เคล็ดจันทร์ในบ่อกับจุดยืนทางสมาธิและการฝึกจิต
เคล็ดลับของการเป็นยอดคนและยอดฝีมือนั้นอยู่ที่คนผู้นั้นจะต้องสามารถหล่อหลอมจิตสมาธิและพลังลมปราณของตนเข้าด้วยกันให้ได้และหากจำต้องเคลื่อนไหวในการต่อสู้ก็ต้องผนึกจิต-สมาธิ-ปราณนั้นเข้ากับยุทธวิธีจนเป็นหนึ่งเดียว
หากว่าเคล็ดวิชาอมตะคือสุดยอดของเคล็ดวิชาลมปราณที่ทำให้มังกรคู่อย่างโค่วจงกับฉีจื่อหลิง (ตัวเอกจากนวนิยายเรื่องมังกรคู่สู้สิบทิศ) กลายเป็นคนละคนอย่างยอดคน
เคล็ดจันทร์ในบ่อก็คือสุดยอดของเคล็ดทางจิตและสมาธิที่ทำให้กระบวนการกลายเป็นยอดคนและยอดฝีมือของโค่วจงกับฉีจื่อหลิงสมบูรณ์
...........................
ทั้งสองคนมาถึงบ่อน้ำแห่งหนึ่งทั้งคู่กระแทกนั่งลงที่ริมรั้วกั้นขอบบ่อโค่วจงชะโงกศีรษะมองไปในน้ำขณะนั้นดึกมากแล้วเขาเห็นน้ำที่ก้นบ่อสะท้อนภาพฉายกลางเวหาต้องกล่าวว่า
นี่สมควรบอกว่าเป็นจักรวาลในบ่อที่กล่าวขวัญกันแล้ว
ฉีจื่อหลิงพลันอุทานดังเอ๊ะออกมาสร้างความสงสัยใจแก่โค่วจงจนถามว่า
ท่านมองดูจันทร์ภายในบ่อหรือ? มีอันใดน่าแตกตื่นตกใจ?
ดวงตาฉีจื่อหลิงทอแววครุ่นคิดกล่าวว่า
ข้าพเจ้าคล้ายเกาะกุมได้อันใดแต่ยากบ่งบอกออกมา
โค่วจงงงงันวูบหนึ่งค่อยก้มศีรษะมองดูเงาสะท้อนภายในบ่อใหม่ประจวบปรากฏเมฆคล้อยลอยผ่านเงาจันทร์บัดเดี๋ยวลับหายบัดเดี๋ยวปรากฎในใจพลอยบังเกิดเป็นรสชาติยากบรรยาย
ฉีจื่อหลิงส่งเสียงปานละเมอว่า
อาจารย์ของท่านแม้มักเอื้อนเอ่ยมิใช่หรือว่าทุกสรรพสิ่งเพียบพร้อมสมบูรณ์อยู่ในตัวเองบ่อน้ำนี้คือความเพียบพร้อมสมบูรณ์อยู่ในตัวเองน้ำในบ่อเปรียบเสมือนขุมพลังภายในกายผู้คนสามารถครอบครองและเปลี่ยนเป็นวัตถุธาตุต่างๆที่ต้องการได้ด้วยการสะท้อนสิ่งเหล่านั้น
เคล็ดจันทร์ในบ่อจึงเป็นเคล็ดวิชาฝีมืออันร้ายกาจแขนงหนึ่งหากผู้นั้นยามเผชิญคู่ต่อสู้แล้วยังสามารถสงบจิตใจคล้ายกับน้ำในบ่อที่สามารถสะท้อนสภาพแวดล้อมทั้งมวลได้
สภาวะจิตแบบจันทร์ในบ่อเป็นสภาวะที่ผู้นั้นสามารถขจัดความกลัวความหวาดวิตกกังวลภายในใจให้หมดไปใน ห้วงขณะนั้น ได้อย่างสิ้นเชิงจนจิตใจของผู้นั้นใสกระจ่างดุจน้ำใสภายในบ่อสามารถสะท้อนสภาพแวดล้อมทุกรูปแบบ
จิตปราศจาการคิดถึงผลแพ้ชนะไม่มุ่งมาดไม่ปรารถนาไม่หวั่นพรั่นใจไร้ความคิดไร้สิ่งกีดขวางภายในใจมองทุกสิ่งจากศูนย์กลางภายในของตัวเองออกไปอย่างไร้ตัวตนมีแต่ ความตระหนักรู้อันยิ่ง สะท้อนได้แม้กระทั่งด้านที่เร้นลับของจักรวาล
