า ราคาต่อหน่วยจึงต่ำกว่า แต่หากต้องไปติดอยู่ในเรือดำน้ำหรือกลางทะเลทราย ความยากในการได้มาซึ่งน้ำหรืออากาศจะทำให้ราคาน้ำหรืออากาศแพงกว่าทองคำ เพราะมนุษย์หากต้องการมีชีวิตก็ขาดซึ่งน้ำและอากาศไม่ได้ เหมือนดั่งเทพเทือกขาดซึ่งเนวินผู้มีพระคุณไปไม่ได้เช่นกัน
ดังนั้นราคาทองคำในปัจจุบันที่สูงขึ้นมาเรื่อยๆ จึงเป็นเพราะเหตุผลของการเก็งกำไรหรือ speculation เป็นประเด็นสำคัญมากกว่าประโยชน์ใช้สอยที่ได้จากทองคำ อย่าได้หลงผิดไปกับการโฆษณาว่าการซื้อทองคำโดยไม่มีการแปรรูปเป็นการลงทุนหรือ investment หากซื้อเป็นทองคำแท่งและนำมาแปรรูปทำเป็นทองคำรูปพรรณออกขายภายหลัง นั่นคือการลงทุนเพราะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มในปริมาณทุนหรือ capital ที่ใส่แรงงาน และหรือเครื่องจักรในการผลิตเพิ่มเข้าไปเพื่อแปรรูป ต่างกันอย่างมากกับการเก็งกำไรที่ซื้อทองคำเข้ามาในสภาพใดก็ขายออกไปในสภาพเดิมที่ซื้อมา แสดงว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทุนเพิ่มเข้าไปในทรัพย์สิน (ทองคำ) ที่ซื้อเข้ามาแต่อย่างใด จะเรียกว่าลงทุนในทองคำได้อย่างไร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะตรวจสอบโฆษณาที่ปรากฏตามสื่อว่าหลอกลวงเป็นเท็จหรือไม่กับผู้บริโภค?
ประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่ผ่านมาได้บอกเล่าเรื่องราวของการเก็งกำไรโดยอาศัยวัตถุต่างๆ เป็น veil of value มากมายหลายกรณี เช่น ดอกทิวลิบสีดำในเนเธอร์แลนด์ หรืออสังหาริมทรัพย์ในหลายๆ ประเทศไม่ว่าจะเป็น ฮ่องกง ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ประเทศไทยก็เคยมีประสบการณ์มาก่อน เมื่อราคาเพิ่มขึ้นก็ย่อมต้องมีจุดสูงสุดก่อนที่จะตกลงไป เปรียบได้กับภาวะฟองสบู่ที่เมื่อฟองนั้นลอยโผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมาเมื่อใดก็จะแตกออกเมื่อนั้น
ในปัจจุบันข้ออ้างประการเดียวของการปลุกปั่นความโลภให้คนเข้ามาซื้อทองคำก็คือ การเป็นทรัพย์สินที่ใช้เก็บไว้ซึ่งความมั่งคั่งในยามที่เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง เพราะไม่ว่าจะถือดอลลาร์สหรัฐในรูปแบบของเงินฝากหรือหุ้นที่ออกในหน่วยนับเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าของหลักทรัพย์ต่างๆ เหล่านั้นก็จะเสื่อมค่าลงไปตามมูลค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ
ด้วยดอลลาร์สหรัฐที่ถูกใช้เป็น ”เงินของโลก” ที่ใช้เพื่อชำระราคาเมื่อเกิดธุรกรรมอย่างแพร่หลายมาเป็นเวลาเกือบ 1 ศตวรรษนับจากข้อตกลงที่ Bretton Woods เป็นต้นมา การหาเงินสกุลอื่นไม่ว่าจะเป็น หยวน เยน หรือยูโร มาทดแทนก็ไม่สามารถทำได้โดยง่าย ในทำนองเดียวกันการเปลี่ยนมาเก็บความมั่งคั่งจากดอลลาร์สหรัฐมาเป็นเงินสกุลอื่นๆ ก็ไม่สามารถทำได้โดยง่ายเช่นกัน
สาเหตุก็เพราะไม่มีปริมาณของเงินสกุลอื่นในตลาดระหว่างประเทศจำนวนมากพอที่จะให้คนในโลกเข้ามาถือเพื่อทำธุรกรรมหรือรักษาความมั่งคั่งเอาไว้แทนดอลลาร์สหรัฐที่ตนถืออยู่ได้นั่นเอง
