วิพากษ์พรรค “การเมืองใหม่”
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน วันที่ 14 ก.ค. 52
รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง
รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นักวิชาการแดงบอกว่า มีเหตุผลอะไรที่คนชั้นกลางจึงต้องสนับสนุนพรรคการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ พรรคการเมืองอื่นๆ ที่มีอยู่ไม่สนใจชนชั้นกลางเลยหรืออย่างไร
นักวิชาการแดงยังบอกอีกว่า พันธมิตรฯ เชื่อว่าพวกเขาได้ปลุกชนชั้นกลางที่เกลียดคอร์รัปชันและอยากเห็นการเมืองที่ใสสะอาด จึงคิดว่าเป็นฐานที่จะตั้งพรรคได้ ให้พวกเขาตั้งพรรคแล้วพวกเขาจะได้เรียนรู้
ผลการเลือกตั้ง ส.ก.และ ส.ข.ครั้งล่าสุดที่ผ่านมาดูเหมือนว่าจะเป็นข้อเท็จจริงที่สนับสนุนข้อวิพากษ์ของนักวิชาการแดงที่มีต่อการตั้งพรรคการเมืองใหม่ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพราะพรรคการเมืองใหม่ไม่ได้ที่นั่ง ส.ก./ส.ข. แม้แต่ที่เดียว
ดูช่างไม่สมราคาของพรรคที่บอกว่าจะทำ “การเมืองใหม่” ที่น่าจะเป็นพรรคตัวแทนของชนชั้นกลางหรือพวกพลังเงียบในสังคมไทย แต่กลับถูกทอดทิ้งให้พ่ายแพ้ ราวกับว่าชนชั้นกลางไม่สนใจ หรืออาจไม่มีชนชั้นกลางหรือพลังเงียบที่ว่าในสังคมไทยแต่อย่างใด หรือว่ามวลชนของพันธมิตรฯ ส่วนใหญ่อาจเป็นฐานเสียงของประชาธิปัตย์ที่มารวมกลุ่มเพื่อขับไล่ทักษิณ หากพรรคการเมืองใหม่จะทำ “การเมืองใหม่” คำตอบที่ชัดเจนในประเด็นข้อวิพากษ์ดังกล่าวข้างต้นจะได้มา ก็โดยการวิเคราะห์การเมืองเก่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่ามีสภาพอย่างไรเท่านั้น
ระบบพรรคการเมืองไทยในปัจจุบันเป็นระบบที่เอื้ออำนวยให้พรรคการเมืองเป็นองค์กรที่สามารถผูกขาดทางการเมืองโดยอาศัยพรรคเป็นองค์กรบังหน้าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่อยู่เบื้องหลัง
การผูกขาดสามารถทำได้โดยอาศัย (1) ความก้าวหน้าทางวิทยาการที่ผู้อื่นยังไม่มี เช่น บริษัทไมโครซอฟท์ที่คิดค้นโปรแกรมวินโดวส์ที่ทำหน้าที่เป็นหน้าต่างเชื่อมระหว่างโปรแกรมหนึ่งไปยังอีกโปรแกรมหนึ่ง หรือ (2) อำนาจรัฐ เพื่อกีดกันมิให้มีผู้ประกอบการอื่นๆ หรือคู่แข่งเข้ามาในตลาด เช่น การเป็นผู้รับสัมปทานจากภาครัฐ ด้วยปัจจัยทั้ง 2 ประการนี้เองที่ทำให้ผู้ผูกขาดมี “อำนาจเหนือตลาด” หรือ monopoly power และจากประสบการณ์ที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นว่าการผูกขาดที่ดำรงอยู่ได้ยาวนานมักเกิดขึ้นโดยอาศัยอำนาจรัฐที่สะดวกและมีราคาถูกมากกว่าความก้าวหน้าทางวิทยาการที่ต้องลงทุนสูงและผู้อื่นๆ ก็สามารถก้าวตามทันได้เช่นกันในไม่ช้า