เคล็ดจันทร์ในบ่อจะฝึกได้ง่ายขึ้นหากคนผู้นั้นสามารถดื่มด่ำกับความงามของทิวทัศน์ธรรมชาติที่อยู่เบื้องหน้าได้
จงชมดูทัศนาทิวทัศน์อันตระการนั้นอย่างเคลิบเคลิ้มดื่มด่ำด้วยจิตอันสงบนิ่งจนรู้สึกราวกับว่าจิตใจจิตวิญญาณของตัวเองได้หลอมละลายไปในทิวทัศน์นั้นกระทั่งไม่มีการแบ่งเขาแบ่งเราอีก
คนคือธรรมชาติธรรมชาติคือคนในห้วงขณะนั้น! สมาธิจิตใจหลอมรวมกับสรรพสิ่งเข้าสู่ห้วงไร้ตัวตนไร้ตัวเราหากยิ่งผู้นั้นได้ฝึกวิชาลมปราณ (ชี่กง) มาด้วยแล้วการฝึกเคล็ดจันทร์ในบ่อนี้จะยิ่งให้ประโยชน์ไปจนชั่วชีวิตของผู้นั้น
(จาก มังกรคู่สู้สิบทิศ เล่ม 2)
........................
เคล็ดจันทร์ในบ่อเป็นมากกว่าการฝึกเจริญสติซึ่งก็เป็นการฝึกที่สำคัญยิ่งในการดำเนินชีวิตแต่การมีสติการใช้สติพิจารณาความคิดและทุกๆการกระทำของตัวเองยังไม่ใช่สุดยอดและปลายทางของการฝึกจิต
เพราะในการเจริญสติยังเป็นการกระทำอยู่และยังมีตัวผู้นั้นกำลังเป็นผู้พิจารณาผู้เจริญสติอยู่จึงยังมีอัตตาตัวตนอยู่เพราะจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เรียกว่า การเจริญสติ นี้ยังมีการแบ่งแยกออกเป็นคู่ระหว่างผู้รับรู้กับสิ่งที่ถูกรับรู้โดยที่ผู้รู้เป็นองค์ประธานแห่งการกระทำในการเจริญสตินั้น
การเจริญสติยังเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับสิ่งที่ถูกกระทำหรือระหว่างผู้รับรู้กับสิ่งที่ถูกรับรู้อยู่แต่สภาวะจิตที่เพียบพร้อมสมบูรณ์อยู่ในตัวเองดุจบ่อน้ำใสที่สะท้อนจันทร์หรือแม้แต่จักรวาลได้ไม่ใช่เช่นนั้นและเป็นมากกว่านั้น
เพราะในภาวะของจิตดุจจันทร์ในบ่อมันจะไม่มีผู้กระทำใดๆและก็ไม่มีสิ่งที่ถูกกระทำใดๆมันไม่มีผู้รับรู้ใดๆและก็ไม่มีสิ่งที่ถูกรับรู้ใดๆด้วยมันจึงไม่มีผู้กำลังเจริญสติพิจารณาไม่ว่าจะเป็นใครและก็ไม่มีใครหรือสิ่งใดที่กำลังถูกพิจารณาด้วยเช่นกัน
อาจกล่าวได้ว่าภาวะจิตดุจจันทร์ในบ่อเป็นบูรณาการแห่งการกระทำและธรรมทั้งปวงมันจึงมิได้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับสิ่งที่ถูกกระทำใดๆทั้งสิ้นแต่สิ่งเหล่านี้ได้ถูกหลอมรวมจนสูญสิ้นซึ่งอัตลักษณ์แห่งตนไม่มีตัวตนอัตลักษณ์ของใครและก็ไม่มีสิ่งใดที่ถูกจับจ้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ
การปรากฏของภาวะจิตดุจจันทร์ในบ่อจึงมีลักษณะเป็นแบบทั้งหมดทั้งสิ้นมันเป็นปรากฏการณ์เดี่ยวของผู้กระทำและสิ่งที่ถูกกระทำที่กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันอย่างทั้งหมดทั้งสิ้นในขณะที่การเจริญสติยังมีความเป็นคู่ระหว่างผู้กระทำกับสิ่งที่ถูกกระทำดำรงอยู่อย่างชัดเจนแต่คนทั่วไปยากที่จะเข้าถึงภาวะจิตดุจจันทร์ในบ่อได้ถ้าหากไม่ฝึกเจริญสติให้ได้เสียก่อน
การเจริญสติจึงเป็นการถมช่องว่างระหว่างการขาดสติ (ไม่ได้พิจารณาเห็น ความคิด ของตัวเอง) กับภาวะจิตที่เพียบพร้อมสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง
การเจริญสติจึงเป็นวิธีการอย่างหนึ่งและเป็นวิธีการที่สำคัญยิ่งในการไปสู่ภาวะจิตที่เพียบพร้อมสมบูรณ์อยู่ในตัวเองดุจจันทร์ในบ่อแต่การเจริญสติยังไม่ใช่ภาวะจิตดุจจันทร์ในบ่ออยู่ดี
ผู้มีสติย่อมประเสริฐกว่าผู้ขาดสติแต่ผู้ที่อยู่ในภาวะจิตที่เพียบพร้อมสมบูรณ์อยู่ในตัวเองย่อมประเสริฐยิ่งกว่าผู้มีสติสมบูรณ์เสียอีก
อย่างไรก็ดีผู้มีสติสมบูรณ์ย่อมเข้าถึงภาวะจิตดุจจันทร์ในบ่อได้ง่ายกว่าผู้มีสติบกพร่องเมื่อใดที่ผู้มีสติสมบูรณ์พิจารณาการกระทำทุกอย่างของตนเองจนกระทั่งถึงจุดหนึ่งที่ไม่มีเส้นแบ่งแยกระหว่างผู้พิจารณากับสิ่งที่กำลังถูกพิจารณาเมื่อนั้นก็จะสามารถเข้าถึงภาวะจิตดุจจันทร์ในบ่อที่เป็นแค่ การตระหนักรู้อันบริสุทธ์ ได้
ภาวะจิตที่เพียบพร้อมสมบูรณ์อยู่ในตัวเองดุจจันทร์ในบ่อนี้เป็นเป้าหมายแห่งการฝึกจิตของเซนโดยเรียกภาวะจิตเช่นนี้ว่าการตื่นอย่างพุทธะ
จิตสำนึกนำไปสู่การเจริญสติได้ฉันใดการเจริญสติย่อมนำไปสู่การตื่นอย่างพุทธะได้ฉันนั้นแต่การตื่นอย่างพุทธะจะไม่นำไปสู่อะไรทั้งสิ้นเพราะไม่มีอะไรอีกแล้วที่จะต้องไปบรรลุไปเข้าถึง
การตื่นอย่างพุทธะจึงเป็นปลายทางสิ้นสุดแห่งวิวัฒนาการทางจิตของผู้นั้นดุจวงกลมที่ไร้ซึ่งศูนย์กลางและมีความเพียบพร้อมสมบูรณ์อยู่ในตัวมันเอง
จิตดุจจันทร์ในบ่อเป็นจิตของเซนและเป็นจิตของพุทธะอันเป็นระดับจิตของ ธรรมจิต (Spirit) แต่การเข้าใจว่าระดับจิตของพุทธะเป็นปลายทางสิ้นสุดหรือระดับที่สูงสุดในวิวัฒนาการของจิตก็ยังเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น!
