แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (57)
(23/4/2556)
*ว่าด้วยการปลุกจักระในกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)*
การบริกรรมมนตรา “โอม” เป็นวิธีปลุกจักระในกายทิพย์ที่ทรงพลังมากวิธีหนึ่งของกุณฑาลินีโยคะ ยามเปล่งเสียง “โอม” ออกมา ผู้ฝึกควรเปล่งเสียงออกมาราวกับเสียงนั้นออกมาจากช่องท้องของตนด้วยเสียงทุ้มต่ำ และบริกรรมเสียงโอมนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ในระยะเวลาที่นานพอสมควร ในความเชื่อของกุณฑาลินีโยคะ “โอม” คือคำศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งจิตวิญญาณสูงสุด “โอม” ยังเป็นคำที่มีพลังอันศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถช่วยชำระความสกปรกในจิตใจ หรือในกายทิพย์ชั้นต่างๆ ของผู้ฝึกให้สะอาดบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นได้ “โอม” คือเสียงแรกสุดของสัจธรรมแห่งจักรวาลที่ไร้ซึ่งกาลเวลา คือเสียงแห่งคลื่นสั่นสะเทือนที่ดำรงอยู่คู่กับสรรพชีวิต และสรรพสิ่งมาตั้งแต่อดีตกาลที่ไร้การเริ่มต้นก้องกังวานอยู่ทั่วจักรวาลอยู่ทุกเมื่อ “โอม” ยังเป็นเสียงอันล้ำลึกที่ไร้สิ่งกั้นขวาง เพราะนี่คือเสียงที่บังเกิดจากกฎแห่งการกำเนิดของสรรพสิ่ง และเป็นคลื่นการสั่นสะเทือนของมวลสรรพสิ่งที่เคลื่อนไหวตามกฎการเคลื่อนไหวที่เป็นอิสระโดยสมบูรณ์ของเอกภาพ...
ต่อไปจะขอถ่ายทอดเคล็ดการฝึกปลุกจักระในกุณฑาลินีโยคะอย่างเป็นระบบต่อจากที่ได้ถ่ายทอดไปแล้ว
(3) หลังจากที่ผู้ฝึกได้ฝึกปลุกจักระที่ 1 หรือจักระมูลธารที่บริเวณรอยฝีเย็บอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหนึ่งเดือนขึ้นไปแล้ว จึงค่อยเริ่มการฝึกสมาธิสำหรับปลุกจักระที่ 2 (สวาธิษฐาน) เป็นลำดับต่อไป ในขณะที่มูลธารแปลว่า รากฐาน คำว่า สวาธิษฐานแปลว่า บ้านซึ่งหมายถึงบ้านหรือที่พำนักของพลังกุณฑาลินี และเป็นที่ตั้งของศูนย์รวมพลังความสามารถต่างๆ จักระมูลธารมีความสำคัญในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นก็จริง แต่จักระสวาธิษฐานก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าจักระมูลธารเลย เพราะมันอยู่ใกล้ชิดกันและติดต่อถึงกันได้ สถานที่ตั้งของจักระมูลธารอยู่ที่บริเวณรอยฝีเย็บ ส่วนสถานที่ตั้งของจักระสวาธิษฐานอยู่ตรงบริเวณปลายล่างสุดของกระดูกสันหลัง