การที่กฎหมายกำหนดให้การลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ต้องกระทำโดยพรรคการเมืองเป็นองค์กรรับผิดชอบส่งลงสมัคร ในขณะที่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นทั้งผู้นำทางการเมืองและผู้นำฝ่ายบริหารถูกกำหนดให้ต้องมีที่มาจาก ส.ส. ทำให้พรรคการเมืองสามารถผูกขาดการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยอาศัยอำนาจรัฐ การให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองเหนือสิ่งอื่นใดจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการฝืนธรรมชาติทางการเมืองและกลายมาเป็นบ่อเกิดของปัญหาที่ถ่วงความเจริญของประเทศไทยในปัจจุบัน เพราะความพยายามที่มุ่งจะเรียนลัดโดยสร้างจุดแข็งให้กับการเมืองไทยให้มีเสถียรภาพและความรับผิดชอบโดยอาศัยพรรคการเมืองก็ได้กลายเป็นจุดอ่อนในเวลาเดียวกัน เนื่องจากมิใช่แต่เพียงมหาชนเท่านั้นที่สามารถเป็นเจ้าของพรรคการเมืองได้ หากแต่ปัจเจกชนก็สามารถเป็นได้เช่นเดียวกันและอาจจะง่ายกว่าด้วยซ้ำ
ข้อมูลพรรคการเมืองที่ยังดำเนินกิจกรรมอยู่ในปัจจุบัน ณ 20 ก.ค. 53 มีจำนวนทั้งสิ้น 51 พรรคการเมือง โดยมีพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดคือพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่มีพรรคที่จัดตั้งก่อนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อ 23 ธ.ค. 50 เหลือเพียง 20 พรรคการเมือง อีก 31 พรรคการเมืองถูกจัดตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง จุดที่น่าสนใจก็คือจำนวนประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่เป็นเจ้าของพรรคปรากฏว่ามีรวมกันทั้งสิ้นเพียง 4.7 ล้านคนจากจำนวนประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง 44 ล้านคน โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกมากที่สุดคือ 2.87 ล้านคนดังแสดงในตารางข้างล่างนี้
ชื่อพรรค | กรรมการบริหาร | ส.ส. | สมาชิกพรรค | สาขาพรรค |
ประชาธิปัตย์ | 19 | 172 | 2,869,363 | 190 |
เพื่อไทย | 13 | 189 | 17,067 | 5 |
ภูมิใจไทย | 12 | 32 | 21,441 | 5 |
ชาติไทยพัฒนา | 9 | 25 | 13,344 | 6 |
ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า จำนวนสมาชิกพรรคไม่ได้เป็นสัดส่วนกับจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคมีแต่อย่างใด พรรคมหาชนที่ไม่ได้ ส.ส.จากการเลือกตั้งที่ผ่านมาแม้แต่คนเดียวแต่กลับมีจำนวนสมาชิกเป็นอันดับสองคือ 1.19 ล้านคน และพรรคไทยเป็นไทก็เช่นเดียวกันแม้เป็นอันดับสามที่มีสมาชิกพรรค 3 แสนคนเศษแต่ก็ไม่ได้ ส.ส.เช่นกัน ทั้งๆ ที่หากคำนวณโดยตัวเลข ส.ส. 1 คนจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วจะใช้คะแนนเสียงเฉลี่ยประมาณ 157,071 คน ดังนั้น หากสมาชิกพรรคเป็นเจ้าของพรรคจริงแล้วพรรคมหาชนก็ดีหรือพรรคไทยเป็นไทก็ดีควรจะได้ ส.ส.ในขณะที่เพื่อไทย ภูมิใจไทย หรือชาติไทยพัฒนาไม่ควรจะได้ ส.ส.ในจำนวนที่เป็นอยู่
พรรคการเมืองที่มีอยู่ส่วนใหญ่จึงไม่มีประชาชนไม่ว่าชนชั้นใดเป็นเจ้าของพรรคแต่อย่างใดเพราะมีจำนวนสมาชิกพรรคน้อยมาก หากประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ได้แสดงตนเป็นเจ้าของพรรคที่แท้จริงด้วยการลงคะแนนเลือกพรรคที่ตนเองเป็นเจ้าของแล้วจะมีพรรคการเมืองไปทำไม? และจะต้องบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองไปทำไม? เป็นการสร้างเงื่อนไขการผูกขาดโดยพรรคการเมืองใช่หรือไม่?
