บทที่ 4 เด็ดเดี่ยวแม้โดดเดี่ยว
“ผมยังคงรู้สึกว่าในบรรดางานทั้งหมดที่ทำเป็น
ผมรักงานเขียนมากที่สุด ผมอาจจะทำอะไรเป็น
มากกว่าหนึ่งอย่าง กระทั่งทำได้ดี
แต่มันไม่เหมือน การเขียนหนังสือ
ทุกครั้งที่ผลิตผลงานที่ตัวเองพอใจ ออกมาได้ชิ้นหนึ่ง
ผมรู้สึกเหมือนตกอยู่ในห้วงความรัก”
คำให้สัมภาษณ์ของ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
ในนิตยสาร writer ฉบับที่ 3 ประจำเดือนธันวาคม 2535
...ปลายเดือนธันวาคม พ.ศ.2535 เมืองฟุคุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น
สันติชาติ อโศกาลัย (ตัวละครจากเรื่อง “ความรักกับจอมยุทธ์ โดย ดร. สุวินัย ) นั่งเครื่องบินจากกรุงเทพฯ แวะผ่านฮ่องกงมาลงที่สนามบินฟุคุโอกะ ในราวๆ หนึ่งทุ่มเมื่อสองวันก่อนที่จะถึงวันคริสต์มาส ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เขา ได้เดินทางออกนอกประเทศ ภายหลังเกิดเหตุการณ์นองเลือด ‘พฤษภาทมิฬ’ ที่เขาไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะไม่เกี่ยวข้องด้วยไม่ได้เลย แม้ว่าจะเป็นเพียง ‘ตัวประกอบ’ เล็กๆ คนหนึ่งก็ตาม ปีพ.ศ.2535 นี้ มิใช่เป็นปีที่สงบสุขและสันติ สำหรับตัวเขาเหมือนเช่นเคยและสำหรับประเทศไทยด้วย
ช่วงเวลาเกือบแปดเดือนที่ผ่านมานี้ ได้สร้างความตึงเครียดและความ กระทบกระเทือนทางจิตใจให้แก่ตัวเขาไม่น้อยเลยทีเดียว สันติชาติรู้สึกว่าตัวเอง ได้สูญเสียและถูกบั่นทอนพลังงานทางจิตใจลงไปมาก ตบะของเขาก็ถูกกัดกร่อน ให้คลอนแคลนได้ง่ายยิ่งขึ้นกว่าเดิม
เขารู้สึกว่าตัวเองต้องการพักผ่อนอย่างสงบในที่ที่มีบรรยากาศวิเวก สันติทางจิตวิญญาณมากกว่าที่เป็นอยู่ในใจกลางเมืองหลวง เพราะฉะนั้นเขาจึง ไม่ลังเลใจเลยที่จะตอบรับคำเชิญจากเพื่อนร่วมสายวิชาชีพเดียวกับเขาที่เป็น ชาวญี่ปุ่นให้ไปประชุมและทัศนศึกษาที่เมืองฟุคุโอกะซึ่งเป็นเมืองเอกของเกาะ คิวชูที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น
ในระหว่างที่เขาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ นั้น แต่ละวันชาวเมืองเช่น เดียวกับเขาต้องได้รับข่าวสารในรูปแบบต่างๆ เข้ามากระทบมากมาย เขารู้สึก ถึงบรรยากาศและรังสีอารมณ์ที่แผ่ปกคลุมครอบงำกรุงเทพฯ อยู่ในขณะนี้ว่า ล้วนเต็มไปด้วยรังสีแห่งความไม่พอใจ ไม่สบอารมณ์ ความเคียดแค้น ความ อาฆาตพยาบาท ความไม่หวังดี ความผิดหวัง ความทะยานอยาก ซึ่งยากจะหา ความสงบที่แท้จริงได้
แต่สันติชาติเองก็คงคาดไม่ถึงเลยว่า ในวันรุ่งขึ้นหลังจากที่เขาเดินทาง มาถึงเมืองฟุคุโอกะแล้วจะเกิดการก่อการร้ายด้วยการลอบวางระเบิดในรถเมล์ สาย 4 ซึ่งได้คร่าชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ไปอีกหลายคน
รังสีพยาบาทแห่งการฆ่าฟันจะไม่มีวันหมดไปจากสังคมไทยตราบใด ที่กิเลสตัณหาความทะยายอยากของผู้สูญเสียอำนาจยังคงดิ้นรนทุรนทุรายอยู่ พวกเขาได้สร้าง “นรก” ขึ้นมาในจิตใจของพวกเขาและรอบๆ ตัวพวกเขายิ่งพวก เขาดิ้นรนทุรนทุรายด้วยความอาฆาตมาดร้ายมากยิ่งขึ้นเท่าใดพวกเขาคงไม่มี วันได้สำนึกหรอกว่า ขณะนี้พวกเขากำลังสร้าง “ขุมนรก” ขุมใหม่ในสังคมไทย ขึ้นมาและพวกเขากำลังเหินห่างไปจาก “ใจของฟ้า” มากยิ่งขึ้นทุกทีจนสุดจะ เอื้อมอยู่แล้ว
การใช้ชีวิตภายใต้รังสีอาฆาตพยาบาทเคียดแค้นไม่พอใจเช่นที่กำลัง เกิดขึ้นอยู่ในกรุงเทพฯ นี้มิใช่เรื่องง่ายดายเลย สันติชาติยังโชคดีที่มี “ที่หลบพัก ทางใจ” ณ เมืองอื่น ณ ประเทศอื่น แต่ผู้คนร่วมชะตาเดียวกับเขาอีกจำนวนนับ ไม่ถ้วนเล่า ?