ในความเป็นจริง จักระที่ 2 หรือสวาธิษฐานนี้เป็นที่เกิดของจิตที่อยู่ในอำนาจของความรู้สึกนึกคิด เป็นศูนย์ที่มีอิทธิพลมากพอๆ กับสมองของคนเลยทีเดียว โดยอาจเรียกว่าเป็น “สมองอันที่สอง” ของคนหรือ “สมองส่วนท้อง” ก็ว่าได้ นอกจากนี้ จักระที่ 2 นี้ยังเชื่อมต่อกับจักระที่ 7 (สหัสธาระ) ตรงกลางกระหม่อมซึ่งเป็นศูนย์ควบคุมระดับจิตไร้สำนึก
คัมภีร์โยคะโบราณเชื่อว่า ประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา แต่อดีตชาติจะถูกเก็บกดเอาไว้เป็นจำนวนมากมายมหาศาล ภายใต้ระดับจิตไร้สำนึกและถูกเก็บหลอมรวมที่จักระที่ 2 นี้ เพราะฉะนั้นเมื่อฝึกกุณฑาลินีโยคะ ปลุกจักระนี้จนตื่นตัว มันจะทำให้ภาวะจิตไร้สำนึกของผู้นั้น มีความฉับไวขึ้นกว่าเดิม และสำแดงพลังออกมาได้มากกว่าเดิม ขณะที่พลังในการเคลื่อนไหว ทำกิจกรรมต่างๆ อันเป็นลักษณะเฉพาะของสัตว์โลก เป็นผลจากการทำงานของจักระมูลธารหรือจักระที่ 1 ที่ทำให้คนเรามีพลังในการขับเคลื่อนทางโลกเช่นนั้นได้อย่างมีพลวัต ส่วนจักระสวาธิษฐานหรือจักระที่ 2 มันเป็นที่กักเก็บประสบการณ์ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตที่ผ่านมาแต่อดีตเอาไว้โดยไม่มีการวิเคราะห์แยกแยะ ในระดับจิตไร้สำนึกเหมือนกับการกักเก็บขยะทางอารมณ์ความคิด ความรู้สึกต่างๆ เอาไว้ ถึงแม้จะไม่ต้องการมัน แต่มันก็ยังคงถูกนำมารวมเก็บไว้ตรงจุดนี้ เพราะฉะนั้น จุดนี้จึงเป็นอุปสรรคขัดขวางจิตสำนึกไม่ให้ผ่านไปยังจักระที่ 3 หรือมณีปุระได้อย่างราบรื่น
เพราะฉะนั้น เวลาที่ผู้ฝึกทำการฝึกสมาธิเพื่อปลุกจักระที่ 2 ให้ตื่นตัวขึ้นมา จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ความเครียด และความเก็บกดต่างๆ จะแตกกระจาย และผุดพุ่งขึ้นมาด้วย จนอาจทำให้การกระทำบางอย่างของผู้ฝึกในช่วงนั้น เป็นการกระทำที่ขาดเหตุผลหรือขาดสติได้ ดังนั้น ผู้ฝึกจึงควรให้ความเอาใจใส่กับการฝึกฝนร่างกายให้แข็งแรงด้วยการดัดตนแบบหทะโยคะ เพื่อช่วยให้จักระที่ 2 หรือสวาธิษฐานแข็งแรงขึ้น และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพะจะได้หลีกเลี่ยงผลกระทบในเชิงลบจากการผุดพุ่งของความเครียด และความเก็บกดที่ถูกเก็บสะสมในจักระที่ 2 ในช่วงที่เพิ่งตื่นตัวนี้ได้
กุณฑาลินีโยคะยังเชื่อว่า เมื่อผู้ฝึกสามารถปลุกจักระที่ 2 จนตื่นตัวได้แล้ว จิตไร้สำนึกของผู้นั้นจะตื่นตัวตามไปด้วย และยังไปปลุกจุดพินธุภายในสมองที่อยู่เหนือจักระที่ 6 (อาชณะ) ด้วยเพราะจักระที่ 2 ติดต่อถึงจุดพินธุที่เชื่อมต่อไปถึงจักระที่ 7 (สหัสธาระ) อีกทีหนึ่ง ในแง่สุขภาพ จักระที่ 2 ที่ตื่นตัวจะส่งเสริมการรับรู้รส ระบบประสาทที่เกี่ยวกับทางเพศ การทำงานของตับ ไต การสร้างเม็ดโลหิต และระบบการเผาผลาญในร่างกายให้ดีขึ้น