ทั้งนี้เพราะพุทธะหรือธรรมจิตไม่มีทางจะเป็นแค่สิ่งที่แฝงเร้นฝังจมอยู่ในก้นบ่อที่ลึกที่สุดของจิตไร้สำนึกของคนเราที่รอการขุดค้นพบเจอและก็มิใช่ขุมทรัพย์ที่อยู่บนยอดเขาสูงสุดที่รอการปีนป่ายจากมนุษยชาติเซนไม่เคยเข้าใจพุทธะหรือธรรมจิตอย่างด้านเดียวเช่นนั้น
ในทางตรงกันข้ามเซนกลับเห็นว่าระดับจิตของพุทธะ (ธรรมจิต) คือสภาวะอันปกติและปัจจุบันของคนเรานี่แหละจิตแห่งพุทธะอันไร้ขอบเขตไร้ประมาณที่ครอบคลุมทุกสรรพสิ่งจักต้องดำรงอยู่ในทุกๆระดับแห่งสภาวะของจิตเท่าที่จะคาดนึกได้
จิตแห่งพุทธะและนิพพานย่อมไม่มีทางที่จะเป็นระดับจิตพิเศษเฉพาะที่ตัดขาดแยกต่างหากออกมาจากระดับจิตขั้นอื่นๆของมนุษย์แต่จะต้อง ไม่มีระดับ หรือ ดำรงอยู่ในทุกระดับ ด้วยเพราะการไปจำกัดจิตของพุทธะให้ดำรงอยู่แค่ที่ระดับใดระดับหนึ่งแม้จะเป็นระดับที่สูงสุดก็ตามมันเท่ากับไปทำลายจิตของพุทธะมิให้เป็นจิตของพุทธะอันไร้ขอบเขตไร้ประมาณครอบคลุมทั้งหมดอีกต่อไป
ธรรมจิตเป็นความจริงอันปรมัตถ์ที่ไร้มิติไร้กาลเวลาที่ระดับจิตแต่ละระดับเป็นแค่ความบ่ายเบนเชิงมายาออกจากตัวมันที่ดำรงอยู่ในทุกที่และครอบคลุมทุกสิ่งเอาไว้ทั้งหมดเพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นสภาวะจิตใดๆในปัจจุบันของเราคือไม่ว่าจะเป็นความสุขความเศร้าความหดหู่ความปราโมทย์ความโกรธความสงบความกลัวความอยากสภาวะจิตเหล่านี้สภาวะจิตอย่างที่เป็นอยู่นี้ล้วนแล้วแต่ดำรงอยู่ในจิตของพุทธะหรือธรรมจิตในสายตาของเซน
สำหรับเซนแล้วพุทธะหรือนิพพานมิใช่ประสบการณ์พิเศษมิใช่ระดับจิตหรือสภาวะทางวิญญาณที่พิเศษเฉพาะในห้วงเวลาใดเวลาหนึ่งแต่อย่างใดแต่มันดำรงอยู่ในทุกระดับจิตที่เราเป็นในขณะที่ตัวเรามีความตระหนักรู้อันยิ่งและตั้งมั่นอยู่ในศูนย์กลางของเราอันสงบศานติท่ามกลางความปั่นป่วนของสภาวะอารมณ์และสภาวะจิตใจทุกประเภทที่ย่ำแย่เอามากๆ
เซนจึงบอกว่าพุทธะไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวและนิพพานไม่ใช่เรื่องของโลกหน้าอันไกลโพ้นแต่มันเป็นเรื่องของจิตสำนึกอันปกติประจำวันของคนเรานี่แหละ
จริงอยู่ที่ในบางช่วงของชีวิตคนเราเพื่อแสวงหาพุทธะเพื่อเข้าถึงพุทธะพวกเขาจึงเก็บตัวหรือตัดขาดจากโลกไปพักหนึ่งแต่เมื่อพวกเขาได้เข้าถึงความจริงแห่งพุทธะแล้วพวกเขาก็จะกลับมาอีกและดำเนินชีวิตตามแนวของพระโพธิสัตว์ผู้แลเห็นความเป็นพุทธะดำรงอยู่ในทุกที่ทุกสิ่งและทุกคนไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรกิจกรรมใดอิริยาบถใดหรือประสบกับทุกขเวทนาเพียงไหนพวกเขาก็จะตระหนักรู้อยู่แก่ใจดีเสมอว่า
แล้วทุกอย่างก็จะดีเองเพราะถึงอย่างไรกายนี้ก็คือกายของพุทธะและโลกนี้ก็คือการเผยตัวออกมาของธรรมจิตความเปลี่ยนแปลงใดๆที่เกิดขึ้นจักไม่ทำให้จิตใจของเราหวั่นไหวได้
เนื่องจากพุทธะหรือธรรมจิตดำรงอยู่ในทุกที่และทุกเมื่อมันจึงดำรงอยู่แล้วสมบูรณ์เพียบพร้อมอยู่แล้วอย่างที่ไม่จำเป็นจะต้องออกไปแสวงหาที่ไหน