ในทันทีที่สันติชาติเหยียบเท้าลงสัมผัสเมืองฟูคุโอกะ แม้ขณะนั้นเป็นยาม ต้นฤดูหนาวแต่เขาก็สัมผัสได้ถึงบรรยากาศที่สงบเงียบของเมืองนี้รวมทั้งชีวิต ที่สงบเรียบของชาวเมืองนี้ เพื่อนชาวญี่ปุ่นของเขาได้พาเขาไปพำนักที่รีสอร์ต แห่งหนึ่งซึ่งอยู่ติดกับชายหาดที่เป็นแหลมยื่นออกไปทางส่วนหนึ่งของอ่าว ฮาคาตะอันเป็นที่ตั้งของเมืองเล็กๆ แต่น่าอยู่ที่มีประชากรอาศัยอยู่ราวๆ 1 ล้าน 2 แสนคน
รีสอร์ตที่เขาพำนัก เป็นตัวตึกสีขาวทรงสามเหลี่ยมรูปพีระมิดสูง 7 ชั้น เรียงลำดับลงมาเป็นชั้นๆ ราวกับขั้นบันได ห้องพักทุกห้องล้วนหันหน้าไปสู่ทะเล เบื้องล่างปูสนามหญ้าสีเขียวโล่งกว้าง ติดตั้งโคมไฟเป็นระยะๆ ผู้คนที่มาพำนัก ที่รีสอร์ตในวันนั้นดูบางตาเพราะเป็นช่วงฤดูหนาวและใกล้จะสิ้นปีแล้ว แต่ถ้า เป็นฤดูร้อนละก้อที่นี่คงจะแน่นขนัดทีเดียวเขานึกในใจ
บ่ายวันรุ่งขึ้นท้องฟ้าโปร่งแจ่มใสไร้เมฆดวงอาทิตย์แผดแสงจ้าแต่ กลับให้ความรู้สึกที่อบอุ่นราวกับอยู่ในอ้อมกอดของมารดา ทะเลไร้คลื่นลม น้ำกระเพื่อมเล็กน้อยเมื่อสะท้อนกับแสงอาทิตย์ดูเผินๆ แล้วเหมือนกับมี ดาวทองจำนวนนับไม่ถ้วนมาเริงระบำส่องประกายอยู่ไปมา สันติชาตินอนพิง ต้นมะพร้าวริมสนามหญ้านั้นอย่างสงบ เขาไม่ต้องการใช้ความคิดอะไรทั้งสิ้น นอกจากต้องการปล่อยตัวเองให้กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสถานที่ริมทะเลที่มีแต่ความสงบเงียบแห่งนั้น
—-สามวันก่อนสิ้นปี พ.ศ.2535 เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
สันติชาติใช้เวลาไม่กี่วันขณะที่พำนักอยู่ที่เมืองฟุคุโอกะ ตระเวนตาม ร้านหนังสือใหญ่ๆ ของเมืองนั้น เขาเลือกซื้อหนังสือกลับไปเมืองไทยหลายเล่ม ที่อยู่ในความสนใจของเขา อาทิหนังสือเกี่ยวกับวิชาดาบซามูไรสายเออิชินริว วิชา “ชี่กง” สายคิวชูกี ตำราเศรษฐศาสตร์และการบริหารธุรกิจ ฯลฯ บางวันเขา ก็ออกเดินเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ทางทะเลกับพิพิทธภัณฑ์ประจำเมืองนี้รวมทั้งขึ้น หอคอยแห่งเมืองฟุคุโอกะ ตกเย็นเขาได้ไปแวะเยือนและเข้าร่วมในการฝึก ‘นั่งเซน’ กับเหล่าภิกษุเซนในวัดเซนชื่อดังของเมืองนี้
เมื่อถึงเวลาอีกสองวันก่อนที่จะเดินทางกลับประเทศไทยสันติชาติ ได้ตัดสินใจเลือกกลับเครื่องบินสายที่จะเดินทางออกจากเมืองโอซากาด้วย เหตุผลเพียงประการเดียวเท่านั้นคือเขาต้องการกลับไปแวะเยี่ยมเมืองเกียวโต ซึ่งเขาได้เคยใช้ชีวิตในวัยหนุ่มส่วนใหญ่ของเขาที่นั่นอีกสักครั้ง หลังจากที่เขา ไม่เคยกลับไปเยือนที่นั่นอีกเลยภายหลังการตายของ ‘คาเรน’ เมื่อหลายปีก่อน