เงินบาทและทองคำจึงเป็นเป้าหมายของคนที่มีดอลลาร์สหรัฐอยู่ในมือที่ต้องการเก็บรักษาความมั่งคั่ง ค่าเงินบาทและราคาทองคำในตลาดโลกจึงสูงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับดอลลาร์สหรัฐที่มีค่าตกลงไปเรื่อยๆ
แต่ดูก่อน คนไทยที่มีรายรับเป็นเงินบาทซึ่งนับวันจะแข็งค่าขึ้นไปเรื่อยๆ หากจะเข้าไปถือทองคำก็ควรระลึกอยู่เสมอในใจตลอดเวลาว่าระหว่างเงินบาทกับทองคำสิ่งใดมีความเสี่ยงมากกว่ากัน เพราะผลตอบแทนย่อมต้องมาพร้อมกับความเสี่ยงเสมอ
ความเสี่ยงในที่นี้ก็คือความผันผวนในราคานั่นเอง อย่าลืมว่าค่าเงินบาทชั่วๆ ดีๆ ก็ยังมีรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาดูแลไม่ให้ราคาผันผวนมากนัก แต่ทองคำละใครจะเป็นผู้ดูแล? การคาดการณ์แต่ในด้านดีเพียงลำพังอย่างเป็น “มายาคติ” ว่าทองคำนั้นมีแต่ราคาขึ้นไม่มีวันที่ราคาตก ดูจะเป็นการหลอกตัวเองแบบนกกระจอกเทศหรือไม่ที่เอาแต่เพียงหัวไปซุกไว้ในรูก็เชื่อว่าปลอดภัยแล้วจากเสือที่จะมาทำร้าย เพราะเมื่อราคาขึ้นได้ทำไมราคาตกไม่ได้
ตัวอย่างก็มีให้เห็นอยู่มากมาย เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1989 ดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่อยู่ในระดับประมาณ 39,000 เยนก็ถูกโบรกเกอร์ยักษ์ใหญ่ เช่น โนมูระที่ล้มละลายไปแล้ว บอกดังๆ ให้ลูกค้าฟังว่าจะขึ้นไปถึงระดับ 40,000 เยน ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาก็คือดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่นไม่เคยขึ้นไปถึง ซ้ำร้ายยังตกลงถึงระดับต่ำกว่า 10,000 เยน และขึ้นๆ ลงในระดับ 10,000 - 20,000 เยน มากว่า 10 ปีแม้จนกระทั่งปัจจุบัน เช่นเดียวกับวิกฤตเงินกู้ต่ำกว่าระดับหรือ sub-prime crisis ในสหรัฐฯ เมื่อเร็วๆ นี้ที่เกิดจากการเก็งกำไรในราคาบ้านทั้งจากผู้กู้และผู้ให้กู้ที่ต่างก็หลอกตัวเองด้วย “มายาคติ” ว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้านไม่มีวันตก การปล่อยให้ผู้กู้ต่ำกว่าระดับที่เป็น sub-prime borrowers ไปซื้อบ้านหลังที่ 2 หรือมากกว่านั้นจึงมีความเสี่ยงต่ำเนื่องจากมีทรัพย์สินคือบ้านที่เชื่อว่าราคาตกยากเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่เป็นตัวอย่างเพราะราคาก็ตกลงต่ำกว่าที่เคยเป็นได้
แต่ก็เป็นเรื่องน่าแปลกที่หน่วยงานในประเทศไทย เช่น คณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ กลต.กลับส่งเสริมไปในทิศทางเพื่อการเก็งกำไรมากกว่า ไม่ว่าจะมีการตั้งกองทุนรวมเพื่อไปเก็งกำไรในทองคำที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือแปรรูป หรือการเปิดให้มีการซื้อขายอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับทองคำ ทั้งๆ ที่จะมีผู้ผลิตในประเทศที่ใช้ทองคำเป็นวัตถุดิบสักกี่รายที่มีความจำเป็นต้องป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนในราคาทองคำเมื่อเปรียบเทียบกับอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าจะมีผู้ที่จำเป็นต้องใช้เพื่อปกป้องความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่า กลายเป็นที่ควรมีก็ดันไม่มี แต่ไปมีในสิ่งที่ไม่จำเป็น กลต.ควรจะตระหนักให้ดีกว่านี้!