เพราะพรรคการเมืองมิใช่คอกควาย ที่แม้ ส.ส.บางคนจะประพฤติปฏิบัติตนเหมือนควายก็ตาม หากแต่ต้องเป็นที่รวมของคนที่มีอุดมการณ์เหมือนกัน ดังที่กำหนดความหมายของพรรคการเมืองไว้ใน ม. 4 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มิใช่หรือ หากมิได้เป็นเช่นนั้นก็ไม่ต่างไปจากกิจการร้านค้าทั่วไปที่มีเจ้าของเป็นปัจเจกชน ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสวงหากำไร มิใช่เป็นพรรคการเมืองตามเจตนารมณ์ที่ต้องการแต่อย่างใด เพราะบริษัทมหาชนบางแห่งอาจมีจำนวนผู้ถือหุ้นใกล้เคียงกับสมาชิกพรรคการเมืองที่มีอยู่
กฎหมายพรรคการเมืองที่บังคับให้พรรคต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 5,000 คนกระจายตามแต่ละภาคและต้องมีสาขาอย่างน้อยภาคละ 1 สาขาภายใน 1 ปีนับตั้งแต่จดทะเบียนตั้งพรรคตาม ม. 26 จึงเป็นการสร้างต้นทุน (transaction costs) ในการรวมตัวของคณะบุคคลที่จะจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองโดยไม่จำเป็น ที่สำคัญได้ทำให้ “ทุน” กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญของพรรคการเมืองแทนที่เจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชน เพราะหากไม่มีทุนก็ไม่มีพรรคและไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ เป็นการปิดกั้นหรือกีดกันการเข้าสู่ตลาดการเมืองโดยอำนาจรัฐตั้งแต่ต้นมือเลยทีเดียว การเข้าสู่อำนาจรัฐจึงตกอยู่กับนายทุนได้โดยง่ายและก่อให้เกิดการ “ถอนทุน” ในที่สุด
อาจมีข้อโต้แย้งว่านายทุนจะเข้ามามีบทบาทในพรรคการเมืองได้อย่างไรในเมื่อการ “ประชุมใหญ่พรรคการเมือง” ตาม ม. 27 เพื่อคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งก็ดี จัดทำนโยบายพรรคการเมืองก็ดี หรือเลือกผู้บริหารพรรค ต้องมีองค์ประชุมใหญ่มาจากตัวแทนสมาชิกพรรคเป็นหลักเพราะกำหนดให้ต้องมีองค์ประชุมรวมกันไม่น้อยกว่า 200 คน (ม.29)
แต่จากข่าวการประชุมเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยชุดใหม่เมื่อเร็วๆ นี้จะเห็นเป็นประจักษ์ได้ว่ามีผู้เข้าร่วมเป็นองค์ประชุม 200 คนเศษ และองค์ประชุมมีที่มาจาก ส.ส.และกรรมการบริหารพรรคชุดเดิมเป็นหลัก จะมีสมาชิกพรรคจากจำนวน 17,067 คนที่มิได้เป็น ส.ส.หรือกรรมการบริหาร เข้าร่วมประชุมเพื่อตัดสินใจเรื่องสำคัญในพรรคตัวเองเช่นนี้สักกี่คน และสะท้อนความคิดเห็นที่หลากหลายของสมาชิกทุกระดับตามเจตนารมณ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ได้หรือไม่
รายงานการประชุมนี้ในที่สุดก็ต้องส่งให้นายทะเบียนพรรคการเมืองซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อจดทะเบียนแก้ไข กกต.จะไม่สนใจในประเด็นข้างต้นนี้เลยหรือว่า กฎหมายบกพร่อง หรือพรรคบกพร่อง หรือทั้งสองอย่าง เพราะพรรคการเมืองที่มีเจ้าของเพียงหยิบมือเดียวจะแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองเป็นตัวแทนของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติได้อย่างไร?