สันติชาตินั่งรถไฟด่วน ‘ชินคันเซ็น’ จากสถานีฮาคาตะแห่งเมือง ฟุคุโอกะตั้งแต่เช้าตรู่ไปลงที่สถานีเกียวโตซึ่งใช้เวลาเดินทางราวๆ 3 ชั่วโมง เมื่อลงจากสถานีเขาจับรถแท็กซี่ตรงดิ่งไปพักที่ห้องรับรองของ ‘บ้านพานพบ’ ที่เขาได้ติดต่อจองเอาไว้แล้ว
ภายหลังจากที่ได้ทักทายกับ ‘คนรู้จักเก่าแก่’ ที่ทำงานอยู่ใน ‘บ้านพาน- พบ’ มาตั้งแต่สมัยที่เขายังเป็นนักศึกษาและเคยพำนักอยู่ที่นั่นแล้ว เขาก็นำ กระเป๋าเดินทางใบย่อมของเขาขึ้นไปเก็บในห้องพักและออกไปเดินเล่นรอบๆ บริเวณนั้นเพื่อสำรวจความเปลี่ยนแปลงไปของมัน
ร้านค้าเล็กๆ ที่เป็นเรือนไม้ที่เขารู้จักและเคยใช้บริการหลายหลังได้ สูญหายไปแล้วมีตึกอพาร์ตเมนต์ใหม่เข้ามาแทนที่ แม้บริเวณนี้ของเมืองนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้างก็จริงแต่ก็ยังนับว่าน้อยมากเมื่อเปรียบ เทียบกับการเปลี่ยนแปลงทาง ‘กายภาพ’ ที่กำลังเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ อันเป็น เมืองที่เขาลืมตาขึ้นมาดูโลกและเติบโตในวัยเด็กที่นั่นจนถึงอายุสิบเจ็ดปี
ด้วยความเคยชินตั้งแต่ในอดีต ในที่สุดเท้าของสันติชาติก็นำพาเขา ให้มาหยุดตรงสามแยกที่ถ้าเดินเลี้ยวไปทางซ้ายมือก็จะไปถึงวัดชินเสียวโด อันเป็นสถานที่ที่เขาได้ฝึกวิชามวยภายในกับอาจารย์ลิ้มเป็นเวลาถึงครึ่งปีเต็ม แต่ถ้าเดินเลี้ยวไปทางขวามือก็จะมีเส้นทางลัดเลาะจนไปถึงวัดคุโรตานิอัน เป็นที่ที่เขาเคยใช้ฝึกวิชามวยเหนือกับมวยภายในสกุลหวังด้วยตนเองเป็นเวลา หลายปี และถ้าเดินต่อไปอีกสักหน่อยก็จะสามารถไปถึงบ้านพักที่ ‘คาเรน’ เคย เช่าพำนักอยู่ในสมัยที่เธอยังเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกียวโต
สันติชาติตัดสินใจเลือกเดินไปทางขวามือ ราวกับว่ามีบางสิ่งบางอย่าง ที่อยู่เบื้องหน้าร้องเรียกเขาและดึงดูดเขาให้ไปทางนั้น บ่ายวันนั้นท้องฟ้าปลอด โปร่งสดใสไร้เมฆเช่นกัน เมื่อเดินไปได้ร้อยกว่าเมตรเขาก็แวะเข้าไปในอาราม เล็กๆ ที่อยู่ข้างซ้ายมือด้านในสุดของอารามมีระเบียงไม้ยกสูงจากพื้นในระดับ ต้นขาซึ่งอาจารย์ลิ้มเคยพาเขามาฝึก ‘นั่ง’ ที่นั่น เบื้องหน้าระเบียงเป็นบ่อน้ำเล็กๆ กับสวนญี่ปุ่นขนาดย่อม มีพระพุทธรูปทำจากทองสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่กว่าตัวคน ตั้งอยู่เด่นเป็นสง่าบนเนินดินด้านบนของสวน และมีลานกรวดกับต้นเมเปิล ต้นใหญ่ตั้งอยู่ข้างๆ สันติชาติยังเคยบอกกับอาจารย์ลิ้มเลยว่าสถานที่ตรงนี้ เป็นสถานที่ที่วิเศษที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองเกียวโตสำหรับตัวเขา
หลังจากนั้นเมื่อมีโอกาส สันติชาติมักจะนั่งฝึกวิชาเดินลมปราณด้วย ตัวเองอีกหลายครั้ง เพราะปกติที่นั่นแทบไม่ค่อยมีผู้คนเดินเข้ามาถึงอยู่แล้ว เนื่องจากที่นั่นเป็นเพียงสวนหย่อมเล็กๆ ที่อยู่หลบมุมด้านในของอารามวัด ที่ไร้ชื่อเสียงเรียงนามที่อยู่ติดกับสุสานของวัดคุโรตานิ
เพราะฉะนั้นสันติชาติจึงรู้สึกแปลกใจมากเมื่อได้พบว่ามีสตรีคนหนึ่ง กำลังนั่งใช้พู่กันวาดรูปสวนแห่งนี้อยู่ตรงนั้น มิหนำซ้ำสตรีผู้นั้นยังเป็นแม่ชี คาทอลิกอีกด้วย !!!
แม่ชีคาทอลิกผู้นั้นแม้เป็นสตรีในวัยกลางคนที่มีอายุล่วงสี่สิบปีแล้ว แต่ก็ยังมีเค้าใบหน้าที่งดงามอยู่ ขนาดสันติชาติก็ยังต้องยอมรับกับตนเองใน ใจว่าแม่ชีคนนี้ในสมัยที่เธอยังสาวคงจะต้องเป็นผู้หญิงที่สวยมากทีเดียว
แม่ชีผู้นี้มิได้สนใจสิ่งภายนอกรอบกายเลย จิตใจของเธอจดจ่ออยู่กับ พู่กันและรูปภาพสีน้ำที่เธอกำลังวาดอยู่นี้ด้วยทักษะที่สันติชาติต้องลอบชมเชย ในใจด้วยความทึ่ง เมื่อเห็นฝีมือในการวาดภาพของแม่ชีแล้วสันติชาติถึงกับ ต้องพูดเตือนตนเองในใจว่า “สันติชาติเอ๋ย เจ้าจงอย่าหลงคิดว่าตัวเองจะมี ทักษะความชำนาญแค่ไหนเลยในวิชามวยจีน เพราะขนาดการใช้มือวาดภาพ ของแม่ชีที่อยู่เบื้องหน้าตนเองผู้นี้ก็ยังมีศิลปะ สมาธิ และทักษะสูงมากถึงเพียง นี้แล้วตัวเจ้าเองจะมาหยิ่งผยองกับวิชาฝีมือของตนเองกระไรได้ ?”
สันติชาติยืนอย่างสงบเฝ้าดูการวาดภาพของแม่ชีผู้นั้นด้วยความ สนใจเป็นเวลาถึงหนึ่งชั่วโมงเต็ม จนเมื่อแม่ชีคนนั้นวาดภาพเสร็จและวางมือ ลงจากพู่กันแล้ว เขาจึงเอ่ยพูดกับแม่ชีคาทอลิกผู้นั้นด้วยน้ำเสียงที่พยายาม ให้นอบน้อมและเป็นมิตรว่า
“วาดภาพเก่งจังเลยนะครับ ผมยืนเฝ้าดูซิสเตอร์วาดภาพมาถึงหนึ่ง ชั่วโมงเต็มแล้ว ด้วยความทึ่งจริงๆ ในทักษะกับสมาธิที่ใช้ในการวาดภาพของ ซิสเตอร์ ผมอยากวาดภาพได้เก่งเหมือนซิสเตอร์บ้างจังเลยครับ”
ซิสเตอร์ผู้นั้นหันมายิ้มให้กับสันติชาติและถามว่า
“คุณอยากวาดภาพให้เก่งไปทำไมหรือคะ ?”
