เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (7)
(12/7/2554)
*ความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระ*
องค์ความรู้ทางการแพทย์ ได้บอกกับเราว่า โรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพส่วนใหญ่นั้น ล้วนเกี่ยวข้องกับความเสียหายในระดับเซลล์-โมเลกุลที่เกิดจากอนุมูลอิสระทั้งสิ้น กล่าวคือ แม้ร่างกายภายนอกของคนเราดูเหมือนจะปกติไม่ได้เจ็บป่วยอะไร แต่ความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระในระดับเซลล์-โมเลกุล เมื่อสะสมมากขึ้นและนานวันเข้า ระบบภูมิชีวิต หรือระบบภูมิคุ้มกันในเซลล์แต่ละเซลล์อวัยวะ และของร่างกายของเราจะอ่อนแอลง เกิดโรคและความชราตามมา
เราต้องไม่ลืมว่า โรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง หรือโรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพอื่นๆ เช่น เบาหวาน โรคหลอดเลือดแข็งกว่าโรคจะทำให้เกิดอาการหรือตรวจพบได้นั้น อาจใช้เวลายาวนานนับสิบปี เพราะฉะนั้น การไปตรวจร่างกายประจำปี แล้วไม่พบโรคมิได้หมายความว่าไม่มีโรคเสมอไป จริงๆ แล้ว การไม่พบโรค ทั้งๆ ที่ยังคงใช้ชีวิตหรือมีวิถีชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพอยู่ อาจหมายความว่า ได้เกิดความเสียหายในระดับเซลล์แต่ละเซลล์ และในระดับอวัยวะ อันเป็นผลของอนุมูลอิสระขึ้นมาแล้ว เพียงแต่ความเสียหายนั้นยังสะสมไม่มากพอจนออกอาการเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ ก็เป็นได้ การไปตรวจร่างกายประจำปี แล้วไม่พบโรคจึงอาจเป็นผลเสียได้ ถ้าหากผู้นั้นตั้งอยู่ในความประมาท เพราะสบายใจหรือเข้าใจผิดไปว่าตัวเองไม่มีโรค จึงละเลยการป้องกัน และไม่ยอมปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ถูกต้องและดีต่อสุขภาพ
ขอสรุปอีกครั้งหนึ่งว่า ร่างกายของคนเรานั้น ต้องใช้ออกซิเจนเพื่อการดำรงชีวิตในกระบวนการที่เรียกว่า เมตาโบลิสซึม (metabolism) หรือการสันดาป เผาเป็นพลังงานซึ่งเกิดอยู่ตลอดเวลา ผลผลิตพลอยได้ที่เป็นสายพันธุ์ออกซิเจนที่มีปฏิกิริยา (reactive oxygen species หรือ ROS) จึงเกิดขึ้นตลอดเวลาทั่วร่างกาย นั่นคือ อนุมูลอิสระ
ด้วยเหตุนี้ อนุมูลอิสระจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาในร่างกายของคนเรา หรือเป็นธรรมชาติที่จะต้องมีสิ่งนี้เกิดขึ้นทุกลมหายใจเสมอ แต่ร่างกายของคนเรานั้นอัศจรรย์มาก เพราะได้ถูกออกแบบมาให้ขจัดสิ่งเหล่านี้โดยอัตโนมัติได้ด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ มันจึงขึ้นอยู่กับปัจเจกแต่ละคนว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร ให้ได้รับสารต้านอนุมูลอิสระเพียงพอที่จะขจัดอนุมูลอิสระได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคเรื้อรังร้ายแรงต่างๆ
เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่ามีปัจจัยเกื้อหนุนอะไรบ้างที่ไปส่งเสริมให้อนุมูลอิสระถูกผลิตมากขึ้น นายแพทย์เฉลียว ปียะชน ผู้เขียนหนังสือ “รู้สู้โรค-โมเลกุลเพื่อชีวิต ชีวิตเพื่อสุขภาพ” (สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, พ.ศ. 2552) กล่าวว่า ปัจจัยเกื้อหนุนที่ทำให้อนุมูลอิสระถูกผลิตมากขึ้นนั้น มีอยู่ 9 ปัจจัยดังต่อไปนี้
(1) ความเครียด ความเครียดทางอารมณ์ และร่างกายทำให้อนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น เวลาคนเราเครียดมากๆ คือ มีการตอบสนองทางอารมณ์มาก โดยเฉพาะอารมณ์ในเชิงลบ จะทำให้มีอนุมูลอิสระเพิ่มมากขึ้น เพราะความเครียดทำให้มีการเผาผลาญพลังงานมาก อนุมูลอิสระจึงเกิดมากขึ้นตามไปด้วย สมมติฐานเรื่องความเครียดที่เห็นว่า ความเครียดเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคเกือบทุกชนิดนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ซึ่งเราจะยกมาเขียนถึงเป็นหัวข้อต่างหากอีกทีหนึ่ง ในตอนนี้จะกล่าวเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดกับการเกิดอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้นเท่านั้น
(2) มลพิษในอากาศ เป็นภาวะที่เกิดมากในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ หรือเขตอุตสาหกรรมจะเผชิญกับภาวะนี้อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก มลพิษในอากาศประกอบด้วยไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โอโซน โมเลกุลของไฮโดรคาร์บอนต่างๆ ควันเขม่า ฝุ่นละเอียด คาร์บอนมอนอกไซด์ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ สารอันตรายเหล่านี้เป็นผลผลิตที่ก่อขึ้นโดยมนุษย์ทั้งสิ้น นอกจากนี้ การใช้ยาฆ่าแมลง และการใช้สารเคมีในอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้กระจายปนเปื้อนในอากาศ กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นกับเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก มลพิษในอากาศก่อให้เกิดโรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ โรคหัวใจ และมะเร็ง เป็นต้น