“การเมืองใหม่” จึงเป็นเรื่องของการเป็นทางเลือกเพื่อลดการผูกขาดการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกผูกขาดโดยพรรคการเมืองที่มีอยู่ โดยนายทุนที่เป็นเจ้าของพรรคที่มีอยู่เกือบทั้งหมดเป็นผู้ควบคุม ส.ส.อีกชั้นหนึ่ง ประชาชนไม่ว่าจะชั้นล่าง กลาง หรือสูงก็มิได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเพราะเข้าไม่ถึงและมิได้เป็นเจ้าของพรรคการเมืองอย่างแท้จริงแต่อย่างใด
ประชาชนจึงถูกเลือกปฏิบัติให้เป็นเพียงผู้ขายสิทธิ์เลือกตั้ง รอเพียงแต่ว่าจะมีนายทุนจากพรรคใดเข้ามาเสนอซื้อด้วย เงิน โครงการประชานิยมในรูปแบบต่างๆ หรือในรูปแบบอื่นๆ อำนาจประชาธิปไตยในกำมือประชาชนจึงมีเพียง 4 วินาทีตอนกาบัตรเลือกตั้งเท่านั้น
ในทางเศรษฐกิจประชาชนไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนตัวเล็กเช่น David หากแต่สามารถเป็นยักษ์ใหญ่ เช่น Goliath ได้ เพราะมีอำนาจในฐานะผู้บริโภคที่ใช้ vote เป็นประจำว่าจะเลือกบริโภคอะไรวันละ 3 ครั้งทุกวันตลอด 365 วันทุกๆ ปีตลอดที่มีชีวิตอยู่ เป็นพลังที่ผู้ผลิตไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหนก็ล้วนเกรงกลัว แต่ในทางการเมืองต้องรอถึง 4 ปีจึงมีเลือกตั้ง 1 ครั้งแล้วมักขาดจากกันไปอย่างเด็ดขาดไม่มาขอความเห็นอีกเลยเมื่อได้อำนาจไปแล้ว ทำให้พรรคการเมืองทำตามอำเภอใจได้โดยง่าย
พรรคการเมืองใหม่หากจะเป็นพรรค “การเมืองใหม่” ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตกผลึกทางความคิดอย่างชัดเจนว่าแนวคิดของ “การเมืองใหม่” คือการลดการผูกขาดทางการเมืองในระบบพรรคการเมืองให้ลดน้อยลงโดยการเสนอพรรคการเมืองใหม่ให้เป็นทางเลือกของประชาชนทุกชนชั้นทุกสีเพราะสามารถเข้าถึงและมีส่วนรวมในการเป็นเจ้าของพรรคอย่างแท้จริง มิใช่เป็นสมาชิกแต่เพียงในนามให้ครบตามที่กฎหมายกำหนด จำนวนสมาชิกพรรคจึงเป็นสิ่งสำคัญที่นอกจากจะแสดงความเป็นเจ้าของแล้วยังเป็นฐานเสียงที่แบ่งแยกคะแนนจากพรรคอื่นๆ อย่างชัดเจน
ในขณะที่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเป็นเจ้าของเพื่อไทย ภูมิใจไทย หรือแม้แต่ประชาธิปัตย์ ได้แม้แต่น้อยนิด แต่ประชาชนไม่ว่าชนชั้นใดจะเป็นพันธมิตรฯ หรือไม่ก็สามารถเป็นเจ้าของพรรคการเมืองใหม่ได้ นี่คือสิ่งสำคัญที่แตกต่าง ทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของได้ไม่ใช่จำกัดเฉพาะพันธมิตรฯ หรือแกนนำรุ่นใดหรือคนสีเสื้อใด คนเสื้อแดงหรือแม่ยก ปชป.จะรู้บ้างไหม?
อาจมีข้อโต้แย้งว่าพรรคการเมืองที่มีอยู่แม้จะมีสมาชิกจำนวนน้อย แต่ก็มีนโยบายที่โดนใจคนส่วนใหญ่จึงได้คะแนนเสียง แต่เมื่อไม่มีประชาชนเป็นเจ้าของจะมีอะไรรับประกันว่าเมื่อได้คะแนนเสียงไปแล้วจะทำตามที่สัญญาไว้หรือไม่ทำตามอำเภอใจ เช่น ความพยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรมแย่งอำนาจตุลาการในการตัดสินชี้ถูกผิด หากมีข้อโต้แย้งทุกพรรคมักกล่าวอ้างเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าไม่พอใจ ครั้งหน้าก็ไม่ต้องมาเลือกอีก หรือไม่ก็ให้ลงไปปิดถนนเอาเอง ประชาชนจึงเป็นนายใหญ่ได้แค่ 4 วินาที แต่ต้องเป็นทาสไปอีก 4 ปี เพราะขาดความเชื่อมโยงระหว่างพรรคการเมืองที่มีอยู่กับประชาชน
วาทกรรมการเป็นตัวแทนของชนชั้นใดจึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะพรรคการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ไม่ได้เป็นตัวแทนใครอยู่แล้วเช่นกัน ยกเว้นแต่นายทุนเจ้าของพรรค หากปล่อยให้ระบบการผูกขาดทางการเมืองนี้ดำรงอยู่ต่อไปก็จะเป็นการทำลายทุกชนชั้นในสังคมในไม่ช้า
พรรคการเมืองใหม่จึงเป็นอนาคตของสังคมที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ในขณะที่พันธมิตรฯ เมื่อบรรลุภารกิจก็เป็นอดีตที่ดีในความทรงจำไปแล้วไยต้องพิรี้พิไรอยู่อีก หนทางการต่อสู้ในอนาคตจึงอยู่ที่สภาแทนท้องถนน อยู่ที่คนรุ่นใหม่ที่อาจมิใช่แกนนำพันธมิตรฯ ตามกาลเทศะที่เป็นไป