แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ
เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (2)
(7/6/2554)
*ความจำเป็นของการมีมุมมองใหม่เกี่ยวกับสุขภาพ*
การรักษาโรคและการดูแลสุขภาพของระบบการแพทย์ที่ทำหน้าที่รักษาและดูแลสุขภาพของผู้คนนั้น ไม่ว่าจะเป็นระบบการแพทย์แบบใดก็ตาม จำเป็นต้องมีสมมติฐานว่าด้วยธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ ที่มาของโรคหรือการเจ็บป่วยนั้น รวมทั้งการจัดการในการรักษาที่เหมาะสมมารองรับเสมอ ซึ่งทั้งหมดนั้น จะขึ้นต่อไปอีกทีกับการรับรู้ และการเข้าใจ “ความจริง” ของระบบการแพทย์ในยุคสมัยนั้นหรือช่วงเวลานั้นด้วย
ระบบการแพทย์แบบกระแสหลัก หรือระบบการแพทย์แผนปัจจุบันนั้น จะให้ความสนใจกับ “พยาธิกำเนิด” (Pathogenesis) เป็นหลัก หรือมีข้อสมมติฐานใหญ่อยู่ที่ “พยาธิกำเนิด” เป็นหลัก คือ มุ่งให้ความสนใจส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดไปที่ “กลไกการเกิดโรค” แล้วพยายามที่จะแก้ไขจัดการภายใต้กรอบความคิดแบบนั้น ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ก็มีข้อจำกัดของมันเช่นกัน
เพราะวิธีคิดแบบนี้มีที่มาจากมุมมองของฟิสิกส์แบบเก่า ที่มองร่างกายและจิตใจอย่างแยกส่วนจากกัน โดยมองร่างกายเป็นเหมือนชิ้นส่วนนาฬิกาที่ทำงานร่วมกันแบบเป็นกลไก ที่เมื่อชิ้นส่วนไหนเสียหรือชำรุดก็แยกซ่อมส่วนนั้นไป เพราะมีมุมมองเช่นนี้เอง ระบบการแพทย์แผนปัจจุบันจึงมุ่งที่จะลงไปในเชิงลึกเป็นหลักมากกว่าที่จะมองหรือให้ความสำคัญกับระนาบความกว้างด้วย ทำให้แพทย์ที่ถูกฝึกมาเป็นแพทย์เฉพาะทางส่วนใหญ่ ก็จะมองหรือรับรู้แต่เรื่องที่อยู่ในสาขาที่ตัวเองถนัด โดยไม่ได้มองภาพรวมของคนไข้
ที่กล่าวเช่นนี้ มิได้หมายความว่า การเป็นแพทย์เฉพาะทางหรือการมีแพทย์ที่เก่งในระดับลึกเป็นสิ่งไม่ดี ไม่จำเป็น หรือไม่เป็นประโยชน์ แต่ที่ต้องการจะบอกในที่นี้ก็คือ ความเก่งในระดับลึกของแพทย์เฉพาะทางจะเป็นประโยชน์จริงๆ ก็ต่อเมื่อสามารถบูรณาการความเก่งในระดับลึกนี้เข้ากับภาพรวมของคนไข้อย่างเป็นองค์รวม และอย่างไม่แยกส่วนเท่านั้น แต่แนวโน้มของการฝึกหัดแพทย์แบบกระแสหลัก และในการปฏิบัติจริงของแพทย์กระแสหลัก กลับมีแนวโน้มให้มองแบบแยกส่วนมากเกินไป จึงทำให้ความเก่งในระดับลึกของแพทย์เฉพาะทางไม่สามารถเปล่งศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่ง
นายแพทย์วิธาน ฐานะวุฑฒ์ ผู้เขียนหนังสือ “หัวใจใหม่ ชีวิตใหม่” (สำนักพิมพ์ศยาม, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 ปรับปรุงเพิ่มเติม, พ.