เพราะการออกไปแสวงหาซึ่งหมายถึงการเคลื่อนที่ออกจากที่ไม่มีไปเสาะหาที่ที่มีซึ่งมันไม่มีจริงหรือเท่ากับปฏิเสธความจริงของพุทธะดังข้างต้นมันเป็นความหลงผิดหรืออวิชชาของผู้แสวงหาคนนั้นเองต่างหากที่คิดว่าไม่มีพุทธะในที่ที่มันมีพุทธะอยู่แล้วเพราะไม่มีที่ไหนที่เป็นที่พิเศษเฉพาะให้พุทธะดำรงอยู่หรอกแต่พุทธะดำรงอยู่ในทุกที่และทุกขณะ
พุทธะหรือธรรมจิตที่ดำรงอยู่ในทุกระดับนี้จึงเป็นสิ่งที่คนเราไม่อาจบรรลุได้ (เพราะเป็นอยู่แล้ว) แต่ก็ไม่อาจหนีจากมันไปได้เช่นกันเหตุที่คนเราค้นหาพุทธะของตนไม่พบก็มีด้วยเหตุง่ายๆว่าก็เหมือนกับที่ดวงตาของเราย่อมไม่สามารถเห็นดวงตาของเราโดยตรงเองได้ต้องมองผ่านกระจกนั่นเองฉันใดก็ฉันนั้นคนเราย่อมไม่อาจบรรลุในสิ่งที่ตัวเราเป็นสิ่งนั้นตั้งแต่เริ่มแรกอยู่แล้วได้
สิ่งที่คนเราทำได้คือการระลึกรู้ตระหนักรู้จำได้เท่านั้นหาใช่การแสวงหาใดๆไม่หรืออุปมาดั่งการหาสิ่งที่ไม่ถูกต้องในภาพไหนหนึ่งซึ่งอยู่ตรงหน้าเรามันดำรงอยู่ก่อนแล้วตรงนั้น!แต่เราอาจต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะสังเกตเห็นได้ว่าตรงไหนคือส่วนที่ไม่ถูกต้องในภาพนั้นสิ่งที่ทำให้เราเสียเวลาค้นหาก็เพราะเรายังไม่ตระหนักรู้สังเกตเห็นได้เท่านั้น
เพราะพุทธะหรือธรรมจิตเป็นสภาวะที่เราเป็นมันอยู่แล้วเราจึงไม่เคยต้องบรรลุถึงมันความพยายามใดๆในการแสวงหาพุทธะผลสุดท้ายย่อมล้มเหลว! เพราะการแสวงหาตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่าเราจะพบมันในวันข้างหน้าหรือในอนาคตแต่ไม่ใช่ขณะนี้
ขณะที่พุทธะหรือธรรมจิตไม่เคยรู้อดีตรู้อนาคตรู้เวลาเพราะพุทธะคือปัจจุบันอันไร้เวลา พุทธะไม่เคยดำรงอยู่ในที่ไหนนอกจากดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะอันปราศจากเวลานี้เท่านั้นการแสดงหาพุทธะภายใต้มิติของเวลาจึงถูกกับดักของเวลาจองจำอย่างยากที่จะดิ้นหลุดไปได้ไมว่าคนผู้นั้นจะปฏิบัติธรรมด้วยแนวทางใดหรือของสำนักใดก็ตามเพราะเขาผู้นั้นปฏิบัติธรรมโดยตั้งอยู่บนข้อสมมุติฐานที่ผิดพลาดตั้งแต่แรกแล้ว
เหตุที่ผิดพลาดก็เพราะพวกเขาไม่เข้าใจว่าพุทธะไม่ใช่วัตถุที่อยู่นอกตนและนิพพานมิใช่ภพภูมิหรือโลกอื่นที่อยู่นอกตนพวกเขาแสวงหาพุทธะแสวงหานิพพานโดยไม่ได้ตระหนักว่าสิ่งที่พวกเขากำลังแสวงหานั้นมิใช่สิ่งอื่นใดนอกจากตัวผู้รู้ตัวผู้เห็นและตัวผู้แสวงหานั่นเองซึ่งไม่มีทางที่จะเป็นเป้าหมายภายนอกให้ถูกรู้ถูกเห็นถูกบรรลุถึงได้เลย
เพราะคนเราย่อมไม่อาจะเห็นตัวเราเองได้จริงๆได้ด้วยประสาทสัมผัสภายนอกหรือด้วยความคิดด้วยมโนทัศน์ใดๆก็ตามสิ่งที่ตัวเราเองหลงผิดติดว่าเราได้เห็นตัวเราจริงๆนั้นที่แท้ก็เป็นความรู้สึกที่เกิดจากผัสสะหรือประสาทสัมผัสของเราหรือไม่ก็เป็นทัศนะความคิดความเห็นเกี่ยวกับตัวเราต่างหากหาใช่ตัวตนที่แท้จริงของเราไม่
ความจริงอันนี้ผู้คนส่วนใหญ่กลับมิได้ตระหนักทั้งๆที่มันแจ่มชัดเหลือเกินหรืออาจเป็นเพราะว่ามันแจ่มชัดเกินไปจนไม่ได้เฉลียวใจก็ว่าได้กล่าวคือทั้งๆที่คนเราไม่อาจได้ยินผู้ได้ยินไม่อาจผู้ดมไม่อาจรู้สึกผู้รู้สึกไม่อาจเห็นผู้เห็นไม่อาจสัมผัสผู้สัมผัสแต่เรากลับนึกว่าเราทำได้!