“ผมอยากวาดภาพของหญิงคนหนึ่งออกมาด้วยมือของผมเองครับ ภาพผู้หญิงคนนี้ได้อยู่ในหัวใจของผมมาโดยตลอดแม้ว่าวันเวลาจะผ่านพ้น มาหลายปีแล้วก็ตาม แต่ผมก็เกรงว่าสักวันหนึ่งภาพของเธอที่อยู่ในหัวผมนี้ อาจจะค่อยๆ เลือนจางลงเรื่อยๆ ถ้ากาลเวลาผ่านพ้นนานขึ้นไปอีกโดยไม่มี การทำเป็นอนุสรณ์หรือทำเป็นสิ่งที่ใช้ช่วยรำลึกเตือนความทรงจำเอาไว้เลย ว่าจะเขียนออกมาเป็นตัวหนังสือหรือแกะเป็นรูปสลักหรือเป็นภาพที่วาดด้วย ตัวเองก็ตามครับ
“คุณลองบอกลักษณะของผู้หญิง ที่คงเป็นคนที่คุณรักมากออกมาซิคะ ฉันจะช่วยวาดเป็นต้นแบบให้คุณได้ดูและศึกษาแนวทางเอาไว้” สันติชาติได้ บอกลักษณะของผู้หญิงที่อยู่ในใจของเขาคนนั้นออกมาให้ซิสเตอร์นั้นได้วาด ตาม
ท่านคาดเดาได้หรือไม่ว่าสตรีคนที่สันติชาติได้ขอให้ซิสเตอร์ผู้มีฝีมือ เลอเลิศในการวาดรูปผู้ที่วาดให้คือผู้ใด? ระหว่างสตรีที่เป็น ‘ฮารุ’ หรือรักแรก ของเขา หรือ ‘ไอรีน’ หรือ ‘อมายาวี’ หรือ ‘คาเรน’ ?
“...คำว่าจอมยุทธ์หรือ (เสีย) มาจากคำ (เหญิน) ที่แปลว่า ‘คน’ กับ คำว่า (เจี๋ย) ที่แปลว่า ‘คละปนอยู่’ จอมยุทธ์คือผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเพื่อ ดำรงไว้ซึ่งคุณธรรม เขาอยู่ระหว่างความถูก ความผิด ความดี ความชั่ว จอมยุทธ์เป็นผู้ที่เลือกกระทำในสิ่งที่เป็นความดี ความถูกต้อง เพื่อพิทักษ์ ไว้ซึ่งความถูกต้องเที่ยงธรรม แม้จะใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอันสับสนวุ่นวาย แต่จอมยุทธ์ก็รู้จักเลือกเป็นบุคคลในฝ่ายมีจิตสำนึกที่มีคุณธรรม...”
จากคอลัมน์ ‘กิ่งไผ่และดวงโคม’ ของ
เรืองรอง รุ่งรัศมี ใน ‘ผู้จัดการรายสัปดาห์’
“ช่างเหลือเชื่อจริงๆ ครับ ซิสเตอร์วาดภาพของเธอผู้นั้นได้เหมือน ตัวจริงมากเลยครับ”
“นั่นก็เพราะกล้องถ่ายภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์ที่ชื่อว่าดวงใจของคุณ นั้นมันยังมีประสิทธิภาพมากน่ะซิคะ คุณถึงสามารถเก็บรายละเอียดต่าง ๆ ของเธอผู้นั้นออกมาบรรยายให้ฉันวาดออกมาเป็นภาพได้ แต่คุณจะต้องไม่ลืม นะคะ ว่า...”
ซิสเตอร์ผู้นั้นพูดค้างไว้ พลางหยิบพู่กันออกมาวาดรูปสเกตช์ของสตรี ที่ยังอยู่ในดวงใจของสันติชาติต่ออีกสามภาพด้วยความรวดเร็วยิ่ง !!