ศ. 2553) ผู้ซึ่งพยายามนำเสนอ “มุมมองใหม่” ที่เป็นมุมมองของการแพทย์แบบองค์รวมให้แก่สังคมไทย ได้บอกว่า หากเรายกเอาประเด็นเรื่อง “โรคหัวใจ” ขึ้นมาพิจารณา จะทำให้เห็นถึงข้อจำกัดของ “มุมมองเก่า” ของการแพทย์แบบกระแสหลักได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ก่อนอื่น โรคหัวใจกำลังจะกลายเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประเทศไทย เพราะมีประชากรไทยที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับโรคนี้เป็นจำนวนที่กำลังจะมากกว่าโรคอื่นๆ ทั้งหมด และเมื่อหันไปดูสถิติของชาวอเมริกัน มีตัวเลขชี้ชัดเจนว่า โรคหัวใจนี้เป็นสาเหตุการตายถึงครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกันทั้งหมดทั้งหญิงและชาย ในผู้หญิงชาวอเมริกัน โรคหัวใจเป็นสาเหตุการตายมากกว่ามะเร็งเต้านมถึงสิบเจ็ดเท่า ในแต่ละปีจะมีชาวอเมริกันตายเพราะโรคหัวใจ และหลอดเลือดถึงเกือบหนึ่งล้านคน และอีกประมาณหกแสนคน มีอาการของเส้นเลือดในสมองแตกหรืออุดตัน มิหนำซ้ำสมาคมแพทย์โรคหัวใจของสหรัฐอเมริกายังประเมินว่า ประชากรชาวอเมริกันจำนวนมากถึง 60 ล้านคน มีโรคนี้แฝงอยู่ในตัว
แต่ในขณะเดียวกัน โรคหัวใจกลับเป็นโรคที่สามารถทำให้ฟื้นกลับมาได้ง่ายกว่า และเห็นผลเร็วกว่า เมื่อเทียบกับโรคอื่นๆ เช่น มะเร็งที่มีโอกาสหายน้อยกว่า เพราะฉะนั้นการจะพิสูจน์สมมติฐานใหม่ (มุมมองใหม่) ของระบบการแพทย์แบบองค์รวม ว่ามีประสิทธิภาพกว่าสมมติฐานเก่า (มุมมองเก่า) ของระบบการแพทย์แผนปัจจุบัน จึงทำได้ง่ายกว่าในการหาหลักฐานทางการแพทย์ที่สนับสนุนเหตุผลข้อนี้ เมื่อเทียบกับกรณีใช้โรคมะเร็งเป็นตัวพิสูจน์ ซึ่งจะทำให้ผู้คนในวงการแพทย์และสาธารณสุขยอมรับอย่างเป็น “วิทยาศาสตร์” ได้ง่ายกว่า มิใช่ถูกละเลยมองข้ามเพราะเห็นว่าเป็นแค่เรื่องของความเชื่อ ความศรัทธาส่วนบุคคลเท่านั้น
นายแพทย์วิธานยังบอกอีกว่า หากใช้มุมมองเก่าแบบ “พยาธิกำเนิด” มาทำความเข้าใจโรคหัวใจ นายแพทย์คนนั้นก็จะมุ่งมองไปที่อวัยวะปลายเหตุที่เจ็บป่วยเท่านั้น และสิ่งที่แพทย์คนนั้นจะทำได้อย่างดีที่สุดเท่าที่กรอบความคิดแบบนั้นของเขาจะอำนวยได้ ก็คือ การมุ่งหายาที่ดีที่สุดสำหรับหัวใจ หรือไม่ก็มุ่งหาการผ่าตัดที่ดีที่สุดสำหรับหัวใจเท่านั้น เพราะนายแพทย์คนนั้นคงไม่สนใจที่จะมองไปถึงสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจของคนไข้ และคงไม่ได้พิจารณาครอบคลุมไปถึง “การเสียสมดุล” ที่ส่งผลกระทบต่อคนไข้โรคหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศ ความเครียด หรืออารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ
เพราะฉะนั้น คงเป็นการยากสำหรับแพทย์คนนั้นที่จะมุ่งพยายามป้องกันมิให้คนผู้นั้นเป็นโรคหัวใจที่มากขึ้นๆ ทั้งที่ๆ ขณะนี้ได้เป็นที่พิสูจน์จากการวิจัยทางการแพทย์เป็นจำนวนมากแล้วว่า โรคหัวใจนั้นมีสาเหตุสำคัญมาจากการดูแลชีวิตตัวเองที่ไม่ถูกต้อง ทั้งในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย และการดูแลความเครียดของตัวเอง
นายแพทย์วิธาน ยังได้ยกข้อมูลที่น่าสนใจมากจากสมาคมแพทย์โรคหัวใจของสหรัฐอเมริกาอีกว่า ในบรรดาคนไข้หัวใจขาดเลือดของสหรัฐฯ นั้น เมื่อได้รับการรักษาด้วยยาขยายหลอดเลือดไปตามมาตรฐานการแพทย์แล้วพบว่า จำนวน 28% ของคนไข้เหล่านั้น จะมีอาการแย่ลงเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงขั้นจะต้องได้รับการผ่าตัดหรือทำบอลลูน ขณะที่มีจำนวนหนึ่งที่ได้รับการผ่าตัดบายพาส (By Pass Surgery) ซึ่งก็คือ การนำเส้นเลือดดำที่ขามาต่อแทนเส้นเลือดหัวใจส่วนที่มีการอุดตัน ในจำนวนคนไข้ ส่วนที่ได้รับการผ่าตัดนี้ แม้ไม่นับผู้ที่ตายไปจากภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดซึ่งก็ต้องมีบ้างเป็นธรรมดา แต่นับเฉพาะคนไข้พวกที่รอดจากการผ่าตัด และถือว่าการผ่าตัดได้ผลสมบูรณ์แล้วเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี พบว่า 50% ของคนไข้เหล่านั้นที่ได้รับการผ่าตัดอย่างได้ผลสมบูรณ์แล้วนั้น กลับมามีอาการอุดตันของเส้นเลือดที่หัวใจอีก ถ้าไม่มีการเปลี่ยนวิถีในการดำรงชีวิต
แม้แต่คนไข้ที่ได้รับการทำบอลลูน เพื่อขยายเส้นเลือดที่หัวใจก็เช่นกัน คือมีตัวเลขออกมาเช่นกันว่า คนไข้ที่ได้รับการขยายเส้นเลือดหัวใจด้วยบอลลูนนั้น ภายใน 5-6 เดือน 30-40% ของคนไข้เหล่านี้ก็กลับมามีอาการของเส้นเลือดหัวใจอุดตันอีกเช่นกันด้วย ถ้าไม่มีการเปลี่ยนวิถีชีวิต
จากข้อมูลที่ยกมานี้ ทำให้นายแพทย์วิธานถึงกับตั้งคำถามออกมาดังๆ ว่า “ผ่าตัดบายพาสไปแล้ว ก็ยังกลับมามีการอุดตันของเส้นเลือดหัวใจอีก เพราะนี่เป็นการรักษาที่ปลายเหตุหรือไม่? และจะมีวิธีที่พอจะป้องกันได้หรือไม่?” นายแพทย์วิธานยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า คนไข้ที่จะได้รับการผ่าตัดบายพาสได้ ยังต้องมีฐานะทางการเงินที่ดีพอด้วยถึงจะทำได้ เพราะค่าใช้จ่ายในการทำบายพาสในประเทศไทยเอง ก็ไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนบาทต่อรายในโรงพยาบาลของรัฐ และหลายแสนบาทต่อรายในกรณีของโรงพยาบาลเอกชน ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดบายพาสในสหรัฐฯ จะตกถึงห้าหมื่นกว่าเหรียญสหรัฐ เลยทีเดียว เพราะฉะนั้น หากประเทศใดมีประชากรที่ป่วยเป็นโรคหัวใจจำนวนมาก ก็ย่อมเป็นภาระหนักทางเศรษฐกิจของรัฐบาล และประชาชนในประเทศนั้นอย่างมิต้องสงสัย
จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น แม้เป็นเพียงตัวอย่างเดียวของโรคหัวใจที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของการใช้มุมมองแบบเก่าเพื่อแก้ปัญหาโรคหัวใจก็ตาม แต่ในความเป็นจริงสิ่งนี้น่าจะเกิดกับอีกหลายร้อยโรคด้วยเช่นกัน ถ้าหากยังคงใช้มุมมองแบบเก่านี้ไปทำการรักษาโรคต่างๆ อยู่
อย่างไรก็ดี นายแพทย์วิธาน ได้ย้ำแล้วย้ำอีกว่า เขาไม่ได้ต้องการจะบอกว่า การแพทย์แผนปัจจุบันที่ใช้ยาหรือการผ่าตัดในการรักษาโรคหัวใจเป็นเรื่องที่ผิด และเขาก็ไม่ได้มองว่า การแพทย์แผนปัจจุบันล้มเหลวในเรื่ององค์ความรู้ และล้มเหลวโดยตัวของมันเอง แต่เขาต้องการจะบอกว่า ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นในความเป็นจริง เกิดจากการนำองค์ความรู้ของแพทย์แผนปัจจุบันมาใช้ในมุมมองแบบเก่าที่แยกส่วนต่างหาก เพราะจริงๆ แล้ว การแพทย์แผนปัจจุบันนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อระบบสุขภาพทั้งหมด แต่ควรใช้ในมุมมองแบบใหม่อย่างเป็นองค์รวมจะดีกว่า