เรากลับแยกตัวเราเองออกจากสิ่งที่ถูกเห็นถูกได้ยินถูกดมถูกรู้สึกถูกสัมผัสจนเกิดสภาวะทวิภาพชั้นปฐมภูมิ (Primary Dualism) ขึ้นมาทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วผู้เห็น (subject) กับสิ่งที่ถูกเห็น (object) ก็ไม่ได้แยกขาดจากกันจริงผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ก็มิใช่สองสิ่งหรือคนละสิ่งกัน
เพราะผู้รู้เป็นสิ่งเดียวกับสิ่งที่มันรู้มันเห็นความรับรู้มาจากการที่สิ่งที่ถูกรู้นั้นดำรงอยู่ในตัวผู้รู้เหมือนกับที่ผู้อ่านกำลังอ่านข้อเขียนนี้บนหน้ากระดาษนี้กำลังเป็นหนึ่งเดียวกับกระดาษหน้านี้อยู่กระดาษหน้านี้ที่ถูกเห็นกับการเห็นหน้ากระดาษนี้ความจริงเป็นสองชื่อของข้อเท็จจริงเดียวที่ไม่อาจแบ่งแยกกันได้
การที่เซนกล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่ากระดาษหน้านี้มิได้ดำรงอยู่จริงในเชิงภาวะวิสัยแต่เซนต้องการจะบอกว่าสำหรับผู้รู้แล้วกระดาษหน้านี้ในฐานะเป็นสิ่งที่ถูกรู้มันมิได้ดำรงอยู่ในฐานะที่เป็นวัตถุภายนอกการรับรู้ของตนหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าในจิตของเซนมันไม่มีช่องว่างไม่มีระยะห่างดำรงอยู่ระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ต่างหาก
เพราะฉะนั้นเซนถึงกล้าที่จะบอกว่าขณะนี้...ขณะที่ท่านผู้อ่านกำลังอ่านข้อเขียนนี้อยู่สิ่งที่อยู่ในตัวท่านผู้อ่านที่รู้ที่เห็นที่อ่านข้อเขียนนี้อยู่นี่แหละคือพุทธะคือธรรมจิตซึ่งไม่สามารถเห็นหรือรับรู้ในฐานะที่เป็นวัตถุภายนอกตัวเองได้!