ภาพของสาวน้อยวัยยี่สิบปีเศษรูปนั้น ค่อยๆ กลายมาเป็นภาพสาวใหญ่ เต็มตัวในรูปที่สองกลายมาเป็นสาววัยกลางคนวัยเดียวกับซิสเตอร์ในรูปที่สาม และกลายมาเป็นสตรีชราในรูปที่สี่ ภายในชั่วอึดใจเดียวที่สันติชาติมองการ เปลี่ยนแปลงของภาพเหล่านั้นอย่างตกตะลึง
ซิสเตอร์ผู้น่าอัศจรรย์ผู้นั้น ได้เอ่ยต่อไปว่า
“แต่คุณต้องไม่ลืมนะคะว่า ภาพของสตรีผู้นั้นที่ฉันวาดออกมาให้ คุณดูในภาพแรกนั้นเป็นภาพในอดีตเมื่อสิบปีที่แล้วดังที่คุณเพิ่งเล่าให้ฉัน ฟังในตอนแรก คุณไม่คิดหรือคะว่าชีวิตกับเวลาที่ค่อยๆ ผ่านไปแต่ละวัน แต่ละ เดือน และแต่ละปีจะค่อยๆ กัดกร่อนความสวยงามความน่ารักของสาวน้อย ของคุณคนนี้ให้เหี่ยวย่นแก่ชราลงไปดุจรถยนต์ที่ผ่านการใช้งานมาแล้วอย่าง โชกโชนคันหนึ่ง...”
ถ้าหูของสันติชาติไม่เฝื่อนจนเกินไป เขาคิดว่าเขาได้สัมผัสกับน้ำ- เสียงที่ออกจะขมขื่นของซิสเตอร์ผู้มีความงดงามแบบเยือกเย็นผู้นี้ในตอน ท้ายของคำพูดประโยคหลังสุด เขาเงยหน้าจากภาพขึ้นสบตากับซิสเตอร์แล้ว มองนางด้วยสายตาที่ยอมรับในคำพูดของนาง ฉับพลันซิสเตอร์ก็เปลี่ยนน้ำ เสียงให้เกรี้ยวกราดขึ้น เอาจริงเอาจังขึ้น เข้มงวดขึ้นด้วยการคาดคั้นถาม สันติชาติแบบไม่ให้ตั้งตัวติดว่า
“ถ้าสตรีผู้นั้นกลายร่างมาเป็นสตรีชราที่มีเนื้อหนังเหี่ยวย่นอย่างนี้ แล้วคุณยังจะคำนึงถึงเธออีกมั้ยคะ ?”
“ย่อมคำนึงถึงครับ” เขาตอบอย่างหนักแน่นและเชื่อมั่น
“เพราะว่าไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานสักเพียงใด แต่ช่วงขณะนั้นที่ผมได้ รู้จักกับเธอมันเป็นนิรันดร์กาลสำหรับผมไปแล้วครับ ช่วงพริบตาที่แสนสั้นช่วงนั้น เป็นช่วงที่สวยงามที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิตทางจิตใจของผมและได้หล่อเลี้ยงจิตใจ ผมมาจนถึงบัดนี้ครับ”
เมื่อพูดออกไปเช่นนั้นแล้ว ตัวสันติชาติเองก็ยังรู้ตัวเช่นกันว่าน้ำเสียง ของตนก็แฝงความขมขื่นปนออกมาไม่น้อยทีเดียว และแล้วน้ำเสียงของซิสเตอร์ก็ เปลี่ยนกลับมานุ่มนวลอ่อนโยนอีกครา นางพูดปลอบประโลมสันติชาติว่า
“ฉันเชื่อค่ะว่าบุคคลที่มีประกายตาฉลาด ลุ่มลึก และหนักแน่นอย่าง คุณคงจะเข้าใจความหมายของ ‘อนัตตา’ ที่ฉันได้พยายามสื่อถึงคุณโดยผ่าน รูปภาพสี่ใบนั้นได้ แต่เมื่อคุณยังมีความหนักแน่นและเชื่อมั่นว่าในท่ามกลาง ความไม่แน่นอนของโลกใบนี้นั้น มนุษย์ผู้มีปณิธานยังสามารถคงความไม่ เปลี่ยนแปลงในศรัทธาที่มีต่อความรักและความดีงามได้แล้วล่ะก้อ คุณก็ไม่ จำเป็นต้องวาดภาพของสตรีผู้นั้นออกมาด้วยมือของคุณเองหรอกค่ะ เพราะว่า คุณได้วาดภาพของเธอผู้นั้นแล้วด้วยใจของคุณเองและได้เก็บไว้ในตู้เก็บภาพ ที่ตั้งอยู่ในส่วนลึกที่สุด ณ กลางดวงใจ”
แม่ชีผู้นั้นอำลาจากสันติชาติไปแล้ว หลงเหลือไว้แต่ความทรงจำกับ คำพูดที่แฝงด้วยปรัชญาอันลึกซึ้งอย่างยากที่จะลืมเลือนได้ให้เขาไตร่ตรอง ครุ่นคิด สันติชาติต้องยอมรับกับตัวเองว่าเขาเพิ่งได้พบกับสตรีที่มีบุคลิกภาพ โดดเด่นและยิ่งใหญ่คนหนึ่งอย่างยากที่จะได้พบพานไม่ด้อยไปกว่า ‘อาจารย์ลิ้ม’ และ ‘อริยสงฆ์ท่านนั้น’ เลย