เคล็ดในการปลุกจักระที่ 2 หรือจักระสวาธิษฐานมีดังนี้...ควรฝึกในที่มืดสลัว โดยนั่งขัดสมาธิแบบปทุมอาสนะ หรือสิทธะอาสนะให้ส้นเท้าข้างหนึ่งอยู่บริเวณรอยฝีเย็บ และส้นเท้าอีกข้างหนึ่งอยู่บริเวณใต้ท้องน้อยตรงล่างสุดแนวเดียวกับสะดือ โดยแตะเบาๆ จากนั้นใช้สองมือทำ “ชินมุทรา” โดยเอานิ้วหัวแม่มือแตะกับนิ้วชี้เหยียดสามนิ้ว ที่เหลือหงายฝ่ามือขึ้นวางบนหัวเข่าทั้งสองข้าง
หลับตาอย่างแผ่วเบา ไม่เคลื่อนไหวร่างกาย ส่งสมาธิจิตไปที่บริเวณท้องน้อย ตอนหายใจเข้าให้ท้องน้อยค่อยๆ พองขึ้นช้าๆ ขณะที่ตอนหายใจออกค่อยๆ หดแฟบลงช้าๆ เช่นกัน ขณะเดียวกัน ให้ติดตามรู้ความรู้สึกว่ากล้ามเนื้อท้องน้อยของตนกำลังบีบตัว และคลายตัวสลับกันไป เคล็ดลับนั้นอยู่ที่การบีบตัว และการคลายตัวของกล้ามเนื้อท้องน้อยโดยที่ไม่ต้องบีบรัดบริเวณรอยฝีเย็บ (จักระมูลธาร) ตามไปด้วย ที่สำคัญต้องทำช้าๆ ให้ฝึกเช่นนี้ 15 นาที
จากนั้นให้ส่งสมาธิจิตไปที่ท้องน้อยอีก คราวนี้ให้ขยายวงกว้างรวมไปถึงอวัยวะเพศและอัณฑะในเพศชาย หรือรังไข่ในเพศหญิง ตอนหายใจเข้าให้กล้ามเนื้อทั้งหมดบีบตัว และตอนหายใจออกให้กล้ามเนื้อทั้งหมดคลายตัว ให้ฝึกเช่นนี้อย่างตั้งใจอย่างมีสมาธิ โดยทำอย่างช้าๆ และผ่อนคลายให้ฝึกอย่างนี้ประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง หลังจากนั้น นอนพักในท่าศพอาสนะสักครู่หนึ่ง แล้วค่อยๆ ลืมตาขึ้น
เคล็ดที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในการปลุกจักระที่ 2 หรือสวาธิษฐานคือ การกระตุ้นลำคอหรือคอหอยด้วยปลายลิ้นที่เรียกว่า ชิวหาพันธะหรือ “เขจรีมุทรา” อันเป็นการกระตุ้นจักระที่ 5 หรือวิสุทธิที่มีเส้นเชื่อมกับจักระสวาธิษฐานอีกทีหนึ่ง นอกจากนี้ ท่าดัดตัวของหทะโยคะอย่างท่ายกขาเกร็งหน้าท้อง ท่าตั๊กแตน ท่าธนู และการหายใจแบบอุทิยานะ (หายใจแบล็อกท้อง) เหล่านี้ ล้วนมีส่วนช่วยเสริมพลังจักระที่ 2 ทางอ้อมทั้งสิ้น
อนึ่ง อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า จักระที่ 2 หรือสวาธิษฐานคือสวิตช์ที่จะไปเปิดหรือกระตุ้นจุดพินทุบริเวณท้ายทอย การฝึกสมาธิเพื่อเปิดจักระที่ 2 ในขณะเดียวกัน จึงส่งผลต่อการกระตุ้นจุดพินทุด้วยเช่นกัน ผู้ฝึกจึงควรฝึกสมาธิเปิดจักระที่ 2 อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือนขึ้นไป แน่นอนว่าในระหว่างนั้น ผู้ฝึกอาจจะและสมควรจะฝึกทบทวนสมาธิกระตุ้นจักระที่ 6 (อาชณะ) และจักระที่ 1 (มูลธาร) ที่ได้ฝึกมาแล้วก่อนหน้านี้ควบคู่กันไปด้วย (ยังมีต่อ)