ในภาพที่กว้างขึ้นมา สาเหตุที่เป็นต้นตอประการหนึ่งของการเก็งกำไรและการเกิดภาวะฟองสบู่แตกที่ผ่านมาก็คือผลตอบแทนจากการฝากเงินในสถาบันการเงินต่ำกว่าเงินเฟ้อที่เป็นอยู่ ซึ่งส่งผลให้ผู้มีเงินออมต่างก็ขวนขวายหาแหล่งพักพิงให้กับเงินออมของตนเองแทนการฝากเงินกับสถาบันการเงิน
อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือที่ใช้ไปเพื่อการต่อสู้กับเงินเฟ้อและการเก็งกำไรเพื่อมิให้เกิดภาวะฟองสบู่แตกมากกว่าที่จะเอาไว้เป็นตัวปรับสมดุลเพื่อให้เงินทุนไหลเข้าออกประเทศตามที่ต้องการ ธนาคารกลางในปัจจุบันจึงมีหน้าที่หลักในการรักษาเงินเฟ้อที่กระทบต่อความผาสุกของประชาชนมากกว่าที่จะสนับสนุนให้มีการเจริญเติบโตอันเป็นหน้าที่ของนโยบายการคลังของฝ่ายการเมืองมากกว่า และที่ “กูรู้” ทั้งหลายพึงตระหนักก็คือเครื่องมือ เช่น อัตราดอกเบี้ยก็มีขีดจำกัดในการใช้งาน จะใช้ไขควงไปขันน็อตได้อย่างไร
คำถามที่เปิดให้ลองคิดดูเล่นๆ ว่า หากประเทศไทยค้นพบเหมืองทองคำหรือพบทองคำที่ซ่อนไว้ถ้ำลิเจียจริง ประเทศไทยจะก้าวไปสู่ความมั่งคั่งโชติช่วงชัชวาลบานบุรีศรีบูรพาหรือไม่?
คำตอบก็คือไม่ มีหลายประเทศที่ค้นพบแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เช่น ทองคำ เพชร หรือน้ำมัน แต่ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ปรากฏในภายหลังก็คือ ระดับการพัฒนาประเทศกับระดับการมีอยู่ของทรัพยากรที่สำคัญดังกล่าวไม่ได้ไปด้วยกันแต่อย่างใด กล่าวง่ายๆ ก็คือ แม้ประเทศไทยจะพบทองคำที่ญี่ปุ่นมาซ่อนเอาไว้หรือการพบเหมืองทองคำ บ่อน้ำมัน ก็มิได้เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ประเทศได้พัฒนาก้าวหน้าแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามมีหลายๆ ประเทศที่ร่ำรวยหรือมีมากในน้ำมัน ทองคำ หรือเพชร แต่ประชากรส่วนใหญ่ก็ยังยากจนอยู่เหมือนเดิมดุจดังต้องคำสาปจากทรัพยากรที่ค้นพบ
พลเมืองเข้มแข็งจึงไม่ต้องตกใจเพราะเป็นคำถามและคำตอบเดียวกับเมื่อ ค.ศ.1776 ที่ Adam Smith ได้เคยสงสัยและตั้งเป็นคำถามหักล้างแนวคิดของพวก Mercantilism ที่ประเทศในยุโรปส่วนใหญ่ในสมัยนั้นอาศัยการค้าและล่าอาณานิคมเพื่อให้ได้มาซึ่งโลหะมีค่า เช่น ทองคำ มาไว้ในครอบครองว่าจะทำให้ชาติมีความมั่งคั่งจริงหรือไม่จากหนังสือที่ชื่อ An Inquiry to the Nature and Causes of the Wealth of Nations
การพัฒนาประเทศจึงมิได้เกิดจากการค้นพบในทรัพยากรดังกล่าวแต่เพียงลำพัง ผลที่ปรากฏอาจเป็นในทางตรงกันข้ามว่า ประเทศที่เป็นต้นแบบการพัฒนาในเอเชียไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน หรือฮ่องกง ต่างก็มีเพียงทรัพยากรคนเท่านั้นที่เป็นหลักในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าไปได้
“กูรู้” ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น พิเชียร (อำนาจ) วีระ (ธีระ) บริษัทหลักทรัพย์จัดการทั้งหลาย กลต. และสื่อสารมวลชน พวกคุณมีความรับชอบทางสังคมแค่ไหนในการจะไม่พาคนไปลงเหวแห่งความพินาศด้วยการให้ข้อมูลทำให้เห็นผิดเป็นชอบ ชักจูงให้เห็นว่าการซื้อทองคำเป็นการลงทุนมิใช่การเก็งกำไร