แต่เพราะการได้พบกับแม่ชีผู้นั้นอีกเช่นกันที่ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองได้ ถูกดึงหวนกลับไปสู่อดีตอันปวดร้าวอีกครั้งครา บางทีอาจจะถึงเวลาที่เขาจะต้อง เปลี่ยนผ้าพันแผลในหัวใจของเขา ให้กับบาดแผลที่เขาเคยคิดว่าหายสนิทแล้ว จิตใจของเขาล่องลอยย้อนกลับไปในอดีตเมื่อสิบปีที่แล้ว
...วันหนึ่ง ยามเช้าตรู่แห่งฤดูกาล ณ เมืองเกียวโต เมื่อสิบปีก่อน
เช้าวันนี้ของการฝึกวิชาฝีมือก็เป็นเหมือนๆ กับทุกเช้าที่ผ่านมา สันติชาติลุกจากที่นอนตอนตีห้าครึ่ง ล้างหน้าแปรงฟัน เปลี่ยนเครื่องแต่งตัว เป็นชุดกีฬา แล้วรีบวิ่งออกจาก ‘บ้านพานพบ’ ตรงมาที่ลานฝึกของวัดชินเนียวโด ถึงที่นั่นเวลาหกโมงตรง และเขาก็ได้พบอาจารย์ลิ้มยืนรอเขาอยู่ที่นั่นแล้วเหมือน เช่นเคย มีที่แตกต่างไปจากวันก่อนๆ เพียงอย่างเดียวก็คือแทนที่ในวันนี้ท่านจะ ให้สันติชาติฝึก ‘ยืน’ เหมือนเช่นทุกๆ วัน ท่านกลับบอกว่าจะพาเขาไปฝึก ‘นั่ง’ ณ ที่แห่งหนึ่งแทน
อาจารย์ลิ้มพาเขาเดินออกจากวัดชินเนียวโดเลี้ยวซ้ายมุ่งตรงไปทาง วัดคุโรตานิแล้ววกเลี้ยวซ้ายเข้าไปในอารามเล็กๆ หลังหนึ่งในระหว่างทางนั้น เมื่อเดินเข้าไปจนถึงด้านในสุดที่เป็นระเบียงไม้ยกพื้นสูงในระดับต้นขา มีบ่อน้ำ เล็กๆ กับสวนหย่อมญี่ปุ่น พระพุทธรูปองค์ใหญ่ ลานกรวด และต้นเมเปิล ต้นใหญ่ตั้งอยู่ข้าง ๆ
วันนั้นลมพัดค่อนข้างแรงหอบเอาใบไม้ปลิวว่อนม้วนขึ้นเป็นวงกลม ลอยสูงขึ้นไปและกระจายไปทุกทิศ อาจารย์ลิ้มหยิบเบาะสองใบที่ใช้สำหรับรอง ‘นั่ง’ ตอนฝึกลมปราณออกมาจากกระเป๋าใส่ของใบใหญ่ แล้วถ่ายทอดเคล็ด วิชาการฝึก ‘นั่ง’ แบบจีนที่ได้ถูกบันทึกไว้ในคัมภีร์โบราณให้แก่สันติชาติ
“ก่อนอื่นเธอต้องทำกายให้สงบเสียก่อน จากนั้นจึงปรับลมหายใจ ให้หายใจสงบราบเรียบสม่ำเสมอ เมื่อจิตตั้งมั่นที่จุดตันเถียนและรู้สึกผ่อนคลาย แล้ว เธอจะต้องคิดที่จะไม่คิดในเรื่องใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้าย”
สันติชาติจับความได้ว่าเคล็ดลับในการ ‘นั่ง’ ที่อาจารย์ลิ้มกำลังถ่ายทอดให้เขาอยู่นั้นคือการตั้งมั่นทำให้สงบโดยเรียงลำดับจากกายไปสู่ ลมหายใจและไปสู่ความคิด
“สันติชาติเธอจะต้องเตรียมใจสำหรับการฝึกนั่งนี้ด้วยการตั้งปณิธานให้กับตัวเองไว้ก่อนว่า เธอขอเริ่มการฝึกเช่นนี้จากหัวใจที่เปี่ยมไปด้วย ความเมตตากรุณาแก่สรรพสิ่งและขอปฏิญาณกับฟ้าดินว่า จะไม่คิดฝึกฝนสิ่งนี้ เพื่อประโยชน์สุขความหลุดรอดของตนเองตามลำพังเป็นอันขาดแต่เพื่อ ประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง”
“สำหรับการเตรียมกายจงดื่มกินพอประมาณไม่ให้มากเกินไปหรือ น้อยเกินไป นอนหลับให้พอเพียง เพื่อบรรลุความปรองดองห้าประการ คือ ความปรองดองในเรื่อง กิน นอน กาย ลมหายใจ และ ดวงจิต ...”
...สันติชาติทดลองฝึกนั่งตามที่อาจารย์ลิ้มบอกด้วยความไม่เคยชิน ในตอนแรกๆ ที่เขานั่งนั้นเขารู้สึกจิตใจว้าวุ่นกระสับกระส่าย เขาทดลองหลับตา นั่งดูเผื่อว่าจะหายกระสับกระส่ายได้มั่ง แต่กลับยิ่งแย่ลงไปอีกความคิดถึงคนรัก ของเขาทีจำต้องไปแต่งงานกับผู้ชายคนอื่นได้ติดตามเข้ามารบกวนดวงจิตของ ชายหนุ่มอย่างติดพัน เขาพยายามสลัดภาพเหล่านั้นให้หลุดไปจากใจแต่ภาพ ใหม่ก็ผลุดวาดขึ้นมาเป็นภาพของหญิงที่เขารักกำลังอยู่ในอ้อมกอดของผู้ชาย คนหนึ่งที่เขาไม่เคยรู้จัก สันติชาติลืมตัวถึงกับร้องครวญครางออกมาด้วยความ เจ็บปวดและทะลึ่งพรวดลุกขึ้นยืน เขาร้องอุทธรณ์กับอาจารย์ลิ้มว่าขณะนี้เขา รู้สึกเจ็บปวดทางจิตใจจนขาดความสงบนิ่งที่จะฝึก ‘นั่ง’ ต่อไปได้แล้ว
อาจารย์ลิ้ม ยิ้มให้สันติชาติอย่างอ่อนโยนและเห็นใจ ท่านได้พูดปลอบ สันติชาติด้วยคำพูดประโยคหนึ่งที่สันติชาติไม่มีวันลืมเลือนตราบชั่วชีวิตนี้ว่า
“สันติชาติ อาจารย์รู้ว่าขณะนี้เธอกำลังอยู่ในความเจ็บปวดแห่งความ ทุกข์ความขมขื่นทางใจ แต่เธอจะต้องเผชิญกับมันและฝึกฝนการ ‘นั่ง’ อย่างนี้ ต่อไป เพราะว่าเธอเป็นลูกผู้ชายคนหนึ่ง!! ลูกผู้ชายคือบุคคลเช่นใดเธอรู้มั้ย สันติชาติ ?”
“ไม่ทราบครับ อาจารย์”
“ลูกผู้ชาย คือ ผู้ที่ไม่ยินยอมสร้างความเจ็บปวดให้แก่คนอื่น
ลูกผู้ชาย คือ ผู้ที่ยินยอมกล้ำกลืนรับความเจ็บปวดทั้งปวงเอาไว้ เอง”
น้ำตาจากเบ้าตาของสันติชาติไหลออกมาเป็นทาง เขาก้มลง ‘นั่ง’ ฝึกต่อไป พลางทบทวนคำพูดของอาจารย์ลิ้มเมื่อครู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ลูกผู้ชาย ไม่ยินยอมสร้างความเจ็บปวดให้แก่คนอื่น
ลูกผู้ชาย ยินยอมรับความเจ็บปวดทั้งปวงไว้กับตนเอง
ลูกผู้ชาย ไม่ยินยอมสร้างความเจ็บปวดให้แก่คนอื่น
ลูกผู้ชาย ยินยอมรับความเจ็บปวดทั้งปวงไว้กับตนเอง