แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (6) (5/7/2554)

แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (6) (5/7/2554)


แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ

เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (6)

(5/7/2554)






*เวชศาสตร์ ป้องกันองค์รวมระดับโมเลกุล-เซลล์*
       

       นับตั้งแต่เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา องค์ความรู้ทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับมนุษย์ในมิติทางชีวเคมี และฟิสิกส์ได้รุดหน้าเป็นอย่างมาก เพราะได้มีการค้นคว้าลงลึกไปถึงระดับเซลล์ ระดับโมเลกุล และระดับที่เล็กกว่าโมเลกุล ทำให้เราสามารถเข้าใจกลไกการทำหน้าที่ และดำเนินไปของอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้เป็นอย่างดี รวมทั้งกลไกการเกิดโรค และการเสื่อมสภาพด้วย
       


       จะว่าไปแล้ว องค์ความรู้เหล่านี้มีมากกว่าวิชาแพทย์เสียอีก เพราะมีการบูรณาการกับองค์ความรู้จากวิทยาศาสตร์สาขาอื่น จนกระทั่งกลายเป็นองค์ความรู้แบบองค์รวม ที่ทำให้เราเข้าใจการเกิดโรคจากมุมมองที่กว้างและลึกกว่าแต่ก่อนได้ ซึ่งย่อมส่งผลอย่างแน่นอนต่อการนำองค์ความรู้แบบองค์รวมนี้มาป้องกัน และบำบัดโรคร้ายแรงต่างๆ
       


       ศ.นายแพทย์เฉลียว ปิยะชน ผู้เขียนหนังสือ “รู้สู้โรค-โมเลกุลเพื่อชีวิต : ชีวิตเพื่อสุขภาพ” (สำนักพิมพ์สุขภาพใจ-พิมพ์ครั้งที่ 3 ฉบับปรับปรุงแก้ไข, พ.ศ. 2552) บอกว่า ในมุมมองขององค์ความรู้แบบองค์รวม การมีสุขภาพดี หรือความสบายดี จะต้องเป็นผลที่เกิดจากการมีสมดุลภายในตัวเอง และการมีสมดุลกับสิ่งแวดล้อมภายนอก จึงจะทำให้เกิด “สุขภาวะ” (Salutogenesis) อันเป็นภาวะที่ทั้งร่างกาย และจิตใจดำเนินไปแบบสบายๆ โปร่ง โล่ง เบา ไม่เครียดแค้น ตั้งมั่นอยู่กับตน
       


       ถ้ากล่าวให้ลงลึกยิ่งขึ้นในทางชีววิทยาก็คือ การมีสุขภาพดี จะต้องมีสมดุลของสิ่งแวดล้อมภายในเซลล์ แต่ละเซลล์เอง และมีสมดุลกับเซลล์อื่นๆ ของเซลล์ภายในอวัยวะ และยังมีสมดุลกับอวัยวะทั้งหมดด้วย ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้ เราจะต้องทำการบำรุงรักษาหล่อเลี้ยงชีวิตของเราอย่างลงไปดูแลถึงระดับโมเลกุลภายในเซลล์ เลยทีเดียว เพื่อไม่ให้เกิดการเสียสมดุลที่จะนำไปสู่การเกิดโรค
       


       ในมุมมองขององค์ความรู้แบบองค์รวมนี้ จะมองว่า การเสียสมดุลของร่างกายในระดับเซลล์และโมเลกุล มีสาเหตุใหญ่มาจากอนุมูลอิสระ (free radicals) โดยอนุมูลอิสระนี้เป็นตัวการที่ทำให้เกิดการอักเสบหรือความเสียหายจากออกซิเดชัน (Oxidative Stress) ในระดับเซลล์และโมเลกุล ซึ่งมีผลพวงตามมาเป็นความเสื่อมสภาพและโรคต่างๆ ความเข้าใจเรื่องความเสียหายจากออกซิเดชันในระดับเซลล์และโมเลกุลของการแพทย์แบบองค์รวม หรือทฤษฎี “ออกซิเดตีฟสเตรส” นี้ต้องถือว่ารุดหน้ากว่า “ทฤษฎีเชื้อโรค” หรือทฤษฎีการเกิดโรคว่ามาจากสาเหตุภายนอก และต้องบำบัดด้วยยาที่วงการแพทย์แผนปัจจุบัน เคยยึดถือมาอย่างยาวนานมาก
       


       ต่อไปเรามาทำความเข้าใจทฤษฎี “ออกซิเดตีฟสเตรส” (Oxidative Stress) อย่างละเอียดกัน...ในมุมมองของชีวเคมีชีวิตคือ กระบวนการปรับแต่งชีวภาพโดยแท้ เพราะชีวิตใช้สารอาหารที่รับการย่อยปรับแต่งจากกระบวนการต่างๆ รวมทั้งน้ำและออกซิเจนที่หายใจเข้าไปเป็นองค์ประกอบสำคัญในการปรับแต่ง โดยมีการรับสิ่งเหล่านี้ นำไปใช้เพื่อสร้างเสริมเป็นพลังงาน และถ่ายเทของเสียหรือสิ่งที่ไม่ต้องการออกไป
       


       กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ชีวิตมีการสร้างสรรค์ (คนโบราณเรียกว่า พระพรหม) ชีวิตมีการทรงสภาพบำรุงรักษา (คนโบราณเรียกว่า พระวิษณุ) และชีวิตมีการทำลาย (คนโบราณเรียกว่า พระศิวะ) สืบต่อเนื่องโดยตลอดไม่มีหยุด อันเป็นกระบวนการหรือขบวนการปรับแต่งชีวภาพที่เกิดขึ้นในระดับเซลล์ทุกๆ เซลล์ทั่วร่างกาย ดังมีผู้ประมาณว่า ปฏิกิริยาทางเคมีเกิดขึ้นประมาณ 6 ล้านล้านครั้งต่อวินาทีต่อเซลล์กับเซลล์ 60 ล้านล้านเซลล์ ที่มีทั้งหมดในร่างกายมนุษย์ โดยที่กระบวนการปรับแต่งชีวภาพนี้ดำเนินไปได้ โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ กลุ่มอาหาร อากาศที่หายใจ น้ำ และสิ่งที่ช่วยควบคุมกระบวนการให้ดำเนินไปได้ด้วยดี เช่น เอนไซม์ วิตามิน ฮอร์โมน เป็นต้น
       


       กระบวนการปรับแต่งชีวภาพนี้ ส่วนใหญ่คือการสันดาปซึ่งใช้ออกซิเจนทำปฏิกิริยาที่เรียกกันว่า “ออกซิเดชัน” (Oxidation) กระบวนการนี้จึงทำให้เกิด “แอโรบิก เมตาบอลิซึม” (aerobic metabolism) อันเป็นขบวนการปรับเปลี่ยนออกซิเจนให้เป็นพลังงาน โดยที่ออกซิเจนที่เราหายใจสู่ปอดจะแทรกผ่านผนังถุงลม แล้วถูกนำพาโดยเฮโมโกลบิน (hemoglobin) ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเม็ดเลือดแดงไปเลี้ยงทุกเซลล์ทั่วร่างกาย
       


       แต่เมื่อร่างกายของคนเราใช้ออกซิเจน มันจะเกิดผลข้างเคียงที่เรียกว่า “รีแอ็กตีฟ ออกซิเจน สเปซีส์” (reactive oxygen species หรือ ROS) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ออกซิเจนที่มีปฏิกิริยาชนิดต่างๆ เปรียบง่ายๆ ก็คือ เมื่อเผาไหม้ฟืนก็ย่อมมีควันเกิดขึ้น ควันที่ว่านี้ก็คือ ROS หรือออกซิเจนที่มีอนุมูลอิสระซึ่งจะเกิดได้มากน้อยต่างกันไป
       


       ออกซิเจนที่มีอนุมูลอิสระนั้น เป็นอันตรายเพราะมันมีปฏิกิริยาโดยตลอด อนุมูลอิสระนั้น อิเล็กตรอน (electron) ของมันไม่มีคู่จับ ทั้งๆ ที่มันอยู่วงจรนอกสุดของอะตอม มันจึงไม่สงบเพราะต้องการจับคู่ มันจึงขโมยอิเล็กตรอนหรืออะตอมไฮโดรเจนทั้งหมดที่อยู่ใกล้เคียง (นี่คือปฏิกิริยาโดยตลอดของมัน) ทำให้เกิดรูที่ผนังเซลล์ และไปเปลี่ยนแปลงภาวะทางเคมีของไมโตคอนเดรีย (mitochondria) อันเป็นองค์ประกอบภายในเซลล์ ซึ่งเป็นตัวให้พลังงานแก่เซลล์ หรือไม่ก็ไปทำร้ายดีเอ็นเอ (DNA) ให้แตกออกจากนิวเคลียสของเซลล์ หากมองในแต่ละเซลล์ อันตรายที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพียงเล็กน้อยก็จริง แต่เนื่องจากปฏิกิริยาของอนุมูลอิสระนั้นเกิดขึ้นคล้ายเป็นลูกโซ่ หากมีอนุมูลอิสระเกิดขึ้นเป็นล้านๆ ตัวในแต่ละวินาทีทั่วร่างกาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงมีมาก เกิดเป็น “การอักเสบ” ในระดับเซลล์
       


       การค้นพบบทบาท “ทำร้าย” ของอนุมูลอิสระ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก อนุมูลอิสระมีสายพันธุ์ (ROS) 4 อย่างคือ (1) ซูเปอร์ออกไซด์ (superoxide) (2) ไฮโดรเจน เพอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide) (3) อนุมูลไฮดรอกซีล (hydroxyl radicals) และ (4) ซิงเกลทออกซิเจน (singlet oxygen) ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลพลอยได้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของการใช้ออกซิเจนของร่างกาย ยังผลให้เกิดความเสียหายจากออกซิเดชัน อันเป็นความเครียดเค้นต่อร่างกาย (Oxidative Stress) ในระดับเซลล์-โมเลกุล ซึ่งก่อให้เกิดโรคร้ายแรงต่างๆ โรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพส่วนใหญ่นั้น สัมพันธ์กับความเสียหายของเซลล์จากอนุมูลอิสระทั้งสิ้น เช่น โรคหลอดเลือดแข็ง เบาหวาน ต้อกระจก ข้อเสื่อม สมองเสื่อม มะเร็งเกือบทุกชนิด รวมทั้งทำให้เกิดการแก่ชราด้วย
       


       อนุมูลอิสระไปทำร้ายส่วนต่างๆ ของเซลล์ และทำให้เกิดความเสียหายหรือการอักเสบ ดังต่อไปนี้
       

       (1) ผนังเซลล์ (plasma membrane) ปกติผนังเซลล์มีรูพรุน ซึ่งเป็นช่องทางให้อาหารเข้าสู่เซลล์ และถ่ายเทของเสียออกไป อนุมูลอิสระทำให้ผนังเซลล์ฉีกรั่วหรืออุดตันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทำให้เซลล์ตายก่อนเวลาอันควร
       

       (2) ดีเอ็นเอ (DNA) เมื่ออนุมูลอิสระเข้าไปภายในเซลล์สู่นิวเคลียส มันชอบที่จะทำอันตรายดีเอ็นเอของยีน ซึ่งเป็นหน่วยเก็บข้อมูลควบคุมทางพันธุกรรม ซึ่งทำให้เซลล์สร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ได้เหมือนเดิม โดยปกติเซลล์เมื่อหมดอายุ ร่างกายก็จะสร้างขึ้นมาทดแทนใหม่ตลอดเวลา อนุมูลอิสระไปทำให้ข้อมูลการควบคุมในยีนสับสน ทำให้ไม่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ให้เหมือนเดิมได้ จนเกิดการกลายพันธุ์ขึ้นมา ปัจจุบันเชื่อกันว่า สิ่งนี้น่าจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็ง
       

       (3) ไขมันในเลือดและเนื้อเยื่อ อนุมูลอิสระสายพันธุ์ “ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์” เมื่อทำปฏิกิริยาที่เรียกว่า เพอร็อกซิเดชัน (peroxidation) จะมีอันตรายมากเมื่อเกิดกับไขมัน (lipid peroxidation) เพราะเมื่อไขมันในเลือด และในเนื้อเยื่อถูกทำร้ายด้วยไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ มันจะเป็นจุดเริ่มของกระบวนการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง (artheroscierosis) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ
       

       (4) ไมโตคอนเดรีย (mitochondria) ไมโตคอนเดรียเป็นหน่วยของเซลล์ที่ผลิตพลังงาน อนุมูลอิสระทำให้การทำงานของมันถูกขัดขวาง เซลล์จึงขาดพลังงานที่จะทำหน้าที่ เมื่อเซลล์เหล่านี้ที่มีพลังงานต่ำมีมากทั่วร่างกาย จะทำให้ร่างกายของผู้นั้นอ่อนเพลียตลอดเวลา และต่อต้านโรคได้ไม่ดี
       

       (5) ไลโซโซม (lysosome) ไลโซโซมเป็นหน่วยของเซลล์ที่ผลิตเอนไซม์ที่อยู่ภายในเซลล์ ได้รับการออกแบบให้ย่อยทุกสิ่งยกเว้นผนังที่หุ้มมัน เมื่อมันถูกทำให้เสียหายด้วยอนุมูลอิสระที่ทำให้ผนังห่อหุ้มมันแตก มันจะออกมาย่อยกินภายในเซลล์ และสิ่งที่อยู่ใกล้เคียงไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ตลอดทางที่มันไป






Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้