(3) ควันบุหรี่ แม้ว่ามลพิษในอากาศที่กล่าวมามีอันตรายก็จริง แต่สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่แล้ว ควันบุหรี่นั้นมีอันตรายร้ายแรงยิ่งกว่าเสียอีก การสูบบุหรี่ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบ โรคหลอดเลือดแข็ง และโรคมะเร็งปอด สารพิษที่มากับควันบุหรี่คือ นิโคติน น้ำมันดิน สารปนเปื้อนอื่นๆ นอกจากนี้ ผู้ที่ไม่ได้สูบเอง แต่อยู่ในที่มีผู้อื่นสูบเป็นประจำและห้องอับ ก็จะได้รับผลร้ายเช่นกัน เพราะกลายเป็น “ผู้สูบบุหรี่มือสอง” สารที่อยู่ในควันบุหรี่เหล่านี้ ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระและเป็นพิษ การงดสูบบุหรี่ได้เป็นการดีที่สุด เพราะมีข้อมูลวิจัยออกมาแล้วว่า การสูบบุหรี่แต่ละมวนทำให้อายุสั้นลง 8 นาที การสูบบุหรี่วันละซองทำให้อายุสั้นลงปีละหนึ่งเดือน
(4) น้ำและอาหารที่ปนเปื้อน การเกษตรที่ใช้สารเคมีทำให้สารเคมีต่างๆ ปนเปื้อนสู่น้ำดื่มแม้แต่น้ำฝน สารเคมีที่ใช้ในการเกษตรไม่ว่าสารกำจัดวัชพืช สารกำจัดแมลง สารกำจัดเชื้อราที่ใช้ในการผลิตอาหารแปรรูป แม้จะช่วยให้อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร สามารถผลิตอาหารได้เป็นจำนวนมหาศาลก็จริง แต่ต้องแลกด้วยสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้ อาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ปรุงด้วยการปิ้ง ทอด ย่าง ทำให้บางส่วนอาจไหม้เกรียมหรือเกิดควันติดค้างไปกับอาหาร และก่อให้เกิดสารก่อมะเร็ง เมื่อรับประทานบ่อยครั้งจะมีอันตราย เพิ่มปัจจัยเสี่ยง จึงควรหลีกเลี่ยง
(5) ยาและรังสี ยาทุกชนิดที่คนเราทานส่วนใหญ่คือสารเคมี และเป็นสารแปลกปลอม ซึ่งร่างกายต้องย่อยสลายและขจัดออกไป จึงไปทำอันตรายต่อกระบวนการย่อยสลายที่ตับ และส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ การรับรังสีก็ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ จึงต้องไม่รับเกินความจำเป็นหากต้องไปถ่ายเอกซเรย์
(6) รังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงอาทิตย์ หากถูกแดดมากจะได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตมาก ซึ่งจะมีอันตรายเพราะจะไปลดภูมิคุ้มกันของเซลล์ลง ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ปัจจุบันชั้นโอโซนถูกทำลายไปมาก บางลงและมีรูโหว่ รังสีอัลตราไวโอเลตที่คนเราได้รับจึงมีปริมาณมากกว่าสมัยก่อน รังสีอัลตราไวโอเลตเป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังในคนผิวขาวจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนผิวสีอย่างคนไทยยังโชคดี เพราะเม็ดสีในผิวหนังเมลานินช่วยป้องกันได้บ้าง แต่ก็ควรระวังไม่ให้ถูกแดดมากเกินไป เพราะจะทำให้เป็นต้อกระจก และผิวกร้านมีริ้วรอยดูแก่ก่อนวัย ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดจัดนานๆ ควรใช้ร่มที่ป้องกันรังสี และสวมแว่นกันแดดเสมอหากอยู่กลางแจ้ง
(7) โลหะที่เป็นพิษ สารโลหะหนักนั้นปนเปื้อนดินและน้ำไปทั่ว อันเป็นผลจากการพัฒนาประเทศไปสู่อุตสาหกรรม ปริมาณโลหะหนักที่เป็นพิษที่มักพบในดินและน้ำได้แก่ ตะกั่ว ทองแดง โคบอลต์ ปรอท อะลูมิเนียม และแคดเมียม สารเหล่านี้หากสะสมตกค้างอยู่ในร่างกายเมื่อรับเข้าไป มันจะไปยึดติดกับเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่างๆ เช่น ปรอทเข้าไปยึดกับเซลล์ประสาทส่วนกลาง อะลูมิเนียมเข้าไปยึดที่เซลล์สมอง ตะกั่วไปทำลายสมอง เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ การรับประทานสารต้านอนุมูลอิสระที่ทำหน้าที่ขจัดโลหะหนักแต่ละชนิด จึงเป็นสิ่งจำเป็นในยุคนี้ โดยเฉพาะวิตามินซี กระเทียม สังกะสี และแคลเซียม
(8) การละเมิดกฎธรรมชาติ ใช้ชีวิตอย่างไม่ปรองดองกับธรรมชาติ เป็นที่มาของการเสียดุลยภาพในร่างกาย ทำให้เสียสุขภาพและเกิดโรคตามมา
(9) การออกกำลังกายมากเกินไป (excessive exercise) อย่าไปคิดว่า การออกกำลังกายเพียงอย่างเดียวนั้นเพียงพอที่จะป้องกันอนุมูลอิสระหรือมีสุขภาพดีได้ การออกกำลังกายแบบตะวันตกที่หักโหมอาจกลายเป็นดาบสองคมได้ เพราะการออกกำลังกายที่มากและรุนแรงเกินไปกลับทำให้ร่างกายสร้างอนุมูลอิสระมากขึ้น และอาจเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคหัวใจจู่โจม และมะเร็งได้