สิ่งที่ถูกเห็นถูกรับรู้ได้คืออัตตา(ego) ของเราแต่มิใช่จิตเดิมของเรามิใช่ธรรมจิตหรือพุทธะในตัวเราขณะที่สิ่งที่กำลังกระทำการรับรู้กระทำการเห็นอยู่คือธรรมจิตการเป็นหนึ่งเดียวกับบางสิ่งคืออัตตาแต่การเป็นหนึ่งเดียวกับทุกสิ่งคือจิตเดิมหรือธรรมจิตเมื่อใดก็ตามที่คนเราแยกตนออกจากทุกสิ่งมาเป็นเอกเทศเมื่อนั้นจึงเกิดตัวตนเกิดอัตตาและเป็นที่มาของสังสารวัฏ
หากท่านผู้อ่านที่กำลังอ่านข้อเขียนนี้อยู่เกิดตัดสินใจที่จะข้ามพ้นอัตตาตัวตนของตนเพื่อลองค้นหาดูสิว่ามีใครที่กำลังอ่านกำลังเห็นกระดาษหน้านี้อยู่กันแน่เขาก็จะพบว่าเขาไม่สามารถหาผู้รู้ผู้เห็นใดๆได้เขาจะพบแต่กระดาษหน้านี้เท่านั้น! ตัวเขาที่เป็นผู้รู้ผู้เห็นกระดาษหน้านี้ความจริงเป็นหนึ่งเดียวกันในขณะนี้
หากมีช่องว่างเกิดขึ้นระหว่างผู้อ่านกับกระดาษหน้านี้นั่นก็เป็นช่องว่างอันเดียวกับที่เกิดขึ้นระหว่างตัวผู้อ่านกับ ปัจจุบันขณะ นี้เช่นกัน เพราะฉะนั้นถ้าหากผู้อ่านสามารถดำรงชีวิตอย่างเต็มเปี่ยมใน ปัจจุบันขณะ นี้ได้ผู้อ่านกับกระดาษหน้านี้ก็จะเป็นหนึ่งเดียวกันและในทางกลับกันหากผู้อ่านเป็นหนึ่งเดียวกับกระดาษหน้านี้อยู่ผู้อ่านก็จะอยู่ใน ปัจจุบัน เช่นกันด้วยและนี่คือสภาวะของจิตแบบเซน... แบบจันทร์ในบ่อ
คนเราจึงไม่มีทางค้นพบพุทธะหรือธรรมจิตโดยผ่านที่ว่าง (space) ด้วยการไปแสวงหามันข้างนอกตนหรือไปค้นหามันในที่ที่มีระยะห่างจากตนและในขณะเดียวกันคนเราก็ไม่มีทางค้นพบพุทธะหรือธรรมจิตโดยผ่านเวลาด้วยการคาดหวังว่าจะค้นพบมันหรือบรรลุถึงมันในอนาคตข้างหน้า
ทั้งนี้ก็เพราะว่ามันไม่มีวิถีที่จะไปสู่ ที่นี่ และก็ไม่มีวิถีที่จะไปสู่ เดี๋ยวนี้, ขณะนี้ สิ่งที่แสวงหาจนค้นพบในมิติแห่งเวลามันย่อมอนิจจังไม่เที่ยงและไม่มีทางเป็นความจริงสูงสุดได้ผู้คนส่วนใหญ่มักคิดไปว่าตัวเองปฏิบัติธรรมไม่เพียงพอจึงยังไม่รู้แจ้งแต่ถ้ามุ่งมั่นปฏิบัติธรรมให้มากเข้าสักวันหนึ่งข้างหน้าก็คงรู้แจ้งเอง
ทัศนะเช่นนี้เป็นทัศนะที่ไม่ถูกต้องในสายตาของเซนเพราะการรอความรู้แจ้งในวันข้างหน้าบ่งชี้ว่าวันนี้ผู้นั้นขาดความรู้แจ้งและการรอนิพพานก็เป็นการบ่งบอกว่าขณะนี้ผู้นั้นยังไม่นิพพานขณะที่เซนบอกว่านิพพานเข้าสู่ไม่ได้เพราะนิพพานดำรงอยู่ในทุก ปัจจุบันขณะและสภาวะใดที่เข้าสู่ได้ย่อมเป็นสภาวะชั่ว- คราวเท่านั้น
ถ้าไม่พบนิพพานใน ปัจจุบันขณะ นี้ก็จะไม่ได้พบมันเลยการทำสมาธิมีหลายรูปแบบหลายวิธีก็จริงแต่สมาธิที่ทำให้เข้าสู่สภาวะใดๆแม้เป็นสภาวะแห่งจิตอันละเอียดเพียงไหนก็ยังเป็นสภาวะชั่วคราวที่ต้องออกมาอยู่ดีสมาธิเหล่านี้จึงยังไม่ใช่สมาธิที่ยิ่งใหญ่ที่แท้จริงสำหรับเซนสมาธิรูปแบบต่างๆในสายตาของเซนจึงเป็นอุบายในการหลอกตนเองของผู้ปฏิบัติให้ไปค้นหาหรือแสวงหาในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่แล้วเป็นอยู่แล้วโดยไม่เคยสูญเสียมันไปเพียงแต่ผู้นั้นยังไม่ตระหนักรู้เท่านั้น!
จุดยืนทางสมาธิอันล้ำลึกเช่นนี้ของเซนแม้ในปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ค่อยเป็นที่เข้าใจในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรมและผู้สนใจทางจิตซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเหลือเกิน