บทที่ 3 มังกรน้อยแซ่ลี้

บทที่ 3 มังกรน้อยแซ่ลี้






บทที่ 3 มังกรน้อยแซ่ลี้

 

ผมใช้เวลานานพอควรทีเดียว กว่าที่ผมจะตระหนักว่า

          วิถีชีวิตที่ผมเลือกเดินมาในช่วง 10 กว่าปีนั้น

          จริงๆ แล้วจัดอยู่ในแนวทางเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกนี้..

          ผมมีความเห็นว่าคนที่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้

          และมีชีวิตอยู่เพื่อคุณธรรม ความดีงาม                         

          ไม่ว่าจะเป็นเขาหรือเธอ ล้วนแล้วแต่เป็นมังกร

          ในสายตาของผมทั้งสิ้น โดยไม่จำเป็นว่าพวกเขาเหล่านั้น

          หรือพวกเธอเหล่านั้นจะต้องมีพลังฝีมือหรือไม่ด้วย

          เพราะถึงแม้ในมือของพวกเขาไม่มีกระบี่

          แต่ใจของพวกเขาก็เป็นกระบี่ไปแล้ว และถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว

          “มังกรจะสูญสิ้นไปจากโลกนี้ได้อย่างไรกัน

         
        โลกนี้จะไม่สิ้นมังกร
!! 

        DRAGONS ARE FOREVER !!

       สุวินัย ภรณวลัย จากหนังสือมวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

 


         นับตั้งแต่ที่ผมได้ทราบข่าวว่าทางฮอลลีวู้ดได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง “DRAGON – THE BRUCE LEE STORY” ออกมาผมก็ตั้งใจไว้แล้วที่จะเขียนถึงเขา’ (บรู๊ซ ลี ชาตะ ค.. 1940 – มรณะ ค.. 1973) และยิ่งเมื่อผมได้มีโอกาส ไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้เมื่อสองวันก่อน ผมก็ยิ่งรู้สึกว่าจะต้องเขียนถึงเขาให้ได้ ผมอยากจะเขียนถึงบรู๊ซ ลี ในทัศนะของผมกับบรู๊ซ ลี ที่ผมได้รับรู้จากภาพยนตร์ เรื่อง “DRAGON” นี้

        ในบรรดาดาราภาพยนตร์ชายที่ส่งผลสะเทือนทางวัฒนธรรมและ วิถีการใช้ชีวิตต่อคนร่วมสมัยของพวกเขาในยุคทศวรรษที่ 1960 – 1970 นั้น ยิ่งถ้าเป็นวงการเพลงก็คงเห็นจะไม่มีใครเกิน เอลวิส เพลสลี่ ที่ยังคงมีอิทธิพล อย่างลึกซึ้งและยาวนานมาจนถึงปัจจุบันนี้ และถ้าเป็นวงการศิลปะการต่อสู้ (MARTIAL ARTS) ก็คงจะไม่เห็นมีใครโดดเด่นและฝังตรึงในความทรงจำมาก ไปกว่าบรู๊ซ ลี

        บรู๊ซ ลี เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการฮอลลีวู้ด ช่วงครึ่งหลังของทศวรรษที่  1960 เมื่อเขารับบทบาทเป็นคาโต้ชาวญี่ปุ่นผู้มีฝีมือคาราเต้และเป็นผู้ช่วย ของหน้ากากแตนในหนังโทรทัศน์ที่ฉายเป็นตอนๆเรื่อง “GREEN HORNET” แต่ความสำเร็จที่แท้จริงของบรู๊ซ ลี ในฐานะดาราภาพยนตร์ผู้เป็นมวยจริงๆ นั้น เริ่มต้นจากภาพยนตร์ฮ่องกงของโกลเด้นฮาร์เวสต์เรื่องไอ้หนุ่มซินตึ้ง THE BIG BOSS” ที่มาถ่ายทำในประเทศไทยเกือบทั้งเรื่องในปี ค.. 1971

        บรู๊ซ ลี มาดังเป็นพลุระเบิดในภาพยนตร์ เรื่องที่สองของเขาเรื่อง “FISTS OF FURY” (..1972) ที่ตัวเขาเล่นเป็นเฉินเซินศิษย์เอกของอาจารย์ ฮั่วหยวนเจี่ย (มีตัวตนจริง) เจ้าสำนักจิ่งอูกวนอันลือชื่อของเมืองเซี่ยงไฮ้ในช่วง ต้นศตวรรษที่ 20 ผู้ถูกลอบวางยาพิษโดยสมุนของชาวยุทธ์ญี่ปุ่นผู้เคยพ่ายแพ้ ในการประลองฝีมือกับฮั่วหยวนเจี่ยมาแล้ว (ชีวประวัติของ ฮั่วหยวนเจี่ย เคยถูก สร้างเป็นหนังโทรทัศน์ฉายในเมืองไทยภายใต้ชื่อนักสู้ผู้พิชิตมาแล้ว) ในเรื่อง นี้บรู๊ซ ลี ได้ทำการล้างแค้นให้กับอาจารย์ของเขาโดยต่อสู้กับจักรวรรดินิยม ญี่ปุ่นด้วยสองมือเปล่ากับกระบองสองท่อน (กระบองสองท่อนหรือนุนจักกุนี้ ต่อมาได้กลายเป็นอาวุธฮิตระดับโลกอยู่พักหนึ่งเพราะอิทธิพลของหนังเรื่องนี้) ก่อนที่เขาจะถูกพวกจักรวรรดินิยมชาติอื่นๆ รุมยิงตายในตอนจบ ผมคิดว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้คงมีผลสะเทือนต่อกระแสการต่อต้านภัยเหลืองหรือสัตว์ เศรษฐกิจญี่ปุ่นในเอเชียอาคเนย์ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 ไม่น้อยเลยทีเดียว

 

 
 

         ภาพยนตร์เรื่องที่สามของบรู๊ซ ลี คือเรื่อง “THE WAY OF THE DRAGON” (1972) ในเรื่องนี้เขาเล่นเป็นจอมยุทธ์กังฟูหนุ่มซึ่งถูกเรียกตัวไปประเทศอิตาลี เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนจีนกลุ่มหนึ่งที่ประกอบธุรกิจภัตตาคารอาหารจีนที่นั่น และได้รับการรังควานจากกลุ่มมาเฟีย ความฮือฮาของหนังเรื่องนี้คงอยู่ที่ ฉากสุดท้ายเป็นการต่อสู้ด้วยสองมือเปล่าอย่างยุติธรรมระหว่างบรู๊ซ ลี กับนัก คาราเต้ฝรั่งผิวขาว กับความน่ารักของเหมียวเข่อซิ่วนางเอกของภาพยนตร์ เรื่องนี้ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญกันในขณะนั้นว่าได้มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับบรู๊ซ ลี ในเวลาต่อมา




        ส่วนเรื่องที่สี่ และเป็นเรื่องสุดท้ายของภาพยนตร์ที่บรู๊ซ ลี เล่นอย่าง สมบูรณ์ตลอดเรื่องคือ “ENTER THE DRAGON” (1973) ภาพยนตร์เรื่องนี้ผลิต โดยฮอลลีวู้ดและทำให้บรู๊ซ ลี โด่งดังระดับโลกแม้เขาจะตายไปแล้ว ในเรื่องนี้ เขาเล่นเป็นชายหนุ่มผู้ฝึกวิทยายุทธ์จากวัดเส้าหลินที่ได้รับมอบหมายให้ไป ทำลายแก๊งอิทธิพลชาวจีนในเกาะโดดเดี่ยวแห่งหนึ่งที่กำลังเตรียมจัดการ ประลองยุทธ์ทั่วโลกที่เกาะแห่งนั้นเป็นฉากบังหน้าเพื่อเจรจาธุรกิจผิด กฎหมายกับพวกมาเฟียทั่วโลกและเขายังต้องการตามหาฆาตกรผิวขาว ผู้ฆ่าข่มขืนน้องสาวของเขาด้วย ฉากที่ฮือฮามากของภาพยนตร์เรื่องนี้คือฉาก ที่บรู๊ซ ลี กระโดดใช้สองเท้ากระทืบหน้าอกของนักคาราเต้ฝรั่งที่เคยฆ่าข่มขืน น้องสาวของเขาจนตายคาเท้า กับฉากที่บรู๊ซ ลี ถูกล่อให้ไปอยู่ในห้องที่มีกระจก รอบด้านและมีหัวหน้าผู้ร้ายแอบซ่อนอยู่ข้างหลัง


       

บรู๊ซ ลี เสียชีวิตอย่างกะทันหันภายหลังจากถ่ายทำหนังเรื่อง
“ENTER THE DRAGON” เสร็จได้ไม่นานนัก ตามข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ในช่วงนั้นกล่าวว่า การตายของเขาเป็นการตายในลักษณะที่ตายคาอกในระหว่างที่กำลังอยู่กับดาราสาวเซ็กซี่คนหนึ่งของวงการฮ่องกงสองต่อสอง ในห้องพักทำให้ภาพยนตร์ที่เขากำลังถ่ายทำอยู่เรื่อง “GAME OF DEATH” ไม่อาจสำเร็จสมบูรณ์ได้ อย่างไรก็ตามการตายของบรู๊ซ ลี ในวัยหนุ่มเพียง 32 ปี มิหนำซ้ำยังเป็นช่วงที่เขากำลังรุ่งโรจน์สุดขีดในชีวิตก็ได้ทำให้ตัวเขาและ เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเขากลายเป็นตำนาน’ (LEGEND) ดุจ เจมส์ ดีน ที่เขา ชื่นชมสำหรับวงการฮอลลีวู้ดและวงการ MARTIAL ARTS ของอเมริกาไป เรียบร้อยแล้ว

 
 

อะไรคือเสน่ห์ในตัวของบรู๊ซ ลี ในภาพยนตร์หลักๆ สี่เรื่องที่เขาได้เล่น เป็นตัวเอก

        เสน่ห์ประการแรก ของเขาในภาพยนตร์คือเขาเป็นตัวแทนของ ชาวจีนอพยพ ที่ถูกรังแกและถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นที่ ชาวจีนอพยพไปตั้งรกราก!!

        อย่างในเรื่อง THE BIG BOSS บรู๊ซ ลี เล่นเป็นไอ้หนุ่มซินตึ้ง’ (ผู้อพยพ ชาวจีนซึ่งมาทำงานในเมืองไทยที่โรงน้ำแข็งในฐานะที่เป็นกุลีและต้องต่อสู้ กับเจ้านายใหญ่ผู้ค้ายาเสพติดเพื่อแก้แค้นให้กับเพื่อนรุ่นพี่ในโรงงานน้ำแข็ง ที่ดีกับเขาแต่กลับถูกฆ่าตายอย่างทารุณ แม้ว่าตัวเขาจะต้องถูกตำรวจจับกุมไป ต้องโทษในตอนจบก็ตาม แต่สิ่งที่บรู๊ซ ลี แสดงในหนังเรื่องนี้ก็คือเขาเล่นเป็น ตัวแทนกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคมมิหนำซ้ำพวกนี้ยังเป็น คนจีนอพยพ (คนจีนโพ้นทะเล) อีกด้วย อนึ่งยูนิฟอร์มกังฟูที่บรู๊ซ ลี ทำให้เผยแพร่ ในปัจจุบันอันเป็นเสื้อกล้ามคอกลมแขนสั้นสีขาวกับกางเกงผ้าฝ้ายขายาวสีดำ หลวมๆ นั้น ที่แท้ก็คือชุดทำงานของกุลี’ (จีนใต้) ในสมัยก่อนนั่นเอง เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจหรอกที่เนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้จึงกินใจของผู้ชมชาว ฮ่องกงซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนจีนอพยพเช่นกันและคงเคยมีประสบการณ์ที่ต้อง อดทนกับการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างบ้างไม่มากก็น้อย

        เสน่ห์ประการที่สอง ของเขาในภาพยนตร์คือเขาเป็นตัวแทนของสำนัก แห่งความเป็นชาตินิยมของคนจีนทั่วโลก !!

        อย่างในเรื่อง FISTS OF FURY มีอยู่ฉากหนึ่งที่บรู๊ซ ลี จะเดินเข้าไป ในสวนสาธารณะในนครเซี่ยงไฮ้แต่ถูกยามห้ามเข้าพร้อมกับชี้ให้ดูแผ่นป้าย ที่ติดไว้ข้างทางเข้าว่าสวนสาธารณะแห่งนี้เปิดบริการสำหรับคนต่างชาติ เท่านั้นชาวจีนกับสุนัขห้ามเข้า!!” (ได้ฟังมาว่าป้ายเช่นนี้เคยมีอยู่จริงในสมัยนั้น) ด้วยความโกรธ บรู๊ซ ลี ถึงกับกระโดดตัวลอยขึ้นเตะป้ายแผ่นนี้จนหักเป็นสอง ท่อนประกอบกับเรื่องทั้งเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้บรรยายภาพของคนญี่ปุ่น ในฐานะที่เป็นศัตรูผู้รุกรานจีนจึงทำให้หนังเรื่องนี้ปลุกเร้าจิตสำนึกแห่งความ เป็นชาตินิยมของจีนทั่วโลกเป็นอย่างมาก และทำให้ บรู๊ซ ลี กลายเป็นขวัญใจ ของทุกคนที่ต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมดุจ เช กูวาร่า เพราะในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 ยังเป็นยุคสมัยที่ลัทธิชาตินิยมขบวนการปลดปล่อยประชาชาติการ ต่อต้านสงครามเวียดนาม กลุ่ม OPEC ซึ่งเป็นชาตินิยมทางด้านทรัพยากร กำลังเฟื่องฟูอยู่

        เสน่ห์ประการที่สาม ของเขาในภาพยนตร์คือเขาเป็นตัวแทนของ  ‘ฮีโร่แห่งโลกตะวันออก !!

        อย่างในเรื่อง “THE WAY OF THE DRAGON”  และเรื่อง “ENTER THE DRAGON” บรู๊ซ ลี ได้นำเสนอตัวเขาเองในฐานะที่เป็นศิลปินแห่งศิลปะ การต่อสู้กังฟู’ (MARTIAL ARTIST) ผู้ใช้ชีวิตเรียบง่าย ถ่อมตน ควบคุม พฤติกรรมทางเพศ และมีความเอาจริงเอาจังกับการฝึกวิทยายุทธ์ถึงระดับ ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญในชีวิตของเขา นอกจากนี้ยังเป็นนักสู้ ที่ปฎิเสธการใช้อาวุธรุนแรงเช่นปืนหรือของมีคมเช่นดาบแต่กลับนิยมต่อสู้ ด้วยมือเปล่าอย่างขาวสะอาด  ซึ่งผมเห็นว่าเป็นลักษณะต่อต้านอารยธรรม ปัจจุบันที่นิยมวัตถุกับบริโภคนิยมในวิถีทางแบบตะวันออกอย่างหนึ่ง  โดยที่บรู๊ซ ลี ได้พยายามนำเสนอแนวคิดว่านี่แหละคือวิถีชีวิต (WAY OF LIFE) ของผู้เป็นมังกร’ (DRAGON) ซึ่งผมคิดว่าไม่ควรที่จะจำกัดนิยามของมังกรในความ หมายแคบๆ ที่หมายถึงคนจีนอย่างที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันเท่านั้นแต่ควรจะ หมายถึงผู้ที่เลือกใช้วิถีชีวิตแบบตะวันออกโดยยึดแนวทางในการเป็นนักสู้’ (นักรบ) เพื่อพัฒนาฝึกฝนตนเองไปสู่การเป็นยอดคน’ (HOMO EXCELLENS) นอกเหนือแนวทางในการเป็นนักบวช’  ซึ่งเป็น แนวทางหลักมาตั้งแต่อดีตกาล อนึ่งแนวทางนี้เป็นแนวทางเดียวกับวิถีของมูซาชิของญี่ปุ่นนั่นเอง

        บุคลิกภาพของนักสู้ตะวันออก (DRAGON)’ ที่บรู๊ซ ลี พยายาม นำเสนอโดยผ่านภาพยนตร์ของเขานั้น จึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับบุคลิกภาพ    ของเจมส์ บอนด์ 007’ ผู้เป็นขวัญใจของชาวตะวันตกในสมัยนั้นไม่ว่าใน การใช้อาวุธไฮเทคการไม่คร่ำเคร่งสำรวมในการใช้ชีวิตโดยเฉพาะเรื่องบุหรี่  สุราและผู้หญิง!!

 

 
 

         ชื่อในวงการบันเทิงของบรูซ ลี ที่ใช้ในภาษาจีนนั้นคือ ลี้ เสี่ยวหลง หรือ มังกรน้อยแซ่ลี้ ก็แฝงนัยยะเช่นนี้เอาไว้ตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว อนึ่งแนวคิดแห่งการ เป็นมังกรที่บรู๊ซ ลี พยายามสร้างเป็นเบ้าหลอมวีรบุรุษ’ (CULT) สำหรับ ให้คนรุ่นหลังยึดถือเป็นเยี่ยงอย่างจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากนั้น ความจริงก็เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจหรือความเชื่อมั่นในตนเองที่กำลังมีเพิ่มมากขึ้นในทางเศรษฐกิจของคนเอเชีย (คนจีนโพ้นเทะเล) ในกลุ่ม ประเทศอุตสาหกรรมใหม่อย่าง ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ ในสมัยนั้นที่กำลังอยู่ ในช่วงของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงด้วย

        ปัจจุบัน แนวคิดนี้ได้รับการพัฒนาและสานต่อโดย ฉีเคอะ ผู้สร้างหวงเฟยหง’ (ที่นำแสดงโดย หลี่เหลียนเจี๋ย) ขึ้นมาให้เป็นเบ้าหลอมวีรบุรุษสำหรับชาวจีนแผ่นดินใหญ่รักชาติ หัวก้าวหน้า ผู้ยอมรับความเปลี่ยนแปลง ของโลกและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของตะวันตก โดยที่ในขณะเดียว กันก็ไม่ลืมข้อดีของวัฒนธรรมตะวันออก (อย่างกังฟูกับการฝังเข็ม) ของตน ผมคิดว่าเสน่ห์สามประการข้างต้นนี้แหละ ที่ทำให้บรู๊ซ ลี ยังสามารถครองใจผู้คนเชื้อสายเอเชียทั่วโลกอยู่ได้แม้จนปัจจุบันนี้ และทำให้จินตภาพแห่งความ เป็นมังกรในตัวของบรู๊ซ ลี ยังคงดำรงอยู่ในจอภาพยนตร์มาจนทุกวันนี้

        เสน่ห์ประการที่สี่ และเป็นประการสุดท้ายของเขาในภาพยนตร์คือ การนำเสนอสไตล์การต่อสู้ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของบรู๊ซ ลี ซึ่งต่อมา เขาได้เรียกลีลาหรือสไตล์การต่อสู้ของเขาว่า ‘JEET KUNE DO (JKD)!!

        ในสายตาของคนทั่วไป สไตล์การต่อสู้ของบรู๊ซ ลี เป็นลีลาการต่อสู้ ที่ใช้เท้าเต้นฟุตเวิร์คแบบมวยสากล ใช้การเตะแบบเทควันโด้กับคาราเต้และใช้ การป้องปัดด้วยมือกับการชกต่อยแบบมวยหย่งชุน (มวยจีนใต้ชนิดหนึ่ง) พร้อมๆ ไปกับการส่งเสียงร้องโหยหวนที่เรียกกันว่าเสียงร้องของปักษาอาถรรพ์

        แต่การที่บรู๊ซ ลี นำเสนอตัวเองว่าเป็นนักกังฟูของจริงในสไตล์ของ JEET KUNE DO  ซึ่งผมขอยืนยันว่าเป็นสไตล์ของ  AMERICAN MARTIAL ARTS ผู้มีปรมาจารย์คือ ED PARKER (ถ้าใครดูภาพยนตร์เรื่อง DRAGON ขอให้ สังเกตดูชื่อบนผืนผ้าในตอนที่บรู๊ซ ลี ขึ้นไปประกาศบนเวทีมวยเกี่ยวกับหลัก      วิชา JKD ของเขาว่า เขาสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ทุกคนภายใน 60 วินาทีได้  ผืนผ้า นั้นเขียนไว้ว่า (ED PARKER’S KARATE CHAMPIONSHIPS) มากกว่าที่จะ เป็นสไตล์กังฟูดั้งเดิมนี้แหละที่ได้สร้างปมปัญหาและความขัดแย้งอย่าง รุนแรงให้กับบรู๊ซ ลี  กับชาวยุทธ์กังฟู’  กลุ่มอื่นๆ ทั้งในอเมริกาและฮ่องกงซึ่ง ส่วนใหญ่เป็นมวยใต้และเป็นบอดี้การ์ด (มือสังหาร) ของแก๊งมาเฟียจีนใน สมัยนั้น จนผมถึงกับมีข้อสันนิษฐานส่วนตัวว่าความขัดแย้งอันนี้น่าจะมีส่วน สำคัญต่อการเสียชีวิตอย่างฉับพลันของบรู๊ซ ลี ในปี ค.. 1973 ด้วยวัยเพียง 32 ปี ซึ่งยังคงเป็นความลับและข้อถกเถียงกันอยู่แม้จนปัจจุบันนี้



                                                                       Ed Parker


       การจะเข้าใจปริศนาการตายของบรู๊ซลีนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องสืบสาว ประวัติการฝึกฝนวิชาฝีมือของบรู๊ซ ลี ตั้งแต่วัยเด็กจนกระทั่งเข้าสู่วงการ บันเทิงที่ฮ่องกงในปี ค..1970 เสียก่อน แต่ผมขอออกตัวก่อนนะครับว่า ทัศนะเกี่ยวกับบรู๊ซ ลี ของผมต่อไปนี้นั้น เป็นทัศนะของชาวยุทธ์นอกวงการคนหนึ่งที่มีความสนใจในตัวบรู๊ซ ลี เป็นพิเศษในฐานะที่เป็นแฟนหนังของเขา เท่านั้น ซึ่งอาจจะผิดพลาดและไม่ตรงกับที่นำเสนอในภาพยนตร์เรื่อง DRAGON ก็เป็นได้ โดยผมขอผลัดไว้เขียนในตอนต่อไป...

        ตอนนี้ผมขอโฆษณาหนังเรื่อง DRAGON นี้ให้ฟรีๆ เลยว่าอย่าพลาด เป็นอันขาด !! โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวัยหนุ่มวัยสาวในทศวรรษที่ 1960-1970 และเคยดูภาพยนตร์ที่บรู๊ซ ลี แสดงนำมาก่อน ทั้งนี้ก็เพราะว่าบรู๊ซ ลี คือตัวแทน’  ของคนร่วมสมัยที่โดดเด่นคนหนึ่งของพวกเรา


                                                               อาจารย์ ยิปมัน


ฝึกกังฟูไปแล้ว ถ้าหากไม่สามารถขจัดกิเลส
คือความโกรธ ความเกลียด ความกลัวภายในจิตใจของตัวเองไปได้
ต่อให้มีอายุถึง
100  ปีก็ยังมีแต่ความทุกข์
แต่ถ้าหากฝึกกังฟูไปแล้วสามารถขจัดกิเลส
คือ ความโกรธ ความเกลียด ความกลัวภายในจิตใจไปได้
ต่อให้มีชีวิตอยู่ เพียงวันเดียวก็ประเสริฐกว่ามากมายนัก


วาทะของอาจารย์ยิปมันอาจารย์กังฟูคนแรก
และคนเดียวของ บรู๊ซ ลี ในวัยเด็ก
จากภาพยนตร์เรื่อง DRAGON – THE BRUCE LEE STORY.



        ก่อนที่ผมจะเริ่มฝึกหัดคาราเต้กับอาจารย์คนที่หนึ่งของผมในปี ค..1970 นั้น ความสนใจในศิลปะการต่อสู้ของผมได้มีอยู่มากมาก่อนแล้ว ด้วยอิทธิพลของหนังโทรทัศน์ญี่ปุ่นเรื่องเคนโด้” (วิชาดาบไม้ของญี่ปุ่น) ที่นำเสดงโดย โมริตะ เคนซากุ และเรื่องยูโดสายดำที่นำแสดงโดย ซากุระงิ เคนอิจิ ในช่วงนั้นผมแทบไม่มีความรู้เกี่ยวกับมวยจีนเลย ภาพยนตร์ฮ่องกง ของบริษัทชอร์บราเดอร์ในช่วงนั้นเรื่อง “CHINESE BOXER” ที่นำแสดงโดย หวังหยู่ ทำให้ผมรู้เรื่องวิชาฝ่ามือทรายเหล็กกับการฝึกวิชาตัวเบาของจีนแต่ ผมก็ยังไม่เชื่อสนิทใจนักเพราะรู้อยู่ว่าหวังหยู่เป็นนักแสดงมิได้เป็นมวยจีนจริงๆ  เพียงแต่มีพื้นฐานการชกมวยสากลมาก่อนเท่านั้น

        การปรากฏตัวของบรู๊ซ ลี ในเรื่องไอ้หนุ่มซินตึ้งในปี ค.. 1971 เป็น การเปิดหูเปิดตาของผมเกี่ยวกับวิชากังฟูให้กว้างขึ้นไปกว่าเดิม ผมเคยอ่าน จากนิตยสารไทยที่ไปสัมภาษณ์บรู๊ซ ลี ในขณะที่เขากำลังแสดงถ่ายทำ ภาพยนตร์เรื่องไอ้หนุ่มซินตึ้ง THE BIG BOSS” ในเมืองไทยอยู่จึงทำให้ผม ทราบว่าเขาคือคาโต้ในหนังทีวีเรื่องหน้ากากแตนที่ผมเคยดูมาก่อนแต่ผม ก็ยังดูไม่ออกว่าวิชาฝีมือกังฟูของเขาต่างกับวิชาคาราเต้ที่ผมกำลังเรียนอยู่ กับอาจารย์คนที่หนึ่งตรงไหนเลย ตอนหนึ่งในคำให้สัมภาษณ์กับนิตยสารไทย บรู๊ซ ลี เคยกล่าวไว้ว่า

        “ฝีมือในขณะนี้ของผมอยู่ในระดับที่สามารถใช้เท้าเตะโค้ง ROUND KICK จนกระเบื้องที่ถืออยู่ในมือแตกได้ การเตะกระเบื้องที่มือจับแกว่งๆ เช่นนี้ ยากกว่าการเตะกระเบื้องที่ตั้งบนพื้น

        ในช่วงเวลาเกือบหนึ่งปีเต็มของปี ค.. 1970 ที่ผมได้ร่ำเรียนวิชา คาราเต้จากอาจารย์คนที่หนึ่งของผมนั้น การฝึกประลองฝีมือเป็นแบบ FULL CONTACT คือไม่สวมนวม ไม่มีสนับแข้ง ไม่มีเสื้อเกราะ ไม่มีกระจับ เพียงแต่ ห้ามต่อยใบหน้าเท่านั้น สไตล์การต่อสู้ก็เป็นการหันข้างเข้าหากันใช้การเตะ ข้าง SIDE KICK สลับการเตะโค้ง ROUND KICK หรือการเตะกลับหลัง  BACK KICK เป็นหลัก บางทีก็เตะกวาดขาให้ล้มโดยใช้หมัดกันน้อยมากเพราะห้าม ต่อยใบหน้า เพราะฉะนั้นการดูหนังที่บรู๊ซ ลี เล่นในสมัยนั้นของผมจึงไม่ต่าง จากการดูนักคาราเต้คนหนึ่งกำลังโชว์ลีลาการต่อสู้ของเขาเท่าใดนัก

        สามปีต่อมาผมได้ทราบข่าวการตายของเขาในปีถัดไป  ผมได้ไปศึกษา ต่อที่ประเทศญี่ปุ่นอันเป็นประเทศที่ประชากรก็คลั่งไคล้ในการฝึกศิลปะการ ต่อสู้ประเภทต่างๆ ประเทศหนึ่ง ทำให้ผมได้รับข้อมูลเกี่ยวกับตัวบรู๊ซ ลี เพิ่ม มากขึ้นเรื่อย ๆ และยิ่งเมื่อหันกลับมาเริ่มฝึกศิลปะการต่อสู้อย่างเอาจริงเอาจัง อีกครั้งในปี ค..1980 เป็นต้นมา มีชั่วโมงฝึกเพิ่มขึ้นและได้ผ่านประสบการณ์ ในการฝึกฝนมวยจีนหลายประเภทจากหลายอาจารย์ก็ยิ่งทำให้ผมมีความเห็น ส่วนตัวที่ชัดเจนยิ่งขึ้นอย่างเป็นตัวของตัวเองเกี่ยวกับฝีมือกังฟูของบรู๊ซ ลี และการตายของเขาดังที่ผมจะขอทำการวิเคราะห์ต่อไปนี้

        จากหนังสือ “TAO OF JEET KUNE DO” ของบรู๊ซ ลี ที่เขียนคำนำ โดย ลินดา ลี ภรรยาของบรู๊ซ ลี และตีพิมพ์ออกมาในปี ค.. 1975 แต่ใน ภาพยนตร์เรื่อง DRAGON ได้ดัดแปลงให้เป็นว่าเธอช่วยบรู๊ซ ลี แต่งหนังสือ เล่มนี้ออกมาในปี ค.. 1965 ภายหลังจากที่เขาได้รับบาดเจ็บที่หลังจากการ ถูกลอบกัดโดยคู่ต่อสู่ที่พ่ายแพ้เขาในการประลองฝีมือ  ลินดาได้กล่าวไว้อย่าง ชัดเจนว่าบรู๊ซ ลี ประสบกับอาการบาดเจ็บที่ส่วนหลังอย่างรุนแรงขนาดที่หมอ สั่งให้พักห้ามขยับเขยื้อนเป็นเวลาถึง 6 เดือน ในปี ค.. 1970

        ในคำนำนี้อีกเช่นกันที่ลินดาได้เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า บรู๊ซ ลี เริ่มฝึก กังฟูสายมวยหย่งชุน (ภาษากวางตุ้งออกเสียงว่า วิงชุน (WING CHUN) เมื่อ อายุ 13 ขวบ คือปี ค.. 1953 โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันตัวมิใช่ 9 ขวบหรือปี 1949 อย่างในหนัง อาจารย์กังฟูคนแรกและคนเดียวของบรู๊ซ ลี คืออาจารย์ ยิปมัน (YIP MAN, 1900-1972) ผู้สืบทอดวิชาฝีมือสายตรงจากบุตรชาย คนที่สองของปรมาจารย์เหลียงจั้นแห่งมวยหย่งชุนอันเลื่องชื่อ (ชีวประวัติของ อาจารย์เหลียงจั้น เคยถูกสร้างเป็นหนังทีวีฉายในเมืองไทยเมื่อหลายปีก่อน ภายใต้ชื่อหมัดสั้นพระกาฬ”)



        บรู๊ซ ลี น่าจะเคยเรียนมวยหย่งชุนกับอาจารย์ยิปมันในช่วงเวลา ที่ไม่นานนักคือไม่น่าเกินกว่า 2-3 ปีเป็นอย่างมากและคงอยู่ในฐานะที่เป็น ศิษย์นอก (ศิษย์ที่ไม่ได้รับการถ่ายทอดเคล็ดวิชาทั้งหมดจากอาจารย์) มากกว่า ศิษย์ใน (CLOSED-DOOR DISCIPLE) เพราะจากข้อเขียนของ ดร.เหลียง ทิง (DR.LEUNG TING) ผู้เป็นทั้งศิษย์ในและศิษย์นอกของอาจารย์ยิปมันที่รับ สืบทอดตำแหน่งเจ้าสำนักมวยหย่งชุนรุ่นปัจจุบัน ได้เขียนถึงความสัมพันธ์ ระหว่างบรู๊ซ ลี กับอาจารย์ยิปมันไว้ในหนังสือมวยหย่งชุน WING TSUN  KUEN” (..1978) ของเขาว่า

        ในระหว่างปี 1970 และ 1971 บรู๊ซ ลี ลูกศิษย์คนหนึ่งของอาจารย์ ยิปมันได้ประสบความสำเร็จในฐานะที่เป็นซูปเปอร์สตาร์ในภาพยนตร์กังฟูของ ฮ่องกงแม้ดาราคนนี้จะอ้างว่าวิชาฝีมือของตนคือ JEET-KUNE-DO แต่ก็เป็นที่ รู้กันอยู่แพร่หลายแล้วว่าเขาเคยเป็นศิษย์ของอาจารย์ยิปมันมาชั่วระยะเวลา หนึ่ง อย่างไรก็ตามอาจารย์ยิปมันไม่เคยแสดงความภูมิใจในการที่เคยมีซูปเปอร์ สตาร์คนนี้เป็นลูกศิษย์เลย เมื่อผู้คนสรรเสริญอาจารย์ยิปมันที่เคยเป็นครูสอน บรู๊ซ ลี มาก่อนท่านอาจารย์เพียงแค่ยิ้มตอบเฉยๆ เท่านั้น




        บรู๊ซ ลี ผู้เคยเรียนกังฟูโดยมีพื้นฐานในการออกหมัดและปัดป้องแบบ มวยหย่งชุน ประกอบกับพรสวรรค์ที่มีความคล่องแคล่วเฉพาะตัวอยู่ก่อนแล้ว น่าจะทำให้เขาประสบความสำเร็จบ่อยครั้งในการชกต่อยวิวาท (STREET FIGHT) กับนักเลงข้างถนนหรือแม้แต่พวกฝรั่งตาน้ำข้าวฝีมือธรรมดา (ดังที่ ปรากฏในหนัง) จนกระทั่งบิดาเขาอดรนทนไม่ได้ต้องส่งตัวเขาไปอยู่ที่อเมริกา เสียเพื่อมิให้บุตรชายคนเดียวของตนอายุสั้นถูกนักเลงในฮ่องกงฆ่าตายก่อน วัยอันสมควร ถ้าพิจารณาจากลักษณะนิสัยของบรู๊ซ ลี ที่แม้จะดูจากในหนัง ก็คงทราบได้ว่าเขาน่าจะเป็นคนก้าวร้าว คึกคะนอง ดื้อรั้น เชื่อมั่นในตัวเอง และมีความทะเยอทะยานสูงแล้ว ก่อนที่เขาจะเดินทางไปอเมริกาในปี ค.. 1961 (อายุ 20 ปี) เขายังไม่น่าจะบรรลุวิชากังฟูสายมวยหย่งชุนในระดับสูง หรือพูดอย่างยอมให้มากที่สุดแล้วก็คือ เขาไม่น่าจะเรียนเคล็ดลับขั้นสูงของวิชา กังฟูติดตัวได้ บรู๊ซ ลี ในวัย 20 ปี น่าจะยังเผชิญกับช่องว่างที่ห่างเหลือเกิน ระหว่างทฤษฎี” (ปรัชญาอันสูงส่งของกังฟู) กับการปฏิบัติหรือบุคลิกภาพ ในความเป็นจริงของตัวเขาที่ยังไม่อาจขจัดกิเลสหรือ ความกลัว ความเกลียด ความโกรธ ให้ลดหายไปจากจิตใจของตนเองได้มากพอ

 

 
 

        ภายหลังจากเดินทางไปสหรัฐอเมริกาได้มีโอกาสเรียนในมหาวิทยาลัย สาขาปรัชญา ได้รับอิทธิพลความคิดของปรัชญาตะวันตกที่เน้นความเป็นเหตุ เป็นผลมาผนวกกับประสบการณ์ในการฝึกวิชากังฟูสายมวยหย่งชุนในระดับ หนึ่งของเขา คงทำให้บรู๊ซ ลี แลเห็นโอกาสที่จะยกระดับฐานะทางสังคมและ เศรษฐกิจของตัวเขาเองด้วยการเป็นครูมวยกังฟูได้

        สหรัฐอเมริกาในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 ผู้คนส่วนใหญ่รวมทั้งสื่อ มวลชนยังไม่รู้จักกังฟู แต่รู้จักยูโด คาราเต้ ยิวยิตสู ซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้ของ ญี่ปุ่นและแพร่หลายมาก่อนแล้ว โดยเฉพาะคาราเต้เป็นที่นิยมมากที่สุดในหมู่ คนอเมริกันเพราะเป็นมวยประเภทมวยภายนอกที่เคลื่อนไหวเป็นเส้นตรงหัด ง่ายเหมาะกับชาวตะวันตกที่รูปร่างใหญ่ บึกบึน บรู๊ซ ลี ซึ่งมีพื้นฐานเป็นคน แสวงหาความรู้และรักศิลปะการต่อสู้เป็นชีวิตจิตใจอยู่ก่อนแล้วคงไม่ปล่อย โอกาสที่จะดูดซับมวยสากลเข้ามาเป็นของตนเพื่อเสริมต่อพื้นฐานกังฟูที่ เขาเองก็คงตระหนักดีว่ายังไม่ลึกซึ้งเพียงพอ

        เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ  เขาคงต้องการสร้างสายสัมพันธ์ (CONNECTION) กับนักคาราเต้ชาวอเมริกันที่เป็นกระแสหลักในวงการศิลปะการ ต่อสู้ของอเมริกาด้วย เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่ บรู๊ซ ลี ในวัยเพียง 25 ปี จะไปร่ำเรียนเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของ ED PARKER อาจารย์คาราเต้ชาว อเมริกันรุ่นบุกเบิกและมีบารมีสูงในวงการนี้ของอเมริกาเป็นเวลาถึงสองปีเต็ม  และจากคำให้สัมภาษณ์ของ JEFF SPEAKMAN ดารานักบู๊รุ่นน้องและเป็น ลูกศิษย์รุ่นหลังของ ED PARKER ก็ได้ยืนยันว่า ED PARKER คนนี้แหละ ที่เป็นผู้ชักจูงบรู๊ซ ลี ให้เข้าสู่วงการภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ด ในหนังโทรทัศน์เรื่องหน้ากากแตนบทบาทของบรู๊ซ ลี ที่เล่นเป็นคาโต้ในหน้ากากแตนจึงไม่มี ร่องรอยของวิชากังฟูให้พวกเราเห็นเลยแม้แต่น้อย

        JEFF SPEAKMAN เองก็ยอมรับว่า

        “บรู๊ซ ลี เป็นฮีโร่ของพวกเรา (ผู้ฝึกศิลปะการต่อสู้ชาวอเมริกัน) รวมทั้ง ของตัวผมด้วย จากประวัติของบรู๊ซ ลี ที่ฝึกคาราเต้กับ ED PARKER ได้ประสาน เข้ากับการฝึกในศิลปะสายอื่นๆ ของเขาจึงทำให้บรู๊ซ ลี เป็นผู้ที่มีอิทธิพลมาก ต่อวงการศิลปะการต่อสู้ของชาวอเมริกันแม้จนทุกวันนี้”   

        วิชาฝีมือที่บรู๊ซ ลี เรียกว่า JEET-KUNE-DO นั้นแท้ที่จริงแล้วก็คือการจับแพะชนแกะ’ (ELECTIC) ด้วยการเอาศิลปะการต่อสู้แขนงต่างๆ ของ ประเทศต่างๆ มาผสมผสานกันแบบมวยภายนอกโดยผ่านการไตร่ตรอง ค้นคว้าใคร่ครวญด้วยประสบการณ์ของตัวบรู๊ซ ลี เอง จนเป็นสไตล์การต่อสู้ อย่างหนึ่งที่ปัจจุบันเรียกว่า ‘(AMERICAN) MARTIALARTS’ (ในความหมาย แคบ) อันเป็นวิชาการต่อสู้ที่หน่วยคอมแมนโดของสหรัฐอเมริกาฝึกฝนกันนั่นเอง

        ทำไม? บรู๊ซ ลี ถึงต้องคิด JEET-KUNE-DO ขึ้นมาใหม่ทั้งๆ ที่วิชา กังฟูดั้งเดิมได้รับการพัฒนาสูงสุดจากคนรุ่นก่อนๆ หลายรุ่นจนมีความ สมบูรณ์ในตัวเองทุกประการมาตั้งหลายร้อยปีก่อนหน้านี้แล้ว

        คำตอบของผมก็คือ

        เพราะบรู๊ซ ลี ไม่ได้รับการถ่ายทอดวิชากังฟูอย่างสมบูรณ์แท้จริง จากอาจารย์กังฟูนั่นเอง! สิ่งนี้ดูจากอาวุธที่เขาใช้ก็ได้ถ้าเขาสำเร็จกังฟูสาย มวยหย่งชุนจริงอาวุธที่เขาใช้ชำนาญควรจะต้องเป็นกระบองยาวหกแต้มครึ่งกับดาบคู่ผีเสื้อ ไม่ใช่กระบองสองท่อนเหมือนอย่างในภาพยนตร์ซึ่งเป็นอาวุธ ของนักคาราเต้

        แต่สิ่งนี้ย่อมไม่ใช่ความผิดบกพร่องของตัวบรู๊ซ ลี เลยแม้แต่น้อยนิด การที่คนเราจำต้องเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างไร้อาจารย์ไร้สำนัก ในบางช่วง บางครั้งอาจจะกลับกลายเป็นข้อดีไปได้เหมือนกันเพราะเขาอาจสามารถพัฒนาวิชาฝีมือของตัวเองให้หลุดพ้นจากรูปแบบคร่ำครึข้อจำกัดที่ตายตัวไปได้ บรู๊ซ ลี เป็นคนฉลาดรู้จักใช้สมองใฝ่รู้และขยันฝึกฝนเสมอความก้าวหน้าใน วิชาฝีมือของเขาจึงเป็นความสามารถเฉพาะตัวและมาจากพรสวรรค์ของเขา มากกว่าระบบวิชา JEET-KUNE-DO ของเขา เขาน่าจะมีโอกาสไปไกลกว่านี้ ในการพัฒนาระดับฝีมือถ้าหากเขายังฝึกฝนตนเองและแสวงหาความรู้ต่อไป อีกหลายๆ ปี แต่ครั้นเมื่อเขาก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์ศักยภาพของเขา ในเรื่องนี้จึงถูกปิดกั้นและกลับนำมาซึ่งความยุ่งยากและความขัดแย้งให้กับ ตัวเขา

        เพราะการนำเสนอตัวเองของเขาในหนังในฐานะที่เขาเป็นยอดกังฟูได้ทำให้ช่องว่างระหว่างฝีมือกังฟูที่เขามีอยู่จริงกับภาพพจน์ที่เขาแสดงออกมา ในหนังนั้นห่างขึ้นทุกที  คนที่ฝึกกังฟูดั้งเดิมสมัยนั้นก็ย่อมไม่พอใจที่บรู๊ซ ลี นั้น คือคาราเต้ผสมเทควันโด้ที่ใช้ไม่ได้ในการต่อสู้จริงๆ เป็นแค่โชว์ลีลาฉาบฉวย แต่สวยงามเท่านั้น

       

       ผมคิดว่าคงมีการท้าประลองเกิดขึ้นจริง อย่างน้อยก็หนึ่งครั้งระหว่าง ผู้ฝึกกังฟูดั้งเดิม (คงเป็นมวยใต้) กับบรู๊ซ ลี จนทำให้เขาได้รับบาดเจ็บต้องเข้า โรงพยาบาลเป็นเวลาหลายเดือนในปีค.. 1970 พวกเราต้องเข้าใจว่าคนใน วงการกังฟูนั้น มองว่าบรู๊ซ ลี เป็นผู้ฝึกวิทยายุทธ์มากกว่าเป็นดารานักแสดง บรู๊ซ ลี จึงถูกท้าทาย  ในขณะที่คนเหล่านี้จะไม่สนใจที่จะมาท้าประลองเฉินหลงเพราะพวกนี้รู้ดีว่าเฉินหลงหัดมวยงิ้วมาและเนื้อแท้ของเฉินหลงคือภาพพจน์ ของนักแสดงผู้อุทิศตนให้กับวงการบันเทิงไม่ใช่จอมยุทธ์’... ผมเคยฟังคำให้ สัมภาษณ์ของเฉินหลงกับทีวีญี่ปุ่นเมื่อสี่ปีก่อนว่าความใฝ่ฝันสูงสุดในชีวิตของ เขาคือการสร้างภาพยนตร์และเป็นชาลี แชปปลิ้นของเอเชีย และผู้คนเหล่านี้ ก็คงไม่สนใจที่จะมาท้าประลองกับหลี่เหลียนเจี๋ย แห่งเรื่องหวงเฟยหงเพราะ พวกนี้รู้ดีว่าหลี่เหลียนเจี๋ยเพียงหัดวูซูหรือลีลายุทธมาเท่านั้นอันเป็นลักษณะ ของยิมนาสติคมากกว่าเป็นกังฟู และการต่อสู้ในหนังก็ใช้เทคนิคตัดต่อกับ ลวดสลิงมาช่วยเสียเยอะ

        ในขณะที่ยุคสมัยเมื่อ 20 ปีก่อนที่ผู้คนยังมีจิตคับแคบและข่าวสาร ก็ไม่แพร่หลายกว้างขวางดังเช่นปัจจุบันนี้จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บรู๊ซ ลี เคราะห์ร้ายและโชคร้ายกว่าดารารุ่นน้องอย่างเฉินหลงและหลี่เหลียนเจี๋ย เพราะเขาตกเป็นเป้าของการอิจฉาและการปองร้ายจากผู้ฝึกกังฟูดั้งเดิมคน อื่นๆ  ในฮ่องกงยุคนั้น

        ตัวบรู๊ซ ลี เองก็น่าจะรู้ข้อขัดแย้งหรือช่องว่างระหว่างวิชาฝีมือ กังฟูที่แท้จริงของตนกับภาพพจน์ของเขาในหนังเป็นอย่างดี ยิ่งหนังของเขา ประสบความสำเร็จมากมายเพียงใดตัวเขาก็ยิ่งทุรนทุรายกับช่องว่างอันนี้ มากขึ้นเพียงนั้น เขาเริ่มเครียดเป็นโรคประสาทอ่อนๆ หันมาฝึกฝนเพิ่มความ เร็วให้ประสาทกับกล้ามเนื้อของตน (อันเป็นการฝืนสังขารที่กำลังจะเริ่มแก่ตัวลง ในวัยสามสิบขึ้นไป) ด้วยการใช้ไฟฟ้าช๊อต (ELECTRIC SHOCK) ดังที่ปรากฏ ในหนัง “DRAGON” ที่เขาบอกว่าการฝึกอย่างนี้เพียง 3 นาที มีผลเท่ากับการ วิดพื้นถึง 200 ครั้ง ในขณะเดียวกันเขาก็เริ่มกินยาระงับประสาท (ในหนังบอกว่า เป็นยาแอสไพลินแก้ปวดศีรษะ) และหันไประบายความเครียดกับสตรีเพศ นอกบ้าน

        ผมเคยอ่านเจอจากนิตยสารญี่ปุ่นฉบับหนึ่งที่ตีพิมพ์คำให้สัมภาษณ์ ของอาจารย์โอยาม่า มะสุทัทสุ ปรมาจารย์คาราเต้แห่งสำนักเคียวคุชินของ ญี่ปุ่นที่กล่าวถึงสาเหตุการตายของบรู๊ซ ลี ว่า

        ผมได้ฟังมาจากผู้ใหญ่ในวงการกังฟูของฮ่องกงว่า บรู๊ซ ลี ได้ประลองฝีมือกับนักกังฟูคนหนึ่งในช่วงปลายปีค.. 1972 และเขาถูกตีที่ ท้ายทอยอย่างรุนแรง ผมคิดว่าอาการบาดเจ็บในครั้งนั้นอาจเป็นสาเหตุ การตายอย่างฉับพลันของเขาในช่วงต้นปี ค.. 1973 ... ถ้ามองจากสายตาของ ผมแล้ว บรู๊ซ ลี มีฝีมือในระดับลูกศิษย์คาราเต้สายดำหนึ่งขั้นของผมเท่านั้น

        ถึงคำร่ำลือนี้อาจจะไม่เป็นจริง แต่ถ้าหากดูจากเหตุการณ์ในหนังเรื่อง DRAGON ซึ่งต่อให้สมมุติว่าเป็นเรื่องจริงทั้งหมดก็ตาม (แต่จริงๆแล้ว หลายอย่างน่าจะไม่ใช่แต่เป็นการปรุงแต่งเพื่อให้เป็นละครที่ซาบซึ้งกินใจ) ผมก็คงสรุปว่าการตายอย่างกะทันหันของบรู๊ซ ลี น่าจะมาจากความบอบช้ำ ภายในที่สะสมจากการประลองกับนักกังฟูสองพี่น้องในอดีตนั่นเอง

        ผมขอยืนยันอีกครั้งว่าระบบการฝึกฝนกังฟูของบรู๊ซ ลี ในภาพยนตร์     นั้นอย่างดีก็เป็นแค่มวยภายนอกที่เน้นความแข็งแกร่งของร่างกายกับความ ไวของประสาทเป็นหลัก ยังไม่ใช่หลักวิชามวยจีนขั้นสูงที่เน้นการฝึกลมปราณ กับการฝึกจิตเป็นสำคัญ ผมไม่คิดว่าบรู๊ซ ลี จะเคยฝึกมวยภายในของจีน มาก่อนถ้าหากดูจากประวัติการฝึกวิชาฝีมือของเขา

        ผมจำต้องเขียนบทความชิ้นนี้ออกมาเพื่อเป็นอุทธาหรณ์ตักเตือน เยาวชนรุ่นหลังไม่ให้เข้าใจผิดทาง (MISLEADING) เกี่ยวกับวิชากังฟูและตัว       บรู๊ซ ลี เพราะผมเชื่อว่าภาพยนตร์ DRAGON เรื่องนี้คงส่งผลสะเทือนต่อ เยาวชนรุ่นนี้อย่างลึกซึ้ง เหมือนอย่างที่ผมเคยได้รับจากภาพยนตร์ของบรู๊ซ ลี ในอดีตผมเขียนบทความชิ้นนี้ด้วยความเจ็บปวดเพราะถึงอย่างไรผมก็ยังคง ชื่นชมบรู๊ซ ลี ในฐานะดารานักแสดงและความเป็นศิลปินแห่งศิลปะการต่อสู้ (MARTIAL ARTS) ที่อุทิศตนเองให้กับศาสตร์นี้อยู่ แม้ว่าตัวเขาเองอาจจะให้ ภาพลักษณ์ที่คลาดเคลื่อนไปจากวิชากังฟูดั้งเดิมของจีนก็ตาม

ควรทราบว่าวิชาต่อสู้ขั้นสุดยอดคือ
ความปลอดโปร่งเฉื่อยชาใช้ กำลังโดยไม่กินแรง
แผ่พุ่งพลังออกไปโดยไม่เห็นเป็นการใช้กำลัง
จอมยุทธ์ ทุกคนฝึกปรือถึงขั้นสุดท้ายล้วนมุ่งสู่ขอบเขตขั้นนี้ สำหรับการตวาดร่ำร้อง
โถมเข้าตะลุมบอนหลั่งเหงื่อหอบหายใจ นับเป็นการต่อสู้ขั้นต่ำทรามแล้ว


กิมย้ง , “จิ้งจอกอหังการ์     


         สิ่งที่เป็นความขัดแย้ง (DILEMMA) ภายในตัวของมังกรอย่างบรู๊ซ ลี นอกจากจะเป็นช่องว่างที่ค่อนข้างห่างกันมากพอสมควรระหว่างฝีมือใน ความเป็นจริงของเขากับภาพลักษณ์แห่งผู้เป็นยอดกังฟูของเขาในจอเงินแล้ว ยังมีช่องว่างระหว่างทฤษฎี’ (ปรัชญาอันสูงส่งของกังฟู) กับการปฎิบัติหรือ ระบบแห่งการฝึกฝนเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงส่งของปรัชญานั้นดำรงอยู่ใน ตัวเขาด้วย ดังปรากฏให้เห็นได้อย่างเห็นชัดเจนในหนังสือ “TAO OF JEET-KUNE-DO”(1975) ของเขา ซึ่งบัดนี้ได้กลายเป็นคัมภีร์ไบเบิลสำหรับผู้ฝึก  MARTIAL ARTS ชาวตะวันตกไปเรียบร้อยแล้ว

        ตัวผมไม่ได้วิจารณ์หรือไม่เห็นด้วยกับบรู๊ซ ลี ในแง่ของปรัชญากังฟู หรือปรัชญาเต๋าแห่งจี๊ทคุนโดของเขา ตรงกันข้ามตัวผมเองก็ยอมรับว่า เป้าหมายที่เต๋าแห่งจี๊ทคุนโดต้องการมุ่งบรรลุให้ถึงนั้นล้วนเป็นเป้าหมาย ในระดับสูงที่ชาวยุทธ์ผู้ฝึกปรือวิชาฝีมือทุกคนล้วนต้องการก้าวเข้าสู่ขอบเขต ในระดับนี้ทั้งสิ้น คำวิจารณ์ที่ถ้าผมจะมีต่อบรู๊ซ ลี ก็เห็นจะเป็นในแง่ที่ว่าระบบ การฝึกซึ่งเป็นแบบมวยภายนอกระดับสามัญชนิดหนึ่งที่บรู๊ซ ลี นำเสนอใน หนังสือเต๋าแห่งจี๊ทคุนโดของเขานี้ยากยิ่งที่จะอำนวยให้ผู้ฝึกก้าวหน้าจน บรรลุถึงปรัชญาอันสูงส่งของจี๊ทคุนโดได้

        เป็นความแปลกที่อาจไม่แปลกที่บรู๊ซ ลี เปิดฉากการนำเสนอเต๋าแห่งจี๊ทคุนโดของเขาด้วยปรัชญาของเซน (ZEN) ทั้งนี้เพราะระบบการฝึก เพื่อบรรลุถึงเต๋านั้น คือระบบการฝึกของมวยภายในซึ่งไม่ปรากฏว่าบรู๊ซ ลี ได้เคยร่ำเรียนจากครูกังฟูท่านใดมาก่อน ในขณะที่เซนกลับเป็นเรื่องของ สภาวะจิตที่ตระหนักรู้อย่างฉับพลันอันเป็นระบบการฝึกที่ผู้ฝึกฝนดาบชาว ซามูไรของประเทศญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจศึกษาอย่างจริงจังมาเป็นเวลานาน หลายร้อยปีแล้ว ผมจะชี้ให้พวกเราเห็นว่าปรัชญาของจี๊ทคุนโดนั้นคล้ายคลึงกับ ปรัชญาเซนในวิชาดาบของญี่ปุ่นเช่นไรบ้าง ดังข้อความต่างๆในเต๋าแห่ง จี๊ทคุนโดที่ผมขอคัดมาลงเป็นบางส่วนดังต่อไปนี้

 

ปรัชญาของจี๊ทคุนโด

        ~ การรู้แจ้งในศิลปะการต่อสู้หมายถึง การขจัดทุกๆ สิ่งที่บดบัง ความรู้ที่แท้จริงกับชีวิตที่แท้จริงเพราะฉะนั้นการรู้แจ้งจึงหมายถึงการขยาย ออกไปอย่างไร้ขอบเขตและเน้นว่าเราไม่ควรตกลงสู่การปลูกฝังในสิ่งเฉพาะ ส่วนที่ถึงอย่างไรก็จะต้องหลอมรวมตัวเองเข้ากับส่วนทั้งหมดอยู่ดีแต่เรา ควรจะมุ่งไปสู่ส่วนทั้งหมดที่สามารถประสานสิ่งเฉพาะส่วนทั้งหลายเข้า ด้วยกัน

        ~ ฉันกำลังเคลื่อนไหวและฉันมิได้เคลื่อนไหวแต่อย่างใดเลย ฉัน เหมือนพระจันทร์บนผิวคลื่นที่กำลังม้วนตัวกระเพื่อมไปมาอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าฉันกำลังทำสิ่งนี้แต่เป็นการเผยตัวจากภายในว่าสิ่งนี้กำลังเกิด ขึ้นโดยผ่านตัวฉันมากกว่าจิตใจที่ติดมั่นยึดมั่นในตัวเองในอัตตาของตัวเอง  (THE CONSCIOUSNESS OF SELF) เป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการบริหาร การเคลื่อนไหวทางกายภาพทั้งปวงให้ถูกต้องเหมาะสม

        ~ ศิลปะเป็นการแสดงออกซึ่งชีวิตที่ข้ามพ้นทั้งกาลเวลาและอวกาศ เราต้องใช้วิญญาณ (SOUL) ของเราในการทำงานให้เต็มที่โดยผ่านศิลปะ เพื่อให้รูปการใหม่แก่ชีวิต และให้ความหมายใหม่แก่ธรรมชาติหรือโลกนี้

        ~ ผู้ที่จะทำความเข้าใจต่อจี๊ทคุนโดผู้นั้นควรจะต้องละทิ้งความ คิดอื่นๆ รูปแบบอื่นๆ สไตล์อื่นๆ ออกไปให้หมดเสียก่อน ยิ่งไปกว่านั้นเขาควร จะละทิ้งจินตภาพว่า อะไรควรหรือไม่ควรในจี๊ทคุนโดออกไปด้วยการแสวงหา ความมั่นคง (SECURITY) คือการเปลี่ยนสิ่งที่มีชีวิตชีวาไร้ขอบเขตให้กลายเป็น สิ่งที่แข็งทื่อตายด้าน และรูปแบบที่ถูกเลือกคือการสร้างข้อจำกัดให้กับตัวเอง

        ~  จี๊ทคุนโดชอบการไร้กระบวนท่า’ (FORMLESSNESS) เพราะการ ไร้กระบวนท่าทำให้สามารถซึมซับกระบวนท่าทุกอย่างได้ จี๊ทคุนโดไม่มีสไตล์ เพราะฉะนั้นมันจึงสามารถปรับตัวฟิตเข้ากับทุกสไตล์ได้

        ~  จงศึกษาจี๊ทคุนโดโดยผ่านการฝึกฝนจิตใจ  (MASTERING  THE WILL) ขอให้ลืมเรื่องชัยชนะกับความพ่ายแพ้ ขอให้ลืมเรื่องความหยิ่งทะนง และความเจ็บปวด ให้คู่ปรปักษ์ของเราจ้องถมึงไปที่ผิวของเรา ในขณะที่เรา โจมตีใส่ร่างเนื้อของเขาและให้เขาโจมตีใส่ร่างเนื้อของเรา ในขณะที่เรา หักกระดูกของเขาและให้เขาหักกระดูกของเรา ในขณะที่เราเอาชีวิตของเขา มา!! จงอย่ากังวลว่าเราจะหลบหนีอย่างปลอดภัยหรือไม่ แต่จงวางชีวิตของ เราไว้ที่เบื้องหน้าปรปักษ์!!

        ~ เป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ที่จะไปคาดการณ์ล่วงหน้าถึง ผลลัพธ์ของการต่อสู้ก่อน คุณไม่ควรหมกมุ่นอยู่กับความคิดว่าการต่อสู้ใน ครั้งนี้จะจบลงด้วยชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ ปล่อยให้ธรรมชาติดำเนินไปตาม ครรลองของเขาแล้วหมัดเท้าของคุณจะทำงานอย่างถูกจังหวะเอง

        ~  จี๊ทคุนโดสอนเรามิให้เหลียวหลังภายหลังจากที่ได้ตัดสินใจไปแล้ว จี๊ทคุนโดสอนเราให้เพ่งพิจารณาความเป็นกับความตายอย่างไม่แตกต่างกัน เลย

        ~ จี๊ทคุนโดคือการรู้แจ้ง มันเป็นวิถีชีวิต เป็นการเคลื่อนไหวที่มุ่งไปสู่พลังจิตและการควบคุมจิต แต่จี๊ทคุนโดควรจะเป็นการรู้แจ้งโดยผ่าน  ‘ญาณ’  (INTUITION) มากกว่า

        ~  ศิลปะแห่งจี๊ทคุนโดจึงคือการทำให้ง่าย (SIMPLY TO SIMPLIFY) ความง่ายเป็นระยะทางที่สั้นที่สุดระหว่างจุดสองจุด

        ~ ในระหว่างการฝึกฝน ผู้ฝึกฝนควรจะกระตือรือร้นและคึกคักใน         ทุกๆทาง แต่ครั้นพอเริ่มต่อสู้จริงๆ ใจของเขาจะต้องสงบและไม่ถูกรบกวนโดย สิ่งใด เขาจะต้องรู้สึกราวกับว่าไม่มีวิกฤตใดๆ เกิดขึ้น เมื่อเขารุดไปข้างหน้า ปลายเท้าของเขาจะต้องแผ่วเบาแต่มั่นคง ดวงตาของเขาจะต้องไม่คงที่และ ไม่เพ่งมองอย่างคลุ้มคลั่งขาดสติไปที่ปรปักษ์ การกระทำของเขาไม่ควร แตกต่างไปจากการกระทำยามปกติในแต่ละวัน ไม่ควรให้มีการเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นในสีหน้า แต่ก็ไม่ควรบิดเบือนข้อเท็จจริงที่ว่าเขากำลังอยู่ในการต่อสู้ ที่เอาชีวิตเป็นเดิมพัน


ระบบการฝึกของจี๊ทคุนโด 

        เป็นระบบการฝึกแบบมวยภายนอกดังจะเห็นได้จาก ‘FITNESS PROGRAM’ ของบรู๊ซ ลี ในหนังสือเต๋าแห่งจี๊ทคุนโดซึ่งได้แก่

        1.การฉีกขาให้กว้าง

        2.การวิดพื้น

        3.การวิ่งอยู่กับที่

        4.การหมุนไหล่เป็นวงกลม

        5.การฝึกเตะสูง

        6.การฝึกเตะข้าง (SIDE KICK) ให้สูง

        7.การฝึกงอเข่า กับงอตัวไปข้างหน้า

        8.การฝึกยกขาให้สูง

        9.การฝึกท่านั่ง-ลุก (SIT-UPS)

        10.การฝึกบิดเอว ฯลฯ

        ผมมีความเห็นส่วนตัวว่า วิธีการฝึกแบบนี้แม้ไม่ใช่ไม่ดีต่อการสร้าง เสริมกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นร่างกาย ให้อ่อนหยุ่นแต่แข็งแกร่ง แต่ยังไม่เพียงพอ และไม่มีวันที่จะสามารถพัฒนาลมปราณ’ (ชี่) กับพลังรังไหม’ (จิ้ง) ซึ่งเป็น ปัจจัยหลักสองประการของวิชากังฟูโดยเฉพาะสายมวยภายในขึ้นมาได้ต่อให้ ฝึกแบบบรู๊ซ ลี เป็นสิบๆ ปีก็ตาม

        อะไรคือพลังลมปราณ (ชี่) หรือพลังภายในในวิชากังฟู!

        เหล่าปรมาจารย์ของพวกเราในอดีต ได้ถ่ายทอดวิชาให้พวกเราได้ ร่ำเรียนฝึกฝนสืบต่อกันมาว่า

        ใจเป็นนายของความคิด  ความคิดจึงรองจากใจ

        ใจเคลื่อนไหว ความคิดจึงอุบัติขึ้น เมื่อความคิดอุบัติขึ้น

        ชี่ จึงตามมา  ....ถ้าใจวุ่นวาย ความคิดย่อมฟุ้งซ่าน

        ถ้าความคิดฟุ้งซ่าน ชี่ ย่อมลอยคั่งค้าง ไม่มั่นคง

        แต่ถ้า ชี่ จมลงที่จุดศูนย์ตันเถียน ความคิดย่อมแข็งแกร่ง

        ใจย่อมสงบนิ่ง

        วิชากังฟูจึงให้ความสำคัญกับการฝึกหายใจ (ด้วยท้องแบบปฏิภาค) ซึ่งเป็นการฝึกชี่ด้วยการใช้ใจนำความคิด แล้วเอาความคิดไปสะสมกับชักนำ ชี่อีกทีหนึ่ง

        ส่วนพลังรังไหม’ (จิ้ง) นั้นคือแรงที่เกิดจากการฝึกฝนชี่เป็นเวลายาว นานและเป็นแรงที่ถูกควบคุมโดยกระบวนการเคลื่อนไหวแบบวงกลม (วงจร) ของส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ประสานสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกันอันเป็น ลักษณะเฉพาะเคลื่อนไหวเฉพาะตัวของวิชากังฟู และเป็นการหลอมรวมจิตกับ กายเข้าด้วยกัน คุณสมบัติของจิ้งจึงได้แก่

        ()    เป็นพลังหลังกำเนิด

        ()    เป็นพลังงานที่ผ่านการฝึกฝนในเชิงวิทยายุทธ์ (เป็นกังฟู’)

        ()    เป็นพลังงานที่เกิดขึ้นชั่วพริบตาขณะ  คม  กลม  คล่อง เร็ว จม  และเปลี่ยนทิศทางได้ตามใจชอบ

        เพราะฉะนั้นหลักสูตรการฝึกฝนวิชามวยภายใน จึงต้องเริ่มจากการ ฝึกท่าหรือการฝึกแบบมีรูปเพื่อฝึกจิ้งก่อน แล้วจึงค่อยไปเน้นการฝึกแบบไร้รูปเพื่อฝึกชี่ในขั้นต่อมา

        ผมขอยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมตามรูปภาพ 5 ภาพต่อไปนี้ ซึ่งแสดง ถึงวิธีการต่อสู้ตามแบบฉบับของมวยหย่งชุน อันเป็นมวยจีนที่บรู๊ซ ลี เคยเรียน กับอาจารย์ยิปมันในวัยเด็ก

        เมื่อคู่ต่อสู้เขาจะต่อยหมัดขวาตรง (รูปที่ 1) เราใช้ข้อมือขวายกขึ้นมาเกาะเกี่ยวหมัดขวาตรงของเขาไว้ (รูปที่ 2) แล้วชักนำให้หมัดขวาตรงของเขา เบนทิศไปยังเบื้องล่าง (รูปที่ 3) จนกระทั่งเขาเริ่มเสียการทรงตัว (รูปที่ 4) จากนั้น จึงใช้ปลายนิ้วขวานั้นแทงตรงไปยังใบหน้าของคู่ต่อสู้ ด้วยระยะทางที่สั้นที่สุด ใกล้ที่สุด (รูปที่ 5)

       


 

 
 

       
ถ้าอธิบายตามหลักวิชามวยภายใน
กระบวนท่านี้ ต้องใช้แรงหลาย ประเภทด้วยกัน ประเภทแรกคือ แรงรู้ (รูปที่ 1) ซึ่งเป็นการอ่านเจตนาของคู่ต่อสู้ ก่อนที่การเคลื่อนไหวของเขาจะอุบัติ ประเภทที่สองคือ แรงฟัง (ปล่อยแรงออก โจมตีในระยะประชิดเพียง 1 หุนหรือ 1 นิ้ว) (รูปที่ 5)  อนึ่ง แรงฟังกับแรงเกาะติด มีความจำเป็นเพื่อควบคุมให้เราใช้ขนาดของแรงที่เหมาะสมไปบงการแรงหมัด ของคู่ต่อสู้ให้ไปในทิศทางที่เราต้องการอีกทีหนึ่ง แรงทั้งสี่ประเภทนี้จะถูกควบคุม โดยจิตของเราอีกทีหนึ่ง

        ในสายตาของบรู๊ซ ลี ที่คงมีโอกาสฝึกฝนกังฟูระดับสูงในเวลาที่จำกัด เขาคงเห็นว่ากระบวนท่าเหล่านี้ซับซ้อนเกินไป เพราะแค่กระบวนท่าเดียวก็ยังมี ความละเอียดซับซ้อนขนาดนี้แล้ว ถ้าหากต้องฝึกมวยจีนแต่ละสายซึ่งต่างก็มี กระบวนท่าของตนคนละหลายสิบหลายร้อยกระบวนท่าแล้วจะไปเชี่ยวชาญ’  (MASTER) ได้อย่างไรกันทัศนะอันนี้ของเขาคงนำเขาไปสู่หลักคิดของจี๊ทคุนโด ซึ่งปฎิเสธความซับซ้อนของกระบวนท่า (อย่างผิวเผิน) ในที่สุด

 

        แต่มวยภายในกลับมองตรงกันข้ามกับบรู๊ซ ลี เพราะมวยภายในเห็นว่า กระบวนท่าเหล่านี้เป็นเพียงข่าวสารอย่างหนึ่งเท่านั้น กระบวนการฝึกฝนใน ขั้นมีรูปคือการฝึกฝนให้เจนจัดเกี่ยวกับรูปแบบของข่าวสารเหล่านี้ จากนั้น ในขั้นไร้รูปจึงค่อยละทิ้งข่าวสารเหล่านี้เสีย ไม่ไปยึดติดกับมันปล่อยให้ใจ ของเราทำงานไปตามธรรมชาติและเลิกคิดที่จะใช้กระบวนท่าใดๆ ในการต่อสู้ ภาวะไร้รูปจะฝึกฝนได้ก็ต่อเมื่อมี DATA-BASE ของภาวะมีรูปอัดแน่นสะสม ฝังลึกอยู่ในระดับจิตใต้สำนึกเพียงพอแล้วเท่านั้น และในการต่อสู่จริงๆ ก็คือการ ใช้ใจสั่งเอาข่าวสารเหล่านี้มาใช้งานเท่านั้นเอง และใจที่จะสั่งงานเช่นนั้นได้ ก็คือใจที่ว่างจากนิวรณ์แล้วเท่านั้น

        เพราะฉะนั้นอาจจะฟังดูแปลกแต่จริง (PARADOX) ก็เป็นได้ ถ้าหาก ผมจะบอกว่าระบบการฝึกของมวยภายในนี้ต่างหากเล่าที่สามารถทำให้ผู้ฝึก อาจบรรลุถึงปรัชญาอันสูงส่งของจี๊ทคุนโดได้

 

 
 

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้