คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (3) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (9 มกราคม 2556)

คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (3) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (9 มกราคม 2556)



“นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (3)

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย


9 มกราคม 2556




 
ขอประทานโทษ พวกมึงเป็นแค่รัฐบาล ไม่ใช่เจ้าของประเทศ



นโยบายประชานิยมรถคันแรกที่กระตุ้นด้านมืดของจิตใจคนได้เป็นอย่างดีกำลังจะเป็นนโยบายสร้าง “นรก” ให้กับชนชั้นกลางล่างและกับคนกรุงเทพฯในไม่ช้า เหตุก็เพราะปัญหาใหญ่อันหนึ่งของ กทม. เมืองเทวดาก็คือการจราจรติดขัดที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนทุกชั้นไม่ว่ารวยจน



แต่นิธิ เอียวศรีวงศ์ก็มีแนวคิดที่ไม่แตกต่างไปจากหนังสือมติชนที่เขาเขียนบทความเรื่อง “รถคันแรก” (มติชนรายวัน 7 ม.ค. 56) นั่นก็คือเป็นกระบอกเสียงของทักษิณและระบอบของเขา มากกว่าที่จะเสนอ “ความจริง”



นิธิพยายามให้ “ความเห็น” มากกว่า “ความจริง” กับสังคมในนโยบายรถคันแรกว่า “แม้(นโยบายนี้)ไม่ถูกต้องนักแต่ก็ไม่ผิดจนรับไม่ได้” ปัญหารถติดในเมืองใหญ่ทั่วโลกตาม “ความเห็น” ของนิธิเป็นเรื่องของ “คนอื่นคือนรก” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ “นรกคือคนอื่น” อันเนื่องมาจากสาเหตุของรถติดที่ไม่สามารถมาชี้นิ้วโทษ “อ้ายเบื๊อกที่ไม่ควรขี่รถยนต์ แต่ได้ขี่เพราะนโยบายรถคันแรก” ได้ “หากไม่อยากเห็นรถติดก็ต้องเอารถออกจากถนน ไม่ควรเจาะจงเอาแต่รถของคนจนออกไปเพื่อให้คนรวยได้ใช้รถคันที่ห้าสิบได้สะดวกขึ้น ขอประทานโทษ มึงเป็นเจ้าของรถ ไม่ใช่เจ้าของถนน (ตัวหนานี้นิธิเป็นผู้เน้น)” นิธิจึงทึกทักเอาเองว่าการออกมาตำหนินโยบายนี้ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงกลายเป็นการจองล้างจองผลาญมากกว่าเป็นการติเพื่อก่อ



“ความจริง” ที่นิธิน่าจะรู้แต่ไม่บอกก็คือ นโยบายนี้ไม่ได้ช่วย “อ้ายเบื๊อก” คนจนให้สามารถมีรถได้แต่อย่างใด คนที่จะสามารถมีรถได้อย่างน้อยต้องมีรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อเดือนเพื่อรองรับค่าใช้จ่าย เช่น ค่างวดผ่อนรถและค่าใช้รถ รวมแล้วประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน แล้วทำไมรัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงยอมเสียสละภาษีสรรพสามิตกว่า 90,000 ล้านบาทไปช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ให้สามารถมีรถส่วนตัวแทนที่จะนำเงินนี้ไปทำอะไรอีกหลายๆ อย่างที่ช่วยคนที่จนกว่า “อ้ายเบื๊อก” ของนิธิ



วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะช่วยก็คือ การไม่ทำนโยบายเช่นนี้เพราะจะเป็นการคืนถนนให้กับประชาชนมากขึ้น สถานการณ์จราจรไม่เลวร้ายไปกว่าที่เป็นอยู่ “อ้ายเบื๊อก” ของนิธิรวมทั้งคนอื่นๆไม่ว่าจะจนหรือรวยด้วยจะสามารถมีทางเลือกที่จะใช้รถหรือขนส่งสาธารณะอื่นๆ แทนรถส่วนตัว



“ความไม่จริง” ที่นิธิน่าจะรู้แต่ไม่บอกก็คือ อุตสาหกรรมรถยนต์แม้จะอ้างว่ามีการจ้างงานโดยตรงและโดยอ้อมมาก แต่การกระตุ้นให้คนบริโภครถยนต์มากขึ้นก็ไม่แตกต่างอะไรกับการกระตุ้นให้คนบริโภคเหล้าบุหรี่ที่เป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานมากเช่นเดียวกัน แล้วอะไรคือผลประโยชน์ของสังคม? GDP ที่เพิ่มขึ้นจากการกระตุ้นให้คนบริโภค รถยนต์ เหล้า บุหรี่ เพิ่มมากขึ้น หรือผลภายนอก หรือ Externalities ที่เกิดกับคนอื่นๆ ที่ไม่ได้บริโภค รถยนต์ เหล้า บุหรี่ แต่ที่ผ่านมาสังคมทั่วโลกตกผลึกรู้แจ้งแล้วว่าการจำกัดการบริโภคในสินค้าเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็น



บทบาทของรัฐบาลและรวมถึงนักวิชาการด้วยในการชี้ถูก/ผิดว่าอะไรคือสิ่งที่ควรหรือไม่ควรบริโภค หรือชี้ว่าอะไรคือ Merit/Demerit Goods จึงสำคัญ การประพฤติปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้นำจึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับทำในทางตรงกันข้ามและนิธิสนับสนุน



นโยบายรถคันแรกจึงเป็นนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ของประเทศไทยและกรุงเทพฯ จากการไปเพิ่มจำนวนรถแทนที่จะลดจำนวนการเพิ่ม เฉกเช่นเดียวกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดดเป็น 300 บาทต่อวัน การปล่อยให้มีรถเพิ่มขึ้นกว่าล้านคันในปีเดียวด้วยการเอาเงินภาษีของทุกคนไม่ว่ารวยหรือจนใช้รถหรือไม่มาสนับสนุนกระตุ้นความอยากให้มีรถส่วนตัวจึงเป็นวิบัตินโยบายโดยแท้จริง



การแก้ปัญหาไม่ว่าจะโดยวิธีใดหลังจากการเพิ่มขึ้นแล้วของรถมากกว่าล้านคันจึงเป็นการใช้เงินมาเผาเงินโดยแท้ ทำไมจึงไม่จำกัดจำนวนเสียก่อนเพื่อปลดปล่อยคืนถนนให้กับประชาชนส่วนรวมให้มากขึ้นกว่าเดิม เงิน 90,000 ล้านบาทจากภาษีที่ต้องคืนนั้นสามารถนำไปสร้างขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้าใต้ดินได้อย่างน้อยก็ 2 สาย หรือสร้างรางคู่ให้รถไฟสายใต้ได้ นิธิตอบได้ไหมว่าทำไมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่คุณเชียร์จึงมืดบอดด้านนโยบายเช่นนี้



รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้สร้างวิกฤตจากนโยบายตนเองอย่างน้อย 3 นโยบายคือ จำนำข้าว รถคันแรก และค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันหรือ 15,000 บาทต่อเดือนสำหรับปริญญาตรี แต่นิธิกำลังจะ “แถ” ด้วยการบอกว่า การแก้ปัญหารถติดจากนโยบายรถคันแรกจะเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสที่จะแก้ไขปัญหารถติดใน กทม.ได้อย่างเด็ดขาดด้วยการ “รังแกรถส่วนตัว” เช่น การห้ามจอดรถ ในภายหลัง


อย่าลืมข้อเท็จจริงที่ว่า ตำรวจเป็นผู้รักษากฎและควบคุมการจราจรบนท้องถนนทั่วประเทศไทยรวมถึง กทม.ด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ถนนที่ กทม.สร้างเป็นของตำรวจที่ กทม.ไม่ได้บังคับบัญชา หากการ “รังแกรถส่วนตัว” เป็นนโยบายที่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง ทำไมทักษิณที่เคยเป็นทั้งรองนายกฯ และนายกฯ จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหารถติดให้เสร็จได้ภายใน 6 เดือนเหมือนอย่างที่ “คุย” ทั้งๆ ที่สถานการณ์เรื่องจำนวนและอำนาจต่างเอื้ออำนวยให้ทำ



แต่นี้ต่อไป ปัญหาจาก 3 นโยบายข้างต้นโดยเฉพาะรถคันแรกจะถาโถมเข้ามาหาคนในท้องถิ่นทุกคนในเมืองใหญ่ๆ และ กทม.อย่างไม่เลือกหน้าไม่จำกัดชนชั้น ในขณะที่ฝ่ายการเมืองผู้ที่เป็นผู้ก่อให้เกิดปัญหาก็จะหนีปัญหาด้วยการออกนโยบายบ้าๆ บอๆ แต่ไม่แก้ปัญหา กลายเป็นคนท้องถิ่นรับกรรมที่รัฐบาลกลางเป็นผู้ก่อ ไม่ต้องดูอะไรมากถามผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.คนไหนก็ได้ว่าหากได้ตำแหน่งจะมีแนวทางใดที่สามารถทำให้อัตราความเร็วเฉลี่ยของรถยนต์ในถนนสายหลักเพิ่มขึ้นได้บ้าง คำตอบคือไม่มีเพราะไม่ได้ควบคุมสั่งการตำรวจผู้ที่มีอำนาจบนถนนที่แท้จริง



ขณะนี้ประเทศไทยมี นายกฯ รองนายกฯ และ ครม.ที่เป็นขี้ข้าทักษิณด้วยการยอมรับเองหรือโดยประพฤติปฏิบัติ จะมีนักวิชาการเพิ่มเข้าไปอีกสักคนจะเป็นไรใช่ไหมนิธิ?



สำหรับคนชั้นกลางล่าง “นรก” กำลังมาเยือนเพราะมีทางเลือกที่จะหนีปัญหานี้ได้น้อยกว่า ขอให้โชคดี






Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้